ทรัมป์กับกระแส Impeachment

รายงานร่วมของ 3 องค์กรรัฐชี้ว่าแฮ็กเกอร์เจาะเข้าระบบฐานข้อมูลของพรรคเดโมแครท ผลการตีแผ่ข้อมูลดังกล่าวทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่าคณะกรรมการพรรควางตัวไม่เป็นกลาง เข้าข้างฮิลลารี คลินตัน หลายคนเชื่อว่าเป็นเหตุให้ฮิลลารีพ่ายแพ้การเลือกตั้ง
            ถ้าพูดอย่างเป็นกลาง ต้องแสดงความชื่นชมและขอบคุณเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรอง หน่วยสืบราชการลับหลายหน่วยที่ร่วมกันทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่หวั่นเกรงอิทธิพลของผู้ที่กำลังจะเป็นประธานาธิบดีในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
            ที่สาธารณชนรับรู้คือหน่วยงานเหล่านี้ทำงานโดยคำสั่งจากประธานาธิบดีโอบามา ดังนั้นคู่กรณีน่าจะเป็นตัวประธานาธิบดีโอบามากับทรัมป์ แต่ทิศทางข่าวไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ กลายเป็นว่าประธานาธิบดีโอบามาเป็นเพียงคนที่กำลังก้าวลงจากเวทีเท่านั้น ทิ้งไว้แต่ข้อสรุปว่าทางการรัสเซียเกี่ยวข้องกับการแฮ็กข้อมูล ช่วยให้ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง
ดูเหมือนว่าประธานาธิบดีโอบามาตั้งใจจะทิ้งประเด็นให้สังคมเป็นผู้หาคำตอบ เป็นผู้ตัดสินว่าจะให้จบอย่างไร
ข้อสรุป 2 ชุด :
นับจากช่วงหาเสียงจนปัจจุบัน ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ใช้ทักษะด้านสื่อของตนเรื่อยมา มีการปะทะคารมอย่างรุนแรงกับสื่อบางสำนัก ชี้ว่านำเสนอข่าวเท็จ ไม่มีความน่าเชื่อ พยายามใช้ทวิตเตอร์ของตนสื่อสารกับสังคม
ด้าน Julian Assange ผู้ก่อตั้งวิกีลีกส์ (WikiLeaks) ยืนยันอีกครั้งว่าเขาไม่ได้ข้อมูลอีเมลจากบุคคลที่ทำงานให้กับทางการรัสเซีย เช่นเดียวกับรัฐบาลรัสเซียที่ออกมายืนยันหลายรอบว่าไม่เกี่ยวข้องแต่ประการใด
สถานการณ์ขณะนี้จึงมีข้อสรุป 2 ชุด ชุดแรกคือทางการรัสเซียช่วยทรัมป์ชนะเลือกตั้ง ด้วยการแฮ็กข้อมูล เปิดเผยข้อมูลที่คณะกรรมการพรรคเดโมแครทช่วยฮิลลารีให้เป็นตัวแทนพรรค ส่วนอีกชุดคือทางการรัสเซียไม่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องเท็จที่หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐกับหลายฝ่ายสร้างขึ้นมา
ประเด็นน่าสนใจอยู่ที่ท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่นตลบในขณะนี้ ทุกอย่างยังคงเดินหน้าต่อไป ต่างฝ่ายต่างยึดว่าข้อสรุปของตนถูกต้อง คำถามคือข้อสรุปใดที่ถูกต้องจริงๆ

เรื่องนี้จะจบอย่างไร :
            คำถามสำคัญอีกข้อคือเรื่องนี้จะจบอย่างไร ในขณะนี้คือการกล่าวหาไม่สิ้นสุด มีการขุดคุ้ย เจาะลึกลงรายละเอียดมากขึ้น มีตัวละครใหม่ ข้อมูลใหม่ เช่น การกล่าวหาว่ารัฐบาลปูตินพยายามเอาใจทรัมป์มานานหลายปี ตั้งแต่ครั้งที่ทรัมป์เยือนกรุงมอสโกเมื่อปี 2013 มีข้อมูลชิ้นเล็กๆ ที่โยงว่ารัฐบาลรัสเซียพยายาม “ซื้อตัว” ทรัมป์ ข้อมูลจากอดีตสายลับอังกฤษที่ชี้ว่ารัสเซียใช้วิธีทั้งขู่และปลอบเพื่อซื้อใจทรัมป์ เช่น จะเก็บคลิปฉาวเป็นความลับ เป็นคลิปทรัมป์ดูโชว์ลามก (แก้ไข) (ความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างทรัมป์กับโสเภณี) ในโรงแรมแห่งหนึ่ง พร้อมกับมอบข้อเสนอธุรกิจพิเศษแก่ทรัมป์
ทรัมป์ปฏิเสธชัดว่าตนกับทีมงานไม่ได้ติดต่อกับพวกรัสเซีย ไม่มีข้อตกลงใดๆ กับรัสเซีย และไม่มีทางเป็นไปได้ ตนไม่ได้กู้ยืมเงินจากรัสเซีย ด้านกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียออกมาปฏิเสธทันทีเช่นกัน ชี้ว่าเป็นเรื่องไร้สาระ
            ข้อสังเกตคือ ข้อมูลใหม่ที่ปรากฎนำสู่ข้อสรุปที่เป็นธงเดิม ฮิลลารีพูดในช่วงหาเสียงว่าหากทรัมป์ชนะเลือกตั้งจะเป็นหุ่นเชิด (puppet) ของรัสเซีย

            สถานการณ์ในขณะนี้คือ 2 เรื่องเดินหน้าไปพร้อมๆ กัน เรื่องแรกคือว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์กำลังจะเข้าพิธีรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ อีกเรื่องคือการขุดคุ้ยความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์กับรัฐบาลปูติน
            การเป็นหุ่นเชิดจริงหรือไม่นั่นเป็นเรื่องหนึ่ง ที่สำคัญกว่าคือการรับรู้ของคนในสังคม ตั้งแต่ช่วงหาเสียงก็มองทรัมป์ในแง่ลบ การรณรงค์เลือกตั้งทางลบ (Negative Campaign) ที่ผู้สมัครต่างหาเสียงด้วยการสาดโคลนใส่กัน ส่งผลให้ทรัมป์เสื่อมเสียตั้งแต่ยังไม่ชนะเลือกตั้ง แม้หลังจากชนะแล้ว หลายฝ่ายรวมทั้งสื่อหลายสำนักยังคงนำเสนอเรื่องที่ทำให้ทรัมป์เสื่อมเสีย
            เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นประเด็นที่พูดกันมากและนำเสนออย่างต่อเนื่อง ราวกับว่าครอบครัวทรัมป์กำลังจะเข้าไปโกงกินบ้านกินเมือง ไม่เพียงเท่านั้น การแต่งตั้งรัฐมนตรีบางตำแหน่งถูกวิพากษ์ว่าไม่เหมาะสม เสี่ยงต่อการมีผลประโยชน์ทับซ้อน วิจารณ์ว่าทรัมป์แต่งตั้งคนที่เป็นเหมือน “ทรัมป์”
ล่าสุดคือแต่งตั้งลูกเขย Jared Kushner เป็นที่ปรึกษาอาวุโสประจำทำเนียบ Kushner มีบทบาทสำคัญตั้งแต่ช่วงหาเสียง จนถึงการโอนถ่ายอำนาจเพื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดี ผู้สังเกตการณ์ชี้ว่าเขาถูกวางตัวตั้งแต่ต้นให้มีบทบาททางการเมือง ในขณะที่นักกฎหมายบางคนตั้งข้อสงสัยว่าการแต่งตั้งลูกเขยเป็นที่ปรึกษาจะผิดกฎหมายหรือไม่
            ดังนั้น จะโทษคนอื่นเสียทั้งหมดก็ไม่ได้ การแต่งตั้งลูกเขยเป็นที่ปรึกษาแม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ทรัมป์น่าจะคาดเดาได้แต่ต้นว่าจะเกิดข้อครหา ในสถานการณ์ที่เต็มด้วยข่าวลบอื่นๆ อยู่แล้ว
            แต่ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ยังฝืนกระแส

            นอกจากนี้ การอธิบายชี้แจงของทรัมป์เป็นอีกส่วนที่ทำให้สังคมไม่มั่นใจในตัวทรัมป์ ยกตัวอย่าง แต่แรกทรัมป์ปฏิเสธเรื่องทางการรัสเซียแฮ็กข้อมูลเรื่อยมา จนถึงเมื่อวันที่ 6 มกราคมว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวยอมรับว่าน่าจะเป็นพวกรัสเซียที่แฮ็กข้อมูลพรรคเดโมแครท แต่ไม่กี่วันต่อมาก็เปลี่ยนท่าทีว่าอาจไม่ใช่รัสเซียก็เป็นได้
            ไม่ว่าเรื่องที่รัฐบาลกับสื่อนำเสนอจะเป็นจริงหรือเท็จ สังคมอเมริกันกำลังตีตราว่าทรัมป์คือประธานาธิบดีที่เสื่อมเสีย
            ในระหว่างที่สังคมยังไร้คำตอบว่าอะไรจริงอะไรเท็จ การขุดคุ้ยสืบสวนยังดำเนินต่อไป เรื่องยังไม่จบเพียงเท่านี้

กระแส Impeachment และการทำลายอย่างเป็นระบบ :
            ทันทีที่ชนะเลือกตั้ง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญเริ่มแสดงความเห็นว่าไม่นานหลังรับตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์จะถูกนำเข้ากระบวน Impeachment ขับออกจากตำแหน่ง หลายคนเดาว่าจะมาจากเหตุผลประโยชน์ทับซ้อน การทุจริตคอร์รัปชัน
ไม่ว่าประวัติศาสตร์สหรัฐจะจารึกว่าประธานาธิบดีทรัมป์ถูกขับออกจากตำแหน่งหรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือ กระแสข่าวลบที่ควบคู่กับกระแส Impeachment ตั้งแต่ยังไม่ดำรงตำแหน่ง

            ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะโทษผู้อื่นทั้งหมดคงไม่ได้ เพราะบางอย่างที่ทำสมควรถูกวิพากษ์วิจารณ์ เช่น การแต่งตั้งลูกเขย การแก้ข่าวส่อออกมาในทางลบมากกว่าบวก บางครั้งเหมือนเป็นการราดน้ำมันเข้ากองไฟ ทำให้เรื่องยิ่งลุกลามบานปลาย
ผลสำรวจของ Pew Research Center ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ที่ผ่านมา ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 57 เป็นกังวลเรื่องที่ทรัมป์กับครอบครัวอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ร้อยละ 58 เห็นว่าทรัมป์เป็นคนหุนหันพลันแล่น อาจตัดสินเรื่องสำคัญโดยขาดการยับยั้งชั่งใจ ร้อยละ 49 ไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งรัฐมนตรี ตำแหน่งสำคัญๆ (ร้อยละ 41 เห็นว่าดีแล้ว)
โดยรวมแล้วผลสำรวจดังกล่าวบ่งชี้ว่าคนในสังคมส่วนใหญ่มองแง่ลบต่อว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์กับคณะรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทำงาน

จากการวิเคราะห์พบว่า นับจากช่วงหาเสียงทรัมป์ถูกโจมตีเรื่อยมา บางเรื่องมีความต่อเนื่อง มีลักษณะเป็นกระบวนการ จนน่าคิดว่า เป็นการทำลาย “อย่างเป็นระบบ” เริ่มด้วยการสร้างข่าวลบ เน้นเสนอข่าวเสื่อมเสีย ขยายข่าวภาพพจน์ทางลบ บั่นทอนความน่าเชื่อถือต่อตัวทรัมป์ ผลคือชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยเริ่มคล้อยตาม เห็นว่าทรัมป์ไม่คู่ควรเป็นประธานาธิบดี

รายงานของหน่วยข่าวกรองสหรัฐ ข้อมูลที่ชี้ว่ารัฐบาลรัสเซียพยายามซื้อตัวทรัมป์ และผลสำรวจของ Pew Research Center ไม่มีผลทางกฎหมาย แต่ทั้งหมดกำลังชี้ทิศทางสู่ ข้อสรุปสุดท้าย นั่นคือ สมควรแล้วที่รัฐสภาจะ impeach ทรัมป์จากตำแหน่งประธานาธิบดี
Julian Assange ผู้ก่อตั้งวิกีลีกส์เป็นผู้หนึ่งที่คิดทำนองนี้
ที่เหลือคือรักษากระแสภาพลบ รอเรื่องผิดกฎมาย และรอจังหวะเวลาเท่านั้น

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
            สุนทรพจน์อำลาตำแหน่งของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ใจความตอนหนึ่งว่า ประชาธิปไตยจะถูกคุกคามทันทีเมื่อประชาชนไม่ใส่ใจ ทุกคนจึงต้องทุ่มเทร่วมสร้างสถาบันประชาธิปไตย ไม่ปล่อยให้อำนาจเงินมีอิทธิพลเหนือรัฐสภา ร่วมสร้างการเมืองที่โปร่งใส มีจริยธรรม สิ่งเหล่าจะไม่เกิดถ้าทุกคนไม่เข้าไปมีส่วนร่วม อันเป็นความรับผิดชอบอย่างหนึ่งของความเป็นพลเมือง
            ประชาธิปไตยจะอ่อนแอลงถ้าตีความว่าชาวอเมริกันบางคนมีความเป็นอเมริกันมากกว่าคนอื่น ปฏิเสธระบอบเพียงเพราะมีการทุจริต และเมื่อทุกคนเอาแต่ตำหนิผู้นำที่เลือกมาโดยไม่ทำหน้าที่พลเมืองตนเอง ต้องตระหนักเสมอว่าหน่วยที่สำคัญที่สุดคือ “พลเมือง”
            ระบอบประชาธิปไตยจึงต้องการพลเมือง ที่ไม่ใช่เพียงไปเลือกตั้ง หรือยึดผลประโยชน์ส่วนตัวอันคับแคบ แต่ต้องทำหน้าที่ ต้องแสดงบทบาทเจ้าของประเทศ เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองและกับหน่วยงานราชการทุกระดับ
ความเป็นไปของทรัมป์จะเป็นเครื่องพิสูจน์อีกครั้งว่าอนาคตของชาวอเมริกันอยู่ในมือของคนอเมริกัน หรืออยู่ภายใต้ชี้นำอย่างผิดๆ ของบางคนบางฝ่าย (ไม่ว่าจะเป็นคนในหรือนอกประเทศ) เป็นความท้าทายของระบอบประชาธิปไตยอเมริกันโดยแท้
15 มกราคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7373 วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ.2560)
------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง
ประธานาธิบดีโอบามามีคำสั่งลงโทษรัสเซีย หลังได้ข้อสรุปว่ารัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดี ด้วยการขโมยและเปิดเผยอีเมลของพรรคเดโมแครท ประเด็นที่ไม่พยายามเอ่ยถึงคืออีเมลเหล่านั้นชี้ว่าผู้ใหญ่ในพรรคเดโมแครทตั้งใจให้ฮิลลารี คลินตันเป็นตัวแทนพรรค คณะกรรมการพรรคจึงบ่อนทำลายคะแนนคู่แข่งคนอื่นๆ จนฮิลลารีได้เป็นตัวแทนพรรคในที่สุด ส่อว่าโอบามากำลังปกป้องระบอบคณาธิปไตย
บรรณานุกรม:
1. Buncombem, Andrew. (2017, January 10). Donald Trump's son-in-law Jared Kushner 'to be senior adviser to the president'. The Independent. Retrieved from http://www.independent.co.uk/news/people/donald-trump-jared-kushner-senior-adviser-to-president-latest-a7518156.html
2. Burrows, Thomas. (2017, January 3). Assange says he is '1,000% confident' that Russia was NOT the source for hacked Democratic emails which were published by WikiLeaks. Daily Mail. Retrieved from http://www.dailymail.co.uk/news/article-4083580/Assange-says-1-000-confident-Russia-NOT-source-hacked-Democratic-emails-published-WikiLeaks.html
3. Claims That Russia Tried to 'Recruit' Trump 'Nonsense'. (2017, January 12). RT. Retrieved from https://sputniknews.com/politics/201701121049523896-russia-trump-zakharova/)
4. Graham, Davida. (2017, January 9). Trump’s Senior Adviser-in-Law. The Atlantic. Retrieved from https://www.theatlantic.com/politics/archive/2017/01/jared-kushner/512576/
5. Pew Research Center. (2017, January 10). Negative Views of Trump’s Transition, Amid Concerns About Conflicts, Tax Returns. Retrieved from http://www.people-press.org/2017/01/10/negative-views-of-trumps-transition-amid-concerns-about-conflicts-tax-returns/
6. Sengupta, Kim. (2017, January 13). Revealed: former British ambassador Sir Andrew Wood's key role in Trump investigation. The Independent. Retrieved from http://www.independent.co.uk/news/world/americas/donald-trump-russia-dossier-leak-sir-andrew-wood-john-mccain-british-ambassador-spy-a7524931.html
7. Shane, Socott., Confessore, Nicholas., & Rosenberg, Matthew. (2017, January 11). How a Sensational, Unverified Dossier Became a Crisis for Donald Trump. The New York Times. Retrieved from https://www.nytimes.com/2017/01/11/us/politics/donald-trump-russia-intelligence.html
8. Tumulty, Karen., Rucker, Philip. (2016, October 19). At third debate, Trump won’t commit to accepting election results if he loses. The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/politics/trump-wont-commit-to-accepting-election-results-if-he-loses/2016/10/19/9c9672e6-9609-11e6-bc79-af1cd3d2984b_story.html
9. US-CERT. (2016, December 29). Joint DHS, ODNI, FBI Statement on Russian Malicious Cyber Activity. Retrieved from https://www.us-cert.gov/sites/default/files/publications/JAR_16-20296A_GRIZZLY%20STEPPE-2016-1229.pdf
10. The White House. (2017, January 10). FAREWELL ADDRESS: President Obama’s Farewell Address to You. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/farewell
11. Weir, Fred. (2017, January 12). Why Russia's Kremlin watchers take Trump dossier with a grain of salt. The Christian Science Monitor. Retrieved from http://www.csmonitor.com/World/Europe/2017/0112/Why-Russia-s-Kremlin-watchers-take-Trump-dossier-with-a-grain-of-salt
-----------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก