จากป้องกันก่อการร้ายเคิร์ดตุรกีสู่การยึดครองซีเรีย
ผลจากการความขัดแย้งภายในประเทศซีเรียที่ควบคุมไม่ได้
เปิดทางให้เพื่อนบ้านเข้าแทรกแซงด้วยหลายเหตุผลที่เพื่อนบ้านหยิบยกขึ้นมาอ้าง เช่น
ต่อต้านผู้ก่อการร้าย เป็นที่รองรับผู้ลี้ภัย อธิปไตยชาติถูกบั่นทอน
รัฐบาลตุรกีทำสงครามต่อต้านก่อการร้ายกับพวกเคิร์ดในประเทศตนมานานแล้วและลามไปถึงซีเรียด้วย
เพราะผู้ก่อการร้ายเคิร์ดตุรกีร่วมมือกับเคิร์ดซีเรีย จึงเข้าไปปราบผู้ก่อการร้ายลึกเข้าไปในดินแดนซีเรีย
บทความที่เกี่ยวข้อง:
บรรณานุกรม :
Christian Fregnan
ว่าด้วยชนชาติเคิร์ด :
ภูมิภาคตะวันออกกลางไม่ได้ประกอบด้วยชาวอาหรับเท่านั้น
ยังมีพวกเปอร์เซีย (อิหร่าน) ยิว (อิสราเอล) และอื่นๆ ชาวเคิร์ด (Kurds) คืออีกชนเชื้อสายหนึ่งกระจายในหลายประเทศ โดยเฉพาะตุรกี อิรัก อิหร่าน
ซีเรีย และบางประเทศในยุโรป
ชาวเคิร์ดผู้อาศัยในตุรกี
(เคิร์ดตุรกี) มองว่ารัฐบาลตุรกีปฏิบัติต่อพวกตนเป็นดังชนกลุ่มน้อย มักกดขี่เสมอ
พยายามสลายวัฒนธรรมเคิร์ด ฝ่ายรัฐบาลตุรกีชี้ว่าเป้าหมายสุดท้ายของพวกเคิร์ดคือแบ่งแยกดินแดนซึ่งมีความเป็นไปได้
เพราะชาวเคิร์ดชาตินิยมส่วนหนึ่งเห็นว่าต้องแก้ปัญหาด้วยการตั้งรัฐของตน
กลุ่มเหล่านี้เป็นที่มาของ Kurdistan Workers’ Party (PKK) รัฐบาลตุรกีจึงประกาศว่า
PKK เป็นองค์กรก่อการร้าย
เคิร์ดตุรกีเชื่อมโยงกับเคิร์ดซีเรีย
พรรค PKK เป็นพันธมิตรกับพรรค PYD (Partiya
Yekita ya Demokratik) ของเคิร์ดซีเรียและมีกองกำลังที่ชื่อ YPG
ตุรกีต้องการสร้างเขตปลอดภัย :
ตุรกีมีแนวคิดสร้างเขตปลอดภัย
“safe zones” หรือ “buffer zones” มานานหลายปีแล้ว
แนวคิดนี้ปรับเปลี่ยนเรื่อยมาตามบริบท เช่น ปี 2014
เมื่อเริ่มทำสงครามต่อต้านไอซิส รัฐบาลตุรกีเรียกร้องให้จัดตั้งเขตปลอดภัยตามแนวพรมแดนระหว่างตุรกีกับซีเรีย
เป้าหมายในขณะนั้นคือต้องการสร้างเขตกันชนเพื่อกีดกันการติดต่อระหว่างเคิร์ดตุรกีกับเคิร์ดซีเรีย
เป็นนโยบายเชิงรุกว่าเคิร์ดตุรกีจะไม่ตั้งเขตปกครองตนเอง เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงกับบรรดาประเทศที่เกี่ยวข้อง
โดยยอมให้เกิดเขตปกครองตนเองของเคิร์ดซีเรีย เนื่องจากไม่อาจต้านแรงกดดันจากต่างชาติในขณะนั้น
ในช่วงทำสงครามต่อต้านผู้ก่อการร้ายไอซิส
รัฐบาลตุรกีมองว่ากองกำลังเคิร์ดซีเรียเป็นภัยมากกว่า เพราะได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศ
รัฐบาลสหรัฐใช้เคิร์ดซีเรียเป็นแนวหน้ากวาดล้างไอซิส พวกเขาเข้มแข็งขึ้น
โอกาสที่จะร่วมมือกับเคิร์ดตุรกีแบ่งแยกดินแดนมีมากขึ้น
สถานการณ์ล่าสุด
กองทัพตุรกียึดครองพื้นที่ซีเรียบางส่วนตามแนวพรมแดนทางเหนือที่ติดกับตุรกี
และประกาศว่าจะสร้างเป็นเขตปลอดภัยหรือเขตกันชน ประธานาธิบดีแอร์โดกานกล่าวเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่าจะสร้างเขตปลอดภัยยาว
480 กิโลเมตรและลึกเข้าไปในแผ่นดินซีเรีย 30 กิโลเมตร (เท่ากับ 14,400 ตร.กม. กรุงเทพฯ
มีพื้นที่ 1,569 ตร.กม.) ตลอดพรมแดนทางเหนือของซีเรียที่ติดกับตุรกี
เพื่อรองรับผู้อพยพลี้ภัย 2 ล้านคน
การเอ่ยถึงมักจะยึดแม่น้ำยูเฟรติสเป็นจุดอ้างอิง
ตุรกีต้องการให้กองกำลังเคิร์ดซีเรียถอนตัวออกจากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยูเฟรติสทั้งหมดเป็นระยะทาง
400 กิโลเมตร (จากริมแม่น้ำยูเฟรติสจนถึงพรมแดนอิรัก)
ด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ
ตุรกีได้ครองพื้นที่บางส่วนในเขตจังหวัด Idlib กับ
Afrin อยู่ก่อนแล้ว และกำลังขยายพื้นที่ใหม่ในเขต Manbij ทั้ง 3 จุดอยู่ใกล้กันคืออยู่ทางภาคเหนือที่เยื้องไปทางตะวันตกของซีเรีย
สรุปให้เข้าใจง่ายคือ
หลายปีที่ผ่านมาตุรกีส่งกองทัพเข้ายึดพื้นที่ตามแนวพรมแดนทางเหนือของซีเรียที่ติดตุรกี
ทั้งนี้ตุรกีได้เป็นจุดๆ หรือได้เป็นชิ้นๆ ตลอดแนวพรมแดน
ความพยายามล่าสุดของตุรกีคือต้องการได้ครองเพิ่มอีก นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผน
“กินทีละคำ” ยึดครองพื้นที่แถบนั้นทั้งหมดในอนาคต
ต้องตระหนักว่าเขตปลอดภัยของตุรกียังไม่แน่นอน
อาจเล็กลงหรือขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้น
เหตุผลเรื่องผู้ลี้ภัย :
ผู้ลี้ภัยเป็นอีกประเด็นที่รัฐบาลตุรกีหยิบยกขึ้นมา
เพื่อเป็นที่พักพิงของผู้ลี้ภัยสงครามซีเรียราว 2-3 ล้านคน
เป็นเรื่องน่าเห็นใจตุรกีไม่อาจห้ามอาหรับสปริงซีเรีย
ไม่อาจห้ามผู้หนีภัยสงครามเข้าประเทศ ไม่อาจห้ามเคิร์ดซีเรียที่พยายามสร้างอนาคตของตนเอง
สิ่งที่ทำได้คือให้สงครามกลางเมืองซีเรียเป็นประโยชน์ต่อตนมากที่สุด ผลักดันผู้ลี้ภัยนับล้านให้ออกนอกพรมแดนตนเอง
ช่วยผ่อนคลายภาระ ไม่เกิดปัญหาในอนาคต เช่น ชาวซีเรียลี้ภัยตั้งถิ่นฐานในประเทศ
การกำหนดให้พื้นที่ส่วนหนึ่งของซีเรียเป็นจุดรับผู้อพยพลี้ภัยเป็นเรื่องสมเหตุผล
การมีกองกำลังต่างชาติดูแลความปลอดภัยเป็นเรื่องดี แต่น่าจะกระทำในนามของกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ไม่ใช่แบบที่ตุรกีคิดจะทำคือใช้กองกำลังของตนในนามประเทศตน
การผลักดันผู้หนีภัยสงครามกลับเข้าสู่ดินแดนซีเรีย เข้าไปอยู่ใน
“เขตปลอดภัย” เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศซีเรียถูกแบ่งแยก
เพราะจะกลายเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกเขาอีกนาน เกิดคำถามในอนาคตว่าพื้นที่นี้เป็นของซีเรียหรือในที่สุดจะถูกผนวกเป็นของตุรกี
สหรัฐกับการสร้างเขตปลอดภัย :
หลายประเทศที่เกี่ยวข้องกับซีเรียหารือเรื่องการสร้างเขตปลอดภัยมานานแล้ว
ต้องบันทึกว่ารัฐบาลตุรกีกับทรัมป์เห็นด้วยกับการสร้างเขตปลอดภัยในฝั่งวันออกของแม่น้ำยูเฟรติส
จากข้อมูลที่ปรากฏในเดือนมิถุนายน 2018 ทั้ง 2 ประเทศมีแผนให้กองกำลังเคิร์ดซีเรียถอนตัวออกจากพื้นที่
และแทนที่ด้วยกำลังผสม 2 ฝ่าย
ท่าทีของรัฐบาลทรัมป์ต่อเรื่องนี้จึงซับซ้อน
หลังสงครามไอซิสเริ่มซา
กองกำลังสหรัฐจำนวนหนึ่งยังอยู่กับกองกำลังเคิร์ดซีเรีย
