มุมมองของผู้นำสี จิ้นผิงต่อการค้าโลกในยุคทรัมป์
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ชูธงการค้าเสรี โจมตีหลัก
“อเมริกาต้องมาก่อน” ความเข้าใจที่ถูกต้องคือไม่มีการค้าเสรีที่เสรีเต็มร้อย
ทุกอย่างอยู่ในข้อตกลงที่เปิดเผยและปิดลับ ปรับแก้ได้และไม่มีของฟรีในโลก
บรรณานุกรม :
VanveenJF
ประธานาธิบดีสี
จิ้นผิง แสดงสุนทรพจน์ในงานประชุมเอเปกครั้งที่ 26 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2018
ที่ประเทศปาปัวนิวกินี ในหัวข้อ
“การควบคุมโอกาสในช่วงเวลาของเราเพื่อนำสู่ความมั่งคั่งร่วมกันในเอเชียแปซิฟิก” (Harnessing
Opportunities of Our Times To Jointly Pursue Prosperity in the Asia-Pacific) มีสาระสำคัญพร้อมข้อวิจารณ์ดังนี้
โลกของเรากำลังพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
เทคโนโลยีชุดใหม่และการปฏิวัติอุตสาหกรรมกำลังเผยตัวออกมา ระบบโลกกำลังถูกปรับเปลี่ยนและพัฒนาอย่างรวดเร็ว
ในขณะเดียวกันกำลังเผชิญปัญหาที่หยั่งรากลึก พร้อมกับลัทธิปกป้องการค้าและการกระทำฝ่ายเดียว
กระทบต่อระบบการค้าพหุภาคีนิยม ภาวะเศรษฐกิจโลกจึงสุ่มเสี่ยงและไม่แน่นอน
สำนวนจีนกล่าวว่า
‘คนผู้มีวิสัยทัศน์มองว่าโอกาสไปทางใดและติดตามไป’ เราจึงต้องติดตามแนวโน้มของโลกอย่างใกล้ชิด ด้วยการ ...
ข้อแรก
บูรณาการเศรษฐกิจภูมิภาคให้มากกว่านี้ สร้างเศรษฐกิจเปิดในเอเชียแปซิฟิก
ส่งเสริมการค้าการลงทุนเสรี เดินหน้าสร้างเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก (Free
Trade Area of the Asia-Pacific : FTAAP) นำทุกประเทศเข้ามาเป็นสมาชิก
ทำการค้าการลงทุนอย่างโปร่งใส ติดต่อด้วยสัมพันธ์เชิงบวก
ยึดมั่นการค้าพหุภาคีที่ถือกฎเกณฑ์ ปฏิเสธลัทธิปกป้องการค้า
วิเคราะห์ : ผู้นำจีนกำลังโจมตีหลัก “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First) ว่าเป็นลัทธิปกป้องการค้าและการกระทำเพียงฝ่ายเดียว (protectionism
and unilateralism) เป็นวิธีของคนเห็นแก่ผลประโยชน์ระยะสั้น
หายนะจะตามมา การเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจไม่เป็นผลดี
ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นแล้วไม่ว่าจะเป็นสงครามเย็น สงครามร้อน สงครามการค้า
สุดท้ายไม่มีใครชนะ การปฏิบัติโดยใช้ 2
มาตรฐานเป็นหลักฐานสำคัญชี้ว่าเคารพต่ออธิปไตยของอีกประเทศหรือไม่ ประธานาธิบดีทรัมป์มักกล่าวว่าเขาเป็นชาตินิยม
รักอธิปไตยและเคารพอธิปไตยชาติอื่นๆ แต่พฤติกรรมกับคำพูดดูจะไม่ตรงกัน แต่ก็คงไม่ถูกหากจะวิพากษ์สหรัฐเพียงลำพัง
แท้จริงแล้วหลายประเทศไม่เคารพอธิปไตยประเทศอื่นเช่นกัน
ต่างกันเพียงมากบ้างน้อยบ้าง วิธีการที่ใช้รุนแรงเพียงไร
องค์การการค้าโลก
(WTO) กำลังเข้าสู่การปฏิรูป ควรจะปฏิรูปเพื่อให้ทำหน้าที่ดีกว่าเดิมโดยยังยึดถือหลักการดั้งเดิม
ไม่ใช่การปฏิรูปที่เปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่าง
ปีนี้จีนฉลองครบรอบปฏิรูปและการเปิดประเทศ
40 ปี จีนจะยังคงปฏิรูปต่อไปทำให้เศรษฐกิจตลาดสังคมนิยม (socialist market
economy) อยู่ร่วมกับเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ ยินดีเปิดตลาดให้กว้างขึ้น
พยายามปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา สร้างบรรยากาศการค้าการลงทุนที่ดี
เป็นหลักฐานว่าจีนสนับสนุนการค้าเสรีและการค้าที่เปิดกว้าง
วิเคราะห์ : ข่าวการกีดกันการค้า
การปฏิเสธกฎกติกาโลกจากรัฐบาลทรัมป์กลายเป็นโอกาสให้รัฐบาลจีนชูธงการค้าเสรีและเปิดกว้าง
ควรมองว่าการค้าเสรีนั้นแท้จริงแล้วไม่ได้เสรีจริง
ทุกอย่างอยู่ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลง เป็นเช่นนี้เรื่อยมา สามารถวิพากษ์ว่ารัฐบาลทรัมป์เห็นแก่ตัว
แต่รัฐบาลสหรัฐมักเป็นเช่นนี้เสมอมามิใช่หรือ พร้อมกับที่จีนยังปิดกั้นการค้าด้วยกลไกหลายอย่าง
มุ่งรักษาประโยชน์ของนายทุนจีนเช่นกัน เพียงแต่รัฐบาลจีนสามารถฉวยโอกาสนี้สร้างกระแสชูธงการค้าเสรี
ข้อสอง สร้างนวัตกรรมที่ส่งเสริมการเติบโต ส่งเสริมปัจจัยการเติบโตใหม่
เศรษฐกิจดิจิทัลคืออนาคตของเอเชียแปซิฟิกและโลก ต้องตามกระแสนวัตกรรมล่าสุด
ปฏิบัติตามแผนเรื่องการใช้อินเตอร์เน็ทและเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างสมดุล
สร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานรองรับความก้าวหน้า
ให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึงให้มากที่สุด
จีนกำลังสร้าง “จีนดิจิทัล” (Digital China) สัมพันธ์กับอินเตอร์เน็ท
ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) เทคโนโลยีใหม่
รูปแบบธุรกิจใหม่กำลังมีส่วนในเศรษฐกิจ การค้าปลีกออนไลน์
การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือกำลังพัฒนาต่อไป ส่งผลต่อวิถีชีวิตคนจีน รัฐบาลจีนหวังร่วมมือกับชาติสมาชิกเอเชียแปซิฟิกเพื่อขยายผลประโยชน์ร่วม
เติบโตไปด้วยกัน ทำให้เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกเติบโตและสดใหม่
วิเคราะห์
: จีนดิจิทัลน่าจะตีความว่าคือสังคมจีนใหม่
น่าสนใจว่ารัฐบาลจีนไม่กลัวกระแสต่อต้านรัฐบาลจากความสามารถของเทคโนโลยีดิจิทัล
คล้ายจะเป็นประเทศที่เปิดกว้างเชื่อมโยงทั่วถึงทั้งภายในและภายนอกประเทศ
น่าติดตามว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะส่งผลต่อการเมืองการปกครองจีนอย่างไร
และรัฐบาลจีนจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร
ข้อสาม
เราจำต้องพัฒนาเครือข่ายเชื่อมโยงเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และการพัฒนาที่เชื่อมต่อกัน
ทุกประเทศต้องมีแผนและนำแผนดังกล่าวมาหารือร่วมกัน ให้ทุกพื้นที่เชื่อมต่อถึงกัน
สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2030 เป็นส่วนหนึ่งของความคิดริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
(Belt and Road Initiative: BRI) หวังสร้างโอกาสการพัฒนาแก่ประชาชนในภูมิภาคและนอกภูมิภาค
วิเคราะห์
: รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ (Mike Pence) วิพากษ์ BRI เป็นกับดักทำให้ประเทศต่างๆ เป็นหนี้จีน
ต้องพึ่งพาจีนต่อไป มีงานวิจัยนำเสนอเรื่องนี้ แต่จะเป็นจริงหรือไม่อีกไม่นานจะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น
ที่ควรตระหนักคือเป็นแนวทางที่หลายประเทศทำเรื่อยมา บางครั้งมีอิทธิพลควบคุมรัฐบาลประเทศนั้นๆ
การกู้หนี้ยืมสินจึงไม่ใช่ของฟรี มีค่าใช้จ่ายที่มากกว่าเงินชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ย
ข้อสี่ สมาชิกต้องร่วมมือใกล้ชิดเผชิญหน้าความท้าทายร่วม เอเปกช่วยให้สมาชิกใกล้ชิดกันมากขึ้น
ไว้ใจกันมากขึ้น ร่วมมือบนพื้นฐานได้ประโยชน์ร่วม
แม้สมาชิกจะแตกต่างหลากหลายซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ
สิ่งสำคัญคือเราต้องยึดมั่นในเป้าหมายที่จะพัฒนาไปด้วยกัน
แก้ไขเรื่องที่เห็นไม่ตรงกันด้วยการปรึกษาหารือ
เคารพความแตกต่างหลากหลายและแนวทางการพัฒนาประเทศของชาติสมาชิก
ยึดหลักการเปิดกว้างและนำทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม
พร้อมกับให้เกิดการแข่งขันและได้ประโยชน์จากความร่วมมือ
ด้วยแนวทางเหล่านี้ทุกประเทศจะมีส่วนในอนาคตของเอเชียแปซิฟิก
จีนถือปรัชญาพัฒนาโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
(people-centered development) วิสัยทัศน์ที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม
ความร่วมมือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เปิดกว้างเพื่อผลประโยชน์ของทุกคน
ช่วยให้ประชาชนกว่า 700 ล้านคนพ้นความยากจนและจะไม่ให้เหลือภายในปี 2020 เน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ
การเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้มาจากการบริโภคภายในถึงร้อยละ 78 และจะเติบโตอย่างมั่นคงต่อไป
จีนที่พัฒนาเป็นโอกาสแก่ประเทศอื่นๆ
จีนจะพัวพันกับชาติอื่นๆ อย่างลึกซึ้ง
สนับสนุนการพัฒนาและความมั่งคั่งแก่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
เขียนกฎ-ล้างกฎ-สร้างกฎใหม่ :
ภาษีศุลกากร
การกีดกันทางการค้าเป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ
ชาติตะวันตกซึ่งหวังทำการค้ากับนานาประเทศเห็นว่าภาษีศุลกากร การกีดกันการค้าเป็นอุปสรรคต่อการค้าขายของตน
จึงมีนโยบายมุ่งลดการกีดกันเหล่านี้ ส่งเสริมการค้าเสรีซึ่งหมายถึงลดกำแพงภาษี
ก่อตั้งองค์การการค้าโลก (WTO) ชาติตะวันตกในสมัยนั้นเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศทำให้พวกเขาได้กำไรมาก
บัดนี้ รัฐบาลสหรัฐเห็นว่าองค์การการค้าโลกไม่เหมาะกับเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน
จำต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ ขณะที่จีนเห็นว่าควรปรับแก้เฉพาะกลไกแก้ไขความขัดแย้ง
เรื่องที่หลายประเทศกังวลคือสหรัฐอาจถอนตัวหากไม่ปฏิรูป
WTO ตามที่สหรัฐต้องการแล้วไปสร้างกลุ่มการค้าโลกใหม่ กระทบต่อระบบการค้าโลกอย่างรุนแรง
การแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายจะยิ่งรุนแรง จินตนาการว่าเกิดองค์การการค้าโลก 2
แห่งที่ฝ่ายหนึ่งมีสหรัฐเป็นแกนนำ กับอีกองค์การที่ฝ่ายต่อต้านสหรัฐเป็นแกนนำ
อาจนำโลกถลำลึกเข้าสู่สงครามเย็นรอบใหม่ ที่ไม่ตั้งอยู่บนความแตกต่างทางการเมืองการปกครอง
เป็นกรณีตัวอย่างที่สหรัฐหนึ่งในผู้ก่อตั้งสร้างขึ้นกับมือแล้วล้มด้วยตัวเอง
เพื่อสร้างองค์กรใหม่ที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อตนมากที่สุด ในขณะที่ผู้ได้ประโยชน์อย่างจีนจะรักษาสุดชีวิตเช่นกัน
และเป็นอีกกรณีตัวอย่างที่สหรัฐไม่คิดโดดเดี่ยวตัวเอง
ยังต้องการพัวพันกับประเทศอื่นๆ สร้างความร่วมมือพหุภาคี (multilateral
system) แต่ต้องเป็นระบบที่ให้ประโยชน์ต่อตนมากพอ
รัฐบาลสหรัฐไม่ปฏิเสธกฎกติกา
แต่ต้องเป็นกฎกติกาที่เป็นประโยชน์ต่อตน คำว่าการค้าเสรีของรัฐบาลสหรัฐจึงไม่ใช่การค้าที่มุ่งให้โอกาสทุกฝ่ายได้ประโยชน์เท่าเทียม
คำถามคือ นานาชาติจำต้องยอมสูญเสียประโยชน์ของตนเพื่ออเมริกาหรือไม่
อย่างไร รัฐบาลสี จิ้นผิงกำลังทำหน้าที่ของตน
25
พฤศจิกายน 2018
ชาญชัย
คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน
คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่
23 ฉบับที่ 8051 วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2561)
--------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ทรัมป์เตือนว่า “ใครทำธุรกิจกับอิหร่าน
สหรัฐจะไม่ทำธุรกิจกับผู้นั้น” เป็นการเจาะจงเล่นงานบริษัทเอกชน
เป็นแนวทางของจักรวรรดินิยมปัจจุบัน
อีก 10
ปีข้างหน้าโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกว่าเดิม ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจการเมืองโลก
จนถึงวิถีชีวิตทุกคน แต่ไม่ใช่ทุกประเทศหรือทุกคนจะได้ประโยชน์เท่ากันแม้จะพยายามก็ตาม
แผนพัฒนาใดๆ
ของจีนสามารถตีความว่ากำลังบั่นทอนผลประโยชน์ของอีกฝ่าย แต่อาจเป็นแนวทางที่ดีกว่า
เพิ่มโอกาสเพิ่มทางเลือก สำคัญว่าสุดท้ายประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้นหรือไม่
1. ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล,
พลตรี. (2561, พฤศจิกายน 19). จีนศึกษา (วันจันทร์ที่ ๑๙ พ.ย.๖๑).
2. Full text of Xi's remarks at 26th APEC Economic Leaders'
Meeting. (2018, November 18). Xinhua.
Retrieved from http://www.xinhuanet.com/english/2018-11/18/c_137615119.htm
3. US, China in feisty clash on trade, influence at APEC. (2018, November 17). Arab News. Retrieved
from http://www.arabnews.com/node/1406171/business-economy
-----------------------------