การถดถอยของเสรีประชาธิปไตย

นักวิเคราะห์ตะวันตกบางคนยอมรับมากขึ้นแล้วว่าระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยตะวันตก (Western liberal democracy) ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างสมควร ลัทธิอำนาจนิยมกำลังเบ่งบาน
 
ทรัมป์ทำตัวเยี่ยงเผด็จการ :
บทความ Liberal Democracy Is Under Attack จากสื่อ Spiegel Online ของประเทศเยอรมันวิพากษ์โจมตีประธานาธิบดีทรัมป์ว่าแม้มาจากการเลือกตั้ง แต่เรียกร้องอำนาจเบ็ดเสร็จ (absolute power) นึกว่าตัวเองอยู่เหนือกฎหมายและทำอะไรก็ได้ในเวทีโลก
ล่าสุดรัฐบาลทรัมป์นำประเทศถอนตัวจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council) ให้เหตุผลว่าองค์กรนี้เต็มไปด้วยอคติทางการเมือง ประเทศที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนกลายเป็นแพะรับบาป จึงขาดความน่าเชื่อถือ
เป็นพฤติกรรมล่าสุดที่รัฐบาลทรัมป์ถอนตัวออกจากความร่วมมือพหุภาคี หลังถอนตัวออกจากข้อตกลงแก้ไขปัญหาโลกร้อน Paris climate accord ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ฉีกข้อตกลง NAFTA ขึ้นภาษีสินค้าหลายตัวที่สวนทางหลักองค์การค้าโลก ด้วยเหตุผลบรรทัดสุดท้ายว่าขัดผลประโยชน์สหรัฐกับพันธมิตร
ประเทศเสรีประชาธิปไตยย่อมส่งเสริมสิทธิมนุษยชน แต่รัฐบาลสหรัฐทำตัวแตกต่างสวนทางประเทศอื่นๆ ที่ประชาธิปไตยพัฒนามากแล้ว มีหลักฐานปรากฏทั้งของเก่าของใหม่มากมาย
ที่ต้องบันทึกไว้คือการถอนตัวครั้งนี้ทั้งพรรครีพับลิกันกับเดโมแครทไม่คัดค้าน

            ถ้ามองภาพรวม ผู้นำรัฐบาลหลายประเทศไม่แตกต่างจากทรัมป์ (หรือทรัมป์ไม่แตกต่างจากพวกเขา) ต้องการควบคุมทั้งอำนาจการเมือง เศรษฐกิจ ศาลและสื่อ ต้องการควบคุมอนาคต ดูเหมือนว่าความเป็นประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 21 กำลังถดถอยเข้าสู่ลัทธิอำนาจนิยม (authoritarianism)

ระบอบประชาธิปไตยกำลังเข้าสู่วิกฤตร้ายแรง :
รายงานของ Freedom House ปี 2017 ให้ข้อสรุปว่าระบอบประชาธิปไตยกำลังเข้าสู่วิกฤตร้ายแรง กระบวนการเลือกตั้ง เสรีภาพสื่อและกระบวนการยุติธรรมถูกคุกคาม
            รายงานดัชนีประชาธิปไตย 2016 (Democracy Index 2016) จาก Economist Intelligence Unit ศึกษาประชาธิปไตย 165 ประเทศกับอีก 2 ดินแดน คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 5.52 จากคะแนนเต็ม 10
ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่าตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้น ไม่ว่าจะที่สหรัฐ ยุโรปตะวันตก ญี่ปุ่น มีลักษณะตรงกันคือประชาชนกว่าครึ่งไม่เชื่อถือรัฐบาล พรรคการเมือง โดยเฉพาะไม่เชื่อถือนักการเมือง
ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา นักเสรีประชาธิปไตยจะพร่ำสอนว่าระบอบนี้สร้างความรุ่งเรืองมั่งคั่งมั่นคง คำถามคือทำไมระบอบที่นำความรุ่งเรืองไม่คงอยู่แต่กลับถดถอย ทำไมในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาไม่สามารถต้านอำนาจนิยมที่เพิ่มขึ้นๆ (การถดถอยของประชาธิปไตยสู่อำนาจนิยมเป็นกระบวนการกินเวลาหลายสิบปี ผ่านหลายรัฐบาล หลายพรรคการเมือง)

พรรคการเมืองกับนักการเมืองเป็นตัวอย่างที่ควรนำมาอธิบายการถดถอย หลายประเทศในยุโรปที่ทั้งพรรคฝ่ายซ้ายกับขวาต่างไม่อาจสร้างผลงานให้พลเมืองไว้ใจ เป็นที่โจษจันว่าทุจริตคอร์รัปชัน และเป็นที่มาของการทุจริตคอร์รัปชันด้วย (ไม่ต่อต้านจริงจัง)
บรรดาพรรคการเมือง นักการเมืองทุกคนต่างประกาศว่าจะต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน แต่ทุกอย่างเป็นดังที่เห็นหรือร่ำลือกันอยู่
ชาวบ้านสามัญชนเป็นเพียงไม้ประดับของพรรค ยิ่งเวลาผ่านไป ยิ่งผ่านรัฐบาลหลายชุด ประชาชนสัมผัสความแปลกแยกระหว่างพรรคการเมืองกับตน แม้ว่านักการเมืองจะพยายามแสดงตัวทำเพื่อประชาชน แต่ลึกๆ แล้วชาวบ้านไม่คิดเช่นนั้น
เป็นเหตุให้ในระยะหลังพรรคการเมืองประเภทสุดโต่งสุดขั้วได้รับความนิยม นโยบายสำคัญๆ หลายข้อของพรรคสุดโต่งเหล่านี้ขัดแย้งกับลัทธิเสรีประชาธิปไตย ไม่ว่าที่ฝรั่งเศส อิตาลี กรีซ สเปน ฯลฯ

สมควรที่จะกล่าวว่าพรรคการเมืองกับนักการเมืองที่ไม่ทำหน้าที่ของตนคือสาเหตุสำคัญบั่นทอนประชาธิปไตย ไม่ใช่จากภัยสงคราม ภัยคอมมิวนิสต์ เป็นตลกร้ายที่สถาบันพรรคการเมืองอันเป็นกลไกสำคัญของระบอบประชาธิปไตยคือตัวทำลายประชาธิปไตยเสียเอง

อำนาจนิยมกลับเจริญรุ่งเรือง :
นักวิเคราะห์ตะวันตกบางคนยกจีนเป็นตัวอย่างที่นับวันประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ สังคมมั่นคงมั่งคั่ง ชักจูงให้ประเทศอื่นๆ เลียนแบบ
            มีข้อมูลว่านับจากปี 2013 เมื่อสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ในขณะนั้นเศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกแล้ว 5 ปีผ่านไปเศรษฐกิจโตขึ้นอีกร้อยละ 50 ค่าแรงเพิ่มขึ้น 10 เท่าใน 3 ปี ครัวเรือนมีเงินเก็บออมเพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ คนยากจนที่สุดมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
จึงไม่แปลกที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนแก้รัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงอยู่ในตำแหน่งตลอดชีวิต  ทุกวันนี้หลายคนเคารพประธานาธิบดีสีเยี่ยงจักรพรรดิ

            ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่าหากผู้ปกครองมีคุณธรรมเรียกว่า ราชาธิปไตย” (Monarchy) อริสโตเติลให้นิยามว่าเป็นการปกครองภายใต้กษัตริย์จอมปราชญ์หรือราชาปราชญ์ (philosopher-king) แต่หากเป็นกษัตริย์หรือผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จกดขี่ข่มเหงราษฎรจะเรียกกว่า ทุชนาธิปไตยหรือ ทรราช” (Tyranny) ตัวอย่างเช่น ฮิตเลอร์ในสมัยนาซี
            อย่างไรก็ตาม การเติบใหญ่ของเศรษฐกิจจีนมาจากหลายปัจจัย เป็นประเด็นถกเถียงว่าอำนาจนิยมแบบจีนยั่งยืนเพียงไร นอกจากนี้ไม่ควรหยิบยกจีนเป็นตัวอย่างเพียงกรณีเดียว ประเทศในอ่าวเปอร์เซียเป็นอำนาจนิยมที่อยู่ได้ด้วยทรัพยากรน้ำมัน สังคมวัฒนธรรมเกื้อหนุน รัสเซียในยุคปูตินที่ครองอำนาจยาวนานฟื้นฟูประเทศจากมหาอำนาจที่เกือบล่มจมให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง พลเมืองมีกินมีใช้ดีกว่าก่อน
แต่อีกหลายสิบประเทศในอเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชียเป็นอำนาจนิยมที่ล้มเหลว ดังนั้น อำนาจนิยมมีทั้งล้มเหลวกับประสบความสำเร็จ ไม่ต่างจากประชาธิปไตยมีทั้งประสบความสำเร็จกับล้มเหลว ตัวระบอบเองจึงไม่ใช่คำตอบเสมอไป อยู่ที่บริบทด้วยว่าประเทศนั้นๆ เหมาะสมกับระบอบใดมากที่สุด
            ผู้ปกครองที่เข้าใจจึงต้องตัดสินใจเลือกร่วมกับประชาชน
            รัฐบาลบางประเทศจำต้องมีความเป็นอำนาจนิยมมากขึ้น หรืออาจต้องเป็นแบบจีนที่ผ่อนคลายความเป็นอำนาจนิยม ขยายสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน
            หมดยุคแล้วที่เอ่ยว่าระบอบเสรีประชาธิปไตยดีที่สุด เหตุเพราะดีจริงตามทฤษฎีแต่หากปฏิบัติไม่ได้จะกลายเป็นอำนาจนิยมแอบแฝง ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่ในคนกลุ่มน้อย เลือกตั้งอีกกี่ครั้งกี่รอบก็เหมือนเดิม ได้นักการเมืองหน้าใหม่หรือเก่าก็ไม่แตกต่าง ดังที่กล่าวแล้วว่าหลายประเทศในยุโรปที่ผ่านการต่อสู้ปฏิวัติประชาธิปไตย ผ่านการปกครองด้วยระบอบนี้อย่างยาวนานบัดนี้หันไปเลือกพรรคสุดโต่ง

สัญญาณบ่งบอกประชาธิปไตยเทียมเท็จ :
            หลายประเทศยึดระบอบประชาธิปไตยแค่เปลือกหรือเทียมเท็จ มีลักษณะดังนี้
            1.ขาดกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วม องค์กรของภาคประชาชนอ่อนแอ
            การมีส่วนร่วมของประชาชนมาจากหลายสาเหตุ การขาดกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นหลักฐานว่าไม่เห็นความสำคัญต่อบทบาทประชาชน
            ประเทศอาจมีองค์กรภาคประชาชนจำนวนไม่น้อย แต่อ่อนแอขาดพลัง รัฐบาลไม่รับฟังความคิดเห็นและนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง นอกจากนี้บางประเทศมีองค์กรภาคประชาชนทั้งระดับท้องถิ่นกับระดับประเทศที่ชนชั้นปกครองจัดตั้งหรือครอบงำแต่บอกว่าเป็นของประชาชน
            2.ปัญหาใหญ่น้อยเป็นหน้าที่ของรัฐ
            ประชาชนได้แค่สะท้อนปัญหา รัฐบาลบอกว่ารับฟังแต่กีดกันไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ปัญหาหรือมีส่วนร่วมแต่น้อย (ผู้เข้าร่วมอาจเป็นกลุ่มประชาชน กลุ่มพลังที่ชนชั้นปกครองจัดตั้ง) ได้แต่เดินตามทางแนวทางที่รัฐบาลกำหนด
            3.สถาบันการเมืองต่างๆ เช่น พรรคการเมือง อยู่ใต้อำนาจของชนชั้นปกครอง
            พรรคการเมืองมีระบบฟังเสียงประชาชน มีเวทีให้สมาชิกเสนอความเห็น บางพรรคบางประเทศมีการถกเถียงอย่างดุเดือดเผ็ดร้อน แต่ที่สุดแล้วนโยบายพรรค การตัดสินใจของพรรคอยู่ในกลุ่มวงในไม่กี่คน
            4.การต่อสู้ทางการเมือง คือ การต่อสู้ของชนชั้นปกครอง
            การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจการเมืองอาจเข้มข้น แต่อยู่ในแวดวงของนักการเมือง ผู้มีบารมีระดับท้องถิ่นกับประเทศ พ่อค้านักธุรกิจบริษัทใหญ่ ข้าราชการระดับสูง รวมความแล้วคืออยู่ในแวดวงชนชั้นปกครอง เพื่อประโยชน์ของชนชั้นปกครองเป็นหลัก
            สรุป ลักษณะของประชาธิปไตยจอมปลอมดูได้จาก 3 เรื่องสำคัญ ข้อแรกคือประชาชนไม่ค่อยมีส่วนร่วม ถูกกีดกัน ข้อ 2-3 อำนาจปกครองและผลประโยชน์อยู่ในมือของชนชั้นปกครองเป็นหลัก

            ประธานาธิบดีทรัมป์เป็นเผด็จการหรือไม่ควรเป็นประเด็นถกเถียงต่อไป ผู้นำอย่างทรัมป์อาจเป็นเพียงแค่คนหนึ่งที่ผ่านมาแล้วผ่านไป ควรชื่นชมสหรัฐว่าพลเมืองของเขาอีกมาก หลายภาคส่วนของเขายังมีความเป็นประชาธิปไตยสูง ที่สรุปได้แน่นอนคือความเป็นประชาธิปไตยถดถอยในหลายประเทศรวมทั้งบรรดาประเทศที่เคยได้รับการยกย่องว่ามีความเป็นประชาธิปไตยอย่างน่าชมเชย
            ประชาธิปไตยที่ถดถอยหรืออำนาจนิยม “ที่เป็นภัย” มีอย่างหนึ่งตรงกันคือ ส่งเสริมระบบอุปถัมภ์ ทุกอย่างเป็นของเพื่อนพ้องน้องพี่ ยึดความเป็นพวกมากกว่าหลักการ ที่ใดระบบอุปถัมภ์เบ่งบานที่นั่นผลประโยชน์ตกอยู่ในมือคนส่วนน้อย
หลักการกระจายอำนาจไม่ทำงาน สถาบันปกครองสำคัญๆ ไม่เป็นที่พึ่งอีกต่อไป
24 มิถุนายน 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7897 วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2561)

----------------------

บรรณานุกรม :
1. China Moves to Let Xi Stay in Power by Abolishing Term Limit. (2018, February 25). The New York Times. Retrieved from https://www.nytimes.com/2018/02/25/world/asia/china-xi-jinping.html
2. China sets stage for Xi to stay in office indefinitely. (2018, February 25). Reuters. Retrieved from https://www.reuters.com/article/us-china-politics/china-sets-stage-for-xi-to-stay-in-office-indefinitely-idUSKCN1G906W
3. Diamond, Larry., Gunther, Richard (Eds.). (2001). Political Parties and Democracy. Maryland: The Johns Hopkins University Press.
4. Grigsby, Ellen. (2012). Analyzing Politics: An Introduction to Political Science (5 Ed.). USA: Wadsworth.
5. Liberal Democracy Is Under Attack. (2018, June 13). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/world/trump-putin-and-co-liberal-democracy-is-under-attack-a-1212691.html
6. Runciman, David. (2018). How Democracy Ends. UK: Profile Books.
7. Russian Foreign Ministry comments on US exit from US Human Rights Council. (2018, June 20). TASS. Retrieved from http://tass.com/politics/1010291
8. The Economist Intelligence Unit. (2017, January). Democracy Index 2016 Revenge of the “deplorables”. Retrieved from http://felipesahagun.es/wp-content/uploads/2017/01/Democracy-Index-2016.pdf
9. Trump Administration Withdraws U.S. From U.N. Human Rights Council. (2018, June 19). The New York Times. Retrieved from https://www.nytimes.com/2018/06/19/us/politics/trump-israel-palestinians-human-rights.html
10. United Nations Human Rights Council. (2018). Welcome to the Human Rights Council. Retrieved from https://www.ohchr.org/EN/HRBodies/HRC/Pages/AboutCouncil.aspx
11. US pulls out of UN Human Rights Council. (2018, June 19). The Hill. Retrieved from http://thehill.com/policy/international/393086-us-pulls-out-of-un-human-rights-council
-----------------------------