นโยบายป้องกันประเทศจีนยุคใหม่ 2019
บทบาทของกองทัพกับความเป็นไปของประเทศเป็นของคู่กันแยกออกจากกันไม่ได้
เป็นเครื่องทดสอบและให้คำตอบในตัวเองว่ากองทัพสนับสนุนการก้าวขึ้นมาของจีนอย่างสันติหรือไม่
อย่างไร
กรกฎาคม 2019 รัฐบาลจีนนำเสนอนโยบายป้องกันประเทศฉบับใหม่ชื่อ “China’s
National Defense in the New Era” มีสาระสำคัญดังนี้
ว่าด้วยบริบท :
เป็นหลักพื้นฐานว่าประชาคมโลกใฝ่หาสันติภาพ
เสถียรภาพและการพัฒนา แต่ระบบความมั่นคงระหว่างเทศถูกบั่นทอนด้วยลัทธิความเป็นเจ้า
การเมืองแห่งอำนาจ (power politics) เอกภาคีนิยม (unilateralism)
ความขัดแย้งภูมิภาคและสงคราม สหรัฐยั่วยุและทำให้การแข่งขันระหว่างประเทศเข้มข้นขึ้นด้วยการเพิ่มงบประมาณกลาโหม
ดำเนินนโยบายบั่นทอนความมั่นคงโลก นาโตยังคงขยายตัว ส่งกองทัพเข้าไปในยุโรปกลางกับยุโรปตะวันออก
ลัทธิสุดโต่งกับลัทธิก่อการร้ายยังคงแพร่กระจาย ความมั่นคงรูปแบบใหม่ (non-
traditional security) ทวีความสำคัญ
โดยรวมแล้วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรวมทั้งทะเลจีนใต้อยู่ในความสงบเรียบร้อย
การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (ADMM-PLUS) มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่น โครงสร้างความมั่นคงอาเซียนที่สมดุลมีเสถียรภาพและเปิดกว้างแก่ทุกประเทศกำลังพัฒนาไปด้วยดี
การติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ
THAAD ในเกาหลีใต้กระทบสมดุลภูมิภาคอย่างรุนแรง ญี่ปุ่นกับออสเตรเลียเสริมสร้างกองทัพ
เพิ่มขยายบทบาทความมั่นคงมากขึ้น
พลังอำนาจแห่งชาติจีนทยอยเพิ่มขึ้น
บทบาทต่อโลกเด่นชัดขึ้น แต่จีนยังอยู่ในช่วงพัฒนาประเทศ เผชิญความท้าทายหลายอย่าง
เช่น พรรค Democratic Progressive Party (DPP) ของไต้หวันยึดมั่นนโยบายไต้หวันที่เป็นไท
เกาะแก่งหลายแห่งยังเป็นพื้นที่พิพาท งานการทูตของจีนในต่างแดน
บริษัทเอกชนและคนจีนทั่วโลกโดนเล่นงานหลายครั้ง
มหาอำนาจทั่วโลกกำลังปรับแต่งยุทธศาสตร์ความมั่นคงและการทหาร
พัฒนากองกำลังรบแบบใหม่ ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด เช่นปัญญาประดิษฐ์ (AI),
quantum information, big data, cloud computing และ the
Internet of Things พัฒนาการทำสงครามข่าวสารและสงครามข่าวกรอง (intelligent
warfare)
นโยบายความมั่นคง :
ภายใต้ระบบสังคมนิยมจีน รัฐบาลยึดมั่นการพัฒนาด้วยสันติ นโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระ
ส่งเสริมสันติภาพ การอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ จึงสร้างนโยบายป้องกันประเทศที่เน้น
“การป้องกัน” เป็นพื้นฐาน มีหลักสำคัญดังนี้
ประการแรก
ปกป้องอธิปไตย ความมั่นคงและผลประโยชน์จากการพัฒนา เช่น
ปกป้องความมั่นคงทางการเมืองและสังคม
ต่อต้านการประกาศอิสรภาพไต้หวันและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนต่างๆ ปกป้องสิทธิผลประโยชน์ทางทะเล
ในอวกาศ ระบบไซเบอร์ ผลประโยชน์จีนในต่างแดน จีนยึดมั่นแก้ไขพื้นที่พิพาทด้วยการเจรจากับประเทศที่เกี่ยวข้องโดยตรง
ยึดมั่นการเดินเรือและเดินอากาศเสรีตามกฎหมายระหว่างประเทศ
ประการที่
2 ไม่แสวงหาความเป็นเจ้า ไม่ขยายอิทธิพล นับตั้งแต่สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน
จีนไม่เคยก่อสงครามสักครั้งเดียว ขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกมาจากการทำงานหนักและพยายามรักษาสันติภาพ
สันติภาพส่งเสริมการพัฒนา จีนพัฒนาสัมพันธภาพกับมิตรประเทศตามหลักอยู่ร่วมกันโดยสันติ
5 ประการ (Five Principles of Peaceful Coexistence) เคารพการตัดสินใจของประชาชนประเทศต่างๆ
ที่จะเลือกแนวทางการพัฒนาของตนเอง (ระบอบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ) จะไม่คุกคามประเทศใดๆ
เพื่อขยายอิทธิพลของตน
ประการที่ 3 แนวยุทธศาสตร์การทหารยุคใหม่ (Military Strategic
Guideline for a New Era) เน้นการป้องกัน ปกป้องตัวเอง
โต้กลับทีหลัง การป้องกันประเทศเชิงรุก (active defense)
จะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อนไม่ว่าจะด้วยเหตุใด
ไม่คุกคามชาติอื่นด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ไม่แข่งขันอาวุธนิวเคลียร์กับประเทศใด
ประการที่ 4
เสริมสร้างกองทัพอย่างต่อเนื่องตามแนวทางจีน กองทัพมีเพื่อประกันการพัฒนาประเทศโดยสันติ
พัฒนาทฤษฎีทางทหารสมัยใหม่ ปรับปรุงโครงสร้างกองทัพสู่กองทัพระดับโลกภายในกลางศตวรรษที่
21
ประการที่ 5
เสริมสร้างชุมชนและมีส่วนในอนาคตของมนุษยชาติ ร่วมมือกับนานาประเทศสร้างโครงสร้างความมั่นคงบนความเท่าเทียม
ไว้วางใจต่อกัน ยุติธรรม แบ่งปันผลประโยชน์ร่วม มีส่วนร่วมกับกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ
ร่วมต่อต้านประเด็นท้าทายโลก เช่น การก่อการร้าย ความมั่นคงทางไซเบอร์ ภัยธรรมชาติต่างๆ
พันธกิจของกองทัพ :
จากนโยบายข้างต้นแปรเป็นพันธกิจดังนี้ กองทัพจีนมีหน้าที่พิทักษ์อธิปไตยแห่งดินแดน
สิทธิและผลประโยชน์ทางทะเล ในการนี้จีนร่วมมือกับหลายประเทศที่มีชายแดนติดต่อกัน
กองทัพจะต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ ตรวจสอบความพร้อมของกองกำลังอยู่เสมอ
ซ้อมรบในสถานการณ์เสมือนจริง ดูแลระบบอาวุธนิวเคลียร์ให้มีความพร้อมอยู่เสมอ
รวมทั้งความมั่นคงทางอวกาศ ระบบไซเบอร์ ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
การพัฒนาสังคม
ต่อต้านก่อการร้ายและรักษาเสถียรภาพ
จีนต่อต้านลัทธิสุดโต่งกับลัทธิก่อการร้ายทุกรูปแบบ
กองทัพจีนมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ปกป้องผลประโยชน์ต่างแดน เช่น
คนจีนในต่างแดน องค์กร สถาบันจีนในต่างแดน ปกป้องเรือบรรทุกสินค้า พร้อมกับหน้าที่ช่วยเหลือกู้ภัยจากภัยพิบัติต่างๆ
การปฏิรูปกองทัพ งบประมาณและอื่นๆ :
ตลอดประวัติศาสตร์กองทัพจีนปฏิรูปเรื่อยมา
การปฏิรูปครั้งนี้ให้ความสำคัญกับระบบสั่งการและควบคุมให้สอดคล้องกับยุคข้อมูลข่าวสาร
พัฒนาระบบสั่งการร่วม พัฒนาระบบตรวจสอบกำกับที่ยึดกฎเกณฑ์ เมื่อไม่นานนี้จีนปรับลดกำลังพล
300,000 นายเหลือเพียง 2,000,000 นาย ย้ายงานบางส่วนแก่เจ้าหน้าที่พลเรือน
ลดสายบังคับบัญชา ปฏิรูปนโยบายและสถาบันทางทหาร พัฒนาหลักสูตรการฝึกทหาร
ยึดมั่นหลักคิดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง การนำของพรรค พัฒนาอาวุธทุกรูปแบบ ทั้งอาวุธหลัก
ระบบข้อมูลข่าวสาร อุปกรณ์สนับสนุน มองการพัฒนากองทัพอย่างเป็นระบบ
การพัฒนาประเทศกับความมั่นคงเป็นของคู่กัน จำต้องพัฒนาประเทศควบคู่พัฒนากองทัพ หลายปีที่ผ่านมาทยอยเพิ่มงบประมาณควบคู่กับการพัฒนาประเทศที่ค่อยๆ
ดำเนินไป แต่ลดลงถ้ายึดจีดีพี เช่น ปี 1979 งบกลาโหมคิดเป็นร้อยละ 5.43 ของจีดีพี ปี
2017 เหลือเพียงร้อยละ 1.26 และอยู่ในระดับต่ำกว่า 2 มา 3 ทศวรรษแล้ว
กองทัพจีนยึดมั่นกฎหมายระหว่างประเทศ
เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกองทัพกับประเทศต่างๆ กว่าร้อยประเทศ
แม้กระทั่งกับสหรัฐ ยุโรป ส่งเสริมโครงสร้างความมั่นคงระดับภูมิภาค เช่น องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้
(SCO) ที่พัฒนาความสัมพันธ์ทุกมิติรวมทั้งด้านการป้องกันประเทศ
กลไกของกลุ่มความร่วมมืออื่นๆ เช่น ADMM-Plus, ASEAN Regional Forum (ARF),
Shangri-La Dialogue
ท้ายนี้ จีนเชื่อว่าชนทุกชาติปรารถนาสันติภาพกับการพัฒนา บั้นปลายของความเป็นเจ้าและการรุกรานคือความล้มเหลว
จีนจะยังคงยึดมั่นการพัฒนาด้วยสันติ ทำงานร่วมมือกับทุกประเทศเพื่อรักษาสันติภาพ ส่งเสริมการพัฒนาร่วมกัน
จีนจะพัฒนากองทัพให้เป็นกองทัพระดับโลก ต้านภัยคุกคามทุกรูปแบบ มุ่งสู่ความใฝ่ฝันของจีน
(Chinese Dream) เสริมสร้างชุมชนและมีส่วนในอนาคตของมนุษยชาติ
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
นับจากสงครามปฏิวัติสู่การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนจนถึงปัจจุบัน
กองทัพเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงและเสถียรภาพของรัฐบาล
เผชิญความท้าทายทั้งจากภายในกับภายนอกประเทศ และยังต้องเผชิญความท้าทายเช่นนี้ต่อไปอีกนาน
บทบาทของกองทัพกับความเป็นไปของประเทศเป็นของคู่กันแยกออกจากกันไม่ได้ เป็นเครื่องทดสอบและให้คำตอบในตัวเองว่ากองทัพสนับสนุนการก้าวขึ้นมาของจีนอย่างสันติหรือไม่
อย่างไร
4 สิงหาคม
2019
ชาญชัย
คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน
คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่
23 ฉบับที่ 8302 วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2562)
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
กองทัพจีนพัฒนาโดยยึดแนวการรบแบบชาติตะวันตก
หากเศรษฐกิจพัฒนาเติบโตต่อไป
ผลประโยชน์ที่ขยายตัวทั่วโลกย่อมเป็นเหตุให้กองทัพจีนต้องสามารถปกป้องผลประโยชน์ประเทศที่กระจายทั่วโลก
โอริตะ คูนิโอะ แสดงความคิดเห็นว่าภายในปี 2025 จีนจะก่อสงครามใหญ่ เพื่อยึดครองไต้หวัน ควบคุมทะเลจีนใต้
ข้อวิพากษ์คืออย่างไรเป็นประโยชน์ต่อจีนมากกว่าระหว่างสงครามกับสันติภาพ
บรรณานุกรม :
Full Text: China's National Defense in the New Era. (2019,
July 24). Xinhua. Retrieved from http://www.xinhuanet.com/english/2019-07/24/c_138253389.htm
ที่มาของภาพ : http://eng.chinamil.com.cn/view/2019-06/22/content_9535939.htm