เลือกคนที่แย่น้อยกว่า (the lesser of the two evils)

‘The lesser of the two evils’ หรือ “คนที่แย่น้อยกว่า” เกี่ยวข้องกับการรณรงค์เลือกตั้งทางลบ (Negative Campaign) งานศึกษาบางชิ้นระบุว่า คนถูกผลักดันให้ออกไปใช้สิทธิ์ ไม่ใช่เพื่อเลือกคนที่ใช่ นโยบายที่ชอบ แต่ไปเลือกคนที่แย่น้อยกว่า หวังสกัดไม่ให้คนที่แย่ที่สุดชนะเลือกตั้ง
            ข้อสรุปเรื่องการหาเสียงแบบสาดโคลน โจมตีฝ่ายตรงข้าม เป็นเหตุกระตุ้นให้ออกไปใช้สิทธิ์หรือไม่ยังถกเถียงกันอยู่ เป็นไปได้ว่าการเลือกตั้งบางครั้ง ผู้มีสิทธิ์หลายคนออกไปใช้สิทธิ์ด้วยเหตุผลนี้
ผลสำรวจจาก Pew Research Center เมื่อกันยายนที่ผ่านมา ชี้ว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งร้อยละ 55 รู้สึกสับสน (frustrated) ต่อทรัมป์ ร้อยละ 53 ต่อฮิลลารี ร้อยละ 53 รังเกียจ (disgusted) ทรัมป์ และร้อยละ 48 รังเกียจฮิลลารี
            ชี้ว่าร้อยละ 33 คิดเลือกทรัมป์ด้วยเหตุผลหลักที่ “เขาไม่ใช่คลินตัน” ร้อยละ 32 คิดเลือกฮิลลารีเพราะ “เธอไม่ใช่ทรัมป์” รวมแล้วผู้ตอบแบบสอบถามกว่าครึ่งคิดไปเลือกตั้งไม่ใช่เพราะฮิลลารีหรือทรัมป์ดีเหมาะสมกับตำแหน่ง แต่เพราะเมื่อเปรียบเทียบข้อเสียแล้วอีกคนแย่น้อยกว่า
นิยาม ‘the lesser of the two evils’
หลักการเลือกตั้งทั่วไปสอนว่าเลือกผู้สมัครที่ดีที่สุด ผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม เสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์สูงสุด แต่บางครั้งประชาชนไม่คิดว่ามีตัวเลือกที่คู่ควรชนะเลือกตั้ง ไม่มีผู้สมัครคนใดดีพอที่จะเป็นประธานาธิบดี ส.ส. เพราะต่างมีข้อเสียจุดบกพร่องมาก แต่เกรงว่าหากคนที่แย่ที่สุดชนะจะทำเศรษฐกิจพัง บ้านเมืองวุ่นวาย ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่คิดเช่นนี้จึงอยากออกไปเลือก “คนที่แย่น้อยกว่า” (‘the lesser of the two evils’)

สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มาของหลักการนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากระบบการเลือกตั้ง ผู้สมัครที่ได้คะแนนน้อยจะเท่ากับไม่ได้สักคะแนน หรือที่เรียกว่าหลัก ‘winner-take-all’ หลักคิดนี้มาจากการมองว่ารัฐ (state) เหมือนรัฐประเทศ (State) ที่ต้องมีผู้ปกครองหนึ่งเดียวเพื่อการบริหารจัดการอย่างมีเอกภาพ ในระดับประเทศจะมีประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขและเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร ดังนั้น ในแต่ละรัฐ เมื่อได้ผู้สมัครที่ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งให้คะแนนสูงสุด (ได้คะแนนที่เรียกว่า popular vote) Electors (มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทำหน้าที่เลือกประธานาธิบดีกับรองประธานาธิบดี) ทุกคนของรัฐนั้นจะเทคะแนนเลือกผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดเพียงคนเดียว ได้คะแนนที่เรียกว่า electoral votes ผู้ได้คะแนน electoral votes สูงสุดคือผู้ชนะเลือกตั้ง
(ยกเว้นสองรัฐ คือ รัฐเมน (Maine) กับเนบรัสกา (Nebraska) ที่ไม่ใช้หลักการนี้)
เมื่อผนวกกับระบบ 2 พรรค ที่ 2 พรรคต่างมีฐานเสียงของคน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ยึดแนวทางนี้จะไม่เลือกผู้สมัครหรือพรรคที่ได้คะแนนต่ำ ชาวอเมริกันส่วนใหญ่จะเลือกตัวแทนจากรีพับลิกันหรือเดโมแครทเท่านั้น พรรคเล็กๆ พรรคทางเลือกที่ 3 หรือผู้สมัครอิสระจึงแทบไม่มีโอกาส

ความสัมพันธ์กับการรณรงค์เลือกตั้งทางลบ :
การที่ประชาชนรับรู้เรื่องเสื่อมเสียของทรัมป์กับฮิลลารีมาจากการสาดโคลนระหว่างผู้สมัคร 2 คนด้วยกันเอง เกิดปรากฏการณ์ “แย่” กับ “แย่กว่า”
            กรณีการเปิดโปงพฤติกรรมทางเพศเป็นตัวอย่างที่ดี มีคนปล่อยเทปวีดีโอที่ทรัมป์พูดถึงพฤติกรรมทางเพศแบบไม่เลือกหน้า ไม่เว้นแม้กระทั่งหญิงมีสามี ทรัมป์แก้ตัวว่าเป็นการพูดส่วนตัว (locker-room talk) โต้ว่าอดีตประธานาธิบดีบิล คลันตัน ฉาวโฉ่กว่าตนมาก นำผู้หญิง 4 คนมาแสดงตัวว่าเคยถูกคลินตันข่มขืน ในขณะที่ฮิลลารีพยายามปกป้องสามีตนเอง
แม้ฮิลลารีเป็นหญิง ไม่มีประเด็นชู้สาว แต่ไม่วายถูกโจมตีโดยผูกโยงพฤติกรรมสามี
หลังจากนั้นมีข้อมูลทรัมป์ล่วงละเมิดทางเพศเช่นกัน ทรัมป์ชี้ว่าหญิง 9 คนที่กล่าวหาว่าเขาละเมิดทางเพศเป็นเรื่องโกหก เขาไม่รู้จักหญิงเหล่านี้
เหตุละเมิดทางเพศอาจเป็นจริงหรือเท็จ เป้าหมายสำคัญคือสาดโคลนฝ่ายตรงข้าม ชี้ว่าใคร “แย่กว่ากัน”

โดยภาพรวม Darrell West จาก Brookings Institution เห็นว่า “ผู้สมัครแต่ละรายมีข้อด้อยชัดเจน หลายคนมองว่าคลินตันไว้ใจไม่ได้ ส่วนอารมณ์แปรปรวนของทรัมป์ไม่เหมาะกับตำแหน่งประธานาธิบดี” ผลโพลล์บ่งชี้ว่าทรัมป์ได้คะแนนน้อยกว่าเพราะ “แย่กว่า” ฮิลลารี

เป็นทางออกที่ดีหรือไม่ :
ผู้ที่สนับสนุนให้ช่วยกันเลือก “คนที่แย่น้อยกว่า” ตั้งอยู่บนฐานคิดว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศเสียหาย “ยิ่งมีโอกาสเสียหายหนัก ยิ่งต้องออกไปเลือกฝ่ายตรงข้าม”
            ฐานคิดนี้ดูเหมือนดีในแง่ช่วยป้องกันผลเสียร้ายแรงที่สุด แต่ถ้าไตร่ตรองอย่างรอบคอบ การเลือกคนแย่น้อยกว่าเท่ากับบ่งชี้ว่าตัวเลือกที่มีอยู่ล้วนไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีทั้งสิ้น ต่างกันเพียง “แย่มาก” กับ “แย่น้อย” เท่านั้น
            ในระยะยาว หากสังคมยังจำต้องเลือกผู้ปกครองประเภท “แย่มาก” กับ “แย่น้อย” ไม่ช้าไม่นาน หายนะย่อมมาสู่ประเทศ ประวัติศาสตร์เตือนใจว่าอารยธรรมไม่ได้สูญสิ้นในช่วงเวลาสั้นๆ แต่กินเวลาหลายปี หลายสิบปี เป็นกระบวนการที่ค่อยๆ เสื่อมโทรม นั่นหมายความว่ามีโอกาสแก้ไข เพียงแต่จะคิดแก้หรือไม่ ทันเวลาหรือไม่
            วิธีช่วยกันเลือก “คนแย่น้อยกว่า” อาจซื้อเวลาได้อีก 4 ปีหรือมากกว่านั้น แต่หากไม่ปฏิรูปตัวเองอย่างจริงจัง ในที่สุดอาจเข้าสู่จุดที่ไม่อาจแก้ไขได้อีกแล้ว
            ดังนั้น จึงต้องมองให้ไกลกว่า ลึกกว่าผู้สมัคร 2 คน หรือการเลือกตั้งเฉพาะหน้า

ความแข็งแกร่งของพรรคเป็นประโยชน์แก่ใคร :
ดูเหมือนว่า 2 พรรคการเมืองใหญ่ตอบสนองความต้องการของประชาชน แข่งกันด้วยนโยบาย ตัวเลือกที่ผ่านการคัดกรอง ผ่านการชิงชัยระดับภายในพรรค และประชาชนทั้งประเทศเป็นผู้ตัดสินใจเลือก 1 ใน 2 คนจาก 2 พรรค สำหรับผู้ที่คิดว่าไม่มีตัวเลือกที่ดี ให้เลือกผู้สมัครที่แย่น้อยกว่า

            หากมองย้อนอดีต การเมืองอเมริกาอยู่ในมือของ 2 พรรคใหญ่มานานแล้ว รัฐบาลอยู่ควบวาระเรื่อยมา แม้บริหารประเทศผิดพลาดใหญ่หลวง สวนทางความต้องการของประชาชน
            เหตุที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะพรรคฝ่ายค้าน (ซึ่งหมายถึงทั้ง 2 พรรคใหญ่ที่ผลักกันเป็นฝ่ายค้าน) ไม่คิดล้มรัฐบาล จะอาศัยการเลือกตั้งประธานาธิบดี เป็นเครื่องตัดสินว่า 4 ปีข้างหน้า พรรคใดชนะเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ จึงไม่มีรัฐประหาร เกิดภาพการเมืองเข้มแข็ง

            ในแง่มุมหนึ่งต้องยอมรับว่า การไม่มีรัฐประหาร รัฐบาลอยู่ครบวาระเป็นภาพสะท้อนว่ารัฐบาลเข้มแข็ง พรรคการเมืองเข้มแข็ง ปัญหาใหญ่คือ สภาพดังกล่าวไม่เป็นเครื่องชี้วัดว่ารัฐบาลมุ่งบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์สุขของชาวอเมริกันเสมอไป

ที่ผ่านมามีข้อสงสัยว่านโยบายของรัฐบาลหลายชุดหลายอย่าง เป็นนโยบายเพื่อคนอเมริกันหรือไม่ มากน้อยเพียงใด
            ถ้าใครหรือกลุ่มผลประโยชน์ใดสามารถกำหนดแผนแม่บท เท่ากับว่าผลประโยชน์ของกลุ่มเหล่านั้นจะได้รับการตอบสนองอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าชาวอเมริกันจะเห็นชอบหรือไม่

ดังนั้น สภาวะที่การเมืองดูเหมือนเข้มแข็ง ประชาธิปไตยมั่นคง ถ้ามองอีกมุม การเมืองอเมริกาเป็นระบอบที่ประชาชนยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่าพรรคพยายามออกนโยบายที่ตรงใจประชาชน หวังได้คะแนนเสียง แต่จะมีหลายนโยบายที่ประชาชนไม่เห็นด้วยแต่ก็ต้องเลือก เพราะไม่มีตัวเลือกอื่นแล้ว เพราะ 2 พรรคใหญ่มีนโยบายเรื่องนั้นเหมือนกันหรือใกล้เคียง (ต่างกันที่วิธีปฏิบัติ)

เกิดคำถามว่าเป็นการ "ฮั้ว" ของ 2 พรรคหรือไม่ เพื่อที่เมื่อฝ่ายใดเป็นรัฐบาลจะมั่นใจว่าอยู่ครบเทอม และสู้กันอีกครั้งด้วยการเลือกตั้งครั้งต่อไป ชนชั้นปกครองที่อยู่ใน 2 พรรคนี้จึงรักษาอำนาจของตนอย่างมั่นคง
            ขอเพียงมีการเลือกตั้ง คนไปใช้สิทธิ์จำนวนมาก ไม่ว่าผู้สมัครพรรคใดชนะ จะมีประธานาธิบดีตามกฎหมาย ได้แก้ปัญหาที่ระยะหลังคนไม่ออกไปใช้สิทธิ์ สามารถพูดว่าประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง ได้รัฐบาลใหม่ตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว การปกครองดำเนินต่อเนื่อง
            รัฐบาลใหม่สามารถชูธงส่งเสริมประชาธิปไตยทั่วโลกต่อไป

ข้อเสนอ ระบบทะเบียนผู้มีสิทธิ์เป็นผู้ปกครอง :
            ประชาชนไม่เชื่อมั่นระบบการเมืองเพราะเห็นว่าคนที่พยายามเข้าสู่อำนาจหวังกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตน ระบบการเลือกตั้งที่เป็นอยู่เป็นหลักฐานว่าไม่สามารถสรรหาผู้มุ่งทำประโยชน์แก่ส่วนรวม (ผลสำรวจหลายสิบปีที่ผ่านมาเป็นหลักฐาน)

ข้อเสนอคือต้องปฏิรูประบบคัดสรรคนที่มุ่งสรรหาคนทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม นอกเหนือคุณสมบัติอื่นๆ เช่น มีความรู้ความสามารถ โดยวางระบบคัดสรรเบื้องต้นที่ผู้สมัครต้องผ่านเกณฑ์ดังกล่าว เช่น คัดสรรคนที่เสียสละมากกว่า มีประวัติทำความดีต่อส่วนรวมมากกว่า สร้างระบบทะเบียนผู้ประกาศตัวอยากเป็นประธานาธิบดี ส.ส. เช่น สมมุติว่ามีคน 5,000 คนอยากลงสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีหรือ ส.ส. คนเหล่านี้ถือเป็นบุคคลสาธารณะทันที ต้องเปิดเผยโปร่งใส มีระบบติดตามตรวจสอบคนเหล่านี้และคนใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง คนเหล่านี้ต้องผ่านเกณฑ์ติดตามภายใต้ระยะเวลาที่กำหนดก่อนมีสิทธิ์ลงสมัครเลือกตั้ง (เป็นเวลาหลายปี) และถูกติดตามต่อเนื่องนับจากวันที่เข้าสู่ระบบทะเบียน และแม้หลังออกจากการเป็นผู้มีสิทธิ์ลงสมัคร
ด้วยวิธีการนี้กระบวนการคัดสรรคนดีมีฝีมือ มุ่งรับใช้สังคม จึงเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่เฉพาะช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ประชาชนไม่ตกอยู่ในภาวะที่ต้องทนเลือก “คนที่แย่น้อยกว่า” แต่ได้บุคคลที่ผ่านการคัดสรรต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ บนมาตรฐานเดียวกัน

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
ไม่มีใครปฏิเสธความสำคัญของผู้ปกครอง แต่การเลือกคนที่ “แย่น้อยกว่า” รัฐบาลที่ “แย่น้อยกว่า” ไม่ใช่ทางออก เป็นภาวะจำยอมมากกว่า หากต้องการสังคมที่เจริญรุ่งเรืองยั่งยืน ต้องปฏิรูประบบให้ได้คนดีมีฝีมือเข้าถืออำนาจ คนที่คิดเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ใช้ระบอบการเมืองการปกครอง ระบบคัดสรรและ/หรือระบบเลือกตั้งที่สามารถมุ่งสู่เป้าหมายได้จริง ที่ไม่ใช่เป็นเพียงทฤษฏีสวยหรู แต่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย ได้แต่พร่ำสอนให้คนยึดอุดมคติตามทฤษฎีที่สวยหรู ในขณะที่สังคมกำลังเสื่อมถอยและต้องการหนทางใหม่
30 ตุลาคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7297 วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2559)
--------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง
เป้าหมายของการหาเสียงคือชนะการเลือกตั้ง ผู้สมัครเลือกตั้งไม่ได้หาเสียงด้วยการแสดงความดีงามของตน นโยบายที่ดีกว่าเท่านั้น บางคนใช้วิธีรณรงค์เลือกตั้งทางลบ สร้างความเสื่อมเสียฝ่ายตรงข้าม หลายเรื่องที่หยิบขึ้นมาพูดไม่มีผลทางกฎหมาย แต่ทำให้ประชาชนคิดว่าผู้สมัครฝ่ายตรงข้างแย่ ไม่น่าเลือก เมื่อต่างฝ่ายต่างใช้จึงเกิดการสาดโคลนกันไปมา ประชาชนบางส่วนเอือมระอาการเมืองแบบนี้ ในขณะที่อีกหลายคนเห็นว่ามีประโยชน์เช่นกัน
บรรณานุกรม:
1. Bardes, Barbara A., Shelley, Mack C., & Schmidt, Steffen W. (2012). American Government and Politics Today: Essentials (2011 - 2012 Ed.). USA: Wadsworth, Cengage Learning.
2. Bessette, Joseph M., Pitney, John J. Jr. (2011). American Government and Politics: Deliberation, Democracy and Citizenship. USA: Wadsworth.
3. Howard R. Ernst, Larry J. Sabato, Encyclopedia Of  American Political Parties  And Elections, (NY: Infobase Publishing, 2007)
4. Kollman, Ken. (2015). The American Political System (2nd Ed.). USA: W. W. Norton & Company.
5. Miroff, Bruce., Seidelman, Raymond., Swanstrom,Todd., & De Luca, Tom. (2010). The Democratic Debate: American Politics in an Age of Change (5th Ed.). USA: Wadsworth.
6. Pohl, Ines. (2016, October 10). Analysis: A debate full of hate, without highlights. Deutsche Welle. Retrieved from http://www.dw.com/en/analysis-a-debate-full-of-hate-without-highlights/a-36003063
7. Poll: Most US voters 'disgusted' with presidential race. (2016, September 22). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/2016/09/poll-voters-digusted-presidential-race-160921124354232.html
8. Rusling, Matthew. (2016, August 7). News Analysis: For many Americans, 2016 presidential election is choice between "lesser of two evils". Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/2016-08/07/c_135570563.htm
9. Tumulty, Karen., Rucker, Philip. (2016, October 19). At third debate, Trump won’t commit to accepting election results if he loses. The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/politics/trump-wont-commit-to-accepting-election-results-if-he-loses/2016/10/19/9c9672e6-9609-11e6-bc79-af1cd3d2984b_story.html
10. US presidential debate shows Trump stands strong despite tape scandal — expert. (2016, October 10). TASS. Retrieved from http://tass.com/world/905300
-----------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก