ความล้ำลึกเมื่อรัฐบาลทรัมป์ประกาศคงกองกำลังในซีเรีย
รัฐบาลทรัมป์ประกาศคงกองกำลังภาคพื้นดินในซีเรียด้วยเหตุผลสารพัด เป้าหมายเบื้องลึกคือยึดครองซีเรีย ควบคุมตะวันออกกลาง จริงหรือที่รัฐบาลซาอุฯ กับพวกมั่นคงกว่าเดิม
บรรณานุกรม :
17 มกราคม เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน (Rex Tillerson) รมต.กระทรวงต่างประเทศประกาศว่าทหารอเมริกันจะยังคงประจำการในซีเรียต่อไป
ด้วยเป้าหมาย 5 ประการ ได้แก่ เพื่อประกันว่า ISIS กับอัลกออิดะห์จะไม่หวนกลับมา
สนับสนุนกระบวนการเมืองตามแนวทางสหประชาชาติ
ให้ซีเรียเป็นประเทศหนึ่งเดียวในที่สุด ลบล้างอิทธิพลอิหร่าน
มั่นใจว่าจะไม่มีอาวุธอำนาจทำลายร้ายแรง
และนำผู้อพยพหนีภัยสงครามกลางเมืองกลับประเทศ
แผนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านอิหร่าน ที่เป็นภัยต่อสหรัฐมากกว่า ISIS
ต้านอิทธิพลอิหร่านที่กำลังเติบใหญ่ทั้งในซีเรีย อิรัก
อัฟกานิสถานและปากีสถาน
ปัจจุบันมีทหารอเมริกันราว 2,000 นาย
ส่วนใหญ่เป็นทหารช่างกับหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ฝึกและสนับสนุนการรบแก่กองกำลังฝ่ายต่อต้าน
กำลังหลักเป็นชาวเคิร์ดซีเรีย
ถ้อยคำของรมต.ทิลเลอร์สันเป็นยุทธศาสตร์ล่าสุดต่อซีเรีย
แสดงให้เห็นชัดว่าแทรกแซงกิจการภายในและละเมิดอธิปไตยอย่างรุนแรง พร้อมคำลวง
ข้อคิดต่างๆ ดังนี้
ชมคลิปสั้น 2 นาที
เหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพื่อระวังผู้ก่อการร้าย
:
หนึ่งในเหตุผลที่รมต.ทิลเลอร์สันเอ่ยถึงคือ
เกรงว่าหากถอนตัวจะเปิดช่องให้ ISIS กับอัลกออิดะห์
เหตุผลนี้มีข้อสงสัยหลายประการ
ถ้ายึดตามข้อมูลรัสเซียกับอิหร่าน
รัฐบาลรัสเซียกับอิหร่านประกาศว่าไม่เหลือ ISIS ในพื้นที่ซีเรียแล้ว
การคาดการณ์ว่า ISIS
หรืออัลกออิดะห์จะกลับมาอีกนั้นเป็นไปได้ แต่ไม่น่าจะมากจนเป็นภัย
และถ้ามีจริงสามารถจัดการด้วยกองกำลังทางอากาศ หน่วยปฏิบัติการพิเศษที่ส่งมาจากพื้นที่อื่น
ไม่มีความจำเป็นถึงขั้นต้องสร้างฐานทัพ คงกองกำลังอเมริกันในซีเรีย
เหตุผลที่น่าจะถูกต้องคือ
รัฐบาลสหรัฐต้องการยึดซีเรียอย่างถาวร หรืออย่างน้อยอีกหลายปี จนกว่าสามารถโค่นล้มระบอบอัสซาด
เพราะเป้าหมายหลักที่รัฐบาลโอบามาวางไว้คือล้มระบอบอัสซาด การอ้างเหตุผลระวังผู้ก่อการร้ายหวนคืนน่าจะเป็นข้ออ้างให้ชาวอเมริกันรับได้
และเหตุผลอื่นๆ
ที่จะนำเสนอต่อไป
เผยธาตุแท้รัฐบาลสหรัฐ :
ถ้าย้อนหลังตั้งแต่นโยบายแรกๆ
ของโอบามาจนบัดนี้ เป้าหมายหลักคือล้มล้างระบอบอัสซาด เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่เป็นหุ่นเชิดของรัฐบาลสหรัฐหรือเป็นมิตร
แต่เมื่อกองทัพรัสเซียเข้าแทรก ทำลายล้างผู้ก่อการร้ายโดยเฉพาะ IS/ISIL/ISIS จนถูกปราบในที่สุด แผนคิดล้มล้างอัสซาดด้วยกำลังจึงยุติ เมื่อยอมรับเช่นนั้นจึงปรับแผนส่งทหารลงพื้นที่ซีเรีย
ร่วมมือกับกองกำลังฝ่ายต่อต้านบางกลุ่ม เช่น เคิร์ดซีเรีย พวกซุนนีทางภาคตะวันออก อ้างว่าเพื่อช่วยปราบปรามผู้ก่อการร้าย
ในที่สุดเมื่อ
ISIS ไม่เป็นภัยอีกต่อไป รัฐบาลทรัมป์จึงต้องให้เหตุผลใหม่เพื่อคงกองกองกำลังภาคพื้นดินต่อไป
พร้อมกับสร้างฐานทัพ ป้อมปราการ เหตุผลที่ให้ 5 ประการส่อว่าจะอยู่ยาวนานเท่าที่ต้องการ
แม้ให้เหตุผลว่าเพื่อระวังผู้ก่อการร้ายจะหวนกลับมาอีก แต่ความจริงคือรัฐบาลสหรัฐหวังเป็นผู้มีอำนาจควบคุมพื้นที่เหล่านี้
ยกตัวอย่าง ก่อนเริ่มยุทธการยึดคืนเมือง Raqqa มีข้อมูลว่ารัฐบาลสหรัฐได้จัดตั้ง
Raqqa Civilian Council (RCC) เป็นผู้นำท้องถิ่นดูแลเมืองหลังยึดคืน
น่าตีความว่าเป็นแผนให้เมืองนี้อยู่ใต้อิทธิพลของรัฐบาลสหรัฐไม่มากก็น้อย
ข้อสรุปคือ
เมื่อควบคุมซีเรียไม่ได้ทั้งประเทศ จึงปรับแผนเป็นควบคุมซีเรียบางส่วนเพื่อแผนขั้นตอนไป
บัดนี้การแบ่งแยกซีเรียอย่างถาวรเห็นชัดมากขึ้น
ซีเรียอาจแยกออกเป็นเขตปกครองมากกว่า 2 เขต แต่จะมีเป็น 2 ขั้วหลัก
คือขั้วรัฐบาลอัสซาดดั้งเดิมกับขั้วใหม่ที่มีสหรัฐกับพวกเป็นแกนนำ นอกจากนี้มีขั้วที่อิงตุรกีที่มีจุดยืนของตนเอง
ซีเรียขั้วสหรัฐจะดำเนินนโยบายรวมประเทศซึ่งหมายถึงล้มระบอบอัสซาด
แน่นอนว่ารัฐบาลสหรัฐจะให้พื้นที่อิทธิพลของตนเป็นระบอบประชาธิปไตย
และประเทศซีเรียที่เป็นหนึ่งเดียวในอนาคตต้องเป็นประชาธิปไตยด้วย
ตามแนวทางที่รัฐบาลสหรัฐใช้เรื่อยมา
ดาบ
2 คมของรัฐบาลซาอุฯ :
ถ้ามองภาพกว้าง
การจัดการซีเรียคือการทำลายจันทร์เสี้ยวชีอะห์ (Shiite Crescent) ให้หักกลาง ไม่เป็นเสี้ยวจันทร์ที่สมบูรณ์ ซึ่งบัดนี้ก้าวหน้าไปอีกขั้น
เพราะยากที่รัฐบาลอัสซาดจะสามารถยึดคืนพื้นที่ๆ สูญเสียกลับมา
ดังที่เคยนำเสนอครั้งก่อนว่าลำพังการฟื้นฟูประเทศที่หลายส่วนกลายเป็นซากปรักหักพังก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว
ไม่รู้ว่าจะต้องกินเวลาอีกกี่สิบปีจึงกลับสู่ปกติ
เรื่องการทำสงครามชิงพื้นที่คืนยิ่งต้องคิดหนัก เพราะในที่สุดอาจหมายถึงต้องปะทะกับกองทัพสหรัฐที่รัสเซียกับอิหร่านคงเห็นว่ายังไม่ควร
ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลอัสซาดต้องทำคือยอมรับการเปลี่ยนแปลง
พยายามสร้างข้อตกลงให้อยู่กับซีเรียขั้วอื่นๆ และประเทศรอบข้างอย่างสันติ
รัฐบาลซาอุฯ
กับพวกยึดมั่นยุทธศาสตร์ทำลายจันทร์เสี้ยวชีอะห์มาหลายปีแล้ว ความเป็นไปของซีเรียในขณะนี้ในมุมหนึ่งถือว่าพวกตนมีชัย
มีความมั่นคงมากขึ้น
ในอีกมุมคือ
การคงอยู่ของกองทัพอเมริกันในซีเรียจะเป็นดาบ 2 คมหรือไม่ เพราะรัฐบาลสหรัฐมีหน่วยรบภาคพื้นดินในพื้นที่ตะวันออกกลางมากขึ้น
พื้นที่ตะวันออกกลางอยู่ใต้อิทธิพลสหรัฐมากกว่าเดิม
เป้าหมายที่วางไว้ 5 ข้อ ไม่ใช่เรื่องที่จะสำเร็จได้โดยไว นั่นหมายความว่าหน่วยรบภาคพื้นดินจะอยู่ในเขตติดพรมแดนหลายประเทศในแถบนี้
รวมทั้งซาอุฯ ด้วย
รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนเคิร์ดซีเรียเหมือนเคิร์ดอิรักที่แยกตัวออกเป็นเอกเทศ
ไม่เข้าพวกกับอาหรับ แม้ว่าชาวเคิร์ดเกือบทั้งหมดจะนับถืออิสลาม (ซุนนี) ไม่ว่าเคิร์ดซีเรียกับเคิร์ดอิรักจะรวมเป็นประเทศหรือไม่
เคิร์ดซีเรียกับเคิร์ดอิรักจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้นและเป็นพันธมิตรอีกข้างของสหรัฐที่ไม่ใช่พวกอาหรับ
คงไม่เกินไปถ้าจะกล่าวว่า นับจากนี้เป็นต้นไปกองกำลังเคิร์ดซีเรียคือทหารรับจ้างของสหรัฐที่ประจำการในภูมิภาค
แม้จันทร์เสี้ยวชีอะห์หักกลาง
แต่เคิร์ดในตะวันออกกลางแข็งแกร่งขึ้น กินพื้นที่มากขึ้น และอยู่ใต้การคุ้มครองจากรัฐบาลสหรัฐดังเช่นอิสราเอล
จะเห็นว่าแม้รัฐบาลซาอุฯ
จะถือว่ารัฐบาลทรัมป์จะเป็นมิตรแท้มุสลิม (รัฐบาลซาอุฯ กับพวก) ตะวันออกกลางยังอยู่ใต้การชี้นำของสหรัฐและมากขึ้นกว่าเดิม
ไม่ปล่อยให้อยู่ใต้อิทธิพลของรัฐบาลซาอุฯ
นี่เป็นดาบ
2 คมต่อซาอุฯ กับพวกใช่หรือไม่
ยืมมือหรือหลอกใช้ ISIS หรือไม่ :
ตุลาคม 2014
รองประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวถึงผู้สนับสนุน IS/ISIL/ISIS ว่า
“ปัญหาใหญ่ที่สุดคือพันธมิตรของเราเอง” ตุรกี ซาอุดิอาระเบีย
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศอื่นๆ เช่น กาตาร์ “มุ่งมั่นโค่นล้มอัสซาดและทำสงครามตัวแทนของซุนนี-ชีอะห์
...
พวกเขาให้เงินหลายร้อยล้านดอลลาร์และอาวุธหนักหลายพันตันแก่ใครก็ตามที่สู้กับอัสซาด”
และเอ่ยกลุ่มก่อการร้าย Al-Nusra อัลกออิดะห์ และ IS
ข้อกล่าวหาทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่
ถูกเอ่ยถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่ผ่านมาประเทศผู้ถูกกล่าวหาปฏิเสธมาโดยตลอดทั้งยังมีส่วนในการปราบปราม
ISIS ด้วย
แต่ถ้าวิเคราะห์ภายใต้ข้อมูลนี้
มีคำถามว่า ISIS ถูกหลอกใช้หรือไม่ และถ้าคิดให้ไกลกว่านั้นประเทศผู้สนับสนุนทั้งหลายโดยเฉพาะหมู่ประเทศมุสลิมเหล่านั้นถูกรัฐบาลสหรัฐหลอกใช้หรือไม่
เป็นคำถามที่ฝากให้ใคร่ครวญ
ข้อคิดเรื่องซีเรีย :
ดังที่เคยเสนอในบทความก่อนว่า
เมื่อต่างชาติส่งทหารเข้าแทรก ความเป็นไปของซีเรียก็ไม่อยู่ในมือของคนซีเรียอีกต่อไป
รัฐบาลอัสซาดยังอยู่ได้เพราะรัฐบาลปูตินค้ำจุน ซีเรียแยกออกเป็นส่วนๆ เหมือนเค้กที่หลายชาติแบ่งกันกิน
ยังไม่เอ่ยถึงชาวซีเรียที่ต้องเสียชีวิตกว่า
5 แสนคน ประชาชนนับล้านต้องอพยพออกประเทศไปสู่ประเทศอื่นๆ ไกลถึงยุโรปตะวันตกโดยไม่รู้อนาคต
บัดนี้ทางเลือกมีจำกัด
รัฐบาลอัสซาดต้องยอมทุกอย่างเพื่อสันติสุขจะกลับคืนมา แม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ
ส่วนหนึ่งก็ตาม
ทั้งหมดนี้เริ่มจากความไม่พอใจรัฐบาล
การปกครองที่คนบางกลุ่มได้ประโยชน์ สังคมไร้ความเท่าเทียมอย่างรุนแรง ความรู้ไม่เท่าทันของประชาชนบางกลุ่ม
ถูกยุแหย่ให้ใช้ความรุนแรง ผนวกกับความอ่อนแอของรัฐบาลอัสซาด
ความรู้ความเข้าใจสถานการณ์โลก
ความเป็นไปของโลกจึงสำคัญยิ่งต่อความอยู่รอด การสร้างชาติให้เป็นอารยะ
เป้าหมายที่รมต.ทิลเลอร์สันพูดถึงสนับสนุนการกระบวนการเมืองตามแนวทางสหประชาชาติ
หมายถึงให้ซีเรียเป็นประชาธิปไตย เป็นถ้อยคำที่ฟังดูดี แต่ลำพังข้อนี้เพียงข้อเดียวจะทำให้ซีเรียวุ่นวายอ่อนแออีกนานเท่านาน
อิรัก ลิเบียและอัฟกานิสถานที่อยู่ข้างๆ หรือไม่ไกลนักเป็นตัวอย่างที่ดี
ทางที่ดีที่สุดคืออย่าให้ต่างชาติส่งทหารเข้าแทรกตั้งแต่ต้น
21 มกราคม 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7743 วันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม พ.ศ.2561)
------------------------------
บทความที่กี่ยวข้อง :
ความขัดแย้งซีเรียได้ดำเนินต่อเนื่องกว่า 5
ปีครึ่งแล้ว สถานการณ์ได้พัฒนาเปลี่ยนแปลง เริ่มจากการชุมนุมประท้วงรัฐบาลอย่างสงบ
ตามด้วยต่างชาติเข้าแทรก การปรากฏตัวของผู้ก่อการร้าย
กองกำลังมุสลิมต่างชาติกว่าร้อยประเทศ การเผชิญหน้าระหว่าง
2 ขั้ว 2 มหาอำนาจชัดเจนมากขึ้น
บัดนี้ความเป็นไปของสมรภูมิกับอนาคตซีเรียจึงขึ้นกับการตัดสินใจบนผลประโยชน์ของ 2
ฝ่าย 2 มหาอำนาจ เป็นความขัดแย้งที่จะยืดเยื้อยาวนาน เป็นเรื่องที่ควรตระหนัก
รัฐบาลตุรกีส่งกองทัพเข้าซีเรีย
อ้างเหตุผลเพื่อปราบปราม IS
ป้องปรามภัยคุกคามจากเคิร์ดซีเรีย
ความจริงที่ต้องเข้าใจคือปฏิบัติการครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากขั้วสหรัฐ
ได้ความเห็นชอบจากรัฐบาลรัสเซีย ผลลัพธ์ที่ได้จึงจำกัด
เป็นหลักฐานอีกชิ้นชี้ว่าอนาคตของซีเรียไม่เป็นของคนซีเรียอีกต่อไป
ประเทศนี้กลายเป็นสมรภูมิ ดินแดนที่หลายประเทศเข้ากอบโกยผลประโยชน์
โดยอ้างปราบปรามผู้ก่อการร้าย สนับสนุนฝ่ายต่อต้านหรือไม่ก็สนับสนุนรัฐบาลซีเรีย
นี่คือพัฒนาการล่าสุดจากความวุ่นวายภายในของประเทศนี้
1. Biden: Turks, Saudis, UAE funded and armed Al Nusra and
Al Qaeda. (2014, October 4). Mideast Shuffle. Retrieved from
http://mideastshuffle.com/2014/10/04/biden-turks-saudis-uae-funded-and-armed-al-nusra-and-al-qaeda/
2. Syria's SDF rebels: ISIL's nemesis or American proxy? (2017,
October 26). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/2017/10/syria-sdf-rebels-isil-nemesis-american-proxy-171025143136500.html
3. Tillerson calls Iran a ‘strategic threat’ in Syria,
vowing to diminish its presence. (2018, January 18). The National.
Retrieved from https://www.thenational.ae/world/the-americas/tillerson-calls-iran-a-strategic-threat-in-syria-vowing-to-diminish-its-presence-1.696340
4. Tillerson Says U.S. Troops to Stay in Syria Beyond Battle
With ISIS. (2018, January 17). The New York Times. Retrieved from https://www.nytimes.com/2018/01/17/world/middleeast/tillerson-troops-syria-islamic-state.html
-----------------------------