ทรัมป์ “ผู้คาดเดาไม่ได้” หรือ “ผู้พูดเท็จเป็นนิจ”
ในช่วง
100 วันของตำแหน่งประธานาธิบดี ความเป็น โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald
Trump) เปิดออกสู่สายตาชาวอเมริกันและทั่วโลก หลายคนชอบ
หลายคนไม่ชอบ ถ้าดูจากโพลความนิยมของประธานาธิบดีทรัมป์ที่น้อยอยู่แล้วตั้งแต่ต้น มีแนวโน้มลดลงอีก
ต้นเหตุหนึ่งที่บั่นทอนคะแนนนิยมและมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือนโยบายต่างประเทศที่เปลี่ยนกลับไปกลับมา
(flip-flop) ไม่ตรงกับที่หาเสียง
กลยุทธ์ “คาดเดาไม่ได้” นโยบายที่กลับไปกลับมา
:
ในช่วงหาเสียงทรัมป์พูดเสมอว่าตนศึกษาเรื่องนี้เรื่องนั้นมากกว่าใคร
รู้ดีกว่าหลายคน ขอให้เชื่อเขาว่าเขาสามารถทำได้ อเมริกาจะยิ่งใหญ่อีกครั้ง
ปัญหาหลายอย่างแก้ได้ด้วยการเจรจา เมื่อถูกสอบถามรายละเอียดว่าจะทำอย่างไร ทรัมป์ให้คำตอบว่าเป็นความลับ
ไม่อาจเปิดเผย เกรงว่าฝ่ายตรงข้ามจะรู้ตัว
ในเวลาไม่ถึง 100
วัน รัฐบาลทรัมป์ปรับเปลี่ยนนโยบายสำคัญหลายเรื่อง เช่น
ประกาศว่าจะทบทวนความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
เพราะ 2 ประเทศนี้เอาเปรียบสหรัฐ ไม่แบ่งเบาภาระงบประมาณเท่าที่ควร จะถอนทหารอเมริกันที่ประจำการใน
2 ประเทศนี้ ให้ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้มีอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง
2
สัปดาห์หลังเป็นรัฐบาล รัฐบาลทรัมป์ประกาศยึดมั่นสัญญาการเป็นพันธมิตร จิม แมททิส
(Jim Mattis) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมพูดกับรักษาการนายกฯ
เกาหลีใต้กับนายกฯ อาเบะด้วยคำเดียวกันว่า “ยืนยัน (ความเป็นพันธมิตร)
ร้อยเปอร์เซ็นต์” พร้อมกับที่รัฐบาลญี่ปุ่นเห็นว่าภาระที่รับอยู่เหมาะสมแล้ว
เดิมทรัมป์ยอมรับการคงอยู่ของรัฐบาลอัสซาด
เห็นว่าควรมุ่งจัดการผู้ก่อการร้าย IS จะดีกว่า เปรียบเปรยว่าถ้าซัดดัมอยู่ผู้ก่อการร้ายในอิรักจะถูกกำจัดทันที
แต่หลังเกิดเหตุใช้อาวุธเคมีเมื่อต้นเมษายน ทรัมป์สั่งโจมตีซีเรียด้วยขีปนาวุธ อ้างว่ารัฐบาลซีเรียใช้อาวุธเคมี
ทำให้เด็กผู้บริสุทธิ์ราว 30 คนต้องจบชีวิตอย่างทุกข์ทรมาน
โดยไม่คิดว่าการที่รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนฝ่ายต่อต้านเป็นเหตุให้สงครามกลางเมืองยืดเยื้อ
มีผู้เสียชีวิตกว่า 2 แสนคนแล้ว ในจำนวนนี้เป็นเด็กกว่าหมื่นคน
ทรัมป์เห็นว่าองค์การนาโตเป็นของล้าสมัย
สิ้นเปลืองงบประมาณ ที่ผ่านมาชาติสมาชิกแบกรับภาระน้อยเกินไป ไม่ยุติธรรมต่อสหรัฐ
ดังนั้นหากชาติสมาชิกนาโตไม่ช่วยแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
จะขอพิจารณาถอนตัวออกจากนาโต
ไม่ถึง
2 เดือนหลังรับตำแหน่ง ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศสนับสนุนนาโตเต็มที่
ยืนยันสถานภาพความเป็นพันธมิตรกับประเทศต่างๆ ในยุโรป จะไม่ถือว่านาโตเป็นของล้าสมัยอีกต่อไป
เป็นอีกนโยบายที่พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ให้เหตุผลว่าชาติสมาชิกได้ปรับปรุงตัวเองแล้ว
เรื่องงบประมาณกลายเป็นประเด็นที่ต้องเจรจาต่อไป แต่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนอีกแล้ว
ในช่วงหาเสียง จีนตกเป็นเป้าการโจมตีเมื่อเอ่ยถึงการค้าระหว่างประเทศ
ปัญหาขาดดุล ทรัมป์เห็นว่าจีนเป็น “จอมหัวขโมยรายใหญ่ที่สุดของโลก”
บิดเบือนค่าเงินหยวนเพื่อช่วยการส่งออก กระทบต่ออุตสาหกรรม การจ้างงานในสหรัฐ
หากสามารถแก้ปัญหาจากจีน อาจเพิ่มการจ้างงานในประเทศนับล้านตำแหน่ง
และเช่นเดียวกัน ไม่ถึง 2
เดือนหลังรับตำแหน่ง ประธานาธิบดีทรัมป์ยอมรับว่าจีนไม่ได้บิดเบือนค่าเงินหยวน
พร้อมกับรายงานของกระทรวงการคลังระบุว่าจีนไม่ได้บิดเบือนค่าเงินหยวน ไม่ว่าจะเป็นรายงานเพื่อสนับสนุนทรัมป์
หรือทรัมป์ยอมรับข้อสรุปของรายงาน บัดนี้รัฐบาลสหรัฐมีข้อสรุปชัดแล้วว่าจีนไม่ได้บิดเบือนค่าเงิน
ค่าเงินหยวนไม่เป็นต้นเหตุขาดดุลการค้าอย่างที่ทรัมป์กล่าวหา
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็น
รวมทั้งเรื่องที่ยังไม่ประกาศ เช่น นโยบายลดภาษี
การกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกือบร้อยวันแล้วยังขาดความชัดเจน
นโยบายเศรษฐกิจอาจเป็นอีกเรื่องที่ทรัมป์ไม่ได้ทำตามที่หาเสียง ในเวลาไม่ถึง 100
วันจึงถูกวิพากษ์หนาหูว่าหลายนโยบายเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่รู้แน่ว่าอะไรจริง
อะไรเท็จ ทรัมป์กำลังหมายถึงอะไรกันแน่
ทรัมป์บอกตั้งแต่ต้นว่าจะใช้วิธีคาดเดาไม่ได้
(unpredictable) เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่ง
แต่ควรใช้อย่างมีขอบเขต รู้ว่าเรื่องใดควรใช้ เรื่องใดไม่ควรใช้
ตระหนักว่ามีผลเสียจากการใช้ เช่น ประเด็นทบทวนพันธมิตรนาโต ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
บั่นทอนความสัมพันธ์กับมิตรประเทศ ไม่น่าเชื่อถือ การคาดเดาไม่ได้ส่งผลให้พลเมืองอเมริกันคาดเดาไม่ได้เช่นกัน
วางตัวไม่ถูกว่าแต่ละนโยบายเป็นอย่างไร บางคนอาจตีความว่าคือเทคนิคง่ายๆ
เพื่อหลอกหาเสียง
การสร้างกำแพงกั้นพรมแดนเม็กซิโกทำได้จริงหรือไม่
คุ้มค่าหรือไม่ สกัดกั้นแรงงานนอกระบบได้แค่ไหน ถ้ารู้แต่แรกแล้วว่าทำไม่ได้
ทำไมจึงยังเสนอนโยบายเช่นนี้
ทรัมป์กำลังใช้เทคนิค
“ผู้คาดเดาไม่ได้” หรือทำให้ “ตนเองสามารถพูดเท็จ” ต่อสาธารณะ
สืบเนื่องจากยุทธศาสตร์หาเสียง :
การจะทำความเข้าใจว่าทรัมป์เป็นผู้คาดเดาไม่ได้หรือผู้พูดเท็จเป็นนิจ
ต้องย้อนหลังตั้งแต่ช่วงหาเสียง ดังที่ได้นำเสนอในบทความก่อนว่า หนึ่งในยุทธศาสตร์หาเสียงที่ทรัมป์ใช้คือ
”พูดตรงใจคนฟัง” พูดในสิ่งที่ประชาชนอยากฟัง เมื่อบวกกับบุคลิกภาพส่วนตัว
จึงปรากฏเป็นภาพที่ทุกคนเห็น เช่น พูดจาขวานผ่าซาก ใช้คำพูดง่ายๆ
ไม่ใช้ศัพท์สวยหรูของนักการเมือง ตอกย้ำว่าทรัมป์แตกต่างจากผู้สมัครคนอื่นๆ
ไม่ใช่นักการเมืองน้ำเน่า อีกด้านหนึ่งคือกำลังเสนอแนวคิดแนวทางบางอย่างที่ประชาชน
“เห็นด้วยอยู่แล้ว”
เมื่อเป็นแนวคิดแนวทางที่ประชาชน
“เห็นด้วยอยู่แล้ว” หลายคนจึงมีข้อสรุปในใจอย่างรวดเร็ว
เห็นว่าทรัมป์คือตัวเลือกที่ตรงใจเขามากที่สุด เป็นเหตุให้คะแนนนิยมของทรัมป์พุ่งสูงขึ้นๆ
เรื่อยๆ แซงหน้าคู่แข่งในพรรคเดียวกันทั้งหมด ได้เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันและชนะเลือกตั้งประธานาธิบดี
การ
“พูดตรงใจคนฟัง” มีข้อดีที่ได้ใจคนฟัง แต่มีจุดอ่อนหลายข้อ เช่น
เป็นการคิดในกรอบแคบๆ ขาดการมองภาพรวม เกิดคำถามที่ว่าเป็นแนวนโยบายที่ปฏิบัติได้จริงหรือไม่
หรือเพียงแค่พูดเพื่อได้ใจคนเท่านั้น
วิเคราะห์องค์รวม :
ประการแรก
โทษทรัมป์หรือโทษใคร
มีความเป็นไปได้ว่าการพูดกลับไปกลับมาคือกลยุทธ์การเจรจาของทรัมป์
ตั้งใจที่จะทำเช่นนี้จริง
ถ้ามองจากมุมพูดเท็จ
ทรัมป์คงไม่ตั้งใจพูดเท็จทุกครั้ง หลายครั้งอาจเป็นเพราะไม่ใช่นักการเมือง
ไม่ได้ศึกษาประเด็นอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะเรื่องระหว่างประเทศ จึงเข้าใจผิด เสนอนโยบายผิดๆ
แล้วต้องแก้ทีหลัง
ถ้ามองจากมุมเลือกตั้ง
เห็นชัดว่าในหลายประเด็น ทรัมป์พูดเพื่อให้ได้ใจคนอเมริกันเท่านั้น โดยไม่สนใจว่านโยบายที่เสนอนั้นทำได้จริงหรือไม่
มีผลดีผลเสียอย่างไร แต่ในช่วงหาเสียงทรัมป์ไม่สนใจเรื่องเหล่านี้ มุ่งชนะเลือกตั้งอย่างเดียว
ในภาพกว้าง แม้ทรัมป์ไม่ได้ชนะเลือกตั้งเพราะมีคุณสมบัติเป็นผู้นำประเทศ เหตุที่ชนะมาจากหลายปัจจัย
ทั้งตัวนโยบาย สำนวนโวหาร ทีมงาน เป็นตัวแทนพรรค ชาวอเมริกันหลายคนไม่ต้องการให้
ฮิลลารี คลินตัน เป็นฝ่ายชนะ ดังนั้น จะโทษทรัมป์อย่างเดียวก็ไม่ได้
เพราะชาวอเมริกันไม่มีตัวเลือกที่ดี เพราะระบบการเมืองคัดกรองที่มีอยู่ได้ตัวแทนแบบทรัมป์กับฮิลลารี
ชาวอเมริกันหลายคนรู้ปัญหาแต่แม้ผ่านไปหลายทศวรรษ ปัญหาเดิมๆ ยังคงอยู่
ประการที่ 2 การผสมโรงของสื่อ
ตั้งแต่เริ่มหาเสียง
ทรัมป์เป็นปฏิปักษ์กับสื่อกระแสหลัก และแม้บริหารประเทศแล้ว ความสัมพันธ์กับสื่อที่ปรากฏให้เห็นยังแย่ต่อไป
และหนักกว่าเดิมในบางช่วงที่เกิดการพิพาทกับสื่อ
ประเด็นน่าคิดคือ
แม้สื่อกระแสหลักมักนำเสนอข่าวด้านลบของทรัมป์
แต่ชาวอเมริกันชื่นชอบที่จะบริโภคข่าวทำนองนี้ การแสดงออกของทรัมป์ในทาง
"ลบ" ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ดูเหมือนเป็นที่นิยมของชาวอเมริกันหลายคน
ในทางวิชาการมีข้อสรุปชัดเจนว่า
ชาวอเมริกันไม่ไว้ใจสื่อมานานแล้ว แต่นับจากเกิดปรากฏการณ์ทรัมป์
สื่อนำเสนอข่าวลบต่อเนื่อง ราวกับว่าเป็นข่าวที่ขายดี เป็นอาหารจานอร่อยที่ต้องเสิร์ฟทุกวัน
ทรัมป์โจมตีสื่อเรื่อยมา
และพยายามใช้สื่อของตัวเอง ทวิชข้อความแทบทุกวัน อ้างว่าต้องทำเช่นนี้ต่อไปตราบเท่าที่สื่อไม่เป็นกลาง
ไม่ว่าสื่อจะเป็นกลางหรือไม่ ปรากฏการณ์ทรัมป์ช่วยเพิ่มความสำคัญของสื่อกระแสหลัก
เพราะผู้บริโภคที่สนใจข่าวสารจะคอยติดตามข้อความทวิชจากทรัมป์และสื่อที่ตอบโต้กันไปมา
ที่สำคัญคือ
ข้อความที่ทรัมป์ทวิช ข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาล สื่อกระแสหลักสามารถครอบครองข้อมูลที่สาธารณชนรับรู้
ถ้ามองในแง่ดี เป็นอีกครั้งที่สื่อกระแสหลักกับรัฐบาลสามารถส่งผ่านข้อมูลแก่ประชาชนอย่างเต็มที่
ถ้ามองในแง่ลบ
เกิดคำถามว่าทั้งที่สื่อกับรัฐบาลนำเสนอ คือข้อเท็จจริงหรือไม่
กรณีโทษรัฐบาลอัสซาดใช้อาวุธเคมีเป็นตัวอย่างที่ดี สื่อกระแสหลักแม้จะวิพากษ์รัฐบาลต่างๆ
นานา แต่บรรทัดสุดท้ายคือบอกว่ารัฐบาลอัสซาดใช้อาวุธเคมี
(บนสมมติฐานว่ารัฐบาลอัสซาดไม่ได้ใช้อาวุธเคมีตามข้อกล่าวหา)
ภาพที่เห็นคือดูเหมือนสื่อกับรัฐบาลทะเลาะกัน
แต่ที่สุดแล้วให้ข้อสรุปตรงกัน
ชาวอเมริกันหลายคนอาจชอบและถกกันตามประเด็นที่สื่อไม่เห็นตรงกับรัฐบาล
แต่สุดท้ายจะมีข้อสรุปในใจว่ารัฐบาลอัสซาดใช้อาวุธเคมี ไม่ว่าสื่อกระแสหลักเหล่านี้จะตั้งใจหรือไม่
มีวาระซ่อนเร้นหรือไม่ สิ่งที่นำเสนอคือช่วยรัฐบาลประชาสัมพันธ์
การวิพากษ์วิจารณ์ว่านโยบายของรัฐบาลทรัมป์เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหนาหูขึ้นทุกวัน
ถูกมองว่าเป็นผลเสียมากกว่าผลดี แต่ทรัมป์ยังใช้ต่อไป เป็นเทคนิค
“ผู้คาดเดาไม่ได้” ในอีกมุมคือทำให้ “ตนเองสามารถพูดเท็จ” ต่อสาธารณะ
ไม่มีใครคาดเดาได้ว่ากำลังพูดความจริงหรือโกหก เป็นลักษณะเด่นข้อหนึ่งของรัฐบาลประชาธิปไตยอเมริกายุคนี้
23 เมษายน 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7471 วันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน พ.ศ.2560)
--------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ในช่วงหาเสียงทรัมป์อ้างเหตุผลสารพัดเพื่อชี้ว่าสหรัฐไม่ควรประจำการทหารในเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นต่อไป
พร้อมให้ 2 ประเทศนี้มีอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเอง
ไม่ถึงเดือนหลังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ท่าทีเปลี่ยนเป็นตรงข้าม
กลับมาให้ความสำคัญกับการเป็นพันธมิตรดังเดิม
ตามหลักนโยบายที่ไม่ต่างจากประธานาธิบดีคนอื่นๆ
ไม่ว่าจะมาจากพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครท
การรณรงค์ประชานิยมแต่ละครั้งมีข้อดี-ข้อเสียขึ้นกับแง่มุมมอง
บางครั้งมีข้อดีหลายข้อ บางครั้งมีข้อเสียมากกว่า ทั้งนี้ขึ้นกับการรณรงค์แต่ละครั้ง
โดยรวมแล้วข้อดีคือเป็นอีกช่องทางของประชาชน ช่วยให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ส่วนข้อเสียคือเป็นการทำลายประชาธิปไตย
ไม่ต่างจากระบอบเดิมที่ไม่ได้ทำเพื่อประชาชนจริงๆ
1. Buncombe, Andrew. (2016, May 2) Donald Trump accuses
China of 'raping' the US with its trade policy. The Independent.
Retrieved from
http://www.independent.co.uk/news/world/americas/us-elections/donald-trump-accuses-china-of-raping-the-us-with-its-trade-policy-a7009946.html
2. Denyerm, Simon. (2017, January 25). Trade trumps
national security in Trump’s worldview. That’s really bad news for China. The
Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/world/national-security/president-trump-is-planning-to-sign-executive-orders-on-immigration-this-week/2017/01/24/aba22b7a-e287-11e6-a453-19ec4b3d09ba_story.html
3. Diamond, Jeremy. (2015, October 25). Trump: World would
be '100%' better with Hussein, Gadhafi in power. CNN. Retrieved from http://edition.cnn.com/2015/10/25/politics/donald-trump-moammar-gadhafi-saddam-hussein/
4. Ginsberg, Benjamin., Lowi, Theodore J.,
Weir, Margaret., Tolbert, Caroline J., & Spitzer, Robert J.
(2015). We the People: An Introduction To American Politics. (Tenth
Essentials Edition). NY.: W. W. Norton & Company.
5. In reversal, Trump says would work with NATO to defeat
ISIL. (2016, August 17). The Japan News/Reuters. Retrieved from
http://the-japan-news.com/news/article/0003152964
6. Janjevic, Darko. (2017, April 12). Trump says NATO is 'no
longer obsolete'. Deutsche Welle. Retrieved from
http://www.dw.com/en/trump-says-nato-is-no-longer-obsolete/a-38407650
7. Mattis assures policy continuity on N. Korea, full
defense commitment to S. Korea. (2017, February 3). Yonhap. Retrieved
from
http://english.yonhapnews.co.kr/northkorea/2016/09/23/0401000000AEN20160923005300315.html
8. Ramzy, Austine. (2016, March 28). Comments by Donald
Trump Draw Fears of an Arms Race in Asia. The New York Times. Retrieved
from http://www.nytimes.com/2016/03/29/world/asia/donald-trump-arms-race.html?_r=0
9. Transcript: Donald Trump Expounds on His Foreign Policy
Views. (2016, April 26). The New York Times. Retrieved from
http://www.nytimes.com/2016/03/27/us/politics/donald-trump-transcript.html
10. Trump details ‘America first’ foreign policy views,
threatening to withdraw troops from Japan, South Korea. (2016, March 27). The
Japan Times. Retrieved from
http://www.japantimes.co.jp/news/2016/03/27/world/politics-diplomacy-world/trump-details-america-first-foreign-policy-views-threatening-withdraw-troops-japan-south-korea/#.Vvh-wtJ97IV
11. Trump predicts "very massive recession" in
U.S. (2016, April 3). CNBC/Reuters. Retrieved from
http://www.cnbc.com/2016/04/03/trump-predicts-very-massive-recession-in-us.html
12. U.S. Treasury says China does not manipulate its
currency. (2017, April 14). Trump is being schooled by international events and
sly adversaries. Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/2017-04/15/c_136210032.htm
13. Yoshida, Reija. (2017, February 3). Abe, Mattis reaffirm
ties on defense. The Japan Times. Retrieved from
http://www.japantimes.co.jp/news/2017/02/03/national/politics-diplomacy/shinzo-abe-james-mattis-u-s-japan-bilateral-ties-defense/#.WJXrStJ97IU
-----------------------------