โรฮีนจา ปัญหาของใคร

ทุกครั้งเมื่อเหลือบไปมองโรฮีนจาจะพบแต่ความทุกข์ยาก ความขาดแคลน อยู่ในยะไข่ก็ขาดแคลน นักเรียนขาดโรงเรียน ขาดโรงพยาบาล ขาดยา ไม่มีงานทำ หลายคนถึงกับยอมเสี่ยงชีวิตไปหางานต่างแดนแม้ผิดกฎหมาย เป็นแรงงานราคาถูก ทำงานประเภทที่คนอื่นไม่อยากทำ โดนกดขี่ข่มเหงสารพัด ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างคนมีสิทธิตามกฎหมาย
            ช่วงนี้มีข่าวถูกไล่ที่ พากันอพยพหนีตายอลหม่าน ระหว่างเดินทางก็ถูกทำร้าย บางคนเหยียบกับระเบิดที่ฝังไว้อีก กว่าจะไปถึงบังคลาเทศก็ทุลักทุเล
            กว่า 500,000 คนที่หนีตายมาอยู่ชายแดนบังคลาเทศต้องมาอยู่ในพื้นที่แออัดกว่าเดิม ขอเพียงมีพื้นที่สักช่องให้เอนกายก็นับว่าดีมากแล้ว ขาดแคลนทุกอย่าง แม้หลายประเทศ องค์กรช่วยเหลือหลายหน่วยยื่นมือเข้าช่วยแล้วก็ตาม
Antonio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องให้ทางการเมียนมาระงับปฏิบัติการทางทหาร ยุติความรุนแรง ปฏิบัติตามหลักกฎหมาย เคารพสิทธิที่ทุกคนจะกลับสู่บ้านเกิดตัวเอง ขอให้โรฮีนจาได้ฐานะความเป็นพลเมืองหรือไม่ก็ได้รับฐานะทางกฎหมายเพื่ออนุญาตให้พวกเขาอยู่ในเมียนมาต่อไป
ดูเหมือนว่าคำขอแต่ละข้อยากจะสมหวัง โรฮีนจายังคงออกจากเมียนมา คนที่มีสิทธิ์กลับมีไม่กี่คน โลกอาจมีผู้อพยพถาวรเพิ่มอีกครึ่งล้าน

การกล่าวโทษบางประเทศ :
            ทุกครั้งเมื่อโรฮีนจากลายเป็นประเด็น ไม่ว่าจะถูกไล่ที่ อพยพย้ายถิ่น เรือมนุษย์ จะมีเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชน ประเทศหรือใครก็ตามที่ละเมิดจะถูกกล่าวโทษ ยกตัวอย่างเมื่อเรือผู้อพยพโรฮีนจาแล่นเข้าฝั่ง รัฐบาลหลายประเทศใช้วิธีให้อาหารกับน้ำจำนวนหนึ่ง แล้วผลักดันกลับไป กลุ่มสิทธิมนุษยชนบางกลุ่มกล่าวหาประเทศเหล่านี้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ควรที่จะรับโรฮีนจาเป็นผู้อพยพลี้ภัย
การรับผู้อพยพลี้ภัยสัก 1,000-2,000 คน ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ที่หลายฝ่ายคิดตรงกันคือ หากรับ 2,000 คนแล้ว อีกไม่นานจะมา 20,000 คน และกลายเป็น 200,000 คน ในที่สุดอาจเป็นโรฮีนจาทั้งหมดกว่าล้านคน และจะมีผู้อพยพประเทศอื่นๆ นอกเหนือโรฮีนจา
เรื่องไม่จบเท่านี้ เมื่อรับมาแล้วจะมีคนพูดต่อว่าดูแลพวกเขาดีหรือไม่ อาหารถูกปากหรือเปล่า แพทย์ไม่เก่ง ยาไม่ดี ครูไม่มีคุณภาพ กีดกั้นสิทธิเสรีภาพ อยู่อย่างไร้อนาคต
ประเทศที่รับผู้อพยพลี้ภัยแต่ต้นต้องเผชิญเสียงตำหนิจากอย่างไม่สิ้นสุด

แทนที่ต่างชาติ กลุ่มองค์กรต่างๆ จะให้ความช่วยเหลือ กลับมุ่งตรวจสอบว่าประเทศที่รับผู้ลี้ภัยละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้ลี้ภัยเหล่านี้หรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้หลายประเทศจึงเลือกที่จะไม่รับผู้อพยพลี้ภัยตั้งแต่ต้น หรือรับเพียงเล็กน้อยพอเป็นพิธ
มีคำกล่าวหามานานแล้วว่ารัฐบาลเมียนมากดขี่ข่มเหงโรฮีนจา เพื่อขับไล่คนเหล่านี้ออกนอกประเทศ แต่ทางการเมียนมาปฏิเสธมาโดยตลอด
            ในเหตุการณ์ล่าสุด ประเด็นน่าคิดคือ เมื่อเกิดวุ่นวายรัฐบาลเมียนมาเอาใจใส่โรฮีนจาน้อยมาก ทางการเมียนมาน่าจะให้ความช่วยเหลือมากกว่านี้ และน่าจะพยายามให้โรฮีนจากลับเข้าพื้นที่ แต่เหตุการณ์เป็นไปตามที่ทุกคนรับรู้ โรฮีนจากว่า 500,000 คนแล้วที่อพยพหนีเข้าบังคลาเทศ
            ในกรณีเมียนมา แม้รัฐบาลพยายามอ้างว่าดูแลคนทุกกลุ่ม แต่ในสายตานานาชาติกลับไม่เห็นด้วย การตัดสินกล่าวโทษแต่ละประเทศจึงไม่สมควรเหมารวม ต้องพิจารณาเป็นกรณี

การเข้าพัวพันของอาเซียน :
            กระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียออกแถลงการณ์ “เรียกร้องให้ทุกประเทศ รวมทั้งชาติสมาชิก OIC เข้าพัวพันอย่างสร้างสรรค์ ... ช่วยเหลือพลเมืองทุกหมู่เหล่าในรัฐยะไข่” ชี้ต้นตอปัญหาโรฮีนจา การเข้าพัวพันอย่างสร้างสรรค์คือเรื่องสำคัญ
            แถลงการณ์อาเซียนเมื่อ 24 กันยายน มีใจความสำคัญว่า รู้สึกกังวลต่อสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ในระยะยาวต้องแก้ไขรากปัญหา
            ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์อาเซียนจึงใกล้เคียงกับแถลงการณ์อินโดนีเซีย ขอให้ทุกฝ่ายไม่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก
            แถลงการณ์ไม่ได้เอ่ยชื่อ “โรฮีนจา” ทำให้มาเลเซียไม่พอใจ เห็นว่ารัฐบาลเมียนมารู้เห็นเป็นใจ การที่แถลงการณ์ไม่ระบุคำว่าโรฮีนจาก็เพราะแถลงการณ์ต้องผ่านฉันทามติ การแสดงออกของรัฐบาลมาเลเซีย ตอกย้ำจุดยืนของรัฐบาลนาจิบที่ชี้ว่ารัฐบาลเมียนมาต้องรับผิดชอบ และสามารถตีความว่าเป็น “เนื้อหาส่วนขยาย” ของแถลงการณ์อาเซียนด้วย อย่างน้อยที่สุดเป็นของมาเลเซีย
            รวมความแล้ว ประชาคมอาเซียนไม่ได้นิ่งนอนใจ อย่างน้อยมีคำประณาม ดำเนินตามแนวทางสิทธิมนุษยชนสากล

ต้องพิจารณาความมั่นคงแห่งชาติ :
            ไม่นานหลังรับตำแหน่ง โดนัลด์ ทรัมป์ ออกคำสั่งห้ามคนต่างชาติ 6 ประเทศเข้าประเทศ แม้จะถูกวิพากษ์ว่าจงใจกีดกันมุสลิม หรือหวังเล่นงานบางประเทศ แต่รัฐบาลให้เหตุผลว่าจำต้องทำเพื่อป้องกันผู้ก่อการร้ายต่างชาติเข้าประเทศ
            ประเด็นกีดกันแรงงานเม็กซิโกเป็นอีกเรื่องที่พูดกันมาก ถ้ามองในภาพกว้าง แต่ไหนแต่ไรนโยบายของรัฐบาลสหรัฐต่อคนต่างด้าวย้ายถิ่นนั้นไม่เท่าเทียมกัน ปฏิบัติต่อคนแต่ละประเทศ แต่ละเผ่าพันธุ์ เชื้อชาติแตกต่างกัน และเป็นเช่นนี้ในปัจจุบัน
            ดังนั้น ไม่ใช่ประธานาธิบดีทรัมป์ที่ดำเนินนโยบายปฏิบัติต่อแต่ละประเทศไม่เท่าเทียม ที่รู้สึกต่างเพราะการนำเสนอต่าง ใครสามารถสร้างภาพให้ดูดีได้มากกว่า และขึ้นกับบริบทว่าเศรษฐกิจอเมริกาในขณะนั้นต้องการแรงงานต่างด้าวมากน้อยเพียงไร

ประเด็นผู้อพยพจากตะวันออกกลางและแอฟริกาหลั่งไหลเข้ายุโรปก็เช่นกัน     นายกรัฐมนตรีฮังการี Viktor Orban ถึงกับประกาศไม่รับชาวซีเรียเข้าประเทศ เห็นว่าเป็นอันตราย “ผมคิดว่าเรามีสิทธิ์ตัดสินใจว่าเราไม่ต้องการมีคนมุสลิมมากในประเทศของเรา” ไม่อยากเป็นดังเช่นอาณาจักรออตโตมัน ขอให้ผู้ลี้ภัยซีเรียอย่าได้มาฮังการีอีก เพราะไม่อาจรับรองว่าพวกเขาจะเป็นที่ยอมรับ
ทุกเหตุผลที่ยกมา ไม่ว่าจะจริงหรือเท็จ ทั้งรัฐบาลสหรัฐกับฮังการีเป็นกรณีตัวอย่างว่ารัฐมีสิทธิ์เลือกรับหรือไม่รับ จะรับเท่าไหร่ก็ได้ ควรที่จะต้องรับจนเป็นภัยต่อประเทศตัวเองหรือไม่ เป็นประเด็นที่น่าคิด

ควรเป็นข้อตกลงร่วมของนานาชาติ :
            ที่เป็นปัญหาทุกวันนี้คือ ต่างฝ่ายต่างพูดจากมุมของตัวเอง รัฐบาลต้องปกป้องอธิปไตย ดูแลความมั่นคง ต้องดูแลคนในประเทศก่อน ส่วนพวกสิทธิมนุษยชนก็จะมุ่งพูดแต่เรื่องที่ตนต้องการจะพูด ปัญหาจึงค้างคา และกลายเป็นความขัดแย้งเชิงความคิดอย่างไม่จบสิ้น
            ทางออกคือ ต้องมีการหารือร่วมกันว่าจะทำอะไรอย่างไร เช่น ถ้าจะให้เพื่อนบ้านเมียนมารับโรฮีนจาชั่วคราว ต้องมีสัญญาชัดเจนว่าคนเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปประเทศที่ 3 เมื่อไหร่ อย่างไร การดูแลผู้อพยพจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่พยายามยัดเยียดให้รับก่อนโดยไม่สนใจผลที่จะตามมา
ประเด็นหนึ่งที่ต้องตระหนักเสมอคือคนไร้รัฐมักพยายามออกนอกประเทศเพื่อเป็นแรงงานต่างด้าว ยิ่งถูกกดขี่ข่มเหงจากในประเทศมากเท่าใดก็ยิ่งคิดอพยพย้ายถิ่นไปแสวงหาที่อยู่ที่ดีกว่า อย่างน้อยไปตายดาบหน้า หลายคนยอมเสียสละตัวเองเพื่อเห็นแก่อนาคตของลูกหลาน แรงจูงใจที่จะออกนอกประเทศจึงสูงมาก ยอมเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ที่สำคัญกว่านั้น คนไร้รัฐมักคิดตั้งถิ่นฐานในประเทศเพื่อนบ้าน อยู่ประเทศนั้นถาวร ไม่ว่าจะโดยถูกหรือผิดกฎหมาย เกิดปัญหาซ้ำซ้อนในหมู่ประเทศเพื่อนบ้านไม่รู้จบ
การแก้ปัญหาจึงต้องมองโจทย์ให้ทะลุ

ในด้านสถานการณ์เฉพาะหน้า โรฮีนจา 500,000 คนอดอยากขาดแคลน จะช่วยอย่างไร แต่ละประเทศจะออกเงินหรือให้ความช่วยเหลืออย่างไร เป็นข้อตกลงที่เป็นรูปธรรม เมื่อเห็นร่วมแล้วจะไม่มีใครหรือหน่วยงานใดพูดกล่าวหาให้ร้ายอีก
            และต้องหาทางว่าในระยะยาวจะดูแลโรฮีนจาทั้ง 500,000 คนอย่างไร อนาคตของพวกเขาจะเป็นอย่างไรถ้าพวกเขาไม่สามารถเป็นพลเมืองเมียนมา สามารถเช่าที่ดินบางประเทศเพื่อเป็นถิ่นอาศัยได้หรือไม่
            ส่วนการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ควรทำเป็นการรณรงค์ระดับโลก ให้ทุกคนมีส่วน ประหยัดคนละเล็กน้อยตามความสมัครใจ ให้เป็น “ปัญหาของทุกคน” ไม่เฉพาะรัฐหรือบางองค์กรเท่านั้น

            ความจริงอีกเรื่องที่ต้องพูดถึงคือ โรฮีนจาไม่ใช่พวกเดียวที่ประสบปัญหา ถ้าคิดช่วยโรฮีนจากว่าล้าน จะมีอีกหลายสิบล้านที่ควรช่วย Global Trends: Forced displacement in 2016 รายงานผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นฐานทั่วโลกประจำปีของ UNHCR จำนวนผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นฐานทั่วโลกปัจจุบันมีราว 65.6 ล้าน
ผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นฐาน ประกอบด้วยหลายประเภท เช่น ผู้ลี้ภัย (refugee) คนพลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced People: IDPs) ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย (asylum seekers)
ถ้าต้องการพูดเฉพาะคนไร้รัฐแบบโรฮีนจา ปี 2016 ประเมินว่าทั่วโลกมี 10 ล้านคนเป็นคนไร้รัฐ หรือเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนไร้รัฐ (ข้อมูลที่เก็บได้จริงมีราว 3.2 ล้านคน ใน 75 ประเทศ) จึงเป็น 10 ล้านคนที่ต้องช่วยเหลือไม่เฉพาะพวกโรฮีนจาเท่านั้น

            และถ้าคิดว่าคือการช่วยผู้ตกทุกข์ได้ยากแสนสาหัสก็ควรช่วยเหลือคนอื่นๆ อีกหลายร้อยล้าน ถ้าปฏิบัติต่อโรฮีนจาอย่างไรก็ควรปฏิบัติต่อคนยากจนแร้นแค้นอีกหลายร้อยล้านทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นพวกไร้รัฐหรือมีรัฐ
            หากยังไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมด ก็ขอให้มีความคิดความเข้าใจที่ถูกต้องก่อน เพราะต้องเริ่มที่จุดนี้จะเกิดผลเป็นการลงมือปฏิบัติที่เหมาะสม
8 ตุลาคม 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7639 วันอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2560)
--------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
อองซาน ซูจี ในวัย 72 ปี กำลังเผชิญการตัดสินใจครั้งใหญ่ นางจะเลือกพรรคหรือเลือกสิทธิมนุษยชน

บรรณานุกรม:
1. Cortes, Rachel Traut., & Poston, Dudley L. Jr. (2008). Immigration to North America. In International Encyclopedia of the Social Sciences. (2nd Ed. (9 vol. set. pp. 576-580). USA: The Gale Group.
2. Hungarian PM: We don't want more Muslims. (2015, September 4). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/2015/09/refugees-hungary-train-station-150903064140564.html
3. Hunt, Luke. (2015, May 29). Crocodile Tears for the Rohingya. The Diplomat. Retrieved from http://thediplomat.com/2015/05/crocodile-tears-for-the-rohingya/
4. Indonesia Urges OIC, International Community, to Address Myanmar Conflict. (2017, September 13). Jakarta Globe. Retrieved from http://jakartaglobe.id/news/indonesia-urges-oic-international-community-address-myanmar-conflict/
5. Malaysia tells Myanmar to stop Rohingya atrocities, disagrees with Asean stand. (2017, September 25). Channel NewsAsia. Retrieved from http://www.todayonline.com/world/malaysia-tells-myanmar-stop-rohingya-atrocities-disagrees-asean-stand#cxrecs_s
6. Malaysia's dissent on Myanmar statement reveals cracks in ASEAN facade. (2017, September 25). Channel NewsAsia. Retrieved from http://www.channelnewsasia.com/news/asiapacific/malaysia-s-dissent-on-myanmar-statement-reveals-cracks-in-asean-facade-9248850
7. Myanmar faces mounting pressure over Rohingya refugee exodus. (2017, September 12). Al Arabiya/Reuters. Retrieved from http://english.alarabiya.net/en/News/world/2017/09/12/Myanmar-faces-mounting-pressure-over-Rohingya-refugee-exodus.html
8. Myanmar says persecution not the cause of migrant crisis. (2015, June 6). Daily Times. Retrieved from http://www.dailytimes.com.pk/region/06-Jun-2015/myanmar-says-persecution-not-the-cause-of-migrant-crisis
9. The White House. (2017, March 6). Executive Order Protecting The Nation From Foreign Terrorist Entry Into The United States. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2017/03/06/executive-order-protecting-nation-foreign-terrorist-entry-united-states
10. UN Security Council calls for 'immediate steps' to end Myanmar violence. (2017, September 14). Channel NewsAsia. Retrieved from http://www.channelnewsasia.com/news/asiapacific/un-security-council-calls-for-immediate-steps-to-end-myanmar-9214136
-----------------------------