คำสั่งห้าม 6 ประเทศของทรัมป์ ไม่ช่วยลดก่อการร้าย

6 มีนาคม โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ออกคำสั่งห้ามคนต่างชาติเข้าประเทศอีกครั้ง แทนคำสั่งเก่าหลังศาลระงับเนื่องจากไม่ชอบด้วยกฎหมาย
            เป้าหมายหลักยังคงเดิมคือป้องกันผู้ก่อการร้ายต่างชาติเข้าเมือง เพราะเสี่ยงที่จะเกิดเหตุก่อการร้าย รัฐสภา กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิ (Homeland Security) ได้ระบุไว้แล้วว่า 6 ประเทศอยู่ในข่าย ในฐานะประธานาธิบดีจึงออกคำสั่งห้ามคนของประเทศเหล่านี้เข้าสหรัฐ อันเป็นอำนาจที่มีตามกรอบกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศกับกระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิมีอำนาจอนุญาตให้คนประเทศเหล่านี้เข้าเมืองโดยพิจารณาเป็นรายบุคคล
            เอกสารคำสั่งอธิบายเหตุผลห้าม 6 ประเทศ โดยยกรายงาน Reports on Terrorism 2015 (June 2016) มีสาระสำคัญว่าสหรัฐจัดให้อิหร่านเป็นประเทศอุปถัมภ์ก่อการร้ายตั้งแต่ปี 1984 สนับสนุนกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hizballah) ฮามาส (Hamas) กลุ่มก่อการร้ายในอิรัก สนับสนุนอัลกออิดะห์ในซีเรียกับเอเชียใต้
            ลิเบียอยู่ในภาวะสงคราม มีความเป็นศัตรูระหว่างรัฐบาลนานาชาติกับกองกำลังติดอาวุธ กองกำลังเหล่านี้ควบคุมหลายพื้นที่ ผู้ก่อการร้าย IS อาศัยช่องว่างแทรกตัวเข้าลิเบีย แม้รัฐบาลลิเบียร่วมมือต่อต้านก่อการร้ายแต่ขาดประสิทธิภาพ ผู้ก่อการร้ายเข้าออกประเทศได้โดยง่าย
            โซมาเลีย พื้นฐานบางส่วนของประเทศนี้กลายเป็นฐานที่มั่นของผู้ก่อการร้าย เช่น Al-Shabaab ระบบตรวจสอบควบคุมผู้ก่อการร้ายที่เข้าออกประเทศไม่มีประสิทธิภาพ
            ซูดานอุปถัมภ์ผู้ก่อการร้ายตั้งแต่ปี 1993 สนับสนุนกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ฮามาส ให้ที่พักพิงแก่อัลกออิดะห์และกลุ่มอื่นๆ
            ซีเรียอุปถัมภ์ผู้ก่อการร้ายตั้งแต่ปี 1979 ปัจจุบันยังสนับสนุนหลายกลุ่ม ปฏิเสธร่วมมือกับสหรัฐต่อต้านก่อการร้าย
            เยเมน ความขัดแย้งในประเทศเป็นเหตุให้ IS กับอัลกออิดะห์แทรกตัวเข้าประเทศ รัฐบาลเยเมนไม่ให้ความร่วมมือกับสหรัฐอย่างเต็มที่
            ส่วนอิรัก แม้ IS ครอบครองพื้นที่จำนวนมาก แต่ร่วมมือกับสหรัฐอย่างดี พยายามดูแลผู้เข้าออกประเทศอย่างเข้มงวด
            คำสั่งห้ามคน 6 ประเทศเข้าสหรัฐมีกำหนดเวลา 90 วันนับจากเริ่มคำสั่ง
คำชี้แจงของรัฐบาลทรัมป์ทำให้เข้าใจว่าผู้ก่อการร้ายสามารถเข้าเมืองโดยไม่ยากเย็น อีกทั้งบางประเทศสนับสนุนผู้ก่อการร้าย ให้ที่พักพิงอยู่แล้ว ในบางกรณีผู้ก่อการร้ายอย่าง IS อัลกออิดะห์แทรกตัวเข้าประเทศ และอาจใช้ประเทศเหล่านี้เป็นช่องทางเข้าสหรัฐ จึงต้องสกัดกั้นคนจากประเทศเหล่านี้เพื่อความปลอดภัยของชาวอเมริกัน

ห้ามคน 6 ประเทศไม่ช่วยลดก่อการร้าย :
จากการศึกษาพบช่องว่างหลายประการ ดังนี้
          ประการแรก มุสลิมประเทศไหนก็เป็นผู้ก่อการร้ายได้
หลักคิดของรัฐบาลทรัมป์คือ แทนที่จะใช้วิธีปฏิเสธบางราย เฝ้าระวังจับตาผู้ต้องสงสัย รัฐบาลทรัมป์ใช้วิธีห้ามคนจากประเทศเหล่านั้นเข้าเมือง ผู้ที่ได้รับอนุญาตกลายเป็นพวกที่ได้รับการยกเว้นเป็นรายๆ
ข้อเท็จจริงที่ต้องเข้าใจคือ IS/ISIL/ISIS มีรากฐานจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายหลายกลุ่มที่รวมตัวกัน  กลุ่มเดิมบางกลุ่มมีความใกล้ชิดกับพวกอัลกออิดะห์และอื่นๆ ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มประกอบด้วยคนหลายสัญชาติจากหลายทวีป กุมภาพันธ์ 2016 Brett McGurk เจ้าหน้าที่สหรัฐผู้ดูแลงานต่อต้าน IS รายงานว่ากองกำลังต่างชาติที่รบเพื่อ IS ในซีเรียมีราว 25,000 นาย ประกอบด้วยคนจาก 120 ประเทศ
            กองกำลัง IS ในซีเรียมาจาก 120 ประเทศทั่วโลก แม้กระทั่งยุโรปตะวันตก คนเหล่านี้พิสูจน์แล้วว่าคือผู้ก่อการร้ายตัวจริง เข้ารบจริง ผู้นำ IS สั่งให้สมาชิกก่อเหตุได้ด้วยตัวเอง จึงมีโอกาสสูงที่จะเข้าสหรัฐเพื่อก่อเหตุ (ถ้าพวกเขาต้องการ) ถามว่ารัฐบาลทรัมป์ทำไมมีกีดกันให้ครบ 120 ประเทศ นโยบายกีดกันเพียง 6 ประเทศของทรัมป์จะได้ผลหรือ
ในคำสั่งห้ามล่าสุดชี้ว่าปัจจุบันมีผู้อพยพลี้ภัย 300 คนอยู่ภายใต้การจับตาจากเจ้าหน้าที่ เสี่ยงที่จะก่อการร้าย แต่รัฐบาลไม่ให้รายละเอียด เช่น เป็นคนสัญชาติใด อยู่เฉพาะใน 6 ประเทศที่ถูกสั่งห้ามใช่หรือไม่ เป็นคำถามที่รัฐบาลควรให้ความกระจ่าง

            ประการที่ 2 ชาวอิรักอาจเป็นผู้ก่อการร้าย
นับจาก 27 มกราคมที่ออกคำสั่งครั้งแรกจนถึง 6 มีนาคม ในเวลาไม่ถึงเดือนครึ่ง รัฐบาลทรัมป์ถอนอิรักจากรายชื่อ ให้เหตุผลว่ารัฐบาลอิรักให้ความร่วมมือกับสหรัฐอย่างดี พยายามดูแลคนเข้าออกประเทศอย่างเข้มงวด
เรื่องที่รัฐบาลทรัมป์อาจไม่เข้าใจหรือไม่ยอมเข้าใจคือ สมาชิก IS ในอิรักหลายคนเป็นชาวอิรักแท้ๆ (โดยเฉพาะพวกซุนนีอิรัก) จึงย่อมมีโอกาสเข้าสหรัฐเพื่อก่อเหตุ (ถ้าต้องการ)
ถ้าเอ่ยเรื่องสงครามอ่าวเปอร์เซีย การโค่นล้มซัดดัม สหรัฐยึดครองอิรัก ชาวอิรักจำนวนมากอยู่ในช่วงประวัติศาสตร์เหล่านี้ ความชิงชังสหรัฐอาจยังฝังใจในหลายคน และควรย้ำเตือนว่าการปรากฏตัวของทหารอเมริกันในอิรัก ภูมิตะวันออกกลางในยุคนั้น เป็นชนวนกระตุ้นให้มุสลิมต่อต้านการคงอยู่ของทหารต่างชาติ กระตุ้นให้เกิดกองกำลังต่างๆ มากมาย หลายกลุ่มกลายเป็นผู้ก่อการร้ายจนถึงปัจจุบัน IS/ISIL/ISIS คือกรณีตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุด
ดังนั้น หากจะมีชาวอิรักบางคนเข้าสหรัฐเพื่อก่อการร้ายจึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่รัฐบาลทรัมป์กลับถอนอิรักออกจากรายชื่อ เป็นอีกประเด็นส่อถึงความแปลกประหลาดของนโยบายห้ามคน 6 ประเทศเข้าเมือง

          ประการที่ 3 ละเลยเหตุโศกนาฏกรรม 9/11
          งานศึกษาของ Alex Nowrasteh ย้อนดูก่อการร้ายช่วงปี 1975-2015 ชาวอเมริกันเสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายทั้งสิ้น 3,432 ราย ในจำนวนนี้ 2,983 รายหรือร้อยละ 87 เสียชีวิตจากเหตุ 9/11 ผู้ก่อเหตุครั้งนั้นเกือบทั้งหมดเป็นคนสัญชาติซาอุฯ ทั้งๆ ที่หลักฐานชัดเจนขนาดนี้ เป็นเหตุร้ายแรงสุด คุกคามแผ่นดินสหรัฐโดยตรง เป็นเหตุให้รัฐบาลบุชถึงกับประกาศทำสงครามกับผู้ก่อการร้าย แต่รัฐบาลทรัมป์กลับไม่ห้ามคนซาอุฯ ไม่ได้เอ่ยถึงเหตุ 9/11 แม้แต่น้อย
            ราวกับว่ารัฐบาลทรัมป์มั่นใจเหลือเกินว่าเหตุก่อการร้ายในอนาคตจะไม่มาจากพวกซาอุฯ อีก และได้ให้อภัยซาอุฯ แล้ว ตรงข้ามกับลิเบียกับซีเรียที่ในรอบ 40 ปีไม่มีเหตุก่อเหตุจาก 2 ประเทศนี้ แต่รัฐบาลทรัมป์สั่งห้ามเข้าประเทศ

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
            รัฐบาลทรัมป์พยายามโหมกระพือความน่ากลัวจากก่อการร้ายจนเกินเลย ล่าสุดพยายามอ้างเหตุก่อการร้ายในต่างประเทศเพื่อชี้ว่าก่อการร้ายระบาดทั่วโลก จากที่วิเคราะห์ข้างต้นทั้งหมดให้ข้อสรุปว่า รัฐบาลทรัมป์อาจตั้งใจดีพยายามป้องกันไม่ให้ผู้ก่อการร้ายต่างชาติเข้ามาทำร้ายคนอเมริกัน แต่คำสั่งห้าม 6 ประเทศเข้าเมืองเต็มด้วยจุดอ่อน ผู้ก่อการร้ายไม่จำกัดอยู่เพียง 6 ประเทศที่อ้างถึงเท่านั้น ยิ่งถ้าประธานาธิบดีทรัมป์เห็นว่ามุสลิมสุดโต่งคือผู้ก่อการร้าย ควรเข้าใจว่ามุสลิมสุดโต่งมีได้ในทุกประเทศที่มีมุสลิม
คำสั่งห้าม 6 ประเทศเข้าเมืองจึงไม่ช่วยลดก่อการร้ายแต่อย่างไร

เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะทำให้ประชาชนปลอดภัยที่สุดในทุกด้าน คำถามอีกแง่หนึ่งคือใช้งบประมาณคุ้มค่าหรือไม่ แก้ปัญหาถูกจุด ครบถ้วนหรือไม่
สถาบันวิจัย Cato Institute ให้ข้อมูลว่า ช่วงปี 2006-2015 ชาวอเมริกันที่เสียชีวิตด้วยจากพวกญิฮาดต่างชาติเฉลี่ยเท่ากับ 2.6 คนต่อปี จากญิฮาดอเมริกันเท่ากับ 2.4 คน จากอุบัติเหตุร่มชูชีพ 19.5 คน จากฟ้าผ่า 31 คน
            ถ้าคิดให้กว้างกว่าประเด็นผู้ก่อการร้าย แต่ละปีคนอเมริกันที่เสียชีวิตจากเหตุอื่นๆ รวมทั้งจากยาเสพติด พวกมาเฟียมีมากกว่าเหตุก่อการร้ายต่างชาติหลายเท่า ชาวต่างชาติที่เข้าสหรัฐบางคนเป็นพ่อค้ายาเสพติด นักค้ามนุษย์ นักเลง คนเหล่านี้ทำร้ายคนอเมริกันเช่นกัน ทำไมรัฐบาลทรัมป์จึงไม่สั่งห้ามเหมือนกรณีผู้ก่อการร้าย
ในคำแถลงต่อรัฐสภาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ประธานาธิบดีทรัมป์เพิ่งพูดว่า ปี 2016 เฉพาะชิคาโกเพียงเมืองเดียวชาวอเมริกันราว 4,000 คนเสียชีวิตเพราะถูกยิง คดีฆาตกรรมเพิ่มสูงขึ้น จะดีกว่าไหมถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการป้องกันฆาตกรรมในประเทศ (และอื่นๆ) ให้มากกว่าก่อการร้ายต่างชาติ

            ถ้าจะวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง รัฐบาลทรัมป์อ้างว่ากำลังดำเนินนโยบายสืบต่อจากรัฐบาลที่แล้ว ต้องเข้าใจว่านโยบายเหล่านี้บางอย่างมีลักษณะ 2 มาตรฐาน มุ่งเป้าชี้ว่าใครเป็นปรปักษ์ เช่น ชี้ว่าอิหร่านสนับสนุนก่อการร้าย แต่ประเทศซาอุดิอาระเบียไม่เข้าข่าย ทั้งๆ ที่ในแวดวงวิชาการ รัฐบาลหลายประเทศต่างชี้ว่าซาอุฯ สนับสนุนผู้ก่อการร้ายหลายกลุ่ม
            จึงค่อนข้างแน่ชัดว่าแนวทางต่อต้านก่อการร้ายของรัฐบาลทรัมป์ไม่แตกต่างจากรัฐบาลก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นเดโมแครทหรือรีพับลิกัน ที่มุ่งชี้ว่าอิหร่านเป็นศัตรู ซาอุฯ เป็นมิตร

Steven Camarota จาก Center for Immigration Studies ให้ความเข้าใจว่าแท้จริงแล้วไม่ว่าจะทำอย่างไรหรือพยายามเพียงไร ประเทศใหญ่อย่างสหรัฐไม่สามารถป้องกันคนร้ายเข้าประเทศอย่างสมบูรณ์ ผู้ประสงค์ร้ายมีโอกาสหลบรอดเข้าเมืองได้เสมอ
คำถามหลายข้อที่เกิดขึ้นนำสู่ข้อสงสัยว่ารัฐบาลทรัมป์ตั้งใจต่อต้านก่อการร้ายเพียงไร ชวนให้คิดว่ามีเจตนาแอบแฝงหรือไม่
คำถามสุดท้ายคือ จริงหรือที่รัฐบาลทรัมป์หวังให้ชาวอเมริกันปลอดภัยกว่าเดิม
12 มีนาคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7429 วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2560)
---------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
ประธานาธิบดีทรัมป์ห้ามคน 7 สัญชาติเข้าประเทศ ชี้แจงว่าไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา เมื่อพิจารณานโยบายหาเสียงและอื่นๆ พบว่านโยบายต่อต้านก่อการร้ายสัมพันธ์กับก่อการร้ายอิสลามหัวรุนแรง (radical Islamic terrorism) อันเป็นนโยบายหลักข้อหนึ่งของพรรครีพับลิกัน และเป็นกระแสเกลียดชังมุสลิมที่รุนแรงขึ้นนับตั้งแต่เกิดเหตุ 9/11 ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่สิ่งที่รัฐบาลทรัมป์ทำส่งผล โหมกระแสต่อต้านมุสลิม แต่เป้าหมายจริงๆ อาจอยู่ที่ 1-2 ประเทศเท่านั้น
บรรณานุกรม:
1. Dodge, Toby. (2012). Iraq: From War to a New Authoritarianism. Oxon: Routledge.
2. Nowrasteh, Alex. (2016, September 16). Terrorism and Immigration: A Risk Analysis. CATO Institution. Retrieved from https://www.cato.org/publications/policy-analysis/terrorism-immigration-risk-analysis
3. Saliba, Emmanuelle. (2017, February 1). You’re More Likely to Die Choking Than Be Killed by Foreign Terrorists, Data Show. NBC News. Retrieved from http://www.nbcnews.com/news/us-news/you-re-more-likely-die-choking-be-killed-foreign-terrorists-n715141
4. The White House. (2017, March 6). Executive Order Protecting The Nation From Foreign Terrorist Entry Into The United States. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2017/03/06/executive-order-protecting-nation-foreign-terrorist-entry-united-states
5. US says ISIL foreign fighter ranks drop to 25,000. (2016, February 24). Today’s Zaman. Retrieved from http://www.todayszaman.com/latest-news_us-says-isil-foreign-fighter-ranks-drop-to-25000_413136.html
-----------------------------