ถึงเวลาแล้วที่เยอรมันจะก้าวขึ้นมาเป็นปากเสียงสำคัญของโลก

หากเยอรมันหรืออียูตั้งใจอยู่ร่วมกับประเทศอื่นๆ อย่างสงบ แก้ปัญหาด้วยสันติวิธีจริงๆ มุ่งการค้าพหุภาคีตามกติกา ให้โลกเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน เช่นนี้สมควรเป็นประเทศหรือกลุ่มภาคีที่น่าสนับสนุน

            ปลายเดือนพฤษภาคม 2017 อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนีเอ่ยถึงนโยบายต่างประเทศว่า “ห้วงเวลาที่เราต้องพึ่งพาประเทศอื่นอย่างสิ้นเชิงได้สิ้นสุดแล้ว” ประโยคดังกล่าวไม่ได้เอ่ยชื่อประเทศใดแต่ทุกคนรู้ดีว่าหมายถึงสหรัฐอเมริกา
            ขณะพูดอยู่ในช่วงหาเสียงจึงอาจตีความว่าพูดหาเสียง แต่ไหนแต่ไรคนเยอรมัน (รวมทั้งหลายประเทศในยุโรป) ไม่ค่อยชอบรัฐบาลอเมริกันอยู่แล้ว ยิ่งเป็นประธานาธิบดีทรัมป์ยิ่งหนักข้อ แมร์เคิลหวังแสดงความเป็นผู้นำว่าสามารถเผชิญหน้ากับคนอย่างทรัมป์ สามารถดูแลผลประโยชน์ของคนชาวเยอรมันและยุโรป
            การพึ่งพาที่ว่าคือการพึ่งพาความมั่นคงทางทหารที่ดำเนินเรื่อยมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ความเป็นพันธมิตรทางทหารแลกด้วยการที่สหรัฐมีอิทธิพลต่อการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจสังคม
อดีตประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle) แห่งฝรั่งเศสเห็นว่านาโตคือเครื่องมือสร้างความเป็นเจ้าของสหรัฐ
การกล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าเยอรมันคิดจะเป็นศัตรูกับสหรัฐ ทั้ง 2 ยังเป็นหุ้นส่วนสำคัญ ยังมีผลประโยชน์ร่วมกันอีกมาก นาโตยังต้องคงอยู่ต่อไป แต่เป็นความสัมพันธ์ใหม่ที่แตกต่างจากเดิมและเห็นชัดกว่าเดิม
โจทย์เก่ากับการก้าวขึ้นมาของทรัมป์ :
            เมื่อกำแพงเบอร์ลินพังในปี 1989 ตามมาด้วยการสิ้นสุดสหภาพโซเวียต นโยบายความมั่นคงทางทหารระหว่างสหรัฐกับสมาชิกนาโตฝั่งยุโรปเริ่มแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ผู้นำประเทศ รมต.ออกมาให้ความเห็นตรงไปตรงมา อีซี/อียูควรมีนโยบายความมั่นคงทางทหารของตนเอง
จากเหตุผลมากมายทั้งความเห็นต่างจากรัฐบาลสหรัฐ การคิดเชื่อมโยงกับประเด็นอื่นๆ บริบทโลกที่เปลี่ยนไป เกิดคำถามว่ายุโรปควรอิงความมั่นคงทางทหารจากสหรัฐมากเพียงไร ควรถอยห่างขนาดไหน ควรปรับเปลี่ยนกระบวนการตัดสินใจ การบังคับบัญชาอย่างไร รวมความแล้วฝั่งยุโรปต้องการความเป็นอิสระมากขึ้น ฝ่ายสหรัฐยอมให้ยุโรปมีอำนาจมากขึ้น แต่ยังเก็บสงวนบางส่วน
            ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงการที่ฝั่งยุโรปต้องการเป็นตัวของตัวเอง และนาโตมีการปรับตัวเรื่อยมา
การก้าวขึ้นมาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง ระบบเศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนจากทุนนิยม การค้าเสรีเปิดกว้าง มาเป็นระบบใหม่ที่ทรัมป์เรียกว่า America First หรือ “อเมริกาต้องมาก่อน”
ในขณะที่ความโดดเด่นของสหรัฐกำลงถดถอย ไม่ว่าด้านค่านิยมตะวันตกดั้งเดิม ความเป็นผู้นำโลก
ในกรอบนาโต สหรัฐไม่ใช่เครื่องประกันความมั่นคงทางทหารแก่ยุโรปดังเดิมอีกแล้ว

ความขัดแย้งกับรัฐบาลทรัมป์ :
            นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่าแท้จริงแล้วความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับเยอรมันไม่ได้ใกล้ชิดอบอุ่นอีกแล้ว ข้อมูลที่ทำให้คิดว่าเป็นพันธมิตรกับภาพที่แสดงออกอาจยังทำให้คิดว่าเป็นเช่นนั้น ความจริงคือที่ยังร่วมมือกันก็ด้วยผลประโยชน์ล้วนๆ ปราศจากความไว้วางใจกัน ไม่เคารพกันและกันอย่างจริงใจ
            มีตัวอย่างมากมาย เช่น หน่วยสืบราชการลับของสหรัฐแอบสืบข้อมูลรัฐบาลเยอรมันอย่างเป็นระบบ แม้กระทั่งดักฟังโทรศัพท์มือถือของนายกฯ แมร์เคิลดังที่เป็นข่าว หากเป็นมิตรแท้ด้วยสุจริตใจจะทำเช่นนี้หรือ
            ถ้ามองจากมุมสหรัฐ ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวหาเยอรมันว่าทรยศอเมริกา หันไปหาความคุ้มครองจากรัสเซีย เป็นเหตุผลว่าทำไมเยอรมันจึงซื้อน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติจากประเทศนี้

            อีกเรื่องที่ไม่มีใครปฏิเสธคือยุทธศาสตร์อเมริกาต้องการก่อนของประธานาธิบดีทรัมป์ คือการเข้าแทรกแซงประเทศต่างๆ ในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางทหาร การเมือง เศรษฐกิจ
            รัฐบาลทรัมป์ไม่ยึดกติกา ฉีกข้อตกลงทิ้ง (บางครั้งใช้คำพูดว่าขอทำข้อตกลงใหม่) ทำทุกสิ่งที่คิดว่าให้ประโยชน์ต่อตนเองมากที่สุด ในมุมหนึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ รัฐบาลสหรัฐย่อมต้องทำเพื่อประเทศตนเอง แต่วิธีที่ใช้กระทบประเทศอื่นๆ บางครั้งรุนแรง หากสหรัฐพยายามรักษาผลประโยชน์ ประเทศอื่นๆ คิดรักษาผลประโยชน์ตนเองเช่นกัน
            หากอเมริกาต้องการอยู่รอด ประเทศอื่นๆ ต้องการอยู่รอดเช่นกัน

            ปัญหาเกิดตรงที่เมื่อ 2 ฝ่ายขัดแย้งกัน จะแก้ปัญหาอย่างไร รัฐบาลสหรัฐจะใช้อำนาจอิทธิพลที่เหนือกว่าเพื่อได้กินส่วนแบ่งที่มากกว่าหรือไม่ ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือจะใช้ความรุนแรงเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการหรือไม่
            ทางออกที่ดีกว่าคือการประนีประนอม การสร้างกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับได้
โลกจะเป็นสุขกว่านี้หากทุกคนเอาใจเขามาใส่ใจเรา แต่หากยังยึดหลักสัจนิยม (Realism) แบบสุดขั้วที่มองว่าโลกคือป่าดงดิบ มนุษย์เปรียบได้กับสัตว์ป่ามีสัญชาติญาณเอาตัวรอด ย่อมนำโลกสู่ความขัดแย้งวุ่นวายไม่รู้จบ ประเทศใหญ่จะอยู่รอด ประเทศเล็กจะถูกกลืนกิน เป็นเหยื่อที่รอวันถูกสังหาร
ในอีกมุมหนึ่ง การอ้างเหตุผลแบบสัจนิยมคือข้ออ้างเพื่อทำลายล้างประเทศอื่น แล้วบอกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติหลีกเลี่ยงไม่ได้
แนวคิดสัจนิยมแบบสุดขั้วจึงไม่ใช่ทางออกที่ดี มนุษย์ไม่จำต้องเป็นดังเช่นสัตว์ป่าเสมอไป

เยอรมันกับภาวะผู้นำและข้อเสนอแนะ :
ภายใต้บริบทที่กำลังเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ เกิดคำถามว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เยอรมันและประเทศอื่นๆ ควรวางตัวอย่างไร ในช่วงหลายทศวรรษหลัง รัฐบาลเยอรมันแสดงภาวะผู้นำมากขึ้น ต้องการแสดงบทบาทผู้นำอย่างเปิดเผย เศรษฐกิจที่เข้มแข็ง การอิงสหภาพยุโรป พลเมืองที่มีคุณภาพสนับสนุนความเข้มแข็งของชาติ
            สื่อเยอรมันบางสำนักถึงกับชี้แนะว่าเยอรมนีควรเป็นผู้นำโลกเสรี เนื่องจากประชาธิปไตยอเมริกาตายแล้วในยุคทรัมป์ คำชี้แนะนอกจากเป็นการเชิดชูประเทศตนเองยังเป็นการสนับสนุนนายกฯ แมร์เคิลด้วย
ทุกวันนี้ โลกไม่ได้ตกอยู่ใต้ความบาดหมางด้วยลิทธิอุดมการณ์การเมืองที่แตกต่างอีกแล้ว หากผู้ใดยังยกเรื่องนี้เป็นเหตุผล ชี้ได้เลยว่าเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างศัตรู สร้างความขัดแย้ง ใช้ความขัดแย้งเป็นเครื่องตักตวงผลประโยชน์
สงครามนิวเคลียร์ล้างโลกยังมีโอกาสเป็นไปได้ เพราะสหรัฐกับรัสเซียยังคงหัวรบจำนวนมาก รัฐบาลทรัมป์สั่งให้ยกเครื่องกองกำลังนิวเคลียร์ใหม่หมด ส่วนรัสเซียในยุคปูตินกำลังฟื้นฟูกองกำลังนิวเคลียร์ด้วยอาวุธรุ่นใหม่ แต่โอกาสเกิดสงครามนิวเคลียร์ล้างโลกมีน้อยมาก

ความท้าทายใหญ่ของโลกคือการจัดการเรื่องภายในของแต่ละประเทศมากกว่า รัฐบาลทุกประเทศให้ความสำคัญกับความสงบเรียบร้อยภายใน ให้คนมีงานทำ มีกินมีใช้ ทุกคนในสังคมอยู่ร่วมกันไปตามอัตภาพ คำถามจึงอยู่ที่ จะใช้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้เกิดประโยชน์อย่างไร จะใช้เพื่อทำลายหรืออยู่ร่วมกันอย่างสันติ
หากเยอรมันหรืออียูตั้งใจอยู่ร่วมกับประเทศอื่นๆ อย่างสงบ แก้ปัญหาด้วยสันติวิธีจริงๆ มุ่งการค้าพหุภาคีตามกติกา ไม่ข่มขู่คุกคาม ไม่พยายามล้มล้างรัฐบาลประเทศอื่นๆ มุ่งรักษาสิ่งแวดล้อม ให้โลกเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน เช่นนี้สมควรเป็นประเทศหรือกลุ่มภาคีที่น่าสนับสนุน
ให้แสดงบทบาทถ่วงดุล ต่อต้านความสุดโต่ง เป็นอีกปากเสียงสำคัญที่จะพูดคุยท้วงติงรัฐบาลประเทศที่ก่อปัญหา
เยอรมันหรืออียูแม้ไม่อาจเป็นอภิมหาอำนาจโลก ไม่ยิ่งใหญ่พอที่จะเป็นเช่นนั้น แต่จะเป็นภาคีสำคัญที่หลายประเทศทั่วโลกจะสนับสนุน เป็นผู้มีส่วนสร้างและรักษาระเบียบโลกใหม่ ร่วมกับมหาอำนาจอื่นๆ

จังหวะนี้เป็นโอกาสสำคัญที่เยอรมันกับอียูจะแสดงความเป็นตัวของตัวเอง ไม่อยู่ใต้อิทธิพลของอีกฝากแอตแลนติก แสดงภาวะผู้นำในเวทีโลก ต่อต้านบรรดารัฐบาลสุดโต่ง ผู้ที่มักชอบข่มขู่คุกคามประเทศอื่นๆ
หากเป็นเช่นนี้ ระบบอำนาจโลกจะเป็นพหุภาคีที่มีเยอรมันกับอียูคอยช่วงถ่วงดุลจีน รัสเซีย สหรัฐ ฯลฯ เป็นตัวแทนระบอบประชาธิปไตยอีกแบบที่แตกต่างจากอเมริกาซึ่งกำลังถอยห่างจากเสรีประชาธิปไตย
            หากเยอรมันกับอียูไม่แสดงบทบาทปล่อยให้โอกาหลุดลอย โลกในอนาคตอาจก้าวสู่ความวุ่นวายยิ่งกว่าเดิม อำนาจนิยมเบ่งบาน ความสุดโต่งขยายตัว เศรษฐกิจโลกถดถอย เมื่อนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
            นับวันโลกจะเล็กลง บรรดาประเทศต่างๆ ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
8 กรกฎาคม 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7911 วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2561)
--------------------------------
บรรณานุกรม :
1. Folly, Martin H. (2008). North Atlantic Treaty Organization. In International Encyclopedia of the Social Sciences. (2nd Ed. (9 vol. set. pp. 544-546). USA: The Gale Group.
2. Howorth, Jolyon., Keeler, John T.S. (Eds.). (2003). Defending Europe: The EU, NATO, and the Quest for European Autonomy. New York: Palgrave Macmillan.
3. Opinion: Merkel Must End Devil's Pact with America. (2015, July 7). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/germany/editorial-merkel-must-end-devil-s-pact-with-america-a-1042573.html
4. Time for Germany to Learn to Lead. (2018, January 5). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/world/waning-us-germany-must-learn-to-take-responsibility-a-1186075.html
5. What Was Merkel Thinking? (2017, May 30). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/germany/merkel-and-trump-a-trans-atlantic-turning-point-a-1149757.html
-----------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก