มหันตภัยคุกคามจากจีนในมุมมองของ โอริตะ คูนิโอะ
โอริตะ คูนิโอะ แสดงความคิดเห็นว่าภายในปี 2025
จีนจะก่อสงครามใหญ่ เพื่อยึดครองไต้หวัน ควบคุมทะเลจีนใต้ ข้อวิพากษ์คืออย่างไรเป็นประโยชน์ต่อจีนมากกว่าระหว่างสงครามกับสันติภาพ
1. China plans to take Taiwan by 2025, Okinawa by 2045: Fmr Japan Air Force Commander. (2019, January 15). Taiwan News. Retrieved from https://www.taiwannews.com.tw/en/news/3617624
เป็นคำถามมานานแล้วว่าจีนที่เติบโตทางเศรษฐกิจ
ขยายอิทธิพลทุกด้านเป็นประโยชน์หรือเป็นภัยต่อนานาชาติ ในขณะที่รัฐบาลจีนยืนยันเสียงเดียวว่าจีนก้าวขึ้นอย่างสันติ
กลางเดือนมกราคม
2019 โอริตะ คูนิโอะ (Orita Kunio)
อดีตผู้บัญชาการกองทัพอากาศญี่ปุ่น ฝ่ายสนับสนุนทางอากาศ (Air Support
Commander) ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ว่าจีนกำลังเป็นภัยคุกคามร้ายแรง
เพราะมียุทธศาสตร์แผ่ขยายอำนาจ ต้องการเป็นเจ้าในภูมิภาคเพียงผู้เดียว คาดว่าจีนจะผนวกไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศระหว่างช่วงปี
2020-2025
จากนั้นจะเข้าควบคุมทะเลจีนใต้ให้ได้ภายในปี
2040 ถ้าจีนสามารถกัดสหรัฐออกจากทะเลจีนใต้
จีนจะควบคุมเส้นทางเดินเรือของเอเชียตะวันออกทั้งหมด ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเคยกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า
“น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และอาหารจากต่างชาติเป็นประโยชน์สำคัญยิ่งของญี่ปุ่น ส่งผลต่อความปลอดภัยและการดำรงอยู่ของญี่ปุ่นอย่างร้ายแรงถ้าถูกตัด”
โอริตะอธิบายว่าจีนจะเริ่มด้วยการยึดหมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์
(Scarborough Shoal) ตั้งฐานที่มั่นที่นั่น
พร้อมกับที่กองเรือจีนจะเข้าควบคุมติดตามเรือทุกลำที่แล่นเข้ามาในทะเลจีนใต้ ถ้าไต้หวันโดนยึด
ฟิลิปปินส์จะถูกกดดันให้ยอมรับความเป็นเจ้าของจีน
ผลคือเรือต่างชาติจะต้องเปลี่ยนเส้นทาง ไปใช้เส้นทางอ้อมตอนใต้ของฟิลิปปินส์
จุดตัดสินคือหากวันใดจีนสามารถยึดครองหมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์เท่ากับเป็นฝ่ายได้ชัยในเกมนี้
เพราะเมื่อถึงตอนนั้นจะสามารถโจมตีทุกประเทศในภูมิภาค
โจมตีฮาวายและย่านชายฝั่งตะวันตกของอเมริกาด้วยนิวเคลียร์
จากนั้นจีนจะเข้ายึดครองหมู่เกาะเซนกากุ/เตียวหยู
(Senkaku/Diaoyu Islands) และเกาะโอกินาวา (Okinawa) ภายในปี 2045
ผู้ควบคุมทะเลจีนใต้คือผู้เป็นเจ้าในภูมิภาค :
โอริตะให้ภาพว่าผู้ควบคุมทะเลจีนใต้คือผู้เป็นเจ้าในภูมิภาค
ถ้าทำได้จริงเป็นไปได้ว่าหลายประเทศในภูมิภาคจะหันเข้าหาจีนมากขึ้นด้วยเหตุผลหวังให้เรือของตนอาศัยเส้นทางผ่านทะเลจีนใต้
และยอมรับความเป็นเจ้าของจีนในย่านนี้
ในอีกด้านจะหมายถึงสหรัฐกับญี่ปุ่นสูญเสียพันธมิตรย่านนี้
หลายประเทศจะตีตัวออกห่าง เป็นประเด็นที่ญี่ปุ่นกังวล
ผลกระทบในทางกว้างหากจีนใช้กำลังยึดไต้หวัน :
ผลโพลจาก Taiwanese
Public Opinion Foundation (TPOF) นำเสนอเมื่อ 22 มกราคม 2019 ระบุว่าคนไต้หวันร้อยละ
25 ยอมรับแนวคิด “1 ประเทศ 2 ระบบ” ร้อยละ
68 ไม่ยอมรับ “หลักการจีนเดียว” (one-China
principle) ที่น่าสนใจคือร้อยละ 47.5 เห็นว่าในอนาคตไต้หวันควรประกาศเอกราช ผู้เห็นด้วยกับแนวทางประกาศเอกราชเพิ่มขึ้นถึง
12 เปอร์เซ็นต์ใน 1 เดือน หลังประธานาธิบดีสี จิ้นผิงพูดทำนองข่มขู่ไต้หวัน
พร้อมใช้กำลังเข้ายึดครองไต้หวันถ้าจำเป็น
อันที่จริงแล้วรัฐบาลจีนยังไม่ได้คาดคั้น
ข้อสำคัญคือไต้หวันต้องไม่ประกาศเอกราชเป็นรัฐอธิปไตย
หากจีนใช้กำลังเข้ายึดไต้หวัน
ต้องพิจารณาว่าทำเพราะรัฐบาลไต้หวันประกาศเอกราชหรือไม่ หากรัฐบาลไต้หวันไม่ได้ทำเช่นนั้นและจีนเข้ายึดดื้อๆ
เช่นนี้ย่อมตีถูกตีความว่ารัฐบาลจีนทิ้งแนวทางการก้าวขึ้นอย่างสันติที่ประกาศเรื่อยมา
จะเป็นแรงผลักดันหันไปอิงแอบกับสหรัฐฯ มากขึ้น สมดุลอำนาจภูมิภาคจะเปลี่ยนไป
เป็นประโยชน์ต่อขั้วสหรัฐฯ มากขึ้น
จะเกิดสงครามใหญ่หรือไม่ :
โอริตะเอ่ยถึงสงครามใหญ่จะเกิดขึ้นครั้งแรกในภายในปี 2025
ด้วยเหตุจีนยึดไต้หวัน
ปี 1954 รัฐบาลสหรัฐทำสนธิสัญญาป้องกันประเทศ
(Mutual Defense Treaty) กับไต้หวัน กองทัพเรือที่ 7 เฝ้าระวังช่องแคบไต้หวัน ป้องกันมิให้จีนส่งกองทัพขึ้นบกไต้หวัน ให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจำนวนมาก
ความมั่นคงทหารทางของไต้หวันอยู่ในมือของกองทัพสหรัฐโดยแท้
แต่เมื่อสหรัฐกับจีนร่วมมือกันต้านสหภาพโซเวียตในทศวรรษ
1970 รัฐบาลนิกสันจะปรับเปลี่ยนนโยบายในปี 1972 ยอมรับว่า
“ไม่ว่าจะฝั่งใดของช่องแคบไต้หวันเป็นจีนหนึ่งเดียว ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน
สหรัฐจะไม่ท้าทายท่าทีดังกล่าว” เป็นการยอมรับนโยบายจีนเดียว (one
China policy) ของจีน
เป็นต้นเหตุให้รัฐบาลสหรัฐตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐจีน หรือนิยมเรียกว่าประเทศไต้หวันตั้งแต่ปี 1979 ในสมัยประธานาธิบดีจิมมี
คาร์เตอร์ (Jimmy Carter)
ดังนั้น
หากไต้หวันประกาศเอกราชฝ่ายสหรัฐอาจไม่ให้การปกป้องตามสนธิสัญญาป้องกันประเทศที่ทำไว้ก็เป็นได้
คำถามสุดท้ายคือรัฐบาลสหรัฐพร้อมสูญเสียผลประโยชน์มหาศาลเพื่อเกาะไต้หวัน
เพื่อชาวไต้หวัน 20 กว่าล้านคนหรือ
การบรรยายฉากทัศน์สงครามเป็นกรณีเลวร้ายที่สุดและมีโอกาสเป็นไปได้น้อยที่สุดเช่นกัน
ที่เป็นไปได้มากกว่าคือก่อนที่รัฐบาลไต้หวันจะทำการยั่วยุใดๆ ไต้หวันจะหารือสหรัฐก่อน
ดังนั้น จีนจะไม่ส่งกองทัพยึดไต้หวัน เช่นเดียวกับที่ไต้หวันจะไม่ประกาศเอกราช
เพราะความสงบสันติคือสภาพที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์มากที่สุด สุ่มเสี่ยงน้อยที่สุด
คำพยากรณ์ของโอริตะจะเป็นจริงหรือไม่
กาลเวลาจะเป็นผู้พิสูจน์เอง
อาจารย์โอริตะยังเอ่ยถึงจีนเข้ายึดโอกินาวาภายในปี
2045 เกาะโอกินาวาเป็นของญี่ปุ่นโดยชอบ เป็นที่ตั้งฐานทัพอเมริกา หากจีนรุกรานเกาะนี้ย่อมเกิดสงครามใหญ่ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นและสหรัฐจึงเป็นคำถามว่ารัฐบาลจีนต้องการเปิดฉากทำสงครามนิวเคลียร์กับสหรัฐหรือ
การเอ่ยถึงโอกินาวาน่าจะเป็นปฏิบัติการจิตวิทยาเพื่อให้คนญี่ปุ่นตื่นตัว
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นและคนญี่ปุ่นบนเกาะต่อต้านทหารอเมริกันแบบถวายหัว
การเอ่ยถึงโอกินาวาน่าจะเป็นการกระตุ้นความรักชาติของคนญี่ปุ่นยุคนี้
โลกที่ต้องเลือกข้าง? :
ประเด็นสุดท้ายที่โอริตะทิ้งท้ายคือขอให้นานาประเทศเลือกข้าง
ตีตราว่าฝ่ายสหรัฐคือขั้วโลกเสรีตามคตินิยมสมัยสงครามเย็น คำถามคือแนวคิดนี้ยังใช้ได้มากน้อยเพียงไร
เพราะความเข้าใจการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบันกระจายตัวในหมู่ประชาชนมากขึ้น
ที่สำคัญกว่านั้นคือรัฐบาลในหมู่ประเทศอาเซียนจะต่อต้านจีนด้วยเหตุผลเรื่องโลกเสรีนิยมอีกหรืออีกทั้งได้ผลประโยชน์การค้ากับจีนซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่จับต้องได้เป็นที่ต้องการของทุกรัฐบาล
ประเด็นนี้อาเซียนตัดสินใจมานานแล้วว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ของจีน
โดยรวมแล้ว
โอริตะ คูนิโอะ มองภาพจีนที่ขยายอิทธิพลทางทหารออกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะทะเลจีนใต้กับทะเลจีนตะวันออก
แต่การพยากรณ์ว่าจะใช้กำลังเข้ายึดไต้หวัน เกาะโอกินาวา
ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ารัฐบาลจีนจะใช้วิธีที่สุ่มเสี่ยงเช่นนั้นหรือ
คำถามที่ควรระลึกเสมอคืออะไรคือวัตถุประสงค์ของการขยายอิทธิพลจีน
ไต้หวันที่อยู่ดีกินดี สงบรุ่งเรืองเป็นประโยชน์ต่อจีนมากกว่าหรือไม่
ทำนองเดียวกับความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น
จะมีประโยชน์อันใดหากเกิดสงครามนิวเคลียร์เพราะจีนใช้กำลังทหารรุกรานเกาะโอกินาวา
อาจตีความว่าการคาดการสถานการณ์อย่างรุนแรงเลวร้ายเพื่อเรียกร้องให้นานาชาติถอยห่างจากจีน
กระชับความสัมพันธ์กับฝ่ายสหรัฐและญี่ปุ่นแทน เป็นไปได้ว่าประเทศในย่านเอเชียแปซิฟิกกำลังครุ่นคิดอย่างหนักว่าควรปรับสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดฝ่ายสหรัฐมากขึ้นหากจีนไม่ได้
“ก้าวขึ้นมาอย่างสันติ”
แต่ในมุมมองกลับกัน
หากหลีกเลี่ยงการก้าวขึ้นมาของจีนไม่ได้ และเพื่อต่อรองกับความเป็นอภิมหาอำนาจของสหรัฐ
การให้จีนก้าวขึ้นมาอาจเป็นเรื่องจำเป็นเช่นกัน
เป็นยุทธศาสตร์ของหมู่ประเทศที่เล็กกว่าที่พยายามสร้างสมดุลอำนาจในภูมิภาค
กรณีญี่ปุ่นคือตัวอย่างที่เอ่ยถึง
แท้จริงแล้วทุกประเทศในย่านนี้มีสภาพเป็นเช่นญี่ปุ่นไม่มากก็น้อย
ต่างต้องอาศัยการขนส่งทางน้ำนำเข้า-ส่งออกสินค้าจำนวนมาก
ดังที่รับรู้กันว่าผู้ควบคุมทะเลจีนใต้คือผู้ควบคุมภูมิภาค
เพียงแค่สามารถควบคุมเส้นทางเดินเรือก็ได้ชัยชนะแล้ว
24 มีนาคม
2019
ชาญชัย
คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก”
ไทยโพสต์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 8169 วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562)
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
สหรัฐชอบธรรมที่จะยกเลิกนโยบายจีนเดียว
ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์เสนอให้ทบทวนนโยบายจีนเดียว
หวังใช้เป็นเครื่องมือเจรจาแก้ปัญหาการค้าจีน ฝ่ายจีนแสดงท่าทีแข็งกร้าวชี้ว่าเกี่ยวข้องกับอธิปไตยไต้หวัน
เป็นเรื่องที่ยอมให้ไม่ได้
ถ้าพิจารณาให้ถ่องแท้รัฐบาลจีนได้ละเมิดนโยบายจีนเดียวมานานแล้ว ดังนั้น
รัฐบาลสหรัฐมีความชอบธรรมที่จะละเมิดหรือยกเลิก แต่จะได้ผลดีหรือผลเสียมากกว่า
เพราะต้องคำนึงปัจจัยไต้หวันและอื่นๆ
เป็นครั้งแรกใน 65 ปีที่เจ้าหน้าที่รัฐไต้หวันกับเจ้าหน้าที่รัฐจีนได้ประชุมหารืออย่างเป็นทางการ
หลังจาก 2 ฝ่ายได้กระชับความสัมพันธ์ในหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นถกเถียงลึกๆ
ยังเป็นเรื่องการรวมชาติ
แต่เรื่องเฉพาะหน้าที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ทั้ง
2 ฝ่ายได้ประโยชน์มาโดยตลอด และเห็นว่าควรกระชับความสัมพันธ์ให้มากขึ้นกว่านี้
แม้ว่าไต้หวันจะเป็นผู้ออกหน้าก็ตาม
บรรณานุกรม :1. China plans to take Taiwan by 2025, Okinawa by 2045: Fmr Japan Air Force Commander. (2019, January 15). Taiwan News. Retrieved from https://www.taiwannews.com.tw/en/news/3617624
2. China, Taiwan hold first direct talks since 1949 split.
(2014, February 11). The Washington Post. Retrieved from
http://www.washingtonpost.com/world/china-taiwan-hold-first-direct-talks-since-1949-split/2014/02/11/beea8a92-92f3-11e3-b3f7-f5107432ca45_story.html
3. Critics: What defines the conditions for military force? (2014,
July 1). The Japan Times.
Retrieved from
http://www.japantimes.co.jp/news/2014/07/01/national/politics-diplomacy/critics-restraints-overly-ambiguous/#.U7PEuZSSzck
4. Jakobson, Linda. (2013, February). China's Foreign Policy Dilemma. Lowy
Institute for International Policy. Retrieved from http://www.isn.ethz.ch/Digital-Library/Publications/Detail/?lng=en&id=159724
5. Jiu-Hwa Lo Upshur. (2008). Taiwan (Republic of China). In
Encyclopedia of World History. (Vol. 6., pp. 411-412). New York:
Infobase Publishing.
6. Taiwan rejects ‘one-China principle' as support for
independence rises: poll. (2019, January 22). Taiwan News. Retrieved
from https://www.taiwannews.com.tw/en/news/3622244
7. Trump draws rebukes after saying U.S. isn’t bound by One
China policy. (2016, December 12). The Washington Post. Retrieved from
https://www.washingtonpost.com/world/chinese-paper-calls-trump-as-ignorant-as-a-childafter-taiwan-comment/2016/12/12/d91fbaea-c02c-11e6-b20d-3075b273feeb_story.html
8. US report says rapidly modernizing Chinese military has
set sights on Taiwan. (2019, January 15). CNN. Retrieved from
https://edition.cnn.com/2019/01/15/politics/china-military-report/index.html
9. Zhang, Qingmin. (2011). China’s Diplomacy. Singapore:
Cengage Learning Asia.
-----------------------------