การเป็นหุ้นส่วนเพื่อความเปลี่ยนแปลง การเข้าพัวพันกับโลกของอาเซียน
หัวข้อการประชุมพูดถึงการเข้าพัวพันกับโลก เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ภายในหมู่ชาติสมาชิกที่ซับซ้อนลงรายละเอียดมากขึ้น
การปฏิบัติตามแผนยังเป็นความท้าทายหลัก
การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน
(ASEAN Summits) เมื่อพฤศจิกายน 2017 ณ กรุงมะนิลา
ฟิลิปปินส์ เป็นการประชุมครั้งที่ 31 ภายใต้หัวข้อ "Partnering
for Change, Engaging the World" หรือ การเป็นหุ้นส่วนเพื่อความเปลี่ยนแปลง
การเข้าพัวพันกับโลก บ่งบอกชัดเจนว่าอาเซียนต้องการเข้าไปมีส่วนในความเป็นไปของโลก
ร่วมกับนานาประเทศเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่า
แถลงการณ์เจ้าภาพหลังประชุมครั้งนี้ออกล่าช้าเหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา
ราวกับเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งแล้ว มีสาระน่าสนใจพร้อมการวิเคราะห์ ดังนี้
รับชมคลิปสั้น 2 นาที
แถลงการณ์เริ่มด้วยการพูดตรงไปตรงมาว่าอาเซียนจัดประชุมดังกล่าวเพื่อแสดงบทบาทนำในภูมิภาคและเป็นตัวแสดงระดับโลก
เพื่อขยายความร่วมมือด้านความมั่นคง-การเมือง
การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรมที่ยั่งยืน
สมาชิกได้ร่วมลงนาม
"ฉันทามติอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว”
(ASEAN Consensus on the Protection and Promotion of the Rights of
Migrant Workers) เป็นความก้าวหน้าอีกขั้นในเรื่องการคุ้มครองแรงงานต่างด้าว
แสดงถึงความสมานฉันท์อย่างเป็นรูปธรรมในหมู่สมาชิกอาเซียน
การเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน
(ASEAN Connectivity) ข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน (Initiative
for ASEAN Integration) แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน
2025 (Master Plan on ASEAN Connectivity 2025) มีความคืบหน้าด้วยดี
คณะทำงานชุดปรับปรุงแก้ไข
“กฎบัตรอาเซียน” (ASEAN Charter) กำลังลงลึกในรายละเอียด
ยังคงเดินหน้าทำงานต่อไป
ยืนยันว่าสมาชิกทุกชาติพร้อมใจยึดมั่นว่าอาเซียนเป็นเอกภาพต่อการจัดการความท้าทายทางด้านความมั่นคงภูมิภาค
ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนเป็นเรื่องของอาเซียน ความหมายข้อนี้เกี่ยวข้องกับการเข้ามาพัวพันของมหาอำนาจ
เช่น รัฐบาลสหรัฐกำลังคิดโครงสร้างความมั่นคงภูมิภาค ซึ่งหมายถึงโครงสร้างที่มุ่งผลประโยชน์สหรัฐเป็นหลัก
ญี่ปุ่นพยายามครั้งแล้วครั้งเล่ายื่นเสนอผลประโยชน์เพื่อดึงสมาชิกอาเซียนบางประเทศให้เป็นพวกเดียวกับตน
อาจทำให้อาเซียนแบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย นับวันความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนเพิ่มมากขึ้น
กังวลการครอบงำจากจีน
ถ้ามองในแง่ลบ
ดูเหมือนว่ารอบด้านมีแต่ภัยคุกคาม ต้องบริหารจัดการให้ดี ต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งจากภายใน
อาเซียนยึดมั่นปฏิญญาลังกาวีว่าด้วยขบวนการผู้ยึดถือทางสายกลางระดับโลก
(Langkawi Declaration on Global Movement of Moderates)
สนับสนุนพหุสังคม ต่อต้านความสุดโต่งทุกรูปแบบ รวมทั้งกระแสกลัวอิสลาม (Islamophobia) มีแถลงการณ์มะนิลาว่าด้วยการต่อต้านการเพิ่มขึ้นของลัทธินิยมความรุนแรงและกลุ่มคนหัวรุนแรง
(Manila Declaration to Combat the Rise of Radicalization and Violent
Extremism) การสนับสนุนพหุสังคมเป็นหลักพื้นฐานของอาเซียน เพราะ ชาติสมาชิกรวมตัวกันแม้แตกต่างทางการเมืองการปกครอง
ระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมที่หลากหลาย หากไม่ยึดมั่นพหุสังคมเท่ากับทำลายตัวเอง
ความสุดโต่งบางรูปแบบที่กำลังเกิดขึ้นในโลกมีผลต่ออาเซียน เป็นความท้าทายที่ต้องจัดการและอยู่กับโลกอีกนาน
แถลงการณ์เอ่ยถึงความร่วมมือต่อต้านการลักพาตัว
ยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ เป็นเรื่องน่าชื่นชมและสนับสนุน เรื่องเหล่านี้เป็นภัยใกล้ตัวจับต้องได้
สร้างความสูญเสียมหาศาล หากต้องการให้อาเซียนเข้มแข็งต้องเร่งจัดการความท้าทายเหล่านี้
ด้านเศรษฐกิจ คาดว่าปี
2017 นี้เศรษฐกิจอาเซียนจะโตถึงร้อยละ 5 การค้าในหมู่สมาชิกเมื่อปี 2016 สูงถึง
2.2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับร้อยละ 23.1 ของมูลค่าการค้าสมาชิกอาเซียนทั้งหมด
และคาดว่าปี 2017 จะมากกว่านี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign
Direct Investment: FDI) ในปี 2016 อยู่ที่ 98,000 ล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้ร้อยละ
25.2 เป็นการลงทุนระหว่างชาติสมาชิกด้วยกัน
อาเซียนจึงยังเป็นภูมิภาคที่ดึงดูดการลงทุน
ประเด็นน่าสนใจคือ จะให้ความสำคัญกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่
4 (Fourth industrial revolution: 4IR) ให้การศึกษาแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไปเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่
4 หรือ 4IR คือการต่อยอดและผสมผสานของเทคโนโลยีหลายด้าน เช่น
เทคโนโลยีหุ่นยนต์ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศ การพิมพ์สามมิติ ไบโอเทคโนโลยี
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) พันธุวิศวกรรม
ฯลฯ ผลลัพธ์คือรถยนต์ที่ไม่ใช้คนขับ เครื่องมือตรวจร่างกายแทนแพทย์
หุ่นยนต์ทำงานรับใช้งานบ้าน ยาเม็ดขนาดเล็กที่มีวงจรไฟฟ้าขนาดมองไม่เห็นเพื่อรักษาโรค
และแก้ไขยีนส์ ฯลฯ
Jay Menon กับ Anna
Fink เห็นว่าผู้ที่ได้ผลกระทบคือพวกแรงงานไร้ฝีมือ งานที่ทำซ้ำ เช่น
งานประกอบชิ้นส่วน รวมทั้งงานบริการบางประเภท ภาวะรวยกระจุกจนกระจายจะหนักขึ้น
แรงงานต้องการทักษะใหม่ๆ ต้องมีความคิดริเริ่ม สามารถแก้ปัญหารูปแบบใหม่
คนต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต และมองว่า 4IR
เป็นโอกาสแก่ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก เช่นเดียวกับบล็อคเชน (Blockchain) อี-คอมเมิร์ซ
จะเห็นว่ามีนวัตกรรมใหม่ๆ
หลายอย่างภายใต้ 4IR
แผนงานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน
(ASEAN Work Programme on e-Commerce) แผนนี้เริ่มต้นเมื่อปี
2015 เป็นส่วนหนึ่งของ AEC Blueprint 2025 แต่ละประเทศจะก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่เอื้ออำนวย
เช่น โครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์ (Broadband Infrastructure) จัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ความปลอดภัยของธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จัดทำมาตรฐานการยอมรับร่วม (MRAs) ในด้านการรักษาความปลอดภัย การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน
การรักษาความปลอดภัยในโลกออนไลน์ ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งระบบการชำระเงินที่มีความปลอดภัย
การจัดทำกรอบการดำเนินการอี-คอมเมิร์ซของอาเซียน
กำหนดเป้าหมายแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2562 (2019) จะเห็นว่าอาเซียนกำลังรีบเร่งและจริงจังกับแผนอี-คอมเมิร์ซ
เรื่องหนึ่งที่อาเซียนให้ความสำคัญและเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน
คือ เชื้อโรคดื้อยา (Antimicrobial Resistance)
เป็นปัญหาระดับโลก การใช้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็นทำให้เชื้อดื้อยา นับวันคนจะติดเชื้อด้วยเชื้อโรคที่ต้านยาปฏิชีวนะ
ต้องใช้ยาตัวใหม่ที่ราคาแพงมาก บางรายรักษาไม่หาย นานาชาติกำลังหาวิธีแก้ไข อาเซียนกำลังจัดทำแนวทางใช้ยาปฏิชีวนะในปศุสัตว์อย่างถูกต้อง
แถลงการณ์เอ่ยถึงสถานการณ์ทะเลจีนใต้
ระบุว่าความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีนดีขึ้น เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับกรอบแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้
(Code of Conduct: COC) คาดว่าปีหน้า (2018) จะเริ่มเจรจาส่วนเนื้อหา
Harry Roque
โฆษกประธานาธิบดีดูเตร์เต กล่าวว่า อาเซียนยืนยัน COC ต้องมีสถานะบางอย่างที่เป็นกฎหมาย ถ้าไม่ได้ตามนี้เท่ากับไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้
หากไม่มีสถานะทางกฎหมายเท่ากับไม่มีผล
“บังคับ” เท่ากับไม่ต่างจาก DOC
ที่ใช้ขณะนี้ อาเซียนเจรจามาเป็นสิบปีเพราะต้องการสถานะทางกฎหมาย เกิดคำถามว่าเรื่องนี้เจรจากว่าสิบปีแล้ว
ต้องรออีกสิบปีไหม
ถ้าวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง
อาจตีความว่าสภาพที่เป็นอยู่คือแบบที่ทุกฝ่ายต้องการ คือ พูดกันไปเจรจากันไป
แต่ที่สุดแล้วจะไม่ได้ COC ที่มีสถานะทางกฎหมาย มีการเจรจาเพื่อให้มีการเจรจาเท่านั้น แต่ที่ต้องพูดถึงเพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นทางออกอย่างหนึ่ง การเจรจาไม่มีกรอบว่าต้องจบสิ้นเมื่อใด
ในอีกแนวคิดหนึ่ง
อธิบายว่านับจากแรกเริ่มจนบัดนี้ ฝ่ายจีนยืนยันท่าทีเดิม เพียงระมัดระวังไม่ทำอะไรที่อาเซียนรับไม่ได้
รุก 2 ก้าวถอย 1 ก้าว
เรื่องราวเกี่ยวกับ
COC เป็นเรื่องน่าศึกษา ช่วยเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นอยู่จริง
ประเด็นความสัมพันธ์กับนอกภูมิภาค
นอกจากเรื่องทะเลจีนใต้ เอ่ยถึงความร่วมมือและความมั่นคงทางทะเล กรณีเกาหลีเหนือ ก่อการร้ายกับลัทธิสุดโต่ง
ทั้ง 4 เรื่องมีเนื้อหาสั้นๆ รวมความยาวหน้าครึ่งจากทั้งหมด 28 หน้า ไม่ได้พูดประเด็นโรฮีนจา
แต่การที่เนื้อหาไม่ได้เอ่ยถึงไม่ได้หมายความว่าที่ประชุมไม่ได้หารือ
อันที่จริงแล้ว อาเซียนออกแถลงการณ์ประเด็นโรฮีนจาเมื่อ
24 กันยายนที่ผ่านมา ใจความสำคัญว่า รู้สึกกังวลต่อสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก
ในระยะยาวต้องแก้ไขรากปัญหา
ดังที่เคยนำเสนอในบทความครั้งก่อนว่า
ความมั่นคงของเมียนมาคือความมั่นคงของอาเซียน
ในขณะเดียวกันการเคารพสิทธิมนุษยชนในกรอบอาเซียนได้พัฒนาเข้าใกล้สากลมากขึ้น หากการระบุในแถลงการณ์ไม่เป็นผลดีต่อความมั่นคงเมียนมา
ย่อมจะไม่ปรากฏสิ่งนี้ เป็นลักษณะพื้นฐานของอาเซียน
ความท้าทายเรื่องการบริหารจัดการ :
แถลงการณ์รอบนี้ชมเชยหลายหน่วยที่ทำงานแข็งขัน
พร้อมกับเอ่ยถึงความท้าทายอีกมาก เช่น เพิ่มประสิทธิภาพแก่สำนักเลขาธิการอาเซียน ช่วยเหลือ
CLMV(Cambodia-Laos-Myanmar-Vietnam) ที่เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนหลังสุดให้สามารถเคลื่อนไปพร้อมกับสมาชิกส่วนใหญ่
การจัดตั้งหลายทีมหลายหน่วยเพื่อการประสานงาน แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
นับวันทีมปฏิบัติการ
โครงการ การประชุมของกลุ่มต่างๆ มีแต่จะเพิ่มขึ้น มีชื่อย่อแปลกใหม่เกิดขึ้นเสมอ ความท้าทายเรื่องการบริหารจัดการจึงมีตลอดเวลา
เกี่ยวข้องกับความสำเร็จขององค์กรระดับภูมิภาคแห่งนี้
ประชาคมอาเซียนไม่ใช่เพียงแค่เวทีพูดคุย
แต่เป็นองค์กรที่ซับซ้อนตามความซับซ้อนของโลก
หากปฏิบัติได้ตามเป้าหมายทุกประเทศจะเข้มแข็ง
อาเซียนจะแข็งแกร่งกว่านี้มาก
19 พฤศจิกายน 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7681 วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2560)
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7681 วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2560)
--------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
นับแต่ก่อตั้งอาเซียนเมื่อ 50 ปีก่อน หลักไม่แทรกแซงกิจการภายในเป็นเสาหลักของกลุ่ม
ประเด็นโรฮีนจาเป็นกรณีพิเศษที่อาเซียนละเมิดหลักการ
แต่เพราะเมียนมาเป็นฝ่ายเริ่มก่อน
อาเซียนกับจีนบรรลุกรอบเจรจา COC นับจากนี้คือการเจรจาเพื่อให้ได้ COC แต่ยากจะตอบว่าจะแล้วเสร็จช้าหรือเร็ว
เพราะ COC จึงไม่ใช่เรื่องพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้เท่านั้น
ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองภายในของบางประเทศ
ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างบางประเทศ การแข่งขันของมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
อาจเป็นมหากาพย์ที่ต้องติดตามอีกนาน
บรรณานุกรม:
1. กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ. (2015).
แผนงานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน. Retrieved from http://www.dtn.go.th/files/ASEAN/e-Commerce.pdf
2. วรากรณ์ สามโกเศศ. (2016, มีนาคม 9). การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่4. ไทยพับลิก้า. Retrieved from https://thaipublica.org/2016/03/varakorn-153/
3. Asean Should Embrace Fourth Industrial Revolution. (2017,
November 6). Jakarta Globe. Retrieved from http://jakartaglobe.id/opinion/asean-embrace-fourth-industrial-revolution/
4. Asean wants legally binding sea code – Palace. (2017,
November 16). Inquirer. Retrieved from
http://globalnation.inquirer.net/162646/philippine-news-updates-asean-2017-code-of-conduct-on-the-south-china-sea-china-president-duterte-asean
5. FULL TEXT: Chairman’s statement for the 31st ASEAN Summit.
(2017, November). Philstar Global. Retrieved from http://www.philstar.com/headlines/2017/11/16/1759486/full-text-chairmans-statement-31st-asean-summit
6. Malaysia tells Myanmar to stop Rohingya atrocities, disagrees with
Asean stand. (2017, September 25). Channel NewsAsia.
Retrieved from
http://www.todayonline.com/world/malaysia-tells-myanmar-stop-rohingya-atrocities-disagrees-asean-stand#cxrecs_s
-----------------------------