มุมมองที่แตกต่างระหว่างซาอุฯ กับกาตาร์

รัฐบาลซาอุดิอาระเบียกับกาตาร์ต่างเห็นว่าสิ่งที่อีกฝ่ายกำลังทำคือการคุกคามความมั่นคงแห่งชาติของตน ฝ่ายหนึ่งชี้ว่ากำลังบ่อนทำลายประเทศ อีกฝ่ายโต้ว่าถูกละเมิดอธิปไตย การตัดความสัมพันธ์กาตาร์ที่เริ่มต้นเมื่อต้นเดือนที่แล้วกำลังเข้าสู่หมวดยืดเยื้อ 
มุมมองซาอุฯ :
ขั้วซาอุฯ ยื่นคำขาดให้กาตาร์ปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง 13 ข้อ เช่น ลดความสัมพันธ์กับอิหร่าน ยุติความร่วมมือทางทหารกับตุรกี รวมทั้งปิดฐานทัพตุรกีในกาตาร์ ปิดสื่อ Al Jazeera เลิกสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ชื่อที่เอ่ยถึงได้แก่ กลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) Fateh Al-Sham (Nusra Front) อัลกออิดะห์ IS/ISIL/ISIS ไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติอาหรับ ดำเนินโยบายแนวเดียวกับชาติอาหรับอื่นๆ ทั้งด้านการทหาร การเมือง สังคม เศรษฐกิจ จ่ายค่าชดเชยแก่ผู้เสียชีวิตและผู้สูญเสียทางการเงินจากนโยบายกาตาร์เมื่อหลายปีที่ผ่านมา
แม้ 2 ประเทศมีความร่วมมือหลายอย่าง ในอีกด้านหนึ่งมีความขัดแย้งเช่นกัน เคยตัดสัมพันธ์เมื่อปี 2014 ด้วยเหตุผลกาตาร์สนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในอียิปต์ ครั้งนี้การสนับสนุนกลุ่มสุดโต่งยังคงอยู่ พร้อมกับรายชื่อใหม่ๆ อย่าง IS กับ Fateh Al-Sham

            กาตาร์ตอบเป็นเอกสารแก่ขั้วซาอุฯ (เนื้อหาไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ) รวมความแล้วปฏิเสธข้อเรียกร้อง 13 ข้อ ขั้วซาอุฯ จึงออกแถลงการณ์อีกฉบับ ยืนยันให้กาตาร์ยุติส่งเสริมลัทธิสุดโต่งและการก่อการร้าย การแทรกแซงกิจการภายในของชาติอาหรับ ขอบคุณประธานาธิบดีทรัมป์ที่เห็นด้วยกับการให้กาตาร์ยุติส่งเสริมความสุดโต่งกับการก่อการร้ายโดยทันที
            จุดยืนของแถลงการณ์นี้ไม่ต่างจากจุดยืนที่ประกาศตั้งแต่ต้นเมื่อขั้วซาอุฯ ตัดสัมพันธ์การทูตกาตาร์

เมื่อซาอุฯ “ยิ่งใหญ่ขึ้น” กาตาร์จะ “ยิ่งเล็กลง” :
เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่ารัฐบาลซาอุฯ พยายามจัดระเบียบภูมิภาคตะวันออกลาง โลกมุสลิม เพื่อเป็นพี่ใหญ่ในภูมิภาคกับโลกมุสลิม
ผลจากอาหรับสปริงคือการจากไปของผู้นำหลายประเทศที่มีปากมีเสียง เช่น มูบารักแห่งอียิปต์ กัดดาฟีแห่งลิเบีย (ซัดดัม ไปนานแล้วอาจไม่เกี่ยวกับอาหรับสปริง) อัสซาดยังต้องลุ้นต่อไป จะเห็นได้ว่าผู้นำคนสำคัญเหล่านี้จากไป พร้อมกับที่ประเทศอิรักกับลิเบียกลายเป็นรัฐล้มเหลว ซีเรียยังไม่จบแต่เหลือเพียงซากปรักหักพัง อียิปต์อยู่ได้เพราะพึ่งเงินช่วยเหลือจาก GCC และองค์กรระหว่างประเทศ
กลุ่มประเทศที่ยังอยู่ดีมั่นคงคือกลุ่ม GCC มีซาอุฯ เป็นแกนนำ ส่งเสริมภาวะผู้นำของซาอุฯ โดยปริยาย
ถ้าพิจารณาเฉพาะในกรอบ GCC จะเห็นว่าซาอุฯ เมื่อ “ยิ่งใหญ่ขึ้น” กาตาร์จะ “ยิ่งเล็กลง”

รัฐบาลซาอุฯ อ้างว่ากาตาร์แทรกแซงกิจการภายในเพื่อนบ้าน แต่การที่ซาอุฯ ตั้งเงื่อนไขว่ากาตาร์ต้องดำเนินนโยบายหลายเรื่องตามแนวทางของชาติอาหรับนั้น ถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของกาตาร์หรือไม่ ทำไมรัฐอธิปไตยกาตาร์จำต้องทำตาม

แต่ถ้ามองจากมุมศาสนา มุสลิมทั่วโลกเป็นพี่น้องกัน พี่ใหญ่ย่อมต้องตักเตือนเมื่อน้องเล็กออกนอกลู่นอกทาง
หรืออาจอธิบายว่าการดื้อดึงของกาตาร์ที่เป็นชาติอาหรับเหมือนกัน มีพรมแดนติดกัน อยู่ในกลุ่ม GCC เดียวกัน เป็นอะไรที่รัฐบาลซาอุฯ ทนไม่ได้ ยอมไม่ได้ที่จะให้ประเทศใกล้ชิดขนาดนี้ตีตัวออกห่าง

ถ้ามองในเชิงรุก หากยอมให้กาตาร์คิดเห็นอิสระ แล้วประเทศมุสลิมอีก 50 กว่าประเทศจะเดินตามซาอุฯ หรือไม่ นี่คือผลประโยชน์ข้อสำคัญที่สุด ถ้ามองในเชิงตั้งรับ หากกาตาร์สามารถเป็นตัวของตัวเอง ชาติอาหรับอื่นจะเลียนแบบ นักวิชาการบางคนขยายความว่าเป็นแผนที่ต้องการแบ่งอาหรับ สนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในบาห์เรนกับซาอุฯ ให้ตะวันออกกลางเป็นอีกแบบ
ไม่ว่าจะเป็นแผนเล็กหรือแผนใหญ่ ถ้าวิเคราะห์โดยยึดผลซาอุฯ เป็นที่ตั้ง ผู้ที่เสียประโยชน์มากที่สุดคือซาอุฯ ดังนั้นจึงต้องจัดการอย่างเด็ดขาด ก่อนจะลุกลามบานปลายกว่านี้

มุมของกาตาร์ :
ตั้งแต่ขึ้นครองราชย์เมื่อปี 2013 Sheikh Tamim bin Hamad Al Thani ประมุขกาตาร์ดำเนินนโยบายที่เป็นอิสระ ใช้แนวทางที่เหมาะกับตัวเองมากขึ้นและอาจสวนทางจากชาติอาหรับอื่นๆ
            เมื่อขั้วซาอุฯ เพิ่มแรงกดดัน Sheikh Mohammed bin Abdulrahman Al Thani รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศประกาศว่ากาตาร์จะไม่ยอมจำนนต่อแรงกดดันจากเพื่อนบ้านอาหรับ จะไม่ยอมสูญเสียอิสระในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ
            ถ้ามองในมุมศาสนา ดูเหมือนว่ารัฐบาลกาตาร์จะไม่ค่อยนับถือซาอุฯ ในฐานะพี่น้องมุสลิมเท่าไรนัก

ล่าสุด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่ากาตาร์ไม่ได้บ่อนทำลายประเทศใด การเป็นมิตรกับอิหร่านเพราะเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ทั้งยังแบ่งปันแหล่งน้ำมันด้วยกัน ส่วนการที่มีฐานทัพตุรกีในประเทศก็ไม่ได้รบกวนใคร ตุรกีเป็นสมาชิกนาโตไม่ได้เป็นศัตรูอาหรับ ความขัดแย้งรอบนี้มาจากรัฐบาลซาอุฯ กับ UAE เป็นหัวโจกเล่นงานกาตาร์ หวังให้สูญเสียอธิปไตย บางคนไม่ชอบ Al Jazeera เพราะเป็นสื่ออิสระ ไม่สังกัดฝ่าย พวกที่ควบคุมสื่อจึงไม่พอใจ พร้อมกับเอ่ยถึงสหรัฐว่า “กาตาร์มีสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์กับสหรัฐอย่างแนบแน่น”

Al Jazeera เครื่องมือของรัฐบาลกาตาร์ :
ในช่วงอาหรับสปริง Al Jazeera สื่อที่รัฐบาลกาตาร์ให้งบประมาณสนับสนุนเสนอข่าวการชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่อง หลายรายการถกประเด็นการชุมนุมอย่างกว้างขวาง เป็นสื่อที่ชาวอาหรับแทบทุกคนต้องดูและติดตาม
รายการของ Al Jazeera มักสนับสนุนการประท้วงล้มรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลกัดดาฟีแห่งลิเบียตรงกับนโยบายของชาติอาหรับอื่นๆ แต่ชาติอาหรับที่นำโดยซาอุฯ นั้นไม่ได้สนับสนุนการล้มรัฐบาลบางประเทศ เช่น เยเมน แต่ Al Jazeera กลับสนับสนุนให้ล้มประธานาธิบดี อาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ (Ali Abdullah Saleh) เป็นกรณีที่สวนทางกับรัฐบาลซาอุฯ
            ในการต่อสู้ระหว่างฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) กับอิสราเอลเมื่อปี 2006 และฮามาส (Hamas) กับอิสราเอลเมื่อปี 2008 Al Jazeera เห็นอกเห็นใจฮิซบอลเลาะห์กับฮามาสที่ต้องสู้กับเครื่องบินรถถังของอิสราเอล ชาวอาหรับซึ่งต่อต้านอิสราเอลเป็นทุนอยู่แล้วจึงนิยมชมชอบ เห็นว่าเป็นสื่อของคนอาหรับ Al Jazeera จึงมีอิทธิพลต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ส่งผ่านแนวคิดต่างๆ ต่อชาวอาหรับทั้งมวล

            ไม่เฉพาะต่อชาวอาหรับเท่านั้น Al Jazeera มีอิทธิพลต่อการรับรู้ของคนทั่วโลก โดยเฉพาะชาวตะวันตกต่อสถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง บรรยายความโหดร้ายของรัฐบาลกัดดาฟี ทำให้เห็นว่านาโตควรแทรกแซงลิเบีย กำจัดกัดดาฟี ให้ความชอบธรรมแก่นาโตที่เข้ามาแทรกแซงเพื่อปลดปล่อยพลเรือน
            ด้านรัฐบาลซาอุฯ เห็นความสำคัญของสื่อเช่นกัน ในทศวรรษ 1990 เริ่มมีหนังสือพิมพ์ภาษาอาราบิก จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม MBC หวังดึงดูดผู้ชมจำนวนมาก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่เป็นที่นิยมอย่าง Al Jazeera
            ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ Al Jazeera มีผลต่อความมั่นคงของชาติอาหรับไม่มากก็น้อย มีผลงานเป็นที่ประจักษ์

วิเคราะห์องค์รวม :
บางคนคิดว่าที่สุดแล้วต้องลงเอยด้วยความเด็ดขาด เช่น ต้องปิด Al Jazeera ต้องจับแกนนำภราดรภาพมุสลิมเข้าคุก ความจริงแล้วมีทางออกอื่นๆ เช่น ลดเสนอข่าวที่ซาอุฯ ไม่ชอบ ให้นักเคลื่อนไหวลดกิจกรรม
ส่วนการใช้กำลังทหารต้องรอการอนุมัติจากรัฐบาลสหรัฐ เพราะกาตาร์มีข้อตกลงทางทหารกับสหรัฐ
            แนวนโยบายของซาอุฯ ไม่ต่างจากมหาอำนาจอื่นๆ หลักคิดคือความมั่นคงแห่งชาติของตนสำคัญสุด เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ต้องมีอิทธิพลต่อประเทศอื่น อำนาจอิทธิพลที่ลดลงลดทอนความมั่นคง
            แต่การครอบงำที่รุนแรงจนรับไม่ได้ อาจเป็นเหตุให้ประเทศที่อยู่ใต้ตีตัวออกห่าง เพราะคิดว่าไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว ยิ่งในบริบทที่โลกมีหลายขั้ว และประเทศต่างๆ ใกล้ชิดกันมากขึ้น (ผ่านการแผ่อิทธิพล ความสัมพันธ์ต่อกัน)
            สิ่งที่กาตาร์ต้องการไม่ใช่การถอนตัวออกจาก GCC และไม่เป็นผลดีถ้าทำเช่นนั้น แต่ต้องการอิสระมากกว่านี้ ไม่ใช่รัฐในอาณัติของใครหรือมีฐานะเป็นเพียงจังหวัดหนึ่งของประเทศใด ดังที่กษัตริย์ซาอุฯ เมื่อปี 1935 แจ้งต่อประมุขกาตาร์ว่ากาตาร์เป็นส่วนหนึ่งของรัฐซาอุฯ

            ในกรณีซาอุฯ ต้องยอมรับว่าสมาชิกบางประเทศในอยู่สถานะใกล้เคียงกับกาตาร์ และกำลังจับตาดูว่าพี่ใหญ่จะทำอย่างไร การใช้ไม้อ่อนเกินไปอาจทำให้ชาติอื่นเลียนแบบกาตาร์ ส่วนการใช้ไม้แข็งที่รุนแรงเกินเหตุอาจทำให้ซาอุฯ ต้องจัดการประเทศอื่นๆ อีก เป็นคำถามว่ารัฐบาลซาอุฯ พร้อมรับมือสถานการณ์เช่นนั้นหรือไม่
            จึงต้องนำเรื่องสู่โต๊ะเจรจา ไม่เฉพาะกับกาตาร์ แต่หมายถึงทุกประเทศในกลุ่ม GCC ทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง ถ้าคิดในแง่บวก การปฏิเสธข้อตกลงของกาตาร์เป็นขั้นตอนแรกสู่การเจรจาต่อรอง เพื่อให้ถอยคนละก้าว บ่งชี้ว่าความขัดแย้งจะไม่บานปลายถึงขั้นใช้กำลังทหาร

            บางคนอาจคิดว่าพวกเขาคือพี่น้องมุสลิม เป็นชาวอาหรับเหมือนกัน มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน ปัจจุบันอยู่ร่วมกันในกลุ่ม GCC เรื่องเหล่านี้เป็นความจริง แต่ในมุมมองของประมุข ราชวงศ์ของแต่ละรัฐนั้น รัฐเล็กๆ กังวลความเป็นจ้าวของซาอุฯ ไม่คิดว่าอีกฝ่ายปฏิบัติต่อตนในฐานะพี่น้องมุสลิมอย่างถูกต้อง
            สิ่งที่รัฐเล็กอย่างกาตาร์ต้องการคือร่วมมือกับซาอุฯ บรรดาชาติอาหรับเพื่อต้านภัยคุกคามภายนอก เช่น อิสราเอล แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องสูญเสียอธิปไตย ความเป็นตัวของตัวเองให้แก่ใคร
กรกฎาคม 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7548 วันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2560)
----------------------
ขั้วซาอุฯ ไม่สนใจคำชี้แจงจากกาตาร์ ยืนยันว่าเป็นรัฐอุปถัมภ์ก่อการร้าย แทรกแซงกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้าน บั่นทอนความมั่นคงภูมิภาค ราวกับว่ากาตาร์เป็น “อิหร่าน 2” พร้อมออกมาตรการคว่ำบาตรเศรษฐกิจ แต่การคว่ำบาตรกระทบต่อเอกชนนานาชาติ บรรยากาศการค้าการลงทุนทั่วภูมิภาค อีกประเด็นที่ต้องเอ่ยถึงคือการใช้กำลังซึ่งควรคำนึงผลกระทบที่จะตามมา จะเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยใช้กำลังอีกหรือไม่
บรรณานุกรม:
1. Arab states issue list of demands to end Qatar crisis. (2017, June 23). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/2017/06/arab-states-issue-list-demands-qatar-crisis-170623022133024.html
2. Deal with Qatar once and for all - analysts. (2017, June 4). Gulf News. Retrieved from http://gulfnews.com/news/gulf/qatar/deal-with-qatar-once-and-for-all-analysts-1.2038192
3. Eakin, Hugh. (2017, June 15). The Strange Power of Qatar. The New York Review of Books. Retrieved from http://www.nybooks.com/articles/2011/10/27/strange-power-qatar/
4. Erickson, Amanda. (2017, June 23). Why Saudi Arabia hates Al Jazeera so much. The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/news/worldviews/wp/2017/06/23/why-saudi-arabia-hates-al-jazeera-so-much/
5. Lynch, Marc. (2012). The Arab Uprising: The Unfinished Revolutions of the New Middle East. NY: Publicaffairs.
6. Qatar 'not prepared to change its foreign policy'. (2017, June 9). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/2017/06/qatar-fm-ready-surrender-170608142453812.html
7. READ: Full joint statement of boycotting countries on Qatar crisis. (2017, July 5). Al Arabiya. Retrieved from http://english.alarabiya.net/en/News/gulf/2017/07/05/READ-Full-joint-statement-of-boycotting-countries-on-Qatar-crisis.html
8. Saudi-led group: Qatar not serious about demands. (2017, July 5). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/2017/07/saudi-led-group-qatar-demands-170705144209453.html
9. Saudi, allies trying to undermine Qatar's sovereignty: FM. (2017, July 6). Gulf Times. Retrieved from http://www.gulf-times.com/story/555653/Saudi-allies-trying-to-undermine-Qatar-s-sovereign
10. Ulrichsen, Kristian Coates. (2014). Qatar and the Arab Spring. New York: Oxford University Press.
-----------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก