ปริศนาประชุมทรัมป์กับคิมครั้งที่ 2 ข้อตกลงที่ไม่ทำพิธีลงนาม
การลุกออกจากห้องประชุมของประธานาธิบดีทรัมป์มีปริศนาว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ใครพูดจริงพูดเท็จ และการปราศจากพิธีลงนามไม่ได้หมายความว่าไม่มีข้อตกลงลับ
บรรณานุกรม :
8 เดือนหลังการประชุมสุดยอดรอบแรก ประธานาธิบดีโดนัลด์
ทรัมป์กับคิม จ็องอึน (Kim Jong-un) ผู้นำเกาหลีเหนือมาประชุดสุดยอดอีกครั้งที่เวียดนาม
ช่วง 1- 2 สัปดาห์ก่อนประชุมรอบนี้เป็นภาพความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับผู้นำคิม
มีทีท่าว่าน่าจะได้ข้อตกลงบางอย่าง
เงื่อนไขก่อนเจรจารอบ
2 :
ก่อนวันประชุมประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่าไม่ต้องรีบด่วนให้เกาหลีเหนือปลอดนิวเคลียร์
ขอเพียงไม่ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธอีกก็พอ การทำลายนิวเคลียร์จะต้องเป็นขั้นเป็นตอนอย่างมีนัยสำคัญ
(meaningful) หากต้องการให้สหรัฐคลายมาตรการคว่ำบาตร
และไม่คิดว่าจะเป็นการประชุมสุดยอดครั้งสุดท้าย
จะเห็นว่ารัฐบาลทรัมป์ไม่ได้ตั้งเป้าว่าเกาหลีเหนือต้องทำลายโครงการทั้งหมด
พร้อมจะคลายมาตรการคว่ำบาตรหากตกลงกันได้ ดำเนินการแบบค่อยไปเป็นค่อยเป็นขั้นเป็นตอน
ข่าวที่เผยแพร่ทางสื่อ เป้าหมายการประชุมสุดยอดรอบ 2 ของเกาหลีเหนือคือต้องการให้รัฐบาลสหรัฐคลายการคว่ำบาตร
ควบคู่กับการทำลายโครงการนิวเคลียร์เกาหลีเหนืออย่างเป็นขั้นตอน ไม่ยอมรับข้อเสนอให้ปลอดนิวเคลียร์ก่อนจึงจะเลิกคว่ำบาตร
และขู่ว่าอาจเดินหน้าสร้างนิวเคลียร์ต่อหากไม่คลายการคว่ำบาตร
ท่าทีของเกาหลีเหนือชัดเจนตั้งแต่การประชุมสุดยอดรอบแรกที่สิงคโปร์
สิ่งที่รัฐบาลเกาหลีเหนือต้องการคือยุติมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดหรือคลายมาตรการบางส่วน
เพื่อรับความช่วยเหลือจากมิตรประเทศ เดินหน้าโครงการเศรษฐกิจกับเกาหลีใต้และจีน
ท่าทีของรัฐบาลเกาหลีเหนือสอดคล้องกับเกาหลีใต้และจีน
ใครพูดจริงพูดเท็จ
:
วันที่ 2 เมื่อเข้าสู่วาระเจรจาอย่างเป็นทางการ
ปรากฏว่าประธานาธิบดีทรัมป์เดินออกจากห้องประชุมตั้งแต่ช่วงเช้า เผยว่าเหตุที่การประชุมล้มเหลวเพราะผู้นำคิมต้องการให้ยุติมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดโดยที่ยังไม่ต้องปลอดนิวเคลียร์
ตนจึงขอยุติการประชุม ด้านผู้นำคิมกล่าวว่ามีปัญหาเรื่องเงื่อนไข คำนิยาม
ในการแถลงข่าวหลังประชุมสุดยอด ไมค์ พอมเพโอ (Mike
Pompeo) รมต.ต่างประเทศสหรัฐชี้แจงว่าจำต้องเลือกทางที่ก่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
เกาหลีเหนือไม่ยอมรับเงื่อนไขบางอย่าง อย่างไรก็ตามมีความคืบหน้าบางประการจากการประชุมสุดยอดรอบนี้
ด้านประธานาธิบดีทรัมป์อธิบายเสริมว่าเกาหลีเหนือต้องการให้ยุติมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมด
แลกกับที่เกาหลีเหนือทำลายนิวเคลียร์ส่วนใหญ่ แต่สหรัฐไม่อาจรับเงื่อนไขยกเลิกการคว่ำบาตรทั้งหมด
และแม้จะไม่ได้ลงนามข้อตกลงใดๆ ผู้นำคิมกล่าวว่าจะไม่ทดลองทดสอบขีปนาวุธหรือสิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์
ฝ่ายเกาหลีเหนือเปิดแถลงข่าวหลังประชุมเช่นกัน
รี ยองโฮ (Ri Yong-ho) รมต.กระทรวงต่างประเทศกล่าวว่าข้อเสนอของเกาหลีเหนือคือรัฐบาลสหรัฐระงับการคว่ำบาตรบางส่วนที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
แลกกับการทำลายโครงการนิวเคลียร์ รวมทั้งศูนย์นิวเคลียร์ที่ยองบยอน
(Yongbyon) แต่รัฐบาลทรัมป์ไม่ยอมรับข้อเสนอนี้ และมีเงื่อนไขอีกข้อที่เกาหลีเหนือรับไม่ได้
นอกจากนี้
เกาหลีเหนือยื่นเงื่อนไขลงนามข้อตกลงจะไม่ทดสอบนิวเคลียร์กับขีปนาวุธพิสัยไกลแลกกับระงับการคว่ำบาตรบางส่วนแต่ทรัมป์ปฏิเสธการลงนามเช่นกัน
จะเห็นว่าคำพูดของรมต.ต่างประเทศเกาหลีเหนือขัดแย้งกับประธานาธิบดีทรัมป์
ตรงที่ทรัมป์บอกว่าเกาหลีเหนือต้องการให้ยุติมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมด เป็นปริศนาว่าใครพูดจริงพูดเท็จ
ลำพังข้อนี้ก็ยากจะสรุปว่าทำไมการเจรจาจึงล้มเหลว
(ถ้าจะสรุปเช่นนั้น)
ถ้ายึดตามคำพูดของทรัมป์ การที่เกาหลีเหนือขอให้ยุติมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดเป็นข้อเรียกร้องที่สุดโต่ง
ไม่น่าเป็นไปได้อยู่แล้ว สวนทางกับท่าทีก่อนหน้านี้ที่ร้องขอเพียงคลายการคว่ำบาตรเท่านั้น
ปริศนา
ทำไมต้องจัดประชุมรอบ 2 :
หลายสัปดาห์ก่อนการประชุมรอบ 2
มีการหารือระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสทั้ง 2 ฝ่าย หากไม่มีอะไรที่น่าจะตกลงกันได้
ย่อมไม่มีเหตุผลที่ผู้นำ 2 ประเทศเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล เสียเวลา
เสียงบประมาณมากมาย
ความเข้าใจที่พึงมีคือ การประชุมระดับผู้นำประเทศในปัจจุบัน
หลายครั้งจัดขึ้นเพื่อให้เกิดพิธีการเท่านั้น นั่นคือเพื่อกล่าวสุนทรพจน์
ลงนามข้อตกลงและถ่ายรูป เหล่านี้ใช้เวลาไม่นาน เพราะการเจรจาต่อรอง
รายละเอียดต่างๆ กระทำในระดับเจ้าหน้าที่ และไม่ใช่หน้าที่ของผู้นำประเทศที่ต้องเจรจาเนื้อหารายละเอียดด้วย
เพราะผู้นำประเทศต้องดูแลทั้งประเทศ ไม่มีเวลามากพอ อีกทั้งเกี่ยวข้องกับประเด็นทางเทคนิค
เรื่องยิบย่อยทางกฎหมายที่ผู้นำประเทศไม่เชี่ยวชาญเท่ากับเจ้าหน้าที่ผู้รับชอบเรื่องดังกล่าว
จึงเป็นที่มาของปริศนาว่า หากไม่มีอะไรที่น่าจะตกลงกันได้
(ที่ได้ตกลงแล้วในระดับเจ้าหน้าที่) ทำไมทรัมป์กับคิมต้องเดินทางมาเวียดนาม เพื่อเข้าประชุม
2 ชั่วโมงแล้วต่างคนต่างกลับบ้าน ถ้าต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล
หอบหิ้วเจ้าหน้าที่ หน่วยรักษาความปลอดภัยนับร้อย เพียงเพื่อประชุมสั้นๆ
แล้วไม่ได้อะไรกลับไป เช่นนี้ควรเรียกว่าเป็นการบริหารที่ผิดพลาดใช่หรือไม่
เป็นเรื่องตลกถ้าประธานาธิบดีทรัมป์กับผู้นำคิมต้องเดินทางไกล
เตรียมการไว้มากมาย
เพื่อที่คนหนึ่งจะพูดว่าต้องยุติมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดจึงต้องยอมทำลายนิวเคลียร์บางส่วน
เป็นเหตุให้ทรัมป์เดินออกจากห้องประชุม
คำถามที่ตามมาคือ ถ้าไม่มาเพื่อลงนามข้อตกลงแล้วท่านมาทำไม
มีอะไรซ่อนอยู่ที่สาธารณะชนไม่ทราบ
ข้อตกลงที่ไม่ทำพิธีลงนาม
:
เมื่อวิเคราะห์ลงรายละเอียดพบว่า แม้การประชุมจะปราศจากพิธีลงนามข้อตกลงใดๆ
เกิดภาพที่หลายฝ่ายสรุปว่าการประชุมล้มเหลว แต่มีประเด็นที่น่าสนใจคือ ในการแถลงข่าวหลังประชุม
ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่าผู้นำคิมจะไม่ทดลองทดสอบขีปนาวุธหรือสิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์
ข้อนี้นับเป็นความสำเร็จของทรัมป์แล้ว เพราะตรงกับเป้าหมายเฉพาะหน้าของทรัมป์
ดังที่ทรัมป์กล่าวไม่กี่วันก่อนการประชุมว่าไม่ต้องรีบด่วนให้เกาหลีเหนือปลอดนิวเคลียร์
ขอเพียงไม่ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธอีกก็พอ
เมื่อมองย้อนตั้งแต่การประชุมรอบแรกเมื่อ 8
เดือนก่อน ประธานาธิบดีทรัมป์เอ่ยถึงความสำเร็จของการประชุมรอบแรกว่า ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาเกาหลีเหนือไม่ได้ทดสอบนิวเคลียร์หรือขีปนาวุธเลย
ขอเพียงไม่ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธอีกก็พอ
สิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการมีเพียงเท่านี้
เป็นไปได้หรือไม่ว่า การไม่ทดลองขีปนาวุธหรือสิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์
คือ “ข้อตกลงที่ไม่ได้ทำพิธีลงนาม” พูดให้ชัดคือข้อตกลงลับนั่นเอง
ถามว่าเกาหลีเหนือได้อะไรตอบแทน
ตอบได้ว่ารัฐบาลทรัมป์จะไม่แสดงท่าทีคุกคาม
ไม่ส่งเครื่องบินรบบินโฉบเฉี่ยวใกล้น่านฟ้าเกาหลีเหนือ ส่วนผลประโยชน์อื่นๆ เป็นเรื่องปิดลับ
ถ้าวิเคราะห์ตามแนวทางนี้ การที่ผู้นำคิมต้องเดินทางด้วยรถไฟกว่า 9,000 กิโลเมตรน่าจะคุ้มค่า
เป็นไปได้ว่าการประชุมสุดยอดรอบต่อไปอาจเกิดขึ้นก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปี
2020 ให้เห็นว่านี่คือผู้นำอเมริกาประเทศที่ยิ่งใหญ่
เป็นประธานาธิบดีผู้นำสันติภาพแก่คนอเมริกัน
ควรคู่ที่จะเป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัยโดยไม่ต้องสงสัย
3 มีนาคม 2019
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 8148 วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2562)
------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
2 เกาหลีมีแนวคิดรวมชาติมานานแล้ว
ถ้ามองจากมุมเกาหลีใต้จะเป็นการยุติความทุกข์ยาก การตกอยู่ในความหวาดหวั่นของภัยสงครามที่มหาอำนาจวางไว้
เป็นความพยายามเขียนประวัติศาสตร์บทใหม่
หากเกาหลีเหนือยกเลิกโครงการนิวเคลียร์กับขีปนาวุธ
สหรัฐพร้อมเลิกคุกคามเกาหลีเหนือ เป็นเงื่อนไขตรงไปตรงมา แต่ความเป็นไปของโลกไม่ได้ตรงไปตรงมาอย่างที่เห็น
1. Kim says he is ready to meet with
Trump, warns of seeking 'new way' if U.S. pressure continues. (2019, January
1). Yonhap. Retrieved from https://en.yna.co.kr/view/AEN20181231125254325?section=nk/nk
2. N. Korea offered to halt nuclear,
long-range rocket testing for partial relief of sanctions - FM. (2019, February
28). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/452693-halt-nuclear-sanctions-korea/
3. N. Korea renews demand for
sanctions relief before 2nd summit with U.S. (2019, January 30). Yonhap.
Retrieved from https://en.yna.co.kr/view/AEN20190130008200325?section=nk/nk
4. ‘No agreement was reached’
between Trump, Kim at Vietnam summit, White House says. (2019, February 28). Daily
Sabah. Retrieved from
https://www.dailysabah.com/asia/2019/02/28/no-agreement-was-reached-between-trump-kim-at-vietnam-summit-white-house-says
5. Transcript: President Donald
Trump's press conference in Vietnam. (2019, February 28). Politico.
Retrieved from https://www.politico.com/story/2019/02/28/transcript-trump-press-conference-vietnam-1195529
6. Trump calls for 'meaningful'
steps for N.K. sanctions relief. (2019, February 21). Yonhap. Retrieved
from https://en.yna.co.kr/view/AEN20190221000352315?section=national/diplomacy
7. Trump says
he just wants no testing of N.K. nukes, missiles. (2019,
February 16). Yonhap. Retrieved from
https://en.yna.co.kr/view/AEN20190216000252315?section=nk/nk
-----------------------------