ความแตกต่างทางการเมืองและทางออก

มนุษย์แตกต่างหลากหลาย หลายเรื่องแก้ยากหรือไม่ได้ ควรมุ่ง “จัดการ” ให้ทุกคนอยู่ได้ เป็นประโยชน์สุขต่อทุกคน เริ่มต้นด้วยการวาง “หลักยึด” เป็นข้อเสนอให้ทุกคนยืดถือร่วมกัน
อัตลักษณ์และความแตกต่าง :
ความแตกต่าง (difference) ไม่ว่าจะเป็นด้านอุดมการณ์ ความคิด นโยบาย เชื้อชาติ ศาสนา ประวัติศาสตร์ ฯลฯ เป็นต้นเหตุสำคัญของการแก่งแย่งช่วงชิง การต่อสู้ทางการเมือง ผ่านการรับรู้ เป็นมโนทัศน์ ว่าตนคิดเห็นอย่างไร ยึดถืออย่างไร ตีความผู้อื่นว่าเป็นอย่างไร เหมือนหรือต่างตรงไหน
ทั้งยังต้องพูดถึง “น้ำหนัก” “ระดับความสำคัญ” เช่น ให้ความสำคัญกับความแตกต่างทางศาสนา ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ที่เป็นปรปักษ์ต่อกัน ในขณะที่นักสตรีนิยมบางเห็นว่าความเป็นสตรีสำคัญเหนือความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนา

            แต่ละคน แต่ละสังคมจะให้น้ำหนักต่างกัน อีกทั้งเปลี่ยนแปลงตามบริบท กาลเวลา เช่น กระแสชาวตะวันตกไม่ชอบมุสลิม ในขณะที่คนญี่ปุ่นไม่ต่อต้านมุสลิมอย่างพวกตะวันตก
            มโนทัศน์ต่ออัตลักษณ์เริ่มต้นที่ครอบครัวและการศึกษา เมื่อเป็นผู้ใหญ่กระบวนการปลูกฝังยังคงดำเนินต่อไป ในรูปแบบใหม่ เช่น นโยบาย ข้อมูลจากรัฐ สื่อมวลชน การต่อสู้ทางการเมือง

            ในสมัยสงครามเย็น ประเทศทุนนิยมประชาธิปไตยนำเสนอข้อเสียของสังคมนิยม ในทางกลับกัน ฝ่ายสังคมนิยมจะนำเสนอข้อเสียของทุนนิยม ทั้งๆ ที่โดยเนื้อแท้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทุนนิยมหรือสังคมนิยม ต่างมีข้อดีข้อเสียด้วยกันทั้งสิ้น
รับชมวีดีโอสั้น 2 นาที :
            ในกรอบภายในประเทศ การแข่งขันทางการเมืองในบางประเทศสร้างความหวาดระแวง ไม่เชื่อใจ การเมืองฝ่ายตรงข้าม สร้างความแตกแยกรุนแรงในหมู่ประชาชน ในตำบลหนึ่งมีทั้งบ้านที่สนับสนุนพรรค ก. กับพวกที่สนับสนุนพรรค ข. ที่ขับเคี่ยวทางการเมือง หากสถาบันการเมืองไม่ระวัง ประชาชนไม่รู้ทัน นานวันเข้ากลายเป็นการแตกแยกทางการเมืองแบบถาวร ชาวบ้านในหมู่บ้านเดียวกันที่เคยรักใคร่กลมเกลียวกลายเป็นคนละพวก วามเป็นไปในชุมชนกลายเป็นการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายถาวร เป็นสนามต่อสู้ทางการเมืองไม่สิ้นสุด เช่นนี้ควรเรียกว่าชุมชนล่มสลายด้านความรักความกลมเกลียวหรือไม่
            ระบอบการเมืองใดที่ส่งเสริมให้แตกแยกรุนแรง ย่อมไม่ใช่ระบอบที่จะนำประเทศสู่ความรุ่งเรือง สถาบันการเมืองที่ส่งเสริมเรื่องทำนองนี้ ย่อมไม่ใช่พวกที่หวังดีต่อส่วนรวม ใครก็ตามที่ส่งเสริมให้แตกแยก สังคมควรวิเคราะห์พิจารณาคนพวกนี้ให้ถ้วนถี่
            หากไม่แก้ไขระบอบการเมืองที่สร้างความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เช่นนี้จะผ่านไปอีกกี่ปีสังคมจะไม่ดีขึ้น ซ้ำร้ายจะแย่ลง และอาจมีเหตุเลวร้ายตามมา มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย
            อย่าลืมว่าโลกนี้มีหลายประเทศ มีหลายกลุ่มหลายฝ่าย ทั้งผู้หวังดีกับประสงค์ร้าย

            การส่งเสริมเสรีภาพปัจเจกเป็นเรื่องดี แต่หากทำให้ปัจเจกใช้เสรีภาพจนเกินขอบเขตและสังคมควบคุมไม่ได้ เช่นนั้นการส่งเสริมเสรีภาพจะกลายเป็นเครื่องมือบั่นทอนสังคม การใช้เสรีภาพของคนหนึ่งกลายเป็นการกดขี่ทำร้ายหลายคน
            ในหลายประเทศจึงให้ความสำคัญกับ “ส่วนรวม” มากกว่าปัจเจก ด้วยแนวคิดว่าหากสังคมแย่ปัจเจกพลอยแย่ด้วย หากประเทศล่มสลายประชาชนจะอยู่อย่างไร

สังคมต้องมีการปกครองเพื่อดูแลความเห็นต่าง :
            ไม่อาจปฏิเสธว่ามนุษย์เกิดมาแตกต่าง สังคมมีคนหลากหลาย แต่ทำไมความแตกต่างจึงอยู่ร่วมกันได้ในบางประเทศ ทำไมบางประเทศเจริญพัฒนา มีปัญหาแต่ควบคุมได้ ในขณะที่บางประเทศขัดแย้งรุนแรงจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง ผู้คนถืออาวุธสงครามเข่นฆ่ากันเอง ทั้งๆ ที่ในอดีตเป็นเพื่อนบ้าน สุดท้ายประเทศแตกออกเป็นเสี่ยง และไม่รู้ว่าความสงบจะกลับคืนเมื่อใด อนาคตของตนเองและลูกหลานจะเป็นเช่นไร
            ถ้าย้อนมองต้นเหตุของประเทศเหล่านี้ ก็เพราะความขัดแย้งที่เล็กน้อย สะสมกลายเป็นใหญ่ ผสมโรงด้วยการใส่ไฟจากสารพัดกลุ่ม การต่อสู้ทางการเมืองรุนแรง ต่างชาติให้อาวุธพร้อมกระสุน เมื่อทุกฝ่ายมีปืน การต่อสู้ทางการเมืองกลายเป็นสงครามกลางเมือง ...
            ความเห็นต่างทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ แต่หากนำสู่สงครามกลางเมือง เช่นนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องปกติหรือสมควรให้เกิด

            การพูดถึงที่มาของระบอบการปกครองเป็นเรื่องดีและสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าคือการพูดถึงระบอบที่กำลังใช้และควรใช้ หลังผ่านมาหลายสิบปี ร้อยปีหรือพันปี ควรตั้งคำถามว่าระบอบที่เหมาะสมกับปัจจุบันคืออะไร
            ความแตกต่างบางอย่างแก้ยากหรือไม่ได้ (เช่น ชายมีความต้องการแบบชาย หญิงมีความต้องการแบบหญิง ชายแต่ละคนยังแตกต่างกัน เช่นเดียวกับหญิง) เพื่อดูแลประชาชนที่หลากหลาย แทนการทำให้ทุกคนคิดและต้องการอย่างเดียวกัน ควรมุ่ง “จัดการ” ให้ทุกคนอยู่ได้ เป็นประโยชน์สุขต่อทุกคน เริ่มต้นด้วยการวาง “หลักยึด” เป็นข้อเสนอให้ทุกคนยืดถือร่วมกัน
ข้อเสนอระบอบการปกครอง :
            ประการแรก ไม่มองว่ามีเพียงไม่กี่ทางเลือก
            การล่มสลายของค่ายสังคมนิยมทำให้ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยชี้ว่านับจากนี้ประเทศต่างๆ ในโลกจะเป็นประชาธิปไตยและใช้เศรษฐกิจทุนนิยม การพูดเช่นนี้เป็นโฆษณาชวนเชื่อ ทำลายทางเลือกอื่นๆ ให้เลือกเพียง 2 ทางเลือก และสุดท้ายคือเลือกทุนนิยมประชาธิปไตย
            ความจริงแล้ว ทุกวันนี้ยังคงมีหลายระบอบการปกครอง จีนเป็นสังคมนิยมแบบจีน พรรคคอมมิวนิสต์เป็นแกนหลักทางการเมือง ส่งเสริมทุนนิยม เสรีภาพมากขึ้น จีนกำลังกลายเป็นมหาอำนาจที่มหาอำนาจอื่นหวั่นไหว
            หลายประเทศยังคงปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ บางประเทศที่ปกครองด้วยระบอบนี้เจริญรุ่งเรือง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข หลายประเทศมีการเลือกตั้งแต่เป็นอำนาจนิยมมากกว่า บางประเทศพัฒนาอย่างรวดเร็วด้วยวิธีนี้ ตัวอย่างที่เด่นชัดคือ สิงคโปร์

ควรตระหนักว่าระบอบหรือระบบเป็นสิ่งที่มนุษย์คิดค้นขึ้นเท่านั้น จะมีอีกกี่รูปแบบกี่ระบอบก็ได้ ภายใต้ค่านิยมปัจจุบัน การจะใช้ระบอบใด สำคัญที่ยึดถือประโยชน์สุขของประชาชนเป็นสำคัญ

ประการที่ 2 เริ่มต้นที่มีผู้นำประเทศที่ "เหมาะสม" ก่อน
            การเมืองในหลายประเทศมีลักษณะสำคัญข้อหนึ่งตรงกันคือ ประชาชนไม่เชื่อมั่นระบบการเมืองเพราะเห็นว่าคนเข้าสู่อำนาจเพื่อกอบโกย ระบบการเลือกตั้งในหลายประเทศเป็นหลักฐานในตัวชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่สามารถสรรหาผู้มุ่งทำประโยชน์แก่ส่วนรวม แม้กระทั่งประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี กรีซ และอีกหลายประเทศที่ประชาชนไม่อยากเลือกไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจากพรรครัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เป็นพวกฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา
            พรรคการเมือง ผู้สมัคร ต่างนำเสนอนโยบาย อุดมการณ์ตามแนวทางของตน จะดีหรือร้ายนั่นเป็นเรื่องหนึ่ง ที่ประชาชนผิดหวังคือพวกเขาไม่ได้หวังใช้อำนาจเพื่อประชาชนจริง จึงต้องปฏิรูประบบคัดสรรให้ได้คนที่มุ่งทำประโยชน์แก่ส่วนรวม อาจวางระบบคัดสรรเบื้องต้นที่ผู้สมัครต้องผ่านเกณฑ์ เช่น คัดสรรคนที่เสียสละมากกว่า คนที่มีประวัติทำความดีต่อส่วนรวมมากกว่า (ตรงข้ามกับคนมีประวัติเป็นกดขี่ข่มเหงผู้อื่น แม้กฎหมายยังเอาผิดไม่ได้ คนที่คิดทำประโยชน์ให้กับตัวเองฝ่ายเดียว)
ดังคำขวัญที่มักพูดกันเสมอว่า “มาจากประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน”

          ประการที่ 3 ระบอบการปกครองที่สร้างลักษณะชีวิตปัจเจก
            การคัดกรองผู้นำเป็นส่วนแรกที่ต้องทำ ส่วนต่อมาคือประชาชน ทุกประเทศ ทุกสังคม ทุกองค์กร แม้กระทั่งทุกครอบครัวล้วนต้องการผู้มีลักษณะชีวิตที่ดี
            คงไม่มีใครอยากได้พ่อแม่ที่วันๆ เอาแต่ดื่มเหล้า ไม่รับผิดชอบครอบครัว บริษัทคงไม่อยากจ้างพนักงานที่ไม่ทุ่มเทกับงาน กลับก่อนมาทีหลัง คิดแต่จะเอาประโยชน์จากบริษัท และคงไม่มีใครอยากอยู่กับเพื่อนบ้านที่ติดยา เป็นหัวขโมย
            ถ้าเห็นด้วยกับข้างต้น ควรมองให้ไกลกว่านั้น ให้คิดถึงระดับที่ใหญ่กว่านั้น คือระดับประเทศ

            จะดีไหม หากประเทศส่งเสริมให้หัวหน้าครอบครัวเอาการเอางาน พนักงานทำงานเต็มที่พร้อมกับได้ค่าตอบแทนสมน้ำสมเนื้อ ส่งเสริมสังคมแห่งความสุจริต ทุกคนดำเนินชีวิตด้วยความสุจริต ใช้เสรีภาพทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น

            ระบอบเช่นนี้เริ่มต้นได้ด้วยเป็นนโยบายของสถาบันการเมือง นักการเมือง ผู้ปกครองทุกระดับ การสร้างชุมชนต้นแบบ แม้กระทั่งบริษัทหรือองค์กรก็สามารถทำได้ ดูแลและสร้างลักษณะชีวิตปัจเจก ไม่เฉพาะที่ทำงานเท่านั้น แต่รวมถึงที่บ้านและอื่นๆ เช่นพิจารณาปรับเพิ่มเงินเดือนหากเป็นพ่อแม่ที่รักดูแลเอาใจใส่ลูก มีโอกาสเลื่อนขั้นมากกว่าพนักงานคนอื่นในระดับเดียวกัน หากผู้นั้นใช้เวลาว่างทำประโยชน์เพื่อสังคม
            เป็นระบอบการปกครองที่ให้ความสำคัญกับการสร้างลักษณะชีวิตปัจเจก

            ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ความสำเร็จแห่งการปกครองขึ้นกับคนและระบบร่วมกัน ต้องสามารถได้ผู้นำหรือผู้ถืออำนาจที่มุ่งทำประโยชน์เพื่อสังคม ประชาชนจำต้องที่มีความเข้าใจ มีลักษณะชีวิตที่เหมาะสมกับระบอบประชาธิปไตยด้วย
            ถ้าการเมืองการปกครองดี เศรษฐกิจ สังคม และด้านอื่นๆ จะพลอยดีตาม ถ้าคนในชาติไม่ปฏิรูปตัวเอง จะมีชาติไหนจะมาช่วยหรือ
29 ตุลาคม 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7660 วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2560)
----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
สิ่งหนึ่งที่โลกไม่เปลี่ยนแปลงคือ โลกแก่งแย่งแข่งขันเรื่อยมา ทางออกสำหรับประเทศไทยคือ ต้องไม่ตกเป้าทำลายของมหาอำนาจ มีสัมพันธ์รอบทิศ สร้างมิตร และสร้างชาติเหมือนสร้างครอบครัว
บรรณานุกรม :
Hoffman, John., Graham, Paul. (2015). Introduction to Political Theory (3rd Ed.). Oxon: Routledge.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก