240 ปีแนวร่วมต่อต้านสงครามในสหรัฐ

ตลอด 240 ปีนับจากก่อตั้งประเทศได้พิสูจน์ชัดว่าชาวอเมริกันผู้รักสันติแทบไม่มีผลต่อนโยบายทำสงคราม เป็นเหตุให้สหรัฐเข้าทำสงครามน้อยใหญ่อยู่เสมอ สงครามมีเพื่อใครกันแน่

Mitchell K. Hall ในหนังสือ Opposition to War: an encyclopedia of U.S. peace and antiwar movements บรรยายว่าตลอดประวัติศาสตร์ 240 ปีนับแต่ก่อตั้งประเทศ สหรัฐทำสงครามครั้งใหญ่ 12 ครั้ง (เฉลี่ย 20 ปีต่อครั้ง-แก้ไข) ม่นับสงครามเล็กๆ ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกอีกจำนวนมาก ขัดแย้งกับแนวคิดที่ว่าเป็นชาติรักสันติ
            ในหมู่ชาวอเมริกันมีผู้รักสันติแท้ๆ ด้วยแรงขับหลากหลาย จุดมุ่งหมายปลีกย่อยหลายแบบ และใช้ยุทธศาสตร์แตกต่างกัน
            นักต่อต้านสงครามรุ่นแรกๆ ได้แรงผลักดันจากศาสนา พวกพิวริตัน (Puritan-นิกายหนึ่งของผู้นับถือคริสต์) ยึดหลัก “สงครามที่เป็นธรรม” (just war) ในขณะที่ผู้นับถือคริสต์ส่วนใหญ่จะยึดหลักการจากเทศนาบนภูเขาของพระคริสต์ (Christ’s Sermon on the Mount) แต่ผู้ประกาศตัวว่านับถือคริสต์มีหลากหลาย บางคนเห็นด้วยกับการทำสงคราม เกิดความขัดแย้งกันเองถึงขั้นลงไม้ลงมือทำร้ายกัน ทำลายหรือยึดทรัพย์สินของอีกฝ่าย
            ในยุคเริ่มประเทศ รัฐบาลยึดนโยบายเป็นกลาง ด้วยเกรงว่าหากสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศในยุโรปจะชักนำตัวเองเข้าสู่ความขัดแย้ง ในยามที่ประเทศขาดความพร้อม (ในขณะนั้นรัฐต่างๆ ที่รวมเป็นประเทศยังขาดเอกภาพ รัฐบาลกลางไม่มีอำนาจ)
ชมคลิปสั้้น 5 นาที
เลิกทาส จักรวรรดินิยม สงครามโลก :
            ในเวลาต่อมาแนวคิดต่อต้านสงครามนำสู่แนวคิดเลิกทาส เห็นว่าการบังคับทาสโหดร้ายทารุณไม่แพ้สงคราม ความคิดเลิกทาสสร้างความขัดแย้งในสังคมอย่างหนัก บางคนเห็นว่าจำต้องมีต่อไป บ้างเห็นว่าหากเลิกทาสประเทศจะปั่นป่วนกว่าเดิมเพราะจะเกิดสงครามกลางเมือง
            ปลายศตวรรษที่ 19 ชาวอเมริกันผู้รักสันติถกว่าประเทศเป็นจักรวรรดินิยมหรือไม่ เมื่อทำสงครามกับสเปนและเป็นเจ้าอาณานิคมฟิลิปปินส์ ฝ่ายที่เห็นว่าควรผนวกฟิลิปปินส์ให้เหตุผลว่าเป็นประโยชน์ต่อสันติภาพโลก ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยชี้ว่าเป็นข้ออ้างเพื่อยึดครองมากกว่า (ปลดปล่อยฟิลิปปินส์จากสเปนเพื่อยึดครองเอง) สุดท้ายรัฐสภายืนยันผนวกฟิลิปปินส์เป็นอาณานิคมของสหรัฐ
            วิเคราะห์ : จะเห็นว่าตั้งแต่ร้อยกว่าปีก่อนมีประเด็นถกเถียงว่าสหรัฐเป็นจักรวรรดินิยมหรือไม่ คำว่าปลดปล่อย ช่วยเหลือประเทศอื่นเป็นเพียงข้ออ้างหรือไม่ จะเห็นว่าประชาชนสามารถแสดงจุดยืนความคิดเห็นอย่างเต็มที่ แต่เสียงของประชาชนมีผลต่อนักการเมืองมากน้อยเพียงไรนั่นเป็นอีกเรื่อง
            เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดคำถามว่าควรเตรียมพร้อมเพื่อสงครามครั้งต่อไปหรือไม่ ควรวางตัวเป็นกลางอีกหรือไม่ ปรากฏว่ารัฐบาลเห็นต่างจากพวกรักสันติทั้ง 2 เรื่อง นับวันจะเพิ่มกฎหมายที่มุ่งบั่นทอนบ่อนทำลายประเทศปรปักษ์ เตรียมพร้อมทำสงคราม

            ในช่วงนี้เกิดกลุ่มต่อต้านสงครามมากมาย บางกลุ่มไม่คิดว่าการเผยแพร่ประชาธิปไตยจะเป็นต้นเหตุให้เกิดสันติภาพ เห็นว่าเป็นข้ออ้างของพวกลัทธิจักรวรรดินิยมมากกว่า
            ในทศวรรษ 1930 นักสันตินิยมให้ความสำคัญกับการให้ความรู้และนโยบายลดอาวุธ บางส่วนสนับสนุนแนวคิดการป้องกันร่วม (collective action) เพื่อต้านการขยายตัวของฟาสซิสต์
            วิเคราะห์ : หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 บริบทเปลี่ยนไปมาก ฝ่ายการเมืองเห็นว่าต้องเข้าพัวพันกับโลกเพื่อความมั่นคง โลกกำลังมีอันตรายจากลัทธิฟาสซิสต์ซึ่งเป็นความจริง ในขณะที่ความจริงอีกด้านมีคำถามอยู่เสมอว่าสหรัฐกำลังเป็นจักรวรรดินิยมด้วยหรือไม่ (ทำลายจักรวรรดินิยมอื่นเพื่อตัวเองเป็นจักรวรรดินิยมใหม่) ความเข้าใจเหล่านี้นับวันจะซับซ้อน มีประเด็นที่ต้องศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ เป็นองค์ความรู้ที่ต้องสืบเสาะระดับโลก
            ในทศวรรษ 1930 คนส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลเลี่ยงความตึงเครียดในยุโรป (การปรากฏตัวของนาซีเยอรมัน) ไม่เห็นด้วยกับแนวคิด “ทำสงครามเพื่อหยุดสงคราม” ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าการทำสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่หยุดความตึงเครียด และสถานการณ์ดูเหมือนว่าจะเกิดสงครามครั้งใหญ่อีก
            วิเคราะห์ : สงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่หยุดความตึงเครียดมาจากหลายสาเหตุ ปัจจัยสำคัญคือเยอรมันต้องยอมรับผิดในฐานะเป็นผู้ก่อสงคราม ต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามถึง 1.5 เท่าของจีดีพี เสียดินแดนทั้งในยุโรปและอาณานิคม ระบบอุตสาหกรรมพังทลาย เศรษฐกิจพังพินาศ คนว่างงานสูงเกือบร้อยละ 50 รัฐบาลประชาธิปไตยอ่อนแอ ผลักดันให้คนเยอรมันสนับสนุนฮิตเลอร์ ดังนั้นจะโทษตัวสงครามอย่างเดียวไม่ได้
            เมื่อนาซีเยอรมันเริ่มรุกรานเพื่อนบ้าน กลุ่มรักสันติบางคนเห็นด้วยกับการต่อต้านนาซีโดยให้เป็นความร่วมมือจากนานาชาติ เป็นกรณีตัวอย่างชี้ว่าการรักสันติไม่ได้หมายถึงไม่ทำสงคราม หรือต้องรอให้ศัตรูอยู่หน้าบ้านจึงลงมือต่อต้าน

สงครามเย็นและหลังสงครามเย็น :
            ยุคสงครามเย็นมหาอำนาจมีอาวุธนิวเคลียร์เหลือเฟือ เป็นช่วงเวลาที่ชาวอเมริกันรู้สึกไม่ปลอดภัยตลอดเวลา มีหลายเหตุการณ์ที่เกือบนำสู่สงครามนิวเคลียร์ทั้งแบบตั้งใจกับไม่ตั้งใจ เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลกับพวกรักสันติคิดเห็นต่างกัน รัฐบาลสหรัฐไม่ว่ามาจากพรรคเดโมแครทหรือรีพับลิกันใช้ยุทธศาสตร์ปิดล้อมประเทศคอมมิวนิสต์ สร้างกองทัพมหึมา ชาวอเมริกันที่สนใจสังคมนิยมจะถูกตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่าเป็นพวกคุกคามความมั่นคงประเทศ เสรีภาพของประชาชนถูกบั่นทอน
            สงครามเกาหลีในทศวรรษ 1950 ถูกตีความสนับสนุนแนวทางรัฐบาล พวกรักสันตินั้นไร้เดียงสา
            อย่างไรก็ตาม สงครามเวียดนามพลิกสถานการณ์สนับสนุนฝ่ายรักสันติ และกลายเป็นช่วงเวลาที่ชาวอเมริกันเรียกร้องต่อต้านสงครามมากสุดในประวัติศาสตร์ มีนักเคลื่อนไหวอย่างจริงจังถึง 4 ล้านคน ฝ่ายต่อต้านประกอบด้วยหลากหลายกลุ่ม คนส่วนใหญ่ต่อต้านสงครามด้วยเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่ใช่ศาสนา
            วิเคราะห์ : ถ้าพิจารณาจากประเด็นเพิ่มงบประมาณกลาโหม การแทรกแซงประเทศอื่นๆ จะเห็นว่ารัฐบาลสหรัฐไม่ว่าจะมาจากพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครทล้วนมีจุดยืนแตกต่างจากกลุ่มรักสันติ และเห็นได้ชัดว่ากลุ่มไม่มีผลต่อยุทธศาสตร์แม่บท มีเพียงบางเหตุการณ์ที่ชวนให้คิดว่าฝ่ายรักสันติมีผลต่อนโยบายรัฐ เช่น การลดอาวุธนิวเคลียร์ ความพยายามยุติบางสงคราม
            สงครามอ่าวเปอร์เซีย การโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein) กลายเป็นศูนย์รวมพวกต่อต้านสงครามอีกครั้ง พร้อมกับที่รัฐบาลประกาศทำสงครามต่อต้านก่อการร้าย ฝ่ายต่อต้านไม่เชื่อว่ารัฐบาลซัดดัมเกี่ยวข้องกับเหตุ 9/11 เชื่อว่าเป้าหมายที่รัฐบาลสหรัฐต้องการคือควบคุมบ่อน้ำมัน
            โดยรวมแล้ว แนวคิดของพวกรักสันติเริ่มจากหลักศาสนาคริสต์ ต่อมาเป็นแนวคิดด้านการเมืองการปกครอง เช่น ส่งเสริมประชาธิปไตยเพราะเห็นว่าประเทศประชาธิปไตยจะไม่ทำสงคราม สงครามยับยั้งได้ด้วยความร่วมมือนานาชาติ 240 กว่าปีนับจากก่อตั้งประเทศฝ่ายรักสันติสงสัยจุดมุ่งหมายของรัฐบาลเรื่อยมาว่าต้องการสันติภาพจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อทำสงคราม

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
            ทั้งสงครามเวียดนามกับสงครามอ่าวเปอร์เซียเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สังคมอเมริกันเห็นว่าไม่ใช่สงครามที่ควรเข้าร่วม ที่ควรเข้าใจคือทั้ง 2 สงครามทหารอเมริกันเสียชีวิตจำนวนมาก ปัญหาใหญ่กว่าผู้เสียชีวิตคือผู้บาดเจ็บ กรณีสงครามอิรักบาดเจ็บกว่า 32,000 นาย ในจำนวนนี้หลายพันคนประสบปัญหาทางสมองและไขสันหลัง เป็นภาระที่รัฐบาลกับครอบครัวทหารหาญต้องแบกนานเป็นสิบปีหรือตลอดชีวิต เสียค่าใช้จ่ายดูแลพยาบาล เรื่องเหล่านี้ส่งผลต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลอย่างมาก ถึงขั้นแพ้หรือชนะเลือกตั้ง ดังนั้น ประเด็นไม่อยู่ที่รัฐบาลรักสันติหรือไม่ คนอเมริกันเสียชีวิตกับบาดเจ็บพิกลพิการเป็นแรงกดดันสำคัญ ดังจะเห็นว่านับจากเริ่มรัฐบาลบารัก โอมาบา สหรัฐถอนทหารหลายหมื่นออกจากสมรภูมิ ที่ยังประจำการในประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่อยู่ในป้อมทหาร ผู้ที่รบจริงเป็นพวกหน่วยปฏิบัติการพิเศษ
พร้อมๆ กันนี้คือข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลโอบามาอยู่เบื้องหลังการโค่นล้มหลายรัฐบาล เพียงแต่รัฐบาลโอบามานิ่งเฉยไม่ค่อยแสดงอะไรออกมา ภาพที่เห็นจึงเป็นความขัดแย้งภายในประเทศ เกิดรัฐประหารยึดอำนาจภายในประเทศ ทั้งๆ ที่หลายกรณีรัฐบาลสหรัฐมีส่วนร่วมไม่มากก็น้อย
การปรากฏตัวของกลุ่มติดอาวุธที่มาจากกว่าร้อยประเทศ กลุ่มผู้ก่อการร้ายหลายกลุ่ม รวมทั้ง ISIS/ISIL เป็นอีกปรากฏการณ์ที่มุ่งโค่นล้มรัฐบาลประเทศใดประเทศหนึ่งที่หลายคนมั่นใจว่ารัฐบาลบางประเทศเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
            หากดูจากยุทธศาสตร์แม่บทเรื่องการพัวพันโลกที่ยังยึดถือเรื่อยมา ปรากฏเป็นการทำสงครามในที่ต่างๆ ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการล้มล้างรัฐบาลประเทศอื่นๆ ควบคุมรัฐบาลหลายประเทศในโลก เห็นชัดว่าพวกรักสันติไม่มีผลต่อนโยบายรัฐบาล
            คำถามสำคัญคือนโยบายเหล่านี้ส่งผลดีหรือผลเสียมากกว่า พลเมืองอเมริกันได้ประโยชน์จริงหรือไม่ มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าหรือไม่ แท้จริงแล้วพลเมืองอเมริกันมีผลต่อนโยบายประเทศหรือ
11 มีนาคม 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7792 วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2561)
------------------------
บรรณานุกรม :
1. D'Anieri, Paul. (2012). International Politics: Power and Purpose in Global Affairs. USA: Wadsworth.
2. Hall, Mitchell K. (2018). Opposition to War: an encyclopedia of U.S. peace and antiwar movements. USA: ABC-CLIO, LLC.
3. Heidler, David S., Heidler, Jeanne T. (2004). Daily Life in the Early American Republic, 1790-1820: Creating a New Nation. USA: Greenwood Press.
4. Hoffman, John., Graham, Paul. (2015). Introduction to Political Theory (3rd Ed.). Oxon: Routledge.
5. Justin P. Coffey and Paul G. Pierpaoli Jr.. (2010). Bush, George Walker. In The Encyclopedia of Middle East Wars: The United States in the Persian Gulf, Afghanistan, and Iraq Conflicts. (pp.251-251). California : ABC-CLIO, LLC.
6. U.S. House of Representatives. (2013, July 9). Subcommittee Hearing: Learning From Iraq: A Final Report from the Special Inspector General for Iraq Reconstruction. Retrieved from http://docs.house.gov/meetings/FA/FA13/20130709/101112/HHRG-113-FA13-Transcript-20130709-U1.pdf
-----------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก