ความเข้าใจสำคัญที่ต้องยึดให้มั่นคือสหรัฐเป็นเจ้ามานาน รัฐบาลสหรัฐต้องการเป็นเจ้าโลก ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกคือส่วนหนึ่งในความเป็นเจ้า ยุทธศาสตร์ของแต่ละรัฐบาลคือการปรับเปลี่ยนตามบริบท
3 ทศวรรษนับจากสิ้นสงครามเย็นจนถึงรัฐบาลโดนัลด์
ทรัมป์ เป้าหมายหลักของยุทธศาสตร์สหรัฐในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (รวมอินเดีย) คือต้องเป็นอภิมหาอำนาจผู้เป็นเจ้า
จีนเป็นมหาอำนาจที่กำลังก้าวขึ้นมา เกิดแรงเสียดทานระหว่างผลประโยชน์ของ 2
มหาอำนาจ
สหรัฐที่เป็นแชมป์ต้องรักษาความเป็นเจ้าพยายามขัดขวางการก้าวขึ้นมาของจีน
ในกรอบที่กว้างขึ้นคือจัดความสัมพันธ์กับทุกประเทศที่เรียกว่าจัดระเบียบภูมิภาค ยุทธศาสตร์แต่ละฉบับปรับเปลี่ยนตามบริบทและแนวทางของรัฐบาลแต่ละชุด
พยายามรักษาหรือขยายผลประโยชน์ของตนให้มากที่สุด บทความนี้นำเสนอให้เห็นภาพสรุป
ดังนี้
พัฒนาการนโยบายความมั่นคงของสหรัฐในเอเชีย-แปซิฟิก
:
สมัยสงครามเย็นรัฐบาลสหรัฐสร้างพันธมิตรกับประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกเพื่อต้านการแผ่ขยายของลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
ศัตรูตัวสำคัญคือสหภาพโซเวียต เมื่อแรกสิ้นสงครามเย็นสหรัฐลดความสำคัญภูมิภาคนี้
ตัดงบกลาโหม ลดกำลังทหาร ปิดฐานทัพฟิลิปปินส์เมื่อปี 1992 โดยที่ยังพูดว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความสำคัญ
มีผลประโยชน์ต้องรักษาไม่แพ้ด้านแอตแลนติก พร้อมจะเข้าแทรกแซงถ้าจำเป็น
ในฐานะอภิมหาอำนาจเป็นผู้เจ้า
รัฐบาลสหรัฐวางเป้าหมาย 5 ข้อ ได้แก่ สกัดกั้นไม่ให้เกิดชาติมหาอำนาจในยูเรเชีย
(Eurasia-พื้นที่เอเชียกับยุโรป) ลดความขัดแย้งที่รุนแรง
สนับสนุนการควบคุมอาวุธและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน พัฒนาระบบป้องกันวิกฤต
และสกัดการกระจายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD)
เมื่อเข้าสู่สมัยรัฐบาลคลินตันใช้ยุทธศาสตร์
“preventative defense” และสร้าง “New Pacific
Community” อันหมายถึงระบบเครือข่ายพันธมิตร ย้ำว่าจะรักษาทหาร
100,000 นายในเอเชียต่อไป (ในญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้) ปี 1997 ใช้ยุทธศาสตร์เข้าพัวพัน
(engagement strategy) รับรู้ว่าจีนกำลังเติบใหญ่หวังร่วมมือกับจีน
ให้จีนแสดงบทบาทในภูมิภาคด้วยความรับผิดชอบ
เหตุวินาศกรรมเมื่อ
11 กันยายน 2001 รัฐบาลสหรัฐชี้ว่าคือฝีมืออัลกออิดะห์ เหตุการณ์นี้นำสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Strategy) ของรัฐบาลจอร์จ
ดับเบิ้ลยู บุช (George W. Bush) ฉบับปี 2002
ประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชิงลงมือก่อน (preemptive)
จะชิงโจมตีผู้ก่อการร้ายและประเทศปรปักษ์ (hostile states) อันประกอบด้วยอิรัก
อิหร่านและเกาหลีเหนือ ในช่วงนั้นให้ความสำคัญกับภูมิภาคตะวันออกกลาง ทำสงครามในอิรัก
อัฟกานิสถาน
ที่น่าคิดคือ
รัฐบาลบุชใช้โอกาสดังกล่าวแผ่ขยายอิทธิพลทั่วโลก
ด้วยการประกาศว่าประเทศที่ให้แหล่งพักพิงแก่ผู้ก่อการร้ายมีความผิดเท่ากับผู้ก่อการร้าย
หรือหากไม่ร่วมต้านก่อการร้าย สหรัฐจะถือว่าประเทศนั้นเป็นศัตรูซึ่งเท่ากับลดทอนปิดกั้นอิทธิพลของรัสเซียกับจีนที่กำลังก้าวขึ้นมา
นอกจากนี้บุชประกาศเสริมสร้างกำลังรบในเกาะกวม ฮาวาย
กระชับความสัมพันธ์กับมิตรประเทศทั้งหลาย สร้างเครือข่ายความมั่นคงในภูมิภาค
(หมายถึงญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ไทยและออสเตรเลีย) โดยที่สหรัฐจะต้องแสดงบทบาทนำอย่างชัดเจนและขอเป็นมิตรกับอินเดีย
เมื่อเข้าสู่สมัยรัฐบาลบารัก
โอบามา (Barack Obama) สงครามต่อต้านก่อการร้ายลดความร้อนแรงเพราะคนอเมริกันต่อต้านสงครามในอิรัก
อีกทั้งบริบทโลกเปลี่ยนไปเป็นยุคทองของเอเชียแปซิฟิก รัฐบาลโอบามาให้ความสำคัญกับเอเชียแปซิฟิกรวมอนุภูมิภาคเอเชียใต้เป็นอันดับต้นๆ
ประกาศใช้ยุทธศาสตร์ปรับสมดุลเอเชียแปซิฟิกหรือปักหมุดเอเชีย (Pivot to
Asia) เมื่อพฤศจิกายน 2011 ด้วยการเสริมความเข้มแข็งแก่พันธมิตร
กระชับความเป็นหุ้นส่วนกับอำนาจใหม่ (emerging powers)
สร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคง เกิดผลและสร้างสรรค์กับจีน
เสริมบทบาทของสถาบันระดับภูมิภาค ช่วยวางโครงสร้างเศรษฐกิจที่แบ่งปันความมั่งคั่งยั่งยืน
ในด้านกำลังรบ ร้อยละ
60 ของกองเรือรบสหรัฐและเครื่องบินรบจะมาประจำการในฐานทัพแปซิฟิก เพียบพร้อมด้วยอาวุธรุ่นล่าสุด ไม่วาจะเป็นเรือดำน้ำรุ่นใหม่ เครื่องบินรบ
F-22s F-35s ระบบสอดแนม
นอกจากขยายความร่วมมือกับพันธมิตรเก่าแล้ว เพิ่มสัมพันธไมตรีกับเวียดนาม อินเดีย
อินโดนีเซีย เมียนมา (รัฐบาลโอบามาคืนความสัมพันธ์การทูตปกติกับเมียนมา โอบามาเป็นผู้นำสหรัฐคนแรกที่เยือนเมียนมา)
พยายามผูกสัมพันธ์กับประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก
ในด้านเศรษฐกิจภูมิศาสตร์
ใช้ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) นักวิชาการบางคนอธิบายว่าเป็นเครื่องมือกีดกันเศรษฐกิจจีน ต่อต้านข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง
(Belt and Road Initiative: BRI) ของจีน
ตามยุทธศาสตร์ควบคุมเส้นทางทะเล ใครคุมได้ชนะ
ปี
2015 กระทรวงกลาโหมออก Asia-Pacific Maritime Security Strategy ฉบับแรก เน้นความมั่นคงทางทะเล การเดินเรือเสรีตามแนวทางสหรัฐพร้อมกับเสริมสร้างกำลังรบภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว
โครงสร้างความมั่นคงภูมิภาค
รวมความแล้วรัฐบาลโอบามาเข้าพัวพันมากขึ้นและเพิ่มกำลังปิดล้อมจีนทั้งการเมืองระหว่างประเทศ
การทหาร เศรษฐกิจ
เมื่อเข้าสู่ยุครัฐบาลทรัมป์ใช้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก”
(Indo-Pacific Strategy) ประกาศความเป็นศัตรูกับจีนผู้เป็นมหาอำนาจคู่แข่ง เพิ่มความสำคัญของอินเดีย พยายามจะผูกมิตรกับอินเดีย
กล่าวถึงจีนในฐานะปรปักษ์สำคัญว่าจีนกำลังก้าวขึ้นมาทั้งทางเศรษฐกิจ
การเมืองและการทหาร ผู้นำจีนจากพรรคคอมมิวนิสต์บั่นทอนระบบระหว่างประเทศ
เบียดบังเอาประโยชน์และค่อยๆ ทำลายค่านิยมและหลักการต่างๆ
กดดันประเทศอื่นด้วยเครื่องมือทางเศรษฐกิจ
ทรัมป์ประกาศเสริมสร้างกำลังรบครั้งใหญ่
เร่งเสาะหาและสร้างเครือข่ายหุ้นส่วนความมั่นคงทางทหาร เกิดเครือข่ายหรือโครงสร้างความมั่นคงตามนโยบายของตน
(ไม่ว่าจะประกาศต่อสาธารณะหรือไม่)
ยุทธศาสตร์ในยุคทรัมป์มีลักษณะพยายามบ่งบอกความเป็นรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ปลุกความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์การเมืองแบบยุคสงครามเย็น พูดเป็นนัยว่ายุคสงครามเย็นกำลังกลับมา
สิ่งที่แตกต่างกับไม่แตกต่าง :
ถ้าเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างโอบามากับทรัมป์
โอบามาแสดงตัวเป็นมิตรกับจีนแต่ทรัมป์ไม่ โอบามามีนโยบายปรับลดงบกลาโหมโดยเฉพาะช่วงปลายสมัยของตนแต่ทรัมป์เพิ่มงบมหาศาล
โอบามาแสดงตัวพยายามลดอาวุธนิวเคลียร์แต่ทรัมป์ประกาศปรับปรุงกำลังรบนิวเคลียร์ครั้งใหญ่
ทำสงครามการค้า ใส่ความจงเกลียดจงชังจีนในระดับประชาชน
ที่เหมือนกันคือสหรัฐต้องเป็นเจ้าเท่านั้น
ภาพรวม
3 ทศวรรษหลักยุทธศาสตร์สหรัฐต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหรืออินโด-แปซิฟิกไม่เปลี่ยนแปลง
ได้แก่ รักษาความเป็นเจ้า ร่วมมือกับพันธมิตร มิตรประเทศ
วางระบบโครงสร้างความมั่นคงภูมิภาค และจัดระเบียบภูมิภาคทุกมิติทั้งด้านการเมืองภายในประเทศ
(ส่งเสริมประชาธิปไตย) ระบบเศรษฐกิจ (ทุนนิยมเสรี) กติกาการค้าระหว่างประเทศ
วัฒนธรรมสังคม (ส่งเสริมค่านิยมแบบตะวันตก)
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
ความเข้าใจสำคัญที่ต้องยึดให้มั่นคือสหรัฐเป็นเจ้ามานาน
รัฐบาลสหรัฐต้องการเป็นเจ้าโลก ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกคือส่วนหนึ่งของความเป็นเจ้าโลก
ยุทธศาสตร์แต่ละรัฐบาลคือการปรับเปลี่ยนตามบริบท เมื่อจีนก้าวขึ้นมาและร่วมมือกับรัสเซียภัยคุกคามเพิ่มขึ้น
รัฐบาลสหรัฐต้องพยายามหาเหตุเล่นงานจีน เช่น
รัฐบาลทรัมป์ชี้ความเป็นรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน แต่หากย้อนอดีตสมัยสงครามเย็นที่พูดว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์เสรีนิยมกับสังคมนิยม
รัฐบาลสหรัฐในยุคนั้นร่วมมือกับจีนคอมมิวนิสต์ต่อต้านค่ายโซเวียต
ปัจจัยภาวะผู้นำกับความที่เป็นรัฐบาลจากพรรคเดโมแครทกับรีพับลิกันอาจแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่างกัน
แต่ท่าทีที่อ่อนนุ่มพูดจาสุภาพกว่าไม่ได้หมายความว่าถือจีนเป็นพวก การเอ่ยว่าจีนเป็นมิตรก็อาจไม่ได้หมายถึงไม่คิดบั่นทอนโค่นล้มระบอบจีน
วิธีการแสดงออกอาจแตกต่างกันแต่เป้าหมายเบื้องลึกเหมือนกัน
สหรัฐต้องเป็นเจ้าและไม่ยอมให้ใครขึ้นมาเทียบเคียง การสูญเสียความเป็นเจ้าในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกคือการสูญเสียความเป็นเจ้าโลก
ในขณะที่จีนพยายามก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจภูมิภาค การเผชิญหน้าจึงเกิดขึ้นและจะดำเนินไปอีกนาน
5 กรกฎาคม
2020
ชาญชัย
คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน
คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่
24 ฉบับที่ 8637 วันอาทิตย์ที่ 5
กรกฎาคม พ.ศ. 2563)
---------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ยุทธศาสตร์สร้างความเกลียดชังรัฐบาลจีน
รัฐบาลทรัมป์ประสบผลไม่น้อยในการสร้างความเกลียดชังรัฐบาลจีน ความเกลียดชังนี้ขยายผลสู่ระดับประชาชน เป็นประเทศที่ใช้นโยบายเกลียดชังคนอื่นเพื่อเล่นงานฝ่ายตรงข้าม หวังผลทางการเมือง
1. Cirincione, Joseph. (2013). Nuclear Nightmares:
Securing the World Before It Is Too Late. USA: Columbia University Press.
2. Ellis, James O. (2011). The Impact
of 9/11 on U.S. Foreign Policy. In The 9/11
encyclopedia. (2nd Ed. pp.1-4). USA:
ABC-CLIO, LLC.
3. Ismael, Tareq
Y., & Haddad, William W. (2004). Iraq: The Human Cost of History.USA:
Pluto Press.
4. Lyle, Amaani. (2013, March 12). National Security Advisor
Explains Asia-Pacific Pivot. U.S. Department of Defense. Retrieved from http://www.defense.gov/news/newsarticle.aspx?id=119505
5. National Institute for South China Sea Studies. (2020,
June). The U.S. Military Present in the Asia-Pacific 2020. Retrieved from
http://www.nanhai.org.cn/uploads/file/20200623/jlbg.pdf
6. Reis, Joao Arthur. (2014, January 24). China's dual
response to the US 'pivot'. Asia Times. Retrieved from
http://www.atimes.com/atimes/China/CHIN-01-240114.html
7. Samuels, Richard J. (Ed.). (2006). Axis of Evil. In Encyclopedia
Of United States National Security. (p.57). California: Sage Publications.
8. United
States Department of State. (2019, November 4). A Free and Open
Indo-Pacific: Advancing a Shared Vision.
Retrieved from
https://www.state.gov/release-of-the-united-states-report-on-the-implementation-of-the-indo-pacific-strategy/
--------------------------