วิสัยทัศน์รวม 2 เกาหลีของมุน แจ-อิน

2 เกาหลีมีแนวคิดรวมชาติมานานแล้ว ถ้ามองจากมุมเกาหลีใต้จะเป็นการยุติความทุกข์ยาก การตกอยู่ในความหวาดหวั่นของภัยสงครามที่มหาอำนาจวางไว้ เป็นความพยายามเขียนประวัติศาสตร์บทใหม่

            เนื่องในวันประกาศอิสรภาพ (Liberation Day – จากการเป็นอาณานิคมญี่ปุ่น) และฉลองวันชาติปีที่ 70 ประธานาธิบดีมุน แจ-อิน (Moon Jae-in) แห่งเกาหลีใต้แสดงสุนทรพจน์ถึงเป้าหมายกับแนวทางการสร้างสันติภาพและความมั่งคั่งรุ่งเรืองในคาบสมุทรเกาหลี มีสาระสำคัญว่า
          ประการแรก ไม่มีนโยบายแบ่งแยก 2 เกาหลีอีกแล้ว
            เกาหลีจะมีเสรีภาพแท้ก็ต่อเมื่อ 2 เกาหลีอยู่ด้วยกันโดยสันติ แม้ว่าการรวมเป็นหนึ่งเดียวทางการเมืองจะต้องผ่านหนทางอีกยาวไกล แต่เริ่มได้ด้วยการมีเศรษฐกิจร่วม (a joint economic community) ประชาชน 2 ฝั่งเดินทางเยือนอีกฝั่งโดยเสรี
            บัดนี้ 2 เกาหลีกำลังมุ่งหน้าสู่สันติภาพ ไม่แสดงความเป็นปรปักษ์กันอีกแล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายกำลังปฏิบัติตามข้อตกลงการประชุมสุดยอดเมื่อปลายเมษายนที่ผ่านมา เช่นเดียวกับการประชุมสุดยอด 2 ผู้นำระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือที่สิงคโปร์ ทุกฝ่ายประกาศเดินหน้าสู่สันติภาพและความมั่งคั่ง หวังว่าเกาหลีเหนือจะปลอดอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐเลิกต่อต้านเกาหลีเหนือ
          ประการที่ 2 เป็นมิตรกับทุกฝ่าย
            เกาหลีใต้ในอนาคตยังคงเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับจีน ส่งเสริมความร่วมมือทางทหาร 3 เส้าระหว่างรัสเซียกับ 2 เกาหลี ญี่ปุ่นกับเกาหลีเหนือจะกระชับความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทั้งหมดนี้จะส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งแก่คาบสมุทรเกาหลีและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (หมายถึง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น รัสเซียแถบตะวันออกไกล)

