สัมพันธ์สหรัฐกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่นมั่นคงดังเดิม ต่างจากที่ทรัมป์หาเสียง
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ จิม แมททิส (Jim Mattis)
รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของรัฐบาลทรัมป์ เดินทางเยือนเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น ก่อนออกเดินทางรัฐมนตรีแมททิสเผยว่ารัฐบาลให้ความสำคัญประเด็นเกาหลีเหนือ
การเป็นพันธมิตรกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น
ดูเหมือนว่ารัฐมนตรีแมททิสให้ความสำคัญกับการรักษาพันธมิตร เดินหน้าพัฒนาความสัมพันธ์มากกว่าขู่ว่าจะละทิ้งพันธมิตรดังที่ทรัมป์พูดในช่วงหาเสียง
ในช่วงหาเสียง โดนัลด์
ทรัมป์ เห็นว่าน่าจะเปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้มีอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง หากตนชนะเลือกตั้งจะพิจารณาถอนทหารอเมริกันที่ประจำการในญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้
สหรัฐ “ไม่สามารถเป็นตำรวจโลก” นับวันศักยภาพการเป็นตำรวจโลกมีแต่จะเสื่อมถอย แต่ถ้ารัฐบาล
2 ประเทศนี้เพิ่มงบประมาณสนับสนุนกองทัพสหรัฐที่ประจำการใน 2 ประเทศดังกล่าว
จะยอมคงทหารประจำการต่อไป
ปัจจุบันทหารอเมริกันราว
50,000 นายประจำการตามฐานทัพสหรัฐหลายแห่งในญี่ปุ่น 28,500 นายในเกาหลีใต้ ไม่นับเรือรบ
เครื่องบินรบ ระบบอาวุธทันสมัยมากมาย บางคนเชื่อว่ามีอาวุธนิวเคลียร์ด้วย ล่าสุดส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์
B-1 ไปประจำการเกาหลีใต้ และอยู่ระหว่างหารือติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ
THAAD ที่ทั้งจีนกับรัสเซียคัดค้านอย่างรุนแรง
ความสัมพันธ์ทวิภาคีคืบหน้าอีกขั้น :
ในการเยือนเกาหลีใต้
รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐกล่าวต่อรักษาการนายกฯ เกาหลีใต้ Hwang Kyo-ahn ว่ารัฐบาลทรัมป์มีพันธะต่อความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นกับเกาหลีใต้
รัฐบาลทรัมป์ตั้งใจยกระดับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้นอีกเพื่อรับมือการยั่วยุจากเกาหลีเหนือ
เป็นภัยคุกคามร่วมที่ 2 ประเทศเผชิญ
เดินหน้าหารือติดตั้ง THAAD และสานสัมพันธ์ความร่วมมือไตรภาคีสหรัฐ-เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น
ความเป็นนายกฯ
รักษาการอาจเป็นเหตุว่ารักษาการนายกฯ เกาหลีใต้ Hwang Kyo-ahn ไม่ค่อยแสดงบทบาทนัก อย่างไรก็ตามการเดินหน้าหารือติดตั้ง THAAD ชัดเจนในตัวเองว่าแผนความมั่นคงร่วมทวิภาคีเดินหน้าต่อไป
ไม่ว่าใครเป็นนายกฯ เกาหลีใต้หรือใครเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ
ในการเยือนญี่ปุ่น รัฐมนตรีแมททิสนอกจากยืนยันความเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ขอบคุณญี่ปุ่นที่มีส่วนร่วมในการรักษาความมั่นคงภูมิภาคและโลก
ร่วมต้านภัยคุกคาม ยืนยันว่าสนธิสัญญาความมั่นคงกับญี่ปุ่นผูกพันหมู่เกาะเซนกากุ (Senkaku
Islands) อันเป็นเรื่องที่ญี่ปุ่นต้องการ
ในสมัยรัฐบาลที่แล้ว
แอชตัน คาร์เตอร์ (Ashton Carter) รัฐมนตรีกลาโหมกล่าวว่าประธานาธิบดี
บารัก โอบามา พูดชัดว่า “หมู่เกาะเซนกากุอยู่ภายใต้การบริหารของญี่ปุ่น
ดังนั้นจึงอยู่ภายใต้มาตรา 5 ของ สนธิสัญญาความมั่นคงร่วมสหรัฐ –ญี่ปุ่น” (U.S.-Japan
Treaty of Mutual Cooperation and Security)
รัฐบาลโอบามาเป็นรัฐบาลแรกที่พูดชัดว่าหมู่เกาะเซนกากุอยู่ภายใต้มาตรา 5
ดังกล่าว เรื่องหมู่เกาะเซนกากุ/เตียวหยูเป็นอีกประเด็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลทรัมป์สานต่อจากรัฐบาลโอบามา
รวมความแล้ว
รัฐบาลทรัมป์สานต่อโครงการความมั่นคงสำคัญ ทั้งการติดตั้ง THAAD ปกป้องหมู่เกาะเซนกากุ/เตียวหยู เป็นนโยบายต่างประเทศเรื่องต้นๆ
อีกเรื่องที่รัฐบาลทรัมป์เดินตามรอยรัฐบาลก่อน
ในการเยือน 2
ประเทศ รัฐมนตรีแมธทิสพูดกับรักษาการนายกฯ เกาหลีใต้กับนายกฯ
อาเบะด้วยคำเดียวกันว่า “ยืนยัน (ความเป็นพันธมิตร) ร้อยเปอร์เซ็นต์”
ส่วนเรื่องปัญหาแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายนั้น
รัฐมนตรีแมสทิสขอให้ญี่ปุ่นช่วยแบกรับภาระงบประมาณมากขึ้น ความตอนหนึ่งกล่าวว่า
“ในยามที่ความเป็นพันธมิตรเข้มแข็งขึ้น เป็นเรื่องสำคัญที่ทั้ง 2 ประเทศลงทุนในเจ้าหน้าที่และขีดความสามารถด้านการป้องกันอย่างต่อเนื่อง
เป็นการแสดงออกถึงความเป็นหุ้นส่วนในวันนี้และอีกหลายปีในอนาคต”
ไม่แน่ชัดว่ารัฐมนตรีแมททิสมาพร้อมคำขู่หรือไม่
จากข่าวที่ปรากฏดูเหมือนว่าความเป็นพันธมิตรสำคัญกว่า
ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นเห็นว่าภาระที่รับอยู่ปัจจุบันเหมาะสมแล้ว
ผลการเจรจาสุดยอดผู้นำทรัมป์-อาเบะ :
ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐ-ญี่ปุ่น ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า
สหรัฐ "ยึดมั่นพันธะความมั่นคงของญี่ปุ่นและอาณาบริเวณทั้งหมดที่อยู่ใต้การบริหารควบคุม
(ของญี่ปุ่น) ให้ความสำคัญต่อการเพิ่มขยายความเป็นพันธมิตร"
ขอบคุณชาวญี่ปุ่นที่ยอมให้สหรัฐใช้พื้นที่เป็นฐานทัพ ความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐ-ญี่ปุ่น
"เป็นเสาหลักสันติภาพและความมั่นคง" ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
แถลงการณ์ร่วมหลังประชุมสุดยอดผู้นำยังระบุว่าญี่ปุ่นจะขยายบทบาทความมั่นคง
สหรัฐกับญี่ปุ่นจะร่วมต่อต้านสิ่งปลูกสร้างทางทหารในทะเลจีนใต้ กดดันเกาหลีเหนือให้เลิกล้มโครงการนิวเคลียร์
ขีปนาวุธพิสัยไกล เดินหน้าหารือวางกฎการค้าการลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บนฐานการค้าเสรีและเป็นธรรม
ส่วนเรื่องที่ทรัมป์พูดในช่วงหาเสียงว่าจะถอนความพันธมิตร
ให้ญี่ปุ่นมีอาวุธนิวเคลียร์ หากญี่ปุ่นไม่เพิ่มงบประมาณสนับสนุนกองทัพสหรัฐ
ไม่ปรากฎในแถลงการณ์ร่วม และไม่ประเด็นสำคัญในการพบปะครั้งนี้มากกว่าการรักษาเพิ่มขยายความเป็นพันธมิตร
ข้อสรุปคือ
หลังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไม่ถึงเดือน เนื้อหาถ้อยคำของทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดีแตกต่างจากช่วงหาเสียงมากขึ้น
หันมาพูดทำนองเดียวกับผู้นำสหรัฐคนก่อนๆ หลัก “America First” ของทรัมป์ในตอนนี้ดูเหมือนไม่ต่างจากยุทธศาสตร์แม่บทสหรัฐในประเด็นเอเชียแปซิกฟิก
ยุทธศาสตร์ปรับสมดุลยังคงอยู่ :
ต้นเดือนธันวาคม
2016 หลังทรัมป์เป็นฝ่ายชนะเลือกตั้ง Valery Kistanov จาก Center
for Japanese Studies ของ Russian Academy
of Sciences กล่าวว่ารัฐบาลสหรัฐต้องการญี่ปุ่นเพื่อช่วยถ่วงดุลจีน
ญี่ปุ่นเปรียบเสมือนเรือบรรทุกเครื่องบินที่ไม่มีวันจม ทรัมป์พูดว่ายอมให้ญี่ปุ่นมีอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง
แต่ความจริงแล้วสหรัฐจะไม่ยอมให้ญี่ปุ่นมีอาวุธทรงอานุภาพเช่นนั้น
เพราะไม่ต้องการเปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นกลายเป็นคู่แข่งด้านการทหารกับการเมือง
ผู้ที่เข้าใจความล้ำลึกของเรื่องนี้จะสรุปตั้งแต่ต้นว่าที่ทรัมป์พูดว่าจะให้ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้มีอาวุธนิวเคลียร์ของตนเองนั้นเป็นเพียงโวหารหาเสียงเท่านั้น
Yamagami Shingo จาก
Japan Institute of International Affairs ชี้ว่าความสัมพันธ์ทวิภาคีญี่ปุ่น-สหรัฐเข้มแข็งมาก
ยากจะเปลี่ยนแปลงชนิดจากหน้ามือเป็นหลังมือ รากฐานความสัมพันธ์จะไม่เปลี่ยนไม่ว่าใครดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ
หรือใครเป็นนายกฯ ญี่ปุ่น
ความจริงคือต่างต้องการกันและกัน
สหรัฐต้องการญี่ปุ่นเป็นหน้าด่านปิดล้อมจีน มีข้ออ้างเข้าพัวพันกับในภูมิภาค
ส่วนญี่ปุ่นต้องการรื้อฟื้นให้ประเทศกลับมายิ่งใหญ่ในทุกมิติอีกครั้ง
ถ้าพิจารณาตั้งแต่ช่วงหาเสียงจนบัดนี้ ทรัมป์พยายามจะเป็นมิตรกับรัสเซียมากขึ้น
หันมาท้าทายจีนแทน นั่นหมายความรัฐบาลทรัมป์ต้องการพันธมิตร
หุ้นส่วนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากกว่าเดิม
ไม่ว่าจะปรับปรุงอย่างไร เป้าหมายตามยุทธศาสตร์แม่บทยังคงอยู่ ไม่ว่าใครเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ
จากพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครท ยุทธศาสตร์แม่บทยังคงเดินหน้าต่อไป
การเมืองในประเทศกับการเมืองระหว่างประเทศ :
เรื่องราวที่เกิดขึ้นชี้ว่าความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐ-เกาหลีใต้
สหรัฐ-ญี่ปุ่นไม่อาจเปลี่ยนแปลงในชั่วพริบตา ความสัมพันธ์นั้นมั่นคงไม่หวือหวาอย่างที่ทรัมป์พูดในช่วงหาเสียง
เพราะความจริงมีผลประโยชน์ร่วมอื่นๆ ที่สำคัญกว่า
แม้เป็นประธานาธิบดีก็ใช่ว่าทำได้ทุกอย่างตามต้องการ
ถ้าตีกรอบเฉพาะเรื่องหาเสียง
เรื่องนี้ให้ความเข้าใจตอกย้ำอีกครั้งว่า การหาเสียงคือพูดชักจูงคนไปลงคะแนน แต่ไม่จำต้องปฏิบัติตามนั้นเสมอไป
โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องที่ชาวอเมริกันเห็นว่าไกลตัว ตอนนี้ผู้ชุมนุมสนใจประเด็นอื่นๆ
มากกว่า เป็นจุดอ่อนของระบอบประชาธิปไตยตะวันตกอีกข้อ และกลายเป็นบรรทัดฐานอย่างหนึ่ง
นักวิชาการบางคนสรุปว่าที่ทำได้จริงอาจมีเพียงร้อยละ 70 หรือต่ำกว่า
ดังที่เคยนำเสนอในบทความ
“ความจริงที่ซ่อนอยู่ในความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรของทรัมป์ (1)” “การที่ทรัมป์เอ่ยเรื่องให้ญี่ปุ่น
เกาหลีใต้มีอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง สหรัฐถอนกำลังกลับ ...
เท่ากับลบล้างสนธิสัญญาป้องกันประเทศทวิภาคีที่มีต่อกัน ลบล้างความเป็นพันธมิตรที่ดำเนินต่อเนื่องตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่
2”
“สมมุติว่าทรัมป์ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี
ขอเพียงรัฐบาล 2 ประเทศนี้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยละ เช่น 3-5 เปอร์เซ็นต์
เพียงเท่านี้ทุกอย่างจะกลับสู่สภาพเดิม
ทรัมป์สามารถพูดว่าได้ทำตามนโยบายที่หาเสียงแล้ว”
เนื้อหาสาระนโยบายของทรัมป์ต่อญี่ปุ่น
เกาหลีใต้มีเพียงเท่านี้เอง ที่เหลือทั้งหมดมากมายคือวาทกรรม เป็นกลเม็ดหาเสียงของทรัมป์ที่พยายามสร้างความแตกต่างจากผู้สมัครคนอื่นๆ
ให้ผู้ฟังเห็นว่าแตกต่าง ทั้งที่โดยความจริงแล้วไม่มีสาระสำคัญประการใด
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของทรัมป์
ปลายเดือนมีนาคม 2016 นายโยชิฮิเดะ ซูกะ (Yoshihide Suga) หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
รัฐบาลอาเบะคงนโยบายเช่นเดิม คือ ไม่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
“ไม่ว่าใครเป็นประธานาธิบดี ความเป็นพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐ คือเสาหลักของนโยบายต่างประเทศญี่ปุ่น”
“เราจะร่วมงานกับสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิดต่อไป
เพื่อความมั่งคั่งและความมั่นคงของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและของโลก”
ไม่ถึงเดือนหลังทรัมป์รับตำแหน่ง
ได้ข้อสรุปแล้วว่าถ้อยคำของหัวหน้าเลขาธิการซูกะ คือถ้อยคำของผู้มีความเข้าใจมากที่สุด
นั่นคือทุกอย่างเหมือนเดิม ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นอย่างที่เข้าใจ
12 กุมภาพันธ์ 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7401 วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560)
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7401 วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560)
---------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ทรัมป์ชูนโยบายทบทวนความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตร
เห็นว่าการคงทหารหลายหมื่นนายในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ไม่ก่อประโยชน์ต่อสหรัฐเท่าที่ควร ต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก ไม่คุ้มค่า
ไม่สนใจว่าหากถอนการเป็นพันธมิตรจะส่งผลต่อระบบความมั่นคงภูมิภาคและโลกอย่างไร
ความจริงที่ต้องเข้าใจคือประเทศเหล่านี้ช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณมานานแล้ว
และยังคงเจรจาต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้
บรรณานุกรม:
1. Abe, Trump agree to discuss post-TPP bilateral trade
framework. (2017, February 11). The Japan Times. Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2017/02/11/national/politics-diplomacy/abe-trump-agree-discuss-bilateral-trade-framework/#.WJ5zB1WLTZ4
2. Exclusive: Full text of Yomiuri Q&A with Secretary
Carter. (2015, April 8). The Japan News. Retrieved http://the-japan-news.com/news/article/0002063898
3. Garamone, Jim. (2017, February 2). Mattis Describes
Overseas Trip as Opportunity to Listen to Allies’ Concerns. DoD News.
Retrieved from
https://www.defense.gov/News/Article/Article/1068688/mattis-describes-overseas-trip-as-opportunity-to-listen-to-allies-concerns
4. Mattis assures policy continuity on N. Korea, full
defense commitment to S. Korea. (2017, February 2). The Korea Herald.
Retrieved from http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20170202000877
5. Mei, Ayako. (2017, February 4). Mattis clarifies U.S.
defense pledge, stays mum on host-nation support. The Japan Times.
Retrieved from
http://www.japantimes.co.jp/news/2017/02/04/national/politics-diplomacy/mattis-clarifies-u-s-defense-pledge-stays-mum-host-nation-support/#.WJXbCtJ97IU
6. Ramzy, Austine. (2016, March 28).
Comments by Donald Trump Draw Fears of an Arms Race in Asia. The New York
Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2016/03/29/world/asia/donald-trump-arms-race.html?_r=0
7. Trump details ‘America first’ foreign policy views,
threatening to withdraw troops from Japan, South Korea. (2016, March 27). The
Japan Times. Retrieved from
http://www.japantimes.co.jp/news/2016/03/27/world/politics-diplomacy-world/trump-details-america-first-foreign-policy-views-threatening-withdraw-troops-japan-south-korea/#.Vvh-wtJ97IV
8. UPDATE: Trump says U.S. committed to Japan security.
(2017, February 11). The Asahi Shimbun/Reuters. Retrieved from
http://www.asahi.com/ajw/articles/AJ201702110013.html
9. US Needs Japan as an 'Unsinkable Aircraft Carrier' to
Counter China's Influence. (2016, December 6). Sputnik News. Retrieved
from
https://sputniknews.com/politics/201612061048224828-us-japan-countering-china/
10. U.S. DEPARTMENT OF DEFENSE.
(2017, February 3). Readout of Secretary Mattis' Meetings with ROK Minister of
Foreign Affairs Yun Byung-Se and Minister of National Defense Han Min-Koo. Retrieved from
https://www.defense.gov/News/News-Releases/News-Release-View/Article/1070027/readout-of-secretary-mattis-meetings-with-rok-minister-of-foreign-affairs-yun-b
11. U.S. DEPARTMENT OF DEFENSE. (2017, February 3).
Strength of Alliance Highlights Meeting Between Mattis, Japan’s Prime Minister.
Retrieved from https://www.defense.gov/News/Article/Article/1070346/strength-of-alliance-highlights-meeting-between-mattis-japans-prime-minister
12. Yoshida, Reija.
(2017, February 3). Abe, Mattis reaffirm ties on defense. The Japan Times.
Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2017/02/03/national/politics-diplomacy/shinzo-abe-james-mattis-u-s-japan-bilateral-ties-defense/#.WJXrStJ97IU
-----------------------------