จีนในศตวรรษที่ 21 กับความริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”

สาธารณรัฐประชาชนจีนในวันครบรอบ 70 ปีแตกต่างจากเมื่อก่อตั้งประเทศในทุกมิติ และกำลังเปลี่ยนแปลงต่อไปทุกด้านพร้อมกับอีกหลายประเทศตามแนว “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”
เส้นทางสายไหมเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตศักราช (2,200 ปีก่อน) ในสมัยราชวงศ์ฮั่น (Han Dynasty) เส้นทางนี้เริ่มต้นจากเมืองซีอาน (Xi’an) มุ่งหน้าสู่ทิศตะวันตก ไปไกลถึงแอฟริกาและยุโรปใต้ เป็นเส้นทางโบราณสายหลักเพียงสายเดียวที่เชื่อม 3 ทวีป บรรดาพ่อค้านักเดินทางต่างรู้จักและใช้เส้นทางสายนี้นับพันปี
ถ้าจะพูดโดยมองจีนเป็นหลัก อาณาจักรจีนโบราณทำการค้ากับชนชาติอื่น ไกลถึงอาณาจักรโรมัน เป็นการเชื่อมต่อที่กษัตริย์หรือผู้ปกครองยุคนั้นสนับสนุน แน่นอนว่าจีนได้ประโยชน์ไม่น้อย ทั้งด้านการค้า สินค้าที่อีกฝ่ายไม่มีหรือผลิตไม่ได้ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ความรู้และอื่นๆ
            แต่ความจริงแล้วเส้นทางยาวหลายพันกิโลเมตรไม่ใช่ของจีนเพียงผู้เดียว (อาณาจักรจีนควบคุมบางส่วนของเส้นทางที่อยู่ในเขตแดนตน) เป็นเส้นทางร่วมของทุกอาณาจักร ทุกชนชาติเผ่าพันธุ์ที่ใช้เส้นทางนี้ ต่างได้ประโยชน์และหวังรักษาผลประโยชน์ของตน เป็นผลประโยชน์ร่วมที่จะรักษาและควบคุมเส้นทางดังกล่าว
            ดังนั้นแม้ชื่อจะชวนให้นึกถึงประเทศจีน ตำราประวัติศาสตร์ให้เกียรติจีนในเส้นทางนี้ ความจริงแล้วจีนไม่ใช่เจ้าของเพียงลำพังและไม่อาจเป็นเช่นนั้น
สงครามร้อนไม่ยุ่ง มุ่งการค้าและพัฒนา :
            แนวคิดริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" หรือ Belt and Road Initiative (BRI) เป็นอีกวิสัยทัศน์ว่ารัฐบาลจีนในยุคปัจจุบันมุ่งทำการค้าการลงทุนกับนานาประเทศ เพื่อการมีกินมีใช้ พัฒนาคนประเทศพัฒนา
            รัฐบาลจีนพยายามหลีกเลี่ยงสงครามทางทหาร เพราะจะบั่นทอนบรรยากาศการค้าการลงทุน ต้องสูญเสียทรัพยากรจำนวนมาก สงครามเกาหลีกับสงครามเวียดนามเป็นตัวอย่างที่จีนเข้าร่วม สงครามครั้งหน้าอาจลงเอยเป็นสงครามร้อนที่ไม่จบสิ้นหากมหาอำนาจอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นเช่นนั้น อาจเป็นกับดักที่ปรปักษ์วางไว้
            เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าจีนกำลังก้าวขึ้นมาอย่างสันติ จีนไม่พยายามขูดรีดผลประโยชน์ด้วยการทำสงครามหรือข่มขู่ประเทศเพื่อนบ้าน เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เพื่อนบ้านอุ่นใจและเห็นว่าการร่วมมือกับจีนน่าจะเป็นทางที่ดีกว่า แม้จะต้องเสียผลประโยชน์บ้าง จีนจะได้ประโยชน์จาก BRI มากกว่า (ถ้าคิดเช่นนั้น)
            ภายใต้ยุทธศาสตร์ BRI รัฐบาลจีนประกาศสนับสนุนให้คนจีน 500 ล้านคนเดินทางไปต่างประเทศ คนจีนในขณะนี้และอนาคตจึงเป็นผู้สัมผัสโลกภายนอกอันหลากหลาย มีความเป็นอินเตอร์มากขึ้น
            นักศึกษาจีนไปเรียนต่อในสหรัฐปีละนับแสนคน ข้อมูลปี 2017-18 นักศึกษาต่างชาติที่มากที่สุดในสหรัฐคือนักศึกษาชาวจีน มีมากถึง 363,341 คน เพิ่มขึ้นจากปีการศึกษาที่แล้ว 3.6 เปอร์เซ็นต์ และคิดเป็นร้อยละ 33.2 ของจำนวนนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด (หรือ 1 ใน 3 ของบรรดานักศึกษาต่างชาติทั้งหมด) ราวกับว่ารัฐบาลจีนไม่หวั่นเกรงว่านักศึกษาเหล่านี้จะถูกสถาบันการศึกษา สังคมสหรัฐล้างสมอง
            ข้อมูลอีกชิ้นที่น่าสนใจคือ จีนมีประชากรใกล้ 1,400 ล้านคนแล้ว ที่บางคนอาจยังไม่รู้คือ คนจีนหลายสิบล้านคนได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานในแอฟริกา ลาตินอเมริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้แต่ทวีปอเมริกาเหนือ ผู้ย้ายถิ่นฐานยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
            มีความเป็นไปได้สูงว่า BRI จะส่งเสริมให้คนจีนย้ายไปตั้งถิ่นฐานในประเทศต่างๆ ที่เส้นทางสายใหม่ศตวรรษที่ 21 นี้วิ่งผ่าน
             มีเหตุผลน่ากังวลว่าการไหล่บ่าของคนจีนนักศึกษาจีนจะมีผลต่อสังคมวัฒนธรรมของประเทศนั้น ในมุมกลับกันคนจีนนักศึกษาจีนนับสิบนับร้อยล้านได้รับอิทธิพลค่านิยมจากประเทศอื่นๆ เช่นกัน ถ้ามองตามประวัติศาสตร์ โลกเป็นเช่นนี้ที่มีการส่งผ่านและรับทอดความรู้ค่านิยมจากอีกประเทศเสมอมา และกำลังทวีความรวดเร็วในยุคโลกาภิวัตน์
            จีนไม่ได้คิดค้นระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ด้วยตนเองแต่นำมาปรับปรุงให้เข้ากับคุณลักษณะจีน จีนคิดค้นดินประสิวแต่ชาติอื่นต่อยอดส่งยานลงดวงจันทร์ได้ก่อน จีนไม่ได้คิดค้นระบบสื่อสารไร้สายแต่กำลังใช้ 5G และพัฒนา 6G  
            ประเด็นจึงไม่อยู่ที่ว่าควรแลกเปลี่ยนซื้อขายความรู้กับสินค้าหรือไม่ แต่อยู่ที่สามารถคัดสรรสิ่งที่เป็นประโยชน์และพัฒนาต่อยอดหรือไม่ มีความมุ่งมั่นปฏิรูปพัฒนาตัวเองหรือไม่
            นึกถึงจีนเมื่อ 70 ปีก่อนกับปัจจุบัน แน่นอนว่าจีนไม่สมบูรณ์แบบ แต่มีหลายสิ่งที่น่าศึกษาเรียนรู้จากเขา
ปัญหาการตีความ BRI ที่มุ่งการเมืองระหว่างประเทศ :
            แม้รัฐบาลจีนพยายามอธิบายว่า BRI ไม่ได้มุ่งแข่งขันทางการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ใช่ zero-sum game เป็นความร่วมมือผ่านการปรึกษาหารือ ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย แต่รัฐบาลประเทศที่มองจีนในแง่ลบมักจะตีความว่าเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ เช่น มองว่าเป็นแผนสร้างจักรวรรดิจีนยุคใหม่ รัฐบาลจีนใช้ BRI เป็นเหยื่อล่อเพื่อครอบงำประเทศต่างๆ Chang Ching-his นักเศรษฐศาสตร์ไต้หวันเห็นว่าหนึ่งในวิธีการคือให้สกุลเงินหยวนเป็นสกุลเงินหลักของโลก เป็นเหตุผลที่จีนปล่อยกู้เป็นเงินหยวนแก่ประเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์นี้
            เป็นไปได้ที่บางกรณีรัฐบาลจีนตั้งใจใช้โครงการพัฒนา ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือเพื่อมีอิทธิพลต่อประเทศนั้นๆ แต่ถ้าจะกล่าวหาเช่นนั้น รัฐบาลอีกหลายประเทศทำเช่นนี้เหมือนกัน แม้กระทั่งจากรัฐบาลที่เรียกตัวเองว่าพัฒนาแล้ว เป็นเสรีประชาธิปไตย
            ข้อเท็จจริงคือ แทบทุกประเทศใช้วิธีการเช่นนั้น
            ก่อนหน้า BRI โลกมีโครงการเงินกู้ โครงการส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศมากมาย ทั้งองค์กรระหว่างประเทศอย่าง IMF ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือแบบกู้ยืมจากประเทศอื่น ทั้งจากสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น
            BRI จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ถ้ามองในมุมลูกหนี้ย่อมเป็นโอกาสของลูกหนี้ที่จะมีตัวเลือกมากขึ้น
            ถ้ามองอย่างเป็นกลาง โดยทั่วไปแล้วประเทศลูกหนี้ ผู้รับการส่งเสริมการลงทุนมักเกรงใจประเทศเจ้าหนี้ และหวังจะได้เงินกู้ ความช่วยเหลือเศรษฐกิจเพิ่มเติมในอนาคต ที่ผ่านมาหลายสิบประเทศขอจีนช่วยผ่อนผันการชำระหนี้
            ไม่ว่าจะมุมมองใด อิทธิพลจีนในเวทีโลกและต่อประเทศผู้รับการลงทุนจะเพิ่มขึ้น ส่วนจะเป็นที่ยินดีหรือไม่ กาลเวลาจะค่อยๆ เปิดเผยให้โลกรู้
จีนเป็นพัฒนาที่พัฒนาแล้วทุกด้านในปี 2049 :
ในเวลา 70 ปี เศรษฐกิจจีนจากเดิมที่ล้าหลังแทบไม่มีอะไร ปัจจุบันกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ปี 1950 ปริมาณการค้าจีนทั้งหมดมีมูลค่า 1,130 ล้านดอลลาร์ ปี 2018 ตัวเลขนี้กลายเป็น 4.6 ล้านล้านดอลลาร์ นำเข้าสินค้าบริการจากต่างชาติอีกปีละ 2 ล้านล้านดอลลาร์ จีนกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการค้าโลก นโยบายเปิดประเทศค้าขายกับต่างชาติสร้างคุณประโยชน์ต่อชาวจีนและประเทศอื่นๆ
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศวิสัยทัศน์ว่าในปี ค.ศ. 2049 เมื่อฉลองวันสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนครบ 100 ปี จีนจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วทุกด้าน เป็นเป้าหมายวิสัยทัศน์ที่กล้าหาญเป็นประโยชน์ โดยที่ไม่ต้องรอให้ถึงวันนั้น เพราะก่อนถึงวันนั้นทั่วโลกจะได้เห็นกับตาและพูดเองว่าจีนกำลังก้าวสู่มหาอำนาจโลกหรือไม่ เป็นแบบอย่างชาติมหาอำนาจที่เจริญแล้วและน่าชื่นชมหรือไม่
            เป็นการยากที่จะวิเคราะห์อนาคต BRI ว่าจะเป็นอย่างไร จึงยากที่จะให้นิยามด้วย เพราะ BRI กำลังขยายตัวในทุกมิติ พัฒนาเหมือนไร้ที่สิ้นสุด เกิดผลกระทบทุกด้านทั้งบวกกับลบ ไม่อยู่ใต้การควบคุมเบ็ดเสร็จจากประเทศใดประเทศหนึ่ง บอกได้แต่ว่า BRI อยู่คู่กับโลกาภิวัตน์แห่งศตวรรษนี้ อยู่คู่กับความต้องการพัฒนาและอยู่รอดของประเทศ รัฐบาลและปัจเจกบุคคล
            แนวคิดข้อริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" คือเส้นทางสายไหมใหม่ที่จีนกำลังก้าวไป ขวากหนามมีแน่นอนแต่เป็นเรื่องปกติไม่ใช่หรือ
ตุลาคม 2019
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 8365 วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2562)
------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
นโยบายป้องกันประเทศจีนยุคใหม่ 2019
บทบาทของกองทัพกับความเป็นไปของประเทศเป็นของคู่กันแยกออกจากกันไม่ได้ เป็นเครื่องทดสอบและให้คำตอบในตัวเองว่ากองทัพสนับสนุนการก้าวขึ้นมาของจีนอย่างสันติหรือไม่ อย่างไร
อีก 10 ปีข้างหน้าโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกว่าเดิม ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจการเมืองโลก จนถึงวิถีชีวิตทุกคน แต่ไม่ใช่ทุกประเทศหรือทุกคนจะได้ประโยชน์เท่ากันแม้จะพยายามก็ตาม 
บรรณานุกรม :
1. ‘Belt and Road’ spreading China’s power: academics. (2018, May 27). Taipei Times. Retrieved from http://www.taipeitimes.com/News/taiwan/archives/2018/05/27/2003693809
2. Berlie, Jean A (ed.). (2019). Chinas Globalization and the Belt and Road Initiative. Switzerland: Palgrave Macmillan.
3. China hails ‘miracle’ achievement in trade. (2019, September 29). Global Times. Retrieved from http://en.people.cn/n3/2019/0912/c90000-9614442.html
4. China marches on. (2019, October 2). China Daily. Retrieved from http://www.chinadaily.com.cn/a/201910/02/WS5d93b56fa310cf3e3556e8c2.html)
5. Deepak, B.R. (ed.). (2018). China`s Global Rebalancing and the New Silk Road. Singapore: Springer Nature Singapore.
6. Institute of International Education. (2019). Places of Origin. Retrieved from https://www.iie.org/en/Research-and-Insights/Open-Doors/Data/International-Students/Places-of-Origin
7. Xi says Belt and Road Initiative not an intrigue of China. (2018, April 12). Xinhua. Retrieved from http://www.xinhuanet.com/english/2018-04/11/c_137103588.htm
-----------------------------
unsplash-logoDenys Nevozhai

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก