มายาคติ จันทร์เสี้ยวชีอะห์

ไม่มีนิยามสากลว่าจันทร์เสี้ยวชีอะห์ครอบคลุมพื้นที่ใด คำตอบที่ถูกต้องไม่มี เพราะแท้จริงแล้วไม่มีเกณฑ์ที่แน่นอนชัดเจน เป้าหมายที่สร้างขึ้นเพื่อจะทำลาย

            ความขัดแย้งของภูมิภาคตะวันออกกลางในขณะนี้ นอกจากมองภาพเฉพาะจุด ควรมองภาพทั้งภูมิภาค เมื่อไม่นานนี้นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) กล่าวว่า “อิหร่านหวังที่จะสร้างอาณาจักรที่เป็นผืนแผ่นเดียวกัน เชื่อมโยงเตหะรานถึงทาร์ทู (Tartus-เมืองชายฝั่งด้านตะวันตกของซีเรีย) จากทะเลสาบแคสเปียนถึงทะเลเมดิเตอเรเนียน (คือจากริมฝั่งตะออกของอิหร่านจรดชายฝั่งตะวันตกของซีเรีย) ถ้อยคำนี้หมายถึงจันทร์เสี้ยวชีอะห์
ดินแดนที่เรียกว่า จันทร์เสี้ยวชีอะห์” :
            ดินแดนที่เรียกว่า “จันทร์เสี้ยวชีอะห์” (Shiite Crescent/ Shia Crescent) มีผู้ตีความหลากหลาย ไม่มีข้อสรุปชัดเจน นักวิชาการบางคนยึดหลักว่าคือดินแดนถิ่นอาศัยของพวกชีอะห์และเป็นอาณาเขตเชื่อมต่อหลายประเทศ
            กษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่สอง (King Abdullah II) แห่งจอร์แดนตรัสว่าคือพื้นที่ตั้งแต่กรุงเตหะรานทอดยาวถึงกรุงเบรุต นั่นคือดินแดนตั้งแต่อิหร่าน ไล่มาทางทิศตะวันตก เข้าอิรัก ซีเรียและสิ้นสุดที่เลบานอน
            บางคนตีความว่าคือตั้งแต่เลบานอน ซีเรีย อิรัก อิหร่าน ปากีสถานและอินเดีย
            บ้างว่าคือจากเลบานอน อิรัก อิหร่าน รวมถึงบาห์เรน และภาคตะวันออกของซาอุดิอาระเบีย พื้นที่ๆ มีประชากรชีอะห์หนาแน่น
ชมคลิปสั้น 3 นาที
            รัฐบาลหลายประเทศในภูมิภาคไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ จอร์แดน และซาอุดิอาระเบีย ต่างกังวลต่ออิทธิพลของอิหร่านและแนวคิดจันทร์เสี้ยวชีอะห์ เห็นว่าเป็นการแผ่ขยายอำนาจดังสมัยอาณาจักรเปอร์เซีย
            ความขัดแย้งระหว่างชาติอาหรับกับเปอร์เซียมีมานานแล้ว บางคนผูกโยงให้สืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน นักวิชาการบางท่านชี้ว่าสงครามอิรัก-อิหร่าน (1980-88) คือสงครามระหว่างพวกอาหรับกับเปอร์เซีย เพื่อช่วงชิงความเป็นใหญ่ในภูมิภาค และในอีกมุมหนึ่งคือความขัดแย้งระหว่างซุนนีกับชีอะห์
            ลำพังการขยายอิทธิพลของประเทศใดประเทศหนึ่งในภูมิภาคนั้นร้ายแรงอยู่แล้ว ในกรณีอิหร่านพาดพิงนิกายศาสนาด้วย สะเทือนจิตใจของผู้ศรัทธาอย่างยิ่ง
Adel al-Jubeir รมต.กระทรวงการต่างประเทศซาอุฯ เอ่ยถึงต้นตอความขัดแย้งว่าอิหร่านสนับสนุนผู้ก่อการร้ายหลายกลุ่ม ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากการปฏิวัติโคไมนีเมื่อปี 1979 การปฏิวัติสร้างความแบ่งแยกทางนิกายในภูมิภาคอย่างรุนแรง ส่งออกการปฏิวัติ เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

มายาคติจันทร์เสี้ยวชีอะห์ :
            ถ้าพิจารณาให้ดีแนวคิดจันทร์เสี้ยวชีอะห์เป็นเรื่องแปลกประหลาด มีข้อขัดแย้ง ไม่สมเหตุผล ดังตัวอย่างต่อไปนี้
            ตัวอย่างที่ 1 กรณีอิรัก
ข้อมูล 2015 อิรักมีประชากรทั้งสิ้นราว 37 ล้านคน เป็นมุสลิมร้อยละ 99 โดยเป็นนิกายชีอะห์ร้อยละ 60-65 ซุนนีร้อยละ 32-37 ที่เหลือนับถือศาสนาอื่นๆ
            ถ้าดูจำนวนประชากรพอจะบอกได้ว่าประเทศนี้เป็นชีอะห์ แต่เรื่องไม่จบแค่นี้ ดังที่ทราบว่านายนูรี อัลมาลิกี (Nouri Al-Maliki) นายกรัฐมนตรีคนแรก (หลังสิ้นยุคซัดดัม ฮุสเซน) เป็นชีอะห์ และเป็นที่ยอมรับทั่วไปว่า นายอัลมาลิกีเป็นคนของรัฐบาลสหรัฐที่เดินกลับอิรักมารับตำแหน่งผู้นำประเทศ ดังนั้น ถ้าจะอ้างว่ารัฐบาลอัลมาลิกีเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรอิหร่าน เป็นส่วนหนึ่งของจันทร์เสี้ยวชีอะห์จึงไม่ถูกต้อง
ไฮเดอร์ อัล-อาบาดี (Haider Abadi) ผู้นำคนปัจจุบันมาจากพรรคเดียวกับมาลิกี เป็นชีอะห์เช่นกัน แม้ร่วมมือกับอิหร่านมากขึ้น แต่ไม่อาจถือเป็นพวกเดียวกับอิหร่าน
นอกจากนี้ในหมู่ชีอะห์แบ่งแยกแก่งแย่งแข่งขันกันเอง และไม่ขึ้นตรงกับอิหร่านเสมอไป ยกตัวอย่างกลุ่มของมุกตาดา อัล-ซาดาร์ (Moqtada al-Sadr) มีความร่วมมือกับอิหร่านแต่ไม่ขึ้นตรงต่ออิหร่าน แถมยังขัดแย้งกับอิหร่านบางเรื่อง ซ้ำร้ายกว่านั้นบางกลุ่มยึดถือความเป็นชาตินิยมมากกว่าความเป็นชีอะห์

            ตัวอย่างที่ 2 กรณีซีเรีย
ประชากรซีเรียร้อยละ 87 นับถือศาสนาอิสลาม ในจำนวนนี้ร้อยละ 74 เป็นซุนนี ที่เหลือร้อยละ 13 เป็นอาละวี (Alawi) Ismaili และชีอะห์ ที่เหลือนับถือศาสนาอื่นๆ
            ถ้าดูจากสัดส่วนประชากร เกือบ 3 ใน 4 ซุนนี พวกชีอะห์รวมทั้งอาละวีมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น เกิดคำถามว่าควรถือซีเรียเป็นส่วนหนึ่งของจันทร์เสี้ยวหรือไม่
            บางคนอ้างว่าเพราะตระกูลอัสซาดผู้ปกครองประเทศเป็นอาละวี ข้อโต้แย้งคือแม้เป็นอาละวีเป็นชีอะห์ แต่ไม่คิดสร้างรัฐอิสลาม แนวทางการปกครองเป็นแนวทางฝ่ายโลกของพรรคบาธ ส่วนความร่วมมือกับอิหร่านเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐอธิปไตย ไม่ใช่ด้วยเหตุผลทางศาสนานิกาย
            ตัวอย่างที่ 3 กรณีบาห์เรน
ประชากรร้อยละ 70 เป็นชีอะห์ ที่เป็นซุนนีมีน้อยอยู่ในหมู่ผู้ปกครองประเทศ ตามประวัติศาสตร์บาห์เรนเคยเป็นส่วนหนึ่งของอิหร่าน ถ้าดูจากจำนวนประชากรกับประวัติศาสตร์ชวนให้คิดถึงจันทร์เสี้ยวชีอะห์ได้
แต่การที่พลเมืองเป็นชีอะห์ไม่ได้แปลว่าเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลอิหร่าน การประท้วงใหญ่ของชีอะห์บาร์เรนเมื่อปี 1994 กับ 1999 รวมทั้งอาหรับสปริงส์ มาจากเหตุผลเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลชาวบ้านอย่างทั่วถึง เรียกร้องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ไม่ต้องการสู้กับซุนนีหรือต้องการสร้างรัฐชีอะห์แต่อย่างไร
ฝ่ายรัฐบาลมักอ้างว่าอิหร่านหนุนหลังฝ่ายต่อต้าน ความเป็นชีอะห์อาจมีส่วนบ้าง แต่ไม่ใช่ประเด็นหลัก เป็นการกล่าวหาจากรัฐบาลมากกว่า

วาทกรรมจันทร์เสี้ยวชีอะห์ :
            การจะสรุปว่าประเทศนี้ประเทศนั้นเป็นส่วนหนึ่งของจันทร์เสี้ยวชีอะห์จึงเป็นเรื่องแปลกประหลาด ไม่มีเกณฑ์ชัดเจน ซ้ำยังขัดแย้งกันเอง
            ที่แน่นอนคือมีความพยายามเชื่อมโยงให้ประเทศเหล่านี้ผูกกับจันทร์เสี้ยวชีอะห์ ผูกโยงกับอิหร่าน
พวกต่อต้านชีอะห์พยายามพูดว่าชีอะห์มีเอกภาพเพื่อชี้ว่าเป็นอันตรายร้ายแรง ในขณะที่นักวิชาการบางท่านอธิบายว่าแท้จริงแล้วชีอะห์ในที่ต่างๆ ทั่วโลกไม่มีเอกภาพ เป็นวาทกรรมจันทร์เสี้ยวชีอะห์เท่านั้น

            ไม่ว่าจะนิยามจันทร์เสี้ยวชีอะห์อย่างไร ข้อพึงตระหนักคือเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อต่อต้านชีอะห์กับอิหร่าน เป็นยุทธศาสตร์สร้างศัตรู (กำหนดให้เป็นศัตรู)
คำตอบที่ถูกต้องที่สุด ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งทางเชื้อชาติหรือศาสนานิกาย เป็นความต้องการแผ่ขยายอำนาจของชนชั้นปกครองซาอุฯ กับพันธมิตร ซึ่งเท่ากับปกป้องอำนาจของพวกเขา ป้องกันการคุกคามจากอิหร่านในยุคปฏิวัติอิสลาม ในการนี้รัฐบาลสหรัฐเห็นชอบด้วยเพราะเกรงสูญเสียอิทธิพลในภูมิภาค

จันทร์เสี้ยวชีอะห์ที่แตกหัก :
            ถ้ามองภาพรวมจันทร์เสี้ยวชีอะห์ในตอนนี้ คือ จันทร์เสี้ยวที่หักกลางและแตกหลายจุด อิหร่านกำลังเร่งฟื้นฟูหลังถูกนานาชาติคว่ำบาตรหลายปี อิรักยังอยู่ในความขัดแย้งภายในที่ไม่รู้จบสิ้น ประเทศไม่เป็นเอกภาพ ซีเรียเป็นดังที่เห็นอยู่ ฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) เข้มแข็งขึ้นแต่เป็นกองกำลังที่ไม่ใช่กองทัพเต็มรูป เช่นเดียวกับฮามาสที่เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ
            เฉพาะซีเรียกับอิรักไม่รู้ว่าจะคืนสู่ความสงบเมื่อไร หลายเมืองเป็นซากปรักหักพัง ถูกทอดทิ้ง คงต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าจะฟื้นตัว ไม่มีใครตอบได้ว่าจะเป็นดังเดิมได้อีกหรือไม่  
รวมความแล้วคือสภาพที่แตกหักอ่อนแอ ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะกลับมาเป็นจันทร์เสี้ยวที่สมบูรณ์ และความจริงเป็นไม่ได้ด้วยซ้ำ
อีกข้อที่แน่นอนคือ จันทร์เสี้ยวชีอะห์คือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อที่จะทำลาย

            ข้อควรคิดคือการทำลายล้างไม่ส่งผลเฉพาะต่อพวกชีอะห์เท่านั้น สงครามกลางเมืองอิรักกระทบต่อพวกซุนนีและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ จำนวนผู้เสียชีวิตในซีเรียกว่า 500,000 คนคาดว่าส่วนใหญ่เป็นซุนนี เป็นเรื่องน่าคิดใช่ไหมที่การทำลายจันทร์เสี้ยวชีอะห์ส่งผลต่อใครบ้าง

            เรื่องราวของจันทร์เสี้ยวชีอะห์คือการอยู่ร่วมกันไม่ได้ ต้องทำลายล้างอีกฝ่าย ฝ่ายที่ยึดถือเห็นว่าสมควรทำเช่นนั้น ชวนให้นึกถึงตัวอย่างอื่นๆ ในอดีต เช่น ฮิตเลอร์มีเป้าหมายขยายเชื้อชาติอารยัน “Aryan” สร้างอาณาจักรอารยันในยุโรป ในการนี้ต้องปราบชนเชื้อสายอื่นๆ ให้หมด โดยเฉพาะพวกยิว สลาฟ (Slavs)
            การล่าอาณานิคม การบังคับคนให้เป็นทาส แม้เป็นเรื่องเก่าย้อนยุคหลายพันปีแต่ยังคงสดใหม่เป็นที่ยอมรับของคนสมัยปัจจุบันไม่มากก็น้อย (รูปแบบอาจแตกต่างจากเดิม) ในกรณีจันทร์เสี้ยวชีอะห์ควรบันทึกว่าเป็นการกระทำอย่างเป็นกระบวนการ เป็นความร่วมมือของผู้ปกครองหลายประเทศ รวมทั้งบุคคลผู้มีบทบาทด้านสังคมวัฒนธรรม
25 กุมภาพันธ์ 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7778 วันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561)
-------------------------
บรรณานุกรม :
1. Allawi, Ali A. (2007). The Occupation of Iraq: Winning the War, Losing the Peace. USA: Yale University Press.
2. Central Intelligence Agency. (2015). Syria. In The World Factbook. Retrieved from https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/sy.html
3. Central Intelligence Agency. (2015, July). Iraq. The World Factbook. Retrieved from https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/iz.html
4. Cleveland, William L. & Bunton, Martin. (2013). A History of the Modern Middle East (5th Ed.). USA: Westview Press.
5. Dabashi, Hamid. (2011). Shi'ism: A Religion of Protest. USA: The Belknap Press of Harvard University Press.
6. Dunne, Charles W. (2011). Iraq: Policies, Politics, and the Art of the Possible. In Akbarzadeh, Shahram (editor). America's Challenges in the Greater Middle East: The Obama Administration's Policies (pp.11-30). New York: Palgrave Macmillan.
7. Hinnebusch, Raymond. (2001). Syria: Revolution From Above. New York: Routledge.
8. Hoffman, John., & Graham, Paul. (2015). Introduction to Political Theory (3rd Ed.). Oxon: Routledge.
9. Iran must pay for regional meddling, Saudi minister says. (2018, February 18). The National. Retrieved from https://www.thenational.ae/world/mena/iran-must-pay-for-regional-meddling-saudi-minister-says-1.705759
10. Knopf, Alfred A. (2012). On Saudi Arabia: Its People, Past, Religion, Fault Lines – and Future. New York: Karen Elliott House.
11. Lynch, Marc. (2012). The Arab Uprising: The Unfinished Revolutions of the New Middle East. NY: Publicaffairs.
12. Morris, Loveday. (2016, May 6). He once fought U.S. troops. Now Moqtada al-Sadr is battling Iraq’s political system. The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/world/middle_east/he-once-fought-us-troops-now-moqtada-al-sadr-is-battling-iraqs-political-system/2016/05/06/77f3a2f6-109e-11e6-a9b5-bf703a5a7191_story.html
13. Netanyahu to Iran: ‘Do Not Test Israel’s Resolve’. (2018, February 18). Haaretz. Retrieved from https://www.haaretz.com/middle-east-news/full-text-netanyahu-s-speech-on-iran-in-munich-1.5826934
14. Potter, Lawrence G. (Ed.). (2014). Sectarian Politics in the Persian Gulf. New York: Oxford University Press.
15. Saudi foreign minister says regional problems began with Khomeini revolution. (2018, February 18). Al Arabiya. Retrieved from http://english.alarabiya.net/en/News/gulf/2018/02/18/Saudi-foreign-minister-says-regional-problems-began-with-Khomeini-revolution.html
16. Siddiqui, Haroon. (2014, September 7). Siddiqui: Shia-Sunni schism explained from Lebanon to Bahrain. The Star. Retrieved from http://www.thestar.com/opinion/2011/02/27/siddiqui_shiasunni_schism_explained_from_lebanon_to_bahrain.html
17. Ulrichsen, Kristian Coates. (2015). Insecure Gulf: The End of Certainty and the Transition to the Post-oil Era. New York: Oxford University Press.
-----------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก