วิพากษ์ความคิดรัฐบาลสหรัฐผู้ล้างสัญญานิวเคลียร์ INF

การล้มสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (INF) เปิดโอกาสให้รัฐบาลสหรัฐสามารถยกเครื่องกองกำลังนิวเคลียร์ของตนใหม่ทั้งหมด คงความเป็นเจ้าโลกด้านอาวุธนิวเคลียร์ต่อไปอีกนาน
            บทความนี้วิพากษ์ความคิดรัฐบาลสหรัฐผู้ล้างสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (INF) ผ่านมุมมองของรัฐบาลรัสเซียกับจีน ดังนี้
ตุลาคม 2018 ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่าสหรัฐไม่อาจปล่อยให้รัสเซียละเมิดสนธิสัญญาฝ่ายเดียวและผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ด้วยเหตุนี้สหรัฐจะขอยกเลิกสนธิสัญญา ด้านรัสเซียยืนยันไม่ได้ละเมิดแต่อย่างไร
ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งสหรัฐกับรัสเซียถอนตัวออกจาก INF อย่างเป็นทางการ นับจากนี้เป็นต้นไป 2 ประเทศสามารถสร้างอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางกับใกล้ที่ติดตั้งบนภาคพื้นดินได้อีกครั้ง
คำกล่าวหาและข้อโต้แย้งกรณีรัสเซีย :
ข้ออ้างเบื้องต้นของรัฐบาลสหรัฐคือรัสเซียไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาเป็นเหตุให้สหรัฐต้องถอนตัว สมมุติว่าข้อกล่าวหาเป็นจริง นิวเคลียร์พิสัยกลางที่รัสเซียสร้างมีจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น ไม่มีผลต่อดุลอำนาจนิวเคลียร์เท่าไรนัก ในทางกลับกันต้องติดตามต่อว่าในอนาคตหากฝ่ายสหรัฐกับรัสเซียประจำการนิวเคลียร์พิสัยกลางและใกล้อย่างจริงจังจะส่งผลต่อสมดุลนิวเคลียร์หรือไม่ สู่คำตอบที่ว่าใครกันแน่เป็นผู้ทำลายสมดุลนิวเคลียร์ ทำให้โลกต้องหวาดผวากับสงครามนิวเคลียร์มากกว่าเดิม
            ประเด็นที่น่าสนใจกว่าคือฝ่ายที่ต่อต้านรัสเซียมักอ้างเรื่องที่รัสเซียพัฒนานิวเคลียร์ สร้างอาวุธนิวเคลียร์รุ่นใหม่ๆ เป็นภัยคุกคามสหรัฐ เหตุที่รัสเซียทำเช่นนั้นเพราะในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสหภาพโซเวียตเป็นรัสเซียนั้น กองทัพขาดงบประมาณ ระบบอาวุธต่างๆ ขาดการซ่อมบำรุง ไม่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ตามที่ควร จำนวนตัวเลขที่มีอยู่อาจเป็นตัวเลขหลอกตา ไม่มีอานุภาพจริง
อีกสาเหตุคือเมื่อยุโรปตะวันออกรวมทั้งประเทศที่แยกตัวออกจากรัสเซีย เช่น ยูเครน ประเทศเหล่านี้ปลดประจำการอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐเข้ามาช่วยเหลือการปลดอาวุธ เรียนรู้ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ เป็นเหตุรู้จักเทคโนโลยี ความลับของอาวุธเหล่านี้ และพัฒนาระบบป้องกันที่สามารถสกัดอาวุธนิวเคลียร์รุ่นเก่า
ดังนั้น หากรัสเซียต้องการกองกำลังนิวเคลียร์ที่ใช้การได้จริงจะต้องพัฒนาและสร้างรุ่นใหม่ Sergey Shoigu รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซียกล่าวว่ารัฐบาลตั้งเป้าจะประจำการขีปนาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ (strategic nuclear forces) รุ่นใหม่ให้ได้ร้อยละ 90 ภายในปี 2020 และประจำการขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ (Strategic Missile Force) รุ่นใหม่ให้ได้ร้อยละ 62 ภายในปี 2020
            เป็นการยกเครื่องกองกำลังนิวเคลียร์ใหม่เกือบทั้งหมด แน่นอนว่ารัสเซียตั้งใจคงความเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์
ในมุมมองที่กว้างขึ้น รัสเซียชี้ว่าการถอนตัวจาก INF เหมือนกับที่สหรัฐถอนตัวจากสนธิสัญญาต่อต้านขีปนาวุธ (Anti-Ballistic Missile Treaty: ABM treaty) เมื่อปี 2002 เพียงฝ่ายเดียว และไม่ต่างจากนโยบาย“นาโตขยายตัว” (NATO expansion) ทั้งหมดคือการขยายอำนาจด้านความมั่นของสหรัฐ ปิดล้อมรัสเซียแม้สงครามเย็นจะสิ้นสุดแล้ว
            ในมุมมองของรัสเซีย การถอนตัวจาก INF คือการรุกคืบอีกครั้งจากฝ่ายสหรัฐ ทั้งๆ ที่รัฐบาลทรัมป์พูดว่าอยากลดอาวุธนิวเคลียร์ การจะรู้ว่าใครตั้งใจลดอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่ ดูได้จากการเจรจาและผลการเจรจา ล่าสุดรัฐบาลปูตินแสดงท่าทีพร้อมเจรจาอีกครั้ง ชี้แจงว่าใช้งบกลาโหมด้านนิวเคลียร์ 48,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่าสหรัฐใช้งบประมาณด้านนิวเคลียร์ปีละกว่า 700,000 ล้าน อยากเห็นโลกที่ปลอดนิวเคลียร์ ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณได้มาก
            ประเด็นการเจรจาลดอาวุธจะเป็นหลักฐานสำคัญกว่ารัฐบาลประเทศใดที่จริงใจเรื่องนี้ เงินหลายแสนล้านดอลลาร์สามารถทำประโยชน์อื่นได้มากมาย
ตรรกะอันบิดเบี้ยวของรัฐบาลทรัมป์ต่อจีน :
            จอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาความมั่นแห่งชาติกล่าวอย่างชัดเจนว่าสาเหตุหนึ่งที่เป็นปัญหาเพราะจีนไม่ได้อยู่ใน INF เป็นอีกเหตุผลที่สหรัฐคิดถอนตัวออกจากสนธิสัญญา
            มีการยกตัวอย่างขีปนาวุธ DF-21D ของจีน เป็นขีปนาวุธพิสัยกลางระยะประมาณ 2,000 -3,000 กิโลเมตร ติดตั้งบนยานยนต์เคลื่อนที่ แม้จีนประกาศว่าติดหัวรบธรรมดา ใช้สำหรับต่อต้านเรือผิวน้ำขนาดใหญ่ แต่ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าหากจะติดหัวรบนิวเคลียร์ย่อมทำได้ กลายเป็นอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์
            DF-26 เป็นรุ่นใหม่ที่พัฒนาจาก DF-21 มีรัศมีไกลกว่า ระหว่าง 3,000 - 4,000 กิโลเมตร สามารถโจมตีฐานทัพอเมริกาในเอเชียแปซิฟิก เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นได้สบาย
เนื่องจากจีนปกปิดข้อมูลอาวุธเหล่านี้ เรื่องราวที่ปรากฏส่วนหนึ่งจึงมาจากการคาดเดา ฝ่ายสหรัฐมักจะตีความในทางลบ นักวิชาการบางคนถึงกับพูดว่าเหตุผลหลักที่สหรัฐถอนตัวออกจาก INF เพราะจีนไม่ใช่รัสเซีย เหตุเนื่องจากขีปนาวุธ DF-21 กับ DF-26 มีประสิทธิภาพเกินกว่าระบบป้องกันของสหรัฐกับพันธมิตรจะรับไหว จึงต้องดึงจีนเข้าร่วมเจรจาเพื่อจำกัดจำนวนขีปนาวุธจีน
            ความจริงคือ ปัจจุบัน (2019) จีนมีหัวรบนิวเคลียร์เพียง 290 หัวรบ เทียบกับสหรัฐที่มีถึง 6,185 หัวรบ จีนมีศักยภาพสร้างพันลูกหมื่นลูกถ้าต้องการ แต่รัฐบาลจีนเลือกที่จะไม่ทำเช่นนั้น สิ่งที่ทำคือศึกษาพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ประจำการจำนวนหนึ่งเท่านั้น ไม่คิดเป็นฝ่ายใช้อาวุธนิเคลียร์ก่อนเพราะไม่อาจสู้สหรัฐหรือรัสเซีย นโยบายป้องกันประเทศจีนฉบับล่าสุด “China’s National Defense in the New Era” 2019 ระบุว่าจีนยึดหลักเน้นการป้องกัน ปกป้องตัวเอง โต้กลับทีหลัง การป้องกันประเทศเชิงรุก (active defense) จะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อนไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม ไม่คุกคามชาติอื่นด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ไม่แข่งขันอาวุธนิวเคลียร์กับประเทศใด
            เป็นเรื่องตลกหากพูดว่านิวเคลียร์จีนเป็นภัยคุกคามสหรัฐ แม้จีนจะพัฒนานิวเคลียร์ให้ทันสมัยมากขึ้นกว่านี้ก็ยังเป็นฝ่ายตั้งรับอยู่ดี แต่รัฐบาลทรัมป์ไม่เลิกอ้างเหตุผลเรื่องจีน ในมุมมองของสหรัฐนั้นรัสเซียกับจีนคือ 2 ประเทศนิวเคลียร์ที่น่ากลัว
            ตลอดเวลาที่ผ่านมาจีนปฏิเสธคำขอเข้าร่วมเจรจา INF รอบใหม่ จีนไม่ยอมเข้าสู่การจำกัดอาวุธนิวเคลียร์แน่นอน เพราะอยากเป็นชาติมหาอำนาจทางทหารเหมือนกัน เพียงแต่ต้องรอจังหวะเวลาที่เหมาะสม
สหรัฐคือมหาอำนาจนิวเคลียร์อันดับหนึ่ง :
            ความจริงคือปัจจุบันสหรัฐเป็นเจ้าอาวุธนิวเคลียร์ จีนกับรัสเซียไม่อาจคิดทำสงครามนิวเคลียร์กับสหรัฐ
            จีนมีนิวเคลียร์ไม่ถึง 300 หัวรบในจำนวนนี้ส่วนน้อยที่เป็นขีปนาวุธข้ามทวีป (โจมตีแผ่นดินใหญ่สหรัฐได้น้อย) ส่วนรัสเซียกำลังรื้อฟื้นกองกำลังนิวเคลียร์ใหม่ ในขณะที่กองกำลังนิวเคลียร์อเมริกาอยู่ในสภาพพร้อมทำลายล้างทั้งโลกได้หลายรอบ
            การสร้างศัตรูให้น่ากลัวเกินจริง เป็นกลยุทธ์ที่รัฐบาลสหรัฐใช้เรื่อยมา เพื่อมีเหตุบั่นทอนปรปักษ์ให้อ่อนกำลังลงเรื่อยๆ
            ถ้าสหรัฐประจำการอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางและใกล้ภาคพื้นดินอีกครั้ง เท่ากับเพิ่มความเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์อันดับ 1 ของโลกให้ก้าวไกลขึ้นอีก ไม่มีผลต่อลำดับความเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์โลก สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ (Nuclear Posture Review: NPR) ฉบับล่าสุด 2018 ว่า รัฐบาลมีหน้าที่คงกำลังอาวุธนิวเคลียร์ให้เหนือทุกประเทศใดโลก ด้วยความเชื่อว่านอกจากปลอดภัยแล้ว ยังใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการเจรจา เรื่องนี้สัมพันธ์กับเศรษฐกิจโดยตรง เพราะสหรัฐมีอิทธิพลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจโลก เป็นระบบที่เอื้อประโยชน์ต่อตน วันใดที่ภาพลักษณ์ความเป็นมหาอำนาจหดหาย จะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทันที เช่น กระทบต่อค่าเงินดอลลาร์ ข้อตกลงการค้าที่สหรัฐได้เปรียบ
รวมความแล้วเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลสหรัฐกำลังยกระดับความเป็นเจ้าแห่งอาวุธนิวเคลียร์โลก ในขณะที่รัสเซียกับจีนกำลังไล่ตามและวางระยะห่างตามนโยบายของตน การล้มสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (INF) เป็นเพียงจุดเริ่มของแข่งขันนิวเคลียร์รอบใหม่ เป็นประเด็นที่ติดตามได้อีกนานดังเช่นที่ผ่านมาหลายทศวรรษแล้ว
18 สิงหาคม 2019
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 8316 วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2562)
--------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
มหาอำนาจล้างสัญญานิวเคลียร์ INF ภัยลามถึงอาเซียน
รัฐบาลสหรัฐกลับมาให้ความสนใจเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ คราวนี้มองมาที่จีนด้วยตามกรอบอินโด-แปซิฟิก อาเซียนเป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้อง พัวพันกับการแข่งขันอาวุธนิวเคลียร์ของมหาอำนาจในย่านนี้อีกครั้ง
โลกเข้าสู่ยุคสงครามนิวเคลียร์ สหรัฐจะชิงลงมือก่อน?
โอกาสเกิดสงครามล้างโลกนิวเคลียร์เป็นไปได้น้อยมาก ที่มีความเป็นไปได้มากขึ้นคือสหรัฐจะเป็นผู้ลงมือใช้ก่อนกับประเทศเล็กๆ 
บรรณานุกรม :
1. Burns, Richard Dean. (2002). LIMITING NUCLEAR WEAPONS SYSTEMS. In Encyclopedia of American Foreign Policy (2nd Ed., Vol 1, pp.89-93). USA: Sage Publications.
2. DF-21D Medium-range ballistic missile. (2019). Retrieved from http://www.military-today.com/missiles/df_21d.htm
3. DF-26 Intermediate-range ballistic missile. (2019). Retrieved from http://www.military-today.com/missiles/df_26.htm
4. Full Text: China's National Defense in the New Era. (2019, July 24). Xinhua. Retrieved from http://www.xinhuanet.com/english/2019-07/24/c_138253389.htm
5. In post-INF Treaty world, China, U.S. risk arms escalation. (2019, April 12). The Asahi Shimbun. Retrieved from http://www.asahi.com/ajw/articles/AJ201904120008.html
6. Is China really threatening the US with nuclear weapons? (2018, February 19). The Asia Times. Retrieved from http://www.atimes.com/article/china-really-threatening-us-nuclear-weapons/
7. NATO calls on Russia to destroy new missile, warns of response. (2019, June 25). Reuters. Retrieved from https://www.reuters.com/article/us-russia-usa-missiles/nato-calls-on-russia-to-destroy-new-missile-warns-of-response-idUSKCN1TQ14E
8. Russia and the US nuke 32-year-old INF treaty. (2019, August 2). Deutsche Welle. Retrieved from https://www.dw.com/en/russia-and-the-us-nuke-32-year-old-inf-treaty/a-49863508)
9. Russia has ‘political will’ for arms reduction deal, but ball is in US' court – Putin. (2019, July 4). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/463334-putin-arms-reduction-us/
10. Russia’s strategic nuclear forces to be 90% armed with modern weaponry by late 2020. (2017, February 21). TASS. Retrieved from http://tass.com/defense/932116
11. Russia Violated an Arms Treaty. Trump Ditched It, Making the Nuclear Threat Even Worse.. (2018, October 25). New York Magazine. Retrieved from http://nymag.com/intelligencer/2018/10/trump-ditch-inf-treaty-dangerous.html
12. Sandier, Todd., Hartley, Keith. (1999). The Political Economy of NATO: Past, Present and into the 21st Century. New York: Cambridge University Press.
13. Stockholm International Peace Research Institute. (2019). SIPRI Year book 2019 summary. Retrieved from https://www.sipri.org/sites/default/files/2019-06/yb19_summary_eng_1.pdf
14. US Attempt to 'Bury' INF Treaty Creates New Risks for Europe - Lavrov. (2018, December 6). Sputnik News. Retrieved from https://sputniknews.com/russia/201812061070440602-us-inf-lavrov-russia/
15. U.S. Department of Defense. (2018). Nuclear Posture Review 2018. Retrieved from https://media.defense.gov/2018/Feb/02/2001872886/-1/-1/1/2018-NUCLEAR-POSTURE-REVIEW-FINAL-REPORT.PDF
16. U.S. Withdrawal from Nuke Treaty Worries Europeans. (2018, October 30). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/world/trump-withdrawal-from-nuclear-treaty-has-europe-worried-a-1235906.html
17. Why China opposes a global INF treaty. (2019, February 20). Asia Times. Retrieved from https://www.asiatimes.com/2019/02/article/why-china-opposes-a-global-inf-treaty/
-----------------------------
ที่มาของภาพ  http://www.chinadaily.com.cn/a/201804/26/WS5ae18ecda3105cdcf651ab3c.html