ศึกเลือกตั้งกลางเทอม 2018 : ความหวังของประธานาธิบดีทรัมป์
การเลือกตั้งกลางเทอมที่คนไม่ค่อยสนใจเป็นโอกาสที่จะชนะอีกฝ่ายง่ายๆ
หากสามารถผลักดันให้ผู้มีสิทธิออกมาเลือกพรรครีพับลิกันแล้วประกาศว่านี่คือเสียงสวรรค์ให้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีต่อไป
ระหว่าง4 ปีที่รอเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้ง
ในปีที่ 2 ราวเดือนพฤศจิกายนจะมีการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรกับวุฒิสมาชิกจำนวนหนึ่งเรียกว่าเลือกตั้งการเทอม
(midterm election)
ข้อมูลในอดีตพบว่าพรรครัฐบาลมักเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ
ผู้ใช้สิทธิบางคนเลือกประธานาธิบดีจากพรรคหนึ่ง และเลือกอีกพรรคหนึ่งในเลือกตั้งกลางเทอมหวังให้รัฐสภาถ่วงดุลรัฐบาล
ความไม่พอใจต่อรัฐบาลจะแสดงออกผ่านการเลือกตั้งนี้ ดังเช่นปี 2006
พรรคเดโมแครทชนะเลือกตั้งครั้งใหญ่ ครองเสียงข้างมากทั้ง 2 สภา
พวกไม่ฝักใฝ่พรรคใดพรรคหนึ่งเทคะแนนให้เดโมแครท เพราะไม่พอใจสงครามกับอิรักจากนโยบายของประธานาธิบดีบุช
ผลการเลือกตั้งกลางเทอมครั้งล่าสุดเมื่อ 2014 รีพับลิกันชนะทั้ง 2 สภา ชี้ว่าประชาชนไม่ชอบรัฐบาล
แม้ประธานาธิบดีโอบามายังอยู่ในตำแหน่งต่อไป
กระแสต่อต้านทรัมป์
การที่คนอเมริกันรู้จักทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดีแล้ว ฝ่ายต่อต้านเชื่อว่าการเลือกตั้งกลางเทอมที่จะถึงนี้รีพับลิกันน่าจะเสียคะแนน
เป็นโอกาสของเดโมแครทที่แกนนำพรรคหมายมั่นปั้นมือ ไม่เพียงกลับมาครองเสียงข้างมากในสภา
ยังเล็งเป้าถึงการเลือกประธานาธิบดีครั้งต่อไปด้วย
ความนิยม ผลโพล :
โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) กลายเป็นประธานาธิบดีที่เข้ารับตำแหน่งด้วยคะแนนนิยมต่ำสุด
ผลสำรวจจาก CNN ร่วมกับ ORC และอีกชุดคือ The Washington Post กับ ABC
News ให้ข้อสรุปตรงกัน ผู้ตอบแบบสอบถามเพียงร้อยละ 40 ให้ทรัมป์สอบผ่าน
ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ผลสำรวจของ NBC News กับ The
Wall Street Journal ให้สอบผ่านเพียงร้อยละ 44
สรุปสั้นๆ คือสอบตกตั้งแต่ยังไม่รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ
ที่ปรึกษาทรัมป์ชี้แจงว่าแต่ไหนแต่ไรผลสำรวจไม่สะท้อนความนิยมต่อทรัมป์
ถ้าเชื่อผลสำรวจทรัมป์จะไม่ชนะเลือกตั้ง เป็นความจริงที่ผลสำรวจก่อนเลือกตั้งชี้ว่าฮิลลารี
คลินตันต่างหากที่น่าจะชนะ
ล่าสุด ผลโพล Washington
Post-ABC News เมื่อปลายสิงหาคมที่ผ่านมา ชาวอเมริกันจำนวนมากสนับสนุนการสอบสวนกรณีทรัมป์ติดต่อกับรัสเซียเพื่อเอาชนะเลือกตั้ง
พฤติกรรมขัดขวางของประธานาธิบดีทรัมป์เป็นหนึ่งในสาเหตุบั่นทอนคะแนนนิยมให้ตกต่ำลงอีก
ครั้งนี้ให้สอบตกแตะระดับร้อยละ 60 แล้ว เพียงร้อยละ 36 ที่ให้สอบผ่าน
ที่ร้ายแรงกว่านั้น ร้อยละ 49
เห็นว่ารัฐสภาควรเริ่มกระบวนการขับประธานาธิบดี (impeachment)
ในขณะที่ร้อยละ 46 ไม่เห็นด้วย
ทรัมป์ให้ความสำคัญกับเลือกตั้งกลางเทอม
:
โดยปกติแล้ว
เลือกตั้งการเทอมเป็นที่สนใจน้อยกว่าเลือกตั้งประธานาธิบดี
เลือกตั้งครั้งก่อนเมื่อปี 2014 มีผู้ไปใช้สิทธิเพียงร้อยละ 36.4 หรือเกิน 1 ใน
3 เพียงเล็กน้อยสำหรับประเทศที่เคยอวดอ้างว่าเป็นแบบอย่างประชาธิปไตยโลก
เหตุเพราะการเลือกประธานาธิบดีมีผลต่อพวกเขาโดยตรงมากกว่า ดังจะเห็นว่านโยบายสำคัญๆ
ระดับประเทศมาจากประธานาธิบดีหรือรัฐบาลกลาง แกนนำต่างๆ
รวมทั้งตัวประธานาธิบดีจึงไม่ค่อยให้ความสำคัญที่จะช่วยลูกพรรคหาเสียง
เม็ดเงินที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์มีน้อย
อย่างไรก็ตาม
ถ้ามองอีกด้านจะเป็นโอกาสแก่ทั้ง 2 พรรคที่จะชนะคู่แข่งได้ง่ายๆ หากสามารถผลักดันให้คนอีกมากที่เดิมไม่ใช้สิทธิไปเข้าคูหาเลือกตั้ง
หากทรัมป์ทำสำเร็จผลการเลือกตั้งมีน้ำหนักมากกว่าผลโพล ที่สำคัญกว่านั้นคือ ส.ส.
ส.ว. พรรคของตนน่าจะสนับสนุนให้เขาดำรงตำแหน่งต่อไป
ในทางกลับกันหากแพ้หนักย่อมสร้างความไม่พอใจแก่คนในพรรค
กลยุทธ์ของทรัมป์ตรงไปตรงมา
พยายามอาศัยการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นที่แข็งแกร่ง
เป็นแรงผลักดันให้คนอเมริกันออกมาเลือกสนับสนุนผู้สมัครพรรครีพับลิกัน
ทรัมป์ให้เครดิตกับผลงานของตนว่าเศรษฐกิจประเทศดีกว่าอดีตที่ผ่านมา
คนว่างงานลดน้อยลงมาก หลายบริษัทที่ลงทุนต่างประเทศกำลังกลับมา
สมาชิกนาโตจะช่วยสนับสนุนงบกลาโหมอีกหลายพันล้านดอลลาร์
และตอนนี้กำลังเจรจาต่อรองการค้าครั้งใหญ่กับหลายประเทศอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน
ในอีกด้านหนึ่ง
เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านหนังสือ “Fear” แต่งโดย บ๊อบ
วู้ดวาร์ด (Bob Woodward) บรรยายสภาพการทำงานในทำเนียบขาวที่เต็มด้วยความวุ่นวายจนแทบจะพัง
(nervous breakdown) ต้นเหตุสำคัญอยู่ที่ตัวประธานาธิบดีทรัมป์
ระบุว่าเจ้าหน้าที่บางคนพยายามซ่อนเอกสารสำคัญให้พ้นจากสายตาประธานาธิบดี
เกรงว่าท่านจะทราบและสั่งการทำ “อย่างผิดๆ” เจ้าหน้าที่อาวุโสบางคน เช่น จอห์น
เคลลีย์ (John Kelly) หัวหน้าเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว (chief
of staff) ถึงกับเอ่ยกับผู้ร่วมงานว่าทรัมป์เป็น “ไอ้งี่เง่า” (an
idiot)
ด้านทรัมป์ชี้แจงว่าหนังสือที่โจมตีตนนั้นเป็นเรื่องแต่ง
ปั้นน้ำเป็นตัว ไม่ตรงความจริง เป็นแผนของพรรคเดโมแครทเพื่อหวังชนะเลือกตั้งกลางเทอม
ส่วนนายเคลลีย์ออกมาพูดแก้ว่าตนไม่เคยพูดว่าประธานาธิบดีเป็นคนงี่เง่า
อันที่จริงตรงกันข้ามเลย
ไม่ว่าพรรคเดโมแครทจะอยู่เบื้องหลังหรือไม่
ทรัมป์โยนความผิดให้และเชื่อมโยงกับการเลือกตั้งกลางเทอม
ท่ามกลางกระแสขับทรัมป์ออกจากตำแหน่ง ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า
“การเลือกตั้งครั้งนี้ (เลือกตั้งกลางเทอม) ไม่ใช่เพียงแค่ให้คะแนนผู้สมัคร
แต่เป็นการเลือกว่าจะให้พรรคใดควบคุมรัฐสภา” ทั้งยังเกี่ยวข้องการขับทรัมป์
แต่จะขับได้หรือในเมื่อเขาทำหน้าที่อย่างดี ไม่ได้ทำอะไรผิด เศรษฐกิจประเทศกำลังไปได้ดี
พร้อมกับชี้หากเขาถูกขับออกจากตำแหน่งจะเป็นความผิดของกลุ่มผู้สนับสนุนเขา
และอเมริกาจะตกต่ำกลายเป็นกลุ่มประเทศโลกที่ 3 เป็นตลกร้ายหากประธานาธิบดีผู้ทำหน้าที่ได้อย่างดีแต่ถูกขับออกจากตำแหน่ง
สำหรับทรัมป์แล้วเลือกตั้งกลางเทอมครั้งนี้มีความสำคัญมาก
เพราะผูกผลการเลือกตั้งกับความชอบธรรมที่จะดำรงตำแหน่งต่อไปในสมัยนี้และสมัยหน้า
ไม่กี่วันก่อนทรัมป์เอ่ยว่า
“ยังไม่มีใครที่พอจะเอาชนะเขาได้ใน (การเลือกตั้งประธานาธิบดี) ปี 2020”
เพราะผลงานของเขาโดดเด่น แม้การเลือกตั้งปี 2020 อาจดูเหมือนไกล
ความจริงแล้วใกล้กว่าที่คิด โดยทั่วไปเมื่อย่างเข้าปลายปี 2019 หรือต้นปี 2020
(อีกราวปีเศษ) บรรดาผู้สมัครจะเปิดตัวและเริ่มหาเสียงอย่างเป็นทางการ
หากพรรครีพับลิกันชนะหรือสามารถรักษาที่นั่งในสภาในระดับเดิม
ทรัมป์ย่อมสามารถพูดเต็มปากเต็มคำว่าพลเมืองอเมริกันสนับสนุนให้เขาเป็นประธานาธิบดีต่อไป
เลือกตั้งกลางเทอม “เอาทรัมป์” หรือ
“ไม่เอาทรัมป์” :
จากสภาพที่เห็นในช่วงนี้
เลือกตั้งกลางเทอมไม่ใช่เพียงแค่การเลือกตั้ง ส.ส. กับ ส.ว.จำนวนหนึ่งเท่านั้น
แต่ถูกดึงให้เป็นการชิงชัยระหว่างฝ่ายที่ “เอาทรัมป์” กับ ฝ่ายที่ “ไม่เอาทรัมป์”
พยายามชี้ให้เข้าใจว่ามีผลต่อการขับทรัมป์ออกจากตำแหน่ง
เรื่องน่าคิดคือจริงหรือที่เลือกตั้งส.ส.
ส.ว. ดังกล่าวสัมพันธ์กับการขับทรัมป์
คำถามที่สำคัญกว่าคือควรนำมาผูกโยงกันหรือไม่ เพราะส.ส. ส.ว. มีบทบาทหน้าที่ของตัวเองอยู่แล้ว
ควรที่จะเลือกสมาชิกรัฐสภาด้วยเหตุผลหลักว่าทรัมป์ควรเป็นประธานาธิบดีต่อไปหรือไม่
โดยไม่คำนึงคุณสมบัติ ความเหมาะสมของผู้สมัคร ฯลฯ
อย่าลืมว่าที่ผ่านมาคนอเมริกันต่อว่าสมาชิกรัฐสภาหลายคนไม่ทำหน้าที่สมบทบาท
คำนึงผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าผลประโยชน์ประเทศ ทำตัวแปลกแยกจากประชาชน ฯลฯ
การหาเสียงของประธานาธิบดีทรัมป์ดูเหมือนต้องการให้ชาวอเมริกันตัดสินใจง่ายๆ
ให้ออกมาเลือกตั้งโดยเลือกว่าจะ “เอาทรัมป์” หรือ “ไม่เอาทรัมป์”
วงจรประชาธิปไตยอเมริกาหมุนอีกรอบ
16 กันยายน 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน
คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่
22 ฉบับที่ 7981 วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ.2561)
-----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) จากชื่อที่ไม่มีใครคิดว่าจะชนะ
ทรัมป์เป็นนักธุรกิจ ไม่ใช่นักการเมือง เมื่อลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจึงมีคำถามว่าจะไปรอดหรือไม่ ผลปรากฏว่าทรัมป์สามารถชนะผู้สมัครคนดังคนอื่นๆ กลายเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันด้วยคะแนนสูงลิ่ว เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ยุทธศาสตร์ กลยุทธ์หาเสียงของทรัมป์ เป็นที่น่าศึกษา ให้ความเข้าใจทั้งวิธีหาเสียงของเขา และในประเด็นที่กว้างกว่า เช่น มุมมองของชาวอเมริกัน ระบอบประชาธิปไตยอเมริกา
บรรณานุกรม :ทรัมป์เป็นนักธุรกิจ ไม่ใช่นักการเมือง เมื่อลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจึงมีคำถามว่าจะไปรอดหรือไม่ ผลปรากฏว่าทรัมป์สามารถชนะผู้สมัครคนดังคนอื่นๆ กลายเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันด้วยคะแนนสูงลิ่ว เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ยุทธศาสตร์ กลยุทธ์หาเสียงของทรัมป์ เป็นที่น่าศึกษา ให้ความเข้าใจทั้งวิธีหาเสียงของเขา และในประเด็นที่กว้างกว่า เช่น มุมมองของชาวอเมริกัน ระบอบประชาธิปไตยอเมริกา
1. 2014 midterm election turnout lowest in 70 years. (2014, November 10).
2014 midterm election turnout lowest in 70 years. PBS News. Retrieved
from http://www.pbs.org/newshour/updates/2014-midterm-election-turnout-lowest-in-70-years/
2. Ansolabehere, Stephen., Ginsberg, Benjamin., Lowi, Theodore J., & Shepsle, Kenneth A. (2017).
American Government: Power and Purpose (14Ed. Core Edition. New York: W.
W. Norton & Company.
3. Bardes, Barbara A., Shelley, Mack C., & Schmidt, Steffen
W. (2012). American Government and Politics Today: Essentials (2011 -
2012 Ed.). USA: Wadsworth, Cengage Learning.
4. Baker, Peter. (2017, January 17). Trump Entering White
House Unbent and Unpopular. The New York Times. Retrieved from
https://www.nytimes.com/2017/01/17/us/politics/donald-trump-obama-approval-rating.html?_r=0
5. Cabinet members discussed removing Donald Trump
from office, according to unnamed senior figure. (2018,
September 5). The National. Retrieved from
https://www.thenational.ae/world/the-americas/cabinet-members-discussed-removing-donald-trump-from-office-according-to-unnamed-senior-figure-1.767387
6. Donald Trump Says Your Opinions Are Fake If You Don’t
Like His Policies. (2017, February 6). The Huffington Post. Retrieved
from http://www.huffingtonpost.com/entry/trump-negative-polls-fake_us_58988431e4b040613137c6ee
7. Magleby, David B., Light, Paul C., & Nemacheck, Christine L.
(2014). Government by the People (25th Ed.). USA: Pearson Education.
8. Maisel, L. Sandy. (2007). American Political Parties and Elections:
A Very Short Introduction. New York: Oxford University Press.
9. Poll: 60
percent disapprove of Trump, while clear majorities back Mueller and Sessions.
(2018, August 31). The Washington
Post. Retrieved from
https://www.washingtonpost.com/politics/poll-60-percent-disapprove-of-trump-while-clear-majorities-back-mueller-and-sessions/2018/08/30/4cd32174-ac7c-11e8-a8d7-0f63ab8b1370_story.html
10. Transcript:
Phone call between President Trump and journalist Bob Woodward. (2018,
September 4). The Washington Post. Retrieved from
https://www.washingtonpost.com/politics/2018/09/04/transcript-phone-call-between-president-trump-journalist-bob-woodward/?utm_term=.c11bae1b4d86
11. Trump
Calls New Book Critical of His Presidency 'Work of Fiction'. (2018,
September 5). VOA. Retrieved from
https://www.voanews.com/a/trump-unleashes-new-attack-on-book-critical-of-his-presidency/4558694.html
12. Trump Speculates About His Impeachment During
Rally: ‘If It Does Happen, It’s Your Fault’. (2018,
September 6). The Huffington Post. Retrieved from
https://www.huffingtonpost.com/entry/trump-impeachment-rally-montana_us_5b91e0aee4b0162f472b86cb
13. White
House Rejects NYT Column Attributed To Anonymous Official That Criticizes
Trump. (2018, September 5). NPR.
Retrieved from
https://www.npr.org/2018/09/05/644974169/white-house-rejects-column-attributed-to-anonymous-official-that-faults-trump
-----------------------------