ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกหวังสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับหุ้นส่วนเพื่อต้านจีน
ถ้ามองในมุมกว้างคือแผนจัดระเบียบภูมิภาคของสหรัฐนั่นเอง
1. India's exit from RCEP leaves Japan and China unsure about future direction of free trade pact. (2019, November 5). The Japan Times. Retrieved from https://www.japantimes.co.jp/news/2019/11/05/asia-pacific/asian-rcep-nations-effectively-give-year-end-goal-free-trade-deal/#.XcID5VUzbZ4
บทความนี้นำเสนอยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ
เผยแพร่เมื่อต้นพฤศจิกายนที่ผ่านมา ใช้ชื่อว่า “A Free and Open
Indo-Pacific: Advancing a Shared Vision”
หรือ “อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง วิสัยทัศน์ร่วมอันก้าวหน้า”
มีสาระสำคัญดังนี้
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ
ภายใต้วิสัยทัศน์ “อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง”
(free and open Indo-Pacific) ภูมิภาคที่ 35 ประเทศอยู่ร่วมกันโดยต่างมีอธิปไตย
เป็นไท ยึดหลักสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
1.
สหรัฐจะพัวพันกับประเทศในภูมิภาคอย่างลึกซึ้ง (deeply engaged) ความเป็นไปของสหรัฐสัมพันธ์กับภูมิภาคนี้ทุกด้าน
2.
สหรัฐ พันธมิตรและหุ้นส่วนจะร่วมรักษาระเบียบที่ยึดหลักเสรีและเปิดกว้าง ทุกประเทศมีส่วนรับผิดชอบร่วมกันในการรักษาหลักการนี้
สหรัฐจะเพิ่มขยายความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาค
3.
รัฐบาลสหรัฐจะตั้งงบประมาณช่วยเหลือประเทศในภูมิภาคกว่า 4,500 ล้านดอลลาร์
บริษัทอเมริกันจะเข้ามาลงทุน เพื่อประกันความปลอดภัย
ความมั่งคั่งและอนาคตของภูมิภาคนี้
ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือสหรัฐอยู่ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
(มีขอบเขตจากสหรัฐทางฝั่งตะวันออกของแปซิฟิกจนถึงอินเดีย)
ไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาภูมิภาคนี้เปลี่ยนแปลงอย่างเหลือเชื่อ หลายร้อยล้านคนพ้นความยากจน
เป็นที่ตั้งของบริษัทชั้นนำระดับโลก เป็นพื้นที่สำคัญผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก
เพราะยึดระเบียบที่เสรีและเปิดกว้าง แต่ความมั่นคงกับความมั่งคั่งจะสูญหายถ้าถูกบดบังด้วยพวกอำนาจนิยมที่ยึดผลประโยชน์อันคับแคบบนความสูญเสียของคนอื่น
ยุทธศาสตร์นี้ยึดค่านิยม
4 ประการได้แก่ 1.เคารพอธิปไตยและอิสรภาพของประเทศต่างๆ
2.แก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธี 3.การค้าที่เปิดเสรี เป็นธรรมและต่างตอบแทน
การลงทุนที่เปิดกว้าง ข้อตกลงที่โปร่งใส เชื่อมต่อกันและกัน
4.ยึดถือกฎกติการะหว่างประเทศ
พันธมิตรกับหุ้นส่วน :
ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น
เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์และไทย คือพันธมิตรของสหรัฐที่ช่วยผดุงสันติภาพและความมั่นคงมาอย่างยาวนาน
อาเซียนตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคและเป็นศูนย์กลางของวิสัยทัศน์นี้
“มุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก”
(ASEAN Outlook on the Indo-Pacific) ที่นำเสนอเมื่อมิถุนายน 2019
สอดรับค่านิยมของยุทธศาสตร์นี้ สหรัฐพร้อมให้ความช่วยเหลือทุกด้าน เช่น ด้านพลังงาน
ความมั่นคงทางไซเบอร์ การค้าดิจิทัล สร้างโอกาสแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ส่งเสริมกิจการของสตรีกับแนวคิดสร้างสรรค์ของเด็ก
ระบบขนส่งมวลชน ความมั่นคงด้านทางน้ำ (water security)
ยกตัวอย่าง
สหรัฐสนับสนุนการพัฒนาด้านพลังงาน ความมั่นคงด้านทางน้ำ การพัฒนาสาธารณูปโภค
และสถาบันต่างๆ ของลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง (ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว ไทยและเวียดนาม)
ร่วมมือกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก
(เอเปก) ปี 2018 จัดตั้ง U.S.-Support for Economic Growth in Asia
(US-SEGA) เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนโดยเฉพาะ
นอกจากอาเซียนแล้วจะให้ความสำคัญกับพหุภาคีกลุ่มเล็ก
(minilateral) เช่นออสเตรเลียกับญี่ปุ่นเกิดการหารือเชิงยุทธศาสตร์
3 ฝ่าย (Trilateral Strategic Dialogue) วิสัยทัศน์ตามยุทธศาสตร์นี้ใกล้เคียงกับของญี่ปุ่น
อินเดีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้และไต้หวัน
ในความสัมพันธ์ทวิภาคี
ยุทธศาสตร์เอ่ยถึงการเพิ่มความร่วมมือกับทุกชาติในกลุ่มอาเซียน และเอ่ยถึงประเทศอื่นๆ
ทั้งหมดไม่ว่าจะออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิก ประเทศต่างๆ
ในอนุภูมิภาคอินเดีย ไม่เว้นแม้กระทั่งติมอร์-เลสเต
นับเป็นยุทธศาสตร์ที่เอ่ยครอบคลุมทุกประเทศในอินโด-แปซิฟิก
ในด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลสหรัฐเพิ่มงบประมาณอุดหนุนช่วยเหลือประเทศต่างๆ
ในภูมิภาคนี้ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมการติดต่อการค้าระหว่างเอกชน
สนับสนุนให้บริษัทเอกชนสหรัฐไปลงทุนในประเทศต่างๆ ลดการกีดกันทางการค้า กระตุ้นการส่งออก
และโครงการต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุน
รัฐบาลสหรัฐหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะมีส่วนร่วมในโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภค
ช่วยจัดหางบประมาณก่อสร้าง เช่น จากธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)
สำนักงานพลังงานสากล
(International Energy Agency: IEA) ประเมินว่าจนถึงปี 2040 ร้อยละ
60 ของพลังงานที่ใช้เพิ่มขึ้นจะมาจากภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ต้องลงทุนเรื่องการขุดเจาะ สร้างโรงกลั่น แหล่งพลังงานไฟฟ้า พลังงานสะอาด ฯลฯ
อย่างน้อยปีละ 1 ล้านล้านดอลลาร์ รัฐบาลสหรัฐคาดหวังการลงทุนส่วนนี้และหวังขายน้ำมันให้กับภูมิภาคด้วย
อินเทอร์เน็ตกับเศรษฐกิจดิจิทัลเพิ่มพลังเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต
รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนระบบที่เปิดกว้าง สามารถติดต่อทำงานร่วมกัน (interoperable) ปลอดภัย เชื่อถือได้ ไม่ตกอยู่ใต้การควบคุมของประเทศใดประเทศหนึ่ง สหรัฐมีระบบดังกล่าวและขอเชิญชวนให้ประเทศต่างๆ
เข้าร่วมระบบด้วยกัน
ในด้านธรรมาภิบาล
รัฐบาลสหรัฐมีหลายมาตรการต่อต้านรัฐบาลผู้ปฏิบัติมิชอบต่อพลเมืองตนเอง
มีหลายโครงการที่ส่งเสริมประชาชนในภูมิภาค เช่น สร้างประชาสังคม ต่อต้านคอร์รัปชัน
เสรีภาพสื่อ สิทธิมนุษยชน การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม จีนเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีในเรื่องเหล่านี้
รัฐบาลสหรัฐเสาะหาและต้องการสร้างเครือข่ายหุ้นส่วนความมั่นคงทางทหารเพื่อเผชิญความท้าทายร่วมกัน
ปัจจุบันมีทหารและเจ้าหน้าที่พลเรือนอเมริกันที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงในอินโด-แปซิฟิกถึง
375,000 คนและต้องการรักษาไว้
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกใกล้เคียงกับยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชีย
(Pivot to Asia) ของรัฐบาลโอบามา คือการที่สหรัฐปรับพลังอำนาจและความสนใจมาสู่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ที่อาจเพิ่มเติมคือรวมอนุภูมิภาคอินเดียเข้ามาและเอ่ยจีนในฐานะปรปักษ์อย่างชัดเจน
(ผิดกับสมัยโอบามาที่แสดงออกว่าเป็นมิตร)
ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกเอ่ยถึงพันธมิตรเก่าแก่และพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับบางประเทศ
นอกจากนี้กำลังหาพันธมิตรใหม่ อินเดียเป็นกรณีตัวอย่างที่ยุทธศาสตร์นี้ให้ความสำคัญ
รัฐบาลสหรัฐพูดอย่างชัดเจนว่าต้องการเป็นพันธมิตรกับอินเดีย เพราะมีประโยชน์หลายอย่างดังที่นำเสนอในบทความก่อน
การที่อินเดียถอนตัวออกจากความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค
(RCEP) ในนาทีสุดท้ายทั้งๆ ที่ร่วมโต๊ะเจรจาแต่แรก มีข้อสงสัยว่านอกจากเกรงสินค้าจีนตีตลาดแล้ว
ยังมีประเด็นอื่นๆ ด้วยหรือไม่
ถ้ามองในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ปัจจุบันประเทศมหาอำนาจรวมอินเดียเข้ามาในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก
รัฐบาลสหรัฐมองว่า RCEP เป็นเขตการค้าที่อยู่ใต้อิทธิพลจีน
กระทบต่อยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของตน การปฏิเสธไม่เข้าร่วม RCEP ทำให้อินเดียถอยห่างออกจากการพัวพันในทางเศรษฐกิจ และอาจหมายถึงต้องการถอยห่างจากข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
(BRI) ด้วย เป็นประเด็นที่น่าติดตามว่าอินเดียจะอิงมหาอำนาจใดหรือพยายามรักษาสมดุลกับทุกมหาอำนาจ
อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้
ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ลงนามข้อตกลงเนื้อหา RCEP
ทำให้ความเป็นพันธมิตร/หุ้นส่วนของประเทศเหล่านี้ซับซ้อนกว่าเดิม
เมื่อเอ่ยถึงปรปักษ์หรือภัยคุกคาม
จีนคือประเทศที่ถูกเอ่ยถึงบ่อยที่สุดและรุนแรงที่สุด ไม่อาจปฏิเสธว่ายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกหวังสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับหุ้นส่วนเพื่อต้านจีนโดยเฉพาะ
นั่นหมายความว่าประเทศใดที่เป็นพันธมิตรคือเครือข่ายต้านจีน
ถ้ามองในมุมกว้าง
ยุทธศาสตร์นี้คือแผนจัดระเบียบภูมิภาคของสหรัฐนั่นเอง
รัฐบาลทรัมป์มักเอ่ยถึงการค้าที่เสรีและเป็นธรรม
(free and fair trade) เล่นงานทุกประเทศที่เกินดุลตน
แต่ไม่เอ่ยอีกหลายสิบประเทศที่ขาดดุลสหรัฐ รัฐบาลสหรัฐจะลดความเสียเปรียบของประเทศเหล่านั้นอย่างไร
การใช้นโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้าหลายประเทศผิดกฎเกณฑ์องค์การค้าโลก
เป็นที่มาของการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าการค้าที่เสรีและเป็นธรรมของสหรัฐหมายถึงอะไรกันแน่
ลำพังนโยบายที่สวยหรูช่วยอะไรไม่ได้มาก
อาจถูกมองว่าเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่ออีกครั้ง ในยุคปัจจุบันสหรัฐต้องแข่งกันกับประเทศอื่นๆ
ในเรื่องก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค การลงทุนในภาคต่างๆ บริษัทเอกชนสหรัฐไม่อาจเหมารวบฝ่ายเดียวดังอดีตกาลและต้องทำงานให้หนักกว่านี้
10 พฤศจิกายน 2019
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน
คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่
24 ฉบับที่ 8400 วันอาทิตย์ที่ 10
พฤศจิกายน พ.ศ. 2562)
-------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
รายงานยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ
แม้ไม่เหมือนองค์กรนาโต
เครือข่ายความมั่นของสหรัฐในอินโด-แปซิฟิกมีอยู่จริง อยู่ร่วมกับประเทศต่างๆ
ทั้งระดับทวิภาคี พหุภาคี แต่หลายประเทศร่วมมือมหาอำนาจอื่นด้วยเป็นโครงสร้างความมั่นคงภูมิภาคที่ซับซ้อน
อาเซียนเสนอเอกสาร “มุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก”
หวังนำอนุทวีปอินเดียเข้ามาเชื่อมต่อกับเอเชียแปซิฟิกให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
คงหลักอาเซียนเป็นแกนกลาง เน้นความร่วมมือแทนการทำลายล้าง
บรรณานุกรม :1. India's exit from RCEP leaves Japan and China unsure about future direction of free trade pact. (2019, November 5). The Japan Times. Retrieved from https://www.japantimes.co.jp/news/2019/11/05/asia-pacific/asian-rcep-nations-effectively-give-year-end-goal-free-trade-deal/#.XcID5VUzbZ4
2. Lyle, Amaani. (2013, March 12). National Security Advisor
Explains Asia-Pacific Pivot. U.S. Department of Defense. Retrieved from
http://www.defense.gov/news/newsarticle.aspx?id=119505
3. United States Department of State. (2019, November 4). A
Free and Open Indo-Pacific: Advancing a
Shared Vision. Retrieved from https://www.state.gov/release-of-the-united-states-report-on-the-implementation-of-the-indo-pacific-strategy/
4. U.S. underscores commitment to Indo-Pacific region after
RCEP deal. (2019, November 5). Yonhap. Retrieved from https://en.yna.co.kr/view/AEN20191105000252325?section=national/diplomacy
-----------------------------