ผลเลือกตั้งประธานาธิบดี 2016 กับความคิดแก้วิธีเลือกตั้ง

การปรากฏตัวของโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ก่อกระแสต่อต้าน ถกเถียงในสังคมอย่างกว้างขวาง บางคนเห็นว่าตอกย้ำความแตกแยกทางการเมืองกับสังคม สะท้อนปัญหาที่หมักหมม
            ถ้ามองให้เป็นบวก เรื่องราวของทรัมป์ในขวบปีที่ผ่านมา และอีก 4 ปีข้างหน้า เป็นโอกาสผลักดันให้สังคมรวมตัวกันมากขึ้น ทั้งในระดับสถาบันศึกษา ชุมชน และกลุ่มในโซเชียลมีเดีย เป็นเวลาของการเมืองภาคประชาชน
            ผู้ชุมนุมประท้วงประกอบด้วยคนทุกระดับ หลายคนเป็นนักเรียนนักศึกษา คนทำงานในวัยหนุ่มสาว คนกลุ่มหลังเหล่านี้ยังอ่อนประสบการณ์ทางการเมือง แต่มีไฟที่อยากเห็นการเมืองที่ดีกว่าเดิม ได้ประธานาธิบดีที่ดีกว่านี้
            คนเหล่านี้อาจเป็นความหวังของการปฏิรูปการเมืองรอบใหม่ เป็นศูนย์รวมของความคิดใหม่ๆ ไม่ยึดติดกรอบความคิดเดิม หากพวกเขารวมกลุ่มจริงจัง ร่วมแสดงความเห็น วิเคราะห์อย่างลงลึก อาจได้ “ทางออกใหม่” ให้คนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าช่วยพิจารณาอีกรอบ
            ผู้ที่ออกมาเดินประท้วงรวมแล้วอย่างมากเป็นแค่หลักแสน ไม่มากเมื่อเทียบกับผู้ออกไปใช้สิทธิ์ทั้งสิ้น 132.6 ล้านคน จากประชากร 320 ล้านคน แต่ต้องเข้าใจว่ายังมีอีกนับล้านที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง การเมืองที่ดีกว่านี้ 
เลือกประธานาธิบดีจาก electoral vote ไม่ใช่ popular vote :
            ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยจะเคยชินกับหลักเสียงข้างมาก ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดคือผู้ชนะเลือกตั้ง แต่บางประเทศมีความซับซ้อนกว่าคำว่าได้คะแนนสูงสุด
            กรณีเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐคือประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจ ชาวอเมริกันไม่น้อยตั้งคำถามว่าทำไมผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเลือก ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) มากกว่าโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ทรัมป์เป็นฝ่ายชนะ พูดง่ายๆ ว่าทำไมเมื่อชาวอเมริกาส่วนใหญ่เลือกฮิลลารีแต่ทรัมป์เป็นผู้ชนะ
            คำตอบสั้นๆ คือ กฎหมายสหรัฐบัญญัติว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตำแหน่งประธานาธิบดี (กับรองประธานาธิบดี) ไม่ใช่ประชาชนโดยตรง แต่เป็นคณะบุคคลที่ชื่อว่า Electors (Electoral College)

            Electors ของแต่ละรัฐจะตัดสินเลือกโดยยึดความต้องการของประชาชนผู้ไปลงคะแนนเลือกตั้งในรัฐของตน สมมุติว่าที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ถ้าประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งส่วนใหญ่เลือกผู้สมัครพรรครีพับลิกัน Electors ทุกคนของรัฐนี้จะเลือกผู้สมัครประธานาธิบดีจากพรรคดังกล่าวเพียงคนเดียว
            ผลการเลือกตั้งจึงระบุว่ารัฐใดผู้สมัครคนใดชนะ เห็นเป็นสีน้ำเงิน (พรรคเดโมแครท) หรือสีแดง (พรรครีพับลิกัน) โดยที่จำนวน electoral votes ในแต่ละรัฐไม่เท่ากัน

            การทำความเข้าใจจำนวน electoral votes ของแต่ละรัฐ ต้องย้อนศึกษาประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยก่อนก่อตั้งประเทศ ด้วยความที่แต่รัฐถือว่าตนมีความสำคัญเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐที่มีประชากรมากหรือน้อย วิธีคำนวณส่วนหนึ่งอิงหลักการนี้ คือ หลักความเท่าเทียมของแต่ละรัฐๆ จะมี 2 เสียงเท่ากัน หรือเท่ากับจำนวนวุฒิสมาชิก
            หลักคำนวณอีกข้อ คือ ยึดจำนวนประชากร ประชากรมากจะมี Electors มาก เท่ากับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละรัฐ
ผลคือ สหรัฐประกอบด้วย 50 รัฐ มีส.ว.รัฐละ 2 คน รวมทั้งประเทศมี 100 คน ส่วน ส.ส.มี 435 คน เมื่อรวมกับอีก 3 คนของ District of Columbia จึงมีทั้งหมด 538 คน เป็นตัวเลขเดียวกับจำนวน Electors
Electors แต่ละคนมี 1 คะแนนเสียง เรียกคะแนนนี้ว่า electoral votes เป็นที่มาว่าผู้สมัครที่ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีจะต้องได้คะแนน electoral votes 270 คะแนนขึ้นไป

มีความเป็นไปได้ว่า ผู้ชนะเลือกตั้งจะได้คะแนนจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง (popular vote) ต่ำกว่าผู้สมัครที่แพ้ เรื่องเช่นนี้เคยเกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง เช่น การชนะเลือกตั้งของ Abraham Lincoln, Woodrow Wilson, Harry Truman, John F. Kennedy, Richard Nixon (ในปี 1968), Bill Clinton และ George W. Bush (ในปี 2000) ประธานาธิบดีเหล่านี้ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง (popular vote) ต่ำกว่าคู่แข่ง
การเลือกตั้งปี 2016 โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นกรณีล่าสุดที่ชนะฮิลลารี คลินตัน ด้วยคะแนน popular vote ที่ต่ำกว่า ฮิลลารีได้ popular vote มากกว่าถึง 1.7 ล้านคะแนน จากผู้ออกไปใช้สิทธิ์ทั้งสิ้น 132.6 ล้านคน
ทรัมป์ชนะเลือกตั้งเพราะได้ electoral votes 290 เสียง ส่วนฮิลลารีได้ 232

            ข้อคิดคือ ในโลกนี้มีนับร้อยประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย หากศึกษาลงลึกจะพบว่ามีรายละเอียดลักษณะรูปแบบการปกครองแตกต่างกัน ผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐไม่ได้เลือกประชาธิปไตยเพราะต้องการเลียนแบบประเทศอื่น วางระบบโดยยึดบริบทและความต้องการของตนเป็นหลัก จึงมีวิธีเลือกตั้งที่เป็นเอกลักษณ์

เรื่องระยะยาวที่ต้องอาศัยคนมีส่วนร่วมมากที่สุด :
            คนมาร่วมชุมนุมมาจากกลุ่มคนหลากหลาย ด้วยวัตถุประสงค์หลากหลาย ทั้งหมดทั้งปวงสะท้อนความเป็นพหุสังคม ส่วนใหญ่ต่อต้านความสุดโต่งทางใดทางหนึ่ง ในขณะเดียวกันพวกเขาขัดแย้งกันเองด้วย ไม่ง่ายที่จะได้ข้อสรุปในความเป็นพหุสังคมขนาดใหญ่นับร้อยล้านคน
            ลำพังเรื่องสร้างเอกภาพในคนหมู่มากเป็นเรื่องท้าทายยิ่ง

ไม่เพียงเท่านั้น หากจะแก้ให้ใช้ popular vote เป็นตัวตัดสินจะต้องปรับแก้รัฐธรรมนูญ การปรับแก้ประกอบด้วย 2 ขั้นตอนหลัก คือ การยื่นเรื่องที่ผ่านการรับรอง (proposal) กับการสัตยาบัน (ratification)
            การปรับแก้รัฐธรรมนูญต้องเริ่มด้วยการผ่านการรับรองด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกสภาทั้ง 2 สภา (ได้คะแนน 2 ใน 3 ของแต่ละสภา) หรือ 2 ใน 3 ของรัฐ (สมาชิกนิติบัญญัติของแต่ละรัฐเป็นผู้พิจารณา ผลสรุปเป็นระดับรัฐ) ในการประชุมเพื่อรัฐธรรมนูญแห่งชาติ (national constitutional convention) เพื่อเปิดสภาพิจารณาปรับแก้ตามคำร้อง (ร่างที่เสนอมา) ที่ผ่านมาการปรับแก้ทั้งหมดทำผ่านกลไกของรัฐสภา
จากนั้น รัฐสภาจะเป็นผู้กำหนดวิธีการรับรอง (สัตยาบัน) มี 2 วิธีคือ โดยผ่านการพิจารณาของสมาชิกนิติบัญญัติของแต่ละรัฐ ด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนรัฐ (ยึดรัฐเป็นหลัก) อีกวิธีคือการพิจารณาผ่านการประชุมรัฐวาระพิเศษ (special state conventions) ร่างจะผ่านได้ด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนรัฐเช่นกัน
จะเห็นว่าในขั้นการให้สัตยาบันจะยึดการตัดสินของ “รัฐ” เป็นเกณฑ์เท่านั้น เป็นไปตามแนวทางสมัยก่อตั้งประเทศที่ให้ความสำคัญกับ “รัฐ” ต่างๆ ที่รวมกันเป็นประเทศ
ที่ผ่านมาการปรับแก้เกือบทุกครั้งใช้กลไกการประชุมรัฐสภาในขั้นแรกและสัตยาบันโดยการพิจารณาของสมาชิกนิติบัญญัติของแต่ละรัฐ มีเพียงร่างเดียวที่ให้สัตยาบันโดยการพิจารณาผ่านการประชุมรัฐวาระพิเศษ

            นับจากเริ่มใช้รัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 1789 มีผู้ยื่นเรื่องแก้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการกว่าหมื่นครั้ง แต่ที่ไปถึงขั้นพิจารณา 2 สภามีเพียง 33 เรื่อง (ผ่านคะแนน 2 ใน 3) และสัตยาบันเพียง 27 เรื่อง
            การจะปรับแก้จึงเป็นเรื่องยากมากตั้งแต่ขั้นตอนแรก
ยิ่งถ้าเป็นประเด็นที่มาจากภาคประชาชน ความยากลำบากจะยิ่งเพิ่มทวี ถ้าเข้าใจประเด็นชาวอเมริกาเสื่อมศรัทธานักการเมืองของตน
            ความเป็นประเทศสหรัฐอเมริกาก็เป็นเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องระยะยาวที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมมากที่สุด

งานที่ต้องอาศัยเวลาและศึกษาอย่างเป็นระบบ :
            ประเด็นที่มาประธานาธิบดีเป็นเรื่องเก่าที่ถกกันมาเป็นร้อยปี มีงานวิจัยจำนวนมหาศาล จนแล้วจนรอดยังเป็นการเลือกตั้งแบบเดิม พูดอีกมุมคือน่าจะเหมาะสมดีแล้ว แม้มีผู้ไม่เห็นด้วย
            การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดเป็นตัวจุดประกายให้เกิดการถกอีกรอบ มีข้อพึงระวังว่าจะต้องเป็นการคิดวิเคราะห์ ศึกษาอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ไม่เอาอารมณ์ความรู้สึกเป็นตัวนำ
            เรื่องที่หลายคนไม่ทราบคือ เมื่อเริ่มก่อตั้งประเทศสหรัฐ บรรดาผู้ก่อตั้งประเทศไม่วางใจพลเมืองตัวเอง ในยุคนั้นผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งหมายถึงชายบางกลุ่มบางคนเท่านั้น ส่วนสตรี ชนพื้นเมืองไม่มีสิทธิ์ (ไม่นับทาสที่ไม่มีสิทธิ์อยู่แล้ว) ผู้ก่อตั้งประเทศไม่เชื่อว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง (ทั้งๆ ที่ถูกจำกัดกลุ่ม) จะคิดพิจารณาตัดสินอย่างถูกต้อง และเกรงว่าเสียงข้างมากจะละเมิดสิทธิ์เสียงข้างน้อย (ในสมัยนั้นหมายถึงพลเมืองที่เป็นชาวบ้านไม่ยอมรับสิทธิ์ในทรัพย์สินของคนมั่งมี เคยเกิดเหตุกบฏมาก่อน) เป็นเหตุผลหนึ่งของการมี Electors คอยกลั่นกรองการเลือกของประชาชน

ในยุคปัจจุบัน บางครั้งคนที่คิดว่ารู้มาก แท้จริงอาจเข้าใจผิดหลายเรื่อง
            ยกตัวอย่าง สหรัฐมีความภาคภูมิใจว่ารัฐธรรมนูญของตนเป็นรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษรเก่าแก่ (อยู่ทน) มากที่สุด และเป็นฉบับสั้นที่สุด เรื่องแปลกแต่จริงคือ คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่รู้เนื้อหารัฐธรรมนูญ หลายคนเข้าใจผิด เช่น คิดว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำชาติ (สหรัฐไม่มีศาสนาประจำชาติ ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ในระยะหลังผู้นับถือคริสต์ลดลง นับถือศาสนาอื่นๆ หรือประกาศตัวว่าไม่นับถือศาสนามากขึ้น) น้อยคนที่จะรู้ว่าอำนาจอธิปไตย 3 อำนาจคืออะไร (อำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ)

            บางคนคิดว่าชาวอเมริกันเป็นผู้มีความรู้ทางการเมือง เพราะเป็นเสรีชน ประเทศพัฒนาแล้ว มีความรู้ความสามารถมาก ความจริงแล้วชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ทางการเมืองอย่างเป็นระบบ เข้าใจผิดแม้กระทั่งเรื่องพื้นๆ
            การจะแก้ไขวิธีเหลือตั้งหรือปฏิรูปการเมืองในเรื่องอื่นๆ จึงต้องอาศัยเวลาและศึกษาอย่างเป็นระบบ
            หากชาวอเมริกันสนใจการเมืองมากขึ้น มีความเข้าใจถูกต้องมากขึ้น ย่อมเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคมโลก
27 พฤศจิกายน 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7325 วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2559)
-------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
เหตุที่ชุมนุมประท้วงเพราะคิดว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะสร้างปัญหาสร้างความเสียหาย แต่อะไรคือประเด็นที่ควรหยิบขึ้นมาประท้วงในเมื่อเป็นเพียงว่าที่ประธานาธิบดี นโยบายที่ใช้หาเสียงหลายเรื่องพูดชัดว่าเป็นเพียงข้อเสนอ หลายเรื่องอาจไม่ได้ทำจริงตามที่พูด หรือไม่รุนแรงสุดโต่งขนาดนั้น ประโยชน์ที่ยั่งยืนของการชุมนุมจะเกิดขึ้นจริงหากมีการรวมกลุ่มภาคประชาสังคม เกิดกลุ่มถาวร ร่วมกันตรวจสอบเฝ้าระวังรัฐบาลอย่างเป็นระบบ ถูกต้องตามหลักวิชาการ
บรรณานุกรม:
1. Bardes, Barbara A., Shelley, Mack C., & Schmidt, Steffen W. (2012). American Government and Politics Today: Essentials (2011 - 2012 Ed.). USA: Wadsworth, Cengage Learning.
2. Dearden, Lizzie. (2016, November 11). Donald Trump blames media for 'unfair' protests against election victory as demonstrations continue across US. The Independent. Retrieved from http://www.independent.co.uk/news/world/americas/us-elections/donald-trump-president-protests-us-cities-second-night-blame-media-inciting-not-fair-portland-a7410782.html
 3. Dellinger, Walter. (1986/2000). AMENDING PROCESS. In Encyclopedia of the American Constitution (2nd Ed., pp.72-75). New York: Macmillan Reference.
4. Edwards, George C., Wattenberg, Martin P., & Lineberry, Robert L. (2014). Government in America: People, Politics, and Policy (16th Ed.). New Jersey: Pearson Education.
5. Magleby, David B., Light, Paul C. (2009). Government by the People (23rd Ed.). USA: Pearson Education.
6. Sullivan, Kathleen M. (2000). AMENDING PROCESS (update). In Encyclopedia of the American Constitution (2nd Ed., pp.75-76). New York: Macmillan Reference.
-----------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก