8 ปีหลังเริ่มสงครามกลางเมืองซีเรีย
ความไม่พอใจรัฐบาลเป็นเรื่องปกติของการเมืองการปกครอง
แต่เมื่อบานปลายจนไร้การควบคุม ต่างชาติเข้าแทรก การชุมนุมประท้วงจึงกลายเป็นสงครามกลางเมือง
ประเทศซีเรียไม่ใช่ของชาวซีเรียอีกต่อไป
1. Contradicting Trump, Bolton says no withdrawal from Syria until ISIS contained, Kurds’ safety guaranteed. (2019, January 6). The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/world/national-security/bolton-promises-no-troop-withdrawal-from-syria-until-isis-contained-kurds-safety-guaranteed/2019/01/06/ee219bba-11c5-11e9-b6ad-9cfd62dbb0a8_story.html?utm_term=.73f39285219c
นับจากเริ่มสงครามกลางเมืองซีเรียหรือที่นิยมเรียกว่าอาหรับสปริงซีเรียเมื่อมีนาคม
2011 บัดนี้ครบ 8 ปีเต็มก้าวสู่ปีที่ 9 สถานการณ์สู้รบเบาบางลงแต่ยังไม่สงบ
และไม่อาจตอบว่าจะจบอย่างไร
อาหรับสปริงซีเรียอาจอธิบายเริ่มจากสมัยประธานาธิบดี
ฮาเฟซ อัลอัสซาด (Hafez al-Assad) บิดาของประธานาธิบดี บาชาร์
อัลอัสซาด (Bashar al-Assad) ผู้นำคนปัจจุบัน ปกครองประเทศแบบอำนาจนิยมที่ชนชั้นปกครอง
นักธุรกิจใกล้ชิด ได้รับประโยชน์จากการปกครอง เป็นพวกที่สามารถกอบโกยความมั่งคั่ง เกิดชนชั้นกลาง
นายทุนจากอำนาจนิยม ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ถูกกีดกันออกจากความมั่งคั่งของประเทศ
เป็นผู้มีรายน้อย ถ้าไม่มีสายสัมพันธ์ก็ยากจะได้งานทำ
รัฐบาลใช้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องตอบแทนแก่ผู้ยินยอมอยู่ใต้อำนาจ
สร้างรัฐที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องพึ่งพารัฐบาล
สมัยประธานาธิบดีฮาเฟซพยายามแบ่งสันปันส่วนให้ทุกกลุ่มได้ประโยชน์ตามสมควร
เหลือบางกลุ่มเท่านั้นที่ยังขัดขืนรัฐบาล ระบบนี้ทำท่าไปได้ดี
ข้อเสียคือนานวันเข้าฝ่ายต่อต้านเกิดเป็นกลุ่มเป็นก้อน
ช่วงปี 2006-2010
เป็นปีที่แห้งแล้งมาก เกษตรกรได้รับผลกระทบถ้วนหน้า การเพิ่มพื้นที่เกษตรอย่างไร้ควบคุมเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำรุนแรง
ปัญหาเหล่านี้ซ้ำเติมด้วยการที่รัฐบาลยกเลิกนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมัน ปุ๋ย การจัดการภาครัฐที่หย่อนยาน
มีข้อมูลว่าประชาชนกว่าล้านคนต้องอพยพย้ายถิ่นหนีภัยแล้ง
ภัยแล้งต่อเนื่องหลายปี
ความทุกข์ยากที่สะสมทำให้ประชาชนขมขื่น เปิดโอกาสให้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเคลื่อนไหว ในที่สุดการประท้วงเล็กๆ
บานปลายเป็นการประท้วงใหญ่ และเริ่มใช้อาวุธห้ำหั่นกัน
การแทรกแซงจากต่างชาติ :
สิงหาคม 2011
ประธานาธิบดีบารัก โอบามาเรียกร้องให้ประธานาธิบดีอัสซาดก้าวลงจากอำนาจ ถ่ายโอนอำนาจแก่ประชาชนโดยสันติ
เปลี่ยนจากอำนาจนิยมเป็นประชาธิปไตย ต้นปีต่อมาสันนิบาตอาหรับ (Arab
League) เรียกร้องเช่นเดียวกัน
นับจากต้นปี 2012
ต่างชาติเริ่มส่งอาวุธสงครามแก่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนกลุ่มที่เรียกว่าฝ่ายต่อต้านสายกลาง
มีข่าวว่าช่วยฝึกกองกำลังติดอาวุธ ส่วนซาอุดิอาระเบียสนับสนุนทุกกลุ่ม
รวมทั้งพวกสุดโต่ง อย่าง al-Nusra Front กับ Islamic
State of Iraq and al-Sham (ISIS) ที่รับรู้กันทั่วไปว่าคือผู้ก่อการร้าย
แต่รัฐบาลซาอุฯ ปฏิเสธ
การแสดงออกซึ่งความไม่พอใจของประชาชนต่อผู้ปกครองเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ
นำมาซึ่งการชุมนุม อาจถึงขั้นปฏิวัติรัฐประหาร เป็นเรื่องของพัฒนาการทางการเมืองของแต่ละประเทศ
กรณีของซีเรียแตกต่างเนื่องจากต่างชาติเข้าแทรกแซงหนัก จุดยืนของรัฐบาลสหรัฐกับสันนิบาตอาหรับที่ต้องการล้มระบอบอัสซาดทำให้สงครามกลางเมืองขยายตัว
เรื่องราวซับซ้อนขึ้นอีก
เมื่อผู้ก่อการร้าย ISIL/ISIS ปรากฏตัว
(และกลุ่มอื่นอีกหลายกลุ่ม ประกอบด้วยมุสลิมกว่าร้อยสัญชาติ)
ในช่วงแรกเป็นฝ่ายได้ชัยจนสถาปนารัฐอิสลาม (Islamic State) ความโหดเหี้ยมของ
ISIS สร้างความตกตะลึงแก่คนทั้งโลก เพิ่งถูกปราบปรามจนอ่อนแรงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
หลังทำลายประเทศจนยับเยิน ผู้ก่อการร้ายที่เป็นชาวซีเรียถูกปลดอาวุธ สามารถอาศัยในประเทศต่อไป
กลายเป็นปัญหาทิ้งค้าง
ซีเรียที่ไม่ใช่ของชาวซีเรียอีกต่อไป
:
เมื่อความขัดแย้งทางการเมืองกลายเป็นอาหรับสปริงอีกประเทศ
ต่างชาติแสดงตัวเข้าแทรกแซง ทั้งแบบเปิดเผยกับปิดลับ ให้ทั้งเงิน อาวุธ แม้กระทั่งส่งกำลังพลเข้าร่วมสมรภูมิ
มีทั้งฝ่ายที่ช่วยรัฐบาลอัสซาดกับพวกที่หวังโค่นรัฐบาล ที่ต้องตระหนักคือประเทศเหล่านี้ที่ทุ่มงบประมาณนับพันนับหมื่นล้านดอลลาร์
ของเหล่านี้ไม่ฟรี ต่างหวังได้ผลประโยชน์จากสงครามกลางเมืองซีเรียด้วยกันทั้งสิ้น
ถ้าเปรียบซีเรียเป็นเค้กก้อนหนึ่ง
หลายประเทศทั้งอยู่ใกล้และอยู่ไกลต่างมองว่าเป็นโอกาส
หวังได้ส่วนแบ่งไม่ชิ้นใหญ่ก็ชิ้นเล็ก
ความขัดแย้งของคนซีเรียด้วยกันคือโอกาสของต่างชาติ
ตั้งแต่แรกเริ่มชาติตะวันตกที่นำโดยรัฐบาลสหรัฐกับอาหรับสนับสนุนการตั้งรัฐบาลใหม่
มีการวางตัวบุคคลในรัฐบาลใหม่ แม้มีเชื้อสายซีเรียแต่หลายคนเป็นผู้อยู่อาศัยต่างแดนมานานเป็นสิบปี
ไม่แน่ใจว่าเป็นการวางตัวเพื่อตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดหรือไม่ หากอัสซาดถูกโค่นจะได้รัฐบาลใหม่ที่มุ่งบริหารประเทศเพื่อคนซีเรียหรือไม่
อีกรูปแบบหนึ่งคือความพยายามแบ่งแยกดินแดน
ตัวอย่างที่เด่นชัดในตอนนี้คือรัฐบาลตุรกีกับบางประเทศกำลังสร้างเขตปลอดภัย
(safe zone) ทางตอนเหนือของซีเรีย พร้อมกับเหตุผลหลายข้อ มีคำถามว่าทำไมไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลอัสซาดเข้าดูแล
รัฐบาลตุรกียังเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตอธิปไตยของซีเรียหรือไม่
จนถึงวันนี้การแบ่งแยกดินแดนซีเรียยังไม่จบ
เป็นประเด็นที่น่าจับตามองว่าซีเรียในอนาคตจะกลายเป็น “ซีเรียเหนือ” กับ “ซีเรียใต้”
หรือไม่ หรือจะแบ่งออกมากกว่านั้นเป็น 3-4 ส่วน นี่คืออีกสถานการณ์ที่รัฐบาลซีเรีย
คนซีเรียควบคุมไม่ได้ อนาคตของประเทศซีเรียจึงไม่อยู่ในมือของคนซีเรียอีกต่อไป
ผลจากวันเริ่มจนบัดนี้ :
นับจากเริ่มสงครามกลางเมืองมีผู้เสียชีวิตกว่า
511,000 รายแล้ว (ข้อมูลมีนาคม 2018) คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน
เสียชีวิตจากหลายสาเหตุทั้งจากทหารอัสซาด ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล
ผู้ก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ การโจมตีจากฝ่ายสหรัฐ รัสเซีย ตุรกี
กองกำลังที่อิหร่านสนับสนุน และอื่นๆ
ที่ควรตระหนักการเสียชีวิตไม่ได้เกิดจากการปะทะระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านเท่านั้น
(ไม่ใช่การสู้กันของคนซีเรียด้วยกันเท่านั้น) การปล้นสะดม ทำร้ายร่างกาย ข่มขืน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตลอดเวลาจากหลายกลุ่ม
คนนับหมื่นหายตัวลึกลับไม่ทราบชะตากรรม
รัฐบาลอัสซาด
รัฐบาลสหรัฐ ฯลฯ ยอมรับว่ามีส่วนทำให้พลเรือนบาดเจ็บล้มตาย แต่ยังคงทำสงครามต่อไป
นับจากเริ่มสงครามกลางเมืองชาวซีเรีย
5.6 ล้านคนอพยพลี้ภัยออกนอกประเทศ (ข้อมูลเมษายน 2018) และอีก 6.6 ล้านที่ถูกบีบบังคับให้อพยพจากที่หนึ่งไปยังอีกที่โดยยังคงอยู่ในประเทศ
(IDPs) ชีวิตในค่ายผู้อพยพย่อมไม่เหมือนอยู่บ้านตัวเอง มีแต่ความขัดสน
ไร้อนาคต ไม่อาจตอบว่าชีวิตในอนาคตจะเป็นอย่างไร พวกที่อยู่นอกค่ายฯ
จะยิ่งย่ำแย่กว่านั้น หลายคนดิ้นรนทำทุกอย่างเพื่อให้อยู่รอดต่อไป
สงครามกลางเมือง 8
ปีการรบพุ่งจากหลายกลุ่มหลายระลอก ทำให้หลายเมืองกลายเป็นซากปรักหักพัง แม้รัฐบาลอัสซาดได้พื้นที่กลับมาส่วนหนึ่งแต่ต้องบูรณะใหม่หมด
ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาอีกกี่สิบปี ใช้งบประมาณอีกเท่าใด ประเทศสูญเสียโอกาสมากเพียงไร
สงครามที่ไม่มีวันรู้จบ :
ตามประวัติศาสตร์การทำลายข้าศึก
มีทั้งการยึดดินแดนและการเผาเมือง กรณีซีเรียมีทั้ง 2
ลักษณะคือทำลายประเทศให้ยับเยินพร้อมกับยึดครองพื้นที่บางส่วน การที่รัฐบาลสหรัฐ
ชาติตะวันตกบางประเทศและสันนิบาตอาหรับตั้งเป้าต้องล้มระบอบอัสซาด อาจทำให้ซีเรียต้องอยู่ในสงครามที่ไม่มีวันรู้จบ
(หรือต้องกินเวลาอีกหลายปี)
จนถึงวันนี้ประเทศซีเรียเป็นศูนย์รวมของกองกำลังหลายชาติ
เช่น สหรัฐ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย อิหร่าน และกองกำลังติดอาวุธอีกหลายสัญชาติ
ต่างมีเป้าหมายของตนเอง บ้างรบกัน บ้างเป็นพวกเดียวกัน
สถานการณ์ล่าสุดคือการเผชิญหน้าระหว่างการโจมตีทางอากาศจากอิสราเอลต่อกองกำลังที่รัฐบาลอิหร่านสนับสนุนในซีเรีย
ฝ่ายอิหร่านให้เหตุผลว่าเข้ามาช่วยรัฐบาลซีเรียปราบปรามผู้ก่อการร้าย ในขณะที่อิสราเอลเห็นว่าการเข้ามาของอิหร่านเป็นภัยคุกคามต่อตน
เป็นแนวรบใหม่ล่าสุดที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ (การรบของกลุ่มเก่าอื่นๆ
ยังคงอยู่แต่เบาบางลง)
ความคืบหน้าล่าสุดอีกเรื่องเพิ่งเกิดเมื่อต้นเมษาที่ผ่านมา
รัฐบาลทรัมป์ประกาศให้กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (Islamic
Revolutionary Guards Corps) เป็นองค์กรก่อการร้าย ที่ผ่านมาสหรัฐถือว่าอิหร่านเป็นรัฐอุปถัมภ์ก่อการร้าย
น่าจะติดตามว่าจะมีผลต่อกองกำลังที่อิหร่านสนับสนุนในซีเรียหรือไม่
สรุป ทบทวนย้อนหลังตั้งแต่เริ่ม :
กลุ่มการเมืองบางกลุ่มสร้างวาทกรรมความเกลียดชังแก่ประชาชนให้ทำลายฝ่ายตรงข้าม
ให้เหตุผลว่าต้องสู้จึงจะชนะ แต่เรื่องราวของบ้านเมืองซับซ้อน
ยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยิ่งซับซ้อน กรณีซีเรียเป็นอุทาหรณ์ว่าเมื่อบ้านเมืองลุกเป็นไฟ
ไร้ขื่อแป เมื่อนั้นไม่มีใครควบคุมได้
พวกที่ต่อต้านรัฐบาลอัสซาดคงไม่คิดว่าสถานการณ์จะกลายเป็นเช่นนี้
คนเหล่านี้ส่วนหนึ่งอาจตายไปแล้ว อีกส่วนอาจกลายเป็นผู้อพยพในต่างแดน ฯลฯ รัฐบาลอัสซาดยังอยู่แต่ประเทศเปลี่ยนไปไม่มีวันเหมือนเดิมอีกแล้ว
8
ปีหลังเริ่มสงครามกลางเมือง อนาคตของประเทศซีเรียยังไม่รู้ว่าจะสงบเมื่อใด
จะลงเอยแบบไหน เช่นเดียวกับอนาคตของคนซีเรียนับสิบล้านคน
ต้นเหตุจากความไม่พอใจรัฐบาลที่บานปลาย
14 เมษายน
2019
ชาญชัย
คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน
คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่
23 ฉบับที่ 8190 วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน พ.ศ.2562)
-------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
กองทัพตุรกีในดินแดนซีเรีย
รัฐบาลตุรกีส่งกองทัพเข้าซีเรีย
อ้างเหตุผลเพื่อปราบปราม IS ป้องปรามภัยคุกคามจากเคิร์ดซีเรีย
ความจริงที่ต้องเข้าใจคือปฏิบัติการครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากขั้วสหรัฐ
ได้ความเห็นชอบจากรัฐบาลรัสเซีย ผลลัพธ์ที่ได้จึงจำกัด
เป็นหลักฐานอีกชิ้นชี้ว่าอนาคตของซีเรียไม่เป็นของคนซีเรียอีกต่อไป
ประเทศนี้กลายเป็นสมรภูมิ ดินแดนที่หลายประเทศเข้ากอบโกยผลประโยชน์
โดยอ้างปราบปรามผู้ก่อการร้าย สนับสนุนฝ่ายต่อต้านหรือไม่ก็สนับสนุนรัฐบาลซีเรีย
นี่คือพัฒนาการล่าสุดจากความวุ่นวายภายในของประเทศนี้
สงครามกลางเมืองซีเรีย เกมสงครามของมหาอำนาจ
ความขัดแย้งซีเรียได้ดำเนินต่อเนื่องกว่า 5
ปีครึ่งแล้ว สถานการณ์ได้พัฒนาเปลี่ยนแปลง เริ่มจากการชุมนุมประท้วงรัฐบาลอย่างสงบ
ตามด้วยต่างชาติเข้าแทรก การปรากฏตัวของผู้ก่อการร้าย
กองกำลังมุสลิมต่างชาติกว่าร้อยประเทศ การเผชิญหน้าระหว่าง
2 ขั้ว 2 มหาอำนาจชัดเจนมากขึ้น บัดนี้ความเป็นไปของสมรภูมิกับอนาคตซีเรียจึงขึ้นกับการตัดสินใจบนผลประโยชน์ของ
2 ฝ่าย 2 มหาอำนาจ เป็นความขัดแย้งที่จะยืดเยื้อยาวนาน เป็นเรื่องที่ควรตระหนัก
บรรณานุกรม :1. Contradicting Trump, Bolton says no withdrawal from Syria until ISIS contained, Kurds’ safety guaranteed. (2019, January 6). The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/world/national-security/bolton-promises-no-troop-withdrawal-from-syria-until-isis-contained-kurds-safety-guaranteed/2019/01/06/ee219bba-11c5-11e9-b6ad-9cfd62dbb0a8_story.html?utm_term=.73f39285219c
2. Erlich, Reese. (2014). Inside Syria: The Backstory of
Their Civil War and What the World Can Expect. New York: Prometheus Books.
3. Haddad, Bassam., Wind, Ella. (2014). The Persian Gulf
Monarchies and the Arab Spring. In Beyond the Arab Spring: The Evolving
Ruling Bargain in the Middle East. (pp.379-436). New York: Oxford
University Press.
4. Hinnebusch, Raymond. (2001). Syria: Revolution From
Above. New York: Routledge.
5. Lister, Charles R. (2015). The Syrian Jihad: Al-Qaeda,
the Islamic State and the Evolution of an Insurgency. New York: Oxford
University Press.
6. Human Rights Watch. (2019). World Report 2019: Syria events
of 2018. Retrieved from https://www.hrw.org/world-report/2019/country-chapters/syria
7. Masters, Jonathan. (2013, September 11). Syria's Crisis
and the Global Response. Council on Foreign Relations. Retrieved
from http://www.cfr.org/syria/syrias-crisis-global-response/p28402
8. Safe zone under Turkey's control more sustainable for
security, peace. (2019, January 20). Daily Sabah. Retrieved from
https://www.dailysabah.com/war-on-terror/2019/01/21/safe-zone-under-turkeys-control-more-sustainable-for-security-peace
9. Tripp, Charles. (2013). The
Power and the People: Paths of Resistance in the Middle East. New York: Cambridge
University Press.
10. UNHCR. (2019). Syria Emergency. Retrieved from https://www.unhcr.org/en-lk/syria-emergency.html
11. US declares Iran’s guard force a ‘terrorist
organization’. (2019, April 8). AP. Retrieved from https://www.apnews.com/f1c86b8dc63d4277a0033b11a3bbec0c
12. U.S. Department of State. (2011, November 9). U.S
Policy on Syria. Retrieved from http://www.state.gov/p/nea/rls/rm/176948.htm
-----------------------------