“หญิงบำเรอ” เรื่องที่จบแล้วแต่ยังไม่จบ
Kang Kyung-wha รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเกาหลีใต้เห็นว่าจำต้องทบทวนข้อตกลงเรื่องหญิงบำเรอที่ทำไว้กับญี่ปุ่น แม้เป็นข้อตกลงที่ระบุว่า “เป็นข้อตกลงสุดท้ายและแก้ไขไม่ได้อีกแล้ว” ทางการเกาหลีใต้ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาตรวจสอบข้อตกลงดังกล่าว
ข้อตกลง “comfort
women accord” ลงนามเมื่อเดือนธันวาคม 2015
ในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดี ปาร์ค กึน-เฮ (Park Geun-hye)
รัฐมนตรี Kang
กล่าวว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ปกป้องสิทธิมนุษยชนของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายอย่างแท้จริง
จึงเห็นว่าอาจต้องขอเจรจาทั้งนี้ขึ้นกับผลการตรวจสอบของคณะกรรมการ
ย้อนหลังตั้งแต่ช่วงหาเสียง
มุน แจ-อิน (Moon Jae-in) ประกาศว่าจะทบทวนข้อตกลงใหม่
เห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นไม่พยายามมากพอ หากญี่ปุ่นตั้งใจกว่านี้สัมพันธ์ 2
ประเทศย่อมจะดีขึ้น ไม่นานหลังรับตำแหน่ง ประธานาธิบดีมุนแสดงท่าทีว่าต้องการทบทวนข้อตกลงเรื่องหญิงบำเรอ
และอยากเจรจาอีก ทั้งยังตั้งข้อสงสัยว่าทำไมรัฐบาลชุดก่อนจึงรีบด่วนทำข้อตกลง ทำไมต้องเป็นข้อตกลงสุดท้ายและแก้ไขไม่ได้อีก
อะไรคือหญิงบำเรอ :
หญิงบำเรอ (comfort
women) หรือที่รู้จักในภาษาญี่ปุ่น “Jugun Ianfu” (หญิงบำเรอกองทัพ -“military comfort women”)
ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาล เดิมคือหญิงญี่ปุ่นที่มาด้วยความสมัครใจ
แต่เมื่อสงครามขยายตัว ทหารมากขึ้น ความต้องการหญิงบำเรอเพิ่มขึ้น หันไปหาสาวต่างชาติด้วยวิธีการต่างๆ
หลายคนไม่ได้มาด้วยสมัครใจ ถูกล่อลวง เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1930-1940
ขณะญี่ปุ่นเป็นเจ้าอาณานิคมหลายแห่งและช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
หญิงเหล่านี้มาจากหลายประเทศ ส่วนใหญ่เป็นคนเกาหลีกับจีน
ไม่มีผู้ใดทราบจำนวนหญิงบำเรอที่แท้จริง นักประวัติศาสตร์บางคนประเมินว่าน่าจะอยู่ที่
100,000-200,000 คน แต่ฝ่ายญี่ปุ่นเห็นว่าอาจมีเพียง 20,000 คน
ทั้งๆ ที่มีหญิงบำเรอไม่น้อย
เรื่องราวของหญิงบำเรอไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง บางคนพยายามปกปิดเรื่องราวของตนเอง
ส่วนใหญ่อายจนไม่อยากเล่าความจริง ครอบครัวไม่เอ่ยถึง ร้อยละ 90 อยู่ในสภาพไม่สามารถมีบุตรอีกต่อไป
เกิดบาดแผลทางจิตใจ ต้องทนใช้ชีวิตที่เหลืออย่างอับอาย สังคมไม่ยอมรับ
โดยเฉพาะสาวเกาหลีเมื่อกลับถึงบ้านเกิดตัวเองจะต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว อดสู การเป็นหญิงบำเรอได้ทำลายชีวิตเธอทั้งชีวิต
ในปี 1990
ขบวนการสิทธิสตรีต่างๆ ในเกาหลีใต้เคลื่อนไหวอย่างจริงจัง Yun Chung Ok (หรือ Yoo Jong Ok) อาจารย์จาก Ehwa Women’s
University ร่วมกับกลุ่มคริสเตียนสังกัด Korean Church
Women’s Alliance เป็นแกนนำต่อสู้เพื่อหญิงบำเรอ
ประธานาธิบดี Roh Tae-woo
คือผู้นำเกาหลีใต้คนแรกที่หยิบยกประเด็นนี้หารือกับรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อพฤษภาคม 1990
ในช่วงแรกรัฐบาลญี่ปุ่นปฏิเสธว่ากองทัพไม่ได้เกี่ยวข้องจัดหาหญิงบำเรอโดยตรง
แต่แล้วหนังสือพิมพ์ Asahi Shimbun ฉบับวันที่ 11
มกราคม 1992 ของญี่ปุ่นตีแผ่หลักฐานว่ากองทัพญี่ปุ่นมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดหาและให้บริการหญิงบำเรอ
ข้อมูลเหล่านี้มาจากการศึกษาของ Yoshimi Yoshiaki นักประวัติศาสตร์ชาวญี่ปุ่น
จนรัฐบาลต้องยอมรับว่ากองทัพมีส่วนเกี่ยวข้อง
การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมในตอนแรกให้ความสำคัญกับการแสวงหาความจริง
ต่อมาเปลี่ยนเป็นเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ญี่ปุ่นขอโทษและจ่ายค่าชดเชย และกลายเป็นนโยบายของรัฐบาลเกาหลีใต้จนถึงปัจจุบัน
พร้อมกับขยายการหาหลักฐานจากหญิงบำเรอประเทศอื่นๆ
ประเด็นหญิงบำเรอแม้ผ่านมาแล้วหลายทศวรรษยังคงตอกย้ำอย่างต่อเนื่องจากเกาหลีใต้กับจีน
โยงถึงพฤติกรรมของรัฐบาลทหารญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คอยย้ำเตือนว่าญี่ปุ่นเป็นพวกที่ชอบรุกรานเพื่อนบ้านเอเชียด้วยกัน
เป็นพวกจักรวรรดินิยมไม่ต่างจากจักรวรรดินิยมอื่นๆ
ทุกรัฐบาลหวังใช้ “หญิงบำเรอ” เพื่อคะแนนนิยม
:
ในช่วงหาเสียง
ปาร์ค กึน-เฮ (Park Geun-hye) ชูประเด็นหญิงบำเรอ
พยายามชี้ว่าผู้สมัครฝ่ายตรงข้ามไม่จริงใจแก้ปัญหา อาจด้วยเหตุผลที่เป็นผู้หญิงด้วย
จึงได้ความนิยมจากประเด็นหญิงบำเรอไม่น้อย
เมื่อชนะเลือกตั้ง
ประธานาธิบดีปาร์คแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อรัฐบาลอาเบะ ถึงขนาดไม่ยอมนั่งร่วมโต๊ะกับผู้นำญี่ปุ่น
ในสมัยนั้นภาพความระหองระแหงระหว่างผู้นำ 2 ประเทศปรากฎชัดเจน จนประธานาธิบดีบารัก
โอบามาร้อนตัว หวังให้ 2 ฝ่ายเข้าหากัน อย่างน้อยต้องมีมิตรภาพมากพอเพื่อช่วยกันต้านจีน
ประธานาธิบดีโอบามาออกโรงด้วยตัวเองดึงผู้นำเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นมานั่งบนโต๊ะเดียวกัน
โดยมีโอบามาคั่นกลาง
ในสายตาของนักต่อสู้เพื่อหญิงบำเรอย่อมพอใจกับภาพดังกล่าว
ในที่สุด
จะด้วยความพยายามของรัฐบาลสหรัฐหรืออะไรก็แล้วแต่ 2 ฝ่ายร่วมเจรจา แต่ ภาคประชาสังคมที่เคยสนับสนุนกลับกลายเป็นแรงต้าน
ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลง หญิงที่เคยเป็น “หญิงบำเรอ” ที่ยังมีชีวิตราว 40
คนรวมตัวกันต่อต้าน ประท้วงรัฐบาลปาร์คที่ดื้อดึงไม่ฟังเสียงท้วงติง ด้านรัฐบาลปาร์คยืนยันว่าเป็นข้อตกลงที่ดีที่สุดแล้ว
กลายเป็นว่าฝ่ายต่อสู้เพื่อหญิงบำเรอหันมาต่อต้านรัฐบาลปาร์ค
จนในที่สุดประธานาธิบดีปาร์คติดคดีคอร์รัปชันและพ้นจากตำแหน่ง
หากย้อนวิเคราะห์ตั้งแต่ต้นจนจบ
ให้ข้อคิดสำคัญว่า ปาร์ค กึน-เฮ เริ่มต้นด้วยการแสดงตัวว่าตนเองจริงจังและจริงใจต่อหญิงบำเรอมากที่สุด
และชนะการเลือกตั้ง เป็นประธานาธิบดีหญิงที่แสดงท่าทีรังเกียจผู้นำญี่ปุ่น
แต่ที่สุดแล้วกลับไปลงนามข้อตกลงที่ฝ่ายหญิงบำเรอไม่เห็นด้วย คำถามสำคัญคือ ก่อนลงนามทำไมรัฐบาลปาร์คไม่ฟังเสียงคัดค้านทั้งที่แสดงท่าทีอยู่ฝ่ายหญิงบำเรอเรื่อยมา
ผลสำรวจจาก Gallup
Korea เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2017 ชาวเกาหลีร้อยละ 70
เห็นว่าควรเจรจาใหม่ ร้อยละ 20 เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย
ตัวเลขผู้เห็นควรเจรจาใหม่รอบนี้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับผลสำรวจเมื่อกันยายน 2016
ที่ร้อยละ 63 เห็นว่าควรเจรจาใหม่
ถ้ายึดความต้องการของประชาชน
ผลสำรวจย่อมเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลชุดปัจจุบันของ มุน แจ-อิน ต้องเปิดเจรจาใหม่
รัฐบาลมุนเริ่มกระบวนทบทวนข้อตกลงหญิงบำเรอ
รับฟังความคิด ข้อท้วงติงต่างๆ เห็นว่าข้อตกลงที่ทำสมัยรัฐบาลปาร์คไม่ดีพอ
สิ่งนี้ย่อมได้รับคำสรรเสริญจากฝ่ายหญิงบำเรอ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แต่สุดท้ายจะเป็นเหมือนรัฐบาลชุดก่อนหรือไม่
เรื่องนี้ต้องติดตามต่อไปเหมือนที่ติดตามปาร์ค กึน-เฮ
แรงกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศ :
นักวิชาการบางคนคิดว่าข้อตกลงเกิดจากแรงผลักดันของรัฐบาลโอบามา
เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชีย (Pivot to Asia) รัฐบาลอาเบะพยายามผลักดันเช่นกัน
ส่วนหนึ่งเพื่อเอาใจรัฐบาลโอบามา แสดงตัวว่าญี่ปุ่นมีบทบาทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
แอชตัน คาร์เตอร์ (Ashton
Carter) รัฐมนตรีกลาโหมสมัยโอบามากล่าวว่าเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นจะต้องปรับความสัมพันธ์
เพื่อเกิดความร่วมมือ 3 เส้ากับสหรัฐ ต้านภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ
“สหรัฐอเมริกาตระหนักถึงประเด็นอ่อนไหวทางประวัติศาสตร์ในความสัมพันธ์นี้ แต่เชื่อในผลดีที่ได้จากความร่วมมือ
โอกาสที่มีต่อ 2 ประเทศพันธมิตรและต่อภูมิภาคทั้งหมด”
ผลดีที่ได้นั้นมีน้ำหนักมากกว่าความตึงเครียดในอดีตและการเมืองปัจจุบัน
การปรับแก้ข้อตกลงจะส่งผลต่อความสัมพันธ์เกาหลีใต้-ญี่ปุ่นหรือไม่เป็นเรื่องน่าติดตาม
เช่นเดียวกับที่ต้องติดตามท่าทีรัฐบาลทรัมป์ต่อสถานการณ์ดังกล่าว
และประเด็นการต้านจีนที่ ณ ช่วงนี้ยังรัฐบาลทรัมป์แสดงท่าทีเป็นมิตร
ความสามารถของ NGOs :
เหตุการณ์หญิงบำเรอเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่
2 หรือกว่า 70-80 ปีมาแล้ว แต่สังคมเริ่มสนใจเมื่อทศวรรษ 1990 จากการเคลื่อนไหวขององค์การภาคประชาชน
(NGOs) กลายเป็นประเด็นระดับประเทศ กลายเป็นหัวข้อที่นักการเมืองต้องเอ่ยถึง
มีนโยบายสนับสนุน
จนในที่สุดเกิดการเจรจาระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
แม้การเจรจาจะยืดเยื้อยาวนาน
ทุกวันนี้บางคนเห็นว่าญี่ปุ่นยังไม่ชดใช้มากพอ แต่อย่างน้อยประเด็นหญิงบำเรอกลายเป็นเรื่องที่สังคมเอ่ยถึง
ให้แรงใจ แสดงความเสียใจ และให้ความช่วยเหลือแก่หญิงเหล่านี้มาแล้วหลายรอบ
จึงต้องยอมรับว่าองค์การภาคเอกชนที่เคลื่อนไหวช่วยเหลือหญิงบำเรอมีฝีมือ
เป็นอีกกรณีตัวอย่างว่าตัวแสดง (actor) NGOs
สามารถมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เฉกเช่นกลุ่มอื่นๆ อย่างสภากาชาด (Red
Cross) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) กรีนพีซ (Greenpeace)
“หญิงบำเรอ” เรื่องที่จบแล้วแต่ยังไม่จบ :
ฝ่ายญี่ปุ่นมักพูดว่าหญิงบำเรอเป็นเรื่องเก่า รัฐบาลญี่ปุ่นในอดีตเคยขอโทษ
แสดงความเสียใจอย่างเป็นทางการ เมื่อบรรลุข้อตกลงรัฐบาลอาเบะจึงถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง
ไม่ต้องขอโทษอีกแล้ว ต่อจากนี้ควรเอ่ยถึงเรื่องที่ 2 ฝ่ายมีผลประโยชน์ร่วมกัน คิดถึงอนาคตมากกว่ายึดติดอดีต
การปรับแก้ครั้งนี้หากเกิดขึ้นจริงจะเป็นการปรับแก้เพียงครั้งเดียวแล้วได้ข้อยุติหรือไม่
สามารถตรวจสอบจากท่าทีของฝ่ายหญิงบำเรอ
หรือจะกลายเป็นประเด็นเจรจายืดยาวแบบไม่รู้จบ หรือจนกว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่ ฯลฯ
“หญิงบำเรอ เรื่องที่จบแล้วแต่ยังไม่จบ” จึงเป็นเช่นนี้
23 กรกฎาคม 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7562 วันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2560)
--------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
รัฐบาลอาเบะกับรัฐบาลปาร์คบรรลุร่างข้อตกลงแก้ไขข้อพิพาทเรื่อง
“หญิงบำเรอ” แนวโน้มความสัมพันธ์ทวิภาคีจะดีขึ้น
เกิดคำถามว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะกระทำเช่นนี้กับประเทศอื่นๆ
ที่มีปัญหาหญิงบำเรอหรือไม่
นำสู่การวิเคราะห์ว่าอะไรคือเหตุผลเบื้องหลังของข้อตกลง เพื่อต้านจีนใช่หรือไม่
นักการเมืองญี่ปุ่นยังเป็นพวกทหารนิยมใช่หรือไม่
คำตอบเหล่านี้จะนำสู่การคาดการณ์การเผชิญหน้าระหว่างจีนกับขั้วสหรัฐในอนาคตอันใกล้นี้
หญิงบำเรอคือสตรีหลายประเทศที่ถูกบังคับให้มาปรนเปรอความสุขทางเพศแก่ทหารญี่ปุ่น
เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องราวของหญิงบำเรอถูกนำมาตีแผ่จากฝ่ายเกาหลีใต้
จีน กลายเป็นประเด็นโจมตีรัฐบาลฝ่ายขวาญี่ปุ่น
เชื่อมโยงกับนโยบายความมั่นคงที่ญี่ปุ่นต้องการมีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาค
เชื่อมโยงกับความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2
บรรณานุกรม:
1. 70 percent of people call for renegotiation of
Seoul-Tokyo deal on 'comfort women': survey. (2017, February 17). Yonhap.
Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/national/2017/02/17/0301000000AEN20170217006000315.html
2. Ahn, Christine. (2014, June 26). Seeking truth for
'comfort women'. Asia Times. Retrieved from http://www.atimes.com/atimes/Korea/KOR-02-260614.html
3. Imai, Takashi. (2015, April 8). Carter: U.S.
rebalance in Asia to enter next phase. The Japan News. Retrieved
http://the-japan-news.com/news/article/0002064436
4. Kim, Mikyoung. (2015, January 12). The US the big winner
in ‘comfort women’ agreement. East Asia Forum. Retrieved from http://www.eastasiaforum.org/2016/01/07/the-us-is-the-big-winner-in-comfort-women-agreement/
5. Manyin, Mark E., Nikitin, Mary Beth D., Chanlett-Avery,
Emma., Cooper, William H., & Rinehart, Ian E. (2014, June 24). U.S.-South
Korea Relations. Congressional Research Service. Retrieved from
https://www.fas.org/sgp/crs/row/R41481.pdf
6. Sandler, Stanley (Ed.). (2001). Comfort
Women. In World War II in the Pacific: An Encyclopedia. (pp. 259-263).
New York : Garland Publishing, Inc.
7. Seoul to give 'comfort women' deal a second look. (2017,
June 24). Nikkei Asian Review. Retrieved from http://asia.nikkei.com/Politics-Economy/International-Relations/Seoul-to-give-comfort-women-deal-a-second-look
8. Seybolt, Peter J. (2009). Anti-Japanese War, 1937–1945.
In Encyclopedia of Modern China (4 volume set, pp.36-40). USA: Charles
Scribner’s Sons.)
9. South Korean paper says special government panel will
review 2015 ‘comfort women’ pact with Japan. (2017, July 19). The Japan Times.
Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2017/07/19/national/politics-diplomacy/south-korean-paper-says-special-government-panel-will-review-2015-comfort-women-pact-japan/#.WW_6mhV97IU
10. S. Korea-U.S. alliance stands at 'critical juncture' amid
threats from N.K.. (2017, July 20). The Korea Times. Retrieved from
http://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2017/07/356_233255.html
11. Yoshida, Reiji. (2015, March 18). Japanese historians
seek revision of U.S. textbook over ‘comfort women’ depiction. The Japan
Times. Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2015/03/18/national/history/japanese-historians-seek-revision-of-u-s-textbook-over-comfort-women-depiction/#.VQlmj9KUfmA
-----------------------------