ทรัมป์อยากเป็นมิตรกับรัสเซีย แต่เป็นมิตรเพื่อใคร

หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ประธานาธิบดีทรัมป์ชี้แจงว่าการเป็นมิตรกับรัสเซียย่อมดีกว่า เพราะทั้งคู่เป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ คำถามคืออยากเป็นมิตรเพื่อใคร

            หลังการวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดจากผู้แทนรัฐสภาทั้ง 2 พรรคใหญ่ ประธานาธิบดีทรัมป์ชี้แจงว่าตนพูดผิด จริงๆ แล้วต้องการพูดว่า “ผมคิดว่า มี เหตุผลว่าทำไมรัสเซียแทรกแซงเลือกตั้ง” แทนคำว่า ไม่มี เหตุผลที่รัสเซียจะแทรกแซงเลือกตั้ง
            ในตอนแรกประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ใช่คนเดียวที่เปลี่ยนท่าทีมองรัสเซียเป็น “คู่แข่งขัน” แทนการเป็น “ปรปักษ์” (enemy) ส.ส. ส.ว.บางคนคิดเห็นตรงกับทรัมป์ รอดูผลงานของรัฐบาล แต่เมื่อการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำสหรัฐกับรัสเซียดำเนินไปสถานการณ์เริ่มเปลี่ยนทิศ
สมาชิกรัฐสภาหลายท่านทั้งจากพรรครีพับลิกันกับเดโมแครทตำหนิทรัมป์อย่างเปิดเผย ยกตัวอย่าง วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครท มาร์ค วอร์เนอร์ (Mark Warner) วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน มาร์โก รูบิโอ (Marco Rubio) แถลงข่าวร่วมกันว่าประชาคมโลกต้องรับรู้ว่าชาติประชาธิปไตยเข้าไม่ได้กับรัฐบาลปูตินหรือระบอบอำนาจนิยมใดๆ ต้องร่วมกันต่อต้านการรุกรานจากรัสเซีย
            วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน เบน ซาซ์ (Ben Sasse) กล่าวว่า “ชาวอเมริกันผู้รักชาติทุกคนควรเข้าใจว่าปูตินไม่ใช่เพื่อนอเมริกาและไม่ใช่คู่หูของประธานาธิบดี”
พอล ไรอัน (Paul Ryan) แกนนำสำคัญของพรรครีพับลิกันกล่าวว่า “เรายืนเคียงพันธมิตรนาโตและทุกประเทศที่กำลังเผชิญการรุกรานจากรัสเซีย”

รัสเซียแทรกแซงเลือกตั้งอเมริกาหรือไม่ :
            ตั้งแต่สิ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปลายปี 2016 กระแสข่าวรัฐบาลรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งดังหนาหูขึ้นทุกที ประธานาธิบดีโอบามาใช้ช่วงเวลาสุดท้ายของท่านลงนามให้สืบสวนเรื่องนี้และดำเนินเรื่อยมา ล่าสุดคณะลูกขุนใหญ่ชี้ว่าจารชนรัสเซีย 12 คนเกี่ยวข้องกับการแฮกข้อมูลพรรคเดโมแครทหวังช่วยทรัมป์ให้ชนะเลือกตั้ง บ่งชี้ว่ารัฐบาลรัสเซียแทรกแซงกิจการภายใน บ่อนทำลายประชาธิปไตย เป็นภัยความมั่นคงร้ายแรง จำต้องปฏิบัติต่อรัสเซียในฐานะปรปักษ์ ลงโทษรัสเซียอย่างใดอย่างหนึ่ง
            การพิจารณาคดีของศาลมาจาก กลุ่มหน่วยงานข่าวกรองที่ได้ร่วมสรุปแล้วว่ารัฐบาลปูตินแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016

หลังการประชุมสุดยอด ทรัมป์เชื่อว่ารัสเซียไม่ได้แทรกแซงเลือกตั้ง เหตุเพราะประธานาธิบดีปูตินปฏิเสธอย่างแข็งขัน คำพูดนี้อาจตีความว่าประธานาธิบดีสหรัฐเชื่อคำพูดของผู้นำรัสเซียมากกว่าหน่วยงานข่าวกรอง สถาบันศาลสหรัฐ
            หลังถูกวิพากษ์อย่างหนัก ทรัมป์กล่าวซ้ำว่าตนยังเชื่อมั่นหน่วยงานข่าวกรองทั้งหมด แต่หากต้องการสร้างอนาคตที่ดีกว่าจำต้องมองข้ามอดีต เพื่อ 2 มหาอำนาจนิวเคลียร์จะเดินหน้าไปด้วยกัน

การพูดกลับไปกลับมา :
            ถ้าพิจารณาอย่างละเอียด เมื่อทรัมป์เอ่ยถึงรัสเซียจะมีลักษณะเหมือนหลายประเด็นคือ กลับไปกลับมา (flip-flop) บางครั้งพูดแง่บวกบางครั้งพูดแง่ลบ บางครั้งบอกว่าจะทำแล้วเปลี่ยนเป็นยังไม่ทำ
            ดังที่ได้เสนอในบทความก่อนว่าในช่วง 100 วันของตำแหน่งประธานาธิบดี ลักษณะหนึ่งของ โดนัลด์ ทรัมป์ คือนโยบายต่างประเทศที่เปลี่ยนกลับไปกลับมา ไม่ตรงกับที่หาเสียง เรื่องนี้อาจตีความว่าเป็นการใช้กลยุทธ์ “คาดเดาไม่ได้” (unpredictable) ป้องกันไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามรู้ล่วงหน้า จะไม่พูดตรงความจริง ดังที่ทรัมป์เคยพูดในช่วงหาเสียงว่าเป็นความลับ ไม่อาจเปิดเผยความจริง (บางครั้งที่พูดจึงเป็นเท็จ)
            ผลจากการที่เป็นเช่นนี้อาจมองว่าทำให้ “สามารถพูดเท็จ” หรือพูดโกหกสาธารณะ ไม่มีใครคาดเดาได้ว่ากำลังพูดความจริงหรือโกหก ทั้งยังสามารถพูดเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายตามความเหมาะสม เช่น เรื่องที่ทรัมป์พูดเป็นนัยโทษรัฐบาลเยอรมันทรยศนาโต พร้อมๆ กับที่ชื่นชมว่าเป็นพันธมิตรในช่วงเวลาเพียง 2 วัน
            ประธานาธิบดีทรัมป์กลายเป็นบุคคลที่สามารถสร้างข่าวเท็จ (fake news) ในขณะที่มักกล่าวโทษสื่อหรือผู้อื่นว่ากุข่าวเท็จ ไม่น่าเชื่อถือ มีเจตนามุ่งร้าย หว่านความแตกแยก สร้างความเกลียดชัง เป็นศัตรูต่ออเมริกา

ทรัมป์อยากคืนสัมพันธ์ปกติกับรัสเซีย :
หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้าประชุมสุดยอดกับปูติน ประธานาธิบดีทรัมป์เปรยว่าควรให้รัสเซียอยู่ในที่ประชุม G-7 อีกครั้ง หลังถูกขับออกจากกลุ่มในยุคโอบามาครั้งเหตุการณ์รัสเซียยึดไครเมียเมื่อปี 2014
            ทรัมป์แสดงท่าทีอย่างเปิดเผยว่าอยากคืนสัมพันธ์ระดับปกติกับรัสเซีย แม้ว่าปัจจุบันจะขัดแย้งกันหลายเรื่อง
ในช่วงประชุมนาโต ทรัมป์กล่าวว่าอียูคือปรปักษ์ (foe) ตัวสำคัญที่สุดของสหรัฐในขณะนี้ รัสเซียเป็นปรปักษ์เช่นกัน จีนเป็นปรปักษ์ทางเศรษฐกิจ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเลวร้าย ความหมายคือพวกเขาเป็นคู่แข่ง (competitor) ผมเคารพผู้นำประเทศเหล่านี้ ผมรักประเทศเหล่านี้ แต่ในเรื่องการค้าพวกเขาเอาเปรียบเราและหลายประเทศที่ว่าคือสมาชิกนาโต อีกทั้งพวกเขาไม่เพิ่มงบกลาโหมอย่างที่ควร
คำว่าปรปักษ์หรือศัตรู (foe) ตามความหมายของประธานาธิบดีทรัมป์ในที่นี้ ตีความได้ว่าไม่ใช่ศัตรูที่ต้องทำลายล้าง มองในเชิงคู่แข่งการค้าทำนองบริษัทคู่แข่ง เน้นเรื่องเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน
แต่การเอ่ยว่าทั้งอียู จีนและรัสเซียล้วนเป็นปรปักษ์ทำให้เกิดภาพว่ารัสเซียไม่แตกต่างจากอียู (พันธมิตรนาโต) เพราะทั้งหมดคือคู่แข่ง เป็นการลดทอนภัยคุกคามจากรัสเซียสวนทางกับที่นักยุทธศาสตร์ นักการเมืองอเมริกันหลายคนเห็นว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคามร้ายแรง

            ถ้ามองในแง่บวก การลืมอดีตเริ่มสัมพันธ์ใหม่เป็นแนวทางที่ใช้กัน แต่ต้องลงรายละเอียดว่าจะไปด้วยกันอย่างไร ในเรื่องใด เพราะมีหลายประเด็นที่สหรัฐกับรัสเซียขัดแย้งชัดเจน เช่น กรณีความมั่นคงของยูเครน ซีเรีย อิหร่าน เรื่องเยอรมันกับหลายประเทศในอียูซื้อน้ำมันจากรัสเซีย (ที่ทรัมป์เพิ่งกล่าวหารัฐบาลแมร์เคิลว่าร่วมมือกับศัตรูนาโต) ประเด็นสงครามการค้ากับจีนที่กำลังร้อนแรง การที่รัสเซียเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์สำคัญของจีน ฯลฯ มีคำถามว่ารัฐบาลสหรัฐพร้อมจะให้รัสเซียฟื้นฟูประเทศเต็มที่ บนพื้นฐานที่รัสเซียมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนใช่หรือไม่
เป็นมิตรเพื่อใคร :
            ในเชิงยุทธศาสตร์ความมั่นคงระหว่างประเทศ การเป็นมิตรหรือแม้กระทั่งเพียงลดความเป็นปรปักษ์ ลดการเผชิญหน้า จะส่งเสริมบรรยากาศสันติภาพโลกได้เป็นอย่างดี ความขัดแย้งในหลายภูมิภาค หลายประเทศจะลดลง แต่แนวทางนี้สวนทางยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐที่มองเรื่อยมาว่ารัสเซียกับจีนเป็นปรปักษ์ เป็นภัยคุกคามร้ายแรง
            ดังนั้น จะเป็นการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่หากรัฐบาลทรัมป์เปลี่ยนท่าทีต่อรัสเซีย
            เรื่องที่หลายคนกังวลคือทรัมป์ใช้โอกาสนี้เจรจาลับกับปูตินเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว และไม่มีผู้ใดรู้เพราะเป็นการพูดคุยในที่ลับ มีเพียงล่ามส่วนตัวเท่านั้นที่เข้าร่วม (แต่ล่ามส่วนตัวของทรัมป์อาจถูกเชิญออกนอกห้องก่อนการหารือจริงๆ)
หากสหรัฐคืนดีกับรัสเซีย ย่อมเป็นไปได้ว่าจะยุติคดีที่หน่วยงานหลายฝ่ายกำลังเดินหน้าจับผิดรัฐบาลรัสเซียที่แทรกแซงเลือกตั้ง ช่วยให้ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี
            การเป็นมิตรย่อมดีกว่าศัตรู คำถามคือเป็นมิตรเพื่อใคร
มีอย่างน้อย 2 บุคคลสำคัญที่พูดต่อสาธารณะว่าประธานาธิบดีทรัมป์ “ขายชาติ” (treasonous) นั่นคืออดีตผู้อำนวยการ CIA จอห์น เบรนนัน (John Brennan) กับแกนนำรีพับลิกัน พอล ไรอัน

แก้ไขอย่าแก้ตัว นิวเคลียร์อเมริกา :
            วันต่อมาหลังการประชุมสุดยอด ประธานาธิบดีทรัมป์ทวิชข้อความว่าบางคนเกลียดความจริงที่ว่าผมกับประธานาธิบดีรัสเซียไปด้วยกันได้ดี “พวกเขาต้องการทำสงคราม”
            ประเด็นการลดจำนวนอาวุธนิวเคลียร์เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ทดสอบความจริงใจของทรัมป์ หากรัฐบาลทรัมป์รักสันติจริง ข้อเสนอที่หลายฝ่ายเอ่ยถึงเสมอมาคือให้ลดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์
ปัจจุบันสหรัฐมีนิวเคลียร์เกือบ 6,800 หัวรบ รัสเซีย 7,000 หัวรบ ฝรั่งเศสมีราว 300 หัวรบ อังกฤษ 225 จีนมีเพียง 270 หัวรบ อินเดียมี 120-130 หัวรบ ปากีสถานมี 130-140 หัวรบ อิสราเอล 80
            ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่าในโลกนี้มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่มีเป็นพันหัวรบ สามารถทำลายล้างโลกได้หลายรอบ หากสหรัฐกับรัสเซียต่างปรับลดเหลือ 2,000 หัวรบ จำนวนเท่านี้เพียงพอต่อการเป็นมหาอำนาจ ป้องปรามได้ทุกประเทศทั่วโลก การปรับลดจำนวนหัวรบให้เหลือไม่กี่พันจะเป็นข้อพิสูจน์ว่าประธานาธิบดีทรัมป์หวังสันติภาพจริงตามที่พูดหรือไม่
            หรือว่าเป็นอีกเรื่องที่ทรัมป์พูดกลับไปกลับมา เอาแน่เอานอนไม่ได้
            กลับไปสู่แนวคำถามเดิม พูดกลับไปกลับมาเพื่อใคร
            นี่คือคำถามที่ควรถาม สังคมควรหาคำตอบ
22 กรกฎาคม 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7925 วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2561)
-------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ตั้งแต่ช่วงหาเสียง ทรัมป์บอกว่าจะใช้วิธีคาดเดาไม่ได้ ไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามรู้ตัว ผลลัพธ์ที่ออกมาคู่กันคือนโยบายที่เปลี่ยนกลับไปกลับมา กลายเป็นว่าไม่มีใคร (รวมทั้งพลเมืองอเมริกัน) รู้ว่ารัฐบาลทรัมป์กำลังทำอะไร ผลสุดท้ายเป็นอย่างไร แต่ทรัมป์ยังคงใช้เทคนิค “ผู้คาดเดาไม่ได้” ต่อไป ถ้าคิดให้ดีในอีกมุมคือทำให้ “สามารถพูดเท็จ” ต่อสาธารณะ ไม่มีใครคาดเดาได้ว่ากำลังพูดความจริงหรือโกหก เป็นลักษณะเด่นข้อหนึ่งของรัฐบาลประชาธิปไตยอเมริกายุคนี้
โอกาสเกิดสงครามล้างโลกนิวเคลียร์เป็นไปได้น้อยมาก ที่มีความเป็นไปได้มากขึ้นคือสหรัฐจะเป็นผู้ลงมือใช้ก่อนกับประเทศเล็กๆ 

บรรณานุกรม :
1. Analysis: Trump’s ‘America First’ morphs into ‘Me First’. (2018, July 17). AP. Retrieved from https://www.apnews.com/a280e308ea004da9b50aa7efdbb826d7/Analysis:-Trump's-'America-First'-morphs-into-'Me-First'
2. As Trump says Putin 'not my enemy', skeptics in U.S. see danger. (2018, July 13). Reuters. Retrieved from https://www.reuters.com/article/us-usa-russia-summit-critics/as-trump-says-putin-not-my-enemy-skeptics-in-u-s-see-danger-idUSKBN1K2348
3. Democrats urge Trump to cancel Putin summit following Mueller indictments. (2018, July 13). Los Angeles Times. Retrieved from http://www.latimes.com/politics/la-na-pol-doj-indictment-russian-hacking-20180713-story.html
4. "I think the European Union is a foe," Trump says ahead of Putin meeting in Helsinki. (2018, July 15). CBS News. Retrieved from https://www.cbsnews.com/news/donald-trump-interview-cbs-news-european-union-is-a-foe-ahead-of-putin-meeting-in-helsinki-jeff-glor/
5. In reversal, Trump says would work with NATO to defeat ISIL. (2016, August 17). The Japan News/Reuters. Retrieved from http://the-japan-news.com/news/article/0003152964
6. President Trump insists widely panned Vladimir Putin meeting was a success. (2018, July 18). USA Today. Retrieved from https://www.usatoday.com/story/news/politics/2018/07/18/donald-trump-claims-ill-fated-vladimir-putin-meeting-success/794910002/
7. Republicans Scramble to Contain Trump’s Damage, but Path Is Unclear. (2018, July 17). The New York Times. Retrieved from https://www.nytimes.com/2018/07/17/us/politics/congress-trump-russia.html
8. Stockholm International Peace Research Institute. (2017). TRENDS IN WORLD NUCLEAR
FORCES, 2017. Retrieved from https://www.sipri.org/sites/default/files/2017-06/fs_1707_wnf.pdf
9. Trump back-pedals on Russian meddling remarks after outcry. (2018, July 18). The Guardian. Retrieved from https://www.theguardian.com/us-news/2018/jul/17/donald-trump-putin-summit-republicans
10. Trump clashes with friends while flirting with foes. (2018, June 6). Politico. Retrieved https://sputniknews.com/analysis/201806061065145908-eu-russia-cooperation/
11. Trump sides with Putin over US intelligence. (2018, July 16). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2018/07/16/politics/donald-trump-putin-helsinki-summit/index.html
12. Trump voices support for U.S. intelligence a day after fueling bipartisan outrage with Putin comments. (2018, July 17). USA Today. Retrieved from https://www.usatoday.com/story/news/politics/2018/07/17/trump-addresses-summit-criticism/790354002/
13. Trump, on Eve of Putin Meeting, Calls E.U. a Trade ‘Foe’. (2018, July 15). The New York Times. Retrieved from https://www.nytimes.com/2018/07/15/world/europe/trump-putin-summit-meeting.html
14. Trump’s surrender to Putin greeted with outrage by Democrats and Republicans. (2018, July 17). The Guardian. Retrieved from https://www.theguardian.com/us-news/2018/jul/16/trump-putin-latest-news-updates-republicans-democrat-response-treason
15. U.S. grand jury indicts 12 Russian spies in 2016 election hacking. (2018, July 13). Reuters. Retrieved from https://www.reuters.com/article/us-usa-trump-russia-indictments/u-s-grand-jury-indicts-12-russian-spies-in-2016-election-hacking-idUSKBN1K32DJ
-----------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก