โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) กับอนาคต
โดนัลด์
ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 เป็นนักธุรกิจพันล้านดอลลาร์
เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คาสิโนหลายแห่ง มีคฤหาสน์หรู บ้านที่พักหลายแห่ง
แวดล้อมด้วยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ไม่ใช่ผู้ที่คนทั่วไปเข้าถึง
ทรัมป์รู้จักคนจำนวนมาก
โดยเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ทั้งหมดคือหุ้นส่วน ผู้ร่วมงาน หรือคู่แข่งขัน
ที่ไม่ใช่ "เพื่อน" แม้ทรัมป์มีภรรยา คนแวดล้อมมากมาย
แต่ชีวิตของทรัมป์คือตัวเขา ธุรกิจของเขา ความฝันของเขา ตัวเขาเพียงคนเดียว
ชีวิตธุรกิจแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นนักสู้
คิดการใหญ่ มุ่งพิชิตเป้าหมายใหญ่ สมกับหนังสือ ‘Think Big’ ของเขา ขอเพียงบรรลุเป้าหมาย เขาไม่กังวลที่จะฉวยประโยชน์
เอาเปรียบคนอื่น ไม่กลัวคนอื่นเกลียดชัง แม้กระทั่งจากญาติสนิท สู้กับภรรยา Ivana เรื่องการหย่าร้าง ไม่กลัวกฎหมาย ต่อสู้แม้กระทั่งกับศาล การไปเกี่ยวข้องคดีความต่างๆ
เป็นเรื่องส่วนหนึ่งของชีวิต
ความเป็นนักสู้ของเขายังแสดงออกผ่านวิกฤตธุรกิจคาสิโนเมื่อต้นทศวรรษ 1990
ไม่ว่าใครจะวิพากษ์ความฉ้อฉลอย่างไร
ทรัมป์ได้แสดงให้เห็นว่าเขาครุ่นคิดอยู่เสมอที่จะเอาชนะอุปสรรค แก้ปัญหายากๆ ที่หลายคนไม่อยากเจอ
ธุรกิจย่อมหวังกำไรสูงสุด หนึ่งในวิธีคือควบคุมต้นทุน มีกรณีทรัมป์ลดต้นทุนโดยไม่คำนึงเรื่องกฎหมาย
(ถ้าไม่คิดเรื่องศีลธรรม) ใช้แรงงานชาวโปแลนด์ที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย
ให้ค่าแรงต่ำกว่าคนทั่วไป ให้ทำงานก่อสร้างโดยไม่คำนึงความปลอดภัย เช่น ไม่มีหมวกกันนิรภัย
ไม่มีหน้ากากกันแร่ใยหิน (asbestos - เป็นสารก่อมะเร็ง
หากสูดดมเป็นเวลานานๆ) มีผู้วิพากษ์ว่าทรัมป์ทำเรื่องเช่นนี้ได้ เพราะสามารถเลี่ยงการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่
เกิดคำถามว่าสังคมอเมริกามีความโปร่งใสแค่ไหน มีคอร์รัปชันมากน้อยเพียงใด
แรงงานที่ได้ค่าแรงไม่ครบ
นำเรื่องฟ้องร้อง ทรัมป์ให้การในชั้นศาลว่า เขาไม่รู้ว่าคนงานได้ค่าแรงต่ำกว่ากฎหมายกำหนด
การไม่เข้าเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัย
เรื่องยุติด้วยการที่ทรัมป์จ่ายค่าแรงส่วนที่ขาดไป
นักวิเคราะห์หลายคนจึงวิพากษ์ว่า
ทรัมป์หาเสียงชูนโยบายกีดกัน ผลักดันแรงงานต่างชาติ เชื่อว่าการทำเช่นนี้ชาวอเมริกันจะมีงานทำมากขึ้น
ปลอดภัยจากแรงงานต่างด้าวที่หลายคนติดยา ทำร้ายนายจ้าง แต่พฤติกรรมของเขาในอดีตส่อว่าส่งเสริมการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย
และใช้อย่างขูดรีด
ความเหมาะสมต่อตำแหน่งผู้นำประเทศ :
ทรัมป์เป็นนักธุรกิจที่สนใจการเมือง
สนใจตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 1985 ในการเลือกตั้งปี 1988
เขาเสนอตัวชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี คู่กับจอร์จ เอช.ดับเบิลยู. บุช (George
H. W. Bush - บิดาของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช) แต่บุชเลือกคนอื่น
2012 ทรัมป์ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและถอนตัวอย่างรวดเร็ว
อ้างว่ารายการโทรทัศน์ที่เขาทำอยู่นั้นต้องการตัวเขามากกว่า
เมื่อทรัมป์ประกาศตัวอีกครั้งในปี 2016 ในช่วงเริ่มต้นสื่อจึงไม่ให้ความสนใจ
ในช่วงหยั่งเสียงประธานาธิบดีเบื้องต้น
(Presidential primaries) หรือการหยั่งเสียงภายในพรรค
ผู้สมัครแต่ละคนต้องแสดงความคิดเห็น นำเสนอนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นสำคัญๆ
ที่สาธารณชนสนใจ บางเรื่องแสดงให้เห็นว่าทรัมป์ไม่ได้รู้จริงอย่างที่พูด ยกตัวอย่าง
กรณีอาวุธนิวเคลียร์
ในรายการทอล์คโชว์เมื่อธันวาคม
2015 นักจัดรายการ Hugh Hewitt ถามลำดับความสำคัญของ ‘nuclear
triad’ ทรัมป์ตอบอย่างมั่นอกมั่นใจว่า “อย่างแรก
เราต้องมีใครบางคนที่เชื่อถือได้จริงๆ คนที่รับผิดชอบเต็มที่
รู้ดีว่าเขาหรือเธอกำลังทำอะไร นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก” จากนั้นพูดต่อว่าปี
2003-2004 เขาต่อต้านการทำสงครามในอิรัก
Hewitt ถามซ้ำว่า “ลำดับความสำคัญ
3 ขาของ triad อย่างไร” ทรัมป์ตอบ “ผมคิดว่านิวเคลียร์เป็นเรื่องพลังอำนาจ
การทำลายล้างเป็นเรื่องใหญ่”
จากนั้นผู้จัดรายการหันไปถาม Marco Rubio ผู้สมัครชิงตำแหน่งอีกคนหนึ่ง
Rubio ตอบว่าขอให้ผมอธิบายทางบ้านก่อนว่า triad คืออะไร triad คือขีดความสามารถของสหรัฐในการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์จากเครื่องบิน
ขีปนาวุธที่ปล่อยจากฐานใต้ดิน (ไซโล) และจากเรือดำน้ำ
ถ้าฟังผ่านๆ
อาจไม่คิดว่าทรัมป์พูดอะไรผิด อาจเห็นว่าทรัมป์ตั้งใจจริง มุ่งมั่นทำงานเพื่อประเทศชาติ
แต่เมื่อวิเคราะห์อย่างถ่องแท้ จะได้คำตอบว่าทรัมป์ไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับ ‘nuclear
triad’ ตอบโดยพูดประเด็นอื่น เช่น
พูดว่าคนที่เป็นประธานาธิบดีต้องเป็นคนที่ประชาชนเชื่อใจ รู้เรื่องต่างๆ และหันไปพูดเรื่องอิรักที่ไม่เกี่ยวข้อง
ตอบไม่ตรงประเด็น
ความตั้งใจของผู้จัดรายการคือต้องการสอบถามนโยบายอาวุธนิวเคลียร์
เป็นหัวข้อสำคัญหนึ่งของทุกรัฐบาล สหรัฐเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถด้านอาวุธนิวเคลียร์สูงสุดในโลก
สังคมอเมริกาวิพากษ์เรื่อยมาว่าควรมีหรือไม่ควรมีอาวุธนิวเคลียร์ ยังจำเป็นต่อยุคปัจจุบันหรือไม่
ควรเพิ่มหรือลดจำนวนอาวุธ โดยเฉพาะในยามที่รัฐบาลต้องการลดการขาดดุล
อยู่ระหว่างการปรับกองทัพให้เข้ากับภัยคุกคามปัจจุบัน
ประเด็นป้องกันการแพร่กระจายอาวุธ ป้องกันไม่ให้ตกอยู่ในมือผู้ก่อการร้าย
จึงอยากรู้ความเห็นว่าทรัมป์จะปรับเพิ่มหรือลดอาวุธนิวเคลียร์แต่ละประเภทหรือไม่
อย่างไร
4 เดือนก่อนหน้านั้น Hewitt
ถามเรื่องนี้ครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งนั้นทรัมป์ตอบว่า
เรื่องนิวเคลียร์เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องใส่ใจอย่างมาก ต่ออำนาจของอาวุธนิวเคลียร์ที่เรามี
อีกเรื่องคือการเจรจากับอิหร่าน แนวคิดเรื่องนี้สำคัญที่ว่าต้องได้ข้อตกลงที่ดี
จากนั้นพูดถึงการยกระดับคว่ำบาตรอิหร่านให้รุนแรงกว่าเดิม
สรุปคือทรัมป์ไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับแผนแม่บทนิวเคลียร์แม้แต่น้อย
ได้แต่พูดว่าเป็นเรื่องสำคัญ แล้วหันไปพูดประเด็นปลีกย่อยอื่นๆ
David Johnston ชี้ว่าทรัมป์ถูกถามด้วยคำถามเดียวกัน
2 ครั้ง ห่างกัน 4 เดือน ได้คำตอบทำนองเดียวกัน ทรัมป์ไม่ได้ศึกษาเพิ่มเติมอะไรเลย
ประเด็นที่ควรติดตาม :
ประธานาธิบดีเป็นบุคคลสาธารณะที่สังคมควรตรวจสอบวิพากษ์
มีประเด็นที่ควรติดตาม ดังนี้
ประการแรก
ทรัมป์จะเป็นประธานาธิบดีเพื่อคนอเมริกัน เพื่อประเทศหรือไม่
เป็นคำถามพื้นๆ
เหมือนคำถามต่อบรรดานักการเมืองทั้งหลาย เป็นประเด็นที่ควรติดตามตรวจสอบ
เพราะเป็นหลักฐานสำคัญบ่งชี้ว่าระบอบการเมืองอเมริกา
ประชาธิปไตยอเมริกาดีจริงดังที่ผู้นำประเทศนี้ชอบเอ่ยถึงหรือไม่
ประการที่
2 ทรัมป์จะดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงหรือไม่
ตั้งแต่ช่วงหาเสียง
หลายคนตั้งคำถามว่าทรัมป์จะทำตามข้อเสนอ นโยบายต่างๆ ที่หาเสียงไว้หรือไม่
ณ วันนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่านโยบายของรัฐบาลทรัมป์จะเป็นอย่างไร บางนโยบายอาจทำได้จริงตรงตามที่พูด
บางเรื่องอาจไม่แรงเท่ากับตอนหาเสียง เช่น นโยบายประกันสุขภาพ Affordable Care Act หรือที่นิยมเรียกว่า
"Obamacare" ข้อเสนอถอนตัวออกจากสมาชิกนาโต
ปล่อยให้เกาหลีใต้กับญี่ปุ่นมีอาวุธนิวเคลียร์
การป้องกันคนต่างชาติเข้าเมืองผิดกฎหมาย กีดกันมุสลิมไม่ให้เข้าประเทศ
หลายเรื่องจะเป็นไปตามแนวทางของพรรครีพับลิกัน
หลายเรื่องใกล้เคียงสมัยรัฐบาลโอบามา
ทั้งนี้ไม่ใช่เป็นเพราะทรัมป์ขาดความเข้าใจเรื่องการเมือง
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ทรัมป์อาจรู้น้อย แต่ย่อมทีมงานที่ปรึกษาที่รู้มาก) แต่เป็นเพราะในช่วงหาเสียงเขามุ่งมั่นจะเอาชนะใจคน
เอาชนะเลือกตั้ง จึงวางเรื่องการปฏิบัติตามนโยบายไว้ทีหลัง
ที่สุดจะมาถึงความจริงของระบบบริหารประเทศ
ที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการนับล้าน พวกลอบบี้ยิสต์ที่วิ่งกันเต็มรัฐสภา
ความซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ใช่ว่าเป็นประธานาธิบดีสหรัฐแล้วจะทำได้ทุกอย่าง
ผลงานรัฐบาลชุดก่อนๆ เป็นหลักฐานที่ชัดเจน แม้กระทั่งสมัยรัฐบาลโอบามา
ถ้าวิเคราะห์เชิงลึก
คำถามคือ ทรัมป์จะหาทางออกเรื่องนี้อย่างไร
เมื่อพบว่าบางเรื่องหรือหลายเรื่องไม่อาจทำได้จริง
ประการที่
3 การทุจริตคอร์รัปชัน
รัฐบาลอเมริกามักโทษรัฐบาลประเทศอื่นๆ
ว่าเหตุที่ประเทศไม่เจริญ ประชาธิปไตยไม่มั่นคง เพราะรัฐบาลขาดธรรมาภิบาล
สังคมเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชัน หลายครั้งปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศยากจนตามที่ร้องขอ
เห็นว่าเงินที่มอบให้นั้นสูญเสียไปกับคอร์รัปชันมาก
รัฐบาลของประเทศยากจนไม่สนใจบริหารจัดการอย่างดี
Peter Eigen ผู้ก่อตั้ง
“องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ” (Transparency International) สรุปโทษคอร์รัปชันว่าคือการทำลายสถาบันประชาธิปไตย
ด้วยการใช้อำนาจหน้าที่ที่ได้รับมาโดยมิชอบเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน
สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการเมือง เศรษฐกิจ สังคม
ทรัมป์ประกาศมุ่งมั่นสร้างอเมริกาให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง
หวังว่าจะไม่ลืมว่าการทุจริตคอร์รัปชันทำให้ทุกภาคส่วนของประเทศอ่อนแอ
ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม
สุภาษิตกล่าวว่าถ้า
“หัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก” ถ้าผู้นำประเทศทุจริต การทุจริตจะแพร่กระจายในทุกระดับ ข้อสรุปเช่นนี้มีหลักฐานให้เห็นมากมายทั่วโลก
ความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์ :
แน่นอนว่ามนุษย์ไม่สมบูรณ์ สังคมไม่ควรคาดหวังว่าเขาเก่งไปหมดทุกอย่าง
ไม่ควรคาดหวังว่าทรัมป์จะต้องรู้ดีไปหมดทุกเรื่อง ต้องมีนิสัย
คุณสมบัติตรงตามที่แต่ละคนคาดหวัง
แต่หลักคิดวิธีการของเขาเหมาะกับงานบริหารประเทศหรือไม่ เป็นคำถามที่น่าคิด
เพราะเขาลงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดี เป็นความรับผิดชอบของทรัมป์โดยตรง
แม้พลเมืองอเมริกันเป็นผู้เลือกก็ตาม
จากนี้อีก 4 ปี
ทรัมป์ในวัย 70 จะต้องเผชิญเรื่องยากๆ อีกมากมาย เรื่องที่เขาไม่รู้
ไม่เคยคิดถึงมาก่อน สังคมอเมริกันที่ให้เสรีกับการวิพากษ์วิจารณ์
สังคมโลกที่จะร่วมวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน ประวัติศาสตร์กำลังบันทึกว่าทรัมป์เป็นประธานาธิบดีที่ได้รับความชื่นชมหรือคนที่โลกประณาม
คงเป็นงานสำคัญชิ้นสุดท้ายสำหรับนักสู้ที่ชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์
ทั่วโลกจะร่วมยินดีและได้รับประโยชน์หากชาวอเมริกันอยู่ดีกินดี
มีความสุข เพราะจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโลก หายนะทางเศรษฐกิจของอเมริกาจะกระเทือนทั้งโลก
ทำให้นานาชาติต้องคิดถึงการอยู่ร่วมโดยลดการพึ่งพาอเมริกา เมื่อถึงเวลานั้นสหรัฐอาจไม่ต้องการโดดเดี่ยวตัวเอง
แต่จะถูกทิ้งให้โดดเดี่ยว
13 พฤศจิกายน 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7311 วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2559)
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7311 วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2559)
----------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ทรัมป์เป็นนักธุรกิจ ไม่ใช่นักการเมือง
เมื่อลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจึงมีคำถามว่าจะไปรอดหรือไม่
ผลปรากฏว่าทรัมป์สามารถชนะผู้สมัครคนดังคนอื่นๆ
กลายเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันด้วยคะแนนสูงลิ่ว เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
ยุทธศาสตร์ กลยุทธ์หาเสียงของทรัมป์ เป็นที่น่าศึกษา
ให้ความเข้าใจทั้งวิธีหาเสียงของเขา และในประเด็นที่กว้างกว่า เช่น
มุมมองของชาวอเมริกัน ระบอบประชาธิปไตยอเมริกา
บรรณานุกรม:
1. Barrett, Wayne. (2016). Trump: The Greatest Show on
Earth : The Deals, the Downfall, the Reinvention. New York: Regan Arts.
2. Cirincione, Joseph. (2013). Nuclear Nightmares:
Securing the World Before It Is Too Late. USA: Columbia University Press.
3. Chêne, Marie. (2010, February 25). Overview of corruption
and anti-corruption in Angola. Transparency International. Retrieved
from http://www.transparency.org/files/content/corruptionqas/257_Corruption_and_anti_corruption_in_Angola.pdf
4. Cramer, Benjamin W. (2015). Anti-Corruption Actions:
Nongovernmental and Intergovernmental Organizations. In Government
Anti-Corruption Strategies: A Cross-Cultural Perspective. (pp.1-22). FL: Taylor
& Francis Group.
5. Dearden, Lizzie. (2016, November 11). Donald Trump blames
media for 'unfair' protests against election victory as demonstrations continue
across US. The Independent. Retrieved from
http://www.independent.co.uk/news/world/americas/us-elections/donald-trump-president-protests-us-cities-second-night-blame-media-inciting-not-fair-portland-a7410782.html
6. Duiker, William J. (2009). Contemporary World History
(5th ed.). USA: Wadsworth.
7. Johnston, David Cay. (2016). The Making of Donald
Trump. New York: Melville House Publishing.
8. Sullivan, Sean., Rucker, Philip. (2016, October 17).
Election officials brace for fallout from Trump’s claims of a ‘rigged’ vote. The
Washington Post. Retrieved from
https://www.washingtonpost.com/politics/election-officials-clinton-team-brace-for-fallout-from-trumps-rigged-claims/2016/10/17/b6098246-9478-11e6-9b7c-57290af48a49_story.html
9. The Script of a Real-Life Tragedy. (2016, November 4). Spiegel
Online. Retrieved from
http://www.spiegel.de/international/world/us-presidential-campaign-concludes-in-farce-a-1119830.html
10. Tumulty, Karen., Rucker, Philip. (2016,
October 19). At third debate, Trump won’t commit to accepting election results
if he loses. The Washington Post. Retrieved from
https://www.washingtonpost.com/politics/trump-wont-commit-to-accepting-election-results-if-he-loses/2016/10/19/9c9672e6-9609-11e6-bc79-af1cd3d2984b_story.html
11. US president already picked for Americans by someone
else. (2016, August 4). Pravda. Retrieved from
http://www.pravdareport.com/world/americas/04-08-2016/135225-us_presidential_vote-0/
-----------------------------