รายงานยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ
แม้ไม่เหมือนองค์กรนาโต
เครือข่ายความมั่นของสหรัฐในอินโด-แปซิฟิกมีอยู่จริง อยู่ร่วมกับประเทศต่างๆ
ทั้งระดับทวิภาคี พหุภาคี แต่หลายประเทศร่วมมือมหาอำนาจอื่นด้วยเป็นโครงสร้างความมั่นคงภูมิภาคที่ซับซ้อน
US Department of Defense. (2019, June 1). Indo-Pacific Strategy Report: Preparedness, Partnerships, and Promoting a Networked Region. Retrieved from https://media.defense.gov/2019/May/31/2002139210/-1/-1/1/DOD_INDO_PACIFIC_STRATEGY_REPORT_JUNE_2019.PDF
“รายงานยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก”
(Indo-Pacific Strategy Report: IPSR) ของกระทรวงกลาโหม
ฉบับวันที่ 1 มิถุนายน 2019 มีสาระสำคัญดังนี้
สหรัฐอเมริกามีประวัติศาสตร์อันยาวนานเรื่องการส่งเสริมเสรีภาพ
การเปิดกว้างและโอกาสแก่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เปิดสัมพันธ์การค้ากับประเทศต่างๆ
ในภูมิภาค ทำสนธิสัญญาป้องกันประเทศกับหลายประเทศ และนับจากสิ้นสงครามโลกครั้งที่
2 เป็นต้นมาสหรัฐเป็นผู้วางระบบที่นำเสถียรภาพแก่ภูมิภาคและจะแสดงบทบาทสำคัญนี้ต่อไป
วิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีโดนัลด์
ทรัมป์คือ “อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” (free and open Indo-Pacific) โดยยึดหลัก 4 ประการ ได้แก่ 1.เคารพอธิปไตยและอิสรภาพของประเทศต่างๆ
2.แก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธี 3.การค้าที่เปิดเสรี เป็นธรรมและต่างตอบแทน
4.ยึดถือกฎกติการะหว่างประเทศ
วิสัยทัศน์นี้หวังสร้างระเบียบภูมิภาคที่ทุกชาติสามารถป้องกันผลประโยชน์ของตนพร้อมกับแข่งขันในตลาดอย่างยุติธรรม
ปราศจากการครอบงำโดยชาติหนึ่งชาติใด
สหรัฐมีค่านิยมและความเชื่อของตัวเองแต่จะไม่พยายามยัดเยียดวิถีของตนแก่ผู้อื่น
ถือว่าประเทศต่างๆ มีความรับผิดชอบต่อการรักษาระเบียบภูมิภาค
พันธมิตรและหุ้นส่วนของสหรัฐจึงต้องช่วยแบ่งเบาภาระอย่างยุติธรรม
รวมทั้งเรื่องการลงทุนขีดความสามารถด้านการป้องกันประเทศ
ทิศทางและความท้าทาย :
ในศตวรรษที่ 21
นี้จีนกำลังก้าวขึ้นมาทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและการทหาร แม้ได้ประโยชน์จากภูมิภาคแต่ผู้นำจีนจากพรรคคอมมิวนิสต์บั่นทอนระบบระหว่างประเทศ
เบียดบังเอาประโยชน์และค่อยๆ ทำลายค่านิยมและหลักการต่างๆ กดขี่ชาติพันธุ์มุสลิมในประเทศตัวเอง
ละเมิดบรรทัดฐานระหว่างประเทศ ขโมยทรัพย์สินทางปัญญา ติดอาวุธทะเลจีนใต้ในพื้นที่พิพาท
กดดันประเทศอื่นด้วยเครื่องมือทางเศรษฐกิจ
เมื่อจีนก้าวขึ้นมาจะแสวงหาความเป็นเจ้าในภูมิภาคและเป็นเจ้าโลกในที่สุด
ดูได้จากการที่จีนพัฒนาอาวุธต่างๆ การส่งกองกำลังไปที่ต่างๆ
พัฒนากองกำลังอาวุธนิวเคลียร์ ด้านไซเบอร์ อวกาศ สงครามอิเล็กทรอนิกส์ anti-access/area
denial (A2/AD)
ติดตั้งขีปนาวุธต่อต้านเรือและขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศที่หมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly
Islands) ส่งเรือและเครื่องบินตรวจตราหมู่เกาะเซนกากุ (Senkaku
Islands) ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทเพื่อแสดงการครอบครอง
เป็นตัวอย่างพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อการขนส่งสินค้าเสรี คุกคามอธิปไตยประเทศอื่น
บ่อนทำลายเสถียรภาพภูมิภาค สวนทางกับหลักการเปิดเสรี จีนค่อยๆ คืบคลานเข้าควบคุมพื้นที่พิพาท
ศักยภาพทางทหารที่เพิ่มขึ้นเป็นภัยคุกคามไต้หวันด้วย
จีนใช้อำนาจเศรษฐกิจ
การทูต การทหารชักนำให้ประเทศอื่นๆ ทำตามวาระที่ตนกำหนด โครงการเศรษฐกิจหลายโครงการเป็นโทษต่อประเทศที่ร่วมโครงการถึงขั้นกระทบอธิปไตย
ใช้วิธีเลี่ยงกลไกตลาดเพื่อให้โครงการที่ต่ำกว่ามาตรการผ่านการพิจารณา มีหลักฐานเรื่องการติดสินบน
เลี่ยงการจ้างบริษัทกับแรงงานท้องถิ่น สร้างโครงการที่เข้าควบคุมพื้นที่ยาวนานถึง
99 ปี
รัฐบาลสหรัฐไม่ต่อต้านการลงทุนของจีนตราบเท่าที่เคารพอธิปไตย
หลักนิติธรรม โปร่งใส
รัสเซียเป็นอีกประเทศที่ผลประโยชน์กับอิทธิพลกำลังขยายตัวในภูมิภาคนี้
อันเป็นผลจากนโยบายและความก้าวหน้าทางทหาร พยายามกลับมาแสดงตัวในภูมิภาค
สอดคล้องกับนโยบายแผ่ขยายอิทธิพลทั่วโลก หวังตอบสนองผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ บ่อนทำลายความเป็นผู้นำของสหรัฐและระเบียบโลกที่ยึดกฎกติกา
รัสเซียใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจ
การทูต การทหารเพื่อบรรลุการแผ่อิทธิพลในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เสาะหาลูกค้าซื้อพลังงานกับอาวุธ
พยายามแสดงตัวเป็น “หุ้นส่วนที่ 3” ที่ไม่ใช่สหรัฐหรือจีน
ฟื้นฟูกองกำลังนิวเคลียร์ของตนในย่านนี้
จีนกับรัสเซียร่วมมือกันในหลายมิติ
จีนเพิ่มการลงทุนในรัสเซียและเป็นลูกค้าซื้อพลังงานรายใหญ่ ซื้ออาวุธทันสมัยล่าสุด
ร่วมกันต่อต้านสหรัฐในคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ หวังสร้างระเบียบโลกพหุภาคีที่ลดอิทธิพลสหรัฐ
เกาหลีเหนือยังเป็นประเด็นท้าทายตราบเท่าที่ยังไม่ปลอดนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์
รวมทั้งอาวุธอำนาจทำลายร้ายแรงต่างๆ (weapons of mass destruction) ขีปนาวุธ มีประวัติแพร่กระจายอาวุธเหล่านี้แก่ประเทศอื่นๆ เช่น
อิหร่านกับซีเรีย พยายามพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีปที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ยิงไกลถึงสหรัฐ
ทั้งยังมีเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย
กองทัพเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น แสดงท่าทีใช้กำลังเรื่อยมา
หลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร รัฐบาลทรัมป์ใช้วิธีการทูตระดับผู้นำประเทศหวังให้โอกาสแก่เกาหลีเหนือ
สหรัฐจะยังคงมาตรการคว่ำบาตรกดดันให้เกาหลีเหนือปลอดนิวเคลียร์
ส่วนภัยคุกคามข้ามชาติ
เช่น การก่อการร้าย อาวุธเถื่อน ยาเสพติด การค้ามนุษย์ โจรสลัด การประมงผิดกฎหมาย ภัยธรรมชาติต่างๆ
เป็นอีกส่วนที่สหรัฐให้ความสำคัญ
ผลประโยชน์และยุทธศาสตร์ :
ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของกระทรวงกลาโหมสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความมั่นแห่งชาติ
2017 (National Security Strategy)
และยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศ 2018 (National Defense Strategy)
สหรัฐหวังช่วยให้ประเทศต่างๆ ในอินโด-แปซิฟิกดำรงความเป็นอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน
มีเสรีภาพและความมั่งคั่ง หากสมดุลอำนาจภูมิภาคเปลี่ยนไปในทางลบจะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน
บั่นทอนระเบียบที่เสรีและเปิดกว้าง ซึ่งจำต้องอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรและหุ้นส่วนที่มีความคิดคล้ายกัน
ไม่มีประเทศใดสามารถทำได้โดยลำพัง
เพื่อบรรลุเป้าหมายข้างต้น
ได้กำหนดแนวทางหลัก 3 ประการ (หรือ 3P)
ประการแรก เตรียมพร้อม (Preparedness) กองทัพต้องพร้อมเอาชนะทุกความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น
โดยร่วมกับพันธมิตร หุ้นส่วนทั้งหลาย ตามหลักการใช้ความเข้มแข็งนำสันติภาพ (peace
through strength)
ประการที่
2 ความเป็นหุ้นส่วน (Partnerships) ร่วมมือกับกองกำลังของพันธมิตรและประเทศหุ้นส่วน
พร้อมกับแสวงหาหุ้นส่วนใหม่ๆ ซึ่งการเป็นหุ้นส่วนนี้รวมถึงการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ
ด้วย
ประการที่ 3 ส่งเสริมเครือข่ายในภูมิภาค (Promotion of a Networked Region) ร่วมมือกับพันธมิตรและประเทศหุ้นส่วนเป็นโครงสร้างความมั่นคงที่ยึดกติกาสากล
ป้องปรามการรุกราน รักษาเสถียรภาพ สร้างเครือข่ายความมั่นคงทั้งจากข้อตกลงทวิภาคี
ไตรภาคีและพหุภาคี
ในการนี้กระทรวงกลาโหมจะสนับสนุนพัฒนากองทัพญี่ปุ่นให้ทันสมัยต่อเนื่อง
สหรัฐจะประจำการหน่วยรบที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น ปัจจุบันมีทหารในญี่ปุ่น 54,000 นาย
ประเทศอื่นๆ
ที่พูดถึงในฐานะพันธมิตรได้แก่ เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ไทย
สหรัฐกับอินเดียมีความเห็นร่วมกันว่าจะต้องส่งเสริมการพัฒนาที่ยึดหลักกติกาสากล
เป็นภูมิภาคที่เปิดกว้าง เกือบครึ่งหนึ่งของเรือพาณิชย์ทั้งโลกผ่านเส้นทางนี้
เช่นเดียวกับน้ำมัน 2 ใน 3 ที่ซื้อขายทั่วโลกต้องอาศัยเส้นทางดังกล่าว
อินเดียเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้านของสหรัฐ
เป็นหุ้นส่วนหลักด้านการป้องกันประเทศ (Major Defense Partner) รัฐบาลสหรัฐมีความปรารถนาที่จะยกระดับเป็นพันธมิตรต่อกัน
นอกจากจีน
รัสเซีย เกาหลีเหนือแล้ว รัฐบาลสหรัฐ กระทรวงกลาโหมตั้งใจเพิ่มขยายความร่วมมือกับประเทศทั้งหลายให้มากขึ้น
และสนับสนุนโครงสร้างความมั่นคงภูมิภาคที่ยึดความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN
Centrality) ตามแนวทางอาเซียน
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกเอ่ยถึงโครงสร้างความมั่นคงอินโด-แปซิฟิกที่รัฐบาลสหรัฐคาดหวังและที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
หลายส่วนเป็นผลพวงจากสัมพันธภาพจากประวัติศาสตร์ สนธิสัญญา
ข้อตกลงมากมายที่ทำไว้กับหลายประเทศ แม้ไม่ประกาศชัดแบบองค์กรนาโต
เครือข่ายความมั่นของสหรัฐในอินโด-แปซิฟิกมีอยู่จริง อยู่ร่วมกับประเทศต่างๆ
ทั้งระดับทวิภาคี ไตรภาคีและพหุภาคี
อย่างไรก็ตาม
หลายประเทศไม่ได้ร่วมมือกับสหรัฐเท่านั้น ยังร่วมมือกับชาติมหาอำนาจอื่นๆ
ประเทศอื่นๆ พร้อมๆ กัน เป็นโครงสร้างความมั่นคงภูมิภาคที่ซับซ้อน
“รายงานยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก”
พูดจากมุมมองของรัฐบาลสหรัฐ สำคัญกว่าเนื้อหาที่ดูดีคือการปฏิบัติจริง
หากขัดแย้งกันรายงานนี้จะกลายเป็นหลักฐานในตัวเองเช่นกัน
7 กรกฎาคม
2019
ชาญชัย
คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน
คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่
23 ฉบับที่ 8274 วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2562)
-----------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
มุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก
อาเซียนเสนอเอกสาร “มุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก”
หวังนำอนุทวีปอินเดียเข้ามาเชื่อมต่อกับเอเชียแปซิฟิกให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
คงหลักอาเซียนเป็นแกนกลาง เน้นความร่วมมือแทนการทำลายล้าง
บรรณานุกรม :US Department of Defense. (2019, June 1). Indo-Pacific Strategy Report: Preparedness, Partnerships, and Promoting a Networked Region. Retrieved from https://media.defense.gov/2019/May/31/2002139210/-1/-1/1/DOD_INDO_PACIFIC_STRATEGY_REPORT_JUNE_2019.PDF