ทรัมป์ไร้ศีลธรรมเกินกว่าจะเป็นประธานาธิบดี
โดนัลด์ ทรัมป์ชนะเลือกตั้งเพราะชาวอเมริกันเบื่อหน่ายนักการเมืองหน้าเก่า
แต่นับจากทรัมป์ดำรงตำแหน่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์มีไม่หยุดหย่อน ล่าสุดคือไร้ศีลธรรมเกินกว่าจะเป็นประธานาธิบดี
บรรณานุกรม :
1. ชรินทร์ สันประเสริฐ. (2546). รัฐ: ในทรรศนะของปราชญ์และนักคิดทางการเมืองคนสำคัญ. วารสารรวมบทความวิชาการรัฐศาสตร์ 21 ปี มสธ.
ทันทีที่ชนะเลือกตั้ง
นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญเริ่มแสดงความเห็นว่าไม่นานหลังรับตำแหน่งประธานาธิบดี
ทรัมป์จะถูกนำเข้ากระบวน Impeachment ขับออกจากตำแหน่ง
หลายคนเดาว่าจะมาจากเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน การทุจริตคอร์รัปชัน
ล่าสุดอดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอ
เจมส์ คอมีย์ (James Comey) กล่าวว่าเรื่องสุขภาพไม่ใช่ปัญหา
แต่โดนัลด์ ทรัมป์ไร้ศีลธรรม (morally unfit) ไม่คู่ควรกับตำแหน่งประธานาธิบดี
ชมคลิปสั้น 3 นาที
ชมคลิปสั้น 3 นาที
อดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอเอ่ยถึงความไม่เหมาะสมหลายข้อ
ดังนี้
ประการแรก พูดปดเสมอ
ไม่ยึดถือความจริง
ประธานาธิบดีต้องไม่เป็นคนกลิ้งกลอกหลอกลวง ทรัมป์พูดโกหกเสมอไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือใหญ่
ทั้งยังคิดว่าคนอเมริกันเชื่อเขา คนเช่นนี้ไม่คู่ควรกับตำแหน่งประธานาธิบดี
ไร้ศีลธรรมเกินไป
ผู้นำประเทศควรเป็นคนที่น่าเคารพ ยึดมั่นค่านิยมของสังคม
สำคัญที่สุดคือเป็นคนยึดมั่นความจริง แต่ประธานาธิบดีคนนี้ไม่เป็นเช่นนั้น
ในด้านศีลธรรมไม่คู่ควรกับตำแหน่งประธานาธิบดี
ประการที่
2 เห็นผู้หญิงเป็น “เครื่องปรนเปรอทางเพศ”
เวลาทรัมป์พูดถึงผู้หญิงมักจะพูดในมุมมองว่าพวกเธอเป็นเครื่องปรนเปรอทางเพศ
(pieces of meat)
ประการที่
3 ทำให้คนรอบตัวด่างพร้อยไปด้วย
อดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอพูดประเด็นหนึ่งที่สำคัญมากคือ
ผลจากการที่ผู้นำประพฤติตัวไม่เหมาะสมพลอยทำให้คนรอบข้าง คนที่ทำงานด้วยด่างพร้อยไปด้วย
(stain) เพราะการกระทำหรือคำสั่งของผู้นำส่งผลต่อผู้ตาม คนที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่เหมาะสมด้วย
ยกตัวอย่าง ถ้าผู้นำทุจริตคอร์รัปชัน
ลูกน้องลูกทีมที่ร่วมขบวนการย่อมร่วมทำผิดด้วย
ใครที่ได้ผู้นำเช่นนี้ย่อมมีโอกาสรับโทษด้วย ที่แย่กว่านั้นคือกลายเป็นแพะรับบาป
ประการที่ 4 เพื่อผลประโยชน์ของนายกับครอบครัว
คอมีย์อธิบายภาพว่าทุกคนต้องทำงานเพื่อเจ้านาย
(ไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย) ต้องจงรักภักดีต่อเจ้านาย พูดและทำทุกอย่างเพื่อรับใช้ผลประโยชน์ของนายกับครอบครัว
ครอบครัวและครอบครัว สังเกตว่าคอมีย์ไม่เอ่ยถึงผลประโยชน์ประเทศ
ประเด็นที่ล่อแหลมที่สุดคือข้าราชการ
พนักงานรัฐต้องทำงานเพื่อผลประโยชน์ของนายหรือผลประโยชน์ของประเทศ หลายครั้งเป็นเพียงเส้นบางๆ
ที่แบ่งระหว่าง 2 ข้อ แต่ในบางเรื่องชัดเจน เป็นเรื่องที่คนอเมริกันสงสัยมาตลอดว่านักการเมืองทำเพื่อผลประโยชน์ของใครกันแน่
คนอสัตย์อธรรมจะเป็นผู้ปกครองที่ดีได้หรือ
:
มีคนพูดว่าขอเพียงมีฝีมือก็สามารถนำพาประเทศสู่ความรุ่งเรืองยั่งยืน
คนเหล่านี้จะไม่คำนึงว่าผู้นำหรือผู้บริหารประเทศเป็นคนมีศีลมีธรรมหรือไม่
ขอเพียงหน้าฉากเป็นคนมีความสามารถ มีตำแหน่งเกียรติยศ ร่ำรวยเงินทอง
กรณีทรัมป์เป็นตัวอย่าง
เป็นนักธุรกิจพันล้านดอลลาร์ มีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากมาย เจ้าของคาสิโนหลายแห่ง
มีคฤหาสน์หรู บ้านที่พักหลายแห่ง แต่มักต้องขึ้นโรงขึ้นศาลเพราะคดีความต่างๆ
จากความไม่ชอบมาพากลทางธุรกิจและอื่นๆ อย่างไรก็ตามหลายครั้งที่ทรัมป์หลุดรอดมาได้
ทรัมป์ที่เป็นนักธุรกิจกับประธานาธิบดีมีข้อหนึ่งตรงกันคือ
ตกเป็นข่าวความไม่ชอบมาพากลอยู่เสมอ เสียงวิพากษ์ข้อเสียของทรัมป์ดังตั้งแต่เริ่มเป็นประธานาธิบดีวันแรกจนถึงวันนี้
ทรัมป์ยังเป็นประธานาธิบดีต่อไป
มีคนพูดถึงการขับออกจากตำแหน่งหลายครั้ง แต่ก็ยังอยู่จนถึงปัจจุบันและอาจอยู่ต่อไปจนครบเทอม
4 ปี การที่เป็นเช่นนี้จะเป็นข้อดีหรือข้อเสียก็ยากจะสรุป มีประเด็นให้ถกอีกมาก
ไม่ว่าผู้นำประเทศต่อหน้าจะเป็นคนเช่นไรหากพื้นฐานของเขานึกถึงแต่สิ่งอสัตย์อธรรม
ย่อมคิดถึงการเบียดเบียนผู้อื่น เห็นด้วยกับการทำลายประเทศอื่น การล่าอาณานิคมเพื่อประโยชน์ของตนกับครอบครัว
ตัวอย่างคนเหล่านี้มีให้เห็นมากมายในประวัติศาสตร์และแม้กระทั่งปัจจุบัน
นักสร้างภาพตัวยง :
นิโคโล
มาเคียเวลลี่ (Niccolo Machiavelli, 1469-1527) เสนอให้ผู้ปกครองต้องพยายามแสวงหาและรักษาอำนาจปกครองให้มากที่สุด
โดยไม่สนใจเรื่องความถูกต้องตามหลักศาสนา จริยธรรมหรือคุณธรรมใดๆ ทั้งหมดนี้เพื่อความอยู่รอดของผู้ปกครองกับรัฐ
ประกาศชัดว่าศาสนาไม่ใช่เรื่องสำคัญ ที่สำคัญกว่าคือความอยู่รอด
มาเคียเวลลี่มองธรรมชาติของคนในแง่ลบ
คนส่วนใหญ่ “เห็นแก่ตัว ก้าวร้าว ถูกครอบงำด้วยกิเลสตัณหา
ชอบต่อสู้แข่งขัน แสวงหาอำนาจ โลภ ฯลฯ จากลักษณะดังกล่าวคนที่แข็งแกร่งกว่าได้เปรียบคน
คนอ่อนแอจะถูกทำลาย ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกข่มเหงรังแก สังคมจึงมีแต่ความวุ่นวาย
ขาดความมั่นคง
เมื่อเป็นเช่นนี้บรรดาพวกที่อ่อนแอจึงยอมมอบตัวอยู่ภายใต้การปกป้องคุ้มครองของผู้ที่แข็งแรงกว่า
และบุคคลผู้นี้เองที่จะเป็นผู้วางกฎเกณฑ์สังคมเพื่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัย
สวัสดิภาพและสันติภาพขึ้นในสังคม และนี่ก็คือบ่อเกิดของรัฐนั่นเอง”
และด้วยการที่เขามองว่าคนส่วนใหญ่
“ชั่วร้าย” (evil) ดังนั้น เพื่อที่จะสามารถปกครองคนเหล่านี้
ผู้ปกครองต้องพร้อมที่จะใช้วิธีการที่ชั่วร้ายเพื่อจัดการกับคนชั่วร้ายเหล่านั้น
ผู้ปกครองต้องรู้ที่จะจำแนกว่าอะไรที่เป็นอยู่จริง (what is)
กับอะไรที่ควรจะเป็น (what ought to be)
มาเคียเวลลี่ให้นิยามว่าการเมืองคือการแสวงหาอำนาจ
กิจกรรมทางการเมืองใดๆ ก็เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ส่วนศีลธรรม จริยธรรม
ความปรารถนาดี ความเมตตาล้วนเป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจเพียงประการเดียว
เพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งอำนาจผู้ปกครองต้องพร้อมทำทุกอย่างแม้ต้องจูบเด็กหรือฆ่าเด็ก
และพร้อมทำทุกอย่างเพื่อจะปกครองคนได้ง่ายๆ อำนาจคือเป้าหมายสูงสุดของทุกกิจกรรมทางการเมืองและอะไรที่ขัดขวางเป้าหมายดังกล่าวถือเป็นศัตรูทั้งสิ้น
แม้กระทั่งคุณความดี หลักศาสนา
แม้จะทำร้ายทำลายคนจำนวนมากเพื่อความอยู่รอด
แต่เมื่ออยู่ต่อหน้าสาธารณะหรือต่อหน้าสื่อต้องแสดงตัวว่าเป็นบุคคลผู้มีคุณธรรมสูง
เป็นผู้สูงส่งในศีลธรรม รักประชาชน
ผลจากการเลือกคนที่แย่น้อยกว่า :
ดังที่ได้เสนอในบทความก่อนว่า
เหตุที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งมาจากหลายปัจจัย เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งที่ทรัมป์ชนะมาจากกระแสคิดว่าฮิลลารี
คลินตันเป็นตัวแทนของระบอบขั้วอำนาจเดิม เป็นพวกนักการเมืองรุ่นเก่า
เลือกไปก็เท่านั้น ไม่มีอะไรดีขึ้น หลายคนจึงไปใช้สิทธิ์ด้วยแนวคิดเลือก “คนที่แย่น้อยกว่า” (the lesser of the two evils) บนฐานคิดว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศเสียหาย
ซึ่งอาจถึงหายนะ “ยิ่งมีโอกาสเสียหายหนัก
ยิ่งต้องออกไปเลือกฝ่ายตรงข้าม”
ข้อวิพากษ์คือแนวทางนี้อาจเป็นทางเลือกเฉพาะหน้าแต่ได้ผู้นำที่
“แย่น้อยกว่า” เท่านั้น อีกทั้งความแย่น้อยกว่าอาจหมายถึงได้คนที่แย่มากๆ
เพียงแค่คิดว่าน้อยกว่าอีกคนเท่านั้นเอง
การเมืองสหรัฐเป็นระบบ
2 พรรค หากไม่เลือกตัวแทนของเดโมแครทก็ต้องเลือกพรรครีพับลิกัน แต่หากทั้ง 2
พรรคอยู่ภายใต้ชนชั้นปกครองที่แย่พอกัน ไม่ว่าเลือกผู้แทนจากพรรคใดก็ไม่แตกต่าง แนวทางเลือกคนที่แย่น้อยกว่าจึงไม่ใช่ทางออก
และหากปล่อยไปเช่นนี้ในระยะยาวประเทศอาจถึงขั้นเสื่อมสลาย
ไม่ว่าทรัมป์จะอยู่ใต้อิทธิพลพรรคหรือระบอบชนชั้นปกครองมากเพียงไร
ความเป็นทรัมป์ตอนนี้คือผลจากการเลือกคนที่แย่น้อยกว่า
เป็นหลักฐานว่าการเลือกคนที่แย่น้อยกว่าไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด
ระบอบการเมืองการปกครอง
ระบบคัดสรรผู้นำประเทศต้องดีกว่านี้ สามารถมุ่งสู่เป้าหมายได้จริง ไม่เป็นเพียงทฤษฏีสวยหรูแต่ไม่บรรลุถึงเป้าหมาย
ได้แต่พร่ำสอนให้คนยึดอุดมคติตามทฤษฎีที่สวยหรู ในขณะที่สังคมกำลังเสื่อมถอยและต้องการทางออกใหม่
ผู้นำสำคัญยิ่งเพราะอาจพาประเทศไปสู่ความรุ่งเรืองหรือล่มจมได้ในชั่วรัฐบาลเดียว
มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย
ข้อสรุป :
บทความนี้ไม่มีเจตนาสรุปว่าประธานาธิบดีทรัมป์เป็นคนไร้ศีลธรรม
เพียงอาศัยข้อมูล ประเด็นจากข่าวเด่นในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ประกอบการนำเสนอ
ทั้งยังควรบันทึกว่าชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยสนับสนุนทรัมป์ หลายคนชอบนโยบายหลายอย่างของรัฐบาลชุดนี้
เห็นว่าควรให้ทรัมป์บริหารประเทศต่อไปแม้มีเสียงวิพากษ์มากมายซึ่งเป็นปกติของการเมือง
ส่วนการจะสรุปว่าทรัมป์จะเป็นคนอสัตย์อธรรมหรือไม่
ขึ้นกับการตัดสินใจของแต่ละคน ความคิดเห็นของเจมส์ คอมีย์อาจบั่นทอนความนิยมแต่ไม่มีผลทางกฎหมาย
เว้นแต่จะมีข้อพิสูจน์ชัดว่าทรัมป์ทำผิดกฎหมายจริงๆ
ไม่ว่าจะมองแง่ลบหรือบวก
เรื่องราวที่เกิดสหรัฐหรือประเทศใดๆ จะน่าเป็นเหตุให้กลับทบทวนประเทศตนเอง
22 เมษายน
2018
ชาญชัย
คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7834 วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน พ.ศ.2561)
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ในการเลือกตั้งบางครั้ง
ไม่มีผู้สมัครคนใดที่ดีพอ คู่ควรกับตำแหน่ง
แต่ด้วยระบอบกับระบบพยายามให้ประชาชนออกไปเลือกตั้ง
หลายคนจึงใช้วิธีเลือกคนที่แย่น้อยกว่า
เพื่อสกัดไม่ให้คนที่แย่ที่สุดได้ถืออำนาจบริหารประเทศ
แต่แนวคิดเช่นนี้ไม่ช่วยให้ประเทศเจริญรุ่งเรืองยั่งยืน เป็นเพียงการซื้อเวลา
จึงต้องคิดหาระบบเลือกตั้ง/สรรหาให้ได้คนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม
โดยไม่ยึดกรอบว่าต้องเป็นการเลือก/สรรหาช่วงเวลาหาเสียงเท่านั้น
1. ชรินทร์ สันประเสริฐ. (2546). รัฐ: ในทรรศนะของปราชญ์และนักคิดทางการเมืองคนสำคัญ. วารสารรวมบทความวิชาการรัฐศาสตร์ 21 ปี มสธ.
2. Bardes, Barbara A., Shelley, Mack C., & Schmidt, Steffen
W. (2012). American Government and Politics Today: Essentials (2011 -
2012 Ed.). USA: Wadsworth, Cengage Learning.
3. Barrett, Wayne. (2016). Trump:
The Greatest Show on Earth: The Deals, the Downfall, the Reinvention. New
York: Regan Arts.
4. Bessette, Joseph M., Pitney, John J. Jr. (2011). American
Government and Politics: Deliberation, Democracy and Citizenship. USA:
Wadsworth.
5. Exclusive: James Comey strikes back against 'morally
unfit' Donald Trump in scathing interview. (2018, April 16). USA Today. Retrieved from https://www.usatoday.com/story/news/politics/2018/04/16/james-comey-interview-donald-trump-morally-unfit/515529002/
6. In Interview, Comey Calls Trump
‘Morally Unfit’ and a ‘Stain’ on All Around Him. (2018,
April 15). The New York Times. Retrieved from https://www.nytimes.com/2018/04/15/us/politics/comey-interview-trump.html
7. Jacobson, John A.(1998). An
Introduction to Political Science. CA: West/Wadsworth publication.
8. James Comey interview: Trump 'morally unfit' to be
president as a man who treats women 'like pieces of meat,' says former FBI
chief. (2018, April 16). Independent.
Retrieved from https://www.independent.co.uk/news/world/americas/us-politics/james-comey-interview-donald-trump-abc-tv-fbi-a-higher-loyalty-slimeball-tweet-a8306296.html
9. James Comey says Donald Trump 'morally unfit' to be
president. (2018, April 16). The
Guardian. Retrieved from https://www.theguardian.com/us-news/2018/apr/16/james-comey--donald-trump-morally-unfit-president-abc-interview
10. Johnston, David Cay. (2016). The Making of Donald Trump. New York: Melville
House Publishing.
11. 'Morally unfit': The moments that mattered in James
Comey's explosive interview. (2018, April 15).
ABC News. Retrieved from http://abcnews.go.com/Site/transcript-james-comeys-interview-abc-news-chief-anchor/story?id=54488723
12. Rafferty, Kirsten., & Mansbach,
Richard. (2012). Introduction to Global Politics (2nd ed.). New
York: Routledge.
-----------------------------