สาธารณรัฐโรมัน (Roman Republic) ในอดีตกาล (1)
หลายคนเคยได้ยินได้ฟังเรื่องราวของจักรวรรดิโรมัน (Roman Empire) อันยิ่งใหญ่เกรียงไกร นักวิชาการปัจจุบันยังค้นหาคำตอบว่าทำไมจักรวรรดิโรมันจึงล่มสลาย แต่ก่อนที่จะเป็นจักรวรรดิ ประวัติศาสตร์ของโรมันเคยผ่านการเป็นสาธารณรัฐมาก่อน มีเรื่องราวที่น่าใจดังนี้
นักโบราณคดีบางคนเห็นว่ากลุ่มคนที่น่าจะเรียกว่าต้นตระกูลชาวโรมันเกิดขึ้นเมื่อสหัสวรรษแรกก่อนคริสตกาล
(หรือหลังจากนั้น เช่น ศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล) คนเหล่านี้พูดภาษาละติน
ตั้งอยู่บนพื้นที่ Latium ในคาบสมุทรอิตาลี
(ติดทางใต้ของกรุงโรมปัจจุบัน) ประวัติศาสตร์ยุคต้นจึงเป็นเรื่องความอยู่รอดในพื้นที่
Latium ก่อนขยายตัวครอบคลุมทั้งคาบสมุทร
เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่
6 ก่อนคริสตกาลชุมชนโรมเริ่มเป็นเมือง เป็นนครรัฐตามอย่างนครรัฐกรีก
มีกษัตริย์เป็นผู้ปกครอง แต่ตำแหน่งนี้ไม่มีการสืบทอดทางสายเลือด
บางครั้งผู้ดำรงตำแหน่งเป็นชาวต่างชาติ กษัตริย์จึงต้องได้รับการสนับสนุนจากขุนนางที่เป็นคนท้องถิ่น
สมาชิกสภาสูง (senate) ที่บางช่วงมีถึง 300 คน
ต่อมาขุนนางปลดกษัตริย์และใช้ระบอบปกครองแบบสาธารณรัฐ
เรียกว่าสาธารณรัฐโรมัน (Roman Republic) เริ่มต้นเมื่อก.ค.ศ.
509
ภายใต้ระบอบสาธารณรัฐโรมัน
ผู้มีอำนาจสูงสุดดำรงตำแหน่ง “กงสุล” (consuls) มีจำนวน 2 คน
ได้รับเลือกปีต่อปีจากสมาชิกสภาสูง
สมาชิกสภาสูง (senate)
ประกอบด้วยผู้อาวุโสที่ได้รับคัดเลือกจากกลุ่มตระกูลต่างๆ จำนวน 300 คน
เป็นตำแหน่งตลอดชีพ ยามปกติจะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง (magistrate)
ไม่มีหน้าที่บัญญัติกฎหมาย
การปกครองแบบสาธารณรัฐโรมันจึงหมายถึงการปกครองโดยเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่
ที่ดินนั้นยุคนั้นคือแหล่งแห่งความมั่งคั่งและอำนาจ
การบริหารประเทศเน้นผลประโยชน์ของคนรวย แต่ไม่ถึงกับทอดทิ้งคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม
เป็นระบอบคณาธิปไตย
นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งสำคัญอีกหลายตำแหน่ง
เช่น หากเกิดสงคราม “กงสุล” จะลงจากตำแหน่ง พร้อมกับแต่งตั้ง
“dictator” เป็นผู้ปกครองมีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่มีวาระเพียง 6
เดือน จะเห็นได้ว่าระบอบการปกครองถูกออกแบบให้ยืดหยุ่นตามบริบท ตอบสนองสถานการณ์ต่างๆ
พลเมือง 2 ชนชั้น :
ชนชั้นแรกคือพวก “patrician” เป็นชนชั้นอำนาจ
การเกิดขึ้นของชนชั้นอำนาจอาจอธิบายได้ว่า
ครอบครัวเป็นหน่วยย่อยที่สุดของสังคมโรมัน บิดาคือผู้มีอำนาจสูงสุด
สามารถขายบุตรเป็นทาส หรือสังหารได้ตามต้องการ การแต่งงานของบุตรสาวขึ้นกับการตัดสินใจของบิดา
และมักแต่งงานตั้งแต่วัยเริ่มสาว
เมื่อกาลเวลาผ่านไป
การเริ่มต้นที่ 1 ครอบครัวนำสู่หลายครอบครัวที่มีสัมพันธ์ทางสายเลือดใกล้ชิด
เกิดความสัมพันธ์เชิงวงศ์ตระกูล เกิดผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสประจำตระกูล
เกิดตระกูลที่ใหญ่กว่า
ร่ำรวยกว่า เป็นที่พึ่งได้มากกว่า เป็นผู้มีอิทธพลบารมี
หลักฐานประวัติศาสตร์จึงระบุว่าพวก “patrician”
คือตระกูลของสมาชิกสภาสูงยุคแรกๆ ในสมัยที่ยังปกครองด้วยกษัตริย์ ยังเป็นนครรัฐ
พูดง่ายๆ คือตระกูลผู้มีอิทธิพลบารมีตั้งแต่การสร้างเมืองยุคแรก
รากฐานอำนาจของพวกเขามาจากการมีที่ดินจำนวนมาก
ต้นเหตุแห่งความมั่งคั่ง เนื่องจากอิตาลีมีพื้นที่เพาะปลูกเลี้ยงสัตว์จำกัด
ความอุดมสมบูรณ์ของที่ดินมอบปัจจัยสี่แก่การยังชีพ เป็นสินค้าสำคัญของยุคนั้น
ทั้งค้าขายในเมืองและต่างเมือง ผู้มีที่ดินซึ่งหมายถึงพื้นที่เกษตร ป่าไม้และปศุสัตว์จึงมั่งคั่ง
มีอิทธิพลบารมี เป็นที่พึ่งของคนขัดสน
เกษตรกรรายย่อยเมื่อยามการเพาะปลูกไม่ได้ผลดี เกิดความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์
เมื่อระบบการเมืองการปกครองพัฒนาซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ
คนกลุ่มนี้จึงเป็นแกนหลักแห่งอำนาจปกครอง
มีกฎชัดเจนว่าเฉพาะพวก “patrician” เท่านั้นที่สามารถดำรงตำแหน่งกงสุล
ฝ่ายปกครอง และสมาชิกสภาสูง
รวมความแล้ว พวก “patrician”
คือชนชั้นปกครองดั้งเดิมนั่นเอง เพียงแต่แย่งอำนาจจากกษัตริย์
วางระบอบการปกครองใหม่เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาคือกลุ่มที่กุมอำนาจ
และคัดสรรคนของตนเองเป็นผู้นำปกครองประเทศ
เสรีชนนอกกลุ่ม “patrician” เรียกว่าพวก “plebeians” เป็นสามัญชน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย มีที่ดินทำกินแต่น้อย
มักมีฐานะธรรมดาหรือยากจน บางคนประกอบอาชีพอิสระ ช่างฝีมือ พ่อค้า
พวก
“plebeians” มีสิทธิ์ออกเสียง
แต่ไม่มีสิทธิ์เข้าถึงอำนาจปกครอง เฉพาะพวก “patrician”
เท่านั้นที่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับตำแหน่งข้าราชการ
นอกจากกฎห้ามเข้าถึงอำนาจปกครอง
สังคมโรมันยังมีวัฒนธรรมให้แต่งงานภายในชนชั้นเดียวกัน การแต่งงานระหว่าง
2 ชนชั้นเป็นเรื่องต้องห้าม
การแต่งงานภายในชนชั้นเดียวกัน
นอกจากจะเป็นการควบคุมอำนาจให้อยู่ในกลุ่ม
ยังส่งเสริมความสัมพันธ์ภายในกลุ่มชนชั้นอำนาจด้วยกัน
นานวันเข้าพวกเขามีความสัมพันธ์ทางเครือญาติมากขึ้นทุกที
เป็นอีกปัจจัยที่ส่งเสริมให้สภาสูงมีอำนาจ
เป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมอันทรงพลังที่ควบคุมให้อำนาจจำกัดอยู่ในคนไม่กี่ตระกูลเท่านั้น
ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ร้อยปีก็ตาม
อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป พวก “plebeians”
บางคนสามารถพัฒนาตนเองกลายเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ เป็นคนมั่งคั่งมีอิทธิพลบารมี
จึงเรียกร้องสิทธิ์ที่จะกลายเป็นพวก “patrician”
เรื่องลงเอยว่าเกิดกลุ่มใหม่ที่เรียกว่าพวก “nobiles” เป็นการรวมพวก
“plebeians” ที่มั่งคั่งขึ้นมากับพวก “patrician”
ดังนั้น พวก “nobiles”
คือพัฒนาการเพื่อรับคนรวยรุ่นใหม่เข้ามาอยู่ในกลุ่มชนชั้นอำนาจนั่นเอง
เพียงแต่จัดกลุ่มใหม่ ตั้งชื่อใหม่ เพื่อไม่ถูกจำกัดด้วยหลักเกณฑ์เดิม
โดยคงหลักการว่าคนมั่งคั่ง ครอบครองที่ดินจำนวนมากเท่านั้นที่เข้าถึงอำนาจ
ทาส :
นอกจาก
2 ชนชั้นข้างต้น สาธารณรัฐโรมันยังประกอบด้วยพวกทาสจำนวนมาก
ในยุคสมัยนั้น
ทุกอาณาจักรล้วนมีทาสด้วยกันทั้งสิ้น แต่พวกโรมันมีทาสมากเป็นพิเศษ
เหตุเพราะระบบสังคมที่มุ่งใช้แรงงานทาสเป็นหลัก มีข้อมูลว่าเกษตรกรรายย่อย1
คนจะมีทาสรับใช้ 1-2 คนเพื่อช่วยงานในทุ่งนาและงานบ้าน
ไม่เฉพาะงานเกษตรเท่านั้นที่ใช้แรงงานทาส
งานอื่นๆ ก็ใช้เช่นกัน งานก่อสร้างใช้แรงงานทาสเป็นหลัก ไม่ว่าจะสร้างถนนหรืออาคาร
เรื่องนี้อธิบายได้ว่าเนื่องจากไม่จำต้องดูแลทาสดีเท่าแรงงานทั่วไป
การใช้แรงงานทาสจึงเป็นวิธีลดต้นทุนการผลิต
เป็นช่องทางให้เจ้าของที่ดินขนาดใหญ่สามารถเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์อย่างเต็มที่ ต้นทุนการผลิตของเจ้าของที่รายใหญ่จึงต่ำกว่าชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรรายย่อย
เป็นต้นเหตุหนึ่งของการทำสงครามเพื่อบังคับคนต่างเมืองเป็นทาส
นอกจากนี้
บางคนเห็นว่าจำนวนทาสเป็นเครื่องบ่งบอกฐานะของตัวเอง
คนเหล่านี้จึงชอบที่จะมีทาสจำนวนมาก
ในยุคแรกนั้นทาสเหล่านี้เป็นคนในคาบสมุทรอิตาลี
(คนต่างเมือง) สามารถซื้อขายในตลาดไม่ต่างจากสินค้าทั่วไป
และเมื่อสาธารณรัฐโรมันมีชัยเหนือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จำนวนทาสเพิ่มขึ้นทวีคูณ
คราวนี้เป็นทาสชาวต่างชาติ ส่วนหนึ่งได้จากสงครามโดยตรง
การขยายอาณาเขตและการแย่งชิงอำนาจ :
เมื่อสาธารณรัฐสามารถยึดคาบสมุทรอิตาลี
จากนั้นเริ่มขยายอาณาเขตไปทั่วทั้งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ต้องเผชิญหน้าปรปักษ์สำคัญคืออาณาจักรคาร์เธจ
(Carthage)
ก่อนสิ้นศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล
อาณาจักรคาร์เธจมีพลังอำนาจทางทหารที่แข็งแกร่ง
อาณาเขตประกอบด้วยชายฝั่งแอฟริกาเหนือ บางส่วนของสเปน เกาะ Sardinia (ทางตะวันตกของอิตาลี) เกาะ Corsica (ติดกับ Sardinia) พื้นที่ตะวันตกของ Sicily อาณาจักรคาร์เธจมั่งคั่งเพราะเป็นผู้ควบคุมการเดินเรือแถบนี้
หลังผ่านสงครามครั้งใหญ่หลายครั้ง
ในที่สุดสาธารณโรมันเข้ายึดอาณาจักรคาร์เธจ
จากนั้นก่อนสิ้นศตวรรษที่
2 ก่อนคริสตศักราช เกิดการชิงอำนาจระหว่างชนชั้นปกครอง 2
กลุ่ม กลุ่มแรกเรียกว่าพวก “optimates” ดำเนินตามแนวทางของพวก
“nobiles” ต้องการรักษาระบอบคณาธิปไตย
ในขณะที่ชนชั้นปกครองอีกกลุ่มที่เรียกว่า “populares” พยายามแสวงหาแรงสนับสนุนจากคนชั้นล่าง
เกิดการแข่งขันระหว่าง 2 กลุ่ม คล้ายกับ 2 พรรคการเมือง
ในขณะที่ชนชั้นปกครองร่ำรวยขึ้นจากสงคราม ปรากฏว่าสามัญชนกลับยากจนลง
เหตุเพราะพลเมืองมีหน้าที่ต้องเป็นทหารยามมีศึกสงคราม
สงครามกับคาร์เธจทำให้ที่ดินหลายส่วนเสียหาย รัฐยืดเวลาการทหารเกณฑ์เป็น 6 ปี
หลายคนที่กลับจากการรบพบว่าไร่นาตนเสียหายมากจึงเลือกที่จะขายที่ดิน
ผลประโยชน์ตกแก่พวกเจ้าของที่ดินรายใหญ่ที่ซื้อที่ดินเหล่านั้น
และเนื่องจากกฎหมายบัญญัติว่าผู้เป็นทหารจะต้องเป็นพลเมืองโรมันที่มีทรัพย์สิน
มีส่วนในผลประโยชน์ทรัพย์สินเท่านั้น ชายโรมันที่มีคุณสมบัติเป็นทหารได้จึงค่อยๆ
ลดน้อยลง คนเหล่านี้อยู่ในสภาพไร้ที่ทำกิน ไม่สามารถเป็นทหาร
บางคนพยายามรับจ้างงานเกษตรที่ทำได้ แต่อีกหลายคนเข้าไปอาศัยรวมกันในกรุงโรม
และกลายเป็นกลุ่มที่สร้างปัญหาแก่สังคม
Tiberius Gracchus (163-133 B.C.)
เป็นหนึ่งในกลุ่ม “nobiles”
เห็นปัญหาดังกล่าวจึงร่วมกับสมาชิกสภาสูงจำนวนหนึ่งเสนอแก้ปัญหา แนวทางของ Gracchus
คือปฏิรูปที่ดิน ด้วยการยึดที่ดินรัฐที่อยู่ในมือเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่
นำมาแจกจ่ายแก่คนไร้ที่ทำดินกิน สมาชิกสภาสูงหลายคนที่เสียประโยชน์โดยตรงจึงจ้างนักฆ่าสังหาร
Gracchus
Tiberius Gaius (153-121 B.C.) น้องชาย
Tiberius Gracchus สานฝันการปฏิรูปที่ดินต่อจากพี่ชาย
และถูกสังหารเช่นกัน
แม้การปฏิรูปที่ดินไม่ประสบความสำเร็จ
แต่แนวทางของพี่น้อง Tiberius กลายเป็นแรงบันดาลใจ เป็นต้นเหตุให้ประชาชนผู้ยากไร้พร้อมจะลุกฮือ
ชาญชัย คุ้มปัญญา
18 กันยายน 2016
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7255 วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ.
2559)
-----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
จากชุมชนสู่นครรัฐและกลายเป็นสาธารณรัฐโรมัน
ชนชั้นปกครองซึ่งคืออดีตขุนนางและเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่สามารถกุมอำนาจปกครองอย่างเหนียวแน่น
ทั้งด้านบริหาร การยุติธรรม เศรษฐกิจ การทหาร
การทำสงครามขยายอาณาเขตหมายถึงการได้ทรัพย์สิน ที่ดินและทาส ผลประโยชน์เหล่านี้ส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของชนชั้นปกครองไม่กี่ตระกูล
แต่ด้วยการขยายอาณาจักรอย่างไม่สิ้นสุดส่งผลให้กองทัพใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ
และควบคุมยากขึ้น ท้ายที่สุดกลายเป็นผู้ล้มล้างระบบสาธารณรัฐโรมัน
บรรณานุกรม:
1. Drummond, A., Walbank, F. W., Astin, A. E., Frederiksen,
M. W., & Ogilvie, R. M. (Eds.). (1989).The Cambridge Ancient History
Volume 7, Part 2: The Rise of Rome to 220 BC (2nd Ed.). UK: Cambridge
University Press.
2. Perry, Marvin., Jacob,
Margaret., Jacob, James., Chase, Myrna., & Von Laue, Theodore. (2009).
Western Civilization: Ideas, Politics, and Society (9th Ed.).
Boston: Houghton Mifflin Harcourt Publishing.
3. Roberts, J. M. (2002). The New History of the World
(4th Ed.). UK: Penguin Press/Allen Lane.
4. Spielvogel, Jackson J. (2009).Western Civilization
(7th Ed.). USA: Thomson Wadsworth.
-----------------------------