          ประการที่ 3 ก้าวต่อไปจากนี้
ประธานาธิบดีมุนเอ่ยถึงแผนขั้นต่อไปว่าจะเดินทางไปเกาหลีเหนือเดือนหน้า หารือกับผู้นำฝ่ายเหนือเพื่อเดินหน้าตามแถลงการณ์ Panmunjom Declaration หารือเรื่องประกาศยุติสงครามเกาหลีพร้อมกับลงนามสันติภาพ คาบสมุทรเกาหลีปลอดนิวเคลียร์
            ความขัดแย้งในอดีตทำให้ต่างฝ่ายไม่วางใจอีกฝ่าย งานสำคัญหนึ่งที่ต้องทำคือสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันทั้งระหว่าง 2 เกาหลีและสหรัฐกับเกาหลีเหนือ
            ความร่วมมือทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีสันติภาพ และคาบสมุทรปลอดนิวเคลียร์ จะเป็นเหตุให้เศรษฐกิจพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ชาวเกาหลีทุกคนไม่ว่าเหนือหรือใต้จะได้ประโยชน์ มีงานวิจัยชี้ว่าหากเป็นไปตามแผนจะสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจอย่างน้อย 150,000 ล้านดอลลาร์ใน 30 ปี จะมีทางรถไฟรถยนต์เชื่อม 2 เกาหลี ลงทุนพัฒนาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในเกาหลีเหนือ ความร่วมมือในเขตเศรษฐกิจพิเศษและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษจะเพิ่มการจ้างงานถึง 100,000 ตำแหน่ง
            เป็นนโยบายเปลี่ยนจากสนามรบเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ นำมาซึ่งสันติภาพและความมั่งคั่งมั่นคงอย่างยั่งยืน เปรียบเสมือนพัฒนาการของสหภาพยุโรปที่เริ่มต้นจาก “ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป” (European Coal and Steel Community) ด้วยเหตุผลหลักคือเป็นแผนรูปธรรมที่จะเลี่ยงไม่ให้ประเทศในยุโรปทำสงครามกันอีก จนบัดนี้กลายเป็นสหภาพยุโรป (EU)
          ประการที่ 4 วิสัยทัศน์ East Asian Railroad Community
ประธานาธิบดีมุน แจ-อิน กล่าวถึงอีกวิสัยทัศน์ว่าจะเสนอสร้าง “ประชาคมรถไฟเอเชียตะวันออก” (East Asian Railroad Community) อันประกอบด้วยกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (หมายถึง 2 เกาหลี จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และมองโกเลีย) กับสหรัฐ รวมทั้งสิ้น 7 ประเทศ เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจ 7 ประเทศนี้ และจะเริ่มวางระบบสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคที่มีทั้ง 7 ประเทศร่วมกัน 
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
          ประการแรก อนาคตที่สร้างได้
            ข้อคิดอย่างหนึ่งที่ได้จากวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีมุนคือ อนาคตเป็นสิ่งที่เลือกได้สร้างได้ เอ่ยถึงตัวอย่างสหภาพยุโรปที่บรรดาประเทศในกลุ่มทำสงครามเรื่อยมา เป็นบ่อเกิดของสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ให้มาอยู่ร่วมกันโดยสันติบนพื้นฐานความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางทหาร นโยบายต่างประเทศ ในกรณีเกาหลีเป็นไปได้ว่ายังคงให้เป็นเกาหลีเหนือกับใต้ ไม่รวมตัวเป็นหนึ่งอย่างกรณีเยอรมัน ทั้งนี้เพราะบริบทต่างกัน ขอเพียงมีสันติภาพ ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจก็เพียงพอ เกาหลีใต้ไม่คิดล้มล้างระบอบอำนาจการเมืองของฝ่ายเหนือ การรวมเป็นระบอบปกครองเดียวปล่อยให้เป็นเรื่องของคนรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป
ที่สำคัญคือวิสัยทัศน์นี้ให้ความสำคัญกับประชาชนทั้ง 2 ฝั่ง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่จะสร้างงาน ส่งเสริมการอยู่ดีกินดี ลดความยากจนในเกาหลีเหนือ ส่งเสริมเสรีภาพ ลดการละเมิดสิทธิมนุษยชน อนาคต 2 เกาหลีจะดีขึ้นกว่าเดิม
          ประการที่ 2 วิสัยทัศน์ที่ครอบคลุม
            การแสดงวิสัยทัศน์รอบนี้ประกอบด้วย 2 ส่วนที่สัมพันธ์กัน กรอบเล็กคือการรวมชาติ กรอบที่ใหญ่กว่าคือข้อเสนอสร้าง ประชาคมรถไฟเอเชียตะวันออก ลำพังการรวมชาติอาจไม่ทำให้เกาหลีมั่นคงจริง จึงต้องมีอีกวิสัยทัศน์ที่ดึงทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง ให้ประเทศเหล่านี้ลดการเผชิญหน้าทางทหาร มุ่งสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
            ความท้าทายคือเมื่อพิจารณาจากภูมิศาสตร์จะเห็นว่าญี่ปุ่นเป็นเกาะที่ไกลจากแผ่นดินใหญ่ ยิ่งถ้าเป็นสหรัฐที่อยู่อีกฝากของมหาสมุทรแปซิฟิก การเชื่อมต่อทางรถไฟหรือคมนาคมทางบกจึงเป็นเรื่องแปลก
            ที่ประหลาดกว่านั้นคือ เป็นการเชื่อมต่อระหว่างจีน รัสเซียและสหรัฐ อย่างไรก็ตามเป็นการประกาศเจตนารมณ์ของผู้ใฝ่สันติ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่
          ประการที่ 3 การทูตเชิงรุก
            ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐมีอิทธิพลต่อนโยบายความมั่นคง ความเป็นไปของเกาหลีใต้เรื่อยมา เช่นเดียวกับที่จีนมีอิทธิพลต่อเกาหลีเหนือ ด้วยเหตุผลเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ แต่ไม่แน่ใจว่าเพื่อความมั่นคงของใครมากกว่า ยุทธศาสตร์การรวมชาติเป็นการทูตเชิงรุกของเกาหลีใต้ที่ต้องการปลดแอกจากอิทธิพลสหรัฐ (หรือลดน้อยลง) การเอ่ยถึงคาบสมุทรปลอดนิวเคลียร์หมายถึงปลอดนิวเคลียร์ของสหรัฐ รัสเซียและจีนด้วย เป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจมีสนธิสัญญาปลอดนิวเคลียร์กับทั้ง 3 มหาอำนาจ ห้ามเครื่องบิน เรือรบ เรือดำน้ำที่ติดอาวุธนิวเคลียร์เข้ามาในเขตคาบสมุทร
            แม้จะยังเป็นพันธมิตรกันอยู่ แต่ความจำเป็นที่จะต้องคงกองกำลังอเมริกันในเกาหลีใต้จะลดลง การเจรจาต่อรองให้เกาหลีใต้ช่วยออกค่าใช้จ่ายกองทัพอเมริกันในเกาหลีใต้จะบรรเทา  
          ประการที่ 4 ความฝันของคนเกาหลี
            ที่ทุกวันนี้มีเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้เป็นผลพวงจากประวัติศาสตร์ตั้งแต่การเป็นอาณานิคมญี่ปุ่น เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกและตามมาด้วยสงครามเย็น ทำให้เกาหลีถูกมหาอำนาจแบ่งออกเป็นเหนือกับใต้ ถูกตีตราว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์กับพวกทุนนิยมประชาธิปไตย สงครามเกาหลีคร่าชีวิตคนหลายสัญชาติ ทั้งอเมริกัน โซเวียต จีน ฯลฯ แต่ฝ่ายที่เสียชีวิตมากที่สุดคือคนเกาหลีหลายล้านคน และทำให้ 2 เกาหลีอยู่ในความตึงเครียดเป็นระยะๆ
            ผู้ที่รับความทุกข์ยากลำบากมากที่สุดคือประชาชน โดยเฉพาะชาวเกาหลีเหนือ
          ความฝันของคนเกาหลีคือการรวมชาติ ซึ่งหมายถึงยุติความขัดแย้งที่พวกเขาไม่ได้สร้าง แต่ต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากกว่าใคร
            นี่คือชีวิตจริงของคนเกาหลีหลายสิบล้านคน ที่ต้องทนทุกข์จากมหาอำนาจในแต่ละยุคสมัย

            วิสัยทัศน์รวมชาติไม่ใช่ของแปลกใหม่ แต่หากทำสำเร็จประธานาธิบดีมุน แจ-อิน จะเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของเกาหลี ทั้งนี้ต้องให้ความดีความชอบแก่ผู้นำเกาหลีเหนือด้วย
            2 ผู้นำเกาหลีนัดพบปะอีกครั้งที่กรุงเปียงยางเดือนหน้า การแสดงวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีมุนเป็นการปูท่าทีของฝ่ายใต้ คาดว่าฝ่ายเหนือจะตอบรับและแถลงการณ์การประชุมสุดยอดรอบหน้าน่าจะให้ความชัดเจนยิ่งขึ้นว่าจะรวมกันอย่างไร จะเดินหน้าอย่างไร
            บทความนี้มุ่งชี้ความคิดของเกาหลีใต้ที่ต้องการสันติภาพ ไม่ได้เอ่ยถึงเป้าหมายความต้องการของตัวแสดงอื่นๆ โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจที่อาจเห็นต่าง แม้ว่าทุกฝ่ายจะเอ่ยคำว่า “เพื่อสันติภาพและความมั่งคั่ง” เพราะสันติภาพกับความมั่งคั่งของแต่ละประเทศมีความหมายแอบแฝงต่างกัน ใช้วิธีการต่างกัน
            เป็นตรรกะเดียวกันกับที่ทำไมเกาหลีถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ
19 สิงหาคม 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7953 วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2561)
------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ไม่ว่าผลการประชุมจะเป็นอย่างไร ต้องไม่ลืมว่าความเป็นไปของคาบสมุทรเกาหลีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่ใหญ่กว่า ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ของสหรัฐ จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น
เป็นเวลากว่า 100 ปีที่คนเกาหลีตกอยู่ในความทุกข์ยาก ผ่านสงครามหลายครั้งที่คร่าชีวิตหลายล้านคน ถูกรายล้อมด้วยมหาอำนาจ เป็นข้อคิดว่าสันติภาพไม่ได้หาได้โดยง่ายอย่างที่คิด
การประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐกับเกาหลีเหนืออาจนำสู่สันติภาพหรืออาจเป็นชนวนการเผชิญหน้ารอบใหม่เป็นเรื่องน่าติดตาม เป็นอีกครั้งที่เกาหลีเหนือใช้ประโยชน์จากโครงการนิวเคลียร์

บรรณานุกรม :
1. Full text of President Moon Jae-in’s address on Korea’s 73rd Liberation Day. (2018, August 15). The Korea Herald. Retrieved from http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20180814000716
2. Speculation abounds about dates of 3rd Moon-Kim summit. (2018, August 14). The Korea Herald. Retrieved from http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20180815000095
-----------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก