อำนาจ 3 เส้าผู้หมายครองตะวันออกกลาง

การยอมรับรัฐอิสราเอล ซาอุฯ ไม่มีปัญหาคนยิวทั้งยังมีผลประโยชน์ร่วมกันหลายอย่างจากปากของมกุฎราชกุมารซัลมาน จะนำสู่การพันธมิตรของ “อำนาจ 3 เส้าผู้หมายครองตะวันออกกลาง” อย่างเปิดเผย
 
            มกุฎราชกุมาร มุฮัมมัด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) ผู้ที่ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า “บัดนี้พระองค์เป็นมากกว่ามกุฎราชกุมารแล้ว” สร้างความตื่นตะลึงเมื่อเอ่ยว่าอิสราเอลกับปาเลสไตน์มี สิทธิเหนือดินแดนมาตุภูมิของตน คนยิวมีสิทธิ์แห่งการเป็นรัฐชาติ (nation-state) ที่อยู่ร่วมกับชนชาติอื่นโดยสันติ ทั้งยังเสนอข้อตกลงสันติภาพเพื่อนำสู่ความสัมพันธ์ตามปกติ ซาอุฯ ไม่มีปัญหาคนยิวทั้งยัง มีผลประโยชน์ร่วมกันหลายอย่าง
คำพูดสั้นๆ ดังกล่าวมีผลเปลี่ยนประวัติศาสตร์จากรัฐอิสราเอลสมัยใหม่ที่เป็นคู่อาฆาตบัดนี้กลายเป็นมิตร และไม่ใช่มิตรธรรมดาแต่เป็นพันธมิตรเพื่อจัดการศัตรูร่วม ดังที่มกุฎราชกุมารซัลมานพูดว่าปัจจุบันซาอุฯ มีศัตรูที่เรียกว่า ความชั่วร้าย 3 เส้า” (triangle of evil) ประกอบด้วย อุดมการณ์ชีอะห์ (Shiite ideology) กลุ่มภารดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) และผู้ก่อการร้ายอย่างอัลกออิดะห์ ISIS คำประกาศตอกย้ำว่าอิสราเอลไม่ใช่ศัตรูรัฐบาลซาอุฯ แต่เป็นอิหร่านที่ทั้งรัฐบาลเนธันยาฮูกับซาอุฯ ต่างเปรียบเทียบตรงกันว่าระบอบอิหร่านคือนาซี
หลายปีที่ผ่านมา นักวิเคราะห์บางคนคนเชื่อว่ารัฐบาลอิสราเอลกับอาหรับมีความร่วมมือในทางลับหลายครั้ง นับจากนี้เป็นต้นไปสิ่งที่จะต่างจากเดิมคือการร่วมมืออย่างเปิดเผย สังคมโลกจะเห็นผู้นำยิวจับมือกับผู้นำมุสลิมอาหรับ
ชมคลิปสั้น 4 นาที
ความหวังรัฐปาเลสไตน์ยิ่งเลือนราง :
แม้มกุฎราชกุมารซัลมานจะยืนยันแผนที่ฉบับปี 1967 ยึดมั่นแนวนโยบายก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ควบคู่รัฐอิสราเอล แต่เป็นที่ทราบกันว่าตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ฝ่ายอิสราเอลรุกคืบกินพื้นที่ตลอด ทั้งๆ ที่รัฐบาลสหรัฐ ซาอุฯ กับพวกพยายามต่อต้านแต่ไม่เป็นผล พูดให้ชัดคือล้มเหลว ดังนั้นในยามที่ 2 ประเทศจับมือเป็นพันธมิตรต้านอิหร่าน ย่อมน่าเชื่อว่ารัฐบาลซาอุฯ จะคลายแรงต่อต้าน เอื้อการรุกคืบสร้างที่อยู่อาศัยของอิสราเอลในเขตเวสต์แบงก์
จะเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งถ้าหากการเป็นพันธมิตรจะช่วยให้ปาเลสไตน์ได้สันติภาพถาวร เกิดรัฐปาเลสไตน์ แต่ต้องดูรายละเอียดว่ารัฐปาเลสไตน์ต้องเป็นรัฐอธิปไตยจริงๆ เช่น ไม่อยู่ใต้อำนาจการดูแลด้านความมั่นคงจากอิสราเอล อิสราเอลคืนดินแดนที่ยึดครองโดยผิดกฎหมาย (กลับสู่แผนที่ 1967) นครเยรูซาเล็มตะวันออกเป็นเมืองหลวงของปาเลสไตน์
แต่จะเป็นเช่นนั้นได้หรือในเมื่ออิสราเอลมีประชากรเพิ่ม ที่ผ่านมามีแต่ต้องการดินแดนเพิ่ม รัฐบาลอิสราเอลจะขับไล่พลเรือนของตนที่ไปตั้งรกรากในเขตเวสต์แบงก์หรือ จะยอมให้มีรัฐปาเลสไตน์หรือ จากท่าทีที่แสดงออกมาดูไม่เป็นผลดีต่อปาเลสไตน์เลย
            รวมความแล้ว การจับมือระหว่างยิวกับอาหรับน่าจะเป็นเหตุให้ความหวังของปาเลสไตน์ที่จะกลายเป็นรัฐ ได้คืนพื้นที่เลือนรางกว่าเดิม
            คำพูดว่าจะช่วยเหลือปาเลสไตน์เป็นคำลมๆ แล้งๆ ที่พูดมาหลายทศวรรษแล้ว และยังคงพูดต่อไป

ผลจากยึดแนวทางอิสลามสายกลาง :
            มกุฎราชกุมารซัลมานประกาศว่าซาอุฯ จะเปลี่ยนมาเป็นยึดแนวทางอิสลามสายกลาง (moderate) ซึ่งยังไม่ชัดว่าหมายความว่าอย่างไร จะหมายถึงตามหลักวะสะฏียะฮ์ (wasatiyyah) ที่บางประเทศยึดถือใช่หรือไม่ อิสลามสายกลางตามอัลกุรอานหมายถึงอย่างไร
            ที่ปรากฏเป็นรูปธรรมบ้างแล้วคือ ไม่บังคับให้ผู้หญิงต้องสวมเสื้อคลุมสีดำตัวหลวม ที่ใช้สวมทับชุดข้างในก่อนออกจากบ้าน (อาบายะห์ – แต่ยังต้องมีผ้าคลุมสีอื่นๆ) ผู้หญิงขับรถได้ มีโรงภาพยนตร์ที่ทั้งชายและหญิงสามารถเข้าชม เปิดโอกาสให้ชายหญิงได้เข้าร่วมกิจกรรมหลายอย่างพร้อมกัน
            ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาจตีความว่า อิสลามสายกลางที่มกุฎราชกุมารซัลมานเอ่ยถึงคือการละทิ้งความเป็นศัตรูกับอิสราเอล หันมาเป็นพันธมิตร นับจากนี้ชนชาติอาหรับกับยิวทุกคน (รวมทั้งพวกไซออนิสต์) จะเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ในอนาคตอาจเห็นกองทัพยิวรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับมุสลิมอาหรับ

คือศาสนาหรือเพื่อผลประโยชน์แห่งอำนาจ :
นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าต้นเหตุความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลซาอุฯ กับระบอบโคไมนี (Khomeini) แห่งอิหร่านไม่ใช่ความแตกต่างเรื่องนิกายศาสนาหรือเชื้อชาติ แต่เป็นการอ้างระบอบการปกครองที่ชอบธรรมโดยอิงศาสนา แนวทางของอิหร่านกลายเป็นการกล่าวโทษระบอบกษัตริย์ของซาอุฯ กับบรรดาประเทศที่ใช้ระบอบเดียวกับซาอุฯ รัฐบาลซาอุฯ จึงตอบโต้ด้วยการยกตัวเองเป็นผู้พิทักษ์อิสลาม ผู้นำโลกมุสลิม พร้อมกับหาทางบั่นทอนทำลายระบอบอิหร่าน
ความที่ศาสนาอิสลามครอบคลุมทุกด้านทุกมิติรวมทั้งระบอบการปกครอง ทุกครั้งเมื่อเอ่ยถึงการเมืองการปกครอง ผู้นำประเทศกับนักการศาสนาหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเอ่ยถึงหลักคำสอน บัญญัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นเมื่อตีความแตกต่างกัน ยิ่งแตกต่างมากเพียงไรยิ่งเห็นความแตกต่างมากขึ้นเท่านั้น ทุกนิกายทุกสำนักคิดพยายามอธิบายชี้แจงว่าของตนนั้นถูกต้องที่สุดเหมาะสมที่สุด
จากนั้นความแตกต่างกลายเป็นความขัดแย้งเมื่อศาสนิกฝ่ายหนึ่งโจมตีอีกฝ่าย หรือผู้ปกครองฝ่ายหนึ่งโจมตีอีกฝ่าย ตั้งคำถามว่าใครละเมิดบทบัญญัติศาสนา ใครจะขึ้นสวรรค์หรือลงนรก
ปัญหานี้แก้ได้ ถ้าต่างฝ่ายต่างนับถือปฏิบัติตามความศรัทธาของตน ไม่พยายามโจมตีให้ร้ายอีกฝ่าย ความแตกต่างทางนิกายสำนักคิดไม่ต่างจากความแตกต่างทางศาสนา ประเด็นคือจะตีความให้อยู่ร่วมกันได้ หรือจะตีความว่าจะต้องทำลายล้างอีกฝ่ายให้สิ้นซาก

ด้วยความหวังว่าผู้นำประเทศ ชนชั้นปกครองจะไม่นำเหตุความแตกต่างทางนิกายศาสนาเป็นเครื่องมือขยายอำนาจหรือเพื่อความอยู่รอดของตนเอง เหตุผลข้อหลังนี้เป็นเรื่องของตัวผู้ปกครองโดยตรงไม่เกี่ยวกับนิกายศาสนาที่แตกต่าง ซึ่งต้องแก้ไขด้วยแนวทางอื่น
 ดังนั้น ก่อนจะแก้ไขจะต้องเข้าใจให้ชัดว่าแท้จริงแล้วปัญหาคือความแตกต่างทางศาสนาหรือเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางการเมือง

อำนาจ 3 เส้าผู้หมายครองตะวันออกกลาง :
            ในขณะที่ผู้นำซาอุฯ เอ่ยถึงศัตรูปัจจุบันที่เรียกว่าความชั่วร้าย 3 เส้า สิ่งที่เกิดขึ้นหรือกำลังจะเกิดขึ้นคือ พันธมิตร 3 เส้าระหว่างรัฐบาลซาอุฯ (กับพวก) อิสราเอลและสหรัฐ อาจเรียกว่า อำนาจ 3 เส้าผู้หมายครองตะวันออกกลาง
            เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่ารัฐบาลสหรัฐพยายามรักษาอำนาจอิทธิพลในตะวันออกกลาง ทำนองเดียวกับซาอุฯ ที่พยายามจัดระเบียบตะวันออกกลาง ส่วนอิสราเอลพยายามขยายดินแดนและอิทธิพล หากรวม 3 อำนาจดังกล่าว นั่นหมายความว่า “อำนาจ 3 เส้าผู้หมายครองตะวันออกกลาง” กำลังร่วมมือกันจัดระเบียบ (เป็นไปได้ว่ามีความร่วมมือในระดับหนึ่งแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่ประกาศชัดต่อสาธารณะ) ภายใต้แนวคิดนี้ความเป็นไปของภูมิภาคตะวันออกกลางในปัจจุบันและอนาคตจะขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายของ “อำนาจ 3 เส้าผู้หมายครองตะวันออกกลาง” นี้

            อาหรับสปริงซีเรียคือตัวอย่างความร่วมมือของอำนาจ 3 เส้า การประท้วงในซีเรียเริ่มต้นไม่ต่างจากการประท้วงในประเทศอื่นๆ ที่แตกต่างคือรัฐบาลอาหรับเรียกร้องให้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด (Bashar al-Assad) ก้าวลงจากอำนาจ หลายประเทศกดดันซีเรียตามแนวทางของคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ซึ่งมีซาอุดิอาระเบียเป็นแกนนำ
ในเวลาไล่เลี่ยกันประธานาธิบดีบารัก โอบามา เรียกร้องให้อัสซาดก้าวลงจากอำนาจเช่นกัน
บทบาทที่อิสราเอลแสดงให้เห็นคือการโจมตีกองกำลังฮิซบอลเลาะห์ กองทัพอัสซาด และกองกำลังติดอาวุธที่เชื่อมโยงกับอิหร่าน ในระยะหลังเพิ่มการโจมตีระบบต่อต้านอากาศยาน สนามบินของซีเรียด้วย
            ไม่ว่าจะสมรู้ร่วมคิดหรือไม่จะเห็นการส่งเสริมเกื้อหนุนของอำนาจ 3 เส้านี้ไม่น้อย

            ซีเรียเป็นกรณีหนึ่งเท่านั้น มีอีกหลายประเทศที่เห็นลักษณะประการหนึ่งของตะวันออกกลางที่ชัดเจนมากนั่นคือ การล้มรัฐบาลประเทศอื่นด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เช่น อียิปต์ ลิเบีย ไม่ว่าจะถูกกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ การที่รัฐบาลหนึ่งประกาศจะล้มล้างรัฐบาลของอีกประเทศเป็นเรื่องที่ทำกัน (แม้โลกจะอยู่ในศตวรรษที่ 21 แล้ว เป็นยุคโลกาภิวัตน์ ยุคดิจิทัล) เมื่อมีหลายตัวอย่างให้เห็นจึงเชื่อว่าจะเกิดเรื่องราวทำนองนี้กับประเทศอื่นๆ อีก เพียงแต่ต้องอาศัยจังหวะเวลา บริบทที่เหมาะสม
            นี่คือส่วนหนึ่งของความเป็นไปในภูมิภาคตะวันออกกลางจากผลงานของ อำนาจ 3 เส้าผู้หมายครองตะวันออกกลาง
            น่าติดตามว่าที่สุดแล้วภูมิภาคตะวันออกกลางจะกลายเป็นดินแดนของ “อำนาจ 3 เส้าผู้หมายครองตะวันออกกลาง” หรือไม่ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนแต่ประเทศแต่ละส่วนจะเป็นอย่างไร
15 เมษายน 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7827 วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน พ.ศ.2561)
-----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
บัดนี้ ISIS ไม่เป็นภัยอีกแล้ว การที่อิสราเอลหรือฝ่ายสหรัฐฯ โจมตีกองทัพอัสซาดไม่มีผลต่อการรบทางภาคพื้นดินมากนัก การโจมตีน่าจะมุ่งหวังครองน่านฟ้าและมองเป้าหมายที่ไกลกว่าซีเรีย

บรรณานุกรม :
1. A sectarian cloak for Middle East wars. (2014, February 14). Asia Times. Retrieved from http://www.atimes.com/atimes/Middle_East/MID-01-210214.html
2. Israel ready to work with Saudis against Iran, army chief says. (2017, November 17). France 24. Retrieved from http://www.france24.com/en/20171116-israel-cooperate-saudi-arabia-against-iran-intelligence-army-chief-eisenkot
3. Lynch, Marc. (2012). The Arab Uprising: The Unfinished Revolutions of the New Middle East. NY: Publicaffairs.
4. Mohammed bin Salman, reformist prince who has shaken Saudi Arabia. (2018, April 6). New Strait Times. Retrieved from https://www.nst.com.my/world/2018/04/353668/mohammed-bin-salman-reformist-prince-who-has-shaken-saudi-arabia
5. Saudi Crown Prince recognizes Israel's right to exist. (2018, April 3).
FRANCE 24.
Retrieved from http://www.france24.com/en/20180403-saudi-arabia-israel-crown-prince-right-homeland-exist
6. Saudi Crown Prince: Iran's Supreme Leader 'Makes Hitler Look Good'. (2018, April 2). The Atlantic. Retrieved from https://www.theatlantic.com/international/archive/2018/04/mohammed-bin-salman-iran-israel/557036/
7. Saudi Prince’s White House Visit Reinforces Trump’s Commitment to Heir Apparent. (2018, March 20). The New York Times. Retrieved from https://www.nytimes.com/2018/03/20/us/politics/saudi-crown-prince-arrives-at-white-house-to-meet-with-trump.html
-----------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก