โลกเข้าสู่ยุคสงครามนิวเคลียร์ สหรัฐจะชิงลงมือก่อน?

โอกาสเกิดสงครามล้างโลกนิวเคลียร์เป็นไปได้น้อยมาก ที่มีความเป็นไปได้มากขึ้นคือสหรัฐจะเป็นผู้ลงมือใช้ก่อนกับประเทศเล็กๆ

            ยุทธศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ (Nuclear Posture Review: NPR) เป็นแผนที่แยกออกเฉพาะจากยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ และยุทธศาสตร์อื่นๆ เนื้อหายุทธศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ฉบับปี 2018 ปรับเปลี่ยนจากอดีตเพราะเผชิญภัยคุกคามนิวเคลียร์หลากหลายกว่าเดิมและด้วยอาวุธทันสมัยกว่าเดิม ภัยจาก 4 ประเทศที่เอ่ยถึงคือ รัสเซีย จีน เกาหลีเหนือและอิหร่าน
            เป็นเวลานานแล้วจนถึงในยุคโลกาภิวัตน์ การยอมรับความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐสัมพันธ์กับพลังอำนาจทางทหารโดยตรง สหรัฐเป็นประเทศที่มีงบประมาณทหารสูงสุด มีกองทัพที่ทรงอานุภาพมากที่สุด การจัดเตรียมกองทัพขนาดใหญ่เช่นนี้ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลสหรัฐกำลังเตรียมทัพเพื่อทำสงครามใหญ่ เหตุผลที่สำคัญกว่าและใช้ได้มากกว่าคือภาพลักษณ์ความเป็นมหาอำนาจ เป็นความตั้งใจ เป็นยุทธศาสตร์แม่บทที่จะรักษาสภาพเช่นนี้ ให้ทุกประเทศรู้ว่าสหรัฐสามารถโจมตีประเทศของท่านได้เสมอไม่ว่าจะตั้งอยู่ ณ ที่แห่งใดของโลก และรัฐบาลสหรัฐถือว่าภาวะเช่นนี้คือภาวะที่ประเทศตนมีความมั่นคงปลอดภัยมากสุด
ยุทธศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ล่าสุดเอ่ยถึงจุดประสงค์ข้อนี้อย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา รัฐบาลมีหน้าที่คงกำลังอาวุธนิวเคลียร์ให้เหนือทุกประเทศใดโลก ด้วยความเชื่อว่านอกจากปลอดภัยแล้ว ยังใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการเจรจา เรื่องนี้สัมพันธ์กับเศรษฐกิจโดยตรง เพราะสหรัฐมีอิทธิพลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจโลก เป็นระบบที่เอื้อประโยชน์ต่อตน วันใดที่ภาพลักษณ์ความเป็นมหาอำนาจหดหาย จะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทันที เช่น กระทบต่อค่าเงินดอลลาร์ ข้อตกลงการค้าที่สหรัฐได้เปรียบ
ชมคลิปสั้น 3 นาที
หลักยุทธศาสตร์และข้อวิพากษ์ :
ยุทธศาสตร์ฉบับนี้ตั้งอยู่บนแนวคิดการป้องปรามที่ยืดหยุ่น เฉพาะเจาะจง (a flexible, tailored nuclear deterrent strategy) กับแต่ละประเทศ แต่ละสถานการณ์ ให้มั่นใจว่าจะไม่มีประเทศใดกล้าคิดทำสงครามด้วย ไม่ว่าจะใช้นิวเคลียร์หรือไม่

            ประเด็นน่าคิดคือรัฐบาลสหรัฐ สื่อตะวันตกหลายสำนักมักพูดในทำนองว่าเกาหลีเหนือจะโจมตีสหรัฐ รัฐบาลสหรัฐจึงมีความชอบธรรมที่จะปิดล้อมคว่ำบาตร แม้กระทั่งล้มระบอบเกาหลีเหนือ
            แต่แท้จริงแล้วรัฐบาลสหรัฐรู้ดีกว่าเกาหลีเหนือไม่คิดทำเช่นนั้น หากเพียงแค่คิดจริง ยังไม่เริ่มสงครามก็อาจถูกโจมตีย่อยยับก่อนแล้ว แม้ใครคิดใช้นิวเคลียร์ไม่กี่ลูกก็จะถูกโต้กลับอย่างรุนแรงชนิดที่ไม่มีใครอยากเห็นเลย ยุทธศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ 2018 อธิบายเรื่องนี้อย่างชัดเจน
            การพูดว่าเกาหลีเหนือจะทำสงครามกับสหรัฐจึงเป็นโฆษณาชวนเชื่อ (ยังไม่นับรวมเหตุผลของฝ่ายรัฐบาลเกาหลีเหนือ) ดังนั้น ใครคิดว่าเกาหลีเหนือจะลงมือโจมตีสหรัฐด้วยนิวเคลียร์คือผู้ที่เชื่อคำโฆษณาจากรัฐบาลสหรัฐ
            เป็นอีกหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่ายุทธศาสตร์ของสหรัฐ ขัดแย้งกันเอง ยุทธศาสตร์ด้านหนึ่งบอกว่าเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามร้ายแรง พร้อมโจมตีสหรัฐด้วยนิวเคลียร์ แต่อีกฉบับบอกว่าเกาหลีเหนือจะไม่ทำเช่นนั้นเด็ดขาด
          เหตุที่ยุทธศาสตร์ขัดแย้งกันเองเพราะมีเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อแฝงอยู่ด้วย ให้คนอเมริกัน ชาวโลกเข้าใจผิด การโฆษณาชวนเชื่อเป็นเรื่องที่รัฐบาลสหรัฐทำเรื่อยมา ผ่านหลายช่องทางแม้กระทั่งผ่านยุทธศาสตร์สำคัญๆ ของประเทศ

รัสเซียกับจีนท้าทายด้านนิวเคลียร์กับสหรัฐหรือ :
            ในยุคสงครามเย็นพอจะพูดได้ว่าโซเวียตรัสเซียแข่งกับสหรัฐ พัฒนาและสะสมอาวุธนิวเคลียร์ แต่ในยุคปัจจุบันเป็นที่น่าสงสัยว่ารัสเซีย (แม้กระทั่งจีน) กำลังพัฒนาและสะสมอาวุธนิวเคลียร์แข่งกับสหรัฐอีก คำถามข้อนี้เป็นหัวใจสำคัญของความเข้าใจเรื่องนิวเคลียร์
            ถ้ายอมรับว่าสหรัฐมีขีดความสามารถเหนือกว่า คำถามคือใครเป็นฝ่ายตามหลังใคร ใครกำลังพัฒนาและสะสมนิวเคลียร์เพื่อป้องปรามใคร
            คำตอบที่ได้อาจเป็นต่างป้อมปรามอีกฝ่าย เพียงแต่ฝ่ายหลัง (ผู้มีขีดความสามารถด้อยกว่า) มีเพื่อการป้องปรามมากกว่า
            ที่ต้องระลึกเสมอคือ รัสเซียในปัจจุบันไม่มีความคิดรุกรานด้วยนิวเคลียร์ นิวเคลียร์รัสเซียมีเพื่อสร้างความเป็นมหาอำนาจ รัสเซียในปัจจุบันคือประเทศที่กำลังฟื้นฟูตัวเอง รวมทั้งกำลังรบ เป็นฝ่ายตามหลังสหรัฐ ดังนั้นถ้ามองว่าสหรัฐมีขีดความสามารถเหนือกว่า การฟื้นฟูกองทัพ ฟื้นฟูนิวเคลียร์ของรัสเซียคือการป้อมปรามไม่ใช่รุกราน
            กรณีความขัดแย้งในยูเครน ซีเรีย ถ้ารัสเซียไม่เข้มแข็งพอ รัฐบาลสหรัฐอาจไม่ลังเลใจที่จะแทรกแซงจัดการรัสเซียก็เป็นได้

สะสมนิวเคลียร์รอบใหม่เพราะปัจจัยภายในประเทศ :
            นักวิชาการอเมริกันบางคน  รวมทั้งยุทธศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ฉบับล่าสุดของทรัมป์ ให้เหตุผลพัฒนาและสะสมอาวุธนิวเคลียร์รอบใหม่ด้วยเหตุผลปัจจัยต่างประเทศ
            เรื่องน่าคิดคือ เมื่อปีสองปีก่อน สมัยรัฐบาลโอบามายังพูดถึงการลดอาวุธนิวเคลียร์ ตรึงงบประมาณกลาโหม ไฉนทันทีเมื่อได้ประธานาธิบดีคนใหม่ นโยบายเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพิ่มงบประมาณกลาโหมมหาศาล พร้อมกับสร้างอาวุธนิวเคลียร์แบบยกเครื่องทั้งหมดในจำนวนใกล้เคียงปัจจุบัน (ทั้งหัวรบ ขีปนาวุธ เครื่องบิน เรือดำน้ำและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง)
            ถ้าเป็นเพราะบริบทเปลี่ยนไป บริบทโลกเปลี่ยนมากขนาดนั้นหรือ กองทัพรัสเซียเปลี่ยนมากถึงเพียงนั้นหรือ
            ถ้าจะตอบแบบระวังหน้าระวังหลัง รัสเซียมีอาวุธนิวเคลียร์รุ่นใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่งและมีนโยบายสร้างเพิ่มอีก จีนยังคงเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ 2 ปรปักษ์นิวเคลียร์สำคัญมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น แต่ไม่สมเหตุสมผลพอที่รัฐบาลทรัมป์ต้องเพิ่มงบประมาณกลาโหมมากเพียงนั้น และไม่จำต้องยกเครื่องกองกำลังนิวเคลียร์ทั้งหมดเต็มรูปแบบและให้มีปริมาณใกล้เคียงปัจจุบัน

            ย้อนกลับไปที่รัฐบาลโอบามาให้ลดอาวุธนิวเคลียร์ ตรึงงบประมาณกลาโหม เพียงเมื่อได้รัฐบาลใหม่ ประธานาธิบดีทรัมป์ทำสิ่งที่ตรงข้าม ชวนให้คิดว่าที่ทรัมป์ทำเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะปัจจัยภายนอก แต่เพราะปัจจัยภายในประเทศมากกว่า
            เป็นประเด็นที่ชาวอเมริกันควรใคร่ครวญ ตรวจสอบว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่ เป็นอีกครั้งที่เกิดคำถามว่าระบอบประชาธิปไตยอเมริกาสามารถตรวจสอบรัฐบาลตัวเองได้มากแค่ไหน

โลกควรต่อต้านหากสหรัฐจะเป็นฝ่ายใช้ก่อน :
            นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าความที่นานาชาติมั่นใจว่ารัฐบาลสหรัฐไม่ลังเลใจที่จะตอบโต้ด้วยนิวเคลียร์หากถูกโจมตีด้วยอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (weapons of mass destruction: WMD) ส่วนรัสเซียที่มีจำนวนหัวรบพอๆ กับสหรัฐรู้ดีว่าหากทำสงครามนิวเคลียร์จะหายนะด้วยกันทั้งคู่ จึงไม่มีประเทศใดที่คิดจะใช้ WMD กับสหรัฐก่อน
          ถ้าเช่นนั้น อีกทางหนึ่งที่เป็นไปได้คือ สหรัฐจะเป็นฝ่ายใช้ก่อน

            รัฐบาลสหรัฐมียุทธศาสตร์ ชิงลงมือก่อน” (preemption) เคยใช้มาแล้วหลายครั้ง จึงต้องระวังที่จะชิงโจมตีก่อนด้วยอาวุธนิวเคลียร์ มีหลักฐานชัดเจนว่าตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมามีความคิดอย่างจริงจังที่จะใช้นิวเคลียร์หลายครั้ง และตั้งแต่โลกมีอาวุธนิวเคลียร์ ประเทศนี้เท่านั้นที่เคยใช้จริงกับประเทศอื่น ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว จึงไม่อาจปฏิเสธว่ารัฐบาลสหรัฐจะไม่ใช้อีก
            เพื่อสันติภาพโลก โลกจะต้องต่อต้านรัฐบาลสหรัฐหากคิดจะเป็นฝ่ายใช้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นนิวเคลียร์ลูกเล็กหรือลูกใหญ่ จะใช้เพียงลูกเดียวหรือหลายลูก

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
            ยุทธศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ ฉบับปี 2018 ไม่ได้ฟันธงว่าสหรัฐจะเป็นฝ่ายใช้นิวเคลียร์ก่อน แต่เมื่อพิจารณาความหมายระหว่างบรรทัดกับประวัติศาสตร์ โอกาสใช้มีน้อยมากแต่ไม่ได้แปลว่าจะไม่ใช้ และพร้อมที่จะเป็นฝ่ายเปิดฉากใช้ก่อน
            ข้อสรุปบรรทัดสุดท้ายคือ ในระยะสั้นโอกาสใช้น้อยมาก แต่ในอนาคตที่ยาวไกลขึ้น โอกาสใช้จะยิ่งมากขึ้น
            ความเข้าใจที่สำคัญกว่าและพึงตระหนักอยู่เสมอคือ ทุกวันนี้ใช้อยู่แล้วในแง่ข่มขู่คุกคาม ภายใต้การทูตนำการทหาร หรือการทูตที่มีการทหารสนับสนุน บางคนอาจนึกถึง gunboat diplomacy เพียงแต่สาธารณชนทั่วไปไม่เห็นชัดเท่านั้น
            ดูเหมือนว่าตัวยุทธศาสตร์ตั้งใจสื่อเช่นนั้นด้วย มุ่งหมายให้บรรดาผู้ปกครองประเทศต่างๆ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทราบ

            รัฐบาลสหรัฐใช้คำว่าต้องมีนิวเคลียร์เพื่อป้องปราม คำถามคือใครเป็นฝ่ายป้องปรามใครกันแน่ หากวันนี้มีประเทศหนึ่งที่อยากมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ปกป้องอธิปไตยบ้าง คิดว่าผลจะเป็นอย่างไร
            ในอีกด้านหนึ่ง การมีอาวุธนิวเคลียร์จำนวนมากมาย ชวนให้คิดว่าทำไมต้องมีมากจนเกินจำเป็นขนาดนั้น สิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาลโดยใช่เหตุ พลเมืองอเมริกันต้องเสียภาษีเกินควรหรือไม่ ควรนำงบประมาณไปใช้ในทางอื่นๆ หรือไม่ หรืออย่างน้อยช่วยลดการก่อหนี้ ลดการขาดดุลที่เป็นปัญหาในขณะนี้
11 กุมภาพันธ์ 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7764 วันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561)
----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง  : 
ไม่แปลกที่รัฐบาลทรัมป์ยึดหลักสัจนิยม แต่ต้องศึกษาลงในรายละเอียดว่าอะไรกันแน่ที่รัฐบาลต้องการ สันติสุขหรือความรุนแรง เป็นประโยชน์ต่อชาวอเมริกันหรือน่าจะมีทางเลือกที่ดีกว่า

บรรณานุกรม :
1. Gray, Colin S. (2007). War Peace and International Relations: An introduction to strategic history. Oxon: Routledge.
2. Huntington, Samuel P. (1996/2011). The Clash of Civilizations and the Remaking of World Order. New York: Simon & Schuste.
3. Stockholm International Peace Research Institute. (2017). TRENDS IN WORLD NUCLEAR
FORCES, 2017. Retrieved from https://www.sipri.org/sites/default/files/2017-06/fs_1707_wnf.pdf
4. U.S. Department of Defense. (2018). Nuclear Posture Review 2018. Retrieved from https://media.defense.gov/2018/Feb/02/2001872886/-1/-1/1/2018-NUCLEAR-POSTURE-REVIEW-FINAL-REPORT.PDF
5. Wirtz, James J., Larsen, Jeffrey A. (2005). Nuclear Transformation: The New Nuclear U.S. Doctrine. New York: PALGRAVE MACMILLAN.
-----------------------------