Oxfam : ถึงเวลาดูแลกันและกัน
หากไม่แก้ความเหลื่อมล้ำจะนำสู่หายนะทางเศรษฐกิจสังคม
ร้ายแรงที่สุดคือล้มล้างการทางเมือง
ทางออกนั้นชัดเจนด้วยการเก็บภาษีพวกมหาเศรษฐีพันล้าน ไม่ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มอีก
ฯลฯ
บรรณานุกรม :
1. IMF boss says global economy risks return of Great Depression. (2020, January 17). The Guardian. Retrieved from https://www.theguardian.com/business/2020/jan/17/head-of-imf-says-global-economy-risks-return-of-great-depression
Ishan @seefromthesky
เป็นประจำทุกปีองค์การอ็อกแฟม
(Oxfam International) จะนำเสนอรายงานความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
รายงานฉบับล่าสุดตั้งชื่อว่า ‘Time to Care’ หรือ ‘ถึงเวลาดูแลกันและกัน’
โลกแห่งความเหลื่อมล้ำ :
ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในยามนี้อยู่ในภาวะไร้การควบคุม ปี 2019 ทรัพย์สมบัติของอภิมหาเศรษฐี
2,153 คนมีมากกว่าประชากรโลก 4,600 ล้านคนรวมกัน เศรษฐีพันล้านเหล่านี้เกือบทั้งหมดเป็นชายและกำลังรวยขึ้นและมีอำนาจมากขึ้นทุกที
ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธคือ
รัฐบาลของประเทศส่วนใหญ่ยังคงนโยบายสนับสนุนการแสวงหาความมั่งคั่งที่สร้างความเหลื่อมล้ำ
หลายประเทศออกนโยบายลดภาษีคนรวย ขยายความแตกต่างทางเชื้อชาติ เพศ
เกลียดชังชนกลุ่มน้อย
ระบบเศรษฐกิจทุกวันนี้เอื้อให้กับเพศชาย
มหาเศรษฐีพันล้านของโลกส่วนใหญ่จึงเป็นชาย ในขณะที่หญิงจำนวนมากทั่วโลกทำงานโดยไม่ได้ค่าตอบแทน
ไม่ได้รับการเหลียวแล ทั้งๆ ที่พวกเธอทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีคุณค่าต่อสังคม เช่น
ทำงานบ้าน เลี้ยงดูบุตร ดูแลคนสูงวัยในบ้าน จะเห็นว่าชายทำงานได้เงินแต่หญิงทำงานไม่ได้เงิน
หลักข้อแรกที่ต้องยึดให้มั่นคือเรากำลังอยู่ในโลกที่ส่งเสริมความเหลื่อมล้ำแบบสุดๆ
ทศวรรษที่ผ่านมามหาเศรษฐีพันล้านเพิ่มเท่าตัว ถ้ามองความเหลื่อมล้ำทางเพศพบว่าโดยเฉลี่ยทั้งโลกชายมีทรัพย์สมบัติมากกว่าหญิงถึง
50 เปอร์เซ็นต์ คนที่ร่ำรวยที่สุด 22 คนแรกของโลกมีทรัพย์สมบัติเท่ากับหญิงในทวีปแอฟริกาทั้งหมดรวมกัน
ผู้หญิงในสังคมมักอยู่ในฐานะถูกกดขี่และส่งเสริมให้ผู้ชายมั่งมี
2 ใน 3 ของมหาเศรษฐีพันล้านร่ำรวยจากมรดกหรือไม่ก็มีความสัมพันธ์พิเศษกับรัฐบาล
เป็นที่มาของความร่ำรวยมหาศาลดังที่รับรู้กัน ความเสียหายตกแก่ผู้บริโภคที่ต้องจ่ายเงินให้คนเหล่านั้น
เศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่
(neoliberal economics) แนวคิดที่ใช้ในปัจจุบันส่งเสริมให้มีกฎระเบียบน้อยที่สุด
ลดการใช้จ่ายภาครัฐ ผลักดันให้เกิดการผูกขาด ทุกวันนี้ธุรกิจหลายภาคส่วนของโลกเป็นแบบผูกขาดโดยกลุ่มคนไม่กี่คน
อุตสาหกรรมอาหาร ยา สื่อ การเงินและเทคโนโลยีอยู่ในการควบคุมของบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่แห่ง
ด้วยธุรกิจผูกขาดเช่นนี้สร้างความร่ำรวยมหาศาลแก่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่เพียงหยิบมือ
และร่วมกันแบ่งผลประโยชน์ในหมู่พวกเขา โดยที่ประชาชนคนทั่วไปคือผู้จ่าย เป็นผู้ทำให้พวกนั้นมั่งมี
บั่นทอนโอกาสของคนธรรมดาที่จะได้ลืมตาอ้าปาก
เป็นเหตุผลว่าทำไมทำงานหนักแต่ไม่พอกิน
พวกมหาเศรษฐีจ้างนักบัญชี
นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญช่วยเขาประหยัดภาษี ที่ร้ายกว่านั้นคือหลายคนใช้วิธียักย้ายถ่ายเททรัพย์สมบัติไปสู่ประเทศกับธนาคารที่ช่วยหลบเลี่ยงภาษี
เป็นที่มาว่าเพียงร้อยละ 4 ของเงินภาษีที่เก็บได้ทั้งโลกนั้นมาจากมหาเศรษฐีพันล้านที่เรากำลังกล่าวถึง
งานศึกษาของ Lily
Batchelder จาก New York University พบว่าตามกฎหมายภาษีสหรัฐล่าสุด
คนรวยเสียภาษีมรดกเพียง 2.1 เปอร์เซ็นต์ของมรดกตกทอด ในขณะที่คนทำงานเสียภาษี 15.8
เปอร์เซ็นต์จากหยาดเหงื่อแรงงาน เกิดคำถามว่าระบบภาษีปัจจุบันยุติธรรมหรือไม่
เกิดกระแสให้เก็บภาษีมรดก
ภาษีอสังหาริมทรัพย์ให้มากขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยเน้นเก็บพวกมหาเศรษฐีพันล้านไม่ใช่กับรายเล็กรายน้อย
คือระบบการเมืองเศรษฐกิจที่ล้มเหลว
ใช่หรือไม่ :
ธนาคารโลกรายงานว่าทั่วโลกมีคนจน
735 ล้านคน (รายได้ต่ำกว่า 1.90 ดอลลาร์ต่อวัน) ที่น่าเป็นห่วงคือสถานการณ์กำลังย่ำแย่ลง
เรื่องความทุกข์ยากของคนเหล่านี้ไม่ค่อยได้พูดถึง เพราะสื่อส่วนใหญ่มัวแต่นำเสนอเรื่องของคนรวย
การต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นปกครอง
การรับรู้ของสังคมถูกชักจูงให้สนใจเรื่องการต่อสู้ทางการเมือง
เรื่องน่าเศร้าคือสตรีกับเด็กผู้หญิงเป็นพวกที่ได้รับผลกระทบมากสุดจากความยากจน
เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญหรือเพราะสตรีเพศเหล่านั้นขี้เกียจ แต่ระบบเศรษฐกิจสังคมปัจจุบันส่งเสริมให้เป็นเช่นนั้น
ผู้หญิงกับเด็กหญิงหลายล้านคนที่อยู่ฐานล่างสุดของระบบเศรษฐกิจทำงานหนักนานหลายชั่วโมง
ทำงานบ้าน ดูแลเรื่องภายในครอบครัวที่ไม่ถูกนับคุณค่าทางเศรษฐกิจ
ไม่มีรายได้จากการนี้ ส่งเสริมให้เกิดความเหลื่อมล้ำและขยายตัวมากขึ้น
เป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมสตรีเพศจึงยากจนกว่าบุรุษ และเป็นประเด็นที่นานาชาติยังคงไม่ให้ความสำคัญ
ปัญหาที่ใหญ่จริงๆ
คือ ในหลายประเทศพวกมหาเศรษฐีพันล้านสามารถเบี่ยงเบนการตัดสินของศาล
นักการเมืองหลายคนขายตัวแลกเงินจากพวกเขา สื่อพูดเข้าข้าง
สุดท้ายคือสามารถบิดเบือนการเมืองให้เป็นอย่างที่พวกเขาต้องการ เหล่านี้ไม่ใช่ของใหม่
มีหลักฐานมากมายในหลายประเทศ เป็นที่มาว่ายิ่งรวยยิ่งมีอำนาจ และใช้อำนาจสร้างความร่ำรวย
นักวิเคราะห์บางคนจึงสรุปว่ามหาเศรษฐีพันล้านไม่ใช่เครื่องหมายบ่งบอกความสำเร็จของระบบการเมืองเศรษฐกิจ
ตรงกันข้ามเป็นหลักฐานบ่งบอกความล้มเหลว
ทางออกกับหากปล่อยทิ้งไว้ :
งานวิจัยชี้ว่าถ้าต้องการแก้ปัญหาความยากจนต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ได้ก่อน
(หรือทำพร้อมกัน) ด้วยการสร้างระบบเศรษฐกิจที่เกื้อการุณย์ต่อมนุษย์ด้วยกัน (Human
Economy) ที่ให้คุณค่ากับทุกคนรวมทั้งสตรีเพศ แทนระบบเศรษฐกิจที่มุ่งตอบแทนพวกที่มุ่งหากำไรสะสมความมั่งคั่ง
ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงการทำลายคนมั่งมี แต่หมายถึงระบบใหม่ที่ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมที่ยั่งยืน
เศรษฐกิจใหม่จะส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างบุรุษกับสตรี
ให้มั่นใจว่าทุกคนมีงานทำ ได้ค่าแรงที่มากเพียงพอ ไม่มีใครตกอยู่ในความกังวลว่าไม่มีกินมีใช้
เด็กๆ ทุกคนได้รับการดูแลอย่างเต็มที่
รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายใช้งบประมาณหรือภาษีเพื่อกระจายความมั่งคั่ง
เน้นดูแลให้เกิดความเสมอภาค ต้องเพิ่มภาษีพวกมหาเศรษฐีพันล้าน เช่น
เก็บภาษีร้อยละ 0.5 ต่อคนที่มั่งคั่งที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์ของสังคม (หมายถึงถ้ารวมคนทั้งประเทศ
ให้เพิ่มภาษีเฉพาะผู้ร่ำรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์ของสังคม)
และนำเงินเหล่านั้นช่วยเหลือคนยากไร้ ลดความเหลื่อมล้ำ
การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม
(VAT) เป็นเรื่องไม่ควรทำ
เพราะภาษีเหล่านี้เก็บจากทุกคนรวมทั้งคนที่รายได้น้อยอยู่แล้ว เป็นคนยากจนอยู่แล้ว
หรือทำงานดูแลบ้านดูแลลูกที่ไม่ได้ค่าตอบแทน
คริสตาลินา
กอร์เกียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่าจากข้อมูลวิจัยล่าสุดสภาพเศรษฐกิจโลกตอนนี้คล้ายสมัยทศวรรษ
1920 ที่ในเวลาต่อมาเกิดการถดถอยครั้งใหญ่ (Great
Depression) โดยให้เหตุผลว่าต้นเหตุมาจากความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่นับวันจะเพิ่มสูงขึ้นทุกที
ยกตัวอย่าง
สหราชอาณาจักรที่คน 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้มั่งมีที่สุดครอบครองความมั่งเท่ากับฝ่ายผู้มีรายได้น้อย
50 เปอร์เซ็นต์รวมกัน สภาพเช่นนี้เป็นคล้ายกันในกลุ่มประเทศ OECD
ลักษณะความเหลื่อมล้ำแบบนี้เหมือนสมัยทศวรรษ 1920 ปลายทางคือหายนะทางการเงิน (financial disaster)
IMF ชี้ว่าระบบเศรษฐกิจโลกจำต้องเปลี่ยนแปลง
ไม่เช่นนั้นประชาชนคนรากหญ้าจะลำบาก ความเหลื่อมล้ำจะนำสู่ลัทธิประชานิยม ใช้มาตรการแก้ไขเฉพาะหน้าที่มีแต่ทำให้ย่ำแย่กว่าเดิม ที่สุดแล้วประชาชนคนรากหญ้าคือผู้เสียหายมากสุด ได้รับผลกระทบมากสุด อาจนำสู่การล้มล้างทางการเมือง
นอกจากนี้ IMF ย้ำว่ารัฐบาลต้องกำกับตรวจสอบสถาบันการเงินการธนาคารอย่างเข้มงวด
ไม่ควรลดหย่อน คลายกฎระเบียบ
โดยรวมแล้ว
รายงานของอ๊อกแฟมประจำปีนี้ยังคงเน้นย้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจสังคม ชี้ว่าหากไม่แก้จะนำสู่หายนะทางเศรษฐกิจ
ตามด้วยความปั่นป่วนวุ่นวายทางสังคม ร้ายแรงที่สุดคือการล้มล้างการทางเมือง ทางออกนั้นชัดเจนด้วยการเก็บภาษีพวกมหาเศรษฐีพันล้าน
ไม่ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มอีก ฯลฯ
16 กุมภาพันธ์
2020
ชาญชัย
คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน
คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่
24 ฉบับที่ 8498 วันอาทิตย์ที่ 16
กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563)
-------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมหรือความร่ำรวยของไม่กี่คน
แทบทุกรัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำแต่ข้อเท็จจริงคือโลกเหลื่อมล้ำยิ่งกว่าเดิม
องค์การอ็อกแฟมเสนอวิธีแก้ไขที่ทุกประเทศทำได้ เป็นมาตรการที่ได้ผล
เหลือเพียงรัฐบาลกล้าลงมือหรือไม่
แทบทุกรัฐบาลประกาศว่าจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแต่ยิ่งทำยิ่งเหลื่อมล้ำ
องค์การอ็อกแฟมเสนอให้แก้ 3 เรื่องหลักคือ การใช้จ่ายภาคสังคม ภาษีและสิทธิแรงงาน
ที่เหลืออยู่ที่ความตั้งใจของรัฐบาล
1. IMF boss says global economy risks return of Great Depression. (2020, January 17). The Guardian. Retrieved from https://www.theguardian.com/business/2020/jan/17/head-of-imf-says-global-economy-risks-return-of-great-depression
2. Oxfam International. (2020, January). Time to Care.
Retrieved from https://oxfamilibrary.openrepository.com/bitstream/handle/10546/620928/bp-time-to-care-inequality-200120-en.pdf
3. Rising inequality risks leading to new financial
disaster, warns IMF chief. (2020, January 20). Independent. Retrieved
from https://www.independent.co.uk/news/business/news/wealth-inequality-financial-crisis-imf-kristalina-georgieva-a9292536.html
4. US rich to pay just 2.1% of US$764bn inheritance: study.
(2020, January 29). Taipei Times. Retrieved from
http://www.taipeitimes.com/News/front/archives/2020/01/29/2003729991
-----------------------------