ที่ราบสูงโกลัน สหรัฐเห็นชอบทำสงครามชิงดินแดน
การทำสงครามแย่งชิงดินแดนเกิดขึ้นในทุกยุคสมัยของประวัติศาสตร์
คำประกาศของประธานาธิบดีทรัมป์ชี้ว่ารัฐบาลสหรัฐเห็นชอบกับการทำสงครามแย่งชิงดินแดนในศตวรรษที่
21 นี้
Jonathan Andreo
ปลายเดือนมีนาคมประธานาธิบดีโดนัลด์
ทรัมป์ลงนามยอมรับที่ราบสูงโกลัน (Golan Heights) เป็นของอิสราเอล
กล่าวว่าหลัง 52 ปี (เริ่ม 1967)
ถึงเวลาแล้วที่สหรัฐอเมริการับรองอธิปไตยของอิสราเอลต่อที่ราบสูงโกลัน
ซึ่งมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์และความมั่นคงต่อประเทศอิสราเอลและความมั่นคงภูมิภาค
ที่ราบสูงโกลัน :
ที่ราบสูงโกลัน (Golan Heights หรือ al
Jawlan) ตั้งอยู่ตอนใต้ของเลบานอนกับซีเรียและอยู่ทางภาคเหนือของอิสราเอล
มีความสูงเฉลี่ย 1,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล กินพื้นที่ 700 ตร.ไมล์ (1,800
ตร.กม.) มีความยาวจากเหนือจรดใต้ราว 40 ไมล์ (65 กม.) และกว้างระหว่าง 7-15 ไมล์
(12-25 กม.) เป็นที่ตั้งของหลายเมืองเก่าแก่ย้อนถึงต้นคริสตศักราช
พื้นที่ดังกล่าวผ่านประวัติศาสตร์หลายอายธรรม นับจากปีค.ศ. 1516 กลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมัน
(Ottoman Empire) ปี 1920 ฝรั่งเศสเข้าดูแลพื้นที่และถือเป็นส่วนหนึ่งของซีเรีย
ในช่วงปี
1948-1967 เป็นพื้นที่ขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับซีเรีย จนอิสราเอลเข้ายึดในปี 1967
ใน “สงคราม 6 วัน” (Six-Day
War) ฝ่ายอาหรับปราชัยยับเยิน อิสราเอลยึดที่ราบสูงโกลัน ไซนายและฉนวนกาซาของอียิปต์
เขตเวสต์แบงก์ (West Bank) กับเยรูซาเล็มตะวันออกของจอร์แดน
นับจากนั้นเป็นต้นมา รัฐบาลอิสราเอลแสดงความเป็นเจ้าของมากขึ้น
ส่งคนของตนเข้าไปอยู่อาศัย ปี 1981 ประกาศใช้กฎหมายของตนต่อที่ราบสูงโกลัน ผนวกพื้นที่ดังกล่าวเป็นของอิสราเอล
มุมมองหลายมุม :
นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าการรับรองอธิปไตยดังกล่าวเพิ่มความนิยมต่อนายกรัฐมนตรี
เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) ที่กำลังจะเลือกตั้งอีกครั้งในเดือนหน้า
ช่วยสร้างผลงานชิ้นงามแก่เนทันยาฮู
นายกฯ
เนทันยาฮูให้เหตุผลว่าการเข้าแทรกแซงของอิหร่านในซีเรีย ยิ่งเป็นเหตุให้อิสราเอลต้องครอบครองที่ราบสูงดังกล่าว
หากอิหร่านครอบครองพื้นที่นี้จะเป็นภัยต่อภูมิภาคอย่างยิ่ง
ด้านทูตซีเรียประจำสหประชาชาติวิพากษ์รัฐบาลทรัมป์ละเมิดข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงและกฎหมายระหว่างประเทศ
ทำตัวเยี่ยงประเทศที่ไม่เคารพกฎหมาย
ประเทศอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วย
เช่น นายเรเจพ แอร์โดกาน (Recep Erdogan) ประธานาธิบดีตุรกีกล่าวว่าไม่อาจยอมให้การยึดครองที่ราบสูงโกลันกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมาย
เช่นเดียวกับประเทศอาหรับอื่นๆ
5 ชาติยุโรป
เบลเยียม สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนีและโปแลนด์
ยืนยันจุดยืนว่าที่ราบสูงโกลันเป็นดินแดนที่อิสราเอลยึดจากซีเรีย
ดังที่สหประชาชาติเคยมีมีมติไว้ ไม่ใช่ของอิสราเอลแต่อย่างไร
ผลดีต่อสันติภาพตะวันออกกลางจริงหรือ :
รัฐบาลสหรัฐทุกชุดรวมทั้งทรัมป์ล้วนประกาศว่าต้องการสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง
การประกาศที่ราบสูงโกลันเป็นของอิสราเอล ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ
รวมทั้งนักวิชาการ
Robert Satloff จาก
The Washington Institute for Near-East Policy เห็นว่าเป็นการสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา
Ilan Goldenberg จาก
Center for a New American Security กล่าวว่าแต่เดิมไม่มีใครสนใจว่าใครจะครอบครองที่ราบสูงโกลัน
ตอนนี้รัฐบาลทรัมป์ทำให้เป็นเรื่องใหญ่ สร้างปัญหาให้กับตัวเอง การรับรองจากรัฐบาลทรัมป์ไม่เป็นประโยชน์อันใดต่ออิสราเอลเลย
อันที่จริงแล้วรัฐบาลอิสราเอลผนวกที่ราบสูงโกลันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตั้งแต่ปี
1981 นานาชาติรวมทั้งโลกอาหรับได้แต่ประณาม ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เหตุการณ์ครั้งนี้ก็เช่นกัน
และเหมือนกับที่อิสราเอลประกาศเยรูซาเล็มเป็นนครหลวงของตนเมื่อกรกฎาคม 2017 เหมือนกับที่อิสราเอลรุกคืบตั้งถิ่นฐานในเขตเวสต์แบงก์มากขึ้นทุกที
นานาชาติได้แต่ประณาม
อิสราเอลยังคงรุกคืบยึดดินแดนมากขึ้นๆ เป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธ
แต่การกระทำของรัฐบาลทรัมป์เพิ่มความจงเกลียดจงชังในโลกอาหรับและอีกหลายประเทศ
รวมทั้งกลุ่มประเทศอียู
หลายประเทศในอียูซึ่งเป็นประชาธิปไตยเหมือนกันรู้สึกแปลกแยกต่อรัฐบาลสหรัฐ
ไม่แปลกใจที่คนยุโรปตะวันตกจำนวนมากเกลียดชังรัฐบาลอเมริกัน
นักวิชาการบางคนเห็นว่าที่รัฐบาลอาหรับแสดงท่าทีต่อต้านเป็นการเล่นละครมากกว่า
แต่ต้องไม่ลืมว่าคนมุสลิมจำนวนไม่น้อยไม่เป็นอย่างรัฐบาลของพวกเขา
ยอมรับการทำสงครามเพื่อยึดดินแดนอีกครั้ง
:
เรื่องที่พึงเข้าใจคือ
ไม่ใช่ทุกประเทศที่สามารถทำอย่างรัฐบาลสหรัฐ
มีเพียงประเทศอภิมหาอำนาจหรือมหาอำนาจเท่านั้นที่กระทำได้
เพราะไม่ต้องกลัวว่าประเทศใดจะกล้าทำสงครามกับตน
ดังเช่นที่ซีเรียในขณะนี้ไม่กล้า ได้เพียงแต่บ่นว่าเท่านั้น
ตราบใดที่สหรัฐยังเป็นมหาอำนาจก็จะทำเรื่องทำนองนี้อีก ดังเช่นที่ได้ทำมาหลายครั้งแล้ว
เช่นเดียวกับที่สหประชาชาติไม่สามารถทำอะไร
ได้แต่ประชุม สุดท้ายที่ราบสูงโกลันยังอยู่ใต้การปกครองของอิสราเอลต่อไป กล่าวได้ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของอิสราเอลตั้งแต่ปี
1967 แล้ว เพียงแต่ถือว่าซีเรียเป็นเจ้าของตามฐานะทางกฎหมายระหว่างประเทศเท่านั้น
ประเด็นสำคัญคือ
การที่รัฐบาลทรัมป์ประกาศยอมรับที่ราบสูงโกลันเป็นของอิสราเอล ตีความได้ว่ารัฐบาลสหรัฐยอมรับหลักการที่ประเทศหนึ่งทำสงครามกับอีกประเทศเพื่อแย่งชิงดินแดน
โดยอ้างว่าเพื่อความมั่นคงของประเทศหนึ่ง โดยไม่สนใจว่าผู้ถูกรุนรานเสียหายอย่างไร
และจะกลายเป็นบรรทัดฐานหรือไม่
Ofer
Zalzberg จาก Crisis Group คาดการณ์ว่าในอนาคตอิสราเอลอาจผนวกเขตเวสต์แบงก์เป็นดินแดนของตนและรัฐบาลสหรัฐจะเห็นชอบด้วย
รัฐบาลอิหร่านเห็นว่าเป็นอีกตัวอย่างที่ชี้ว่านโยบายของรัฐบาลสหรัฐเป็นภัยคุกคามทุกประเทศในโลก
ดังที่พยายามบ่อนทำลายตะวันออกกลางและกลายเป็นวิกฤตในขณะนี้
ถ้ายึดกรอบแนวคิดว่าการผนวกที่ราบสูงโกลันเป็นส่วนหนึ่งของการยึดครองจากชัยชนะในสงครามเมื่อปี
1967 สิ่งที่รัฐบาลอิสราเอลทำแล้วคือประกาศเยรูซาเล็มเป็นนครหลวงของอิสราเอลแต่เพียงประเทศเดียว
ตอนนี้คือที่ราบสูงโกลัน ในอนาคตคือเขตเวสต์แบงก์ และเป็นไปได้ว่ารัฐบาลสหรัฐจะประกาศยอมรับว่าเขตเวสต์แบงก์จะเป็นของอิสราเอลด้วย
ดังที่ได้ทำกับเยรูซาเล็มตะวันออกกับที่ราบสูงโกลันแล้ว
ต้องไม่ลืมว่าเขตเวสต์แบงก์มีพื้นที่ใหญ่กว่าที่ราบสูงโกลันหลายเท่าและเป็นที่ต้องการของอิสราเอลตามยุทธศาสตร์ขยายดินแดน
การทำสงครามแย่งชิงดินแดนมีอยู่ในทุกยุคสมัย
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความพยายามป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก
คำประกาศของรัฐบาลทรัมป์เป็นการตอกย้ำว่าเรื่องนี้ได้เกิดขึ้นอีกแล้วในศตวรรษที่
21 นี้ รัฐบาลสหรัฐเห็นชอบกับการทำสงครามแย่งชิงดินแดน
และอาจต้องสรุปว่าประเทศเสรีประชาธิปไตยอย่างสหรัฐสนับสนุนการทำสงครามแย่งชิงดินแดน
เป็นคำถามว่าประเทศใดจะเป็นเหยื่อรายต่อไป
อนึ่ง
คำประกาศยอมรับที่ราบสูงโกลันเป็นของอิสราเอลยังไม่ถือว่าประเทศสหรัฐอเมริกายอมรับที่ราบสูงโกลันเป็นของอิสราเอล
ยังต้องผ่านการรับรองจากรัฐสภาเสียก่อน เป็นประเด็นที่น่าติดตาม
31 มีนาคม
2019
ชาญชัย
คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน
คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่
23 ฉบับที่ 8176 วันอาทิตย์ที่ 31
มีนาคม พ.ศ.2562)
--------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
รัฐบาลทรัมป์ประกาศคงกองกำลังภาคพื้นดินในซีเรียด้วยเหตุผลสารพัด
เป้าหมายเบื้องลึกคือยึดครองซีเรีย ควบคุมตะวันออกกลาง จริงหรือที่รัฐบาลซาอุฯ
กับพวกมั่นคงกว่าเดิม
แม้นานาชาติจะวิพากษ์วิจารณ์
อาจเป็นต้นเหตุความรุนแรง โหมไฟลัทธิสุดโต่ง
แต่รัฐบาลทรัมป์ยังคงประกาศยอมรับเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงอิสราเอล
ตามแนวทางที่วางไว้นานแล้ว
บรรณานุกรม :
1. Al-Jaafari: Syria condemns Trump’s proclamation about
occupied Syrian Golan, considers it unilateral behavior. (2019, March 28). SANA.
Retrieved from https://www.sana.sy/en/?p=162023
2. Bibi’s Biggest Asset Heading Into the Israeli Elections
Is Donald Trump. (2019, March 21). Slate. Retrieved from https://slate.com/news-and-politics/2019/03/netanyahu-trump-election-golan-gantz.html
3. Bruinessen, Martin. (2004). 1967 Arab–Israel War. In The
Encyclopedia of the Modern Middle East and North Africa. (2nd Ed., p.237). USA:
Thomson Gale.
4. Bruinessen, Martin. (2004). GOLAN HEIGHTS. In The
Encyclopedia of the Modern Middle East and North Africa. (2nd Ed., pp.925-926).
USA: Thomson Gale.
5. By recognizing Golan, US seen ‘solving’ a problem that
doesn’t exist. (2019, March 22). The Time of Israel. Retrieved from https://www.timesofisrael.com/by-recognizing-golan-us-seen-solving-a-problem-that-doesnt-exist/
6. Europe at UN says Golan Heights is not Israeli territory.
(2019, March 27). Channel News Asia. Retrieved from https://www.channelnewsasia.com/news/world/europe-at-un-says-golan-heights-is-not-israeli-territory-11382940
7. Reaching for political heights? Trump's statement on
Golan sparks int'l uproar. (2019, March 22). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/454526-international-reaction-trump-golan-heights/
8. Rogan, Eugene. (2012). The
Arabs: A History (2nd Ed.). London: Penguin Group.
9. Trump recognizes Israel's sovereignty over disputed Golan
Heights. (2019, March 26). Xinhua. Retrieved from http://www.xinhuanet.com/english/2019-03/26/c_137923096.htm
10. Trump says it's time for US to recognize 'Israel's
Sovereignty over the Golan Heights'. (2019, March 21). CNN. Retrieved
from https://edition.cnn.com/2019/03/21/politics/trump-golan-heights-tweet/index.html
11. Trump shakes up the Middle East once again. (2019, March
25). The Japan Times. Retrieved from https://www.japantimes.co.jp/opinion/2019/03/25/editorials/trump-shakes-middle-east-2/#.XJmrICIzbZ4
-----------------------------