ทรัมป์ทำสงครามกับสื่อ

ทันทีที่รับตำแหน่ง ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่าพวกนักข่าวเป็น “มนุษย์ที่อสัตย์มากที่สุดในโลก” ท่ามกลางการถกเถียงจำนวนผู้เข้าร่วมพิธีรับตำแหน่ง ประธานาธิบดีทรัมป์ชี้ว่าสื่อมวลชนนำเสนอข่าวบิดเบือนว่ามีผู้เข้าร่วมน้อยกว่าสมัยประธานาธิบดีโอบามาเมื่อปี 2009 ตนเห็นคนเป็นล้าน อาจถึงล้านห้าแสนคน Sean Spicer โฆษกทำเนียบขาวกล่าวว่าเป็นครั้งที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุด ภาพถ่ายผู้เข้าร่วมงานเปรียบเทียบกับปี 2009 นั้นไม่เชื่อไม่ได้ ไม่ตรงความจริง มาตรการรักษาความปลอดภัยใหม่กันหลายแสนคนไม่ให้เห็นปรัมพิธี
            สัปดาห์ต่อมา ประธานาธิบดีทรัมป์ยืนยันอีกครั้งว่าสื่อเหมือน "พรรคฝ่ายค้าน" ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกสื่อมีปัญหา แต่สื่อส่วนใหญ่ไม่ซื่อสัตย์ จอมปลอมและหลอกลวง ทำตัวเหมือนพรรคฝ่ายค้าน ไม่ยุติธรรมต่อตน ตีตราว่าเป็นฝ่ายผิดตั้งแต่ต้น เอ่ยชื่อหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ว่าที่ยอดขายตกก็เพราะคนอ่านชอบตนมากกว่า
ทำไมพยายามทำลายสื่อกระแสหลัก :
การที่รัฐบาลทรัมป์กล่าวโทษโจมตีสื่อมวลชน เหตุผลง่ายๆ คือ สื่อมีอิทธิพลชี้นำความคิด เป็นเครื่องมือกล่อมเกลาทางการเมือง (political socialization)
สภาพที่เกิดขึ้นคือ อะไรที่สื่อนำเสนอตรงข้ามหรือขัดแย้งกับทรัมป์ ประธานาธิบดีจะพูดว่าสื่อนั้นเชื่อถือไม่ได้ ตั้งใจบั่นทอนทำลายตน
            ลองนำเสนอเรื่องที่สนับสนุนรัฐบาล ดูว่าประธานาธิบดีจะชื่นชมแค่ไหน
            ผลเสียร้ายแรงจากการทำสงครามกับสื่อ คือการทำลายวัฒนธรรมการเมือง ตำราอเมริกันมักสอนว่าเหตุผลหนึ่งที่ประชาธิปไตยอเมริกาเข้มแข็งก็เพราะมีวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย รัฐบาลทรัมป์กำลังทำลายวัฒนธรรมเหล่านี้

            สื่อกระแสหลักหลายสำนักออกโรงตอบโต้ บทวิพากษ์หลายบทอธิบายรายละเอียดคำพูดของแต่ละฝ่าย เปรียบเทียบภาพถ่ายเหตุการณ์ มุมมองความเห็นต่างจากรัฐบาล ผู้อ่านเข้าถึงรายละเอียดในหลายมุมมองผ่านสื่อ ยกตัวอย่าง สื่อ The New York Times รายงานผู้ชมทางโทรทัศน์ในสมัยโอบามาปี 2009 มี 38 ล้านคน สมัยเรแกนปี 1981 มี 42 ล้านคน ส่วนของทรัมป์มีเพียง 30.6 ล้านคน
            รัฐบาลทรัมป์ที่ตั้งได้ไม่ถึงเดือนเปิดฉากทำสงครามกับสื่อ มองอีกแง่อาจเป็นการตีฆ้องร้องป่าวให้ชาวอเมริกันสนใจทั้งรัฐบาลกับสื่อกระแสหลัก

            ทรัมป์ใช้ทวิชเตอร์เป็นสื่อประจำตัว ปัจจุบันมีผู้ติดตามทวิชเตอร์ทรัมป์กว่า 21 ล้านคน
            ผลสำรวจของ NBC News/Wall Street Journal เมื่อกลางเดือนมกราคม ผู้ตอบแบบสอบถามเพียงร้อยละ 26 เห็นด้วยกับการที่ประธานาธิบดีสื่อสารทางทวิชเตอร์ เพราะเป็นช่องทางตรง แต่ร้อยละ 69 ไม่เห็นด้วย เพราะอาจขาดการไตร่ตรอง ในจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด เพียงร้อยละ 9 ที่สนับสนุนเต็มที่ ร้อยละ 55 ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
            แม้ผลสำรวจชี้ว่าคนทั่วไปอยากให้ประธานาธิบดีเลิกใช้ทวิชเตอร์ ทรัมป์ทวิชข้อความว่า “ผมไม่ชอบการทวิช ผมมีเรื่องอื่นๆ ที่ควรทำ” แต่ที่ต้องใช้ทวิชเตอร์ต่อก็เพราะว่า “สื่อไม่รายงานความจริง ... เป็นวิธีเดียวที่ผมสามารถตอบโต้ เมื่อคนอื่นเข้าใจผมผิด” เป็นช่องทางที่สามารถสื่อสารสิ่งที่ต้องการจริงๆ จะเลิกใช้ทวิชเตอร์ก็ต่อเมื่อสื่อรายงานอย่างเที่ยงตรง
            น่าเห็นใจที่สื่อหลายสำนักมักเสนอข่าวด้านลบของทรัมป์ ทวิชเตอร์ส่วนตัวเป็นช่องทางเดียวที่สามารถพูดในสิ่งที่ตรงใจมากที่สุด

            ในอีกแง่หนึ่ง แท้ที่จริงแล้วรัฐบาลมีสื่อของรัฐ มีช่องทางสื่อสารมากมาย อีกทั้งสื่อทั่วไปพร้อมจะรายงานข่าวของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ยังเลือกที่ใช้ทวิชเตอร์ต่อไป
            ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ทรัมป์กำลังทำลายสื่อกระแสหลัก ไม่ให้สังคมสนใจ ไม่ให้คุณค่ากับสื่อกระแสหลัก ขอให้ทุกคน “ติดตามข้อความ” จากทวิชเตอร์ของทรัมป์โดยตรง
            หากทุกคนติดตามจากทวิชเตอร์อย่างเดียว จะไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร คำวิจารณ์จากผู้เห็นต่าง นี่คือความแตกต่างสำคัญระหว่างการรับข่าวสารรัฐบาลจากสื่อทั่วไปกับการติดตามทวิชเตอร์ของประธานาธิบดี

            สถานการณ์ในขณะนี้คือสื่อกระแสหลักรายงานข่าวโดยหยิบข้อความทวิชเตอร์ของทรัมป์ พร้อมกับแหล่งข่าวจากฝ่ายอื่นๆ ความคิดเห็นทั้งสนับสนุนกับต่อต้าน
            ข้อเสียอีกประการคือบดบังบทบาทของรัฐมนตรี ทีมโฆษก ที่ร้ายแรงกว่านั้นคือบางครั้งขัดแย้งกัน ทำให้สังคมไม่แน่ใจว่าควรเชื่อทวิชจากประธานาธิบดีหรือถ้อยแถลงของรัฐมนตรี ทรัมป์อาจตอบว่านี่คือกลยุทธ์ทำให้ฝ่ายตรงข้ามคาดเดาไม่ได้ (unpredictable) แต่หลายประเด็นเป็นเรื่องภายในประเทศโดยตรง สังคมไม่แน่ใจทิศทางนโยบาย และไม่แน่ใจว่าจะเปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่ เพราะทุกอย่างอยู่ในภาวะ “คาดเดาไม่ได้”

ห้ามคนคิดต่าง :
            ข้อสรุปเชิงหลักการคือ ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่อยากเห็นการคิดต่าง โดยเฉพาะสื่อกระแสหลักที่มีอิทธิพลต่อสังคม ถ้ามองจากแง่ทรัมป์การที่สื่อคิดต่างคือขัดขวางการทำงานของรัฐบาล ความจริงแล้วสื่อแต่ละสำนักมีอุดมการณ์ของตน พูดง่ายๆ คือมีทั้งสื่อที่อิงฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา ในช่วงเลือกตั้งมีทั้งสื่อที่สนับสนุนผู้สมัครรีพับลิกันกับที่สนับสนุนเดโมแครท เป็นเช่นนี้มานานแล้ว ไม่ได้เพิ่งเกิดในยุคทรัมป์
            เช่นเดียวกับที่ชาวอเมริกันคุ้นเคยกับสภาพเช่นนี้ สังคมมีความคิดหลากหลาย ให้ความคิดต่างเป็นโอกาสอภิปราย เรียนรู้การเมือง นี่คือประชาธิปไตย
แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่คิดว่าการเห็นต่างเป็นความงดงามของพหุสังคม แทนที่จะสรุปง่ายๆ ว่าสื่อหลอกลวง ไม่ยุติธรรมต่อตน น่าจะเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้อภิปรายรายละเอียดว่าสิ่งที่ถูกต้องกว่า ดีกว่า งดงามกว่าคืออะไร ไม่ควรสรุปสั้นๆ แต่เพียงว่าสื่อเชื่อถือไม่ได้ แล้วก็จบ

ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อพิสูจน์ว่าอะไรจริง อะไรเท็จ :
หลังการโต้ตอบ 2 วันว่าอะไรจริงอะไรเท็จ Sean Spicer โฆษกทำเนียวขาวกล่าวว่า “เราตั้งใจที่จะไม่โกหกคุณ” “ผมเชื่อว่าเราต้องซื่อสัตย์ต่อชาวอเมริกัน บางครั้งอาจคิดเห็นไม่ตรงกันว่าอะไรคือข้อเท็จจริง” บางครั้งบางเรื่องเราก็ไม่อาจเข้าใจครบถ้วน แต่ทั้งนี้ไม่ได้ตั้งใจที่จะโกหกคุณ
หลังการถกเถียงอย่างดุเดือด ท้ายที่สุดรัฐบาลทรัมป์ไม่พูดอีกว่าข้อเท็จจริงคืออะไร (จำนวนคนเข้าร่วมพิธีรับตำแหน่งประธานาธิบดี) ยืนยันไม่คิดจะพูดเท็จ ที่พูดต่างกันเป็นเพราะเข้าใจต่างกัน โดยไม่ยอมสรุปว่าใครพูดถูกผิด สภาพเช่นนี้ทำให้สังคมไร้คำตอบชัดว่าข้อเท็จจริงคืออะไร กลายเป็นมีข้อสรุป 2 ชุดที่แตกต่างกัน ขึ้นกับว่าใครจะเชื่ออะไร ใครจะเชื่อของใคร ดังที่บางคนบอกว่าเป็นข้อเท็จจริงอีกชุดหนึ่ง (alternative fact)

ประเด็นจำนวนผู้เข้าร่วมและรับชมพิธีรับตำแหน่งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นเพียงประเด็นแรก (ถ้าเริ่มนับจากเป็นประธานาธิบดี) น่าคิดว่านับจากนี้จะมีอีกกี่เรื่องกี่ประเด็น ที่สังคมอเมริกันกับสังคมโลกจะตั้งคำถามว่าอะไรจริงอะไรเท็จ ข้อสรุปคืออะไรกันแน่
เป็นงานหนักสำหรับผู้ใฝ่หาความจริง

ต้องไม่ลืมว่านี่คือสหรัฐอเมริกา ประเทศที่รัฐธรรมนูญให้ความสำคัญกับเสรีภาพ รวมทั้งเสรีภาพของสื่อ รัฐบาลที่เป็นของประชาชน ทำหน้าที่เพื่อประชาชน
ดังที่ตำราอเมริกันสอนว่า คำว่าเสรีภาพ (liberty) หมายถึงเสรีภาพอันเนื่องจากปลอดการควบคุมของรัฐบาล รวมถึงเสรีภาพทางเศรษฐกิจ รัฐบาลมีอำนาจจำกัด
หลักปกครองให้ความสำคัญกับเสรีภาพส่วนบุคคลมากที่สุด เสรีภาพส่วนบุคคลเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดที่ชาวอเมริกันจะต้องปกป้องด้วยชีวิต ทำสงครามเพื่อสิ่งนี้ บนพื้นฐานความเชื่อว่าปัจเจกบุคคลสามารถคิดและตัดสินใจอย่างถูกต้อง ดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมาย สามารถเลือกเป้าหมายของตนเอง และด้วยสิ่งนี้สังคมจะก้าวหน้า
            รัฐต้องไม่แทรกแซงสื่อ ไม่ปิดกั้นสื่อ เว้นแต่มีเหตุผลอันสมควรว่าควรหยุดการพูดนั้น เช่น คำพูดเท็จและส่อว่าคำพูดนั้นตั้งใจทำลายอีกฝ่าย คำพูดแง่ลบและส่อว่าจะทำร้ายอีกฝ่ายตามคำพูดนั้น ภาพอนาจาร โฆษณาที่ไม่เป็นความจริงหรือชี้นำให้เข้าใจผิด (หลักการแต่ละข้อมีรายละเอียดซับซ้อน)
            เสรีภาพการพูดเป็นดัชนีชี้วัดระดับความเป็นประชาธิปไตย

รัฐบาลน่าจะเป็นฝ่ายที่ใช้สื่อมากที่สุด :
            โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลคือสถาบันที่ใช้สื่อมากที่สุด พยายามเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากฝ่ายตนให้มากที่สุด
            ถ้าพูดในแง่บวก รัฐบาลพยายามให้ข้อมูล ให้ความเข้าใจ เพื่อประชาชนจะคิดเห็นตรงกับรัฐบาล สังคมมีเอกภาพ ประชาชนให้ความร่วมมือ ถ้าพูดแง่ลบ รัฐบาลพยายามโน้มน้าว ชี้นำความคิดประชาชน ให้เชื่อและเห็นด้วยกับรัฐบาล ทั้งๆ ที่หลายครั้งบิดเบือนข้อเท็จจริง บิดเบือนหลักการ ปิดกั้นการแสดงออกของฝ่ายตรงข้าม
            ในสมัยประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช (George W. Bush) รัฐบาลใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อให้สื่อทุกแขนงนำเสนอเรื่องราวสนับสนุนต่อต้านก่อการร้าย สื่อหลายสำนักที่ต่อต้านบุชในช่วงเลือกตั้งหันกลับมาเชิดชูประธานาธิบดีเต็มกำลัง สังคมโลกมารู้ทีหลังว่ารัฐบาลบุชใช้ข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือเป็นข้ออ้างทำสงครามต่อต้านก่อการร้าย

ถ้าย้อนหลังตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง สื่อกระแสหลักมักแสดงข่าวด้านลบของทรัมป์ บัดนี้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว ดูเหมือนว่ารัฐบาลทรัมป์ต้องการเวลาเพื่อปรับตัวเข้าสื่อ สงครามกับสื่อกระแสหลักจะสิ้นสุดหรือไม่ มีอะไรที่ซับซ้อนกว่านี้หรือไม่
ถ้าวิเคราะห์ถึงที่สุด ทั้งคู่เป็นมิตรกับศัตรูพร้อมๆ กัน สิ่งที่เห็นในขณะนี้อาจไม่ใช่ความจริงแท้ทั้งหมด เป็นเรื่องที่ต้องติดตามระยะยาว
5 กุมภาพันธ์ 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7394 วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560)
--------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง
จากนี้อีก 4 ปี ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ในวัย 70 จะต้องเผชิญเรื่องยากๆ อีกมากมาย เรื่องที่เขาไม่รู้ ไม่เคยคิดถึงมาก่อน สังคมอเมริกันที่ให้เสรีกับการวิพากษ์วิจารณ์ สังคมโลกที่จะร่วมวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน ประวัติศาสตร์กำลังบันทึกว่าทรัมป์เป็นประธานาธิบดีที่ได้รับความชื่นชมหรือคนที่โลกประณาม คงเป็นงานสำคัญชิ้นสุดท้ายสำหรับนักสู้ที่ชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์
บรรณานุกรม :
1. Bardes, Barbara A., Shelley, Mack C., & Schmidt, Steffen W. (2012). American Government and Politics Today: Essentials (2011 - 2012 Ed.). USA: Wadsworth, Cengage Learning.
2. Davis, Julie Hirschfeld., Rosenberg, Matthew. (2017, January 21). With False Claims, Trump Attacks Media on Turnout and Intelligence Rift. The New York Times. Retrieved from https://www.nytimes.com/2017/01/21/us/politics/trump-white-house-briefing-inauguration-crowd-size.html
3. Fandos, Nicholas. (2017, January 22). White House Pushes ‘Alternative Facts.’ Here Are the Real Ones. The New York Times. Retrieved from https://www.nytimes.com/2017/01/22/us/politics/president-trump-inauguration-crowd-white-house.html?_r=0
4. Ginsberg, Benjamin., Lowi, Theodore J., Weir, Margaret., Tolbert, Caroline J., & Spitzer, Robert J. (2015). We the People: An Introduction To American Politics. (Tenth Essentials Edition). NY.: W. W. Norton & Company.
5. Greenberg, Edward S., Page, Benjamin I. (2009).The Struggle for Democracy (9th Ed.). USA: Pearson Education.
6. Harwood, John. (2017, January 18). 69% of Americans call Trump's Twitter habit a 'bad thing,' says NBC-WSJ poll. CBNC. Retrieved from http://www.cnbc.com/2017/01/17/69-of-americans-call-trumps-twitter-habit-a-bad-thing-says-nbc-wsj-poll.html
7. Jaffe, Alexandra. (2017, January 23). White House Press Secretary Sean Spicer: ‘Our Intention Is Never to Lie to You’. NBC News. Retrieved from http://www.nbcnews.com/politics/white-house/white-house-press-secretary-sean-spicer-our-intention-never-lie-n710966?cid=sm_fb_nbcnews
8. Magleby, David B., Light, Paul C. (2009). Government by the People (23rd Ed.). USA: Pearson Education.
9. Sommerfeldt, Chris. (2017, January 28). President Trump defends Steve Bannon, slams the media as the ‘opposition party’.  New York Daily News. Retrieved from http://www.nydailynews.com/news/politics/trump-defends-bannon-slams-media-opposition-party-article-1.2957936
10. Trump says tweeting his only way to counteract dishonest media. (2017, January 18). TASS. Retrieved from http://tass.com/world/925685
11. ‘War with media’: Trump press team defend ‘alternative facts’. (2017, January 23). France24/Reuters. Retrieved from http://www.france24.com/en/20170123-war-with-media-trump-administration-rolls-out-alternative-facts
-----------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก