ขอเชิญออสเตรเลียเป็นสมาชิกอาเซียน

อาเซียนก้าวหน้าอีกขั้นด้วยการเชิญออสเตรเลียเป็นสมาชิก เป็นการคิดนอกกรอบอีกครั้ง และน่าจะด้วยเหตุผลเดิม นั่นคือ ผลจากบริบทความมั่นคงระหว่างประเทศ

เทียบเชิญจากอาเซียน :
ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โจโก วีโดโด (Joko Widodo) เชื้อเชิญออสเตรเลียเป็นสมาชิกอาเซียนเต็มตัว เปิดโอกาสให้ออสเตรเลียมีบทบาทในภูมิภาคมากขึ้น ทั้งด้านการป้องกันประเทศ การค้าการลงทุน และประเด็นความมั่นคงอื่นๆ คิดว่าจะเพิ่มความมั่นคงแก่ทุกประเทศในภูมิภาค ทุกอย่างจะดีขึ้น นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลีเซียนลุง (Lee Hsien Loong) กล่าวทำนองนี้เช่นกัน
            ด้านในออสเตรเลียมีการพูดถึงแนวคิดเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนเหมือนกัน
            ผู้นำอาเซียนมีวาระประชุมกับผู้นำออสเตรเลียในวันสุดสัปดาห์นี้ที่เรียกว่า “การประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ” (ASEAN-Australia Special Summit) เรื่องการเชิญออสเตรเลียเป็นสมาชิกอาเซียนคงเป็นหนึ่งในวาระสำคัญแน่นอน
            หลักคิดคือความมั่นคงภูมิภาคเปิดทางสู่ความมั่งคั่ง ยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทุกประเทศได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย
อาเซียนเป็นฝ่ายเอ่ยปากเชิญ :
ติมอร์-เลสเต (Timor-Leste) หรือติมอร์ตะวันออกเดิมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินโดนีเซีย ได้รับเอกราชเมื่อค.ศ.2002 รัฐบาลติมอร์-เลสเตประกาศต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างเร็วที่สุด แต่จนบัดนี้ยังเป็นเพียงความพยายาม มีการเอ่ยถึงในแถลงการณ์หลังประชุมสุดยอดอาเซียนบ้าง แต่ยังไม่อาจตอบได้ว่าสามารถเป็นสมาชิกได้เมื่อใด แม้ว่าประเทศนี้อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เต็มตัวก็ตาม
ชมคลิปสั้น 3 นาที 
ก่อนหน้านั้นปาปัวนิวกินีเป็นอีกประเทศหนึ่งที่อยากเข้าอาเซียน ประเทศนี้เป็นเกาะตั้งอยู่ทางทิศเหนือของออสเตรเลีย มีพรมแดนติดกับอินโดนีเซีย แต่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มโอเชียเนีย (Oceania) กลุ่มของหมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก มีประชากรราว 6 ล้านคน รัฐบาลปาปัวนิวกินีพยายามอยู่หลายปี เข้าใจว่าไม่จำต้องพยายามอีกต่อไปแล้ว
            ในกรณีออสเตรเลีย สมาชิกอาเซียนเป็นฝ่ายเชื้อเชิญเอง เข้าใจว่าในหมู่สมาชิกอาเซียนมีฉันทามติเรื่องนี้แล้ว (ดังจะเห็นว่าทั้งผู้นำอินโดฯ กับสิงคโปร์เอ่ยปากเรื่องนี้พร้อมกัน) ขั้นตอนล่าสุดอยู่ที่การส่งเทียบเชิญถึงผู้นำออสเตรเลีย นำเข้าสู่วาระหารือร่วมอย่างเป็นทางการ เพื่อกำหนดข้อสรุป แนวทางปฏิบัติซึ่งมีหลายขั้นตอน
            ในส่วนของออสเตรเลียถ้าจริงใจกับการเข้าร่วมอาเซียน จะหมายถึงการถอยห่างออกจากฝ่ายสหรัฐ วางตัวบนจุดยืนแบบอาเซียนมากขึ้น
จะเข้ากันได้หรือเมื่อออสเตรเลียมีความเป็นตะวันตกสูง :
            บางคนอาจตั้งคำถามว่าออสเตรเลียเป็นส่วนหนึ่งของเครือจักรภพ เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมอังกฤษ คนเชื้อสายอังกฤษเข้าไปตั้งรกราก ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ประชากรส่วนใหญ่มีหน้าตาแบบตะวันตก มีความร่วมมือด้านความมั่นคงใกล้ชิดสหรัฐอย่างยาวนาน เป็นหุ้นส่วนความมั่นคงกับสหรัฐ รวมความแล้วมีความเป็นตะวันตกสูง
            เหล่านี้เป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธ
            แต่ถ้ามองจากอาเซียน อาเซียนก่อตั้งบนพื้นฐานความแตกต่างอยู่แล้ว ดังที่เคยเสนอในบทความก่อนว่าชาติสมาชิก 10 ประเทศแตกต่างกัน ตั้งแต่ด้านการเมืองการปกครอง มีทั้งประชาธิปไตย อำนาจนิยมหลากหลายแบบ ราชาธิปไตย สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ มีทั้งประเทศที่นับถือพุทธ คริสต์ อิสลาม มีภาษาที่แตกต่างกันเป็นเอกลักษณ์ประเทศ สิงคโปร์มีระบบเศรษฐกิจแบบประเทศพัฒนาแล้ว ในขณะที่เมียนมาเพิ่งเปิดประเทศต้อนรับระบบทุนนิยมเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ใบหน้าผิวพรรณของประชากร 10 ชาติสมาชิกก็หลากหลาย
            ดังนั้น หากเพิ่มออสเตรเลียที่ยึดระบอบประชาธิปไตย ทุนนิยมเสรี คนส่วนใหญ่ประกาศตัวว่านับถือคริสต์ ใช้ภาษาอังกฤษ หลายคนมีใบหน้าแบบตะวันตก ก็เป็นเพียงเพิ่มความหลากหลายให้มากขึ้นเท่านั้น
            แต่ไม่แปลกสำหรับอาเซียนที่แตกต่างหลากหลายอยู่แล้ว
            ถ้ายังยึดประวัติศาสตร์ ภาษา รูปร่างหน้าตา นโยบายหลายเรื่อง ควรคิดว่าใกล้ชิดตะวันตก แต่หากยึดผลประโยชน์ที่จับต้องได้ การเป็นสมาชิกอาเซียนน่าจะเพิ่มประโยชน์ที่จับต้องได้มากกว่า และหากเชื่อว่าจีนกับอาเซียนจะเติบโตขึ้นอีกในศตวรรษนี้ การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนน่าจะได้รับผลดีกว่าใช่หรือไม่ อีกทั้งอาเซียนต้องการออสเตรเลียมากกว่าสหรัฐ ยอมทุ่มเทเพื่อออสเตรเลียมากกว่า เป็นอีกประเด็นที่น่าคิดเช่นกัน
            นี่น่าจะเป็นข้อเสนอที่อาเซียนเตรียมหยิบยื่นแก่ออสเตรเลีย แท้จริงแล้วทุกวันนี้เศรษฐกิจออสเตรเลียเชื่อมโยงกับอาเซียน การค้าการลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้น และยังมีศักยภาพอีกมาก หากเข้าร่วมเป็นสมาชิกย่อมเข้าร่วมเขตการค้าอาเซียน เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน เปิดทางสู่ความร่วมมือด้านการค้าอื่นๆ เช่น Regional Comprehensive Economic Partnership ที่อยู่ระหว่างการเจรจาและอาเซียนเป็นผู้ริเริ่ม ส่งเสริมการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกัน การท่องเที่ยว การศึกษา
            เรื่องที่รัฐบาลออสเตรเลียต้องไตร่ตรองคือยอมผูกความมั่นคงด้านการป้องกันประเทศเข้ากับอาเซียนหรือไม่ ยอมลดละภาพความเป็นตะวันตกลงบ้างหรือไม่ ซึ่งโดยแท้จริงแล้วหลายส่วนเป็นภาพเชิงการทูต เป็นภาพลักษณ์ที่สร้างขึ้นมา ส่วนที่เป็นตะวันตกแท้ของออสเตรเลียไม่น่าจะเปลี่ยนไปมาก
            และจะต้องกลายเป็นสมาชิก 1 ประเทศในบรรดาสมาชิกทั้งหมด

            ถ้าจะพูดให้ชัด สังเกตว่าประเด็นความมั่นคงด้านการป้องกันประเทศคือเรื่องหลักที่อาเซียนคิดถึง (แน่นอนหวังเพิ่มความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมด้วย) เป็นเหตุผลเดียวกับที่นำประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อย่างเวียดนาม สปป,ลาว กัมพูชา และรัฐบาลทหารเมียนมา (พม่า) เข้าเป็นสมาชิก
            เป็นไปได้ว่าอาเซียนหวังว่าการดึงออสเตรเลียเข้าร่วมจะลดความตึงเครียดในภูมิภาค ลดทอนอิทธิพลสหรัฐ ฝ่ายออสเตรเลียคิดถึงเรื่องนี้เหมือนกันมิใช่หรือ การลดแรงตึงเครียดน่าจะเป็นผลดีมากกว่า
            การเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนต่อให้เป็นสมาชิกที่ผูกพันเต็มตัวต้องใช้เวลาเตรียมการ ปรับระบบให้เข้ากัน ซึ่งต้องกินเวลาหลายปี อาจนานถึงสิบปีด้วยซ้ำ
            ในทางปฏิบัติ การปรับระบบเข้าหากันจะเป็นกระบวนการที่ดำเนินการเป็นขั้นๆ ค่อยๆ เข้าหากัน ในห้วงเวลาดังกล่าวเป็นโอกาสให้รัฐบาลออสเตรเลีย (ซึ่งจะมีหลายชุด) ได้ทบทวนการตัดสินใจ

มหาอำนาจอื่นจะยอมหรือไม่ โดยเฉพาะจีนกับสหรัฐ :
            คำถามนี้ต้องตอบโดย 2 ฝ่ายคืออาเซียนกับออสเตรเลีย
            ดังที่นำเสนอแล้วว่าผู้นำอินโดนีเซียกับสิงคโปร์เป็นผู้เอ่ยปากเรื่องนี้ ชี้ว่าในหมู่สมาชิกอาเซียนได้ตกลงแล้ว ได้วิเคราะห์ประเมินผลดีผลเสียแล้ว แม้กระทั่งอาจแจ้งบางประเทศให้รับรู้ก่อนแล้ว (หรือฝ่ายเขาสอบถาม) ดังนั้น อาเซียนตัดสินใจดีแล้ว ตอนนี้อยู่ในขั้นเดินหน้าตามแผนรับออสเตรเลีย
            เหลืออีกฝ่ายที่ต้องตัดสินใจคือออสเตรเลีย
เรื่องนี้คงต้องขอมติจากรัฐสภา และหากถ้ารัฐบาลออสเตรเลียคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่มากอาจทำประชามติ เป็นเรื่องที่น่าติดตาม ทั้งความเป็นไปในออสเตรเลียและปฏิกิริยาจากหลายประเทศที่มักแสดงบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้

คือการเติบโตอีกขั้นของอาเซียน :
            ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ ต้องชื่นชมความคิดและความกล้าหาญของผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน หรืออาจพูดอีกมุมว่าอาเซียนได้รับแรงกดดันจากบริบทความมั่นคงระหว่างประเทศมากจนถึงกับต้องหาทางออก หมากออสเตรเลียคือสิ่งที่อาเซียนกำลังเดิน
            หากประสบความสำเร็จ โฉมหน้าอาเซียนจะเปลี่ยนครั้งใหญ่ จะไม่ใช่องค์กรของประเทศเล็กๆ กลุ่มหนึ่งในเอเชียอีกต่อไป เพราะความเป็นตะวันตกของออสเตรเลียจะทำให้ภาพเปลี่ยนไปจากเดิม ขนาดพื้นที่ประชาคมอาเซียนใหม่จะกว้างใหญ่กว่าเดิมมาก
            เป็นอีกครั้งที่อาเซียนคิดนอกกรอบ (การคิดนอกกรอบครั้งแรกคือการดึงประเทศสังคมนิยมมาเป็นสมาชิก) เพราะหากมองจากภูมิศาสตร์ออสเตรเลียไม่อยู่ในภูมิภาคนี้ อีกทั้งออสเตรเลียมีความเป็นตะวันตกสูง อยู่ฝ่ายสหรัฐมาตลอด
            หากออสเตรเลียเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียน น่าคิดเหมือนกันว่าจำต้องมีทวีปออสเตรเลียต่อไปอีกหรือไม่ มีเหตุผลมากพอที่จะต้องมีทวีปนี้อีกหรือไม่
นับแต่ก่อตั้งอาเซียนที่เริ่มต้นด้วย 5 ประเทศ อาเซียนคือองค์ประกอบของความหลากหลาย ทั้งระบอบปกครอง ศาสนาวัฒนธรรม ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ ถึงกระนั้นอาเซียนค่อยๆ พัฒนาตามลำดับ จนกลายเป็นประชาคมอาเซียนในปัจจุบัน แน่นอนว่าการเคลื่อนตัวของอาเซียนเป็นไปอย่างช้าบ้างเร็วบ้าง แม้มีแผนต่างๆ มากมาย หลายส่วนยังรอการปฏิบัติอย่างจริงจัง แต่รวมความแล้วนี่คืออาเซียน นี่คือประชาคมอาเซียน
            สัญลักษณ์อาเซียนมีรวงข้าวสีเหลือง 10 รวง หากออสเตรเลียเข้าเป็นสมาชิกสัญลักษณ์ใหม่อาจมีจิงโจ้เพิ่มขึ้นหนึ่งตัว และไม่เพียงเท่านั้นเพราะอาจพ่วงนกกีวีอีกตัวด้วย (นิวซีแลนด์) รวมความแล้วอาเซียนจะหลากหลายกว่าเดิม
18 มีนาคม 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7799 วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2561)
----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
มีผู้ตั้งคำถามว่าติมอร์-เลสเต จะเป็นสมาชิกอาเซียนลำดับที่ 11 หรือไม่ คำตอบเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับว่าประเทศติมอร์จะสามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขการรับสมาชิกตามกฎบัตรอาเซียนหรือไม่ คำตอบที่ตรงประเด็นกว่านั้นคือขึ้นอยู่กับความพยายามของติมอร์-เลสเตในการสร้างประเทศให้เจริญรุ่งเรือง สมกับเป็นรัฐสมัยใหม่ที่พร้อมจะก้าวไปกับชาติสมาชิกอาเซียนอื่นๆ
เข้าใจอาเซียนตอน: ทำไมอาเซียนจึงมีสมาชิกสิบประเทศ
จุดเริ่มต้นของอาเซียนเกิดจากการที่ชาติสมาชิกเริ่มต้น 5 ประเทศรวมตัวกันเพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากสงครามเย็น เมื่อความตึงเครียดจากสงครามเย็นคลายตัว จึงดึงประเทศที่เคยเป็นปรปักษ์มารวมตัวกันภายใต้อาเซียน ถือเป็นการสิ้นสุดสงครามเย็นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บรรณานุกรม :
1. Asean-Australia Special Summit matters to us all. (2018, March 15). Borneo Bulletin. Retrieved from https://borneobulletin.com.bn/asean-australia-special-summit-matters-to-us-all/
2. ASEAN’s Time to Invest in Timor-Leste. (2012, December 17). Retrieved from http://cogitasia.com/asean%E2%80%99s-time-to-invest-in-timor-leste/
3. Indonesia wants Australia as full ASEAN member. (2018, March 16). Channel NewsAsia. Retrieved from https://www.channelnewsasia.com/news/asiapacific/indonesia-wants-australia-as-full-asean-member-10048682
4. Indonesia wants Australia as full ASEAN member. (2018, March 15). The Jakarta Post. Retrieved from http://www.thejakartapost.com/seasia/2018/03/16/indonesia-wants-australia-as-full-asean-member.html
5. Papua New Guinea as an ASEAN Member? (2012, December 7). Retrieved from http://aseanec.blogspot.com/2012/12/papua-new-guinea-as-asean-member.html
-----------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก