โควิด-19 โอกาสและ Disruptor แห่งปี 2020

ไวรัสโควิด-19 กำลังเป็น Disruptor เขย่าโลกทุกมิติ ความสูญเสียร้ายแรงที่สุดคือการเสียชีวิต คือความสูญเสียของนับแสนนับล้านครอบครัว และเป็นโอกาสหากเรียนรู้พัฒนาฟันฝ่าความท้าทายครั้งนี้

 3-4 ปีที่ผ่านมาผู้เชี่ยวชาญเอ่ยถึง Disruptor ผู้ที่จะเขย่าโลก บ้างว่าคือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution: 4IR) เช่น เทคโนโลยีหุ่นยนต์ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศ การพิมพ์สามมิติ (3D-printing) ไบโอเทคโนโลยี เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ พันธุวิศวกรรม ฯลฯ

            ปรากฏการณ์โรคระบาดจากไวรัสโคโรนา โควิด-19 (Covid-19) ที่เริ่มต้นปีกำลังเป็น Disruptor เขย่าโลกทุกมิติและเป็นโอกาสในตัวเอง บทความนี้นำเสนอตัวอย่างบ้างด้านเพื่อให้เห็นภาพ

โอกาสและDisrupt อะไรบ้าง :

กลางสัปดาห์ที่ผ่านมาองค์การค้าโลกประเมินว่าการค้าโลกปีนี้จะหดตัวร้อยละ 13-32 แย่กว่าวิกฤต 2008 แต่เชื่อว่าการค้าโลกจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเมื่อวิกฤตผ่านพ้นซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นปีหน้า ในภาคบริการอุตสาหกรรมเดินทางและท่องเที่ยวได้รับผลมากที่สุด ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนการเดินทางไปต่างประเทศจะเป็นเรื่องยุ่งยาก ค่าใช้จ่ายสูง เช่น ต้องตรวจสุขภาพทั้งขาไปขากลับ เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง อุตสาหกรรมการบิน การท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก ร้านค้า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะหดตัวตาม

Dave Calhoun หัวหน้าผู้บริหาร Boeing ขอให้พนักงานลูกจ้างบริษัทลาออกโดยสมัครใจ คาดการณ์ว่าต้องใช้เวลาหลายปีกว่าอุตสาหกรรมการบินจะฟื้นตัว ปัจจุบันมีคนทำงานกับบริษัท 150,000 คนทั่วโลก Lufthansa สายการบินเยอรมนีเป็นอีกบริษัทที่แถลงชัดว่าต้องใช้เวลาหลายปีกว่าอุตสาหกรรมการบินโลกจะฟื้นตัวดังเดิม บริษัทได้ปลดระวางเครื่องบินขนาดใหญ่หลายลำแล้วเพราะประเมินว่าผู้โดยสารจะลดลง

ขณะที่การระบาดยังไม่สิ้นสุด บางคนบางบริษัทอาจรู้อนาคตตนเองแล้ว

            หลายปีที่ผ่านมาการเรียนออนไลน์เป็นที่นิยมมากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในชั้นเรียน ในอนาคตการเรียนการสอนออนไลน์ทวีความสำคัญกว่าเดิม การศึกษาในชั้นเรียนยังมีความจำเป็นและจะเป็น “ของแพง” มีไว้สำหรับคนที่จ่ายได้ จินตนาการว่านักเรียนในชั้นต้องนั่งห่างกัน 2 เมตร มีระบบดูแลป้องกันติดเชื้อตลอดเวลา มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกจะรับนักศึกษาได้มากขึ้น มหาวิทยาลัยเกรดต่ำจะหายไป

ภาพที่สดใสหลังพ้นวิกฤตโควิด-19 คือแรงงานทั้งหมดกลับไปทำงานตามเดิม แต่ที่หลายคนกังวลคือจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือ จะต้องใช้เวลากี่เดือนหรือกี่ปี แรงงานที่ยังไม่กลับเข้าทำงานจะรอได้แค่ไหน ทางออกที่พอเห็นคือหางานใหม่ โอกาสมีสำหรับผู้ใฝ่เรียนรู้ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง องค์การอนามัยโลกชี้ว่าโลกกำลังขาดแคลนพยาบาลต้องการเพิ่ม 6 ล้านคน เมื่อกลางเดือนเมษาบริษัท Amazon รับลูกจ้างเพิ่มแล้ว 100,000 คนและยังต้องการเพิ่มอีก 75,000 คน ในวิกฤตมีโอกาส บริษัทซื้อขายออนไลน์กำลังทำกำไรมหาศาล

ในช่วงเวลาที่อยู่กับบ้านต้องไม่นิ่งนอนใจ ต้องขวนขวายฝึกทักษะใหม่ หาช่องทางอาชีพใหม่ หารายได้หลายทาง ไม่ควรคาดหวังว่ารัฐบาลจะเลี้ยงดูคนตกงานตลอดไป

การเมืองจะรุ่งหรือรุ่งริ่ง :

ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 คะแนนนิยมของรัฐบาลแมร์เคิลพุ่งพรวด คนเยอรมันร้อยละ 72 เห็นว่ารัฐบาลบริหารประเทศถูกทาง สนับสนุนการนำที่เข้มงวด ให้ทุกคนพยายามอยู่แต่ในบ้าน

ล่าสุดเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคร่วมรัฐบาลเกาหลีใต้ชนะเลือกตั้งทั่วประเทศอย่างถล่มทลาย ประชาชนชื่นชมการแก้ปัญหาโรคระบาดซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในขณะนี้ ที่น่าสนใจคือแม้เสี่ยงติดเชื้อแต่กว่า 29 ล้านคนออกไปเลือกตั้ง (66.2 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิทั้งหมด) เป็นสถิติสูงสุดในรอบ 28 ปี นักวิเคราะห์ชี้ว่าคนตั้งใจออกไปเลือกเพราะต้องการแสดงท่าทีสนับสนุนรัฐบาล สนับสนุนประธานาธิบดี มุน แจ-อิน (Moon Jae-in)

เชื้อโควิด-19 อาจทำให้บางรัฐบาลได้ดิบได้ดีหรือต้องม้วนเสื่อกลับบ้านเพราะเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียว

โอกาสและความท้าทายของประเทศ :

IMF ประเมินล่าสุดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ Great Depression เป็นต้นมา (ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 90 ปี) เศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัว 3 เปอร์เซ็นต์ จากที่เคยคาดว่าจะโต 3.3 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัว 5.9 เปอร์เซ็นต์ ยูโรโซนหดตัว 7.5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนจีนโต 1.2 เปอร์เซ็นต์ คนยากจนขึ้น ความเหลื่อมล้ำอาจมากขึ้น น่าจะเริ่มฟื้นตัวปีหน้า

            จะเห็นว่ามีทั้งประเทศที่ติดลบมาก ติดลบน้อย หรือยังมีบวกนิดหน่อย

โควิด-19 ทำให้การแข่งขันการค้าขายระหว่างประเทศเปลี่ยนไป ซึ่งหมายถึงรายได้เข้าประเทศ การจ้างงาน อุตสาหกรรมเดินเครื่อง รัฐไม่ต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาลเพื่ออุ้มชูดูแลประชาชน ระบบเศรษฐกิจ เป็นโอกาสของประเทศที่ฟื้นตัวได้ก่อน เกิดความได้เปรียบเป็นผู้ส่งออกสินค้าทุกชนิดที่ตลาดโลกต้องการ

            การฟื้นตัวไม่อาจเกิดขึ้นหากคนในชาติไม่ร่วมมือ 1 คนที่ติดเชื้ออาจทำให้อีกหลายคนติดเชื้อ เป็นปัญหาไม่รู้จบ สิ่งที่รัฐบาลพยายามพัฒนาหลายสิบปี ธุรกิจที่สร้างตัวหลายชั่วอายุคนอาจรุ่งหรือดับในคราวนี้

            อีกประเด็นที่น่าคิดคือ หลายประเทศจำต้องให้ประชาชนนับล้านคนอยู่ในบ้าน รัฐบาลทุ่มงบประมาณมหาศาลอัดฉีดเลี้ยงดูทั้งระบบ น่าคิดว่าเงินกู้เหล่านี้บวกกับหนี้สินเดิมจะส่งผลอย่างไรต่อภาวะเศรษฐกิจการเงินการคลังในอนาคต หวังว่าเมื่อพ้นวิกฤตไวรัสโคโรนาแล้วจะไม่พบวิกฤตหนี้สาธารณะหรือวิกฤตอื่นๆ  กลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต หากประเทศใดผิดพลาดในการแก้ปัญหารอบนี้ มีการทุจริตคอร์รัปชันมากมาย อาจต้องถอยหลังอีกหลายปีหรือนานกว่านั้นซึ่งหมายถึงความทุกข์ยาก ความเจ็บปวดของประชากรในประเทศ

ผลต่อระบบโลก :

            การ disrupt ครั้งนี้กระเทือนระบบเศรษฐกิจการเมืองโลก น่าติดตามว่าประเทศใดจะเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ ประเทศใดจะถดถอย

            บทเรียนจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สอนว่าเยอรมนีผู้พ่ายแพ้สงครามสูญเสียฐานะความเป็นมหาอำนาจ สูญเสียอาณานิคม ประเทศถูกแยกเป็น 2 ส่วน (ก่อนรวมได้อีกครั้ง) ส่วนสหราชอาณาจักรกับฝรั่งเศสแม้เป็นฝ่ายชนะสงคราม แต่อุตสาหกรรมย่อยยับ บ้านเรือนพังพินาศ ไม่อาจรักษาอิทธิพลดังเดิม สูญสิ้นความเป็นมหาอำนาจที่ดำรงมานานนับร้อยปีเช่นกัน สหรัฐกลายเป็นประเทศที่ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลกอย่างเต็มภาคภูมิและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

            ในรอบนี้ความเป็นมหาอำนาจโลกจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร

            โควิด-19 ทำร้ายโลกาภิวัตน์หลายทาง โดยเฉพาะห่วงโซ่การผลิต การเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างประเทศ ในขณะเดียวกันส่งเสริมการใช้อินเตอร์เน็ทให้แพร่หลายกว่าเดิม ผู้คนเชื่อมต่อกันด้วยอินเตอร์เน็ทไม่ว่าจะเพื่อการศึกษา ค้าขาย บริโภค สังคมออนไลน์

            อย่างไรก็ตาม ในที่สุดโลกจะมีวัคซีนมียารักษา เมื่อถึงเวลานั้นความกังวลต่อโควิด-19 จะค่อยๆ หายไป เป็นประเด็นที่น่าติดตาม

ระดับปัจเจกและครอบครัว :

ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนหนึ่งจะไม่แสดงอาการใดๆ ออกมา และจะแสดงเมื่อป่วยหนักแล้ว ถ้าสมาชิกคนหนึ่งในบ้านติดเชื้อและไม่แสดงอาการ คนในบ้านที่เหลือย่อมเสี่ยงติดเชื้อมาก หากเชื้อเข้าไปถึงปอดและทำลายเนื้อเยื่อปอด สุขภาพของผู้ป่วยจะไม่เหมือนเดิม ไม่สามารถทำงานตามปกติ อย่าพยายามเสี่ยงเพราะคิดว่าไม่ตาย โอกาสตายน้อยแต่อาจไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติอีกต่อไป

            ความสูญเสียร้ายแรงที่สุดคือการเสียชีวิต คือความสูญเสียของนับแสนนับล้านครอบครัว ชีวิตของหลายล้านคนจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ส่วนคนที่รอดจากการ disrupt ครั้งนี้และพัฒนาเปลี่ยนแปลงตนเอง เปิดใจหาโอกาสใหม่ๆ อาจเป็นผู้เก็บเกี่ยวสิ่งดีมากมายที่รออยู่

            โควิด-19 เป็นทั้งโอกาสและ disruptor

19 เมษายน 2020

ชาญชัย คุ้มปัญญา

(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 8561 วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2563)

-------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 

ยุทธศาสตร์ชนะโควิด-19 ด้วยการให้

ถ้าทุกคนแบ่งปันแก่กันและกัน ทุกคนจะได้และมีเพียงพอ การกักตุนหายไป รวมถึงความวิตกจริต จมอยู่ในความทุกข์โศก เพราะการ ให้เปลี่ยนโลกจากความวิตกกังวลสู่โลกที่ปรารถนาดีต่อกัน 

บรรณานุกรม :

1. วรากรณ์ สามโกเศศ. (2016, มีนาคม 9). การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่4. ไทยพับลิก้า. Retrieved from https://thaipublica.org/2016/03/varakorn-153/

2. Amazon fills 100,000 jobs, will add 75,000 more. (2020, April 14). The Jakarta Post. Retrieved from https://www.thejakartapost.com/news/2020/04/14/amazon-fills-100000-jobs-will-add-75000-more.html

3. Boeing unveils voluntary layoffs and early retirement packages. (2020, April 2). New York Post. Retrieved from https://nypost.com/2020/04/02/boeing-unveils-voluntary-layoffs-and-early-retirement-packages/

4. Coronavirus: Angela Merkel's approval ratings up amid health crisis. (2020, April 3). Al Jazeera. Retrieved from https://www.dw.com/en/coronavirus-angela-merkels-approval-ratings-up-amid-health-crisis/a-53001405

5. IMF says the world will ‘very likely’ experience worst recession since the 1930s. (2020, April 14). CNBC. Retrieved from https://www.cnbc.com/2020/04/14/imf-global-economy-to-contract-by-3percent-due-to-coronavirus.html

6. Lufthansa retires big jets, says rebound could take years. (2020, April 7). AP. Retrieved from https://apnews.com/f5367407517cc4b3a06a5048820665b4

7. Ruling party's landslide election win to give boost to President Moon's reform drive. (2020, April 16). Yonhap. Retrieved from https://en.yna.co.kr/view/AEN20200416001751315?section=national/politics

8. WTO sees 'ugly' trade plunge, likely worse than financial crisis. (2020, April 8). Reuters. Retrieved from https://www.reuters.com/article/us-trade-wto/wto-sees-ugly-trade-plunge-likely-worse-than-financial-crisis-idUSKBN21Q1VM?il=0

-----------------------------

ที่มาภาพ : Yonhap News