ความโดดเด่นของทรัมป์กับคาเมเนอีจากเหตุสุไลมานี

เหตุเสียชีวิตของนายพลสุไลมานีทำให้เกิดการเผชิญหน้าและตอบโต้ด้วยอาวุธโดยตรงระหว่างผู้นำอิหร่านกับสหรัฐ ในอนาคตยังมีอีกหลายประเด็นที่อาจนำสู่การเผชิญหน้าแบบนี้อีก
อิหร่านยิงขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missiles) 15 ลูกจากแผ่นดินอิหร่านโจมตีเป้าหมายทางทหารของสหรัฐ 2 จุดในอิรัก ล้างแค้นให้กับนายพลกอซิม สุไลมานี (Qassim Soleimani) เป็นเหตุการณ์เผชิญหน้าโดยตรงระหว่างผู้นำสูงสุดของทั้ง 2 ประเทศ บทความนี้นำเสนอบทบาทอันโดดเด่นของอยาตุลเลาะห์คาเมเนอีกับประธานาธิบดีทรัมป์
อยาตุลเลาะห์คาเมเนอี :
อยาตุลเลาะห์ อาลี โฮไซนี คาเมเนอี (Ayatollah Ali Hosseini Khamenei) ผู้นำจิตวิญญาณอิหร่านคนปัจจุบันคือผู้ที่แทนอยาตุลเลาะห์โคมัยนี (1900-1989) ผู้นำปฏิวัติอิสลาม (อิหร่าน)
นับจากปฏิวัติอิสลามเมื่อปี 1979 อิหร่านปกครองด้วยระบอบ Islamic theocracy คำสอนศาสนาเป็นรากฐานการปกครอง พระเจ้ามีสิทธิอำนาจสูงสุด แม้เรียกว่าอำนาจนิยมแต่เป็นอำนาจนิยมที่ถูกกำกับโดยบัญญัติศาสนา
อยาตุลเลาะห์คาเมเนอีสนใจการเมืองตั้งแต่หนุ่ม มีบทบาททางการเมือง ได้รับตำแหน่งสำคัญในสมัยของอยาตุลเลาะห์โคมัยนีหลายตำแหน่ง ปี 1982-1990 ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอิหร่าน และนับจากปี 1990 จนบัดนี้อยู่ในฐานะเป็นผู้นำที่ได้รับความเคารพสูงสุด สามารถดำรงตำแหน่งต่อเนื่องแบบไม่มีวาระหรือจนถึงแก่กรรม
ไม่เพียงบทบาทสูงสุดในอิหร่าน ท่านได้รับความเคารพและยอมรับจากชีอะห์มากมายไกลหลายประเทศ เช่น เลบานอน อิรัก บาห์เรน อัฟกานิสถาน ปากีสถานและอีกหลายประเทศ ดังนั้น จึงมีมุสลิมชีอะห์มากมายที่เคารพศรัทธาท่าน
ในยุคอยาตุลเลาะห์โคมัยนีได้วางหลักเกณฑ์ว่าด้วยผู้นำสูงสุด (Supreme Leader) คือผู้นำสูงสุดทั้งด้านศาสนากับการเมือง มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญในบางเรื่อง แต่คำว่าผู้นำสูงสุดในที่นี้ไม่ใช่ความหมายแบบตะวันตกเสียทีเดียว ไม่ได้หมายความว่าท่านจะตัดสินใจโดยไม่ฟังความเห็นของใคร แท้จริงแล้วแวดล้อมด้วยผู้นำระดับอื่นๆ อีก โดยเฉพาะสภาผู้ชี้นำ (Guardian council) กับ Expediency council สภาพิเศษซึ่งทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างรัฐสภา และสภาผู้ชำนาญการ (Assembly of experts)
            แต่ในอีกแง่หนึ่ง ท่านเข้าถึงการบริหารประเทศทุกด้านทุกมิติ ตั้งแต่การทหาร ความมั่นคง ข่าวกรอง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเมืองภายใน เศรษฐกิจ ฯลฯ โดยไม่จำต้องรายงานประธานาธิบดีหรือรัฐสภา
อันที่จริงแล้วระบบการเมืองอิหร่านมีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้นำฝ่ายบริหารด้วย โดยผู้นำฝ่ายบริหาร รัฐสภาจะรับทิศทางหรือนโยบายจากผู้นำสูงสุดอีกทอด ไม่ขัดแย้งกับความเห็นของผู้นำสูงสุด
จะเห็นว่าระบบการปกครองของอิหร่านจะมีทั้งผู้นำจิตวิญญาณที่ดูแลทุกเรื่องของประเทศกับประธานาธิบดี รัฐบาลผู้บริหารประเทศด้วย โดยทั่วไปประธานาธิบดีกับรัฐบาลจะเป็นผู้แสดงบทบาทตามหน้าที่ ผู้นำจิตวิญญาณจะแสดงบทบาทเป็นที่ปรึกษา แสดงข้อคิดเห็น
แต่ในกรณีการเสียชีวิตของขุนพลสุไลมานี อยาตุลเลาะห์คาเมเนอีประกาศด้วยตัวเองว่าจะต้องล้างแค้น นำสู่การยิงขีปนาวุธใส่ฐานที่มั่นสหรัฐ 2 แห่งในอิรัก ทั้งยังกล่าวด้วยว่าการล้างแค้นไม่ได้สิ้นสุดเพียงเท่านี้แต่จะดำเนินต่อไป พร้อมประกาศย้ำจุดยืนจะต้องปราศจากสหรัฐในภูมิภาคตะวันออกกลาง
            อยาตุลเลาะห์คาเมเนอีตอบโต้เชิงนโยบายเชิงความคิดกับรัฐบาลสหรัฐมานานแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นการเผชิญหน้าโดยตรงที่เด่นชัดมากปรากฏเป็นข่าวใหญ่ มุสลิมชีอะห์มากมายทั่วโลกสนับสนุนอย่างแข็งขัน

บทบาทประธานาธิบดีสหรัฐที่เพิ่มขึ้น :
             แต่แรกเมื่อก่อตั้งประเทศอำนาจประธานาธิบดีสหรัฐจำกัดมาก เพราะไม่ต้องการให้เป็นระบอบกษัตริย์ เมื่อเวลาผ่านไปอำนาจประธานาธิบดีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากเหตุผลสหรัฐมีบทบาทในเวทีโลก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อาวุธนิวเคลียร์ อีกทั้งตัวประธานาธิบดีพยายามเพิ่มบทบาท เพิ่มอำนาจแก่ตัวเอง โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ไม่ต่างจากผู้นำคนก่อนที่พยายามเชิดชูบทบาทตนเองและเพิ่มอำนาจให้กับตัวเอง เป็นประเด็นถกเถียงในรัฐสภา แวดวงการศึกษาว่าเป็นการสมควรหรือไม่
            เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือประธานาธิบดีทรัมป์ได้พัฒนาการสื่อสารกับคนอเมริกัน (และทั่วโลก) ด้วยโซเชียลมีเดีย โดยการใช้ทวิตเตอร์เพียงเครื่องเดียว ท่านทวิตข้อความสารพัด ทั้งเรื่องนโยบาย โจมตีรัฐบาลประเทศอื่น ต่อว่าฝ่ายค้าน สื่อ ฯลฯ ท่านทวิตทุกสัปดาห์ บางวันหลายครั้ง ข้อความจากทวิตเตอร์ของท่านกลายเป็น “ข่าว” ที่สื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ต้องเสนอซ้ำในสื่อของตนอีกครั้ง
            จะเห็นว่า ประธานาธิบดีทรัมป์มีสื่อของตนเอง (ที่ไม่ต้องลงทุน) และแท้ที่จริงแล้ว “ท่านคือสื่อ” หลายร้อยล้านคนทั่วโลกติดตามท่านโดยตรง เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจว่าประธานาธิบดีสหรัฐกำลังสื่อสารตรงกับคนทั้งโลก ประกาศว่าตนเป็นผู้สั่งสังหารนายพลสุไลมานี
            อันที่จริงแล้วท่านพูดถูกๆ ผิดๆ อยู่เสมอ มีสื่อ นักวิชาการตรวจสอบพบว่าท่านผิดเป็นประจำ
การถ่วงดุลของการเมืองอเมริกา :
ทันทีที่ข่าวการเสียชีวิตของนายพลสุไลมานีแพร่ออกไป ส.ส. ส.ว.สหรัฐหลายคนแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย แนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) แกนนำพรรคเดโมแครทกล่าวว่าคำสั่งสังหารนายพลสุไลมานีเป็นปฏิบัติการทางทหารที่ไม่เหมาะสม ยั่วยุให้สถานการณ์ตึงเครียด กระทำโดยไม่ปรึกษารัฐสภาก่อนเท่ากับไม่เคารพอำนาจรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ ไม่กี่วันต่อมาสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐผ่านญัตติให้รัฐบาลจำกัดพื้นที่โจมอิหร่าน และหากปราศจากความเห็นชอบจากสภา ความเป็นศัตรูระหว่างสหรัฐกับอิหร่านจะต้องยุติใน 30 วัน
จะเห็นว่าระบบการเมืองสหรัฐกำลังทำงาน
ไม่เพียงแต่นักการเมืองที่ตรวจสอบรัฐบาล สังคมตั้งคำถามว่าการสังหารนายพลสุไลมานีสำคัญจำเป็นดังที่รัฐบาลชี้แจงหรือไม่ ช่วยปกป้องรักษาชีวิตคนอเมริกันดังที่ทรัมป์พูดหรือไม่ เกิดกระแสร้องขอให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลอธิบายเหตุผลความจำเป็น
ถ้ามองในเชิงการเมือง คนอเมริกันส่วนหนึ่งเกรงว่าสุ่มเสี่ยงเกิดสงครามใหญ่ คนอเมริกันต้องบาดเจ็บล้มตาย การที่เดโมแครทพรรคฝ่ายค้านโจมตีทรัมป์อาจอธิบายว่าทำตามเสียงคนอเมริกันหรือไม่ก็เพื่อบั่นทอนความนิยมของทรัมป์
อันที่จริงแล้วทั้งพรรครีพับลิกันกับเดโมแครทต่างสนับสนุนยุทธศาสตร์การเป็นเจ้าด้วยกันทั้งสิ้น สนับสนุนให้รัฐบาลสหรัฐมีอิทธิพลต่อภูมิภาคตะวันออกกลาง เพราะที่นั่นคือผลประโยชน์มหาศาลหรืออธิบายว่าคือความมั่นคงแห่งชาติ การที่ทุกวันนี้สหรัฐสามารถคงกองทหารหลายหมื่นนายในแผ่นดินตะวันออกกลางล้วนเป็น ผลงานต่อเนื่องของทั้ง 2 พรรค
แต่ในบริบทนี้เดโมแครทขอเล่นงานทรัมป์ด้วย มีเรื่องการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองผสมโรง
            ไม่ว่าประธานาธิบดีจะดีเลิศเพียงไร ระบบปกครองสหรัฐยอมให้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีได้ 2 สมัยหรือ 8 ปี จากนั้นประชาชนต้องเลือกผู้นำคนใหม่ เป็นระบบปกครองที่ยึดว่าประชาชนสามารถเลือกคนที่เหมาะสมที่สุดในเวลานั้น เป็นกลไกสกัดผู้นำที่ผลงานไม่เข้าตาโดยสันติวิธีไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ ทั้งยังเป็นโอกาสสำหรับคนใหม่ที่อาจมีความคิดความสามารถดีกว่าคนปัจจุบัน เป็นคำอธิบายแนวหนึ่งที่สนับสนุนการปกครองแบบนี้
การเผชิญหน้าระหว่าง 2 ผู้นำ :
            ไม่ว่าจะระบุชื่ออีกฝ่ายโดยตรงหรือไม่ ผู้นำสหรัฐกับผู้นำจิตวิญญาณอิหร่านกำลังเผชิญหน้าโดยตรง การประกาศล้างแค้น การโจมตีด้วยขีปนาวุธเป็นหลักฐานชิ้นดีว่าอยาตุลเลาะห์คาเมเนอีเล่นงานกองทัพสหรัฐ ตอบโต้ประธานาธิบดีทรัมป์
            นโยบายที่ต้องการให้ทหารอเมริกันถอนตัวทั้งหมดออกจากตะวันออกกลาง ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐยืนยันคงทหารในอิรัก ประเด็นข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์ 2015 (JCPOA) ที่ส่อว่าอาจล่มในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า อิสราเอลที่พยายามเพิ่มขยายอิทธิพลในซีเรียและที่อื่นๆ ล้วนเป็นประเด็นนำสู่การเผชิญหน้าได้ทั้งสิ้น ส่วนจะรุนแรงขยายวงมากเพียงใด เป็นเรื่องควรติดตาม
            เป็นไปได้ว่าจะเห็นการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่าง 2 ผู้นำประเทศนี้มากขึ้น
12 มกราคม 2020
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 8463 วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2563)
-------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง
การสูญเสียผู้บัญชาการนายพลสุไลมานี คือการสูญเสียนายทหารคนสำคัญของผู้นำจิตวิญญาณอิหร่าน ด้านรัฐบาลสหรัฐเห็นว่าคือการตอบโต้ต่อผู้บุกเผาทำลายสถานทูต ทำสงครามต่อต้านก่อการร้าย
ตั้งแต่ช่วงหาเสียง โดนัลด์ ทรัมป์ มีปัญหากับสื่อเรื่อยมา เพราะสื่อส่วนใหญ่มักเสนอข่าวแง่ลบของทรัมป์ ประธานาธิบดีทรัมป์ถึงกับชี้ว่าสื่อมวลชนเหมือนพรรคฝ่ายค้าน ในขณะที่สื่อนำเสนอข่าวทุกแง่ทุกมุม ลงลึกรายละเอียด เกิดการโต้เถียงว่าสิ่งที่รัฐบาลทรัมป์พูดนั้น “จริงหรือเท็จ” กลายเป็นสังคมที่ยากจะหาความจริง เพราะรัฐบาลทรัมป์ยืนยันว่าไม่ได้กล่าวเท็จ เพียงแต่อาจมีความจริง 2 ชุด หรือที่เรียกว่ามี alternative fact
บรรณานุกรม :
1. Abrahamian, Ervand. (2008). A History of Modern Iran. UK: Cambridge University Press.
2. Alexander, Yonah., & Hoenig, Milton. (2008). The New Iranian Leadership: Ahmadinejad, Terrorism, Nuclear Ambition, and the Middle East. USA: Greenwood Publishing Group.
3. Ayatollah Khamenei: Americans must leave the region. (2020, January 8). Tehran Times. Retrieved from https://www.tehrantimes.com/news/443926/Ayatollah-Khamenei-Americans-must-leave-the-region
4. Dargie, Richard. (2008). Iran.USA:  Arcturus Publishing.
5. Edwards, George C., Wattenberg, Martin P., & Lineberry, Robert L. (2014). Government in America: People, Politics, and Policy (16th Ed.). New Jersey: Pearson Education.
6. Kamrava, Mehran., Dorraj, Manochehr. (Ed.). (2008). KHAMENEI (KHAMENE’I), AYATOLLAH SEYYED ALI HOSSEINI (1939– ). In Iran Today: An Encyclopedia of Life in the Islamic Republic. (pp.271-278). USA: Greenwood Press.
7. Khalaji, Mehdi. (2016). Khamenei, Ali (1939–). In Encyclopedia of Islam and the Muslim World, Second edition. (pp.610-611). USA: Gale, Cengage Learning.
8. Pelosi announces war powers resolution as tensions with Iran escalate. (2020, January 6). NBC News. Retrieved from https://www.nbcnews.com/politics/national-security/pelosi-announces-war-powers-resolution-tensions-iran-escalate-n1111041
9. Pelosi says House to vote on limiting Trump’s military actions in Iran. (2020, January 6). Arab News. Retrieved from https://www.arabnews.com/node/1608896/world
10. Trump pressed to detail what prompted strike on Iran general. (2020, January 7). AP. Retrieved from https://apnews.com/33938bbba5ec176dde0179f5d7571363
11. Yonah., & Hoenig, Milton. (2008). The New Iranian Leadership: Ahmadinejad, Terrorism, Nuclear Ambition, and the Middle East. USA: Greenwood Publishing Group.). p.14)
-----------------------------

unsplash-logoDaniel J. Schwarz

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก