เกาหลีกับสงครามที่ยังไม่ยุติหรืออาจไม่มีวันยุติ (1)
ความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือกับใต้เป็นความขัดแย้งกรอบแคบในกรอบใหญ่
เกี่ยวพันประวัติศาสตร์กว่าร้อยปีก่อน ส่งผลสืบเนื่องผ่านยุคสมัยต่างๆ
จนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ชาวเกาหลีโหยหาสันติภาพ
ผู้ติดตามข่าวเกาหลีเหนือ-ใต้มักจะได้ยินคำๆ
หนึ่งว่า 2 ประเทศนี้ยังอยู่ในภาวะสงคราม สงครามเกาหลีที่เริ่มตั้งแต่ต้นทศวรรษ
1950 ยังไม่ยุติ (กว่า 68 ปีแล้ว)
บรรณานุกรม :
ผลการประชุมสุดยอด 2
ผู้นำเกาหลีเมื่อ 24 เมษายน 2018 ระหว่างผู้นำคิม จ็องอึน (Kim Jong-un) กับประธานาธิบดีมุน แจ-อิน (Moon Jae-in) ใจความหลักคือไม่มีสงครามในคาบสมุทรเกาหลีอีกต่อไป
เปิดศักราชสันติภาพ ยกเลิกการแบ่งแยกและเผชิญหน้าแบบยุคสงครามเย็น ลดความตึงเครียดทางทหาร
เริ่มยุคสมานฉันท์ ยกระดับการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่และระดับประชาชน
การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยชน เดินหน้าการเชื่อมต่อทางถนนกับรถไฟ ฯลฯ
จะเห็นว่าผลการประชุมสุดยอดนี้ประกาศยุติสงครามระหว่าง
2 เกาหลี เริ่มต้นสันติภาพถาวร
นำความสุขความยินดีแก่ชาวเกาหลีทั้งมวลที่เฝ้าฝันวันนี้มานานกว่าร้อยปี
บทความนี้จะนำเสนอจุดเริ่มของความขมขื่นทุกข์ยากของคนเกาหลีที่ดำเนินมาแล้วกว่าศตวรรษ
ญี่ปุ่นต้องครอบครองเกาหลี :
ญี่ปุ่นมองเกาหลีเป็นเส้นทางสู่แผ่นดินใหญ่เรื่อยมา
เกาหลีเป็นทางผ่านของอารยธรรมจากจีน เป็นเส้นทางการค้าเก่าแก่
เส้นทางเดินทัพของกองทัพต่างๆ ที่หวังรุกรานญี่ปุ่น ไม่ว่าจะแง่มุมใดญี่ปุ่นหวังได้เกาหลีเป็นหัวหาดสู่แผ่นดินใหญ่เสมอ
ค.ศ.1873
ผู้นำญี่ปุ่นคิดรุกรานเกาหลีโดยอ้างเหตุผลว่าผู้ปกครองเกาหลีไม่ยอมปรับความสัมพันธ์ปกติกับตน
1875 กองเรือญี่ปุ่นเริ่มเปิดฉากโจมตีท่าเรือเกาหลีและเมืองต่างๆ 1876
บังคับให้เกาหลีเปิดเมืองท่าทำนองเดียวกับที่จีนเปิดให้แก่ชาติตะวันตก
สงครามเพื่อขยายดินแดนของญี่ปุ่นเริ่มเมื่อญี่ปุ่นทำสงครามกับจีน
ในสงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 เมื่อช่วงปี 1894-95 (First Sino-Japanese
War) เป้าหมายของญี่ปุ่นคือการได้ครอบครองแหล่งแร่เหล็กกับถ่านหินของเกาหลี
ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญยิ่งต่อความมั่นคงของชาติ
รัฐบาลเกาหลีขอความช่วยเหลือจากจีนในฐานะเป็นเจ้าประเทศราชแต่อาจไม่สู้ญี่ปุ่น
กองทัพจีนแม้มีจำนวนมากกว่าไม่อาจต้านกองทัพญี่ปุ่นที่ทันสมัยกว่า เกาหลีจึงตกอยู่ใต้อำนาจญี่ปุ่น
ความพ่ายแพ้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของกองทัพจีน
เหตุผลหนึ่งที่แพ้มาจากการคอร์รัปชันในหมู่ราชการ
งบประมาณกองทัพถูกข้าราชการโกงกิน ทหารขาดการฝึกซ้อมและขาดขวัญกำลังใจ
ความพ่ายแพ้ต่อญี่ปุ่นทำให้ชาวจีนรู้สึกอับอายอย่างยิ่ง
เนื่องจากแต่ไหนแต่ไรมักถือว่าตนเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่กว่าญี่ปุ่นเสมอมา
เกาหลีจึงตกอยู่ใต้อำนาจญี่ปุ่น
และถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม 1910
รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามสร้างภาพว่ากำลังพัฒนาเกาหลีให้เป็นชาติอารยะ
แต่โดยความจริงแล้ว เกาหลีได้ประโยชน์น้อย ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับญี่ปุ่นทั้งสิ้น
ตั้งแต่ปี 1919
ชาวเกาหลีเริ่มต่อต้านการยึดครองอย่างเป็นขบวนการ ในช่วงกลางทศวรรษ 1920
แกนนำการต่อต้านเป็นพวกมีแนวคิดคอมมิวนิสต์
ชาวเกาหลีจำนวนร่วมล้านคนเดินขบวนต่อต้านการยึดครอง
เรียกร้องเสรีภาพ เป็นเอกราช แต่ชาติมหาอำนาจตะวันตกไม่ทำอะไร เนื่องจากพวกตนต่างมีอาณานิคมเช่นกัน
สภาพอาณานิคม :
ตลอดทศวรรษ
1930 กองทัพญี่ปุ่นควบคุมเศรษฐกิจเพื่อการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม
ญี่ปุ่นพยายามครอบงำเปลี่ยนแปลงสังคมเกาหลี ไม่อนุญาตให้โรงเรียนใช้ภาษาเกาหลี
แม้กระทั่งต้องตั้งชื่อเป็นญี่ปุ่นด้วย
ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1930 เมื่อสงครามกับจีนทวีความรุนแรงขยายวงกว้างออกไป
กองทัพญี่ปุ่นเริ่มเกณฑ์แรงงานชายเกาหลีเพื่อทำงานให้กองทัพ และเมื่อเริ่มเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่
2 การขาดแคลนทรัพยากรทำให้ญี่ปุ่นกอบโกยผลผลิตทางการเกษตรกับวัตถุดิบต่างๆ
ของเกาหลีทั้งหมด โดยเฉพาะสินแร่สำคัญที่จำเป็นต่อการสร้างอาวุธสงคราม
สร้างความทุกข์ยากแก่ชาวเกาหลี
ญี่ปุ่นใช้แรงงานเกาหลีด้วยการเกณฑ์และใช้งานเยี่ยงทาส
มีข้อมูลว่ากองทัพญี่ปุ่นใช้แรงงานเกาหลีถึง 2,600,000 คน ในจำนวนนี้ 750,000
คนถูกส่งไปต่างประเทศเพื่อเป็นแรงงานอุตสาหกรรม ส่วนผู้หญิงกลายเป็นหญิงบำเรอ (comfort
women)
ในความเป็นอาณานิคม ไม่ว่าจะใช้คนเกาหลีเยี่ยงทาส
กึ่งทาสหรืออย่างไรก็แล้วแต่ ญี่ปุ่นมองว่าตนเป็น “เจ้าของ” เกาหลี “อย่างถาวร”
จึงพยายามเปลี่ยนคนเกาหลีให้ใช้ภาษาญี่ปุ่น มีชื่อญี่ปุ่น ลบล้างความเป็นเกาหลี จึงไม่แปลกที่กองทัพญี่ปุ่นใช้สตรีเกาหลีเป็นหญิงบำเรอ
เพราะนั่นคือการใช้ “แรงงาน” หรือการ “ทำงาน” อย่างหนึ่งของคนภายใต้อาณานิคม เพื่อจักรวรรดิญี่ปุ่นอันไพบูลย์
เดิมนั้นคือหญิงญี่ปุ่นที่มาด้วยความสมัครใจ
แต่เมื่อสงครามขยายตัว ทหารมากขึ้น ความต้องการหญิงบำเรอเพิ่มมากขึ้น
หันไปหาสาวต่างชาติด้วยวิธีการต่างๆ ที่หญิงหลายคนไม่ได้มาด้วยความสมัครใจ
ถูกล่อลวง
ดังนั้น
เมื่อเอ่ยถึงหญิงบำเรอจะหมายถึงสตรีที่ถูกบังคับให้มาปรนเปรอความสุขทางเพศแก่ทหารในกองทัพจักรพรรดิญี่ปุ่น (Japan's
Imperial Army) เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ
1930-1940 ขณะญี่ปุ่นเป็นเจ้าอาณานิคมหลายแห่งและช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
หญิงเหล่านี้มาจากหลายประเทศ ส่วนใหญ่เป็นคนเกาหลีกับจีน
ไม่มีผู้ใดทราบจำนวนหญิงบำเรอที่แท้จริง
นักประวัติศาสตร์บางคนชี้ว่าจำนวนทั้งหมดน่าจะอยู่ที่ 100,000-200,000 ราย
แต่ฝ่ายญี่ปุ่นเห็นว่าน่าจะน้อยกว่านั้น อาจมีเพียง 20,000 คน
หญิงเกาหลีที่ให้บริการส่วนใหญ่ถูกเรียกตัวเมื่อมีอายุระหว่าง 14-18 ปี
บางคนได้รับการทาบทามแต่แรกว่าให้เป็นโสเภณี แต่ส่วนใหญ่ถูกล่อลวง
ข่มขู่และบังคับด้วยกำลัง หลายคนได้รับการชี้ชวนว่าไปทำงานในภัตตาคาร ร้านอาหาร
โรงงาน แต่สุดท้ายเมื่อทราบว่าต้องเป็นหญิงบำเรอก็ไม่สามารถกลับบ้านแล้ว
บางรายเป็นการแลกตัวเพื่อผู้ชายในครอบครัวไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน
World
War II in the Pacific: An Encyclopedia
บรรยายว่าเมื่อแรกเริ่มเข้าสู่กระบวนการ หญิงเหล่านี้จะถูกเฆี่ยนตี ข่มขืน
จนกว่าเธอจะยอมปรนนิบัติปรนเปรอผู้ชายวันละ 30-40 คน หลายคนติดกามโรคนานาชนิด
ถูกบังคับให้ทำแท้งเมื่อตั้งครรภ์ บางคนตัดสินใจหนีชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย
ในช่วงอาณานิคม
ชาวเกาหลีจำนวนหนึ่งลุกขึ้นต่อต้านจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น เกิดวีรบุรุษทั้งภาคเหนือกับภาคใต้
หนึ่งในนั้นคือคิม อิล-ซุง (Kim Il-sung) ผู้กลายเป็นผู้นำเกาหลีเหนือในเวลาต่อมา
ในเวลาต่อมา สงครามญี่ปุ่นกับจีนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่
2
การแบ่งเกาหลีเป็นเหนือ-ใต้ ก่อนสงครามเกาหลี
:
เมื่อสหรัฐทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรก
ในขณะนั้นทุกฝ่ายรู้ดีว่าญี่ปุ่นจะต้องประกาศยอมแพ้ อันหมายถึงต้องคืนเกาหลีด้วย
แต่ชาติมหาอำนาจไม่คิดคืนแก่ชาวเกาหลีโดยตรง ต้องการอยู่ในอาณัติของชาติมหาอำนาจ
9
สิงหาคมสหรัฐทิ้งระเบิดนิวเคลียร์อีกลูกที่นางาซากิ วันต่อมา รัฐบาลสหรัฐตัดสินใจแบ่งเกาหลีออกเป็น
2 ส่วนโดยใช้เส้นขนานที่ 38 ทางเหนือโซเวียตรัสเซียจะเป็นคนดูแล
ส่วนทางใต้อยู่ในการดูแลของสหรัฐ ฝ่ายโซเวียตเห็นชอบในข้อตกลงลับนี้
การแบ่งเกาหลีเป็นเหนือกับใต้จึงมาจากข้อตกลงลับระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับโซเวียตรัสเซีย
15
สิงหาคม 1945 ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้
เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม
กองทัพสหรัฐกับพันธมิตรเข้ามาควบคุมทางตอนใต้ รัฐบาลสหรัฐหวังญี่ปุ่นช่วยดูแลเกาหลีใต้
(เพราะเป็นเจ้าอาณานิคมเดิม) ด้านกองทัพโซเวียตเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นที่อยู่ในตอนเหนือของเกาหลี
และพยายามติดต่อชาวเกาหลีที่ต่อต้านญี่ปุ่นเพื่อขอความร่วมมือปกครองเกาหลีเหนือ
จะเห็นได้ว่าในตอนนี้เกาหลีใต้ส่วนที่เป็นอาณานิคมญี่ปุ่น
ไม่ได้ปลดแอกตัวเอง แต่เปลี่ยนเจ้าอาณานิคมเนื่องจากเจ้าอาณานิคมเดิมแพ้สงคราม
ส่วนพื้นที่ตอนเหนืออยู่ใต้ลัทธิคอมมิวนิสต์
เส้นทางอนาคตของเกาหลีเหนือ-ใต้มุ่งสู่ทิศทางแตกต่างชัดเจน
สงครามโลกยุติแต่ปัญหาเกาหลีเหนือ-ใต้เพิ่งจะเริ่มต้น
ไม่ว่าชาวเกาหลีจะชอบหรือไม่
6 พฤษภาคม
2018
ชาญชัย
คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน
คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่
22 ฉบับที่ 78481 วันอาทิตย์ที่ 6
พฤษภาคม พ.ศ.2561)
------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
การประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐกับเกาหลีเหนืออาจนำสู่สันติภาพหรืออาจเป็นชนวนการเผชิญหน้ารอบใหม่เป็นเรื่องน่าติดตาม
เป็นอีกครั้งที่เกาหลีเหนือใช้ประโยชน์จากโครงการนิวเคลียร์
1. Axelrod, Alan. (2007). Korea, action in. In Encyclopedia
of World War II. (pp. 498-499). New York: Facts On File, Inc.
2. Beal, Tim. (2005). North Korea: The Struggle Against
American Power. London: Pluto Press.
3. Cotterell, Arthur. (2011). Asia: A Concise History.
Singapore: Wiley & Sons (Asia). P.372)
(Dickinson, Frederick R. (2008). Japanese Empire. In Encyclopedia of the Age of Imperialism
1800-1914. USA: Greenwood Press.).
4. Green, Michael. (2014). Japan’s Role in Asia: Searching
for Certainty. In David Shambaugh and Michael Yahuda (Eds.), International
Relations of Asia (2nd ed.). Maryland: Rowman & Littlefield.
5. Huffman, James L. (2010). Japan in World History.
New York: Oxford University Press.
6. Korean leaders set 'denuclearisation' goal, Trump says
will maintain pressure. (2018, April 26). The Japan Times. Retrieved
from
https://www.japantimes.co.jp/news/2018/04/27/national/politics-diplomacy/full-text-panmunjom-declaration/#.WuO1Ry5ubZ4
7. Manyin, Mark E., Nikitin, Mary Beth D., Chanlett-Avery,
Emma., Cooper, William H., & Rinehart, Ian E. (2014, June 24). U.S.-South
Korea Relations. Congressional Research Service. Retrieved from
https://www.fas.org/sgp/crs/row/R41481.pdf
8. Mitter, Rana. (2013). Forgotten Ally: China's World
War II, 1937-1945. New York: Houghton Mifflin Harcourt.
9. Sandler, Stanley (Ed.). (2001). Comfort
Women. In World War II in the Pacific: An Encyclopedia. (pp. 259-263).
New York : Garland Publishing, Inc.
10. Shirk, Susan L. (2007). China: Fragile Superpower:
How China's Internal Politics Could Derail Its Peaceful Rise. New York:
Oxford University Press.
11. Wright, David Curtis. 2011. The
History of China (2nd ed.). USA: Greenwood.
12. Yoshida, Reiji. (2015, March 18). Japanese historians
seek revision of U.S. textbook over ‘comfort women’ depiction. The Japan
Times. Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2015/03/18/national/history/japanese-historians-seek-revision-of-u-s-textbook-over-comfort-women-depiction/#.VQlmj9KUfmA
-----------------------------