พลังอำนาจทางทหารของจีน พัฒนาเพื่อต่อสู้และได้ชัย
กองทัพจีนพัฒนาโดยยึดแนวการรบแบบชาติตะวันตก
หากเศรษฐกิจพัฒนาเติบโตต่อไป
ผลประโยชน์ที่ขยายตัวทั่วโลกย่อมเป็นเหตุให้กองทัพจีนต้องสามารถปกป้องผลประโยชน์ประเทศที่กระจายทั่วโลก
บรรณานุกรม :
Manoj kumar kasirajan
รายงาน Chinese
military power: Modernizing a Force to Fight and Win จากสำนักข่าวกรองกลาโหมสหรัฐ
(US Defense Intelligence Agency) ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อ
15 มกราคมมีหัวข้อครอบคลุมหลายประเด็น บทความนี้นำเสนอสาระสำคัญอันเป็นการตีความจากฝ่ายสหรัฐ
พร้อมการวิเคราะห์ดังนี้
ประวัติศาสตร์จีน 5,000 ปี :
จีนมีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง
5,000 ปี
ในช่วงเวลาดังกล่าวได้สร้างอารยธรรมอันรุ่งเรืองตามยุคสมัย
กองทัพจีนเป็นอีกส่วนที่นักประวัติศาสตร์บรรยายความยิ่งใหญ่
ความน่าทึ่งในแต่ละราชวงศ์
แต่สงครามจีน-เวียดนามในปี
1979 ชี้ให้เห็นว่ากองทัพจีนมีจุดอ่อนเรื่องแผนปฏิบัติการ เทคนิคการรบ การบัญชาการ
การส่งกำลังบำรุง สงครามอ่าวเปอร์เซียให้บทเรียนที่สำคัญแก่จีนถึงการรบสมัยใหม่
เช่น การเชื่อมโยงของระบบข้อมูลข่าวสาร การเคลื่อนกำลัง
การโจมตีเป้าหมายอย่างแม่นยำ
กองทัพจีนพัฒนาอย่างรวดเร็วเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่
21 พร้อมกับความเติบโตทางเศรษฐกิจ ผลประโยชน์ทางการเมือง
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จากวันนี้ถึงปี 2020 จีนไม่คิดทำสงครามใหญ่กับใคร เป็นช่วงเวลาปรับปรุงกองทัพ
ลงทุนโครงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลายโครงการ ซ้อมรบตามยุทธวิธีสมัยใหม่
สงครามไซเบอร์ บุคลากรมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น รับนักศึกษาจบมหาวิทยาลัยเพื่อรองรับอาวุธสมัยใหม่
ปลายปี 2015
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ออกนโยบายให้กองทัพมีขนาดเล็กลง
เป็นมืออาชีพมากขึ้น อาวุธทันสมัยกว่าเดิม ตั้งศูนย์บัญชาการร่วมทุกเหล่าทัพ มุ่งปรับให้พร้อมรับมือสหรัฐ
วิเคราะห์: จีนเดินหน้าพัฒนากองทัพให้ทันสมัย ทั้งหลักนิยมการรบ โครงสร้างกองทัพ
ระบบการบัญชาการ ใช้อาวุธสมัยใหม่ สิ่งหนึ่งที่จีนสู้สหรัฐไม่ได้แน่นอนคือประสบการณ์การรบจริง
ประสบการณ์การรบตามยุทธวิธีสมัยใหม่ที่สหรัฐทำการรบน้อยใหญ่เรื่อยมา จีนไม่มีประสบการณ์เช่นนี้
(นับจากทำสงครามกับเวียดนามเมื่อปี 1979 จีนไม่ได้ทำสงครามกับใครอีกเลย
การรบครั้งนั้นจีนยังใช้ยุทธการแบบเก่าซึ่งไม่อาจใช้กับการศึกปัจจุบัน) ดังนั้น ความพร้อมรบสหรัฐสูงกว่า
มีประสบการณ์จริงมากกว่า นี่คือสิ่งที่จีนไม่อาจเลียนแบบหรือพัฒนาให้เท่าทัน
ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของจีน :
China’s Military Strategy ของจีนที่นำเสนอเมื่อปี 2015 ระบุว่าจีนไม่คิดว่าจะมีสงครามโลกแต่จะเกิดสงครามในบางแห่งบางประเทศ
(local war) ภัยคุกคามที่เอ่ยถึงคือเรื่องอธิปไตย
ความมั่นคงภายในที่อาจสั่นคลอนศูนย์กลางอำนาจจีน ประเด็นไต้หวัน อุยกูร์
ธิเบตคิดแยกตัว ข้อพิพาททะเลจีนใต้กับทะเลจีนตะวันออก เสถียรภาพในคาบสมุทรเกาหลี
ปัญหาชายแดนกับอินเดีย
วิเคราะห์: สังเกตว่าภัยคุกคามที่จีนเอ่ยถึงเกือบทั้งหมดติดต่อหรือใกล้กับแผ่นดินจีน
ในแง่ความมั่นคงทางทหารสะท้อนว่าจีนให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ที่อยู่ใกล้
ตรงข้ามกับสหรัฐที่ผลประโยชน์กว้างขวางครอบคลุมทั้งโลก ดังนั้นถ้ามองจากมุมจีน
จีนกำลังเป็นฝ่ายตั้งรับมากกว่า
ในขณะที่สหรัฐเป็นฝ่ายรุกคืบติดพรมแดนจีนหรือรุกเข้าไปข้างในจีน การที่สหรัฐวางกองเรือและกองกำลังอื่นๆ
จำนวนมากในเอเชียแปซิฟิกสะท้อนเจตนากับเป้าหมายของรัฐบาลสหรัฐได้เป็นอย่างดี
หัวใจของยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของจีน
คือ การมองตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลก จีนมองจากตัวตนสู่โลกภายนอก ในศตวรรษที่ 21
นี้เป็นโอกาสทางยุทธศาสตร์ (period of strategic opportunity)
ของจีนจากบริบทโลก เป้าหมายทางยุทธศาสตร์นอกจากรักษาการปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์
ความมั่นคงภายใน การเติบโตทางเศรษฐกิจ พิทักษ์อธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน
อีกข้อคือเสริมสร้างความเป็นมหาอำนาจ
ก่อนการปฏิวัติสังคมนิยมประวัติศาสตร์จีนเต็มด้วยความแปรปรวนภายใน
ความวุ่นวายอันเนื่องจากสงครามกลางเมือง เป็นเหตุบั่นทอนอารยธรรม
ชนเชื้อชาติอื่นหรือประเทศอื่นแทรกแซง คนจีนรำลึกประวัติศาสตร์เหล่านี้อยู่เสมอ
ความมั่นคงภายในจึงเป็นประเด็นที่ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญ ผู้นำแต่ละยุคเห็นว่าจำต้องปกครองด้วยความเข้มงวดดีกว่าปล่อยให้บ้านเมืองวุ่นวาย
รัฐบาลคอมมิวนิสต์ปัจจุบันยึดถือแนวทางนี้เช่นกัน
ภัยจากภายในอาจรุนแรงกว่าภายนอก
แต่ละวันมีพลเมืองหลายล้านคนที่ทางการจีนติดตามเฝ้าระวังใกล้ชิด เกรงว่าคิดก่อเหตุวุ่นวาย ต่างชาติเสี้ยมสอน
การทุจริตคอร์รัปชัน
การสร้างกลุ่มก๊วนในหมู่เจ้าหน้าที่ เป็นอีกประเด็นที่รัฐบาลต้องจัดการเรื่อยมา
ในขณะเดียวกันนับวันกองทัพจีนจะขยายภารกิจไกลจากแผ่นดินแม่
เมื่อผลประโยชน์ขยายตัวออกสู่ไปประเทศอื่นๆ การปรับปรุงยุทโธปกรณ์สอดคล้องกับงบกลาโหมที่เพิ่มขึ้น
ช่วงปี 2000-16 งบกลาโหมจีนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ เฉพาะ 2-3
ปีให้หลังนี้ลดลงมาอยู่ที่ 5-7 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 1.2-1.4 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี
(ธนาคารโลกระบุ GDP จีนปี 2017 อยู่ที่ 12.24
ล้านล้านดอลลาร์) ตัวเลขดังกล่าวเป็นการคาดการณ์ ไม่ทราบจำนวนแท้จริง
และไม่รวมงบที่ใช้ในงานวิจัยทางทหาร เงินอุดหนุนเจ้าหน้าที่ ฯลฯ
เป้าหมายของจีนคือสร้างกองทัพที่ทำสงครามระดับภูมิภาค
สร้างระบบ real-time C2 networks
ใช้ยุทธศาสตร์ป้องกันด้วยการรุกทำลายข้าศึก มุ่งพัฒนาการทำสงครามในยุคดิจิทัล
ระบบสั่งการและควบคุมแบบดิจิทัล หรือ informatized warfare ให้ความสำคัญกับการรบนอกแผ่นดินใหญ่
การรบทางทะเล การรบในยุคไฮเทค ผลักดันให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับต้องพร้อมรบตลอดเวลา
เป็นความท้าทายต่อโครงสร้างสายบังคับบัญชา
เป็นแนวทางเดียวกับที่ชาติตะวันตกใช้อยู่
ขีดความสามารถของกองทัพจีน :
แม้จีนยังห่างไกลที่จะส่งกองทัพขนาดใหญ่ไปปฏิบัติการในที่ต่างๆ
ทั่วโลก แต่อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธอวกาศและไซเบอร์สามารถจู่โจมปรปักษ์ได้ทุกแห่ง
จีนกำลังพัฒนาเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นใหม่
(แทน H-6K)
ร่วมกับยูเครนพัฒนาเครื่องบินลำเลียง An-225
ที่สามารถบรรทุกอาวุธถึง 254 ตัน กำลังสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินที่ผลิตด้วยตนเอง ตั้งฐานทัพที่จิบูตี
(Djibouti – ฐานทัพต่างแดนแห่งแรกของจีน จุดยุทธศาสตร์ควบคุมคลองสุเอซ)
บ่งบอกว่าจีนกำลังขยายอำนาจการรบของตนให้ไกลออกไปมากขึ้น
สอดรับกับผลประโยชน์ที่ไกลออกไปตามยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม (Silk Road
Strategy) หรือ Belt and Road Initiative (BRI)
จีนได้พัฒนาและประจำการอาวุธนิวเคลียร์จำนวนหนึ่งเพื่อโจมตีตอบโต้ตามนโยบายไม่ใช้ก่อน
(no first use-NFU)
แต่น่าสงสัยว่าจีนอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์หากกองกำลังดังกล่าวถูกโจมตีหรือรัฐบาลกำลังแย่
จีนกำลังพัฒนาขีปนาวุธนิวเคลียร์ชนิดหลายหัวรบแบบติดตั้งบนยานพาหนะ ขีปนาวุธมีระบบทะลวงระบบป้องกันขีปนาวุธของฝ่ายตรงข้าม
และอาจกำลังเตรียมเครื่องบินติดขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์
ในอนาคตจีนจะเชื่อมต่อระบบ C2 พร้อมกับขีปนาวุธข้ามทวีปชนิดเคลื่อนที่ได้
เรือดำน้ำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์รุ่นใหม่ เป็นกองทัพที่น่าเกรงขาม
วิเคราะห์: รายงาน Chinese military power ฉบับนี้ไม่ต่างจากรายงานของหน่วยงานอื่นๆ
ที่มักคาดการณ์อนาคตไว้อย่างน่ากลัว จีนจะกลายเป็นภัยคุกคามร้ายแรง
โดยข้อเท็จจริงแล้วนับตั้งแต่โลกมีอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐเป็นผู้นำด้านนี้มาตลอดและยังเป็นผู้นำในปัจจุบัน
ยุทธศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ (Nuclear Posture Review: NPR)
ฉบับล่าสุดปี 2018 ประกาศชัดเจนว่า รัฐบาลมีหน้าที่คงกำลังอาวุธนิวเคลียร์ให้เหนือทุกประเทศในโลก
ด้วยความเชื่อว่านอกจากปลอดภัยแล้ว ยังเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเจรจา
เรื่องนี้สัมพันธ์กับเศรษฐกิจโดยตรง เพราะสหรัฐมีอิทธิพลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจโลก เป็นระบบที่เอื้อประโยชน์ต่อตน
วันใดที่ภาพลักษณ์ความเป็นมหาอำนาจหดหาย จะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทันที เช่น
กระทบต่อค่าเงินดอลลาร์ ข้อตกลงการค้าที่สหรัฐได้เปรียบ
ทั้งรัสเซียกับจีนล้วนเป็นผู้ตามหลังอเมริกาในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ และต้องย้ำว่าสหรัฐจะไม่ยอมให้ใครแซงนำในเรื่องนี้
โดยภาพรวมแล้วกองทัพจีนพัฒนาอย่างรวดเร็วยึดแนวยุทธศาสตร์การรบแบบชาติตะวันตก
กองทัพจีนน่าเกรงขามขึ้นมากในมุมมองของรัฐบาลสหรัฐ แต่ยังเป็นเพียงมหาอำนาจทางทหารระดับภูมิภาคด้วยเหตุผลที่ยังไม่สามารถปฏิบัติการครอบคลุมทั่วโลก
อย่างไรก็ตามหากเศรษฐกิจพัฒนาเติบโตต่อไป วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีก้าวล้ำ
ผลประโยชน์ที่ขยายตัวทั่วโลกย่อมเป็นเหตุให้กองทัพจีนต้องเข้มแข็งมีประสิทธิภาพปกป้องผลประโยชน์ประเทศที่กระจายทั่วโลกเป็นเงาตามตัว
20 มกราคม
2019
ชาญชัย
คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน
คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่
23 ฉบับที่ 8106 วันอาทิตย์ที่ 20
มกราคม พ.ศ.2562)
-----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
แผนพัฒนาใดๆ
ของจีนสามารถตีความว่ากำลังบั่นทอนผลประโยชน์ของอีกฝ่าย แต่อาจเป็นแนวทางที่ดีกว่า
เพิ่มโอกาสเพิ่มทางเลือก สำคัญว่าสุดท้ายประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้นหรือไม่
ประเทศจิบูตีกลายเป็นที่ตั้งฐานทัพต่างแดนแห่งแรกของจีน
แสดงให้เห็นว่าจีนตั้งเป้าที่จะส่งกองเรือรบมาไกลถึงแอฟริกา
ดูแลเส้นทางเดินเรือและพลเมืองของตนในแถบนี้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม (OBOR)
ที่จีนจะร่วมมือกับเอเชีย แอฟริกาและยุโรป
ในอนาคตจะเห็นทหารจีนปรากฏตัวตลอดเส้นทางสายไหม บทบาททางทหารของจีนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
1. Blackwill, Robert D., Tellis, Ashley J. (2015, March).
Revising US Grand Strategy Toward China. Council on Foreign Relations.
Retrieved from http://carnegieendowment.org/files/Tellis_Blackwill.pdf
2. Defense Intelligence Agency. (2019,
January 15). Chinese military power: Modernizing a Force to Fight and Win.
Retrieved from http://www.dia.mil/Portals/27/Documents/News/Military%20Power%20Publications/China_Military_Power_FINAL_5MB_20190103.pdf
3. U.S. Department of Defense. (2018). Nuclear Posture Review 2018. Retrieved from https://media.defense.gov/2018/Feb/02/2001872886/-1/-1/1/2018-NUCLEAR-POSTURE-REVIEW-FINAL-REPORT.PDF
-----------------------------