คนอิรักประท้วงเรื่องปากท้อง ลามถึงรัฐบาลอิหร่าน
ผู้ชุมนุมประท้วงโทษว่าปัญหาว่างงาน
น้ำไม่ไหลไฟไม่สว่างเพราะรัฐบาลอิหร่านครอบงำอิรัก การแก้ปัญหาจึงต้องเริ่มด้วยการขจัดอิทธิพลอิหร่าน
ไม่ว่าเรื่องนี้จริงเท็จเพียงไร ชีอะห์อิรักบางส่วนคิดเช่นนั้น
บรรณานุกรม :
Klara Kulikova
กว่า 2
เดือนแล้วที่ผู้ชุมนุมนับแสนประท้วงรัฐบาล
ทั้งที่กรุงแบกแดดและอีกหลายเมืองทางตอนใต้ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลชีอะห์ การชุมนุมเริ่มต้นด้วยเรื่องทั่วไป
ตั้งแต่เงินทองไม่พอใช้ หางานทำไม่ได้ น้ำไฟไม่พอ การทุจริตคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ
ผู้มีอำนาจ ทั้งที่เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก และผูกโยงว่าต้นตอปัญหาทั้งหมดมาจากอิทธิพลรัฐบาลอิหร่านที่ครอบงำอิรัก บทความนี้จะนำเสนอการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอิรักในแง่อิทธิพลรัฐบาลอิหร่าน
อิทธิพลของอิหร่านในอดีต :
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอิหร่านมีอิทธิพลต่ออิรักโดยเฉพาะพวกชีอะห์ด้วยกัน
ถ้ามองย้อนอดีตนับจากสมัยต่อต้านระบอบซัดดัม ฮุสเซน
รัฐบาลอิหร่านให้การสนับสนุนพวกชีอะห์ทุกกลุ่มที่ต่อต้านซัดดัมในขณะนั้น จนกระทั่งระบอบซัดดัมถูกโค่นล้ม
กล่าวได้ว่ารัฐบาลอิหร่านช่วยชีอะห์อิรักปลดแอกจากซัดดัม
เมื่อผู้ก่อการร้ายไอซิสปรากฎตัว อิทธิพลไอซิสแผ่ขยายอย่างรวดเร็วทั้งในซีเรียกับอิรัก
สถาปนารัฐอิสลาม (Islamic
State) เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2014 ครองพื้นที่ฝั่งตะวันตกของอิรัก
ในช่วงนั้นสถานการณ์ของชีอะห์อิรักตึงเครียดมาก เพราะเป้าหมายต่อไปคือพวกตน ไอซิสประกาศและแสดงออกชัดเจนว่าต้องการกวาดล้างทำลายชีอะห์
ชีอะห์อิรักทุกหมู่เหล่าในช่วงนั้นจึงรวมตัวสร้างป้อมค่าย
ระดมประชาชนเป็นกองกำลังป้องกันประเทศ ต่อมากองกำลังชีอะห์ต่างแดนที่รัฐบาลอิหร่านสนับสนุนเข้ามาอีกแรง
ยับยั้งการรุกคืบจากไอซิส ในสงครามต่อต้านไอซิสชาติตะวันตกกับพวกช่วยเรื่องการโจมตีทางอากาศ
แต่กองกำลังติดอาวุธที่รัฐบาลอิหร่านหนุนหลังต่างหากที่รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองทัพอิรัก
ปราบปรามไอซิสยึดเมืองต่างๆ คืนกลับมา
พวกเหล่านี้ส่วนหนึ่งคือคนชีอะห์อิรัก
บริหารจัดการกันเองทั้งเรื่องสายบังคับบัญชา การส่งกำลังบำรุง ได้เงินเดือนจากรัฐบาลอิหร่าน
รวมทั้งสิ้นหลายหมื่นคน
เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลอิหร่านเข้าช่วยเหลือไม่ให้ชีอะห์อิรักถูกกวาดล้าง
อิทธิพลของรัฐบาลอิหร่านเพิ่งสูงขึ้นมาก
ชีอะห์อิรักที่ไม่ต้องการชีอะห์อิหร่าน :
อย่างไรก็ตามไม่นานต่อมาชีอะห์อิรักบางพวกหวังลดทอนอิทธิพลรัฐบาลอิหร่าน
ในการประท้วงปีก่อน (2018) แสดงท่าทีต่อต้านอิหร่านชัดเจน ถึงขนาดเผารูปภาพผู้นำอิหร่าน
รวมทั้งผู้นำจิตวิญญาณอิหร่าน ชี้ว่าอิหร่านแทรกแซงกิจการภายในอิรัก เป็นต้นเหตุทำให้รัฐบาลอิรักอ่อนแอ
อิหร่านที่ช่วยเหลือครั้งแล้วครั้งเล่ากลายเป็นตัวปัญหา แม้กระทั่งรัฐบาลอิรักเรียกร้องให้กองกำลังต่างๆ
ที่อิหร่านหนุนหลังเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ หลังไอซิสไม่เป็นภัยอีกแล้ว
ประเด็นนี้อธิบายว่าเมื่อพ้นภัยไอซิส
ผู้นำชีอะห์บางกลุ่มอย่าง มุกตาดา อัล-ซาดาร์ (Moqtada al-Sadr) ต้องการให้กองกำลังจากอิหร่านออกจากประเทศทันที
กันไม่ให้รัฐบาลต่างชาติมีอิทธิพลในประเทศมากเกิน กลุ่มของอัล-ซาดาร์ประกาศท่าทีนี้อย่างชัดเจน
มักชุมนุมประกาศให้ “อิหร่านออกไป”
อันที่จริงแล้วตระกลูอัลดาร์ใกล้ชิดอิหร่านมานาน
บิดาของมุกตาดา อัล-ซาดาร์ ใกล้ชิดกับอิหร่าน
ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอิหร่านในสมัยต่อต้านระบอบซัดดัม ฮุสเซน หลักการของอัล-ซาดาร์คือต้องการอิรักที่เป็นอิสระ
ปลอดจากแทรกแซงจากต่างชาติไม่ว่าจะเป็นประเทศใด ไม่ได้จงเกลียดจงชังอิหร่าน
กระแสต่อต้านอิหร่านรอบนี้แรงมาก ต้นเดือนพฤศจิกายนผู้ชุมนุมโจมตีสถานกงสุลอิหร่านที่เมืองการ์บาลา
(Karbala) ทำลายธงชาติอิหร่านและชักธงอิรักขึ้นแทน ปลายเดือนเดียวกันบุกเผาสถานกงสุลอิหร่านที่เมืองนาจาฟ
(Najaf) ตะโกนว่า “Iran out!”
การเผาสถานกงสุลไม่ช่วยแก้ปัญหาใดๆ
แต่สำคัญในเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐบาลอิหร่าน
กลุ่มต่อต้านชี้ว่านับจากโค่นล้มซัดดัม
อิรักได้อธิปไตยใหม่อีกรอบ รัฐบาลอิหร่านประสบความสำเร็จในการแทรกแซง
มีอิทธิพลต่ออิรักมากกว่าประเทศอื่นๆ แม้กระทั่งสหรัฐ
กลางเดือนพฤศจิกายน
มีเอกสารลับหลายร้อยหน้าที่อ้างว่ามาจากเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองอิหร่านชี้ว่ารัฐบาลอิรักอยู่ใต้อิทธิพลอิหร่าน
“อิรักเป็นทางผ่านอำนาจของอิหร่านสู่ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เข่น ซีเรีย เลบานอน การปล่อยเอกสารลับอาจเป็นแผนการของใครบางคน
แต่เนื้อหาบ่งชี้อย่างนั้น
ข้อมูลอีกชิ้นชี้ว่าแท้จริงแล้วรัฐบาลอิหร่านคือผู้บงการรัฐบาลอิรัก
ควบคุมลงลึกถึงระดับหน่วยงานในรัฐบาล ในรัฐสภา ตัวการใหญ่คือนายพลกอเซม โซเลมานี (Qasem
Soleimani) ผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic
Revolutionary Guards Corps) หรือ Qods Force ของอิหร่านนั่นเอง
แนวคิดนี้เห็นว่าการล้มรัฐบาลอิรักคือการล้มอำนาจอิหร่าน
โยนความผิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นแก่อิหร่าน
ดังนั้นหากจะแก้ปัญหาต้องเริ่มต้นด้วยการขจัดอิทธิพลอิหร่าน ไม่ว่าเรื่องนี้จริงเท็จเพียงไร
พวกชีอะห์อิรักบางส่วนคิดเห็นเช่นนี้
ข้อโต้แย้งคือรัฐบาลอิหร่านเป็นต้นเหตุปัญหาหรือไม่ สมควรหรือไม่ที่จะโทษอิหร่านฝ่ายเดียว
ในเมื่อการคอร์รัปชันเกิดในทุกภาคของประเทศ ในประชาชนทุกกลุ่มทุกระดับ
ปัญหาขาดแคลนสาธารณูปโภค คนว่างงานเป็นมานับสิบปี (เริ่มนับตั้งแต่อิรักยุคประชาธิปไตย)
จริงหรือที่หากปราศจากอิหร่านแล้วอิรักจะเป็นประชาธิปไตยที่น่าชื่นชม
ใครกันแน่ที่มีอิทธิพลต่ออิรัก :
ถ้าจะพูดถึงต่างชาติแทรกแซง
ควรเอ่ยถึงรัฐบาลสหรัฐกับเพื่อนบ้านซาอุฯ ด้วย
เริ่มจากบทบาทรัฐบาลสหรัฐต่อเคิร์ดอิรักที่ตอนนี้เป็นเขตปกครองตนเองโดยชอบธรรมแล้ว
มีประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรีของตัวเอง มีกองทัพที่อยู่ในสายบังคับบัญชาของเคิร์ดด้วยกัน
สามารถบริหารเศรษฐกิจด้วยตัวเอง แม้ปากจะยังพูดว่าต้องการเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอิรัก
โดยพฤตินัยแล้วเป็นเขตปกครองตนเองที่สมบูรณ์มากขึ้นทุกที ทั้งหมดนี้ต้องยกความดีความชอบแก่รัฐบาลสหรัฐที่สนับสนุนการแยกตัวของเคิร์ดตั้งแต่สมัยซัดดัม
และพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนที่เด่นที่สุดคือกองบัญชาการทหารสหรัฐในเขตกรีนโซนใจกลางกรุงแบกแดด
อันเป็นพื้นที่เดียวกับสถานที่ตั้งหน่วยงานรัฐบาลสำคัญๆ ลองจินตนาการว่าทำเนียบรัฐบาลอิรัก
กระทรวงต่างๆ อยู่ติดกับฐานทัพสหรัฐหรืออยู่ฝั่งตรงข้าม เท่านี้ก็เห็นอิทธิพลรัฐบาลสหรัฐต่ออิรัก
เมื่อไม่นานนี้รัฐบาลสหรัฐประกาศว่าจะคงกองกำลังของตนในอิรักต่อไป “นานเท่าที่จำเป็น”
เพื่อช่วยดูแลความสงบในเขตที่ไอซิสเคยควบคุม ปัจจุบันมีทหารอเมริกัน 5,200
นายในอิรัก นับจากอิรักเข้ายุคประชาธิปไตยกองบัญชาการสหรัฐใจกลางกรุงแบกแดดก็ตั้งอยู่และอยู่เช่นนั้นจนบัดนี้
ด้านบทบาทของรัฐบาลซาอุฯ กับพวกต่อซุนนีอิรักก็มีไม่น้อย
มิถุนายน 2014 นายนูรี อัลมาลิกี (Nouri Al-Maliki) ขณะดำรงนายกรัฐมนตรีอิรักชี้ว่าซาอุดิอาระเบียเป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินและขวัญกำลังใจแก่ไอซิส
มีนาคม 2015 นายไฮเดอร์ อัล-อาบาดี (Haider al-Abadi) นายกรัฐมนตรีอิรักในขณะนั้น
เรียกร้องให้กองกำลังซุนนีอิรักเลิกสนับสนุนกองกำลังรัฐอิสลาม
ดังที่เคยเสนอในบทความก่อนว่าแท้จริงแล้วผู้ก่อการร้ายไอซิสส่วนใหญ่คือชาวบ้าน
คือพวกซุนนีอิรักกับซีเรียนั่นเอง พวกซุนนีอิรักได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลซาอุฯ
กับพวก แม้ว่ารัฐบาลซาอุฯ จะปฏิเสธก็ตาม
ในทางวิชาการเห็นว่าที่ผ่านมาการจะจัดตั้งรัฐบาลอิรักจะต้องผ่านการรับรองจากสหรัฐ
ซาอุฯ และอิหร่าน เพราะบรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กมักอยู่ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลต่างชาติ
ว่าด้วยจันทร์เสี้ยวชีอะห์ :
ดังที่เคยนำเสนอในบทความ “มายาคติ จันทร์เสี้ยวชีอะห์”
แม้ประชากรส่วนใหญ่จะเป็นมุสลิมชีอะห์ แต่นักการเมืองชีอะห์ไม่ได้อิงอิหร่านเสมอไป
หลักนโยบายของอัล-ซาดาร์คือร่วมมือกับชาติตะวันตก เพื่อนบ้านอาหรับและอิหร่าน
แต่อิรักคืออิรัก ประเทศที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง
ไม่อยู่ใต้บังคับของรัฐบาลตะวันตก อาหรับหรืออิหร่าน สะท้อนให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว
“จันทร์เสี้ยวชีอะห์” ไม่แข็งแรงอย่างที่คิด
การชุมนุมประท้วงมองได้ว่าคือการปลดแอกอิทธิพลอิหร่าน
แต่ปัญหาทั้งมวลไม่อาจโทษอิหร่านเพียงฝ่ายเดียว เป็นข้ออ้างมากกว่า
8 ธันวาคม 2019
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก”
ไทยโพสต์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 8428 วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2562)
---------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ตั้งแต่รัฐบาลสหรัฐส่งมอบอธิปไตยคืนแก่อิรัก นายกรัฐมนตรีที่ผ่านมามีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลสหรัฐทั้งสิ้น
อัล-ซาดาร์กำลังจะเป็นนายกฯ คนแรกที่พยายามปลดแอกอิรักจากการครอบงำของต่างชาติ
12 ปีนับจากโค่นล้มระบอบซัดดัม
ฮุสเซนและรัฐบาลบุชประกาศว่าจะสร้างอิรักให้เป็นประชาธิปไตย
เป็นแบบอย่างแก่ประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง จากบัดนั้นจนบัดนี้อิรักยังไม่เคยเป็นประชาธิปไตยจริงๆ
อีกทั้งสถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม สังคมแตกแยกร้าวลึก
สงครามกลางเมืองทำให้ผู้คนล้มตายปีละนับพันนับหมื่น
โดยยังไม่เห็นวี่แววว่าเมื่อไหร่ความสงบสุขจะกลับคืนมา
1. Allawi,
Ali A. (2007). The Occupation of Iraq: Winning the War, Losing the Peace.
USA: Yale University Press.
2. Iran
Intel leak: 700 documents show how Iran outplayed the US in Iraq. (2019, November 18). The Jerusalem Post.
Retrieved from https://www.jpost.com/Middle-East/Iran-Intel-leak-700-documents-show-how-Iran-outplayed-the-US-in-Iraq-608183
3. Iraqi
officials say Iran runs ‘shadow government’ in Baghdad. (2019,
November 18). The National. Retrieved from
https://www.thenational.ae/world/mena/iraqi-officials-say-iran-runs-shadow-government-in-baghdad-1.939235
4. Iraqi
PM orders Iran-backed militias into army command. (2019, July 2). Deutsche
Welle. Retrieved from
https://www.dw.com/en/iraqi-pm-orders-iran-backed-militias-into-army-command/a-49438268
5. Iraqi
prime minister to resign in wake of deadly protests (2019,
November 30). AP. Retrieved from
https://apnews.com/14bcd26984de4de2a2c039cb3505e3f8
6. Iraqi
protests escalate with no new government in sight. (2018, July 16). Al
Monitor. Retrieved from https://www.al-monitor.com/pulse/originals/2018/07/iraq-protests-south-demands-abadi-government.html
7. Iraqi
protesters attack Iran consulate in Karbala. (2019, November 4). Al Jazeera.
Retrieved from
https://www.aljazeera.com/news/2019/11/iraqi-protesters-attack-iran-consulate-karbala-191103232545555.html)
8. Iraqi
protesters pack Baghdad square, anti-government movement gains momentum. (2019,
October 29). Reuters. Retrieved from
https://www.reuters.com/article/us-iraq-protests/iraqi-security-forces-open-fire-on-protesters-kill-14-idUSKBN1X80KI
9. Iraq’s
Sadr supporters chant ‘Iran is out’ while celebrating electoral victory. (2018,
May 14). Al Arabiya. Retrieved from
http://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2018/05/14/Sadr-supporters-chant-Iran-is-out-while-celebrating-electoral-victory.html
10. Jamail,
Dahr. (2007). Beyond the Green Zone: Dispatches from an Unembedded
Journalist in Occupied Iraq. USA: Haymarket Books.
11. Tehran,
Bahgdad condemn attack on Iran's consulate in Najaf. (2019,
November 28). Al Arabiya. Retrieved from
https://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2019/11/28/Iraq-condemns-attack-on-Iran-s-consulate-in-southern-Najaf-State-media.html
12. U.S.
forces to stay in Iraq as long as needed: spokesman. (2018, August 19). Reuters.
Retrieved from
https://www.reuters.com/article/us-mideast-crisis-iraq-usa/u-s-forces-to-stay-in-iraq-as-long-as-needed-spokesman-idUSKBN1L408A
13. Who
finances ISIS? (2014, August 19). Deutsche Welle. Retrieved from
http://www.dw.de/who-finances-isis/a-17720149
-----------------------------