แม้จะบอกว่าเพื่อกวาดล้างไอซิสที่หลงเหลือ ความจริงอีกข้อคือการคงอยู่ของทหารสหรัฐทำให้ไม่มีใครกล้าแตะเคิร์ดซีเรีย
รัฐบาลทรัมป์รู้ดีอยู่แล้วว่าหากถอนกำลังออกไป พวกเคิร์ดไม่สามารถรักษาพื้นที่ด้วยตนเอง
เพราะพวกเขามีแต่อาวุธประจำกาย อาวุธเบา รถหุ้มเกราะ
ไม่อาจสู้กองทัพประเทศตุรกีหรือกองทัพรัฐบาลซีเรีย (อัสซาด)
ที่เป็นกองทัพเต็มรูปแบบ
แผนของรัสเซียและข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว
:
ในขณะที่กองทัพตุรกีเริ่มรุกเข้ามาอีก
กลางเดือนที่ผ่านมาทหารรัสเซียเข้าแทรก
ทำหน้าที่เป็นแนวกันชนระหว่างกองทัพตุรกีกับซีเรีย ตลอดแนวทางเหนือของเขต Manbij
รัสเซียไม่ได้เผชิญหน้ากับตุรกีโดยตรง
ทำหน้าที่เป็นกรรมการหรือแนวกันชนระหว่างตุรกีกับซีเรีย ขัดขวางไม่ให้เกิดการปะทะระหว่างตุรกีกับซีเรียซึ่งจะยิ่งทำให้บานปลายและซับซ้อนกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม
การเข้าขวางเช่นนี้ต้องตามต่อว่าตุรกีจะถอนทหารออกจากเขต Manbij หรือไม่ และไม่ได้หมายความว่าแผนสร้างเขตปลอดภัยจะยุติ
เพียงแต่ต้องเจรจาใหม่ มีรัสเซียกับรัฐบาลอัสซาดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ตุรกีจะอ้างครอบครองดินแดนด้วยเหตุผลของตนเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้
ไม่กี่วันต่อมา รัฐบาลสหรัฐบรรลุข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวกับตุรกี
ทั้งนี้กองกำลังเคิร์ดซีเรียจะถอนตัวออกจากพื้นที่ตามแนวชายแดน
ฝ่ายเคิร์ดเห็นด้วยกับข้อตกลง
ถ้าทบทวนสถานการณ์หลายปีย้อนหลัง รัฐบาลสหรัฐสมัยโอบามาพุดคุยหารือเรื่องเขตปลอดภัยกับตุรกีมานานแล้ว
รัฐบาลทรัมป์สานต่อเรื่องนี้ การถอนตัวของกองกำลังสหรัฐเหมือนกับเปิดทางให้ตุรกีได้ยึดครองพื้นที่เพิ่มอีกจุด
ด้วยเหตุผลสร้างเขตปลอดภัย
สถานการณ์อยู่ระหว่างดำเนินไปยากจะคาดเดาว่าจะเป็นอย่างไร
ประเด็นที่รอคำตอบคือตุรกีจะถอนทัพออกจากพื้นที่ยึดครองหรือไม่
ในอนาคตจะเกิดเขตปลอดภัยหรือไม่และจะเป็นอย่างไร
ที่แน่นอนคือ ผลจากการความขัดแย้งภายในประเทศซีเรียที่ควบคุมไม่ได้
เปิดทางให้เพื่อนบ้าน ผู้ก่อการร้ายไอซิสและอื่นๆ เข้าแทรกแซง สูญเสียชีวิตหลายแสนคน
ผู้อพยพหนีตายหลายล้านคน สูญเสียดินแดน ด้วยหลายเหตุผลที่เพื่อนบ้านหยิบยกขึ้นมาอ้าง
เช่น ต่อต้านผู้ก่อการร้าย เป็นที่รองรับผู้ลี้ภัย การย้อนเวลากลับไปสู่อดีตที่ซีเรียเป็นหนึ่งเดียวไม่อาจเป็นไปไม่ได้
และยังไม่รู้ว่าจะจบลงตรงไหนอย่างไร
20 ตุลาคม
2019
ชาญชัย
คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน
คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่
23 ฉบับที่ 8379 วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2562)
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
รัฐบาลแอร์โดกานเลือกเผชิญหน้าภัยคุกคาม
มองเป็นโอกาสตักตวงผลประโยชน์ ไม่เกรงกลัวขัดแย้งชาติมหาอำนาจ ประเทศเพื่อนบ้าน
เป็นยุทธศาสตร์เปลี่ยนภัยคุกคามเป็นโอกาส
ประธานาธิบดีแอร์โดกานประกาศชัดว่าต้องการเพิ่มอำนาจให้กับตำแหน่งตนเอง
แต่การเลือกตั้งเมื่อมิถุนายนที่ผ่านมาพรรคของตนสูญเสียการเป็นพรรคเสียงข้างมาก
จึงต้องพยายามหาทางดึงคะแนนกลับ
นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าสถานการณ์การปราบปรามเคิร์ดภายในประเทศเกี่ยวข้องกับการกระชับอำนาจ
การเมืองตุรกีในช่วงนี้จึงมีผลต่อยุทธศาสตร์แบ่งแยกซีเรีย
1. Bozarslan, Hamit. (1992). Turkey: A Neglected Partner. In
Kreyenbroek. Philip G., & Sperl, Stefan (Eds). The Kurds: A Contemporary
Overview (pp.74-89). London: Routledge.
2. Efforts underway for safe zone
in northern Syria to reduce risk of terror attacks on Turkey, Pompeo says (2019,
May 31). Daily Sabah. Retrieved from https://www.dailysabah.com/syrian-crisis/2019/05/31/efforts-underway-for-safe-zone-in-northern-syria-to-reduce-risk-of-terror-attacks-on-turkey-pompeo-says
3. Killing two birds with one stone: Erdogan’s Syria refugee
plan. (2019, September 25). Rudaw. Retrieved from https://www.rudaw.net/english/analysis/25092019
4. Kurdish leader decries Turkey's 'safe zone' plan in
Syria. (2015, July 29). BBC. Retrieved from http://www.bbc.com/news/world-europe-33698659
5. Russian military police are now patrolling the line
between Syrian and Turkish forces. (2019, October 15). CNN. Retrieved
from https://edition.cnn.com/2019/10/15/middleeast/turkey-syria-russian-troops-intl/index.html
6. Stokes, Jamie (Editor). (2009). Kurds. In Encyclopedia
of The Peoples of Africa and the Middle East. New York: Infobase Publishing.
pp.379-396.
7. Syrian government troops enter key northern city of
Manbij. (2019, October 14). Al Arabiya. Retrieved from https://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2019/10/14/Syrian-government-troops-enter-key-northern-city-of-Manbij.html
8. Syrian Kurdish-led force says it will abide by cease-fire.
(2019, October 17). AP. Retrieved from https://www.apnews.com/c27ec5d2fa3b4954a65bc359f497a22a
9. Turkey, US agree to launch 1st phase of safe zone plan.
(2019, August 22). Hurriyet Daily News. Retrieved from
http://www.hurriyetdailynews.com/turkey-us-agree-to-launch-1st-phase-of-safe-zone-plan-145958
10. U.S. seeks bigger Turkish role in fight against ISIS.
(2014, October 10). Al Arabiya. Retrieved from
http://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2014/10/10/Hagel-U-S-wants-use-of-Turkey-base-help-training.html
-----------------------------