สัจนิยมกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ 2017

ไม่แปลกที่รัฐบาลทรัมป์ยึดหลักสัจนิยม แต่ต้องศึกษาลงในรายละเอียดว่าอะไรกันแน่ที่รัฐบาลต้องการ สันติสุขหรือความรุนแรง เป็นประโยชน์ต่อชาวอเมริกันหรือน่าจะมีทางเลือกที่ดีกว่า
“ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ” (National Security Strategy) ปรากฏครั้งแรกเมื่อ 1950 ท่ามกลางการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียตที่เป็นภัยคุกคามร้ายแรง เป็นแผนแม่บทหรือนโยบายหลัก (master plan) ด้านความมั่นคงของประเทศ กระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะนำไปจัดทำเป็นแผนในส่วนของตนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ฉบับนี้
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประกาศว่ารัฐบาลของตนยึดแนวทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบสัจนิยม (Realism) ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติฉบับล่าสุดยึดแนวทางดังกล่าว
ชมคลิปสั้น 2 นาที :
สัจนิยมเป็นแนวคิดทางการเมืองที่เป็นความคิดนำ (dominated thinking) ของการเมืองระหว่างประเทศมานับพันๆ ปีแล้ว ประเทศที่ยึดแนวคิดนี้จะสร้างสมกำลังทหารเพื่อป้องกันประเทศ เพิ่มขยายอำนาจต่างๆ ที่จะส่งเสริมอำนาจรัฐ เช่น ด้านเศรษฐกิจ สังคม เกียรติภูมิของชาติ ฯลฯ เพื่อความอยู่รอดของตน อันหมายถึงการรุกรานประเทศอื่นด้วย บนความเชื่อที่ว่าวิธีรักษาความอยู่รอดได้ดีที่สุดคือการขยายอำนาจประเทศให้มากที่สุด ผลลัพธ์คือประเทศอื่นๆ อ่อนแอลงเมื่อเทียบกับตนเอง
บทความนี้จะนำเนื้อหาจากคำนำและบทนำของยุทธศาสตร์มาวิเคราะห์วิพากษ์ ดังนี้

อเมริกาตกอยู่ในอันตราย :
            ในส่วนคำนำที่เขียนโดยประธานาธิบดีบรรยายว่าสหรัฐอเมริกาอยู่ในโลกที่อันตรายร้ายแรงผิดปกติ (extraordinarily dangerous world) ล้อมรอบด้วยสารพัดภัยคุกคาม เผชิญเหล่ารัฐอันธพาล (rogue regimes) ที่กำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ กลุ่มผู้ก่อการร้ายอิสลามสุดโต่ง (radical Islamist terror groups) ประเทศปรปักษ์ที่บ่อนทำลายผลประโยชน์ประเทศกับโลกอย่างร้ายกาจ การค้าระหว่างประเทศไม่เป็นธรรม พันธมิตรไม่ยอมแบ่งเบาภาระอย่างเป็นธรรม

            วิพากษ์ภายใต้แนวคิดสัจนิยม (Realism) ไม่มีประเทศใดปลอดภัย ที่น่าคิดคือสหรัฐซึ่งเป็นถึง “มหาอำนาจ” มองว่าตัวเองเป็น “เหยื่อ” ที่ถูกคุกคามทำร้าย ไม่ใช่ผู้ไปทำร้ายทำลายผู้อื่น ไม่ยอมเอ่ยเรื่องที่ไปเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ประธานาธิบดีปูตินชี้ว่ายุทธศาสตร์ฉบับนี้แสดงท่าทีก้าวร้าว หวังรุนรานประเทศอื่นโดยใช้คำว่าเพื่อปกป้องประเทศ

            โลกในมุมมองของรัฐบาลทรัมป์คือโลกที่น่ากลัวเกินจริง ไม่ปลอดภัย ปลูกฝังให้พลเมืองของตนคิดเช่นนั้น แต่ทั้งหมดนี้กำลังดีขึ้นในรัฐบาลสมัยปัจจุบัน ประเทศมั่งคั่งมั่นคงและเข็มแข็งกว่าเดิม ด้วยฝีมือของรัฐบาล (การมีรัฐบาล) นั่นเอง
            พร้อมกับวางวิสัยทัศน์สร้างโลกที่ชาติทั้งหมดเข้มแข็ง มีอธิปไตย เป็นอิสระต่อกัน ต่างมีวัฒนธรรมและความฝันของตนเอง มุ่งหน้าสู่ความมั่งคั่ง เสรีภาพ และสันติภาพ

            ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติฉบับนี้ยึดแนวทาง “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First) เนื้อหาแบ่งออกเป็น 4 เสาหลัก (pillar) กับยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาค
            เสาแรก ป้องกันประชาชนอเมริกัน แผ่นดินแม่และวิถีชีวิตอเมริกัน เสาที่ 2 ส่งเสริมความมั่งคั่งของอเมริกัน เสาที่ 3 รักษาสันติภาพด้วยความเข้มแข็ง เสาที่ 4 ขยายอิทธิพลอเมริกา
            ส่วนยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาค แบ่งเป็น 5 ภูมิภาค ได้แก่ อินโด-แปซิฟิก ยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชียใต้กับกลาง ซีกโลกตะวันตก (Western Hemisphere) และแอฟริกา

            ในส่วนบทนำ (introduction) มีใจความสำคัญว่าประเทศจะต้องปลอดภัย มั่งคั่ง มีเสรีภาพบนความเข้มแข็ง มีความเชื่อมั่นและเป็นผู้นำโลก อเมริกาคือผู้สามารถรักษาสันติภาพ เสรีภาพ สร้างประโยชน์แก่ชาวอเมริกัน
            วิพากษ์: รัฐบาลสหรัฐมีสิทธิที่จะประกาศว่าตนจะเป็นผู้นำโลก ส่วนจะได้รับการยอมรับจากนานาชาติหรือไม่เป็นอีกเรื่อง ประโยคดังกล่าวแฝงด้วยหลักการว่าสหรัฐจะเข้าพัวพัน (engage) ทุกเรื่องในโลกที่มีส่วนได้ส่วนเสีย แม้เรื่องนั้นจะละเมิดอธิปไตยประเทศอื่น
            ที่น่าคิดกว่านั้นคือภาวะที่สหรัฐเป็นผู้นำโลก ประเทศอื่นๆ จะอยู่ในฐานะอะไร มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร ดีเทียบเท่าพลเมืองอเมริกันหรือไม่ และถ้าปราศจากสหรัฐเป็นผู้นำโลก ประชาคมโลกจะอยู่อย่างเป็นสุขมากขึ้นหรือไม่
            ที่แน่นอนคือในขณะที่รัฐบาลสหรัฐต้องการเป็นผู้นำโลก หลายประเทศพูดถึงโลกพหุภาคีที่มีหลายขั้ว รัฐบาลทรัมป์กำลังสวนทางความต้องการของนานาชาติหรือไม่

            เสรีภาพและความเป็นอิสระทำให้สังคมรุ่งเรือง เป็นชาติที่เต็มด้วยชีวิตชีวาและมั่นใจ ยอมรับความเห็นต่าง ความหลากหลาย แต่ยังคงรวมเป็นหนึ่งด้วยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความเชื่อ หลักการต่างๆ ที่เป็นตัวเรา ประเทศปกป้องสิทธิและอนาคตของพลเมืองทุกคนเรื่อยมา เป็นพลังแห่งความดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์ (greatest forces for good in history)
            วิเคราะห์: เนื้อหาบทนำบรรยายคุณความดีของสังคมอเมริกามากมาย เกินกว่าจะนำเสนอทั้งหมด เมื่ออ่านแล้วชวนให้นึกว่าเป็นอีกหน้ากระดาษที่เขียนประวัติศาสตร์อเมริกา (ปัจจุบัน) อย่างเลิศเลอ ตามแบบฉบับของประวัติศาสตร์ในหลายประเทศ ถ้าไม่คิดอะไรมากจะเหมือนอ่านเทพนิยายเรื่องหนึ่ง เช่น ประโยค “เป็นพลังแห่งความดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์” รัฐบาลสหรัฐสามารถพิสูจน์ประโยคนี้ได้หรือไม่ ถ้อยคำทำนองนี้ถ้าปรากฏในหนังสือนิทานก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่นี่คือยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ

            กองทัพอเมริกันยังแข็งแกร่งที่สุดในโลก อย่างไรก็ตามความเหนือกว่าลดลงเพราะรัฐปรปักษ์ปรับปรุงและเสริมสร้างกองทัพ รวมทั้งอาวุธนิวเคลียร์ด้วย ศัตรูสามารถโจมตีแผ่นดินแม่ง่ายกว่าเดิมด้วยอาวุธหลากหลาย ท้าทายเรากับพันธมิตรของเรา รัฐบาลมีหน้าที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมให้มั่นใจว่ามีกองทัพที่เหนือกว่าอยู่เสมอ
            วิเคราะห์: เนื้อหาตอนนี้มีความสำคัญเพราะแม้รัฐบาลสหรัฐมักพูดถึงภัยคุกคามต่างชาติ ภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากอาวุธต่างชาติ แต่ที่สุดแล้วยอมรับว่ากองทัพตนแข็งแกร่งที่สุดในโลก ถึงกระนั้นยังจะเสริมสร้างกองทัพให้แข็งแกร่งยิ่งๆ ขึ้นไป ชนิดไม่มีใครเทียบได้ และเชื่อว่าจะเป็นเหตุป้องกันการรุกราน
            ด้วยหลักคิดเช่นนี้ หนีไม่พ้นที่ต้องเพิ่มงบกลาโหม สร้างสะสมอาวุธรุ่นใหม่และมากขึ้นๆ

            การแข่งขันไม่จำต้องหมายถึงการเป็นศัตรูต่อกันหรือนำสู่ความขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ผ่านมาสหรัฐประสบความสำเร็จในการป้องกันความขัดแย้ง ความแข็งแกร่งและความเชื่อมั่นส่งเสริมสันติภาพ ป้องกันสงคราม
            วิเคราะห์: ที่สุดแล้ว ยุทธศาสตร์ความมั่นคงเปิดทางการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความขัดแย้ง ความขัดแย้งไม่จำต้องลงเอยด้วยสงครามเสมอไป เพียงแต่ต้องเป็นภาวะที่สหรัฐได้ประโยชน์สูงสุดเท่านั้น เป็นไปตามหลักสัจนิยม

            สหรัฐเหนือกว่าทุกประเทศว่าไม่ว่าด้านการเมือง เศรษฐกิจ การทหารและเทคโนโลยี ถึงกระนั้นยังต้องเสริมสร้างให้เข้มแข็งยิ่งกว่าเดิมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ยวดยิ่ง (vital national interests)
            โดยรวมแล้ว มีคำถามว่าประชาธิปไตยสหรัฐมีคุณค่าต่อโลกอย่างไร ในเมื่อนโยบายต่างประเทศเจือด้วยจักรวรรดินิยม ต้องการนำประเทศอื่นๆ ประชากรโลกมาอยู่ใต้อำนาจ เช่นนี้เรียกว่าให้เสรีภาพหรือ มีทางเลือกที่ดีกว่าหรือไม่

การยึดถือสัจนิยมและการนำไปใช้ :
พวกสัจนิยมไม่ใช่พวกมองโลกว่าสวยงาม ขณะเดียวกันไม่ใช่พวกชอบทำสงครามเสมอไป โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่การก่อสงครามเต็มรูปแบบไม่ง่ายเหมือนอดีต เห็นว่าสภาพของโลกมีทั้งโอกาสกับภัยคุกคาม มีความร่วมมือคู่กับความขัดแย้งอยู่เสมอ การจะอยู่ในโลกจำต้องสามารถแสวงหาประโยชน์จากโอกาสและป้องกันตนเองจากภัยคุกคาม อาจไม่ปรารถนาทำสงครามแต่สงครามมีโอกาสเกิดขึ้นทุกเมื่อ เป้าหมายสำคัญที่สุดคือเพื่อความอยู่รอด
            การยึดหลักสัจนิยมไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แท้จริงแล้วหลักยึดของรัฐบาลทุกประเทศล้วนมีแนวคิดสัจนิยมผสมอยู่ไม่มากก็น้อย และจำต้องตระหนักว่าผู้ยึดถือหลักสัจนิยมไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะตีความเหมือนกัน รุนแรงเท่ากัน และมีทางเลือกเดียว ทั้งนี้ขึ้นกับบริบทของแต่ละประเทศด้วย

            ประเทศเล็กกว่าย่อมไม่คิดเปิดฉากทำสงครามกับมหาอำนาจ จะหาวิธีอยู่รอดด้วยวิธีอื่น เช่น ประสานประโยชน์ ยอมเสียประโยชน์บางส่วน การสร้างพันธมิตรเพื่อคานอำนาจ
            ประเทศมหาอำนาจมีทางเลือกที่มากกว่า และมักคิดหาประโยชน์แก่ตนมากที่สุด แต่หากไม่แนบเนียนพอย่อมถูกต่อต้าน และในยุคปัจจุบันที่เป็นโลกาภิวัตน์ สังคมดิจิทัล การต่อต้านจากระดับปัจเจกอาจรุนแรงกว่าอดีต ไม่อาจคาดหวังประสิทธิภาพและผลลัพธ์จากการใช้สัจนิยมตามแบบสมัยอดีต

คาดการผลจากการใช้ยุทธศาสตร์ 2017 :
กระทรวงต่างประเทศรัสเซียเห็นว่าสหรัฐเลือกเส้นทางที่จะเผชิญหน้าและขัดแย้ง เป็นแนวคิดที่ล้าสมัย ควรมุ่งแสวงหาความร่วมมือ การยึดหลักรักษาสันติภาพด้วยพลังอำนาจนั้นไม่สร้างสรรค์ ขัดขวางความร่วมมือ ต้องการครอบงำผู้อ่อนแอกว่า เป็นแนวทางจักรวรรดินิยม ต้องการสร้างโลกขั้วเดียว ผลคือโลกสันติภาพโลกไม่แน่นอน เกิดสงครามอยู่เนืองๆ
            รัฐบาลสหรัฐมองผลประโยชน์ระยะสั้น ตัวอย่างที่ดีคือถอนตัวจากข้อตกลงลดภาวะโลกร้อน พร้อมบั่นทอนทำลายประเทศอื่นซึ่งเท่ากับเป็นการบั่นทอนอารยธรรมโลก นโยบายก่อความขัดแย้งส่งเสริมความรุนแรง ไม่แปลกที่ประเทศสร้างสมอาวุธสงครามจำนวนมหาศาล คนอเมริกันตกอยู่ในอันตรายตลอดเวลา ในหลายกรณีมองภัยคุกคามร้ายแรงเกินจริง สร้างความวิตกกังวลจนเกินเหตุ ส่งผลต่อชาวอเมริกัน เป็นสังคมแห่งความวิตกจริต
            สังคมอารยะแท้คือสังคมเช่นนี้หรือ สังคมเช่นนี้จะยั่งยืนหรือ
24 ธันวาคม 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7716 วันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2560)
---------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ทฤษฎีดุลแห่งอำนาจเป็นแนวคิดจากสำนักสัจนิยมที่ใช้กันแพร่หลาย ถ่วงดุลฝ่ายที่เป็นอริ ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายได้เปรียบ หวังเป็นเหตุไม่ให้คิดทำสงครามต่อกัน อาเซียนกำลังใช้ทฤษฎีดุลแห่งอำนาจถ่วงดุลจีนกับฝ่ายสหรัฐ เพื่อชี้ชวนให้ทุกฝ่ายดำเนินนโยบายกับอาเซียนอย่างสร้างสรรค์ แต่ทฤษฎีดุลแห่งอำนาจมีจุดอ่อนเช่นกัน จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง
ทฤษฎีสัจนิยมให้ความสำคัญกับความมั่นคงแห่งชาติมากที่สุด รัฐต้องระแวดระวัง เตรียมการรับมือภัยคุกคามทุกชนิด พร้อมเผชิญหน้าฝ่ายตรงข้าม แต่ภายใต้แนวคิดนี้นโยบายความมั่นคงแห่งชาติเต็มด้วยความหวาดระแวง ความไม่เชื่อใจ กลายเป็นดาบสองคมให้ประเทศเพื่อนบ้านมองด้วยความหวาดระแวง มองอย่างเป็นภัยคุกคามเช่นกัน นโยบายความมั่นแห่งชาติญี่ปุ่นสะท้อนลักษณะดังกล่าวอย่างชัดเจน

บรรณานุกรม :
1. "Confrontational" U.S. national security plan comes under international fire. (2017, December 20). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/2017-12/20/c_136840389.htm
2. Haley, John. (2006). National Security Strategy Report. In Encyclopedia Of United States National Security. (pp.505-506). California: Sage Publications.
3. Magstadt, Thomas M. (2009). Understanding Politics (8th Ed.). CA: Wadsworth/Cengage Learning.
4. Putin: New US national security strategy is offensive & aggressive, Russia must take note. (2017, December 22). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/413961-putin-us-defense-strategy/
5. Viotti, Paul., & Kauppi, Mark. (2009). International Relations and World Politics (4th Ed.). USA: Pearson Education.
6. The White House. (2017, December 6). National Security Strategy 2017. Retrieved from http://nssarchive.us/wp-content/uploads/2017/12/2017.pdf
-----------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก