ทิศทาง American exceptionalism ของฮิลลารี คลินตัน

อเมริกาต้องยิ่งใหญ่ : ในงานประชุมของ American Legion ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) ตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครทกล่าวปราศรัยพูดถึงหลักคิด “American exceptionalism”
“American exceptionalism” เป็นทัศนคติ มุมมอง ความเชื่อที่ปรากฏในสังคมอเมริกานานหลายทศวรรษแล้ว ส่วนหนึ่งหมายถึงการมีเสรีภาพหรือโอกาสที่จะมีเสรีภาพ และเป็นชาติที่มีพันธกิจ (mission) มีหน้าที่เป็นเสาหลักเสรีภาพโลก ความเป็นมหาอำนาจของอเมริกาเป็นประโยชน์ต่อประชาคมโลกเนื่องจากเป็นชาติประชาธิปไตยแตกต่างจากมหาอำนาจอื่นๆ ในประวัติศาสตร์
ไม่ว่าหลักคิดนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร มีสิ่งใดแอบแฝงหรือไม่ นักการเมือง ผู้นำประเทศมักเอ่ยถึงหลักคิดนี้ และกลายเป็นรากฐานยุทธศาสตร์แม่บท ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐเรื่อยมา
            ดังนั้น เมื่อผู้นำการเมืองเอ่ยถึง American exceptionalism จึงเท่ากับพูดถึงแนวยุทธศาสตร์นั่นเอง
            หนึ่งในประเด็นหาเสียงระหว่างฮิลลารีกับโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) คือการอธิบายว่าสหรัฐยังเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่หรือไม่ ต่างชาติเช่นประธานาธิบดีปูตินยังเห็นความเป็น American exceptionalism มากน้อยเพียงไร ผู้สมัครทั้ง 2 ท่านล้วนแสดงท่าทีต้องการสร้างอเมริกาให้ยิ่งใหญ่
            ฮิลลารีย้ำว่าความพิเศษแตกต่างของสหรัฐคือ ความสามารถในการทำให้เกิดสันติภาพและความก้าวหน้า เป็นนักส่งเสริมเสรีภาพ สหรัฐถือว่าเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่จะต้องนำ ด้วยใจถ่อม คิดรอบคอบ และยึดมั่นในค่านิยมของตนอย่างมั่นคง
            ความอีกตอนกล่าวว่า การที่บางประเทศตกอยู่ในภาวะสูญญากาศ (a vacuum) ก็เพราะสหรัฐไม่ได้แสดงบทบาทนำอย่างเพียงพอ “ไม่ว่าจะยากลำบากเพียงไรหรือท้าทายเพียงไร อเมริกาจะต้องนำ” คำถามจึงอยู่ที่จะนำอย่างไร ใช้แนวคิดหรือยุทธศาสตร์ใด ภาวะผู้นำอเมริกาหมายถึงการนำด้วยค่านิยมเพื่อผลประโยชน์และความมั่นคงของประเทศ เป็นพลังสู้เพื่อเสรีภาพ ความยุติธรรมของโลก เป็นอนาคตมนุษยชาติ ยินดีที่ประเทศเป็นพหุสังคม สนับสนุนแม้กระทั่งนิกายศาสนาปลีกย่อย ชนกลุ่มน้อย สตรี ผู้ทุพพลภาพ

ผู้นำแห่งความหวัง :
            พื้นฐานของ “American exceptionalism” คือความรักชาติ ลัทธิชาตินิยม มองแง่บวกต่อประเทศ เห็นว่าประเทศตนดีที่สุดในโลก คนอเมริกันรักและหวงแหนประเทศ
            ฮิลลารีเริ่มต้นด้วยการพูดว่า “สหรัฐอเมริกาเป็นชาติที่พิเศษแตกต่าง” (an exceptional nation) เพราะเป็นดินแดนที่ให้ความหวังที่ดีที่สุดในโลกนี้ มีกองทัพที่ทรงอานุภาพสูงสุด ขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าประเทศอื่นใดในโลก ยึดมั่นค่านิยมของสังคม (our values) ทุกคนเข้มแข็งทำงานหนัก มีความฝันอันยิ่งใหญ่ พยายามสร้างชาติและโลกให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ โลกจำต้องมีประเทศอย่างอเมริกา
            ผู้คนทั่วโลกจับตาและติดตามเรา หลายคนทั่วโลกอยากเป็นพลเมืองอเมริกัน สิ่งที่สหรัฐทำหรือไม่ทำส่งผลต่อผู้คนนับล้านและบางครั้งนับพันล้าน ทุกคนรู้เรื่องนี้ ทุกคนเห็นด้วยตาตัวเอง
            ข้อคิดสำคัญที่ได้คือ การสร้างอารยธรรมจะต้องมีผู้นำที่สามารถสร้างขวัญกำลังใจแก่คนทั้งประเทศ นำพาโดยมีวิสัยทัศน์ชัดเจน คิดวางแผนงานต่อเนื่อง เหนื่อยเป็นแต่ไม่ท้อ ลงมือลงแรงทำจนกว่าจะสำเร็จ ย้ำเตือนให้พลเมืองยึดมั่นอุดมการณ์ ค่านิยมที่ดีงาม ไม่ปล่อยปละละเลยและคิดว่านั่นคือ “เสรีภาพ” พลเมืองคนใดที่ใช้เสรีภาพทำลายสังคมประเทศชาติ เช่นนี้ยังควรนับเป็นพลเมืองหรือ
            ฮิลลารีต้องการให้คนอเมริกันทุกคนมีเอกภาพ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รวมความฝันของทุกคนเพื่อร่วมกันสร้างชาติ สร้างประเทศให้น่าอยู่กว่าเดิม พรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ และจะต้องดีถึงขั้นเป็นแบบอย่างแก่ประชาคมโลก
            คนอเมริกันทุกคนรับรู้ว่าสังคมมีปัญหาเรื่องใด รุนแรงเพียงไร ลำพังการบ่นพูดแง่ลบไม่ช่วยแก้ปัญหา หากอยากเห็นสังคมที่ดีกว่าเดิมต้อง “ร่วมกันสร้าง” ฮิลลารี คลินตันเสนอตัวเป็นผู้นำสร้างชาติสร้างอนาคต

นโยบายต่อผู้ก่อการร้าย IS/ISIL/ISIS :
ฮิลลารียอมรับว่าต้องปราบปราม เพียงแค่ปิดล้อมไม่พอ และจะดำเนินโยบายปราบปรามจนสิ้นซาก การพูดเช่นนี้เท่ายอมรับว่านโยบายของรัฐบาลโอบามาไม่ได้ผล พร้อมกับเปิดช่องให้กับการส่งทหารเข้ารบภาคพื้นดิน เพียงแต่ย้ำว่าเป็นทางเลือกสุดท้ายเท่านั้น แสดงว่ายังกังวลกระแสคนอเมริกันที่ต้านการส่งทหารไปรบต่างแดน แต่มีนัยแตกต่างจากแนวทางของรัฐบาลโอบามาชัดเจน
ที่ผ่านมารัฐบาลโอบามาหลีกเลี่ยงการส่งกองทัพเข้ารบทางภาคพื้นดิน อาศัยการโจมตีทางอากาศ สกัดช่องทางการเงิน ใช้หน่วยรบพิเศษ ส่งอาวุธแก่ฝ่ายต่อต้าน หวังว่าผู้ก่อการร้ายจะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ ถ้อยคำของฮิลลารีบ่งชี้ว่าแนวทางเช่นนี้ไม่เพียงพออีกแล้ว
ดังนั้น เมื่อรวมกับความคิดว่าต้องมุ่งปราบปรามผู้ก่อการร้าย ไม่ใช่เพียงปิดล้อม เท่ากับกำลังพูดว่าจะต้องใช้กำลังให้หนักกว่าที่เป็นอยู่ โอกาสที่จะส่งกองกำลังเข้ารบภาคพื้นดินจึงไม่น้อยเลยทีเดียว ขึ้นกับว่าสถานการณ์สุกงอมถึงขั้นต้องใช้ “ทางเลือกสุดท้าย” หรือไม่ อีกทั้งจำนวนทหารที่จะส่งไปนั้นจะมากหรือน้อยยังเป็นปริศนา อาจประกอบด้วยพันธมิตรหลายประเทศ
รวมความแล้วหากฮิลลารีชนะการเลือกตั้ง สถานการณ์ภูมิภาคตะวันออกกลางจะมีโอกาสร้อนแรงกว่าเดิม

ใครคือปรปักษ์ของอเมริกา :
            เนื้อหาหลายตอนเอ่ยถึงปรปักษ์ของอเมริกา เริ่มด้วยการพูดว่ารัสเซียกับจีนไม่มีพันธมิตรอย่างที่สหรัฐมี กองทัพชาติอื่นต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับกองทัพสหรัฐ
            ประโยคดังกล่าวชี้ว่าฮิลลารีไม่ถือว่ารัสเซียกับจีนเป็นมิตร อย่างน้อยไม่อยู่ในกลุ่มพันธมิตร
            ความอีกตอนหนึ่ง ฮิลลารีพูดชัดเจนว่าประเทศกำลังเผชิญภัยคุกคามจากประเทศรัสเซีย จีน อิหร่านและเกาหลีเหนือ จากอาชญากรและผู้ก่อการร้ายอย่าง ISIS ต้องเตรียมกองทัพให้พร้อมที่จะเผชิญภัยคุกคามเหล่านี้ไม่ว่าจะมาทางใด แม้กระทั่งทางไซเบอร์

            ถ้าได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี จะทุ่มงบประมาณเรื่องไซเบอร์ ดังที่รู้กันว่ารัสเซียแฮกข้อมูลของ Democratic National Committee และอีกหลายที่ เช่นเดียวกับจีน สหรัฐต้องป้องกันการโจมตีและตอบโต้ทางไซเบอร์ ถือว่าการโจมตีทางไซเบอร์ไม่ต่างจากการโจมตีรูปแบบอื่น จะให้ประเทศเป็นผู้นำโลกในการวางกฎควบคุมระบบไซเบอร์ ถ้าสหรัฐไม่นำก็จะมีผู้อื่นนำ ดังนั้นต้องเตรียมพร้อมที่จะชนะการสู้รบทั้งในวันนี้และพรุ่งนี้

            ในรายชื่อที่เอ่ยถึงทั้งหมด นโยบายต่อจีนคือส่วนที่แตกต่างจากสมัยรัฐบาลโอบามา ตลอดสมัยรัฐบาลโอบามา รัฐบาลสหรัฐกับจีนดำเนินนโยบายสร้างสัมพันธ์ที่เรียกว่าความสัมพันธ์รูปแบบใหม่
            ในการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐ-จีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2014 ประธานาธิบดีโอบามากล่าวว่า “พวกเราได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเมื่อเราร่วมมือกัน สหรัฐอเมริกากับจีนมีส่วนสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงและความมั่งคั่งของภูมิภาคและโลกนี้” “สหรัฐยินดีที่จีนมีความสงบ มั่งคั่งและมีเสถียรภาพ”
            ด้านประธานาธิบดีประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ชี้ว่าความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่าง 2 ประเทศจะก่อประโยชน์แก่ประชาชน 2 ฝ่าย ต่อภูมิภาคและโลก “มหาสมุทรแปซิฟิกกว้างพอที่จะรองรับการพัฒนาทั้งของจีนกับสหรัฐอเมริกา พวกเรา 2 ประเทศจะทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมความมั่นคงของเอเชีย”
            ไม่ว่า 2 ฝ่ายจะจริงใจต่อกันเพียงไร รัฐบาลโอบามาไม่เคยระบุว่าจีนคือภัยคุกคาม อยู่กลุ่มเดียวกับปรปักษ์สำคัญอีก 3 ประเทศ

            เรื่องนี้อาจอธิบายได้ว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ตึงเครียดมากขึ้น รัฐบาลโอบามาเริ่มแสดงท่าทีต่อต้านจีน ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แอช คาร์เตอร์ (Ash Carter) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมระบุว่าจากนี้ไปสหรัฐจะให้ความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ปรับสมดุลเอเชียแปซิฟิกมากกว่าเดิม เอ่ยถึงโครงสร้างความมั่นคงภูมิภาคแบบใหม่
ในขณะที่รัฐมนตรีคาร์เตอร์พูดว่าทุกประเทศสามารถมีส่วนในโครงสร้างความมั่นคงใหม่ ต้องการให้ทุกประเทศในภูมิภาคมีส่วนร่วม รวมทั้งจีน อีกด้านหนึ่งรัฐมนตรีคาร์เตอร์พูดว่าพฤติกรรมของจีนกำลังนำพาให้จีน “โดดเดี่ยวตัวเอง”
            รัฐมนตรีคาร์เตอร์พูดอย่างน่าคิดว่า “สหรัฐไม่ได้พยายามสร้างสงครามเย็น (Cold War) รูปแบบใดๆ หรือแบ่งแยก เผชิญหน้า” กับใครในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐหวังระบบที่ทุกประเทศมีส่วนร่วม ทุกคนทำงานร่วมกัน ไม่ได้พยายามผลักให้แยกจากกัน “เราไม่ต้องการขัดแย้งกับรัสเซียหรือจีน พวกเราเป็นมหาอำนาจและเคารพกัน” “แต่พวกเขาต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของเขาเองซึ่งอาจชักนำให้เป็นปรปักษ์กับสหรัฐอเมริกาหรือประเทศอื่นๆ ทั่วโลก”
            บัดนี้ ฮิลลารีประกาศชัดแล้วว่าจีนเป็นปรปักษ์ ต้องเตรียมกองทัพเพื่อเผชิญหน้าภัยคุกคามจากจีน ทำนองเดียวกับที่ต้องรับมือรัสเซีย อิหร่าน เกาหลีเหนือ ผู้ก่อการร้าย IS

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
ถ้าวิเคราะห์ภาพรวม Daniel Larison เห็นว่าสุนทรพจน์ของฮิลลารีไม่มีอะไรแปลกใหม่ เป้าหมายหลักคิดนี้คือส่งเสริมนโยบายต่างประเทศ ให้สหรัฐเป็นผู้นำโลก มีความชอบธรรมที่จะแทรกแซงทุกหนแห่งทั่วโลก การที่ฮิลลารีเอ่ยว่าหลักคิด American exceptionalism อยู่เหนือการเมือง เท่ากับปล่อยให้การตัดสินใจนโยบายต่างประเทศจำกัดอยู่ในคนกลุ่มเล็กๆ ต่อไป ห้ามใครคิดเปลี่ยนแปลง

            เมื่อผู้นำประเทศ ผู้นำการเมืองสหรัฐเอ่ยถึง “American exceptionalism” จะเป็นเวลาเชิดชูความพิเศษโดดเด่นของอเมริกาว่าเหนือประเทศอื่นๆ ทั้งหมด การแสดงความเป็นชาตินิยม ความรักนับถือต่อประเทศตัวเองเป็นเรื่องควรส่งเสริม ในขณะเดียวกันต้องพิจารณารายละเอียดว่าเอ่ยถึงประเทศอื่นอย่างไร ฮิลลารีไม่ต่างจากผู้นำการเมืองหลายคนในอดีต (ไมว่าจะพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครท) ที่ระบุชัดว่าประเทศใดเป็นมิตรประเทศใดเป็นศัตรู เอ่ยถึงการใช้กำลังทหารซึ่งหมายถึงการทำสงคราม หากฮิลลารีได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป คาดเดาได้ว่าอเมริกาจะอยู่ในสงครามต่อไป ที่เหลือคือวิเคราะห์ว่าสงครามนั้นจะรุนแรงเพียงไร ซับซ้อนแค่ไหน เป็นส่วนหนึ่งของความเป็น “American exceptionalism” ในตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา
4 กันยายน 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7241 วันอาทิตย์ที่ กันยายน พ.ศ.2559)
-------------------
บทความที่่เกี่ยวข้อง : 
เมื่อประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาแสดงสุนทรพจน์ที่เกี่ยวข้องนโยบายต่างประเทศมักจะมีการเอ่ยถึงAmerican exceptionalism หรือหลักการที่อยู่ภายในลัทธิหรือแนวคิดดังกล่าว แม้เป็นคำที่มีการพูดถึงแต่ในทางวิชาการเป็นที่ถกเถียงในความหมาย อีกทั้งพบว่าบ่อยครั้งผู้ใช้แต่ละคนจะใช้ในความหมายที่แตกต่างกันด้วยเหตุผลเฉพาะเจาะจง บทความนี้จะอธิบายความหมาย การนำไปใช้ ผลที่เกิดขึ้นทั้งด้านบวกด้านลบ และข้อวิพากษ์
บรรณานุกรม:
1. Ashton Carter. (2015, May 30). The United States and Challenges of Asia-Pacific Security: Ashton Carter. IISS Shangri-La Dialogue 2015. Retrieved from http://www.iiss.org/en/events/shangri%20la%20dialogue/archive/shangri-la-dialogue-2015-862b/plenary1-976e/carter-7fa0
2. Bell, Daniel. (1975). The End of American Exceptionalism. The Public Interest 41(3):
193–224. Retrieved from http://www.nationalaffairs.com/doclib/20080527_197504111theendofamericanexceptionalismdanielbell.pdf
3. Ceaser, James W. (2012). The Origins and Character of American Exceptionalism.  American Political Thought: A Journal of Ideas, Institutions, and Culture, vol. 1 (Spring 2012). Retrieved from http://www.polisci.wisc.edu/Uploads/Documents/Ceaser.pdf
4. Larison, Daniel. (2016, August 31). Clinton’s American Legion Speech. The American Conservative. Retrieved from http://www.theamericanconservative.com/larison/clintons-american-legion-speech/
5. Parrish, Karen. (2016, June 4). Carter Outlines ‘Principled Network Security’ Actions for Asia-Pacific. DoD News. Retrieved from http://www.defense.gov/News-Article-View/Article/791274/carter-outlines-principled-network-security-actions-for-asia-pacific
6. Read Hillary Clinton’s Speech Touting ‘American Exceptionalism’. (2016, August 31). Time. Retrieved from http://time.com/4474619/read-hillary-clinton-american-legion-speech/
7. The White House. (2014, November 12). Remarks by President Obama and President Xi Jinping in Joint Press Conference. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/11/12/remarks-president-obama-and-president-xi-jinping-joint-press-conference
-----------------------------