ยุทธศาสตร์เปลี่ยนภัยคุกคามเป็นโอกาสของตุรกี
รัฐบาลแอร์โดกานเลือกเผชิญหน้าภัยคุกคาม
มองเป็นโอกาสตักตวงผลประโยชน์ ไม่เกรงกลัวขัดแย้งชาติมหาอำนาจ ประเทศเพื่อนบ้าน
เป็นยุทธศาสตร์เปลี่ยนภัยคุกคามเป็นโอกาส
ตุรกีชี้ว่าตัวเองเป็นผู้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบในซีเรีย เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่จะปกป้องตัวเองเมื่อซีเรียกับอิรักกลายเป็นแหล่งชุมนุมของผู้ก่อการร้าย
ISIS และอีกสารพัดกลุ่มจากคนร้อยสัญชาติ
ผู้ก่อการร้ายนับหมื่นเดินทางเข้าซีเรียผ่านตุรกีๆ กลายเป็นแหล่งพักชั่วคราว
แหล่งเตรียมพร้อมก่อนเข้าสมรภูมิ
ผู้ก่อการร้ายจำนวนหนึ่งก่อเหตุในตุรกีด้วย
มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตไม่น้อย มีข่าวเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมตัวอยู่เนืองๆ
เมื่อสงครามกลางเมืองซีเรียกับอิรักร้อนแรง
ISIS ประกาศรัฐอิสลาม (Islamic State) ตุรกีกลายเป็นทางผ่านที่ผู้อพยพลี้ภัยนิยมใช้
เพราะเป็นเส้นทางบก สื่อสารกันได้ ผู้อพยพรุ่นก่อนๆ
ประสบความสำเร็จในการใช้เส้นทางนี้ จึงพูดปากต่อปาก เป้าหมายสุดท้ายคือยุโรป
โดยเฉพาะยุโรปตะวันตก ผู้ลี้ภัยอีกส่วนตกค้างหรืออยู่ในตุรกี
ปัจจุบันมีผู้อพยพในตุรกีราว 3 ล้านคนทั้งจากซีเรีย อิรัก อัฟกานิสถานและอื่นๆ
การเข้ามาเกี่ยวข้องของหลายประเทศในภูมิภาค
ชาติมหาอำนาจ ทำให้ซีเรียกลายเป็นสมรภูมิสำคัญ
เป็นพื้นที่แห่งการช่วงชิงของประเทศเหล่านี้
ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่รัฐบาลตุรกีไม่อาจนิ่งเฉย
จำต้องเข้าพัวพัน
ยุทธศาสตร์ใช้ภัยคุกคามให้เป็นโอกาส :
ประเด็นน่าสนใจคือแทนที่จะเป็นเพียงฝ่ายตั้งรับ
รัฐบาลตุรกีอาศัยภัยคุกคามจากสถานการณ์สร้างผลประโยชน์แก่ตน ภัยคุกคามจึงกลายเป็นโอกาส
ดังนี้
ประเด็นแรก
ภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้าย
รัฐบาลตุรกีไม่เพียงปราบปรามผู้ก่อการร้ายในประเทศเท่านั้น ยังส่งกองทัพเข้าดินแดนซีเรีย
(Operation Olive Branch) อ้างเหตุเพื่อเข้าปราบปรามผู้ก่อการร้ายที่อยู่ใกล้แนวพรมแดน
เป็นจุดเริ่มต้นที่ตุรกีสร้างเขตอิทธิพลของตนในซีเรีย
ต่อเมื่อกองกำลังเคิร์ดเริ่มขยายเขตอิทธิพล
กองทัพตุรกีเดินทัพลึกเข้าไปในซีเรียมากขึ้น (Operation Euphrates Shield) คราวนี้ใช้เหตุผลเคิร์ดเป็นภัยความมั่นคง รัฐบาลตุรกีเห็นว่า PYD หรือ Democratic Union Party ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของพวกเคิร์ดซีเรียเป็นกลุ่มก่อการร้าย
ด้วยเหตุใกล้ชิดกับกลุ่มก่อการร้ายพวกเคิร์ดในตุรกี ประธานาธิบดีแอร์โดกานกล่าวว่า
“ตุรกีมีสิทธิ์โดยสมบูรณ์ที่จะทำการรบในซีเรียและที่ต่างๆ
ที่องค์กรผู้ก่อการร้ายตั้งฐานอยู่”
ไม่เป็นการละเมิดอธิปไตยของประเทศใดเนื่องจากรัฐเหล่านั้นไม่สามารถควบคุมบูรณภาพแห่งดินแดนของตน
“เป็นการที่ตุรกีปกป้องอธิปไตยของตน”
ล่าสุดเมื่อกองกำลังเคิร์ดควบคุมพื้นที่ฝั่งตอนเหนือและตะวันออกของซีเรีย
ตุรกีเตรียมส่งกองทัพชุดใหญ่รุกเข้าไปอีกครั้งพร้อมกับทรัมป์ประกาศถอนทหารสหรัฐ นี่คือเหตุการณ์ล่าสุด
ประเด็นที่ 2 ภัยคุกคามจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดน
ชนเชื้อสายเคิร์ดในตุรกีบางส่วนมีความคิดแบ่งแยกดินมาเรื่อยมา ตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมามีเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่หลายรอบ
ซ้ำร้ายกว่านั้นเคิร์ดตุรกีมีสัมพันธ์กับเคิร์ดซีเรีย เมื่อรัฐบาลสหรัฐใช้เคิร์ดซีเรียเป็นกองหน้ารบกับผู้ก่อการร้าย
กองกำลังเคิร์ดจึงได้รับอาวุธทันสมัยและรับการฝึกจากสหรัฐกลายเป็นภัยที่น่ากลัวสำหรับตุรกี
ภัยคุกคามยิ่งเด่นชัดเมื่อพื้นที่ควบคุมของเคิร์ด
(พูดอีกอย่างคือของฝ่ายสหรัฐ) ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะทางตอนเหนือกับตะวันออก
จุดนี้มองได้หลายแง่มุม ข้อแรกคือพื้นที่อิทธิพลของเคิร์ด กับอีกมุมมองคือโอกาสที่
“ต่างชาติ” เข้าแทรก เพราะที่เคิร์ดควบคุมได้เพราะมีทหารต่างชาติหนุนหลัง
เมื่อสหรัฐคิดถอนกำลังจึงเกิดสุญญากาศว่าใครจะเข้าแทน
รัฐบาลแอร์โดกานเห็นโอกาสจึงเจรจากับประธานาธิบดีทรัมป์และทรัมป์เห็นดีเห็นงามด้วย
(ก่อนคิดเปลี่ยนใจในเวลาต่อมา-จากข่าวล่าสุด)
จะเห็นว่ารัฐบาลตุรกีอาศัยเหตุผลปราบปรามพวกคิดแบ่งแยกดินแดนเป็นโอกาสรุกเข้าไปในประเทศซีเรีย
ถ้ายึดหลักการ คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติมีมติให้ทุกประเทศร่วมกันปราบปรามผู้ก่อการร้ายในซีเรียซึ่งเท่ากับยอมให้ละเมิดอธิปไตย
แต่เคิร์ดไม่อยู่ในรายชื่อผู้ก่อการร้ายที่คณะมนตรีความมั่นคงระบุ การปราบปรามเคิร์ดจึงละเมิดข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงอย่างชัดเจน
ดังที่นำเสนอข้างต้นแล้วว่ารัฐบาลแอร์โดกานเห็นว่าตุรกีมีความชอบธรรมที่จะปราบปรามกลุ่มผู้ก่อการร้ายทุกกลุ่มที่ตุรกีเห็นว่าเป็นภัย
ถ้ายึดตามหลักการนี้เท่ากับว่าตุรกีสามารถส่งกองทัพ หน่วยรบพิเศษ
ทิ้งระเบิดใส่ที่ใดๆ ในโลก ถ้าตุรกีเห็นว่ามีผู้ก่อการร้ายที่นั่น
แนวทางที่ถูกต้องคือ
ต้องให้เป็นความรับผิดชอบหลักของแต่ละประเทศที่จะดำเนินการ ไม่ใช่เรื่องที่ตุรกีจะดำเนินการเอง
เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของประเทศนั้น
หรือต้องได้รับมติจากคณะมนตรีความมั่นคง
แต่รัฐบาลแอร์โดกานตีความว่าประเทศตนมีสิทธิ์
ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยผู้อื่น แม้ละเมิดกฎเกณฑ์สหประชาชาติ เป็นแนวทางเดียวกับที่บางประเทศใช่
เช่น สหรัฐ อิสราเอล
ประเด็นที่
3 ขยายอิทธิพลเข้าไปในซีเรีย
ไม่เพียงส่งกองทัพเข้าดินแดนซีเรีย
รัฐบาลแอร์โดกานได้สร้างหรือสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธชาวซีเรียที่เป็นพวกเดียวกับตน
(ไม่ใช่พวกอัสซาด สหรัฐหรือประเทศใด) บางส่วนเป็นชาวซีเรียเชื้อสายเติร์ก
รัฐบาลตุรกีเคยพูดว่าต้องส่งกองทัพเข้าซีเรียเพื่อปกป้องชาวซีเรียเชื้อสายเติร์ก
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลนี้กับเหตุผลอื่นๆ
รัฐบาลแอร์โดกานพยายามสร้างฐานอิทธิพลในซีเรีย
ประธานาธิบดีแอร์โดกานปฏิเสธว่าตนกำลังแบ่งแยกซีเรีย “เราไม่เห็นด้วยกับการแบ่งซีเรีย
เป้าหมายของเราคือต้านผู้ก่อการร้ายที่นั่น” รัฐบาลของนานาประเทศต่างพูดทำนองนี้
แต่ต้องพิจารณาการกระทำ วาระซ่อนเร้น ถ้ารัฐบาลแอร์โดกานมีเป้าหมายเดียวคือต่อต้านก่อการร้ายควรขออนุญาตจากรัฐบาลอัสซาดก่อนและร่วมมือกับซีเรียอย่างใกล้ชิด
แต่แอร์โดกานคิดเองทำเอง ส่อมีเจตนาแอบแฝง
วิเคราะห์โดยรวม
รัฐบาลตุรกีใช้แนวคิดยึดผลประโยชน์ตนฝ่ายเดียว ประกาศว่าจำต้องรักษาอธิปไตยของตนจึงละเมิดอธิปไตยซีเรีย
แอร์โดกานย้ำว่าต้องการให้ซีเรียสงบสุข คำถามคือสิ่งที่ทำส่งเสริมความสงบจริงหรือไม่
หรือว่าแท้จริงแล้วแอร์โดกานไม่ได้หวังความสงบจริง แต่หวังผลประโยชน์จากความไม่สงบ
ส่วนคำว่าสงบสันติในซีเรียจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อตุรกีได้ประโยชน์ดังหวังแล้ว ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นซีเรียจะเป็นอย่างไรเป็นเรื่องน่าคิด
เพราะรัฐบาลแอร์โดกานปฏิเสธไม่ยอมรับรัฐบาลอัสซาดตั้งแต่ต้น
ประเด็นที่
4 แสดงตัวมีบทบาทในภูมิภาคตะวันออกกลาง-เติร์กไม่แพ้อาหรับ
ความวุ่นวายในซีเรียเกี่ยวข้องกับประเทศในภูมิภาค
พวกยุโรปตะวันตกและมหาอำนาจ ประเทศเหล่านี้ต่างแสดงบทบาทตามแนวทางของตน ตุรกีก็เช่นกัน
กล่าวได้ว่าตุรกีมีบทบาทโดดเด่นในเวทีโลกขณะนี้ก็ด้วยประเด็นซีเรีย
ในเชิงประวัติศาสตร์
แม้ชนชาวเติร์กเป็นมุสลิม ส่วนใหญ่นับถือนิกายซุนนี แต่มีความเป็นชาตินิยมด้วย
ชนชาวเติร์กมองว่าตนไม่ด้อยกว่าพวกอาหรับหรือเปอร์เซีย (ทำนองเดียวกับพวกเคิร์ดที่เป็นมุสลิมแต่ไม่คิดว่าตนเป็นอาหรับ
ไม่ยอมเข้าพวกกับเปอร์เซีย)
เมื่อศตวรรษที่ 16
จักรวรรดิออตโตมัน (ตุรกีในปัจจุบัน) ขยายดินแดนไปถึงตะวันออกของอานาโตเลีย
ตอนเหนือของอิรัก ซีเรีย อียิปต์และอาระเบีย (Arabia)
สังเกตว่าออตโตมันทำสงครามขยายดินแดนในเขตที่เป็นมุสลิมด้วย
เป็นการเข่นฆ่าระหว่างมุสลิมด้วยกันเอง รัฐบาลแอร์โดกานกำลังซ้ำรอยประวัติศาสตร์ แม้อาจไม่ยิ่งใหญ่เท่าออตโตมันแต่กำลังขยายอิทธิพลในภูมิภาคตะวันออกกลายเช่นเคย
เข้าเผชิญหน้าความท้าทาย :
ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีหลายแนวคิด
บางทฤษฎีเห็นด้วยกับแนวทางของรัฐบาลตุรกี มองว่าใครดีใครอยู่ การรุกรานอีกประเทศเป็นเรื่องปกติและสมควร
เพียงแต่อาจเลือกใช้วิธีดูเนียน ใช้ถ้อยคำฟังดูสุภาพเป็นผู้ดี แม้กำลังทำลายล้างประเทศอื่นๆ
แต่ยังแสดงตัวว่าเป็นคนดีมีศีลธรรม
เรื่องหนึ่งที่น่าชื่นชมคือรัฐบาลแอร์โดกานเลือกที่จะเผชิญหน้าภัยคุกคาม
มองเป็นโอกาสตักตวงผลประโยชน์ แก้ปัญหาพวกเคิร์ด ไม่คิดหลบหลีกชาติมหาอำนาจ เดินหน้าเจรจาต่อรอง
ไม่กลัวขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นนโยบายที่มีความเสี่ยงสูง
สร้างขยายอิทธิพลในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เป็นยุทธศาสตร์เปลี่ยนภัยคุกคามเป็นโอกาส ส่วนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ต้องติดตามต่อไป
6 มกราคม 2019
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 8092 วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ.2562)
---------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
รัฐบาลตุรกีส่งกองทัพเข้าซีเรีย
อ้างเหตุผลเพื่อปราบปราม IS ป้องปรามภัยคุกคามจากเคิร์ดซีเรีย
ความจริงที่ต้องเข้าใจคือปฏิบัติการครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากขั้วสหรัฐ
ได้ความเห็นชอบจากรัฐบาลรัสเซีย ผลลัพธ์ที่ได้จึงจำกัด
เป็นหลักฐานอีกชิ้นชี้ว่าอนาคตของซีเรียไม่เป็นของคนซีเรียอีกต่อไป
ประเทศนี้กลายเป็นสมรภูมิ ดินแดนที่หลายประเทศเข้ากอบโกยผลประโยชน์
โดยอ้างปราบปรามผู้ก่อการร้าย สนับสนุนฝ่ายต่อต้านหรือไม่ก็สนับสนุนรัฐบาลซีเรีย
นี่คือพัฒนาการล่าสุดจากความวุ่นวายภายในของประเทศนี้
ข่าวตุรกีโจมตี IS เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตุรกี
เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลตุรกีลังเลใจที่จะร่วมต้าน IS อย่างจริงจัง
ปฏิบัติการครั้งนี้ดำเนินร่วมกับการโจมตี PKK ด้วย
เรื่องที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ของตุรกีโดยตรง
และเมื่อวิเคราะห์ในภาพที่ใหญ่ขึ้น การจัดการ IS PKK ไม่ใช่เพียงการต่อต้านก่อการร้ายสากล (IS)
หรือผู้ก่อการร้ายภายในประเทศ (PKK) แต่เชื่อมโยงกับประเทศซีเรียโดยตรง
เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์แบ่งแยกประเทศนี้
1. Goldschmidt, Arthur Jr. & Davidson, Lawrence. (2010).
A Concise History of the Middle East (9th Ed.). USA: Westview Press.
2. Kremlin Confirms Information on Syrian Army Taking
Control of Manbij. (2018, December 29). Sputnik News. Retrieved from
https://sputniknews.com/middleeast/201812291071090930-kremlin-control-manbij/
3. Rafferty, Kirsten., & Mansbach,
Richard. (2012). Introduction to Global Politics (2nd ed.). New
York: Routledge.
4. Turkey has the right to conduct operations in Syria,
elsewhere to combat terror threats: Erdoğan. (2016, February 21). Hurriyet Daily News. Retrieved
from http://www.hurriyetdailynews.com/turkey-has-the-right-to-conduct-operations-in-syria-elsewhere-to-combat-terror-threats-erdogan-.aspx?pageID=238&nID=95474&NewsCatID=352
5. Turkey has right to conduct ops in Syria, elsewhere to
protect itself from terrorists – Erdogan. (2015, February 21). RT. Retrieved
from https://www.rt.com/news/333179-erdogan-terror-operations-syria/
-----------------------------