การฉวยประโยชน์กับการบ่อนทำลายประชานิยมของทรัมป์

แนวทางหนึ่งที่โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) หาเสียงจนชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเมื่อปลายปี 2016 คือ ประชานิยม ตัวอย่างที่เด่นชัด เช่น ชูประเด็นแรงงานต่างด้าว ชี้ว่าแย่งงานคนอเมริกัน ทำให้ค่าจ้างลด เป็นตัวก่ออาชญากรรม สร้างปัญหายาเสพติด เสนอนโยบายกีดกันแรงงานต่างด้าวที่รุนแรง ทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานด้อยฝีมือฝากความหวังกับทรัมป์เหตุหนึ่งที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งจึงมาจากการหาเสียงโดยแนวทางประชานิยม ดูเหมือนว่าแนวทางนี้เฟื่องฟูขึ้น
เมื่อชนะเลือกตั้ง ประธานาธิบดีทรัมป์ดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้ ประกาศสร้างกำแพงกั้นพรมแดนสหรัฐ-เม็กซิโก จะให้เม็กซิโกเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายสร้างกำแพง ขับไล่แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายออกจากประเทศ
แต่เมื่อบริหารประเทศซักพักหนึ่ง รัฐบาลทรัมป์เริ่มลดทอนนโยบาย เช่น ประกาศจะขับไล่แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเฉพาะพวกที่ก่ออาชญากรรมเท่านั้น มีเพียงไม่กี่คน ในขณะที่ออกกฎหมายให้แรงงานต่างด้าวเหล่านี้กลายเป็นคนเข้ามาผิดกฎหมายที่ทางการยินยอม
ส่วนนโยบายสร้างกำแพงกั้นตลอดแนวพรมแดนนั้น ผู้เชี่ยวชาญหลายคนแสดงความเห็นว่าเป็นนโยบายที่เปล่าประโยชน์ ไม่คุ้มค่า และไม่คิดว่าจะสามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากเม็กซิโก รวมความแล้วกำแพงกั้นแนวพรมแดนไม่น่าจะทำได้ กลายเป็นประเด็นค้างคาในสภา

ค่าเงินหยวนเป็นอีกประเด็นที่ควรเอ่ยถึง ในช่วงหาเสียงทรัมป์โยนความผิดแก่จีนเรื่องการขาดดุลการค้า โยงว่าเป็นเหตุชาวอเมริกันตกงาน หากสามารถแก้ปัญหานี้ อาจเพิ่มการจ้างงานในประเทศนับล้านตำแหน่ง
            เรื่องค่าเงินหยวนไม่ใช่เรื่องใหม่ รัฐบาลสหรัฐชุดก่อนๆ ยกประเด็นนี้เช่นกัน ในขณะที่รัฐบาลจีนปฏิเสธเรื่อยมา ในทางวิชาการเป็นประเด็นถกเถียงว่าเงินหยวนอ่อนค่าเกินไปหรือไม่ รัฐบาลจีนมีสิทธิ์ทำเช่นนี้หรือไม่ เพราะหลายประเทศใช้นโยบายนี้เช่นกัน และที่สำคัญคือปัจจัยค่าเงินหยวนมีผลต่อการตกงานมากเพียงไร
            ไม่ถึง 2 เดือนหลังรับตำแหน่ง ประธานาธิบดีทรัมป์ยอมรับว่าจีนไม่ได้บิดเบือนค่าเงินหยวน กลายเป็นว่าบัดนี้รัฐบาลสหรัฐมีข้อสรุปชัดแล้วว่าจีนไม่ได้บิดเบือน ค่าเงินหยวนไม่เป็นต้นเหตุขาดดุลการค้าอย่างที่ทรัมป์กล่าวหา เช่นนี้แล้วตำแหน่งงานนับล้านที่ทรัมป์คาดว่าจะได้จึงมลายหายไปในอากาศทันที

          รวมความแล้วเมื่อบริหารประเทศจริง นโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์เริ่มเข้าได้กับระบอบเดิม (ตรงข้ามกับช่วงหาเสียงที่ต่อต้านระบอบเดิมอย่างรุนแรง) นโยบายแรงงานต่างด้าวกลายเป็นการเอื้อระบอบเดิมมากยิ่งขึ้น (ให้คนเข้าเมืองผิดกฎหมายกลายเป็นเรื่องที่รัฐยอมรับ) หลายนโยบายที่หาเสียงไม่สามารถปฏิบัติได้จริง
เป็นข้อสรุปว่าทรัมป์ใช้แนวทางประชานิยมเพื่อชนะเลือกตั้ง แต่เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วกลับไปเข้ากับระบอบเดิม อยู่ในโลกแห่งความจริง การจะพิจารณาว่าทรัมป์ส่งเสริมประชานิยมหรือระบอบอำนาจเก่าจึงขึ้นกับผลลัพธ์สุดท้าย
แนวทางประชานิยมเป็นเพียงเครื่องมือช่วยทรัมป์เข้าถึงอำนาจของระบอบเดิมเท่านั้น

ข้ออ้างทำลายทุกหลักการ ทุกเหตุผล :
            แนวนโยบายของทรัมป์ไม่เพียงทำลายระบอบเสรีประชาธิปไตยเท่านั้น ถ้าลงรายละเอียดปลีกย่อยคือทำลายระบบสื่อมวลชน เสียงของคนข้างน้อย
            ทันทีที่รับตำแหน่ง ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่าพวกนักข่าวเป็น “มนุษย์ที่อสัตย์มากที่สุดในโลก" ท่ามกลางการถกเถียงจำนวนผู้เข้าร่วมงานพิธีรับตำแหน่ง ประธานาธิบดีทรัมป์ชี้ว่าสื่อนำเสนอข่าวบิดเบือนว่ามีผู้เข้าร่วมน้อยกว่าสมัยประธานาธิบดีโอบามาเมื่อปี 2009 ในขณะที่สื่อแสดงหลักฐานละเอียดยิบ
            ภายใต้แนวทางประชานิยม ประธานาธิบดีทรัมป์บริหารประเทศและทำการใดๆ โดยอ้างประชาชน เพื่อประชาชน เช่น เมื่อสื่อเสนอข่าวลบต่อรัฐบาล ทรัมป์ไม่รอช้าที่จะพูดว่าสื่อส่วนใหญ่ไม่ได้นำเสนอข่าวเพื่อประชาชน แต่เพื่อผลประโยชน์พิเศษและทำกำไรจากข่าว “สื่อเป็นศัตรูต่อชาวอเมริกัน" เป็นส่วนหนึ่งของระบอบอำนาจเก่า
และยังทำลายระบอบอื่นๆ ทั้งระดับประเทศและนานาชาติ เช่น การค้าเสรี ภายใต้เหตุผลหลักเพียงข้อเดียวคือเพื่อประชาชน หรือ America First คำถามคือประชาชนได้ประโยชน์จริงหรือไม่ ประโยชน์ที่ได้ยั่งยืนหรือไม่ การทำลายระบอบเสรีประชาธิปไตย การค้าเสรีเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษมากกว่ากัน

ผลเสียจากขอให้เชื่อผู้นำ (ประชานิยม) เท่านั้น :
            จะเห็นว่าทรัมป์ใช้หลัก "ขอให้เชื่อผู้นำ" สิ่งที่ผู้นำพูดถูกต้องเสมอ แม้จะขัดแย้งกับแนวคิด แหล่งข้อมูลอื่นๆ หลักฐานที่ปรากฏ
            นักวิเคราะห์บางคนวิพากษ์ว่ากรณีเรื่องดักฟังเป็นอีกครั้งที่ทรัมป์ใช้วิธียืนยัน “ความจริงอีกชุด” (alternative facts) ที่สวนทางกับข้อมูลหลักฐาน แต่เรื่อง “ความจริงอีกชุด” นับวันจะยิ่งหมดความน่าเชื่อถือ ตั้งแต่เกิดประเด็นถกเถียงจำนวนผู้เข้าร่วมพิธีสาบานรับตำแหน่งประธานาธิบดี
            ถ้าคิดเข้าข้างทรัมป์ ความผิดพลาดในอดีตไม่ใช่ข้อสรุปว่าทรัมป์เชื่อถือไม่ได้อีกแล้วในทุกเรื่อง แต่ละประเด็นยังต้องพิจารณาตามข้อมูลหลักฐานที่น่าเชื่อถือต่อไป

            กรณีการลักลอบตรวจสอบติดตามเป็นอีกกรณีที่บ่งบอกคุณลักษณะความเป็นทรัมป์ว่า “เรื่องที่ทรัมป์เห็นว่าถูกคือถูก เรื่องที่เห็นว่าผิดคือผิด” แม้คณะกรรมาธิการด้านการข่าวของทั้ง 2 สภา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง FBI NSA กระทรวงยุติธรรมจะแถลงอย่างเป็นทางการว่าประธานาธิบดีโอบามาไม่ได้สั่งการ แต่ทรัมป์ยังยืนยันเช่นนั้น ไม่สนใจว่าใครจะอธิบายชี้แจงอย่างไร ทั้งยังพยายามพูดเบี่ยงประเด็นให้คนฟังเห็นว่าเขาเท่านั้นที่ถูก ที่เหลือผิดหมด

            ไม่เพียงเท่านั้นประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า ตนเป็นคนที่สามารถ “คาดเดา” เหตุการณ์ได้อย่างแม่นยำ โดยไม่จำต้องรับรู้ข้อเท็จจริงก่อนตัดสินใจ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นคนที่มีสัญชาติญาณดีเยี่ยม และมักเป็นฝ่ายถูกจากการใช้สัญชาติญาณ
            สหรัฐเป็นสังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร ใช้สถิติวิเคราะห์ทุกอย่าง (ดังตัวอย่างรายการกีฬาที่ผู้ดำเนินรายการสามารถรายงานสถิติต่างๆ อย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์ เช่น นักบาสเกตบอลคนหนึ่งจะชู้ตลูกโทษ จะพูดทันทีว่าสถิติการชู้ตเป็นอย่างไร) ทรัมป์พูดตรงไปตรงมาว่าท่านให้ความสำคัญกับสัญชาตญาณมากกว่าข้อมูลข้อเท็จจริง จะตัดสินใจโดยยึดสัญชาตญาณตนเอง อันที่จริงแล้ว การใช้สัญชาตญาณไม่ใช่เรื่องผิด มนุษย์ทุกคนมีและใช้เป็นประจำ แต่จะตัดสินทุกเรื่องโดยใช้สัญชาตญาณไม่สนใจข้อมูลกับข้อโต้แย้งหรือ
            ในอีกมุมหนึ่ง เป็นไปได้หรือไม่ว่าเป็นเพียงวิธีอวดอ้างว่าตนเหนือกว่าคนอื่นๆ อ้างว่าทุกอย่างที่ตนเชื่อนั้นถูก และจะยืนยันอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่สนใจว่าขัดแย้งกับข้อมูลหรือความเห็นอื่นหรือไม่

ความหวังใหม่ (อีกสักครั้ง) :
ในทางวิชาการถกเถียงกันมากว่าอะไรคือประชานิยม มีลักษณะอย่างไร วิธีการอย่างไร โดยที่ยังไม่สามารถได้ข้อสรุปที่ยอมรับทั่วไป การที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้ใช้แนวทางประชานิยมไม่ได้คิดว่าตนต้องทำตามทฤษฏีหรือไม่ บริบทของแต่ละสังคมและในแต่ละช่วงเวลาแตกต่างกัน เป้าหมาของผู้รณรงค์แตกต่าง นักวิชาการบางคนอธิบายว่าเกิดประชานิยมกับประชานิยมใหม่ (neopopulism)
การศึกษาควรเน้นว่าอะไรคือเป้าหมายกับแนวทางของผู้รณรงค์ประชานิยม การอธิบายตีความคำถามเหล่านี้จะเป็นประโยชน์มากกว่า

            การเคลื่อนไหวของพวกประชานิยมตั้งอยู่บนรากฐานความไม่พอใจอย่างยิ่งของประชาชนต่อระบอบการปกครองเดิม หลังผ่านมาแล้วหลายรัฐบาลจากหลายพรรค แต่ชีวิตความเป็นอยู่ไม่ได้ดีขึ้นตามคำมั่นสัญญา เมื่อมีผู้นำรณรงค์ต่อต้านระบอบอำนาจเก่า กลายเป็นความหวังใหม่ของประชาชนเหล่านี้
            การเกิดขึ้นและการดำรงอยู่ของพวกประชานิยมจึงขึ้นกับความสามารถทำให้ประชาชนรู้สึกมีหวัง ฝากอนาคตของตนไว้กับระบอบประชานิยม
            หากการเคลื่อนไหวประสบผลสำเร็จ ไม่ได้ประกันว่าประชาชนจะได้รับสิ่งที่ต้องการ เพราะผู้นำกลุ่มอาจผันตัวเป็นพวกเดียวกับระบอบอำนาจเดิม อาจสถาปนาตัวเองเป็นระบอบอำนาจที่ทำเพื่อตัวเอง หรือปฏิรูปด้วยความตั้งใจจริงแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะขึ้นกับหลายปัจจัยทั้งภายในภายนอก อันรวมถึงประชาชนที่เรียกร้องการเปลี่ยนด้วย
            อีกกรณีที่เป็นไปได้คือ สังคมเกิดกลุ่มอำนาจใหม่ ชนชั้นอำนาจใหม่นี้อาศัยประชานิยมเป็นจุดเริ่มเพื่อเข้าถึงอำนาจการเมือง คำว่าประชานิยมของการเคลื่อนไหวจึงเป็นเพียงกลยุทธ์หาเสียงทางการเมืองเท่านั้น

          ลักษณะชีวิตของผู้รณรงค์จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวด ต้องมั่นใจว่าเขากำลังทำเพื่อประชาชนจริงๆ อีกทั้งประชาชนต้องพร้อมปฏิรูปตนเองด้วย เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จ
            คำปราศรัยที่บอกว่าต้องการทำเพื่อประชาชนฟังดูดี บางครั้งเป็นเช่นนั้นจริง แต่บางกรณีไม่ใช่ จึงไม่สามารถสรุปง่ายๆ ว่าถ้ามีใครสักคนหนึ่งลุกคนมาชูนโยบายประชานิยม สุดท้ายแล้วประชาชนจะได้รับสิ่งดี อาจกลายเป็นหนีเสือปะจระเข้
            ปัญหาใหญ่เพราะประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจทางการเมือง ถูกชี้นำง่าย ประชาชนด้วยกันขาดการรวมตัว หวังพึ่งอาศัยการนำจากบุคคลที่ไม่รู้จักมากพอ ไม่ว่าปากจะยอมรับหรือไม่
18 มิถุนายน 217
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7527 วันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2560)
-------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง
การรณรงค์ประชานิยมแต่ละครั้งมีข้อดี-ข้อเสียขึ้นกับแง่มุมมอง บางครั้งมีข้อดีหลายข้อ บางครั้งมีข้อเสียมากกว่า ทั้งนี้ขึ้นกับการรณรงค์แต่ละครั้ง โดยรวมแล้วข้อดีคือเป็นอีกช่องทางของประชาชน ช่วยให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ส่วนข้อเสียคือเป็นการทำลายประชาธิปไตย ไม่ต่างจากระบอบเดิมที่ไม่ได้ทำเพื่อประชาชนจริงๆ
พอจะสรุปได้ว่า “ประชานิยม” คือ การเคลื่อนไหวทางการเมือง พยายามดึงประชาชนเข้ามาเป็นแนวร่วม เพื่อต่อต้านระบอบเก่า อาจเป็นระบอบการเมือง สังคม เศรษฐกิจ บางเรื่องบางที่เป็นสาเหตุทำให้ประชาชนบางกลุ่มไม่พอใจอย่างยิ่ง แนวทางนี้กำลังท้าทายระบอบการเมืองเศรษฐกิจสังคมปัจจุบัน และจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในศตวรรษที่ 21 นี้

บรรณานุกรม:
1. Albertazzi, Daniele., McDonnell, Duncan. (Editors). (2008). Twenty-First Century Populism: The Spectre of Western European Democracy. New York: PALGRAVE MACMILLAN.
2. Buncombe, Andrew. (2016, May 2) Donald Trump accuses China of 'raping' the US with its trade policy. The Independent. Retrieved from http://www.independent.co.uk/news/world/americas/us-elections/donald-trump-accuses-china-of-raping-the-us-with-its-trade-policy-a7009946.html
3. Davis, Julie Hirschfeld., Rosenberg, Matthew. (2017, January 21). With False Claims, Trump Attacks Media on Turnout and Intelligence Rift. The New York Times. Retrieved from https://www.nytimes.com/2017/01/21/us/politics/trump-white-house-briefing-inauguration-crowd-size.html
4. Denyerm, Simon. (2017, January 25). Trade trumps national security in Trump’s worldview. That’s really bad news for China. The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/world/national-security/president-trump-is-planning-to-sign-executive-orders-on-immigration-this-week/2017/01/24/aba22b7a-e287-11e6-a453-19ec4b3d09ba_story.html
5. Johnson, Jenna., Gold, Matea. (2017, February 17). Trump calls the media ‘the enemy of the American People’. The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/news/post-politics/wp/2017/02/17/trump-calls-the-media-the-enemy-of-the-american-people/
6. Scherer, Michael. (2017, March 23). Can President Trump Handle the Truth? Time. Retrieved from http://time.com/4710614/donald-trump-fbi-surveillance-house-intelligence-committee/?xid=homepage
7.  Shirk, Susan L. (2007). China: Fragile Superpower: How China's Internal Politics Could Derail Its Peaceful Rise. New York: Oxford University Press.
8. Transcript: Donald Trump Expounds on His Foreign Policy Views. (2016, April 26). The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2016/03/27/us/politics/donald-trump-transcript.html
9. Trump Suggests He Doesn't Need 'Facts' Because 'I'm A Very Instinctual Person'. (2017, March 23). Inquisitr. Retrieved from http://www.inquisitr.com/4085289/trump-suggests-he-doesnt-need-facts-because-im-a-very-instinctual-person/
-----------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก