ปริศนาราคาน้ำมันดิบโลกร่วง 2020
อาจเป็นเพราะรัสเซียเสนอว่าถ้าจะลดก็ต้องลดทุกประเทศ
ไม่ใช่มีบางประเทศที่ “ลอยตัว” อยากผลิตเท่าไหร่ก็ได้
ไม่อยู่ในระบบโควตามาตรฐาน
ผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาโควิด-19
เศรษฐกิจโลกที่ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว ราคาน้ำมันดิบโลกอ่อนตัวตามลำดับ
กลุ่มโอเปกกับรัสเซียจึงหารือปรับลดกำลังการผลิตเพื่อดึงราคากลับมา
แต่การเจรจาล้มเหลวเพราะตกลงกันไม่ได้ว่าใครต้องลดกำลังผลิตเท่าไหร่ ทันทีที่ข่าวออกราคาน้ำมันดิบร่วงทันทีกว่า
30 เปอร์เซ็นต์
คำกล่าวหาจากรัสเซีย :
ทุกวันนี้ “อาจแบ่ง”
ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกเป็นกลุ่มโอเปกกับนอกโอเปก (non-OPEC) กลุ่มหลังมีรัสเซียเป็นแกนนำ เมื่อ 3 ปีก่อน 2 กลุ่มทำข้อตกลงเรื่องกำลังการผลิต
“Declaration of Cooperation” ข้อตกลงนี้สิ้นสุดเมื่อ 13
มีนาคมที่ผ่านมา นับจากนี้ใครจะผลิตเท่าไหร่ก็ได้
การรักษาระดับราคาน้ำมันเป็นผลประโยชน์ร่วมของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน
เกิดคำถามว่าทำไมจึงตกลงกันไม่ได้ มิคาอิล มิชูสติน (Mikhail Mishustin) นายกรัฐมนตรีรัสเซียชี้ว่ารัสเซียไม่ใช่ต้นเหตุล้มข้อตกลงน้ำมันกับโอเปก
อันที่จริงรัสเซียเสนอให้ขยายข้อตกลงออกไปอีก 1 ไตรมาสหรือจนถึงสิ้นปี
แต่มีบางประเทศเป็นต้นเหตุล้มข้อเสนอนี้
Goran Radosavljevic จาก National
Petroleum Committee of Serbia อธิบายว่าเป้าหมายของรัสเซียคือมุ่งเล่นงานอุตสาหกรรมน้ำมันชั้นหินดินดาน
(shale oil/tight oil) ของสหรัฐ นับจากปี 2014
เป็นต้นมาสหรัฐผลิตน้ำมันชั้นหินดินดาน ส่งออกน้ำมันสู่ตลาดโลก
จนกลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกในขณะนี้
Stephen Schork จาก Schork Report เผยว่าเหตุที่ตกลงกันไม่ได้เพราะรัสเซียต้องการจำกัดการส่งออกน้ำมันชั้นหินดินดานของสหรัฐในปีหน้า
พูดแบบเข้าใจง่ายคือลดส่วนของสหรัฐนั่นเอง
เป็นตัวอย่างข้อมูลที่ชี้ว่าต้นเหตุอยู่ที่สหรัฐ
แต่จะจริงหรือไม่ยังไม่อาจสรุป
ปริศนาโควตาน้ำมันโลก :
เชื่อหรือไม่ว่าทุกประเทศใช้น้ำมัน
ทุกคนเกี่ยวข้องกับน้ำมันไม่ทางใดทางหนึ่ง แต่การค้าน้ำมันโลก
อุตสาหกรรมน้ำมันโลกมีปริศนามากมาย (ไม่ปรากฏเป็นข่าว) ที่โลกรับรู้คือในหมู่ผู้ส่งออกน้ำมันมีโควตา
ทุกประเทศจะส่งออกในจำนวนที่ตกลงกันไว้ บางประเทศส่งออกมาก
บางประเทศส่งออกได้น้อยและเปลี่ยนแปลงไปมา
ยกตัวอย่าง ก่อนเกิดสงครามอิรัก-คูเวตในปี 1990
ซาอุฯ ผลิตน้ำมันราว 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากสงครามดังกล่าวนานาชาติคว่ำบาตรไม่ซื้อน้ำมันอิรัก
ปี 1991 ซาอุฯ เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 9 ล้านบาร์เรลต่อวันและไปถึง
12 ล้านบาร์เรลเมื่อปี 2015 ทุกวันนี้ซาอุฯ คงกำลังผลิต 12-13
เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำมันดิบทั้งโลก ทุกบาร์เรลที่ขายได้คือกำไรล้วนๆ
คำถามคือใครเป็นผู้ควบคุมโควตา ยึดอะไรเป็นเกณฑ์
ทำไมซาอุฯ สามารถส่งออกน้ำมันได้มากถึงเพียงนี้
หรือทำไมอิรักในปัจจุบันส่งออกมากกว่าบางประเทศ แต่น้อยกว่าซาอุฯ
ดูกรณีสหรัฐเริ่มผลิตน้ำมันชั้นหินดินดานเมื่อปี
2014 กำลังผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปี 2018 สามารถผลิตน้ำมันทุกประเภทรวม 11.6
ล้านบาร์เรลต่อวัน (เดิมผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งอื่นๆ อยู่แล้ว) มีนาคม 2018
รัฐบาลทรัมป์ประกาศ “ยุคทองพลังงานอเมริกา” สหรัฐจะลดการนำเข้าและเพิ่มการส่งออก
มีส่วนแบ่งในตลาดโลก นักวิเคราะห์บางคนประเมินว่าอีกไม่กี่ปีสหรัฐอาจส่งออกถึง 4-5
ล้านบาร์เรลต่อวัน ประเทศที่ในอดีตที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลกมาบัดนี้กำลังกลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่
ประเด็นคือโลกมีระบบโควตาอยู่แล้ว
หากสหรัฐเพิ่มการส่งออกหรือแม้กระทั่งลดการนำเข้า
ย่อมกระทบการส่งออกของประเทศอื่นๆ กระทบระบบโควตา
นำสู่คำถามสำคัญว่าสหรัฐอยู่ในระบบโควตาหรือไม่ หากไม่อยู่ทำไมไม่อยู่
เรื่องนี้เป็นประเด็นปริศนาอย่างหนึ่ง
คงเป็นการพูดเกินเลยว่าสหรัฐสามารถผลิตและส่งออกมากเท่าที่ต้องการ ไม่มีโควตา
ที่น่าจะถูกต้องกว่าคือสหรัฐมีอำนาจต่อรองสูงมาก
Huang Xiaoyong จาก Center for
International Energy Security Studies of the Chinese Academy of Social Sciences
วิเคราะห์ว่าทุกวันนี้สหรัฐเป็นผู้ควบคุมโควตาจำนวนหนึ่ง
เป็นที่ยอมรับในหมู่วงการนักวิเคราะห์น้ำมันว่ารัฐบาลทรัมป์พยายามเข้าไปมีบทบาทในโอเปก
เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นพันธมิตร ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสหรัฐ ซาอุฯ กับพวก
รวมความแล้ว โควิด-19
ทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกอ่อนตัว ซาอุฯ กับรัสเซียหารือช่วยกันลดกำลังการผลิต อาจเป็นเพราะรัสเซียเสนอว่าถ้าจะลดก็ต้องช่วยกันลดทุกประเทศ
ไม่ใช่มีบางประเทศที่ “ลอยตัว” อยากผลิตเท่าไหร่ก็ได้ ไม่อยู่ในระบบโควตามาตรฐาน
นักวิเคราะห์ Augusto Tandazo ฟันธงว่าทุกวันนี้ราคาน้ำมันโลกอยู่ในมือของ “พวกประเทศที่พัฒนาแล้ว”
คนพวกนี้พูดถึงการค้าเสรี ปกป้องการค้าเสรี
แต่กลับบิดเบือนตลาดเสียเอง ข้อสรุปของแนวคิดนี้
ผู้คุมโควตาน้ำมันตัวจริงไม่ใช่โอเปกกับนอกโอเปก
แต่เป็นบางประเทศหรือกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งนี้เป็นข้อกล่าวอ้างจากใครบางคนเท่านั้น
ยังหาข้อสรุปไม่ได้
ถ้ายึดมุมมองที่กล่าวมาข้างต้น
ต้นตอปัญหาน้ำมันคือสหรัฐเพิ่มการผลิตน้ำมันชั้นหินดินดานมากขึ้นในระยะ 7-8
ปีที่ผ่านมาจนกลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของโลก
สงครามราคาน้ำมัน :
นานมาแล้วที่บางประเทศใช้น้ำมันหรือราคาน้ำมันเป็นเครื่องมือการเมืองระหว่างประเทศ
เหตุการณ์สำคัญที่มักเอ่ยถึงคือ วิกฤตน้ำมัน 1973 โอเปกไม่ขายน้ำมันแก่ประเทศที่เป็นมิตรกับอิสราเอล
หวังกดดันให้รัฐบาลสหรัฐ ชาติตะวันตกเลิกสนับสนุนอิสราเอล
วิกฤติน้ำมัน 1979 มาจากเหตุปฏิวัติอิหร่าน อุปทานน้ำมันดิบโลกหายไป
5 เปอร์เซ็นต์
การปฏิวัติกับอุปทานน้ำมันหายไปส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งพรวด
ความขัดแย้งกรณียูเครน รัสเซียผนวกไครเมียใน
2014 เป็นอีกกรณีที่เด่นชัด นักวิเคราะห์ Jeloca Putnikovic ชี้ว่าครั้งนั้นสหรัฐกับซาอุฯ
ร่วมกันกดราคาน้ำมันเพื่อเล่นงานรัสเซีย
ในเหตุการณ์ล่าสุด
คำประกาศที่จะผลิตน้ำมันส่งออกให้มากที่สุดของซาอุฯ
คือการประกาศสงครามราคาน้ำมันครั้งใหม่ เข้าสู่ภาวะไร้โควตา
ไม่เพียงเท่านั้นประเทศพันธมิตรอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ประกาศจับมือซาอุฯ
เร่งกำลังการผลิต การส่งออกน้ำมันเป็นรายได้หลักของรัสเซียแต่เป็นรายได้หลักของซาอุฯ
กับพวกเช่นกัน มีข้อมูลว่าต้นทุนการผลิตน้ำมันชั้นหินดินดานของสหรัฐในขณะนี้อยู่ที่
35-45 ดอลลาร์ (ขึ้นกับต้นทุนแต่ละบ่อด้วย) บริษัทอยากได้ราคาตั้งแต่ 55-65
ดอลลาร์ต่อบาร์เรลขึ้นไป อุตสาหกรรมน้ำมันมีอิทธิพลต่อการเมืองอเมริกา
สรุป น้ำมันลดจาก 2 ปัจจัย :
โดยสรุปแล้วราคาน้ำมันดิบโลกอ่อนตัวรุนแรงในระยะนี้มาจาก
2 ปัจจัย คือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาโควิด-19
กับความขัดแย้งระหว่างผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก
พูดให้ชัดคือรัสเซียกับฝ่ายซาอุฯ สหรัฐนั่นเอง
สงครามราคาน้ำมันรอบนี้ทั้งฝ่ายซาอุฯ
กับรัสเซียประกาศสู้ไม่ถอย แม้ซาอุฯ
ได้เปรียบเรื่องต้นทุนน้ำมันที่ต่ำกว่าแต่ต้องพิจารณาเรื่องงบประมาณรายจ่ายอันมหาศาลของตนกับพวกด้วย
ส่วนรัสเซียพูดว่ามีเงินตราสำรองระหว่างประเทศกับทองคำมาก
เคยผ่านสงครามราคาน้ำมันมากแล้ว ต้องดูต่อไปว่าใครจะทนได้นานกว่าในยามที่เชื้อโควิด-19
กำลังก่อปัญหาไปทั่วโลก การเดินทางการใช้น้ำมันมีแต่จะลดน้อยลง
ยิ่งสู้นานย่อมยิ่งเสียหาย
ส่วนเรื่องที่มาโควตาน้ำมันยังเป็นปริศนา
ปริมาณการส่งออกของสหรัฐอาจเป็นข้อตกลงลับระหว่างหมู่ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ด้วยกัน
โดยเฉพาะกับซาอุฯ และรัสเซีย รวมความแล้ว ราคาน้ำมันดิบโลกไม่ได้อยู่ภายใต้กลไกตลาดเสรีตามที่ตำราบางเล่มสอนให้ท่องจำเช่นนั้น
ไม่ได้เป็นไปตามคำพูดของผู้นำบางประเทศที่พร่ำตลอดเวลา
เป็นปริศนาที่ค้างคามาช้านาน
22 มีนาคม 2020
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 8533
วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2563)
---------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
กลุ่มนอกโอเปก (non-OPEC)
แม้กลุ่มนอกโอเปกเป็นที่รู้จักน้อยกว่ากลุ่มโอเปก
กลุ่มนอกโอเปกมีส่วนช่วยเพิ่มอุปทานน้ำมัน ลดการผูกขาด กำลังก้าวขึ้นมาเทียบเคียงโอเปกและมีความซับซ้อนภายในกลุ่มนี้
ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการบางคนพูดเสมอว่าราคาน้ำมันเป็นไปตามหลักตลาดเสรี
ขึ้นกับอุปสงค์อุปทาน แต่การลดต่ำของราคาน้ำมันดิบในช่วง 2
ปีที่ผ่านมามีหลักฐานหลายชิ้นที่บ่งบอกว่าไม่ได้เป็นไปตามหลักกลไกเสรี หนึ่งในหลักฐานดังกล่าวคือแนวคิดที่ว่ารัฐบาลซาอุฯ
กำลังใช้ราคาน้ำมันเป็นเครื่องมือจัดการอิหร่าน เรื่องทำนองไม่ใช่เรื่องใหม่ราคาน้ำมันเป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่างประเทศมานานแล้ว
สหรัฐฯ ผู้บริโภคทรัพยากรน้ำมันมากที่สุดในโลกจะกลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมันในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
เหตุจากความสำเร็จในการพัฒนา Shale gas กับ Shale oil
บรรณานุกรม :
1. Claes, Dag Harald. (2018). The
Politics of Oil: Controlling Resources, Governing Markets and Creating
Political Conflicts. UK: Edward Elgar Publishing.
2. Juhasz, Antonia. (2008). The Tyranny
of Oil: The World's Most Powerful Industry - and What We Must Do to Stop It.
New York: HarperCollins Publishers.
3. Katusa, Marin. (2015). The
Colder War: How the Global Energy Trade Slipped from America's Grasp. USA: John Wiley & Sons.
4. Oil falls after Saudi Aramco
asked to raise output capacity. (2020, March 11). Daily Sabah. Retrieved from https://www.dailysabah.com/business/energy/oil-falls-after-saudi-aramco-asked-to-raise-output-capacity
5. Oil Price Shocks Might be 'Final
Straw' for Volatile US Credit Markets, Strategists Warn. (2020,
March 11). Sputnik News. Retrieved from https://sputniknews.com/business/202003111078534716-oil-price-shocks-might-be-final-straw-for-volatile-us-credit-markets-warn-strategists/
6. Oil price war expands as UAE
joins Saudi ally. (2020, March 12). Asia
Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2020/03/oil-price-war-expands-as-uae-joins-saudi-ally/
7. OPEC+ Deal Breakdown Not at
Russia's Initiative, Moscow Offered Extension - Prime Minister. (2020,
March 12). Sputnik News. Retrieved from https://sputniknews.com/russia/202003121078546592-opec-deal-breakdown-not-at-russias-initiative-moscow-offered-extension---prime-minister/
8. Organization of the Petroleum
Exporting Countries. (2019). Declaration of Cooperation. Retrieved from
https://www.iea.org/newsroom/news/2019/november/world-energy-outlook-2019-highlights-deep-disparities-in-the-global-energy-system.html
9. Political Maneuver or Economic
Move: What Caused the Oil Price Collapse? (2020, March 10). Sputnik News. Retrieved from https://sputniknews.com/analysis/202003101078530248-political-maneuver-or-economic-move-what-caused-the-oil-price-collapse/
10. US crude exports becoming bigger
presence in global oil. (2018, March 18). Hurriyet Daily News. Retrieved
from http://www.hurriyetdailynews.com/us-crude-exports-becoming-bigger-presence-in-global-oil-128925
11. Who will cave first in
Saudi-Russia oil price war? (2020, March 18).
Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2020/03/who-will-cave-first-in-saudi-russia-oil-price-war/
12. Why US Shale Drillers are
Responsible for Saudi-led Oil Price Turmoil With OPEC+. (2020,
March 11). Sputnik News. Retrieved from https://sputniknews.com/analysis/202003111078540580-why-us-shale-drillers-are-responsible-for-saudi-led-oil-price-turmoil-with-opec/
-----------------------------
ที่มาภาพ : https://www.opec.org/opec_web/en/publications/338.htm