ฮ่องกงโมเดล 1 ประเทศ 2 ระบบที่ผันผวน
ถ้าอยากเข้าใจนโยบายจีนต่อฮ่องกงจะต้องมองกรอบกว้างด้วย
รัฐบาลจีนปกครองพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มีประชากรอีกราว 1,400 ล้านคนที่ต้องดูแล หวังให้ฮ่องกงเป็น 1 ประเทศ 2
ระบบที่เป็นแบบอย่างที่ดี
บรรณานุกรม :
Ratapan Anantawat
ชาวฮ่องกงนับแสนชุมนุมประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างฮ่องกงกับจีน
เพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับคุ้มครองที่ดีพอหากถูกส่งตัวไปจีน ผู้เข้าร่วมชุมนุมประกอบด้วยทุกเพศทุกวัย
ทุกสาขาอาชีพ บางคนใช้สัญลักษณ์ร่มสีเหลืองซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการชุมนุมในอดีต
การชุมนุมที่เต็มด้วยพลังเปลี่ยนจากต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นข้อเรียกร้องอื่นๆ
บางคนเรียกร้อง “ปลดปล่อยฮ่องกงจากการเป็นอาณานิคมจีน” รวมความแล้วต้องการขยายความเป็นประชาธิปไตยและการปกครองตนเอง
เป็นอิสระจากรัฐบาลปักกิ่งมากขึ้น บนความเชื่อว่าเช่นนี้แล้วคนฮ่องกงจะได้สิ่งดีที่สุด
ชีวิตที่ปกติสุขหรือประชาธิปไตย :
ชีวิตที่ปกติสุขหรือประชาธิปไตย :
ประเด็นที่ถกกันมากคือบางคนให้ความสำคัญกับรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย
บริหารประเทศอย่างเป็นประชาธิปไตย กับกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับ “ผลลัพธ์การปกครอง”
ต้องการสังคมที่สงบสุข ทุกคนดำเนินชีวิตตามปกติสุข
พวกที่ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยจะตั้งข้อสรุปว่าถ้าไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยถือว่าผิด
ต้องทำทุกทางเพื่อมุ่งสู่ประชาธิปไตยแท้ แต่ระหว่างทางสู่ประชาธิปไตยอันสมบูรณ์
ประสบการณ์ของหลายประเทศพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยากจนลง ลำบากมากขึ้น รัฐบาลภายใต้ประชาธิปไตยที่กำลังเติบโตไม่ได้บริหารประเทศเพื่อประชาชนจริง
พวกที่ให้ความสำคัญกับชีวิตปกติสุข
เห็นว่าสิ่งที่ตนต้องการคือสังคมที่ไม่วุ่นวาย เศรษฐกิจเดินหน้า ทุกคนมีหน้าที่การงาน
ระบอบการปกครองจะเป็นประชาธิปไตย กึ่งประชาธิปไตย หรือค่อนไปทางอำนาจนิยมก็ได้ ระบอบประชาธิปไตยไม่เป็นประโยชน์อันใดหากตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่แต่นำสู่การทำลายตนเอง
การมุ่งให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยกลายเป็น “กับดักประชาธิปไตย” สังคมถดถอย
วุ่นวายไม่รู้จบ แต่กลับสู่ข้อโต้แย้งว่าเพราะไม่เป็นประชาธิปไตย สังคมจึงตกต่ำดังที่เป็นอยู่
ประเด็นสำคัญคือคำถามที่ว่า
ทำไมต้องมีระบอบการปกครอง
ในยุคปัจจุบันการปกครองควรมีเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใด
อะไรที่ชาวบ้านคนธรรมดาต้องการและสิ่งเหล่านั้นคือความผาสุกยั่งยืนหรือไม่
ผู้ประท้วงมองฮ่องกง รัฐบาลมองประเทศ
:
ผู้ประท้วงจะคิดอย่างไรก็ได้แต่รัฐบาลจีนมีหลักยึดของตนเอง
เช่น อธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน ปกป้องความมั่นคงทางการเมืองและสังคม
ต่อต้านการประกาศอิสรภาพของไต้หวันและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนต่างๆ
ปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ทางทะเล ในอวกาศ ระบบไซเบอร์ ผลประโยชน์จีนในต่างแดน
จีนถือว่าปัจจุบันปกครองแบบ
สังคมนิยมประชาธิปไตย (socialist democracy) หมายถึงการปกครองที่ให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิตประจำวันตามสมควร
สามารถเลือกเรียน เลือกงานทำ เลือกคู่ครอง เป็นเจ้าของทรัพย์สิน ประกอบธุรกิจส่วนตัวตามกรอบกฎหมาย แต่อำนาจการปกครองอยู่ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ คอยกำกับควบคุมชี้นำการเมืองเศรษฐกิจสังคม
ฯลฯ
มีข้อมูลว่าชาวจีนส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองสู่ประชาธิปไตย
หากการเคลื่อนไหวเป็นเหตุให้สังคมวุ่นวาย ขาดเสถียรภาพ แต่เห็นด้วยกับระบบการเลือกตั้งผู้ปกครอง ให้เกิดการแข่งขันภายใต้ระบอบที่เป็นอยู่
ฮ่องกงโมเดลตัวอย่างแก่ส่วนอื่นๆ ของจีน :
ถ้าอยากเข้าใจนโยบายจีนต่อฮ่องกงจะต้องมองกรอบกว้างด้วย
คน 3
จำพวกที่รัฐบาลจีนเห็นว่าเป็นภัยคือพวกผู้ก่อการร้าย
พวกแบ่งแยกดินแดนและพวกสุดโต่ง (extremism) พื้นที่สำคัญคือเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์
(Xinjiang Uighur Autonomous Region) ที่คนอุยกูร์กับชาติพันธุ์มุสลิมอื่นๆ
มักเคลื่อนไหวเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล ร่วมมือกับกลุ่มมุสลิมนอกประเทศ บางคนเข้าพวกกับ
ISIS และผู้ก่อการร้ายหลากหลายกลุ่มในตะวันออกกลางและภูมิภาคอื่นๆ
โดยเฉพาะพวกสุดโต่งที่เรียกว่า East Turkistan Islamic Movement (ETIM) มีแนวคิดจัดตั้งเป็นรัฐอิสลาม (Islamic state of East Turkestan) แยกตัวออกจากจีน ทางการจีนตรวจสอบติดตามความเคลื่อนไหวของสมาชิกกลุ่มอย่างใกล้ชิด
จำกัดการเดินทาง การปฏิบัติศาสนกิจ
ถ้าเทียบฮ่องกงกับเขตปกครองตนเองอุยกูย์ สถานการณ์อุยกูย์น่าเป็นห่วงมากกว่า
มีเหตุใช้ความรุนแรงเป็นระยะ
ธิเบตเป็นอีกพื้นที่อันตราย ชาวธิเบตจำนวนหนึ่งยังคงต่อต้านการปกครองโดยรัฐบาลจีน
หลายคนจุดไฟเผาตัวเองเพื่อประท้วงรัฐบาล เป็นพื้นที่ตัวอย่างที่แม้ผ่านมากว่า 50 ปีแต่ยังมีเหตุความไม่สงบเกิดขึ้น
ไต้หวันเป็นอีกส่วนที่รัฐบาลจีนต้องการนำเข้าสู่ 1 ประเทศ 2 ระบบ หลายสิบปีที่ผ่านมาฝ่ายการเมืองและคนไต้หวันแบ่งออกเป็น
2 พวก คือพวกที่ไม่เห็นด้วยกับการอยู่ใต้จีน กับพวกที่เห็นตรงข้าม ในระยะหลังคนไต้หวันที่ไม่เห็นด้วยกับ
“หลักการจีนเดียว” (one-China
principle – จีนกับไต้หวันเป็นหนึ่งเดียว) เพิ่มมากขึ้น
เมื่อคนฮ่องกงประท้วง คนไต้หวันเคลื่อนไหวสนับสนุนอย่างออกหน้าออกตา
นักวิชาการเริ่มเอ่ยถึงประวัติศาสตร์เทียนอันเหมิน
พยายามคาดการณ์ว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่ แน่นอนว่ารัฐบาลจีนจะไม่ลังเลหากมี
“ความจำเป็น” แต่บริบทฮ่องกงต่างจากสมัยนั้นมาก หากการชุมนุมโดยรวมยังสงบก็ไม่มีเหตุที่รัฐบาลจีนจะปราบปราบเด็ดขาด
บางคนอาจสำคัญผิดคิดว่าฮ่องกงสำคัญยิ่งในสายตารัฐบาลจีน
เป็นศูนย์การเงินนานาชาติแห่งหนึ่ง ฮ่องกงมีความสำคัญในฐานะเขตปกครองพิเศษภายใต้แนวทาง
1 ประเทศ 2 ระบบ รัฐบาลจีนจะพยายามรักษาไว้ แสดงให้เห็นเป็นแบบอย่างแก่ไต้หวัน
นานาชาติ
แต่รัฐบาลจีนมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลกว่านั้น
มีประชากรอีกราว 1,400 ล้านคนที่ต้องดูแล
ความเป็นอยู่ของประชาชนคือภัยคุกคามสำคัญ
:
มองให้ไกลกว่าความเป็นประชาธิปไตยหรือสังคมนิยมคือชีวิตความเป็นอยู่
ภัยคุกคามต่อจีนคือการที่รัฐบาลไม่สามารถทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี
และต้องเปรียบเทียบกับประเทศทุนนิยมด้วย เพื่อให้ประชาชนเห็นว่าสังคมนิยมยังดีสำหรับตน
ปัจจุบันคนจีนมีโลกทัศน์กว้างขึ้นและถูกต้องชัดเจนมากขึ้น แต่ละปีคนจีนนับล้านได้ท่องเที่ยวต่างประเทศ
รับข้อมูลจากประชาคมโลก รัฐไม่อาจห้ามการพูดแบบปากต่อปากหรือการสื่อสารส่วนตัว
ตั้งแต่เศรษฐกิจจีนพัฒนาเติบโตอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ
ชาวชนบทแม้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นแต่พวกที่อยู่ในเมืองจะมีรายได้สูงกว่า พวกที่อยู่ในเมืองยังแบ่งเป็นพวกที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี
กับพวกแรงงานกรรมกรที่มีคุณภาพชีวิตต่ำกว่า สภาพเช่นนี้เป็นแรงกดดันทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
ฮ่องกงคืออีกภาพสะท้อน
ชาวฮ่องกงบางส่วนไม่พอใจกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของตน พาลคิดว่าถ้าได้ปกครองตนเอง
ตัดสินอนาคตตนเองน่าจะดีกว่านี้ การชุมนุมรอบนี้เป็นเพียงการชุมนุมของอีกปีหนึ่งเท่านั้น
ปี 1997 ฮ่องกงกลับคืนสู่อธิปไตยจีน กำหนด 50
ปีที่รัฐบาลจีนให้เสรีภาพภายใต้การปกครองของรัฐบาลจีน เป็นการมองที่ยาวไกลมากหากคิดว่าเมื่อครบ
50 ปีฮ่องกงจะสูญเสียอิสรภาพ เสรีภาพ เพราะกว่าจะถึงวันนั้นภายในประเทศจีนน่าจะเปลี่ยนไปเช่นกัน
อาจดีขึ้นหรือแย่ลง เป็นไปได้ทุกอย่าง
สิ่งสำคัญที่คนฮ่องกงควรทำคือ
ถืออดีตเป็นบทเรียน ทำวันนี้ให้ดีที่สุด และมุ่งเป้าสู่อนาคตที่ดีกว่ายั่งยืนกว่า เช่น
พัฒนาตัวเองเป็นประชากรโลก (มากกว่าคำว่าเป็นคนฮ่องกง) เป็นประชากรคุณภาพสูง สามารถแข่งขันและอยู่ในโลกวันนี้และอนาคตอย่างเป็นสุข
เชื่อว่ารัฐบาลจีนพร้อมจะสนับสนุนหากคนฮ่องกงมุ่งหน้าสู่ทางนี้ภายใต้ระบอบสังคมนิยมแบบจีน
เป็นฮ่องกงโมเดลที่ควรสนับสนุน
25
สิงหาคม 2019
ชาญชัย
คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน
คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่
23 ฉบับที่ 8323 วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2562)
----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
เมื่อสิ้นยุคประธานเหมา
จีนเปิดประเทศต้อนรับการลงทุน การสัมพันธ์กับต่างชาติ
ค่านิยมความงามแบบตะวันตกเริ่มเข้ามา จีนกลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ด้านความงามของโลก
สตรีจีนใช้จ่ายเพื่อความงามมากกว่าหลายประเทศจนน่าตกใจ บ่งบอกความเป็นพวกวัตถุนิยม
กำลังถอยห่างอุดมการณ์คอมมิวนิสต์
โฉมหน้าความงามของสาวจีนสะท้อนโฉมหน้าสังคมนิยมจีนในปัจจุบันและอนาคต
เป็นครั้งแรกใน 65 ปีที่เจ้าหน้าที่รัฐไต้หวันกับเจ้าหน้าที่รัฐจีนได้ประชุมหารืออย่างเป็นทางการ
หลังจาก 2 ฝ่ายได้กระชับความสัมพันธ์ในหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นถกเถียงลึกๆ
ยังเป็นเรื่องการรวมชาติ
แต่เรื่องเฉพาะหน้าที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ทั้ง
2 ฝ่ายได้ประโยชน์มาโดยตลอด และเห็นว่าควรกระชับความสัมพันธ์ให้มากขึ้นกว่านี้
แม้ว่าไต้หวันจะเป็นผู้ออกหน้าก็ตาม
1. Central Intelligence Agency. (2018).
China. In The World Factbook. Retrieved from
https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/ch.html
2. Full Text: China's National Defense in the New Era.
(2019, July 24). Xinhua. Retrieved from
http://www.xinhuanet.com/english/2019-07/24/c_138253389.htm
3. Hesterman, Jennifer L. (2013). The Terrorist-Criminal
Nexus: An Alliance of International Drug Cartels, Organized Crime, and Terror
Groups. New York: CRC Press.
4. Hong Kong activists call on G20 leaders to help
'liberate' city. (2019, June 26). Reuters. Retrieved from https://www.reuters.com/article/us-hongkong-extradition-activists/hong-kong-activists-call-on-g20-leaders-to-help-liberate-city-idUSKCN1TR0AD
5. Hong Kong leader warns city in a 'very dangerous
situation'. (2019, August 5). Deutsche Welle. Retrieved from https://www.dw.com/en/hong-kong-leader-warns-city-in-a-very-dangerous-situation/a-49892202
6. Hundreds of thousands march in Hong Kong to protest China
extradition bill. (2019, June 9). Channel News Asia. Retrieved from https://www.channelnewsasia.com/news/asia/hundreds-of-thousands-march-in-hong-kong-to-protest-china-11609676
7. Jie, Chen. (2013). A Middle Class Without Democracy:
Economic Growth and the Prospects for Democratization in China. New York: Oxford
University Press.
8. Jones, Handel. (2010). CHINAMERICA: The Uneasy
Partnership that Will Change the World. USA: McGraw-Hill.
9. Saunders,
Phillip C. (2014). China’s Role in Asia: Attractive or Assertive? In David
Shambaugh and Michael Yahuda (Eds.), International Relations of Asia (2nd
ed.). Maryland : Rowman & Littlefield.
10. Shirk, Susan L. (2007). China: Fragile Superpower:
How China's Internal Politics Could Derail Its Peaceful Rise. New York:
Oxford University Press.
11. Taiwan rejects ‘one-China principle' as support for
independence rises: poll. (2019, January 22). Taiwan News. Retrieved
from https://www.taiwannews.com.tw/en/news/3622244
12. U.S.
State Department. (2018, September). Country Reports on Terrorism 2017.
Retrieved from https://www.state.gov/documents/organization/283100.pdf
13. Zhang,
Qingmin. (2011). China’s Diplomacy. Singapore: Cengage Learning Asia.
-----------------------------